Thursday, 18 April 2024
Y WORLD

สพฐ.ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นระยะ เบื้องต้น ยังคงยืนยันการสอบรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตามปฏิทินเดิม รับสมัคร 24 - 28 เม.ย. สอบ 1 - 2 พ.ค.

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า การสอบรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2564 นั้น สพฐ.ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นระยะ เบื้องต้น ยังคงยืนยันตามปฏิทินเดิม

คือ มัธยมศึกษาปีที่ 1 รับสมัครระหว่างวันที่ 24 - 28 เมษายน สอบคัดเลือกวันที่ 1 พฤษภาคม ประกาศผลวันที่ 5 พฤษภาคม มอบตัววันที่ 8 พฤษภาคม มัธยมศึกษาปีที่ 4 รับสมัครระหว่างวันที่ 24 - 28 เมษายน สอบคัดเลือกวันที่ 2 พฤษภาคม ประกาศผลวันที่ 6 พฤษภาคม มอบตัววันที่ 9 พฤษภาคม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กทม. โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภูมิภาค ม.4 รับสมัครวันที่ 20 - 24 กุมภาพันธ์ สอบคัดเลือก 6 มีนาคม ประกาศผล 15 มีนาคม มอบตัววันที่ 18 มีนาคม ยกเว้นว่า จะมีเหตุการณ์ฉุกเฉินค่อยมาพิจารณาแก้ปัญหา

“ขณะนี้กำหนดการจัดสอบรับเด็กเพื่อเข้าเรียนม.1 และม.4 ยังเป็นไปตามปฏิทินเดิม แต่หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาต่อไป แต่เท่าที่ดูขณะนี้คิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหา โดยผมได้ย้ำให้เตรียมการจัดสอบ ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อาทิ มีการเว้นระยะห่าง ตรวจวัดอุณหภูมิ เตรียมเจลล้างมือแอลกอฮอล์ไว้ในห้องสอบ และสถานที่โดยรอบ เพื่อให้เด็กที่เข้าสอบได้ใช้ในการทำความสะอาดอย่างถูกต้อง ” นายอัมพร กล่าว

นายอัมพร กล่าวต่อว่า "ส่วนโรงเรียนที่ใช้คะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติหรือโอเน็ต เป็นองค์ประกอบในการเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 และ ม.4 นั้น ก็ยกเลิกเช่นกัน โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ออกประกาศเรื่อง นโยบายการใช้ผลสอบโอเน็ต เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียน ของผู้ที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ตามนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการศธ. ที่ให้ยกเลิกการทดสอบโอเน็ตชั้น ป.6 และม.3 แต่ให้ถือเป็นสิทธิโดยส่วนตัวที่จะเข้าสอบโดยความสมัครใจ"

"อย่างไรก็ตาม อนาคตจำนวนนักเรียนต่อห้องต้องลดลง เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่องหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่า จำนวนต่อห้องซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 40 คน ต่อห้องนั้น เป็นไปตามหลักวิชาการ ดังนั้นจึงอาจยังไม่จำเป็นต้องมีการปรับ แต่หากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทางโรงเรียนก็ต้องปรับตัว จัดการเรียนการสอน ตามมาตรการป้องกันของสธ. อย่างเคร่งครัด"


ที่มา: https://www.matichon.co.th/education/news_2584606

พลาดไม่ได้! เจาะลึกทุนการศึกษาจีน จากสัมมนาออนไลน์ Way Forward 2021 ครั้งที่ 1 เผยรายละเอียดทุนการศึกษาในจีน เอกสารสำคัญสมัครทุน รายชื่อมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน

ทุนการศึกษาในจีน️

• ทุนรัฐบาลจีน (CSC)

• ทุนรัฐบาลท้องถิ่น (CPGS)

• ทุนขงจื่อ (CIS)

• ทุนด้านวิทยาศาสตร์ ANSO

• ทุนหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRS)

• ทุนเส้นทางสายไหม (CGS-SRSP)

• ทุนรัฐบาลฯ สำนักงานก.พ.

• ทุนองค์กรภาครัฐและเอกชนไทย

เอกสารสำคัญสมัครทุน

• ใบสมัครทุน

• ผลสอบวัดระดับภาษา (HSK, HSKK, TOELF อื่น ๆ)

• สำเนาปริญญาบัตร (Degree Certificate)

• สำเนาใบรายงานผลการศึกษา (Transcript)

• สำเนาพลาสปอร์ต

• Study Plan / Research Plan

• Recommendation Letter 3 ฉบับ

• ใบรับรองสุขภาพ

• Resume / CV

• Cover Letter (แจ้งความประสงค์พร้อม Contact ของเรา)

มหาวิทยาลัยชั้นนำในจีน

C9 LEAGUE กลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำ 9 แห่งของจีน ที่รัฐบาลอัดฉีดงบประมาณเป็นพิเศษ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านการศึกษาและวิจัยสู่ระดับนานาชาติ

1.) Tsinghua University

2.) Peking University

3.) Shanghai Jiao Tong University

4.) Fudan University

5.) Zhejiang University

6.) University of Science and Technology of China

7.) Harbin Institute of Technology

8.) Nanjing University

9.) Xi'an Jiaotong University

โครงการซวงอีหลิว (双一流) นโยบายขับเคลื่อนการศึกษาของจีน ต่อยอดมาจาก โครงการ 211 / โครงการ 985

• มหาวิทยาลัยชั้นนำ 42 แห่ง

• หลักสูตรชั้นนำ 98 แห่ง

ค้นหา ’รายชื่อมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน’ และ ’รายชื่อหลักสูตรชั้นนำของจีน’ ได้ที่ วารสารวิทย์ไมตรีไทย-จีน ฉบับเดือนต.ค. 2563 “เส้นทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจีน” www.stsbeijing.org/contents/2169

ช่องทางติดตามข่าวทุน

กลุ่ม FB : Thai CSC, CIS Scholarship, แนะแนวเข้าชิงหวา และอื่น ๆ

เพจ FB : วิทย์ไมตรีไทยจีน ฝ่ายวิทยาศาสตร์ฯ สอท.ปักกิ่ง, Thai Ph.D. in China, ที่ทำการมหาวิทยาลัยจีนประจำประเทศไทย และอื่น ๆ

การสัมมนาออนไลน์ Way Forward 2021 ครั้งที่ 1

วิทยากร อ.ดร.ธีรติร์ บรรเทิง (ต้น)

รับชมย้อนหลัง : https://youtu.be/3fBHtz6HpoE

—————————————————

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม)

www.stsbeijing.org


ที่มา: https://www.facebook.com/107367570908663/posts/266921991619886/?sfnsn=mo

การตั้งเป้าหมายสำหรับวัยรุ่นแตกต่างจากการตั้งเป้าหมายในวัยเด็ก ดันลูกวัยรุ่นยังไงให้ไปถึงเป้าหมาย ชวนพ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่น ตั้งเป้าหมายร่วมกับลูก เพื่อเดินบนเส้นทางสู่เป้าหมายไปพร้อมกัน

