Thursday, 25 April 2024
Y WORLD

แนะนำคอร์สเรียนฟรี มีใบประกาศ ‘Creative Problem Solving’ พัฒนาทีมเวิร์ก แนะกลยุทธ์แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ มีไหวพริบ Soft skills สำคัญที่วัยทำงานควรมี

การแก้ปัญหาอย่างมีไหวพริบ หนึ่งใน soft skills สำคัญที่ควรมีติดตัว หากใครอยากเรียนรู้ทักษะนี้จริงจังเพื่อพัฒนาทีมเวิร์กและพร้อมรับมือกับการทำงานยุคดิจิทัล แนะนำคอร์สออนไลน์ ชื่อว่า "Get Creative with People to Solve Problems" ส่งตรงจาก University of Leeds กับ Institute of Coding

คอร์สนี้จะสอนวิธีคิดแบบ Human-Centered Design ที่ช่วยให้เราออกแบบแนวทางการทำงานและวิธีแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ มีไหวพริบ และเหมาะกับแต่ละบุคคล ที่สำคัญคือเรียนฟรี  ปรับใช้ได้จริงทั้งเรื่องเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

หัวข้อที่จะได้เรียนในคอร์ส

- การเรียนรู้เจาะลึกแนวคิด human-centred design : กระบวนการที่ผู้ออกแบบจะโฟกัสที่ความต้องการและปัญหาในการทำงานเฉพาะบุคคล

- 5 วิธีคิดและแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์

- การประยุกต์ใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ : แนวทางการแก้ปัญหาให้ตรงจุดและเน้นไปที่ผู้ใช้หรือผู้บริโภคจนทำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ

- รีวิวประสบการณ์ตรงของผู้ใช้จริง

- กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ลองนำแนวคิดฯ ไปใช้แก้ไขปัญหา

เกี่ยวกับคอร์ส

- จำนวนชั่วโมงเรียน: 4 ชั่วโมง

- ผู้เรียนจะได้รับใบประกาศนียบัตร (รูปแบบไฟล์ PDF) เมื่อเรียนจบและทำกิจกรรมครบตามเกณฑ์

สมัครสมาชิกผ่านอีเมลหรือ facebook ‘คลิก register’ ได้ที่

https://www.futurelearn.com/register?return=ceqqps9u

ลงทะเบียนเรียนและดูตารางเรียน ‘คลิก join course for free’ ได้ที่

https://www.futurelearn.com/courses/get-creative-with-people-to-solve-problems


ขอบคุณที่มา: https://www.facebook.com/OneMoreCoursebyDekD/photos/a.107506870745169/274709194024935/

การเลือกโรงเรียนที่ดีให้กับลูก องค์ประกอบสำคัญ นอกเหนือจากการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ รวมเช็คลิสต์คำถามที่พ่อแม่ควรถาม เพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ และแน่ใจว่าได้ปูทางสู่อนาคตที่ดีที่สุดให้กับลูก

นอกจากการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่แล้ว องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการเลือกโรงเรียนที่ดีให้กับลูก ซึ่งแน่นอนว่าพ่อแม่ย่อมต้องการให้ลูกได้รับการศึกษาในสถาบันที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะโรงเรียนหลักสูตรนานาชาติที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ พ่อแม่ชาวไทยหลายครอบครัวต้องการปลูกฝังวิธีคิดแบบสากลให้ลูกภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย

ทั้งยังสร้างเสริมความแข็งแกร่งด้านวิชาการรวมไปถึงภาษาที่สองหรือสาม เตรียมพร้อมสำหรับการศึกษาขั้นสูงในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงโอกาสและอนาคตสำหรับหน้าที่การงานที่ได้เปรียบกว่าอีกด้วย

กรุงเทพฯ นับเป็นเมืองหลวงแห่งหนึ่งที่มีตัวเลือกของสถาบันการศึกษาหลักสูตรนานาชาติมากมายให้เลือก แต่ละที่ล้วนแล้วแต่มีความพิเศษและจุดแข็งที่แตกต่างกันไป ซึ่งนอกเหนือจากการหาข้อมูลจากเว็บไซต์ และดูรีวิวแล้ว การเดินทางไปดูโรงเรียน หรือ School Visit นั้นสำคัญมาก นอกเหนือจากสิ่งอำนวยความสะดวก หรือ facility ที่ดีแล้ว สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของลูกก็สำคัญไม่แพ้กัน บทความนี้จะช่วยรวบรวมเช็คลิสต์คำถามที่พ่อแม่ควรถาม เพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ และแน่ใจว่าได้ปูทางสู่อนาคตที่ดีที่สุดให้กับลูก

1.) โรงเรียนมีเครือข่ายระดับนานาชาติหรือความเชื่อมโยงกับสถาบันแม่ขนาดไหน

เป็นสิ่งแรก ๆ ที่ผู้ปกครองควรถาม เนื่องจากโรงเรียนนานาชาติที่ก่อตั้งในประเทศไทย มีทั้งแบบที่ก่อตั้งขึ้นโดยอิสระ และแบบโรงเรียนสาขาที่ถ่ายทอดระบบการเรียนการสอนมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอังกฤษและสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่า โรงเรียนที่เป็นเครือข่ายจากต่างประเทศย่อมได้เปรียบในด้านความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงระดับสากล ยิ่งโรงเรียนแม่เก่าแก่ ได้รับการยอมรับและมีศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จเท่าไร ก็เป็นได้ไปว่าสาขาโรงเรียนในกรุงเทพฯ จะมีมาตรฐานในระดับเดียวกัน ซึ่งควรถามให้แน่ใจว่าโรงเรียนในประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับสถาบันแม่มากน้อยแค่ไหน มีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์ทางการศึกษาในมาตรฐานเดียวกันหรือไม่

2.) โรงเรียนมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับใด

โรงเรียนคือบ้านหลังที่สองที่ลูกใช้เวลาทุกวัน วันละหลาย ๆ ชั่วโมง ตั้งแต่เช้าจรดเย็น มาตรฐานความปลอดภัยรวมไปถึงสุขอนามัยและความสะอาดจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยมองข้าม โรงเรียนที่น่าเชื่อถือจะสามารถอธิบายได้ถึงระบบและมาตรฐานต่าง ๆ ที่มี รวมไปถึงแนวทางปฎิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย เช่น อุบัติเหตุในชั้นเรียนหรือระหว่างทำกิจกรรม ไปจนถึงการเกิดโรคระบาด เหตุเพลิงไหม้ ภัยธรรมชาติ หรือแม้แต่การก่อวินาศกรรม

