การตั้งเป้าหมายสำหรับวัยรุ่นแตกต่างจากการตั้งเป้าหมายในวัยเด็ก ดันลูกวัยรุ่นยังไงให้ไปถึงเป้าหมาย ชวนพ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่น ตั้งเป้าหมายร่วมกับลูก เพื่อเดินบนเส้นทางสู่เป้าหมายไปพร้อมกัน

เป้าหมายมีไว้เพื่ออะไร ถ้าหากคำตอบในใจของคุณผู้อ่านคือ เป้าหมายมีไว้พุ่งชน เป็นคำตอบที่ถูกต้องเลยค่ะ เป้าหมายนั้นมีไว้ให้เราพุ่งชน แต่ถ้าเราตั้งเป้าหมายโดยไม่ได้วางแผน เราก็เอาตัวพุ่งชนกับสิ่งอื่นแทนเป้าหมายของเราได้เหมือนกัน วันนี้เราจะมาชวนคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นหรือเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นมาตั้งเป้าหมายร่วมกับลูกกันค่ะ

ประโยชน์ของการตั้งเป้าหมาย

การตั้งเป้าหมาย นอกจากจะทำให้เราวางแผนเพื่อไปสู่ปลายทาง ไม่หลงทิศทาง ติดตามความคืบหน้าได้แล้ว ยังช่วยปลูกฝังวินัยและฝึกความมั่นใจให้แก่ลูก เพื่อเตรียมพร้อมส่งลูกไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าในอนาคตได้อีกด้วย และการตั้งเป้าหมายสำหรับเด็กวัยรุ่นนั้น ไม่ได้ทำได้เพียงแค่กับการเรียนเท่านั้น พ่อแม่สามารถช่วยลูกตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับกิจกรรมอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การเก็บออมเงิน หรือการตั้งเป้ากับอะไรก็ได้รอบตัวเพื่อให้ลูกได้ลงมือทำจนเกิดการสั่งสมประสบการณ์ ทั้งด้านเรียนรู้จากความล้มเหลวและรู้เรียนจากความสำเร็จ

การตั้งเป้าหมายสำหรับวัยรุ่น

หากคุณพ่อคุณแม่มีลูกกำลังเข้าสู่วัยรุ่น การตั้งเป้าหมายสำหรับวัยรุ่นนั้นจะแตกต่างจากการตั้งเป้าหมายในวัยเด็ก เพราะในวัยนี้เค้าเริ่มโตแล้ว มีความสนใจเป็นของตนเอง เริ่มมีความคิดความชอบ มีโลกและสังคมของตัวเอง เริ่มอยากจะเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ พ่อแม่ของลูกเข้าสู่วัยรุ่นอาจจะไม่สามารถกำหนดเป้าหมายให้ลูกได้เหมือนตอนที่ลูกยังเล็กอีกแล้ว ฉะนั้น หนทางที่พ่อแม่จะสามารถเดินบนเส้นทางสู่เป้าหมายไปพร้อมกับลูกได้ คือสร้างเป้าหมายร่วมกันระหว่างเราและลูกของเรา พ่อแม่ลองนั่งคุยกับลูกเปิดใจพูดคุยกัน สร้างบทสนธนาปลายเปิดกับลูก ถามตอบกันแล้วหาจุดลงตัว แล้วให้ลูกได้ทดลองความสนใจด้วยตนเองบ้าง เพื่อที่ลูกวัยรุ่นของเราจะได้ไม่ต้องก้าวข้ามวัยหัวเลี้ยวหัวต่อไปโดยลำพัง

วางแผนด้วยการคำนวณเวลาที่เหลือ

หากพ่อแม่และลูกตกลงเป้าหมายกันได้แล้ว ลองวางแผนโดยกำหนดจากเวลาที่มีเหลือเพื่อบรรลุเป้าหมายว่าเหลืออีกกี่วัน กี่เดือน กี่ปี และซอยเป้าหมายใหญ่ที่ตั้งร่วมกันไว้เป็นเป้าหมายย่อยหลายเป้าหมาย การซอยเป้าหมายออกเป็นเป้าเล็ก ๆ ช่วยให้ลูกสามารถทยอยเก็บเป้าหมายเล็ก ๆ นั้นได้โดยไม่รู้สึกท้อก่อนถึงเป้าหมายใหญ่ การวางแผนด้วยการกำหนดเวลา นอกจากจะทำให้วางแผนได้ดีขึ้นแล้วยังช่วยให้ลูกรู้สึกฮึกเหิมทุกครั้งที่รู้ว่าเหลือเวลาอยู่ไม่มาก