เป้าหมายมีไว้เพื่ออะไร ถ้าหากคำตอบในใจของคุณผู้อ่านคือ เป้าหมายมีไว้พุ่งชน เป็นคำตอบที่ถูกต้องเลยค่ะ เป้าหมายนั้นมีไว้ให้เราพุ่งชน แต่ถ้าเราตั้งเป้าหมายโดยไม่ได้วางแผน เราก็เอาตัวพุ่งชนกับสิ่งอื่นแทนเป้าหมายของเราได้เหมือนกัน วันนี้เราจะมาชวนคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นหรือเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นมาตั้งเป้าหมายร่วมกับลูกกันค่ะ

ประโยชน์ของการตั้งเป้าหมาย

การตั้งเป้าหมาย นอกจากจะทำให้เราวางแผนเพื่อไปสู่ปลายทาง ไม่หลงทิศทาง ติดตามความคืบหน้าได้แล้ว ยังช่วยปลูกฝังวินัยและฝึกความมั่นใจให้แก่ลูก เพื่อเตรียมพร้อมส่งลูกไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าในอนาคตได้อีกด้วย และการตั้งเป้าหมายสำหรับเด็กวัยรุ่นนั้น ไม่ได้ทำได้เพียงแค่กับการเรียนเท่านั้น พ่อแม่สามารถช่วยลูกตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับกิจกรรมอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การเก็บออมเงิน หรือการตั้งเป้ากับอะไรก็ได้รอบตัวเพื่อให้ลูกได้ลงมือทำจนเกิดการสั่งสมประสบการณ์ ทั้งด้านเรียนรู้จากความล้มเหลวและรู้เรียนจากความสำเร็จ

การตั้งเป้าหมายสำหรับวัยรุ่น

หากคุณพ่อคุณแม่มีลูกกำลังเข้าสู่วัยรุ่น การตั้งเป้าหมายสำหรับวัยรุ่นนั้นจะแตกต่างจากการตั้งเป้าหมายในวัยเด็ก เพราะในวัยนี้เค้าเริ่มโตแล้ว มีความสนใจเป็นของตนเอง เริ่มมีความคิดความชอบ มีโลกและสังคมของตัวเอง เริ่มอยากจะเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ พ่อแม่ของลูกเข้าสู่วัยรุ่นอาจจะไม่สามารถกำหนดเป้าหมายให้ลูกได้เหมือนตอนที่ลูกยังเล็กอีกแล้ว ฉะนั้น หนทางที่พ่อแม่จะสามารถเดินบนเส้นทางสู่เป้าหมายไปพร้อมกับลูกได้ คือสร้างเป้าหมายร่วมกันระหว่างเราและลูกของเรา พ่อแม่ลองนั่งคุยกับลูกเปิดใจพูดคุยกัน สร้างบทสนธนาปลายเปิดกับลูก ถามตอบกันแล้วหาจุดลงตัว แล้วให้ลูกได้ทดลองความสนใจด้วยตนเองบ้าง เพื่อที่ลูกวัยรุ่นของเราจะได้ไม่ต้องก้าวข้ามวัยหัวเลี้ยวหัวต่อไปโดยลำพัง

วางแผนด้วยการคำนวณเวลาที่เหลือ

หากพ่อแม่และลูกตกลงเป้าหมายกันได้แล้ว ลองวางแผนโดยกำหนดจากเวลาที่มีเหลือเพื่อบรรลุเป้าหมายว่าเหลืออีกกี่วัน กี่เดือน กี่ปี และซอยเป้าหมายใหญ่ที่ตั้งร่วมกันไว้เป็นเป้าหมายย่อยหลายเป้าหมาย การซอยเป้าหมายออกเป็นเป้าเล็ก ๆ ช่วยให้ลูกสามารถทยอยเก็บเป้าหมายเล็ก ๆ นั้นได้โดยไม่รู้สึกท้อก่อนถึงเป้าหมายใหญ่ การวางแผนด้วยการกำหนดเวลา นอกจากจะทำให้วางแผนได้ดีขึ้นแล้วยังช่วยให้ลูกรู้สึกฮึกเหิมทุกครั้งที่รู้ว่าเหลือเวลาอยู่ไม่มาก

การจัดการเมื่อลูกหลุดโฟกัส

เด็กทุกคนชอบเล่นสนุก บางทีลูกอาจเผลอติดเล่นเพลินจนลืมเป้าหมายแล้วผลัดวันประกันพรุ่งไปได้บ้าง วิธีแก้คือ ให้ลูกวัยรุ่นสร้างกฎของเค้าด้วยตนเอง ส่วนเราเป็นพยาน หากลูกทำผิดกฎที่ตนเองกำหนดขึ้น ลูกมีวิธีรับผิดชอบหรือมีบทลงโทษกับตนเองอย่างไร การให้ลูกสร้างกฎให้ตนเองนั้นทำให้ลูกไม่อยากแหกกฎที่ตนเป็นคนสร้างไว้

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ลูกหลุดโฟกัสจากเป้าหมายของตัวเองคือความกังวลของพ่อแม่ ความกังวลของพ่อแม่ทำให้ลูกหลุดโฟกัสได้ เพราะเด็กสามารถสัมผัสความเครียดจากพ่อแม่ได้ และเด็กจะรู้สึกกดดัน เมื่อเค้ารู้สึกกดดัน เด็กจะหันไปโฟกัสที่ทำอย่างไรไม่ให้พ่อแม่เครียดหรือเป็นทุกข์แทน ส่งผลให้ลูกเห็นเป้าหมายไม่ชัด หรือไม่รู้ว่าเป้าหมายนั้นทำเพื่อตัวเค้าเองหรือเพื่อพ่อแม่ หรือเพื่อทั้งพ่อแม่และตัวเค้าด้วย

แก้นิสัยปรับวินัยโดยให้เจอกับผลลัพธ์บ้าง

หากลูกยังขาดวินัยบ้าง อย่างเช่นไม่ตรงต่อเวลา การให้ลูกได้เจอกับผลลัพธ์ที่เป็นผลเสียของการไม่ตรงต่อเวลาด้วยตัวของเค้าเองบ้าง ก็เป็นวิธีปรับวินัยที่ได้ผลอยู่ทีเดียว

รับมือกับความผิดหวังของลูกวัยรุ่น

เมื่อตั้งเป้าแล้วย่อมมีความคาดหวัง เมื่อคาดหวังย่อมมีสมหวังบ้างผิดหวังบ้าง ผิดหวังเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีมากสำหรับวัยรุ่น ยังมีสิ่งที่ทำให้ลูกต้องเผชิญกับความผิดหวังอีกมากรออยู่ในโลกของผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ควรอยู่เคียงข้างเค้าในวันที่เค้าอ่อนแอและต้องการพื้นที่ปลอดภัย ฟังเค้าเยอะ ๆ ให้เค้าพูดระบายออกมา ถามไถ่เค้าด้วยความเข้าใจว่ารู้สึกยังไง ได้เรียนรู้อะไร และจะทำอย่างไรต่อไป

ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง คือการสอนเด็กโดยอัตโนมัติ

ความลับที่เหล่านักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นทราบดีคือ เด็กไม่ได้เก่งเชื่อฟัง เด็กเก่งเลียนแบบ ถึงเราจะสอนเด็กแค่ไหน หากไม่มีตัวอย่างให้เลียนแบบหรือหนักไปกว่านั้นมีตัวอย่างในทางตรงกันข้าม การสอนนั้นจะไม่เกิดผลเลย การเป็นแบบอย่าง คือการสอนที่ดีที่สุด เด็กจะเลียนแบบโดยอัตโนมัติ

ความสำเร็จในการเรียนกับความสำเร็จในชีวิต

หากได้ลองค้นคว้าประวัติคนที่ประสบสำเร็จที่คุณผู้อ่านรู้จักกันดีหลาย ๆ คน จะพบว่า คนประสบความสำเร็จไม่ได้เรียนหนังสือเก่งทุกคน ในระบบโรงเรียนมัธยมมีความถนัดให้เด็กเลือกน้อยเกินไป เพียงสองด้านคือ คณิตศาสตร์ - วิทยาศาสตร์ และศิลป์ - ภาษา เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เด็กมีความถนัดที่หลากหลาย และมีทักษะหลายด้านที่สำคัญต่ออนาคตที่เด็กควรได้ฝึกฝน ผลการเรียนในโรงเรียนอาจยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะบ่งชี้ความถนัดของเด็กทุกคนได้ และตัวชี้วัดนั้นอาจซ่อนอยู่ในการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน หากเด็กได้ทดลองทำสิ่งใหม่จะช่วยให้เด็กค้นพบความถนัดของตนเอง และเห็นเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้นว่า เมื่อเค้าโตขึ้น เค้าอยากเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จด้วยตนเองในสิ่งใด


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ ลูกวัยรุ่นดันยังไงให้ไปถึงเป้าหมาย

Link https://www.facebook.com/watch/live/?v=338421374073318&ref=search

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์

สาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเชิญผู้สนใจเข้าฟังการบรรยายเรื่อง "ของมันต้องรู้! : เส้นทางสู่อาชีพนักแปล และการใช้เทคโนโลยีในการแปล"

สาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเชิญผู้สนใจเข้าฟังการบรรยายเรื่อง "ของมันต้องรู้! : เส้นทางสู่อาชีพนักแปล และการใช้เทคโนโลยีในการแปล"

วิทยากร: คุณกิตติพล อัจฉริยากรชัย

-แอดมินเพจนี้เพื่อนักแปล

-ประสบการณ์แปล 20 ปี

-ที่ปรึกษาธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซและการตลาดออนไลน์

-ประสบการด้านการสอน คอลัมน์นิสต์และสคริปต์ไรเตอร์รายการโทรทัศน์

ในวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564

เวลา 9.30 น. -12.30 น.

ทาง Zoom

Meeting ID: 946 0176 8847

Passcode: 177963


ที่มา: https://www.facebook.com/154319364767701/posts/1560153224184301/

สพฐ.เตรียมรับแผนรมว.ศึกษาธิการ บูรณาการด้านการศึกษา เพิ่มศักยภาพและคุณภาพของโรงเรียน ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ มาประชุมหาข้อสรุป จัดทำแผนงบประมาณปี 65 หนุน บูรณาการโรงเรียน เสริมสร้างการเรียนรู้ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ภายหลังจาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศแผนบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเพิ่มศักยภาพ และคุณภาพของโรงเรียนในทุกด้าน และให้สามารถบริหารการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นแผนครอบคลุมโรงเรียนทุกพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ และได้ประกาศคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งคณะผู้กำกับด้านนโยบาย คณะติดตามนโยบาย และผู้รับผิดชอบการดำเนินการในระดับจังหวัด ซึ่งเป็นบุคลากรในกระทรวงศึกษาธิการระดับ 9 - 10 จากทุกหน่วยงาน มาร่วมมือกันปฏิบัติ

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าแผนบูรณาการทางการศึกษาว่า ได้รับทราบความคืบหน้าการนำเสนอแผนบูรณาการจากผู้รับผิดชอบจังหวัดขนาดเล็ก 15 จังหวัดเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจากนี้ไป ทาง สพฐ.จะนำแผนที่ได้รับมาประชุมหาข้อสรุป และตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง โดยจะรวมกับแผนของจังหวัดขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพื่อจัดทำแผนงบประมาณ โดยจะเริ่มบรรจุในปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า แผนบูรณาการเบื้องต้น เท่าที่ได้ตรวจสอบพบว่า ในหลายจังหวัดผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง มีความยินดี และเห็นชอบกับการบูรณาการโรงเรียนเป็นอย่างมาก เพราะต้องการเห็นบุตรหลานของตนได้มีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนที่มีความพร้อม ทั้งทางกายภาพ รวมถึงงบการสนับสนุน เพราะจะเป็นโรงเรียนที่สามารถมีครูครบชั้น ครบวิชา นักเรียนจะได้รับการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ บางจังหวัดสามารถนำเงินงบประมาณที่ให้กับโรงเรียนเล็กหลายแห่ง มาบริหารจัดการผ่านโรงเรียนคุณภาพชุมชนใหม่ โดยสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ และแตกต่างจากปัจจุบัน ซึ่งนักเรียนจะได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ และได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด

ทั้งนี้ แผนบูรณาการด้านการศึกษาทั่วประเทศ ได้แบ่งกลุ่มจังหวัดออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจังหวัดขนาดเล็กที่มีโรงเรียนไม่เกิน 200 โรงเรียนมี 15 จังหวัด กลุ่มจังหวัดขนาดกลาง มีโรงเรียนระหว่าง 200 - 400 โรงเรียน มีจำนวน 36 จังหวัด และกลุ่มจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีจำนวน 400 โรงเรียนขึ้นไป มี 26 จังหวัด โดยมีเป้าหมายในการยกระดับโรงเรียนคุณภาพชุมชน การพัฒนาโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และการพัฒนาโรงเรียน Stand alone

นายอัมพร กล่าวว่า แผนบูรณาการนี้เป็นไปตามนโยบายการศึกษายกกำลังสอง ที่ชูเป้าหมายให้การศึกษาไทยพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีความเป็นเลิศ ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดในศตวรรษที่ 21 โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเชื่อมต่อ ที่ทำให้หลักสูตรต่างๆ มีความยืดหยุ่นและเข้าถึงผู้เรียนผู้สอนได้ง่ายขึ้น เป็นการเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต และที่สำคัญเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา


ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/normal_news/468981

Apple สนับสนุนการศึกษาในไทยเปิดตัว 2 เว็บไซต์สำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษา เว็บไซต์สำหรับสถาบันการศึกษาและเว็บไซต์ให้ข้อมูลกับนักศึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการของ Apple

Apple เดินหน้าสนับสนุนการศึกษาในประเทศไทยเปิดตัว 2 เว็บไซต์สำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยเว็บไซต์แรกเป็นเว็บไซต์สำหรับสถาบันการศึกษา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และแพลตฟอร์มของ Apple เพื่อการสอน สร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจในระดับอุดมศึกษา รวมถึงกรณีศึกษาการนำนวัตกรรมไปใช้เพื่อส่งเสริมการศึกษาจากสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลก

ส่วนอีกหนึ่งเว็บไซต์มุ่งเน้นให้ข้อมูลกับนักศึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการของ Apple รวมถึงแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อช่วยให้นักศึกษาระดับอุดมศึกษาประสบความสำเร็จในการเรียน ไม่ว่าจะเรียนในสาขาใดก็ตาม นำเสนอเทคนิคดีๆ ในการใช้งานเพื่อการเรียน รวมถึงคำแนะนำ และประสบการณ์การใช้งานที่น่าสนใจจากนักศึกษาทั่วโลก

ชมเว็บไซต์สำหรับสถาบันการศึกษาได้ที่ https://www.apple.com/th/education/higher-education/

ชมเว็บไซต์สำหรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ที่ https://www.apple.com/th/education/college-students/

ในโอกาสเปิดตัวเป็นครั้งแรก Apple นำเสนอกรณีศึกษาภายใต้หัวข้อ Innovation in Action โดย ดร.มยุรี ศรีกุลวงศ์ ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มาบอกเล่าการใช้ iPad Pro ในการสอนแนวคิดเชิงคำนวณ และช่วยนักศึกษาในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน สอนให้ทุกคนรู้จักวิธีใช้ Swift Playgrounds เพื่อออกแบบแอปที่ช่วยแก้โจทย์ความท้าทายในท้องถิ่นที่พวกเขาได้พบ

ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.apple.com/th/education/higher-education/innovation-in-action/


ที่มา: https://www.techoffside.com/2021/02/apple-website-education/

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และที่ตั้งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 62 เขต

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา

ตามที่ได้มีการประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ประกาศ ณ วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ประกาศ ณ วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เพื่อบริหารและจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและเกิดประโยชน์สูงสุดของทางราชการ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. 2545 และมาตรา 37 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 ประกอบกับมาตรา 33 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยคำแนะนำของสภาการศึกษาเมื่อคราวประชุมครั้งที่ 2/2561 วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

จึงยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ประกาศ ณ วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ประกาศ ณ วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 และกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และที่ตั้งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 62 เขต ดังต่อไปนี้


อ่านประกาศเพิ่มเติม: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/038/T_0004.PDF

รมว.แรงงาน สั่งเข้ม กรมการจัดหางาน ตรวจสอบครูชาวต่างชาติไม่มีใบอนุญาตทำงาน พร้อมสร้างการรับรู้ ตั้งเป้าสถานศึกษารัฐ - เอกชน ทราบแนวปฏิบัติ การขอใบอนุญาตทำงานให้ครูต่างชาติ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมการจัดหางาน ตรวจสอบครูต่างชาติในโรงเรียนและสถานศึกษาทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยให้สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 เป็นหน้าด่านประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ขั้นตอนการขออนุญาตทำงานกฎ ระเบียบ และโทษหากไม่ปฏิบัติตาม พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบครูต่างชาติในตำแหน่งครูผู้สอนและการขอรับใบอนุญาตทำงาน (work permit) ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อรายงานผลการตรวจสอบให้ทราบ

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน มอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สร้างการรับรู้แก่สถานศึกษาภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายได้ถูกต้อง รวมทั้งตรวจสอบและควบคุมการทำงานของคนต่างด้าวในพื้นที่รับผิดชอบ

จากผลการตรวจสอบโรงเรียน และสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 922 แห่ง พบว่ามีครูต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย จำนวน 6,129 คน โดยสัญชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.) ฟิลิปปินส์ 2,667 คน 2.) อังกฤษ 558 คน 3.) สหรัฐอเมริกา 465 คน 4.) จีน 237 คน 5.) แอฟริกาใต้ 160 คน และอื่น ๆ 2,042 คน และพบสถานศึกษาและครูต่างชาติกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้

1.) ครูต่างชาติกระทำความผิดข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จำนวน 8 คน

2.) ครูต่างชาติกระทำความผิดข้อหาไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงผู้เป็นนายจ้าง สถานที่ทำงานของนายจ้าง และลักษณะงานหลักที่ทำภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เข้าทำงานและต้องแจ้งทุกครั้งที่เปลี่ยนนายจ้าง จำนวน 3 คน

3.) โรงเรียนและสถานศึกษากระทำความผิดข้อหารับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จำนวน 1 แห่ง

4.) โรงเรียนและสถานศึกษากระทำความผิดข้อหาไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงชื่อและสัญชาติของคนต่างด้าว และลักษณะงานที่ให้ทำภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จ้างและไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบ เมื่อคนต่างด้าวนั้นออกจากงานภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คนต่างด้าวออกจากงาน จำนวน 20 แห่ง (ข้อมูลจากกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2563 - 25 มกราคม 2564)

“ สำหรับคนต่างด้าวที่จะขอรับใบอนุญาตทำงานในตำแหน่งครูผู้สอนในสถานศึกษา ต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (NON-IMMIGRANT VISA) ไม่ใช่เข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางผ่าน (TOURIST/TRANSIT VISA)

โดยยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานพร้อมเอกสารการประกอบวิชาชีพครูและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด ที่เป็นที่ตั้งสถานศึกษา ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบครูชาวต่างชาติทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ในโรงเรียนหรือสถานศึกษา ต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 - 50,000 บาท และถูกผลักดันกลับประเทศ

ส่วนโรงเรียนหรือสถานศึกษาจะถูกดำเนินคดีในข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และถ้ายังพบกระทำผิดซ้ำจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 - 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือที่ไลน์ @)Service_Workpermit และสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามภาษาอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร แนะนำวิธีการทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ทำไมเด็กไทยส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ซักที?

เป็นที่รู้กันดีว่าทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่อันดับที่ 89 จาก 100 ประเทศทั่วโลก เกือบรั้งท้ายประเทศอาเซียนทั้งหมด เหตุใดปัญหานี้จึงยังแก้ไขไม่ได้ซักที? ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาษาอังกฤษที่สอนกันในโรงเรียนไทยไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะให้ใช้ภาษาในการสื่อสารได้จริง และหากจะหาเรียนเองนอกโรงเรียน ค่าเล่าเรียนก็อยู่ในราคาที่สูงเกินกว่าที่ทุกคนจะมีกำลังจ่าย

การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนไทย มักเน้นไปที่คำศัพท์และไวยากรณ์เพราะวัดผลได้ง่าย แต่การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะทำได้ยากกว่า ขยายผลไปทั่วประเทศได้ยากกว่า และยังไม่มีเครื่องมือวัดผลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนจำนวนมากมุ่งไปที่การ “เรียนเพื่อสอบ” แทนที่จะ “เรียนเพื่อพัฒนาทักษะ” ส่งผลให้นักเรียนไทยกว่า 6-7 ล้านคนทั่วประเทศสามารถทำข้อสอบ แต่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเราไม่ย้อนกลับมาแก้กันตั้งแต่จุดนี้ ก็จะยากที่จะแก้ไขเพราะการเรียนภาษามักเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