3.) โรงเรียนมีวิธีการคัดเลือกครูอย่างไร

นอกจากหลักสูตรแล้ว ครูผู้สอนก็นับเป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้ของลูก แต่ละโรงเรียนมีวิธีการคัดเลือกครูที่แตกต่างกันไป โรงเรียนนานาชาติที่ดีควรจะมีขั้นตอนการคัดเลือกอย่างพิถีพิถันนอกเหนือจากใบสมัครและการสัมภาษณ์ รวมถึงการเดินทางไปประเมินทักษะการสอนที่โรงเรียนเดิมและพูดคุยกับบุคคลอ้างอิงอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่านอกจากครูท่านนั้นจะมีความรู้ความสามารถแล้วยังมีทัศนคติที่ดีอีกด้วย

4.) จะแน่ใจได้อย่างไรว่าสภาพแวดล้อมและการเรียนการสอนของโรงเรียนจะทำให้เด็ก ๆ มีความสุข

การศึกษาที่ดีไม่ควรเน้นให้เกิดเพียงความเป็นเลิศด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังควรสร้างความสุขและสร้างเสริมทักษะอื่น ๆ ของเด็กด้วย นอกจากสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่เหมาะสม และอุปกรณ์การสอนที่ครบครันแล้ว สิ่งที่พ่อแม่ควรตั้งคำถามคือ โรงเรียนมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจตามช่วงวัย เสริมสร้างทักษะการเข้าสังคมอย่างไรบ้าง มีแนวทางการปลูกฝังด้านสังคมและวัฒนธรรมในโรงเรียนอย่างไร เช่น มีนโยบายจัดการกับการล้อเลียนและพฤติกรรมรุนแรง (บูลลี่) อย่างไร มีครูและบุคลากรที่ได้รับการฝึกฝนมาเพื่อจัดการกับสถานการณ์เช่นนี้หรือไม่ และมีการเรียนการสอนหรืออบรมที่ถูกต้องเพื่อปลูกฝังพฤติกรรมและทัศนคติที่ดีให้กับเด็กตั้งแต่วัยเยาว์หรือไม่

5.) หลักสูตรของโรงเรียนปูทางสำหรับการศึกษาขั้นสูงต่อไปอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่เป็นความคาดหวังของพ่อแม่คือลูกจะประสบความสำเร็จในระดับอุดมศึกษาในสถาบันที่ดี ดังนั้นโรงเรียนที่ดีควรมีการปูพื้นฐานความพร้อมสำหรับการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย เช่น หากต้องการให้ลูกได้ไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ผู้ปกครองควรถามว่าทางโรงเรียนมีโปรแกรม IGCSE หรือไม่ หรือมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบวัดระดับ A-Level ให้กับเด็กอย่างไร มีการแนะแนวทางสำหรับการศึกษาต่ออย่างไร

6.) มีจุดเด่นที่สร้างสรรค์แปลกใหม่และแตกต่างไปจากโรงเรียนอื่น ๆ อย่างไร

นอกเหนือจากข้อมูลด้านสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) สภาพแวดล้อมในการเรียน ความยิ่งใหญ่ของขนาดสนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ โรงอาหาร โรงละคร ต่าง ๆ ซึ่งมีเหมือนกันแทบจะทุกโรงเรียนแล้ว ต้องไม่ลืมที่จะถามว่าจุดเด่นที่แตกต่างไปจากโรงเรียนอื่น ๆ มีอะไรบ้าง ซึ่งแม้จะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจส่งผลสำคัญมากต่อการเรียนของลูก

อาทิ ปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติบางแห่งเริ่มสร้างความแตกต่างด้วยการนำเอาระบบที่เรียกว่า Harkness (ฮาร์คเนส) โดยบางวิชาจะให้เด็กๆ นั่งโต๊ะกลม ถกกันในหัวข้อที่กำหนด ไม่มีใครถูกผิด รับฟังความเห็นของทุกคนอย่างเปิดกว้าง และร่วมกันหาคำตอบ ไปด้วยกัน โดยไม่มีการชี้นำจากครู ซึ่งเป็นการเริ่มปลูกฝังทักษะแบบซีอีโอตั้งแต่ระดับประถม มีบางแห่งที่ให้ความสำคัญกับระบบดังกล่าวนี้มาก เช่น โรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ ที่จะมีการสร้างห้องเรียน Harkness ไว้โดยเฉพาะสำหรับเด็กแต่ละระดับ

7.) โรงเรียนให้ความสำคัญกับกิจกรรมสร้างสรรค์เช่นศิลปะหรือกีฬามากน้อยแค่ไหน

อย่างที่ไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” โรงเรียนที่มีกิจกรรมกระตุ้นและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้เกิดจินตนาการและพลังความคิดสร้างสรรค์จึงมักสามารถสร้างนักเรียนที่ประสบความสำเร็จ เมื่อไปเยี่ยมชมโรงเรียนอย่าลืมถามถึง Co-Curricular อื่น ๆ ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม ภาษา กีฬา ตลอดจน Facilities ที่จะช่วยเสริมการเรียนรู้ของเด็ก

8.) พ่อแม่ผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างไรบ้าง

แน่นอนว่าผู้ปกครองอยากเข้าไปมีส่วนร่วมกับทุกกิจกรรมการเรียนรู้ของลูก สิ่งที่เราควรรู้ล่วงหน้าก็คือทางโรงเรียนเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้มีส่วนรับรู้ ให้แนวทาง หรือเสนอแนะวิธีในการจัดการด้านการศึกษามากน้อยแค่ไหน หรือมีการจัดตั้งสมาคมผู้ปกครองเพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองและเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของลูกร่วมกันโรงเรียนอย่างไรบ้าง เพราะแม้ทางโรงเรียนจะมีหลักสูตรที่แข็งแกร่ง แต่ผู้ปกครองรู้ดีที่สุดว่าลูกของเราต้องการอะไร ชอบการเรียนรู้แบบใด ซึ่งผู้ปกครองควรจะได้มีโอกาสในการนำเสนอต่อโรงเรียนได้

