การอ่านนิทานให้ลูกฟัง ช่วยเสริมสร้างคลังคำศัพท์และจินตนาการของเด็ก ที่สำคัญ ยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก

ผลงานวิจัยที่ยาวนานที่สุดของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ติดตามชีวิตของคนจำนวนหนึ่งถึง 75 ปี ได้เปิดเผยให้เรารู้ว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่มนุษย์ต้องการ คือสายสัมพันธ์ที่ดี และการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่และลูกวิธีหนึ่ง คือการเล่านิทานให้ลูกฟัง ในบทนี้อยากจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับลูกด้วยการอ่านนิทานให้ลูกฟังกันค่ะ

หากเราอยากให้ลูกวัยก่อนเข้าอนุบาลเตรียมพร้อมกับการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ดี การให้เด็กดูหนังสือนิทานนั้น เป็นหนึ่งในวิธีสุดคลาสสิคมาช้านาน นิทานช่วยให้ลูกสะสมคลังคำศัพท์และเสริมสร้างจินตนาการให้เด็กสามารถทำความเข้าใจจากการฟังครูในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ทว่าหนังสือที่ดีของเด็กเล็กอาจไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกับหนังสือที่ดีของเด็กที่อ่านหนังสือได้แล้ว เด็กเล็กที่เพิ่งลืมตาดูโลกได้ไม่นาน ยังคงเห็นโลกแบบที่สดใหม่ แตกต่างและเต็มไปด้วยจินตนาการก่อนจะกลายเป็นผู้ใหญ่อย่างเรา

แล้วหนังสือที่ดีสำหรับเด็กเป็นอย่างไร

สมมติว่ามีพลังวิเศษ เสกให้ลูกพูดได้ตั้งแต่แรกเกิด ลูกจะเล่าอะไรให้เราฟัง...

“ในตอนที่หนูเพิ่งลืมตาดูโลกมาได้ไม่ถึงสามเดือน หนูเหมือนคนสายตาสั้นประมาณแปดร้อย รวมถึงเด็กคนอื่นด้วยเช่นกัน หนูมองเห็นทุกอย่างเป็นภาพเบลอไหวไปมา หนูไม่รู้ว่าที่เห็นนั้นคืออะไร

ถึงตอนนั้นหนูอาจจะมองเห็นได้ไม่ค่อยถนัดแต่หนูได้ยินเสียงชัด ทุกครั้งที่มีเสียงเกิดขึ้น หนูยังไม่รู้ว่าเสียงนั้นคือเสียงอะไร มาจากไหน แต่หนูสัมผัสได้เสมอว่าเสียงนั้นมาพร้อมกับความรัก โอบกอดที่แสนอบอุ่น และนมอุ่น ๆ ให้หนูดื่มกิน

เมื่อหนูอยู่บนโลกนี้ได้กว่าสี่เดือน หนูเริ่มเห็นชัดขึ้น หนูมองเห็นเสียงแห่งความรักนั้น เสียงของแม่ แม่มาพร้อมกับแผ่นภาพพับทับซ้อนกันเปิดกลับไปมาหน้าหลังได้ แผ่นที่มีสีสันสดใสเต็มไปหมด หนูรู้สึกตื่นเต้น หนูจ้องรูปภาพ หนูไม่รู้ว่ารูปสื่อความหมายอะไร ทุกครั้งเวลาหนูดูภาพสีสันสดใสนั้น จะมีเสียงแห่งความรักเปล่งบรรยายประกอบไปด้วย หนูเริ่มจับได้ว่าเสียงแบบนี้มากับรูปนี้ หนูเริ่มรู้ความหมายทางภาษา

เมื่อหนูอยู่บนโลกนี้ได้เกือบสิบสองเดือน หนูพบว่าหนูใช้ร่างกายเคลื่อนไหวไปมาได้ หนูรู้สึกตื่นเต้น หนูอยู่ไม่นิ่ง หยิบจับคว้าทุกอย่างมาเล่นและชิมมัน ทุกอย่างคือของเล่นที่หนูได้เรียนรู้ บางทีของเล่นก็กินได้ หนูเลยชอบชิมมันด้วย

เมื่อหนูครบหนึ่งขวบเต็ม หนูตื่นเต้นอยากเล่นของเล่นใหม่ทุกวัน แม่เอาหนังสือใหม่มาให้เล่น มีภาพที่เปิดออกมาแล้วตั้งขึ้นมาจากหนังสือได้ พอหนูพับหน้าต่อไปภาพที่ตั้งขึ้นก็หดเก็บตัวลงในหนังสือเอง หนูรู้สึกตื่นเต้น ยิ่งหนูได้เล่นสนุก หนูยิ่งจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี

เมื่อหนูเข้าโรงเรียนอนุบาล หนูเจอคุณครูครั้งแรก หนูเข้าใจความหมายของคำที่คุณครูสอนได้ มันอยู่ในนิทานที่แม่อ่านให้ฟังก่อนนอนเต็มไปหมด หนูสามารถจินตนาการในหัวตามสิ่งที่ครูสอนได้ เหมือนกับเอาภาพมากมายในหนังสือนิทานหลายเล่มมาประกอบกันใหม่ หนูเข้าใจสิ่งที่คุณครูสอน”

ตัวอย่างสมมตินี้ เปรียบเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่อยู่ในโลกของเด็ก เป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ที่เรานำข้อมูลทางวิชาการมาเล่าเท่านั้น ในโลกของเด็กนั้นอาจจะเต็มไปด้วยจินตนาการไร้ขีดจำกัด ยากที่ผู้ใหญ่อย่างเราที่หลงลืมช่วงวัยแรกเกิดไปแล้วจะคิดตามได้ ทุกวันสำหรับเด็กคือการเรียนรู้ และทุกวินาทีของลูกที่ได้อยู่กับพ่อแม่คือการสร้างสายสัมพันธ์

หากเราอยากจะจินตนาการตามเด็กที่กำลังเรียนรู้ผ่านการอ่านนิทานให้ลูกฟังได้นั้น คุณหมอแพม หมอกุมารแพทย์ ผู้ที่ทำเพจออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่คนในโลกโซเซียลมีเดีย ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่พ่อแม่ที่สนใจการปลูกฝังให้ลูกรักการอ่าน กล่าวว่า “ผู้ใหญ่จะเน้นอ่านตัวอักษร ใช้คลังคำศัพท์ที่สะสมไว้เอามาจินตนาการได้หมด แต่การดูนิทานของเด็กเล็กจะอาศัยฟังเสียงพ่อแม่เสริมรูปภาพ แล้วเด็กจะจินตนาการเป็นเอนิเมชั่นในหัว”

หมอแพมแนะนำว่า “หนังสือนิทานในท้องตลาดนั้น ต้องยอมรับว่ามีทั้งดีและไม่ดี คร่าว ๆ คือ หนังสือดี ภาพต้องไม่สื่อไปทางที่โหดร้าย เพราะเด็กอารมณ์อ่อนไหวกว่าผู้ใหญ่ หนังสือที่ดีควรมีรูปชัด ๆ เส้นชัด ๆ เส้นน้อย ๆ ส่วนใหญ่ราคาจะแพง หนังสือไม่ดีก็จะพยายามเอาใจคนซื้อคือพ่อแม่ ยัดเส้นเยอะ ๆ รูปเยอะ ๆ ให้ดูคุ้ม ไม่มีประโยชน์กับเด็ก”

คุณหมอบอกอีกว่า การอ่านนิทานให้ลูกฟังนั้น มีแต่ผลดี ช่วยเสริมสร้างคลังคำศัพท์และจินตนาการของเด็ก ที่สำคัญ ยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก พ่อแม่ไม่ต้องกลัวว่าจะเล่านิทานไม่เก่ง หนังสือนิทานเด็กถูกออกแบบมาให้ใครอ่านก็สามารถเล่านิทานได้ เพียงเราแบ่งเวลา 5-10 นาทีต่อวันเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ จะเป็นปู่ย่า ตายาย หรือพี่เลี้ยงก็ยังได้ ขอเพียงมีคนที่เด็กสามารถสร้างสายสัมพันธ์กับคนคนนั้นผ่านกิจกรรมเล่านิทานได้ก็เพียงพอ

ถึงแม้หนังสือจะดีซักเพียงไหนคุณหมอก็ไม่ได้การันตีว่าเด็กจะรักการอ่าน หรือหนังสือที่ดีสำหรับเด็กนั้นอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงแค่ภาพประกอบสีสวยสดใสหรือถ้อยคำจังหวะจะโคลนไพเราะเสนาะใจ หรือว่าส่วนที่ดีที่สุดของหนังสือดีสำหรับเด็กนั้นจะเป็นเสียงที่กำลังเล่า แววตาแห่งความห่วงใย และประสบการณ์สัมผัสอุ่นไอจากพ่อแม่

ทีม The Study Times Family ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้ลูก Style หมอแพม

Link : https://www.facebook.com/299800753872915/videos/1287921204923232

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์