“จุดประสงค์ของการเรียนภาษาอังกฤษควรที่จะเป็นการเรียนเพื่อพัฒนาทักษะ ให้สามารถรับข้อมูลและใช้ภาษาในการสื่อสารได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงเพื่อทำคะแนนสอบอย่างเดียว” Derek Hopper - อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Academic Director ของ Edsy (สตาร์ทอัพด้านการศึกษาที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ) กล่าว

การมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี กลายเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญในโลกทุกวันนี้ ที่มีการเชื่อมโยงอย่างรวดเร็วและไร้พรมแดน ไม่เพียงเป็นการเปิดโอกาสในการเรียนต่อ ทำงาน หรือใช้ชีวิตในต่างประเทศ แต่เป็นการเปิดมุมมอง เปิดโอกาสในการเข้าถึงสื่อ ข้อมูล และความรู้อีกมากมายมหาศาลจากทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม...นักเรียนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในโรงเรียนนานาชาติ (ค่าเทอมสูงได้เกิน 1 ล้านบาทต่อปี) หรือการเรียนพิเศษในโรงเรียนสอนภาษาชื่อดัง (ค่าเรียนสูงเป็นหลักแสนบาทต่อปี)

สาเหตุหลักที่ทำให้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวอยู่ในระดับที่สูงมาก เป็นเพราะโรงเรียนเหล่านี้เน้นใช้ครูต่างชาติเจ้าของภาษาในการสอนเป็นภาษาอังกฤษ 100% ซึ่งไม่ได้ทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจสูงสุด จากการวิจัยของ University of Cambridge พบว่าการเรียนการสอนด้วยเจ้าของภาษาโดยใช้ภาษาอังกฤษ 100% ไม่ใช่สิ่งจำเป็นหรือเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ดีที่สุดเสมอไป นอกจากนี้ ผู้เรียนยังควรที่จะมุ่งเป้าที่จะพัฒนาทักษะให้สามารถสื่อสารได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ แทนที่จะมุ่งเป้าให้มีสำเนียงเหมือนกับเจ้าของภาษา

เพื่อให้นักเรียนไทยส่วนใหญ่ในประเทศสามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพ เราจำเป็นที่จะต้องมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่างระหว่างการเรียนในโรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนสอนภาษาที่แสนแพง และการเรียนในโรงเรียนไทยหรือการเรียนพิเศษกวดวิชา ที่อยู่ในราคาที่นักเรียนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึง แต่ไม่ได้ช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพมากนัก เช่น Liulishuo สตาร์ทอัพยูนิคอร์นด้านการศึกษาในประเทศจีนที่ช่วยนักเรียนจีนกว่า 50 ล้านคนแล้วในการฝึกทักษะภาษาอังกฤษ

Edsy ต้องการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยให้นักเรียนไทยสามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้อง โดยไม่ทิ้งพื้นฐานคำศัพท์และไวยากรณ์ที่สำคัญในการเรียนรู้ และเข้าใจวิชาภาษาอังกฤษอย่างแตกฉาน เราจึงเริ่มต้นด้วยแนวคิดที่จะชักชวนให้คนไทยรุ่นใหม่ที่มีทักษะภาษาอังกฤษดีเยี่ยม ที่อาจจะได้มีโอกาสเรียนในโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสองภาษา โปรแกรมอินเตอร์ หรือกระทั่งในต่างประเทศ ให้หันกลับมาช่วยกันแบ่งปัน ถ่ายทอดทักษะภาษาอังกฤษแก่นักเรียนไทยอีกกว่า 6-7 ล้านคน ความฝันของเราคือการสร้างรูปแบบการเรียนการสอนภาษาภาษาอังกฤษแบบใหม่ที่คล้ายกับในโรงเรียนนานาชาติ เปี่ยมด้วยคุณภาพ แต่อยู่ในราคาและรูปแบบออนไลน์ที่ทำให้นักเรียนทั่วประเทศสามารถเข้าถึง

เขียนโดย พริษฐ์ เที่ยงธรรม อดีตที่ปรึกษาธุรกิจที่ผันตัวมาก่อตั้งสตาร์ทอัพด้านการศึกษา Edsy หลังจากจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา

Facebook: @edsythailand

Line ID: @edsy.th


อ้างอิงข้อมูล

https://thestandard.co/ef-epi-2020-ef-english-proficiency/

Kerr, P. (2019) The use of L1 in English language teaching. Part of the Cambridge Papers in ELT series.

Cambridge: Cambridge University Press

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เตรียมการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สร้างห้องเรียนอาชีพ มุ่งเปิดหลักสูตรต่อยอดอาชีพ เก็บหน่วยกิตประกอบการเรียนต่อปวช. ปวส.

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)เตรียมการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ตามนโยบายนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ต้องการทำให้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิต

และให้ประชาชนในทุกจังหวัดมีรายได้ โดยมีการนำนโยบายเรื่องการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพของชุมชน และโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมืองมาต่อยอด เพื่อที่จะนำไปใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป

นายอัมพรกล่าวต่อว่า สพฐ. กับอาชีวศึกษา ได้ตกลงกันว่าจะมีการทำห้องเรียนอาชีพร่วมกัน โดยจะมีการดำเนินการ 2 รูปแบบคือ รูปแบบที่ 1 การจัดหลักสูตรอาชีพระยะสั้น เพื่อให้เด็กเรียนรู้แล้วสามารถทำได้ หรือเป็นอาชีพได้ เช่น การประกอบอาหาร การทำขนม เป็นต้น และ 2 การจัดการเรียนการสอนอาชีพที่จัดเป็นหน่วยการเรียน โดยกำหนดให้เรียนในวิชาพื้นฐาน หรือวิชาเลือก ซึ่งผู้เรียนสามารถนับและเก็บหน่วยกิตตั้งแต่มัธยม หากต้องการศึกษาต่อด้านสายอาชีพ ก็สามารถนำหน่วยกิตไปนับรวมได้

"การจัดการเรียนสอนดังกล่าว นอกจากทำให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้แล้ว ยังสามารถใช้ประกอบการเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีแรงจูงใจมากขึ้น คาดว่าประมาณสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมืออย่างเป็นทางการ และจะเริ่มดำเนินการปีการศึกษา 2564 ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในโรงเรียนที่มีความพร้อม" นายอัมพรกล่าว


ที่มา: https://www.matichon.co.th/education/news_2582666

สหราชอาณาจักรยังเปิดประตูรับนักศึกษาต่างชาติ ย้ำนักเรียนต่างชาติมีสิทธิได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยปีนี้เพิ่มทุนให้เปล่าสำหรับนักศึกษาปริญญาโทของไทยเป็น 28 ทุน ชี้ปีก่อนมีนักเรียนไทยราว 30% เลื่อนการเรียนต่อ แต่ยังคงมุ่งมั่นเข้าเรียนที่ ‘อังกฤษ’