9.) หากเกิดกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง โรงเรียนมีความพร้อมในด้านการเรียนแบบ virtual อย่างไรบ้าง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่ออนาคตของรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนโดยทั่วไป นอกเหนือจากมาตรการด้านความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดที่โรงเรียนจะต้องเตรียมความพร้อมอยู่เสมอแล้ว โรงเรียนที่ดีต้องสามารถตอบคำถามได้ว่าจะมีการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับสถานการณ์อย่างไร จะทำอย่างไรให้การสอนแบบ Virtual นั้นมีประสิทธิภาพ สอนแบบ live หรือเป็น video มีการจัดตารางเรียนให้เหมาะกับช่วงอายุและพัฒนาการของเด็กแต่ละคนอย่างไร หากเกิดปัญหาระหว่างเรียนมีจะวิธีการแก้ไขอย่างไร มีการสร้างความสมดุลของเวลาที่เด็กอยู่หน้าจอและโอกาสในการเรียนรู้เชิงปฏิบัติได้อย่างไร รวมถึงประเมินประสิทธิภาพในการเรียนการสอนอย่างไร

10.) ค่าใช้จ่ายและเทอมเป็นอย่างไร มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง

โครงสร้างของค่าเทอมโรงเรียนนานาชาติเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อน จนพ่อแม่สับสนมาแล้วหลายราย ดังนั้นต้องถามและศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วนว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง อาทิ ค่าใช้จ่ายที่ขอคืนไม่ได้ เช่น ค่ายื่นใบสมัคร (Application Fee) ค่าทดสอบความรู้ (Assessment Fee) ค่าแรกเข้า (Registration Fee) ค่าใช้จ่ายที่ขอคืนได้ เช่น ค่ามัดจำ (Refundable Deposit) ที่จะจ่ายคืนจบการศึกษาหรือลาออก ส่วนค่าเทอม (Tuition Fees) จะมีทั้งจ่ายเป็นรายเทอมหรือรายปี ต้องรู้ว่าทางโรงเรียนมีกี่เทอม มีการปรับเพิ่มค่าเทอมตามระยะเวลาหรือไม่ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมรายปี (Annual Fee) ค่าหนังสือ (Book Fee) ค่าอาหารและของว่าง (Lunch and Snack Fee) ค่าค่ายฤดูร้อน (Summer Camp) ค่าทัศนศึกษา (Field Trip) เป็นต้น

อีกหนึ่งเคล็ดลับสำคัญคือการลองสอบถามเรื่องส่วนลดหรือข้อเสนอพิเศษ โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่งเปิดใหม่มักจะมีส่วนลดเพื่อดึงดูดผู้ปกครอง อาทิ โรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ ที่ตอนนี้กำลังมีข้อเสนอพิเศษส่วนลด 20% นานถึง 5 ปี และให้สิทธิ์ส่วนลดเดียวกันสำหรับในครอบครัวด้วย ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการพิจารณา


หมายเหตุ : ขอขอบคุณภาพประกอบจาก โรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ

สพฐ. ยันไม่มีการถอด วิชาประวัติศาสตร์ - หน้าที่พลเมือง แต่จะเพิ่มภาคปฎิบัติหน้าที่พลเมืองสัปดาห์ละ 1 ชม. สร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน ทำให้วิชาประวัติศาสตร์มีความทันสมัยมากขึ้น

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวเรื่องการถอดวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมืองที่ปลูกฝังจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมออกจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่า

เนื้อหาวิชาดังกล่าวยังอยู่ในหลักสูตรปัจจุบันและหลักสูตรฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงอย่างแน่นอน ซึ่งวิชาประวัติศาสตร์จัดเป็นวิชาบังคับกำหนดให้ต้องเรียนทุกระดับชั้นตั้งแต่ป.1 - ม.6 โดย ชั้น ป.1 - ม.3 มีเวลาเรียน 40 ชั่วโมงต่อปี หรือสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ส่วนชั้นม.4 - 6 มีเวลาเรียน 80 ชั่วโมง ตลอดปีการศึกษา

สำหรับสาระหน้าที่พลเมือง ถือว่าเป็นสาระบังคับเช่นกัน โดยชั้น ป.1-6 จะเรียนรวมกับอีก 3 สาระ รวมเรียกว่าวิชาสังคมศึกษา มีเวลาเรียน 80 ชั่วโมงต่อปี หรือ สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ชั้น ม.1 - 6 อาจจัดแยกเป็นวิชาๆ หรือรวมสาระก็ได้ โดยชั้น ม.1 - 3 มีเวลาเรียนรวมทั้ง 4 สาระ 120 ชั่วโมงต่อปี (3 หน่วยกิต) หรือสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง และ ม.4 - 6 รวม 3 ปีเรียน 240 ชั่วโมง

นอกจากที่หลักสูตรกำหนดแล้ว ยังมีนโยบายให้เรียนหน้าที่พลเมืองที่เน้นการปฏิบัติเพิ่มอีกสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง โดยอาจจะบูรณาการไปกับวิชาพื้นฐาน วิชาเพิ่มเติม กิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งเนื้อหาการเรียนประวัติศาสตร์จะได้เรียนเรื่องเวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ เช่น ข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วิธีการทางประวัติศาสตร์ พัฒนาการของมนุษยชาติจากอดีตถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สำคัญในอดีต สถาบันพระมหากษัตริย์ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย เป็นต้น

“ที่ผ่านมา สพฐ.ได้ส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้ รวมถึงการทำให้การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์มีความทันสมัยมากขึ้น ด้วยการสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน ตามนโยบายการอ่าน การเขียน เรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย ของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. ประกอบด้วย โครงการพัฒนาสื่อเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง Augmented Reality (AR) เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์รักชาติ ศาสตร์ กษัตริย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ทำการพัฒนาสื่อเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง ทั้งนี้ยังได้จัดทำคู่มือการใช้สื่อวีดีทัศน์ พร้อม QR Code เพื่อเข้าถึงตัวอย่างเนื้อหาสื่อนวัตกรรมการสอนประวัติศาสตร์อีกด้วย” เลขาฯ กพฐ. กล่าว


ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/95496

คณะศิลปศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดหลักสูตรน้องใหม่ หลักสูตรภาษาจีนเพื่ออุตสาหกรรม รับสมัครรุ่นแรก TCAS64 รอบ 3 และ รอบ 4 นี้

หลักสูตรภาษาจีนเพื่ออุตสาหกรรม คณะศิลปศาสตร์ (工业汉语专业)

Bachelor of Arts in Chinese for Industry

- หลักสูตรแรกของประเทศไทย

- นักศึกษาทุกคนจะได้รับโอกาสในการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีน ณ Beijing Language and Culture University มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ในด้านการเรียนการสอนภาษาจีนสำหรับนักศึกษาต่างชาติ ณ กรุงปักกิ่ง

- เปิดรับสมัครรุ่นแรก TCAS64 รอบ 3 และ รอบ 4

- ค่าเทอม 22,000 บาท ต่อเทอม

- ระยะเวลาการเรียน 4 ปี

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

คณะศิลปศาสตร์ สจล. โทร. 02-329-8000 ต่อ 3760


ที่มา: https://www.facebook.com/104890389572255/posts/3946031312124791/

กระทรวงศึกษาธิการ เผย TCAS ยังยึดปฏิทินตามกำหนดเดิม จัดติวออนไลน์ร่วมกับ สพฐ. ส่งบทเรียนและเทคนิคการสอนของครูจากโรงเรียนดัง เผยแพร่ผ่านช่อง OBEC Channel ดันเด็ก ม.6 ฟิตสอบเข้ามหาวิทยาลัย

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รักษา รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้มอบหมายให้นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) ไปหารือร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย วิทยศาสตร์ และนวัตกรรม (อว.)

เนื่องจากได้รับข้อร้องเรียนจากกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ว่าการเลื่อนสอบรายวิชาที่ใช้ในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2564 (TCAS) ได้แก่ ความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 20 - 23 มีนาคม ตรงกับวันสอบปลายภาคของโรงเรียน

วันสอบ 9 วิชาสามัญ วันที่ 3 - 4 เมษายน และวันทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) วันที่ 27 - 28 มีนาคม ตรงกับวันเกณฑ์ทหารและวันเลือกตั้งท้องถิ่น รวมถึงช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่มีการระบาดรอบใหม่เกิดขึ้น ส่งผลให้เด็กเรียนได้ไม่เต็มที่ เพราะต้องหยุดเรียนโดยที่ไม่ได้เรียนกับครูผู้สอนในชั้นเรียนเป็นเวลา 1 เดือนจึงขอให้มีการขยับการสอบทีแคสออกไปอีก 1 เดือนได้หรือไม่ เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมในการติวสอบ

ขณะเดียวกันตนยังมีไอเดียที่จะทำห้องเรียนติวออนไลน์เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดำเนินการแล้ว เพราะจะทำให้เด็กได้ทบทวนบทเรียน และเติมเต็มความรู้ในช่วงที่ต้องหยุดเรียน เนื่องจากวิกฤตโควิด

ด้าน นายสุภัทร กล่าวว่า ตนได้เข้าร่วมประชุมกับทปอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ) และ อว.แล้ว ซึ่งมีข้อสรุปว่าการเลื่อนสอบ TCAS ยังยึดปฏิทินตามกำหนดเดิม เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่มีการจองตารางการเดินทางของรถโดยสารและเครื่องบินไว้แล้ว

ซึ่งการสอบที่สามารถเลื่อนสอบได้คือ การสอบโอเน็ตจากเดิมกำหนดไว้วันที่ 28 มีนาคมให้ขยับมาสอบวันที่ 29 มีนาคมแทน ส่วนนโยบายการติวออนไลน์ของคุณหญิงกัลยานั้น ตนได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แล้วว่า ให้นำบทเรียนและเทคนิคการสอนของครูจากโรงเรียนดังๆ มาเผยแพร่ผ่านช่อง OBEC Channel

รวมถึง สพฐ.มีบทเรียนออนไลน์ดีๆ อยู่แล้วก็ให้นำมาแชร์ผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้เด็กเข้ามาเรียนรู้ ขณะเดียวกัน โรงเรียนดังใน กทม.ที่จะมีการสอนไลฟ์สดสอนเด็ก ได้ขอความร่วมมือให้แชร์ลิงค์ไลฟ์สดเหล่านั้นมาแขวนไว้ที่ช่องของ สพฐ.ด้วย เพื่อให้เด็กคนอื่นๆ ได้เรียนรู้เทคนิคการเรียนดีๆ ไปพร้อมกัน


ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/95414

เด็กโรงเรียนไทยจะฝึกภาษาอังกฤษยังไงให้ปัง? หาคำตอบพร้อมกันวันจันทร์ที่ 15 มีนาคม ผ่าน Facebook Live ของ THE STUDY TIMES!

อยากฝึกภาษาอังกฤษแต่ไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไร...? หาแรงบันดาลใจจากที่ไหน...? ควร focus อะไรก่อน...? แล้วเมื่อไหร่จะเห็นผล...?

เชื่อว่าผู้ปกครอง และน้อง ๆ นักเรียนโรงเรียนไทยหลายท่าน คงจะเคยสงสัยว่าจะฝึกภาษาอังกฤษอย่างไรให้ได้ผลที่สุด ทุกวันนี้มีสื่อการสอนภาษาอังกฤษมากมายจากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะทางโซเชียลมีเดีย Facebook, Instagram, Tik Tok ฯลฯ ควรจะเลือกอะไรดี? จำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินซื้อคอร์สเรียนพิเศษตามสถาบันสอนภาษา โรงเรียนกวดวิชา หรือไม่? ฝึกฝนด้วยตนเองเพียงพอมั้ย? ผ่านช่องทางไหนดี?

