เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาในงานประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ ประจำปี 2021 ในปักกิ่ง มีข้อเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ทั้งระบบ โดยจะร่นระยะเวลาการศึกษาภาคบังคับให้สั้นลงจาก 12 ปี ให้เหลือเพียง 10 ปีเท่านั้น

ข้อเสนอนี้มาจาก นาย จาง หงเหว่ย รองประธานสภาประชนชน ที่นำเสนอแผนปฏิรูปโครงสร้างการศึกษาภาคบังคับใหม่ จากเดิมที่เรียนระดับชั้นประถมศึกษา 6 ปี มัธยมต้น 3 ปี และมัธยมปลาย 3 ปี รวมเป็น 12 ปี ที่คล้ายการระบบการศึกษาภาคบังคับของไทย

แต่โครงการการศึกษาใหม่นี้ จะบีบระยะเวลาในชั้นประถมเหลือเพียง 5 ปี ชั้นมัธยมต้น 3 ปี และชั้นมัธยมปลายก็จะเหลือเพียง 2 ปี เป็น 10 ปี

จาง หงเหว่ย ได้ให้เหตุผลว่า โดยปกติทั่วไปเด็กนักเรียนจีนจะเริ่มต้นวัยเรียนในชั้นประถมที่ประมาณ 7 ขวบ กว่าจะจบมัธยมปลายที่อายุ 19 และจะจบระดับอุดมศึกษาเมื่ออายุ 23 ที่หลายคนกว่าจะเริ่มต้นทำงานเต็มตัวได้ ก็อายุประมาณ 26 - 27 ปี และกว่าจะตั้งหลักสร้างตัวในอาชีพที่ใช่ก็เลย 30 ปีไปแล้ว และมาเกษียณอายุในวัย 55 ที่ดูเหมือนว่าช่วงเวลาที่ทำงานจะสั้นกว่าช่วงเวลาที่เรียนเสียอีก

ซึ่งข้อดีของการย่นระยะเวลาภาคบังคับให้เหลือเพียง 10 ปี ก็จะช่วยให้ครอบครัวจีนมีภาระค่าใช้จ่ายให้ลูกน้อยลง และสอดรับกับสภาพสังคมผู้สูงอายุของจีน และเร่งเติมเต็มแรงงานคนรุ่นหนุ่มสาว ในภาคธุรกิจและอุตสาสหกรรมให้ทันท่วงที

หลังจากที่มีความเห็นในการเปิดประเด็นหั่นระบบการศึกษาภาคบังคับให้เหลือ 10 ปีในสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ก็มีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ในเรื่องนโยบายนี้ไม่น้อย

โดยชาวเน็ตจีนก็เสียงแตกเป็น 2 ด้าน ด้านหนึ่งก็เห็นว่าดี จะเรียนให้เยอะ ๆ นาน ๆ ไปทำไม รีบเรียน รีบจบ รีบออกมาทำงานจะดีกว่า เพราะสมัยนี้คนที่เรียนนานกว่า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จมากกว่า แต่บางส่วนก็มองว่าช่วงเวลาในระบบการศึกษาก็สัมพันธ์กับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย ที่จะเร่งกันไม่ได้

และก็มีนักการศึกษาจีนหลายคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะรัฐบาลจีนมองการศึกษาในแง่มุมของการจ้าง "แรงงาน" ในภาคอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว ที่การหั่นระยะเวลาการศึกษาขั้นพื้นฐานอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาเรื่องแรงงานที่ตรงนัก

ความเห็นต่างในแผนนโยบายใหม่นี้ก็มาจากนาย ฉู เชาฮุ่ย นักวิจัยที่สถาบันวิทยาศาสตร์การศึกษาแห่งชาติ ให้ความเห็นผ่านสื่อ Global Times ของจีนว่า การย่นระยะเวลาการศึกษาเพื่อเพิ่มจำนวนแรงงาน เป็นแค่เพียงการเห็นของภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องการแรงงานในภาคธุรกิจ ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่นการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกับนาย สง ปิงฉี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 เชื่อว่าระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนต่างหากที่เป็นรากฐานสำคัญของระบบการศึกษา และการพัฒนาสังคม

ดังนั้นการจะเร่งพัฒนาเยาวชนจีนรุ่นใหม่ สู่ตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องแก้ที่ระบบการเรียน การสอน ซึ่งปัจจุบันยังคงเน้นที่การสอบเป็นหลัก เพราะฉะนั้นต่อให้บีบระยะเวลาการศึกษาภาคบังคับให้เหลือเพียง 10 ปี ก็ไม่ได้ช่วยลดภาระของเด็ก และผู้ปกครองอยู่ดี ตราบใดที่ระบบการศึกษายังเน้นเรื่องการสอบแข่งขัน เด็กก็ยังคงต้องเรียนหนัก และผู้ปกครองก็ต้องมีภาระในค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนเสริม กวดวิชา ชั้นเรียนพิเศษ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้ลูกเมื่อเข้าสู่ระบบสนามแข่ง พอเวลาเรียนสั้นลง ยิ่งสร้างความเครียด และกดดันให้กับเด็กเพิ่มขึ้นไปอีก

และพอมาพูดถึงประเด็นนี้ ก็มีชาวเน็ตจีนอีกจำนวนหนึ่งมองว่า ถ้าอย่างนั้นการเรียนเร่งรัด ให้ลดเวลาลงเหลือ 10 ปี ก็อาจจะเข้าท่าเหมือนกัน หากมองว่าไหน ๆ ทุกวันนี้เด็กจีนก็ต้องเสริม เรียนอัดกันอยู่แล้ว งั้นก็เร่งรัดให้เหลือชั้นประถม 5 ปี มัธยม 5 ปี ก็น่าจะพอแล้ว แต่ให้ยกระดับมาตรฐาน และการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการศึกษาให้มากขึ้น และจะช่วยเพิ่มเวลาในการค้นหาตัวเองเมื่อมุ่งหน้าสู่การศึกษาเฉพาะทางในระดับสูง ๆ ต่อไปด้วย

การศึกษาจีน เป็นหนึ่งในระบบการศึกษาที่เข้มงวด และกดดันที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่เด็กนักเรียนจีนจะได้รับการปลูกฝังจากครอบครัวให้เรียนอย่างจริงจังตั้งแต่เด็กเพื่อมุ่งสู่สนามสอบระดับชาติที่เรียกว่า "เกาเข่า" ที่ได้ชื่อว่าเป็นข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ยากที่สุดติดอันดับโลก ที่เชื่อว่าเป็นใบเบิกทางสู่หน้าที่การงานในอนาคต และไม่ว่าจะต้องเรียน 12 ปี หรือ 10 ปี ค่านิยมในการเรียนเพื่อสอบให้ผ่าน "เกาเข่า" ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง


แหล่งข้อมูล

https://www.globaltimes.cn/page/202103/1217628.shtml

https://www.wionews.com/world/chinas-gaokao-one-of-the-toughest-exams-in-the-world-311419