สถานการณ์ COVID-19 ป่วนวงการการศึกษาเช่นกัน เนื่องจากนักเรียน-นักศึกษาอาจไม่สบายใจที่จะเข้าเรียนต่อในต่างประเทศตามแผนที่ได้วางไว้

อเล็กซานดรา แมคเคนซี อัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ชี้แจงถึงสถานการณ์ที่อังกฤษซึ่งยังคงเปิดประตูต้อนรับนักเรียนต่างชาติ ปัจจุบัน นักเรียน - นักศึกษาที่ยังคงศึกษาอยู่ โดยอยู่ในภาคเรียนฤดูใบไม้ผลิปี 2020/21 มีการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์ล็อกดาวน์ คือเน้นเรียนออนไลน์เกือบทั้งหมด ยกเว้นคลาสที่จำเป็นต้องใช้ห้องปฏิบัติการเท่านั้น

ส่วนในภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วง 2021/22 ที่กำลังจะเริ่มต้นในเดือนกันยายนนี้ อเล็กซานดรากล่าวว่า อังกฤษมีการเตรียมแผนไว้ทั้งการเรียนแบบปกติในห้องเรียน และการเรียนแบบออนไลน์ โดยจะปรับใช้ตามสถานการณ์ แต่จากแนวโน้มที่อังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่มีการฉีดวัคซีนแล้ว ทำให้คาดว่าจะเป็นการเรียนแบบผสมผสานออฟไลน์-ออนไลน์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าคุณภาพการศึกษาที่อังกฤษยังคงคุณภาพระดับโลกเช่นเดิม

สำหรับข้อกังวลของนักเรียนและผู้ปกครองเกี่ยวกับด้านสาธารณสุข อเล็กซานดราชี้แจงว่า นักเรียนนักศึกษาที่ได้วีซ่าเพื่อศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ จะอยู่ในระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ของอังกฤษโดยอัตโนมัติ ทำให้นักเรียนต่างชาติทุกคนมีสิทธิได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ตามลำดับความจำเป็นก่อนหลัง รวมถึงได้รับการตรวจ COVID-19 กรณีที่มีความเสี่ยง

นอกจากจะยืนยันเพื่อคลายข้อกังวลด้านสุขภาพและการรับเข้าเรียน เธอยังเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวีซ่าด้วยว่า สำหรับนักศึกษาที่จบระดับชั้นปริญญาโทและปริญญาเอกแล้วต้องการทำงานต่อในสหราชอาณาจักร ยังคงขอวีซ่าที่เรียกว่า The Graduate Route ได้เช่นเดิม คือบัณฑิตป.โทสามารถใช้เวลาหางานได้ 2 ปีหลังเรียนจบ และบัณฑิตป.เอกสามารถหางานทำได้ถึง 3 ปี

ด้าน อุไรวรรณ สะโมลี หัวหน้าฝ่ายบริการการศึกษาต่อสหราชอาณาจักร บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวถึงความพิเศษของทุนจากบริติช เคานซิลคือ The Great Scholarships ปี 2021 มีการเพิ่มจำนวนทุนเป็น 28 ทุนจากสถาบันการศึกษา 22 แห่ง ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วที่มีเพียง 9 ทุนเท่านั้น

โดยทุนทั้งหมดจัดสรรให้กับนักเรียนไทยที่ต้องการศึกษาต่อปริญญาโทที่อังกฤษ มีหลากหลายสาขาวิชาที่ให้ทุนมูลค่าต่อทุนขั้นต่ำ 10,000 ปอนด์ (ประมาณ 4 แสนบาท) ซึ่งครอบคลุมค่าเล่าเรียนทั้งหมดได้ และเป็นทุนให้เปล่าอีกด้วย (https://www.britishcouncil.or.th/study-uk/great-scholarships)

นอกจากนี้ยังมีทุน Women in STEM เป็นทุนที่ให้แบบเต็มจำนวนรวมทั้งค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก และตั๋วเดินทางไปกลับ แก่ผู้หญิงที่ต้องการเรียนปริญญาโทในสาขาวิชากลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม หรือคณิตศาสตร์สำหรับประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไม่รวมสิงคโปร์และบรูไน) ได้รับจัดสรรทั้งหมด 15 ทุน ปีนี้เปิดสาขาที่อนุญาตขอทุน คือ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและโลกร้อน, วิทยาศาสตร์ชีวิตและสุขภาพ และ เกษตรกรรม (https://www.britishcouncil.org/study-work-abroad/in-uk/scholarship-women-stem?_ga=2.125457545.263787490.1613449442-1351125984.1613449442)

ในแง่สถิติการเข้าเรียนต่อต่างประเทศของนักเรียนไทย ภาคการศึกษาปี 2561/62 อยู่ที่ 15,457 คน ในจำนวนนี้เลือกเรียนต่อที่ "สหราชอาณาจักร" มากเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 45% รองมาอันดับ 2 คือ "สหรัฐอเมริกา" 35% และอันดับ 3 คือ "ออสเตรเลีย" 16%

สาขาวิชาที่นักเรียนไทยนิยมมากที่สุดที่อังกฤษ (เฉพาะระดับปริญญาตรีขึ้นไป) ยังคงเป็น "บริหารธุรกิจ" ซึ่งคิดเป็น 60% ของนักเรียนทั้งหมดเพราะเป็นสาขาที่มีแหล่งงานรองรับมากในไทย ตามด้วยสาขา "กฎหมาย" ซึ่งมาแรงขึ้นมากโดยมีสัดส่วน 10% ที่เหลือเป็นสาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยี 6% สาขาสังคมศาสตร์ 5% และ สาขาการออกแบบอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 3%

ดังที่เห็นว่าสถิติดังกล่าวเป็นข้อมูลปี 2561/62 ก่อนจะเกิดสถานการณ์ COVID-19 ขึ้น อุไรวรรณกล่าวว่า เมื่อปีก่อนหลังเกิดโรคระบาด บริติช เคานซิลมีการจัดสำรวจเมื่อเดือนเมษายน 2563 พบว่านักเรียนเกือบ 30% มีความกังวลที่จะเข้าเรียนต่อต่างประเทศ และตัดสินใจจะเลื่อนแผนการศึกษาต่อออกไปก่อน

อย่างไรก็ตาม หลังพูดคุยกับนักเรียนพบว่า ส่วนใหญ่ยังคงมุ่งมั่นที่จะเข้าเรียนที่ประเทศอังกฤษมากกว่าจะเปลี่ยนทิศทางไปยังประเทศอื่น และเชื่อว่าแนวโน้มปัจจัยบวกจากวัคซีน COVID-19 น่าจะจูงใจให้นักเรียนที่เลื่อนแผนออกไป กลับมาศึกษาต่อกันในปีนี้


ที่มา: https://positioningmag.com/1319555

เตรียมผนึกกำลังหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ วางแผนร่วมจัดงาน ‘World Education & University Expo’ 2021 ในช่วงกลางปีนี้ สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนออกแบบชีวิตก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