วันจันทร์ที่ 15 มีนาคมนี้ THE STUDY TIMES ร่วมกับ Edsy (www.edsy.co) ได้เชิญครูภาษาอังกฤษ มากประสบการณ์ มาร่วมให้คำตอบและแนะนำวิธีการฝึกภาษาอังกฤษแบบไม่มีกั๊ก

แล้วพบกันวันจันทร์หน้าครับ!

โดย ทีมงาน Edsy สตาร์ทอัพด้านการศึกษา

Line ID: @edsy.th

คติประจำใจจาก 'Thomas Alva Edison' (นักประดิษฐ์และนักธุรกิจชาวอเมริกัน ฉายา “พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก”)

“Genius is one percent inspiration and ninety-nine percent perspiration.”

“การเป็นอัจฉริยะ ประกอบด้วยแรงบันดาลใจ 1% และหยาดเหงื่ออีก 99%.”


Thomas Alva Edison (นักประดิษฐ์และนักธุรกิจชาวอเมริกัน ฉายา “พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก”)

ก.ศึกษาธิการ เล็งแก้ปัญหาข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนที่สรุปไปแล้ว หลังเปลี่ยนรมว.ศึกษาธิการ ต้องส่งให้คนใหม่พิจารณา ขณะ สพฐ. เตรียมชงเครื่องแบบนักเรียนไม่ต้องแก้ระเบียบใหม่ ส่วนทรงผมควรไว้ยาวได้ ตั้งแต่ระดับม.ต้น ขึ้นไป

ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหานักเรียน ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียน ประกอบด้วย 1.) คณะทำงานด้านการละเมิด-ความรุนแรง-ความปลอดภัยในสถานศึกษา 2.) คณะทำงานด้านกฎระเบียบที่ล้าหลัง 3.) คณะทำงานด้านการแสดงออกทางการเมืองในสถานศึกษา 4.) คณะกรรมการพิจารณาเรื่องเครื่องแบบ ทรงผมนักเรียน 5.) คณะกรรมการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ซึ่งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ได้สรุปข้อมูลการแก้ปัญหาให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาไปแล้ว แต่เมื่อนายณัฏฐพล พ้นจากตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ทำให้ข้อสรุปการแก้ปัญหานักเรียนยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงต้องรอให้ รมว.ศึกษาธิการคนใหม่เข้ามาทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง

ขณะที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระบุ พิจารณาแล้วว่า เครื่องแต่งกายนักเรียน เห็นว่า ไม่ต้องแก้ระเบียบใหม่ รวมทั้งทรงผมนักเรียน คณะกรรมการมีข้อเสนอที่จะให้ไว้ผมยาวได้ตั้งแต่เด็กปฐมวัย - มัธยมฯ แต่ สพฐ.เห็นว่าควรให้เด็กไว้ผมยาวได้ ตั้งแต่ ม.ต้น เพราะเด็กระดับนี้มีความรับผิดชอบที่จะดูแลสุขอนามัยสุขภาพผมด้วยตัวเอง โดยจะเสนอรมว.ศึกษาธิการคนใหม่พิจารณาต่อไป


ที่มา: https://siamrath.co.th/n/225135

ประกาศรับสมัครสอบ EJU (Examination for Japanese University Admission for International Students) การสอบเพื่อวัดความรู้ทางภาษาญี่ปุ่น รอบ 1 ประจำปี 2564

การสอบ EJU เป็นการสอบสำหรับนักศึกษาชาวต่างชาติที่ต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและอุดมศึกษาอื่นๆ (เช่นวิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิค) ในประเทศญี่ปุ่น เพื่อวัดระดับความสามารถภาษาญี่ปุ่นและความรู้พื้นฐานทางวิชาการ

ประกาศกำหนดรับสมัครสอบ EJU รอบ 1 ประจำปี 2564

สอบวันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน 2564

==============================

1st Session : รอบแรก

รับสมัคร : ถึงวันที่ 12 มีนาคม

วันสอบ : วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน 2564

==============================

สถานที่รับสมัคร

หมายเหตุ* ประสงค์สอบที่ใด สมัคร ณ สนามสอบนั้น

สนามสอบ กรุงเทพฯ

???? องค์การสนับสนุนนักศึกษาแห่งประเทศญี่ปุ่น (JASSO)

โทร: 0-2661-7057-8

???? สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นในพระบรมราชูปถัมภ์ (OJSAT)

โทร: 0-2357-1241-5

(สาขาพหลโยธินและสาขาจามจุรีสแควร์)

https://www.ojsat.or.th/main/eju-1-2564/

สนามสอบ เชียงใหม่

???? สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นฯ ภาคเหนือ (ตรงข้ามวัดพระสิงห์) โทร. 053-272-331, 080-491-1298

https://www.facebook.com/ojsatn/posts/3684252071664906

==============================

ค่าสมัคร

- กรณีสมัครด้วยตนเอง 419 บาท

- กรณีสมัครทางไปรษณีย์ 439 บาท (รวมค่าบริการ)

เอกสารที่ต้องใช้ในการสมัคร

รูปถ่ายผู้สมัคร 1 นิ้ว 3 ใบ

==============================

Download คู่มือ Mini Student Guide

• การสอบ EJU คืออะไร

• ประโยชน์ของการสอบ EJU

• สถานที่รับสมัคร ข้อสอบเก่า ฯลฯ

https://goo.gl/Kybzqd


ที่มา: https://www.facebook.com/JASSO.Thailand/posts/4010680572285006

กระทรวงศึกษาธิการ หารือ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ถ่ายทอดเทคโนโลยี และพัฒนาต่อยอด ยกระดับการศึกษาไทย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และภาษา

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวภายหลังนายยูริ ยาร์วียาโฮ (H.E. Mr. Jyri Järviaho) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ‪เข้าเยี่ยมคารวะ ว่า ได้หารือถึงความร่วมมือด้านการศึกษา เนื่องจากประเทศฟินแลนด์จัดการศึกษาดีที่สุดในโลก ดังนั้น กระทรวงศึกษาฯ จะทำงานร่วมกันทางด้านวิทยาศาสตร์และภาษาต่างประเทศ ให้แก่ครูและผู้บริหารโรงเรียน และทางฟินแลนด์เสนอจะอบรมด้านพลศึกษาให้ด้วย ‬‬

