กระทรวงศึกษาธิการ เผย TCAS ยังยึดปฏิทินตามกำหนดเดิม จัดติวออนไลน์ร่วมกับ สพฐ. ส่งบทเรียนและเทคนิคการสอนของครูจากโรงเรียนดัง เผยแพร่ผ่านช่อง OBEC Channel ดันเด็ก ม.6 ฟิตสอบเข้ามหาวิทยาลัย

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รักษา รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้มอบหมายให้นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) ไปหารือร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย วิทยศาสตร์ และนวัตกรรม (อว.)

เนื่องจากได้รับข้อร้องเรียนจากกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ว่าการเลื่อนสอบรายวิชาที่ใช้ในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2564 (TCAS) ได้แก่ ความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 20 - 23 มีนาคม ตรงกับวันสอบปลายภาคของโรงเรียน

วันสอบ 9 วิชาสามัญ วันที่ 3 - 4 เมษายน และวันทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) วันที่ 27 - 28 มีนาคม ตรงกับวันเกณฑ์ทหารและวันเลือกตั้งท้องถิ่น รวมถึงช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่มีการระบาดรอบใหม่เกิดขึ้น ส่งผลให้เด็กเรียนได้ไม่เต็มที่ เพราะต้องหยุดเรียนโดยที่ไม่ได้เรียนกับครูผู้สอนในชั้นเรียนเป็นเวลา 1 เดือนจึงขอให้มีการขยับการสอบทีแคสออกไปอีก 1 เดือนได้หรือไม่ เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมในการติวสอบ

ขณะเดียวกันตนยังมีไอเดียที่จะทำห้องเรียนติวออนไลน์เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดำเนินการแล้ว เพราะจะทำให้เด็กได้ทบทวนบทเรียน และเติมเต็มความรู้ในช่วงที่ต้องหยุดเรียน เนื่องจากวิกฤตโควิด

ด้าน นายสุภัทร กล่าวว่า ตนได้เข้าร่วมประชุมกับทปอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ) และ อว.แล้ว ซึ่งมีข้อสรุปว่าการเลื่อนสอบ TCAS ยังยึดปฏิทินตามกำหนดเดิม เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่มีการจองตารางการเดินทางของรถโดยสารและเครื่องบินไว้แล้ว

ซึ่งการสอบที่สามารถเลื่อนสอบได้คือ การสอบโอเน็ตจากเดิมกำหนดไว้วันที่ 28 มีนาคมให้ขยับมาสอบวันที่ 29 มีนาคมแทน ส่วนนโยบายการติวออนไลน์ของคุณหญิงกัลยานั้น ตนได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แล้วว่า ให้นำบทเรียนและเทคนิคการสอนของครูจากโรงเรียนดังๆ มาเผยแพร่ผ่านช่อง OBEC Channel

รวมถึง สพฐ.มีบทเรียนออนไลน์ดีๆ อยู่แล้วก็ให้นำมาแชร์ผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้เด็กเข้ามาเรียนรู้ ขณะเดียวกัน โรงเรียนดังใน กทม.ที่จะมีการสอนไลฟ์สดสอนเด็ก ได้ขอความร่วมมือให้แชร์ลิงค์ไลฟ์สดเหล่านั้นมาแขวนไว้ที่ช่องของ สพฐ.ด้วย เพื่อให้เด็กคนอื่นๆ ได้เรียนรู้เทคนิคการเรียนดีๆ ไปพร้อมกัน


ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/95414