โมเดลธุรกิจในภาคการศึกษายุคดิจิทัลกำลังถูกจับจ้องเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบุคลากรด้านการวางแผนนโยบาย การปรับเปลี่ยนแผนงานเชิงรุกตลอดจนทิศทางการศึกษาไทยในอนาคตจะเป็นแบบไหน ซึ่งตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้ คือ นักเรียนมีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะเรียนออนไลน์ แม้โครงสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงของประเทศจะยังไม่พร้อมในทุกจังหวัดก็ตาม

‘ไหมฟ้า คำมุงคุณ’ จากเด็กนักเรียนแถวหน้าดีกรีเกียรตินิยมอันดับ 1 ด้านคณิตศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น สู่การเป็นผู้บริหารสถาบันวิชาการระดับแนวหน้าของประเทศกับไอเดียโมเดลธุรกิจการศึกษาในยุคที่สังคมกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือ Digital Disruption อย่างรวดเร็ว ซึ่งมองแล้วว่าการเรียนรู้ของนักเรียนในอนาคตไม่ใช่นั่งเรียนในห้องแบบเดิมๆ และเชื่อว่านักเรียนทุกคนต้องเตรียมรับมือกับโลกของการศึกษาในศตวรรษหน้า เผยเตรียมผนึกกำลังร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมจัดงาน ‘World Education & University Expo’ 2021 กลางปีนี้

น.ส.ไหมฟ้า คำมุงคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิสดอม วี กรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจการศึกษา เปิดเผยว่า จากที่คร่ำหวอดในแวดวงการศึกษามากว่า 10 ปี ทำให้มองเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงคือมุมมองของเด็กนักเรียนในปัจจุบันหันเหไปทางสายธุรกิจมากกว่าการเรียนในสายวิชาการ เช่น สนใจในสายเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) โปรแกรมเมอร์ นักบัญชี ครีเอทีฟ โดยมองหากิจกรรมเพื่อค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ รวมทั้งในปัจจุบันจะเห็นว่าหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนต่างตื่นตัวในการจัดหลักสูตร เพื่อรับมือกับตลาดแรงงานที่คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนไปอย่างมาก

สัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ต้องมีเครื่องมือหรือโมเดลธุรกิจเพื่อมารองรับธุรกิจภาคการศึกษาที่คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนโฉมหน้าไป ซึ่งอาจจะต้องฉีกกฎการนั่งเรียนเดิมๆ ในห้องเรียน ขณะที่ครูผู้สอนสามารถที่จะตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนในยุคดิจิทัลได้หลากหลาย พร้อมที่จะแนะแนวและให้คำปรึกษา หาคำตอบ สำคัญที่สุดต้องให้ความมั่นใจกับนักเรียน/นักศึกษาในสาขาวิชาชีพใหม่ๆ

โดยวิสดอม วี กรุ๊ป เตรียมผนึกกำลังร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศวางแผนร่วมจัดงาน ‘World Education & University Expo’ 2021 ในช่วงกลางปีนี้ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ แนะแนวให้ความรู้กับนักเรียนที่สามารถนำประสบการณ์ตรงจากผู้รู้ไปใช้ได้จริง ชี้ให้นักเรียนได้เห็นถึงความยาก-ง่ายของการเรียนในสาขานั้นๆ กับผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนก่อนที่จะตัดสินใจวางแผนหรือออกแบบชีวิตก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน

“สิ่งสำคัญนักเรียนต้องกล้าที่จะตั้งเป้าหมายต้องการเป็นอะไร อยากทำอะไร” น.ส.ไหมฟ้ากล่าวทิ้งท้าย


ที่มา: https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_5954284

สำนักงาน ก.พ. เปิดรับสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป หรือ ภาค ก. แบบ Paper & Pencil ประจำปี 2564

สำนักงาน ก.พ. เปิดรับสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป หรือ ภาค ก. แบบ Paper & Pencil ประจำปี 2564

คุณสมบัติผู้สมัคร

- ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว หรือผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2564 ในระดับ ปวช. , ปวท. , ปวส. , ปริญญาตรี และปริญญาโท

สมัครสอบระหว่างวันที่ 3 - 24 กุมภาพันธ์ 2564 ที่

https://ocsc9.thaijobjob.com

ชำระค่าธรรมเนียมสอบระหว่างวันที่ 3 - 25 กุมภาพันธ์ 2564

จำนวน 800,000 ที่นั่งสอบ

สอบ 20 มิถุนายน และ 4 กรกฎาคม 2564

การอ่านนิทานให้ลูกฟัง ช่วยเสริมสร้างคลังคำศัพท์และจินตนาการของเด็ก ที่สำคัญ ยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก

ผลงานวิจัยที่ยาวนานที่สุดของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ติดตามชีวิตของคนจำนวนหนึ่งถึง 75 ปี ได้เปิดเผยให้เรารู้ว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่มนุษย์ต้องการ คือสายสัมพันธ์ที่ดี และการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่และลูกวิธีหนึ่ง คือการเล่านิทานให้ลูกฟัง ในบทนี้อยากจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับลูกด้วยการอ่านนิทานให้ลูกฟังกันค่ะ

หากเราอยากให้ลูกวัยก่อนเข้าอนุบาลเตรียมพร้อมกับการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ดี การให้เด็กดูหนังสือนิทานนั้น เป็นหนึ่งในวิธีสุดคลาสสิคมาช้านาน นิทานช่วยให้ลูกสะสมคลังคำศัพท์และเสริมสร้างจินตนาการให้เด็กสามารถทำความเข้าใจจากการฟังครูในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ทว่าหนังสือที่ดีของเด็กเล็กอาจไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกับหนังสือที่ดีของเด็กที่อ่านหนังสือได้แล้ว เด็กเล็กที่เพิ่งลืมตาดูโลกได้ไม่นาน ยังคงเห็นโลกแบบที่สดใหม่ แตกต่างและเต็มไปด้วยจินตนาการก่อนจะกลายเป็นผู้ใหญ่อย่างเรา

แล้วหนังสือที่ดีสำหรับเด็กเป็นอย่างไร

สมมติว่ามีพลังวิเศษ เสกให้ลูกพูดได้ตั้งแต่แรกเกิด ลูกจะเล่าอะไรให้เราฟัง...