และมีความร่วมมือทางด้านสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ การเกษตร กำจัดขยะ พลังงานทดแทน ซึ่งขณะนี้ฟินแลนด์ได้จัดอบรมออนไลน์ภาษาต่างประเทศให้กับครูไทย จำนวน 36 คน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นจะประเมินผลการอบรมออนไลน์ว่าผลเป็นอย่างไร และอาจจะจัดอัพสกิล รีสกิล โดยจัดเป็นหลักสูตรระยะสั้น เนื่องจากช่วงนี้มีคนตกงานเยอะเพื่อช่วยให้ผู้ที่ตกงานกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้

“ขณะนี้ให้อาชีวะร่างโครงการความร่วมมือ ซึ่งภายใน 2 อาทิตย์นี้กระทรวงศึกษาธิการ จะเซ็น MOU กับ ศูนย์การเรียนรู้ของประเทศฟินแลนด์ ผ่านสถานทูตฟินแลนด์ เพื่อพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว และหลังจาก MOU แล้ว ก็จะไปพัฒนาโครงการร่วมกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าโครงการใดจะเกี่ยวข้องกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาใด หรือนักเรียนระดับประถมฯมัธยมฯ รวมทั้งครูและผู้บริหารโรงเรียนใดบ้าง

ส่วนความร่วมมือยังไม่มีรายละเอียด แต่อาจจะขอให้ทางฟินแลนด์ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ แล้วเรานำมาพัฒนาต่อเอง โดยเราจะไม่เอาทุกอย่างของฟินแลนด์มาใช้ทั้งหมด แต่จะดูความต้องการและบริบทของแต่ละสถานศึกษาแต่ละพื้นที่” คุณหญิงกัลยา กล่าว


ที่มา: https://www.naewna.com/local/557672/

คติประจำใจจาก "Abraham Lincoln" (ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา)

“The things I want to know are in books; my best friend is the man who’ll get me a book I ain’t read.”

“สิ่งที่ฉันต้องการจะรู้ อยู่ในหนังสือ; เพื่อนที่ดีที่สุดของฉัน คือคนที่จะเอาหนังสือที่ฉันไม่เคยอ่านมาให้”


Abraham Lincoln (ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา)

Self-Control ทักษะในการสร้างความมีวินัย หรือความสามารถในการบังคับตนเอง เป็นหนึ่งใน Soft Skill ตัวแปรสำคัญของความสำเร็จ Self-Control สำคัญอย่างไร แนะการเสริมสร้าง Self-Control ในเด็ก

เราได้พูดถึงความสำคัญของ Self-Esteem และวิธีการเสริมสร้าง Self-Esteem ทักษะพื้นฐานที่ดีเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จให้แก่ลูกไปแล้ว คุณผู้อ่านสามารถติดตามอ่านย้อนหลังได้ใน https://thestatestimes.com/post/2021030411

ส่วนทักษะต่อไปที่สำคัญไม่น้อยไปกว่า Self-Esteem เลย ก็คือทักษะที่เรียกว่า Self-Control และวันนี้เราจะมาแบ่งปันให้กับคุณผู้อ่านกันว่า Self-Control สำคัญอย่างไร และการเสริมสร้าง Self-Control ในเด็กต้องทำอย่างไรกันค่ะ

Self-Control คืออะไร

Self-Control เป็นหนึ่งใน Soft Skill ที่เป็นตัวแปรสำคัญของความสำเร็จ นั่นก็คือทักษะในการสร้างความมีวินัย หรือความสามารถในการบังคับตนเอง การสร้างความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง ตกลงกับตัวเองว่าจะไม่หยุดกลางคันจนกว่าจะไปถึงเป้าหมายหรือชัยชนะนั้น ๆ  หัวใจสำคัญของ Self-Control หรือการควบคุมตัวเองได้นี้คือ เป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นจะต้องเป็นสิ่งที่เจ้าตัวหรือตัวเด็กเป็นคนกำหนดขึ้นมาเอง การกำหนดเป้าหมายเองทำให้เด็กรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ให้เด็กเป็นคนกำหนดผลลัพธ์ แล้วเด็กจะเกิดพลังขับเคลื่อนภายในเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ๆ

จะเสริมสร้าง Self-Control ให้กับลูกได้อย่างไร

วิธีการเสริมสร้างความมีวินัยหรือ Self-Control ให้กับเด็กนั้นสร้างได้ตั้งแต่วัย 3-5 ขวบ สามารถสร้างไปพร้อม ๆ กับ Self-Esteem ได้เลยโดยการชวนลูกตั้งเป้าหมาย คุณพ่อคุณแม่ลองชวนลูกตั้งเป้ากับเรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวันได้ เช่น มื้อนี้หนูจะกินผักกี่ชิ้น วันนี้หนูเล่นเสร็จแล้วหนูจะเอาของเล่นไปเก็บที่เดิมได้มั้ย หนูอยากติดกระดุมเองมั้ยหนูจะติดเองกี่เม็ด

การตั้งเป้าหมายที่ดีนั้นควรมีผลลัพธ์ที่พิสูจน์ได้ทันทีและเข้าใจง่าย เช่น ผักหมดจาน ของเล่นกลับไปอยู่ในที่เก็บของเล่น หรือลูกติดกระดุมเองครบทุกเม็ด หากเป็นเรื่องที่วัดผลลัพธ์ยาก คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ตัวเลขกำหนดผลลัพธ์ได้ เช่น วันที่หนูจะเข้านอนตอนเข็มนาฬิกาชี้ไปที่เลขอะไรระหว่างเลข 8 กับเลข 9 เป็นต้น และเมื่อเด็กทำได้สำเร็จแล้ว อย่าลืมชื่นชมในความสำเร็จนั้น เด็กจะจดจำว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ดีจากคำชมและคำติของผู้ปกครอง อยากให้เน้นไปที่คำชมและให้กำลังใจเค้า เพราะจะเป็นการสร้าง Self-Esteem ไปพร้อม ๆ กันด้วย