การจัดการเมื่อลูกหลุดโฟกัส

เด็กทุกคนชอบเล่นสนุก บางทีลูกอาจเผลอติดเล่นเพลินจนลืมเป้าหมายแล้วผลัดวันประกันพรุ่งไปได้บ้าง วิธีแก้คือ ให้ลูกวัยรุ่นสร้างกฎของเค้าด้วยตนเอง ส่วนเราเป็นพยาน หากลูกทำผิดกฎที่ตนเองกำหนดขึ้น ลูกมีวิธีรับผิดชอบหรือมีบทลงโทษกับตนเองอย่างไร การให้ลูกสร้างกฎให้ตนเองนั้นทำให้ลูกไม่อยากแหกกฎที่ตนเป็นคนสร้างไว้

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ลูกหลุดโฟกัสจากเป้าหมายของตัวเองคือความกังวลของพ่อแม่ ความกังวลของพ่อแม่ทำให้ลูกหลุดโฟกัสได้ เพราะเด็กสามารถสัมผัสความเครียดจากพ่อแม่ได้ และเด็กจะรู้สึกกดดัน เมื่อเค้ารู้สึกกดดัน เด็กจะหันไปโฟกัสที่ทำอย่างไรไม่ให้พ่อแม่เครียดหรือเป็นทุกข์แทน ส่งผลให้ลูกเห็นเป้าหมายไม่ชัด หรือไม่รู้ว่าเป้าหมายนั้นทำเพื่อตัวเค้าเองหรือเพื่อพ่อแม่ หรือเพื่อทั้งพ่อแม่และตัวเค้าด้วย

แก้นิสัยปรับวินัยโดยให้เจอกับผลลัพธ์บ้าง

หากลูกยังขาดวินัยบ้าง อย่างเช่นไม่ตรงต่อเวลา การให้ลูกได้เจอกับผลลัพธ์ที่เป็นผลเสียของการไม่ตรงต่อเวลาด้วยตัวของเค้าเองบ้าง ก็เป็นวิธีปรับวินัยที่ได้ผลอยู่ทีเดียว

รับมือกับความผิดหวังของลูกวัยรุ่น

เมื่อตั้งเป้าแล้วย่อมมีความคาดหวัง เมื่อคาดหวังย่อมมีสมหวังบ้างผิดหวังบ้าง ผิดหวังเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีมากสำหรับวัยรุ่น ยังมีสิ่งที่ทำให้ลูกต้องเผชิญกับความผิดหวังอีกมากรออยู่ในโลกของผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ควรอยู่เคียงข้างเค้าในวันที่เค้าอ่อนแอและต้องการพื้นที่ปลอดภัย ฟังเค้าเยอะ ๆ ให้เค้าพูดระบายออกมา ถามไถ่เค้าด้วยความเข้าใจว่ารู้สึกยังไง ได้เรียนรู้อะไร และจะทำอย่างไรต่อไป

ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง คือการสอนเด็กโดยอัตโนมัติ

ความลับที่เหล่านักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นทราบดีคือ เด็กไม่ได้เก่งเชื่อฟัง เด็กเก่งเลียนแบบ ถึงเราจะสอนเด็กแค่ไหน หากไม่มีตัวอย่างให้เลียนแบบหรือหนักไปกว่านั้นมีตัวอย่างในทางตรงกันข้าม การสอนนั้นจะไม่เกิดผลเลย การเป็นแบบอย่าง คือการสอนที่ดีที่สุด เด็กจะเลียนแบบโดยอัตโนมัติ

ความสำเร็จในการเรียนกับความสำเร็จในชีวิต

หากได้ลองค้นคว้าประวัติคนที่ประสบสำเร็จที่คุณผู้อ่านรู้จักกันดีหลาย ๆ คน จะพบว่า คนประสบความสำเร็จไม่ได้เรียนหนังสือเก่งทุกคน ในระบบโรงเรียนมัธยมมีความถนัดให้เด็กเลือกน้อยเกินไป เพียงสองด้านคือ คณิตศาสตร์ - วิทยาศาสตร์ และศิลป์ - ภาษา เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เด็กมีความถนัดที่หลากหลาย และมีทักษะหลายด้านที่สำคัญต่ออนาคตที่เด็กควรได้ฝึกฝน ผลการเรียนในโรงเรียนอาจยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะบ่งชี้ความถนัดของเด็กทุกคนได้ และตัวชี้วัดนั้นอาจซ่อนอยู่ในการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน หากเด็กได้ทดลองทำสิ่งใหม่จะช่วยให้เด็กค้นพบความถนัดของตนเอง และเห็นเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้นว่า เมื่อเค้าโตขึ้น เค้าอยากเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จด้วยตนเองในสิ่งใด


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ ลูกวัยรุ่นดันยังไงให้ไปถึงเป้าหมาย

Link https://www.facebook.com/watch/live/?v=338421374073318&ref=search

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์