“ในตอนที่หนูเพิ่งลืมตาดูโลกมาได้ไม่ถึงสามเดือน หนูเหมือนคนสายตาสั้นประมาณแปดร้อย รวมถึงเด็กคนอื่นด้วยเช่นกัน หนูมองเห็นทุกอย่างเป็นภาพเบลอไหวไปมา หนูไม่รู้ว่าที่เห็นนั้นคืออะไร

ถึงตอนนั้นหนูอาจจะมองเห็นได้ไม่ค่อยถนัดแต่หนูได้ยินเสียงชัด ทุกครั้งที่มีเสียงเกิดขึ้น หนูยังไม่รู้ว่าเสียงนั้นคือเสียงอะไร มาจากไหน แต่หนูสัมผัสได้เสมอว่าเสียงนั้นมาพร้อมกับความรัก โอบกอดที่แสนอบอุ่น และนมอุ่น ๆ ให้หนูดื่มกิน

เมื่อหนูอยู่บนโลกนี้ได้กว่าสี่เดือน หนูเริ่มเห็นชัดขึ้น หนูมองเห็นเสียงแห่งความรักนั้น เสียงของแม่ แม่มาพร้อมกับแผ่นภาพพับทับซ้อนกันเปิดกลับไปมาหน้าหลังได้ แผ่นที่มีสีสันสดใสเต็มไปหมด หนูรู้สึกตื่นเต้น หนูจ้องรูปภาพ หนูไม่รู้ว่ารูปสื่อความหมายอะไร ทุกครั้งเวลาหนูดูภาพสีสันสดใสนั้น จะมีเสียงแห่งความรักเปล่งบรรยายประกอบไปด้วย หนูเริ่มจับได้ว่าเสียงแบบนี้มากับรูปนี้ หนูเริ่มรู้ความหมายทางภาษา

เมื่อหนูอยู่บนโลกนี้ได้เกือบสิบสองเดือน หนูพบว่าหนูใช้ร่างกายเคลื่อนไหวไปมาได้ หนูรู้สึกตื่นเต้น หนูอยู่ไม่นิ่ง หยิบจับคว้าทุกอย่างมาเล่นและชิมมัน ทุกอย่างคือของเล่นที่หนูได้เรียนรู้ บางทีของเล่นก็กินได้ หนูเลยชอบชิมมันด้วย

เมื่อหนูครบหนึ่งขวบเต็ม หนูตื่นเต้นอยากเล่นของเล่นใหม่ทุกวัน แม่เอาหนังสือใหม่มาให้เล่น มีภาพที่เปิดออกมาแล้วตั้งขึ้นมาจากหนังสือได้ พอหนูพับหน้าต่อไปภาพที่ตั้งขึ้นก็หดเก็บตัวลงในหนังสือเอง หนูรู้สึกตื่นเต้น ยิ่งหนูได้เล่นสนุก หนูยิ่งจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี

เมื่อหนูเข้าโรงเรียนอนุบาล หนูเจอคุณครูครั้งแรก หนูเข้าใจความหมายของคำที่คุณครูสอนได้ มันอยู่ในนิทานที่แม่อ่านให้ฟังก่อนนอนเต็มไปหมด หนูสามารถจินตนาการในหัวตามสิ่งที่ครูสอนได้ เหมือนกับเอาภาพมากมายในหนังสือนิทานหลายเล่มมาประกอบกันใหม่ หนูเข้าใจสิ่งที่คุณครูสอน”

ตัวอย่างสมมตินี้ เปรียบเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่อยู่ในโลกของเด็ก เป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ที่เรานำข้อมูลทางวิชาการมาเล่าเท่านั้น ในโลกของเด็กนั้นอาจจะเต็มไปด้วยจินตนาการไร้ขีดจำกัด ยากที่ผู้ใหญ่อย่างเราที่หลงลืมช่วงวัยแรกเกิดไปแล้วจะคิดตามได้ ทุกวันสำหรับเด็กคือการเรียนรู้ และทุกวินาทีของลูกที่ได้อยู่กับพ่อแม่คือการสร้างสายสัมพันธ์

หากเราอยากจะจินตนาการตามเด็กที่กำลังเรียนรู้ผ่านการอ่านนิทานให้ลูกฟังได้นั้น คุณหมอแพม หมอกุมารแพทย์ ผู้ที่ทำเพจออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่คนในโลกโซเซียลมีเดีย ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่พ่อแม่ที่สนใจการปลูกฝังให้ลูกรักการอ่าน กล่าวว่า “ผู้ใหญ่จะเน้นอ่านตัวอักษร ใช้คลังคำศัพท์ที่สะสมไว้เอามาจินตนาการได้หมด แต่การดูนิทานของเด็กเล็กจะอาศัยฟังเสียงพ่อแม่เสริมรูปภาพ แล้วเด็กจะจินตนาการเป็นเอนิเมชั่นในหัว”

หมอแพมแนะนำว่า “หนังสือนิทานในท้องตลาดนั้น ต้องยอมรับว่ามีทั้งดีและไม่ดี คร่าว ๆ คือ หนังสือดี ภาพต้องไม่สื่อไปทางที่โหดร้าย เพราะเด็กอารมณ์อ่อนไหวกว่าผู้ใหญ่ หนังสือที่ดีควรมีรูปชัด ๆ เส้นชัด ๆ เส้นน้อย ๆ ส่วนใหญ่ราคาจะแพง หนังสือไม่ดีก็จะพยายามเอาใจคนซื้อคือพ่อแม่ ยัดเส้นเยอะ ๆ รูปเยอะ ๆ ให้ดูคุ้ม ไม่มีประโยชน์กับเด็ก”

คุณหมอบอกอีกว่า การอ่านนิทานให้ลูกฟังนั้น มีแต่ผลดี ช่วยเสริมสร้างคลังคำศัพท์และจินตนาการของเด็ก ที่สำคัญ ยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก พ่อแม่ไม่ต้องกลัวว่าจะเล่านิทานไม่เก่ง หนังสือนิทานเด็กถูกออกแบบมาให้ใครอ่านก็สามารถเล่านิทานได้ เพียงเราแบ่งเวลา 5-10 นาทีต่อวันเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ จะเป็นปู่ย่า ตายาย หรือพี่เลี้ยงก็ยังได้ ขอเพียงมีคนที่เด็กสามารถสร้างสายสัมพันธ์กับคนคนนั้นผ่านกิจกรรมเล่านิทานได้ก็เพียงพอ

ถึงแม้หนังสือจะดีซักเพียงไหนคุณหมอก็ไม่ได้การันตีว่าเด็กจะรักการอ่าน หรือหนังสือที่ดีสำหรับเด็กนั้นอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงแค่ภาพประกอบสีสวยสดใสหรือถ้อยคำจังหวะจะโคลนไพเราะเสนาะใจ หรือว่าส่วนที่ดีที่สุดของหนังสือดีสำหรับเด็กนั้นจะเป็นเสียงที่กำลังเล่า แววตาแห่งความห่วงใย และประสบการณ์สัมผัสอุ่นไอจากพ่อแม่

ทีม The Study Times Family ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้ลูก Style หมอแพม

Link : https://www.facebook.com/299800753872915/videos/1287921204923232

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

กำหนดการรับสมัครสอบนักเรียนเตรียมทหาร เหล่าทหารอากาศ ประจำปีการศึกษา 2564

โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เปิดรับสมัครบุคคลเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร (ในส่วนของกองทัพอากาศ) ประจำปีการศึกษา 2564

ดูรายละเอียดและสมัครทางอินเตอร์เน็ต

????ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 30 มีนาคม 2564 ????

สมัครได้ทาง http://www.admission.nkrafa.com

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองสถิติและประเมินผลโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช หมายเลขโทรศัพท์ 0 2534 3624 - 7 ในวันและเวลาราชการ

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่

เว็บไซต์ : www.nkrafa.rtaf.mi.th

เฟซบุ๊ก : โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช


ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=5200872533318995&id=159646607441638


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top