อยากให้ลูกเก่งให้ชมที่ผลลัพธ์ อยากให้ลูกพยายามให้ชมที่การกระทำ

ขอถามคุณพ่อคุณแม่ก่อนว่า คุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกเก่งหรืออยากให้ลูกเป็นคนเข้มแข็ง รู้จักอดทนอดกลั้น และรู้จักความพยายาม หากอยากให้ลูกเก่ง ให้ชมลูกที่ผลลัพธ์ เช่น ชมที่เกรดเฉลี่ย ชมเมื่อลูกได้รับรางวัล แต่หากอยากให้ลูกเป็นคนมีความพยายาม ให้ชมในการกระทำ ชมที่ความตั้งใจของลูก ลูกจะทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ไม่ต้องสนใจ ขอให้ลูกลงมือด้วยความตั้งใจเป็นเพียงพอ

การฝึกทักษะของลูกนั้นต้องการความต่อเนื่องเช่นกัน หากคุณพ่อคุณแม่อยากฝึกทักษะด้านใดให้กับลูก ให้คุณพ่อคุณแม่ตั้งเป้าหมายเลย เช่น ภายใน 6 เดือนต่อจากนี้เราจะฝึกเรื่องความกล้าให้กับลูก คุณพ่อคุณแม่ก็ให้ลูกได้ลองคิด ตัดสินใจ ลงมือด้วยตนเองเป็นระยะเวลา 6 เดือน หากมีแนวโน้มว่าลูกจะคิด ตัดสินใจ หรือลงมือทำผิด ก็ปล่อยให้เค้าเรียนรู้เองไปก่อน เพราะเรากำลังฝึกทักษะความกล้าให้แก่เค้าอยู่

Soft Skill เป็นทักษะที่ไม่สามารถเรียนรู้ผ่านการอ่านคู่มือหรือตำราได้ จำเป็นต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์เท่านั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น ๆ เด็กเป็นวัยแห่งการเรียนรู้อยู่แล้ว ปล่อยให้ลูกเรียนรู้ด้วยตนเอง ลองผิดลองถูกบ้าง ประสบการณ์จะนำพาเด็กให้เค้าสร้างทักษะที่แข็งแกร่งให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวของเค้าเองค่ะ

เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่และลูกทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ อยากให้ลูกมีชีวิตที่มั่นคง พ่อแม่ต้องสร้างให้ลูกมี Soft Skills กับครูพี่หญิงฝาย โรงเรียนคู่ขนาน

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/3651437871537025

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาในงานประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ ประจำปี 2021 ในปักกิ่ง มีข้อเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ทั้งระบบ โดยจะร่นระยะเวลาการศึกษาภาคบังคับให้สั้นลงจาก 12 ปี ให้เหลือเพียง 10 ปีเท่านั้น

ข้อเสนอนี้มาจาก นาย จาง หงเหว่ย รองประธานสภาประชนชน ที่นำเสนอแผนปฏิรูปโครงสร้างการศึกษาภาคบังคับใหม่ จากเดิมที่เรียนระดับชั้นประถมศึกษา 6 ปี มัธยมต้น 3 ปี และมัธยมปลาย 3 ปี รวมเป็น 12 ปี ที่คล้ายการระบบการศึกษาภาคบังคับของไทย

แต่โครงการการศึกษาใหม่นี้ จะบีบระยะเวลาในชั้นประถมเหลือเพียง 5 ปี ชั้นมัธยมต้น 3 ปี และชั้นมัธยมปลายก็จะเหลือเพียง 2 ปี เป็น 10 ปี

จาง หงเหว่ย ได้ให้เหตุผลว่า โดยปกติทั่วไปเด็กนักเรียนจีนจะเริ่มต้นวัยเรียนในชั้นประถมที่ประมาณ 7 ขวบ กว่าจะจบมัธยมปลายที่อายุ 19 และจะจบระดับอุดมศึกษาเมื่ออายุ 23 ที่หลายคนกว่าจะเริ่มต้นทำงานเต็มตัวได้ ก็อายุประมาณ 26 - 27 ปี และกว่าจะตั้งหลักสร้างตัวในอาชีพที่ใช่ก็เลย 30 ปีไปแล้ว และมาเกษียณอายุในวัย 55 ที่ดูเหมือนว่าช่วงเวลาที่ทำงานจะสั้นกว่าช่วงเวลาที่เรียนเสียอีก

ซึ่งข้อดีของการย่นระยะเวลาภาคบังคับให้เหลือเพียง 10 ปี ก็จะช่วยให้ครอบครัวจีนมีภาระค่าใช้จ่ายให้ลูกน้อยลง และสอดรับกับสภาพสังคมผู้สูงอายุของจีน และเร่งเติมเต็มแรงงานคนรุ่นหนุ่มสาว ในภาคธุรกิจและอุตสาสหกรรมให้ทันท่วงที

หลังจากที่มีความเห็นในการเปิดประเด็นหั่นระบบการศึกษาภาคบังคับให้เหลือ 10 ปีในสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ก็มีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ในเรื่องนโยบายนี้ไม่น้อย

โดยชาวเน็ตจีนก็เสียงแตกเป็น 2 ด้าน ด้านหนึ่งก็เห็นว่าดี จะเรียนให้เยอะ ๆ นาน ๆ ไปทำไม รีบเรียน รีบจบ รีบออกมาทำงานจะดีกว่า เพราะสมัยนี้คนที่เรียนนานกว่า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จมากกว่า แต่บางส่วนก็มองว่าช่วงเวลาในระบบการศึกษาก็สัมพันธ์กับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย ที่จะเร่งกันไม่ได้

และก็มีนักการศึกษาจีนหลายคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะรัฐบาลจีนมองการศึกษาในแง่มุมของการจ้าง "แรงงาน" ในภาคอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว ที่การหั่นระยะเวลาการศึกษาขั้นพื้นฐานอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาเรื่องแรงงานที่ตรงนัก

ความเห็นต่างในแผนนโยบายใหม่นี้ก็มาจากนาย ฉู เชาฮุ่ย นักวิจัยที่สถาบันวิทยาศาสตร์การศึกษาแห่งชาติ ให้ความเห็นผ่านสื่อ Global Times ของจีนว่า การย่นระยะเวลาการศึกษาเพื่อเพิ่มจำนวนแรงงาน เป็นแค่เพียงการเห็นของภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องการแรงงานในภาคธุรกิจ ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่นการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกับนาย สง ปิงฉี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 เชื่อว่าระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนต่างหากที่เป็นรากฐานสำคัญของระบบการศึกษา และการพัฒนาสังคม

ดังนั้นการจะเร่งพัฒนาเยาวชนจีนรุ่นใหม่ สู่ตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องแก้ที่ระบบการเรียน การสอน ซึ่งปัจจุบันยังคงเน้นที่การสอบเป็นหลัก เพราะฉะนั้นต่อให้บีบระยะเวลาการศึกษาภาคบังคับให้เหลือเพียง 10 ปี ก็ไม่ได้ช่วยลดภาระของเด็ก และผู้ปกครองอยู่ดี ตราบใดที่ระบบการศึกษายังเน้นเรื่องการสอบแข่งขัน เด็กก็ยังคงต้องเรียนหนัก และผู้ปกครองก็ต้องมีภาระในค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนเสริม กวดวิชา ชั้นเรียนพิเศษ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้ลูกเมื่อเข้าสู่ระบบสนามแข่ง พอเวลาเรียนสั้นลง ยิ่งสร้างความเครียด และกดดันให้กับเด็กเพิ่มขึ้นไปอีก

และพอมาพูดถึงประเด็นนี้ ก็มีชาวเน็ตจีนอีกจำนวนหนึ่งมองว่า ถ้าอย่างนั้นการเรียนเร่งรัด ให้ลดเวลาลงเหลือ 10 ปี ก็อาจจะเข้าท่าเหมือนกัน หากมองว่าไหน ๆ ทุกวันนี้เด็กจีนก็ต้องเสริม เรียนอัดกันอยู่แล้ว งั้นก็เร่งรัดให้เหลือชั้นประถม 5 ปี มัธยม 5 ปี ก็น่าจะพอแล้ว แต่ให้ยกระดับมาตรฐาน และการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการศึกษาให้มากขึ้น และจะช่วยเพิ่มเวลาในการค้นหาตัวเองเมื่อมุ่งหน้าสู่การศึกษาเฉพาะทางในระดับสูง ๆ ต่อไปด้วย

การศึกษาจีน เป็นหนึ่งในระบบการศึกษาที่เข้มงวด และกดดันที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่เด็กนักเรียนจีนจะได้รับการปลูกฝังจากครอบครัวให้เรียนอย่างจริงจังตั้งแต่เด็กเพื่อมุ่งสู่สนามสอบระดับชาติที่เรียกว่า "เกาเข่า" ที่ได้ชื่อว่าเป็นข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ยากที่สุดติดอันดับโลก ที่เชื่อว่าเป็นใบเบิกทางสู่หน้าที่การงานในอนาคต และไม่ว่าจะต้องเรียน 12 ปี หรือ 10 ปี ค่านิยมในการเรียนเพื่อสอบให้ผ่าน "เกาเข่า" ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง


แหล่งข้อมูล

https://www.globaltimes.cn/page/202103/1217628.shtml

https://www.wionews.com/world/chinas-gaokao-one-of-the-toughest-exams-in-the-world-311419

กทม.จัดติวออนไลน์ครั้งแรก เสริมทักษะให้นักเรียนชั้น ม.6 เตรียมพร้อมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ชดเชยโอกาสก่อนหน้านี้ ที่โรงเรียนปิด

จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบการเรียน การสอน และเด็กๆ ที่ต้องเรียนออนไลน์ สลับกับการไปโรงเรียน นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เด็ก ๆ ที่เรียนออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมา ของโรงเรียนสังกัด กทม. ปรับตัวได้แล้ว กลายเป็นความคุ้นชิน ทั้งการเรียน การทำแบบฝึกหัดส่งครู

สำหรับนักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสังกัด กทม. ขณะนี้ ทุกคนกำลังเตรียมความพร้อม ทบทวนหนังสือ แบบฝึกหัด เพื่อสอบโอเน็ต แกตแพต และวิชาสามัญ เก็บคะแนนสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ กทม. จัดติวออนไลน์ เพื่อเสริมทักษะให้นักเรียน ได้มีความพร้อม อีกทั้งยังเป็นการชดเชยโอกาสก่อนหน้านี้ ที่โรงเรียนปิด เด็กไม่ได้เรียนในห้องเรียน และไม่ได้ไปติวไปกวดวิชา เหมือนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยทุกปีที่ผ่านมา

สำหรับ เด็กนักเรียน ชั้นอื่น ๆ ช่วงนี้ ก็จะเข้าสู่การสอบ และใกล้จะปิดเทอมแล้ว เด็ก ๆ และผู้ปกครอง จะได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน อีก 1 แหล่งการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่เด็ก ๆ จะได้เรียนปนเล่น ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ยกมาไว้ใจกลางกรุง เปิดพื้นที่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในชื่อ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เดอะสตรีท รัชดา จัดตลอดเดือนนี้ ที่ศูนย์การค้าเดอะสตรีทรัชดา

เปิดโลกการเรียนรู้แบบใหม่ ที่เรียกว่า scream ที่จะฝึกให้คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีเหตุผล ฝึกการเขียนโค้ด หรือ Coding และเรียนรู้การพัฒนาและสร้างหุ่นยนต์ รู้หลักวิศวกรรม ศิลปศึกษา และคณิตศาสตร์ ผ่านสนามเด็กเล่น การลงมือทำกิจกรรมที่น่าสนใจ ที่เด็ก ๆ จะได้ลองสำรวจค้นคว้า ค้นพบและไขปริศนาอย่างสนุกสนาน สร้างแรงบันดาลใจ และจินตนาการความคิดริเริ่มสร้างสรรค์


ที่มา: https://news.ch7.com/detail/471583

คติประจำใจจาก "Mahatma Gandhi" (ผู้นำและนักการเมืองที่มีชื่อเสียงชาวอินเดียและศาสนาฮินดู)

“Live as if you were to die tomorrow. Learn as if you were to live forever.”

“ใช้ชีวิตราวกับว่าคุณจะตายพรุ่งนี้ เรียนรู้ราวกับว่าคุณจะมีชีวิตอยู่ตลอดไป”


Mahatma Gandhi (ผู้นำและนักการเมืองที่มีชื่อเสียงชาวอินเดียและศาสนาฮินดู)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top