การพัฒนาความสามารถทางดนตรีไปพร้อมกับช่วงวัยพัฒนาการของเด็กๆ ให้อะไรมากกว่าที่คาดคิด ประโยชน์จากการเรียนดนตรีตั้งแต่เด็กมีอะไรบ้าง ไปค้นหาคำตอบนี้ร่วมกัน

ดังพระราชนิพนธ์แปลในรัชกาลที่ 6 จากต้นฉบับ วิลเลี่ยม เช็คสเปียร์ ว่า ‘ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก’ พอเราได้ฟังคำบอกเล่าจาก ‘ครูฟ้าใส’ คุณครูสอนดนตรีสำหรับเด็ก ก็ถึงบางอ้อดังเช่นที่เหล่านักปราชญ์กล่าว การพัฒนาความสามารถทางดนตรีไปพร้อมกับช่วงวัยพัฒนาการนั้น ให้อะไรมากกว่าที่คุณคาดคิด ประโยชน์ล้นทะลักจากการเรียนดนตรีตั้งแต่เด็กมีอะไรบ้าง The States Times ขอแชร์ประสบการณ์ตรงจาก ‘คุณครูฟ้าใส’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนดนตรีในเด็ก มาบอกเล่าสู่กันฟังตรงนี้ค่ะ...

ประโยชน์ของการเรียนดนตรีในวัยเด็กมีอะไรบ้าง

นอกจากเด็กจะเล่นดนตรีเป็นแล้ว ในกระบวนการเรียนและฝึกฝนด้านดนตรีนั้น เด็กต้องใช้ทักษะหลายด้านมากเพื่อนำไปสู่บทเพลงเพลงหนึ่ง อันดับแรกคือ ไม่ว่าจะเล่นเครื่องดนตรีชนิดไหนหรือแม้แต่การร้องเพลง จะได้ฝึกสมาธิทั้งนั้น แม้แต่การเล่นเพลงง่าย ๆ เพียงหนึ่งเพลง เด็กยังต้องใช้สมาธิ ต่อมาเด็กต้องมีความรับผิดชอบและอดทนต่อการฝึกซ้อม ฝึกความจำในการจำเนื้อร้อง จำโน้ตเพลง ได้ฝึกประสาทหูที่ดีส่งผลให้สำเนียงเสียงภาษาดีไปด้วย 

ประโยชน์เหล่านี้คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะพอทราบกันมาบ้างแล้ว และนอกจากนี้ ถ้าเด็กได้ฝึกร้องเพลงจะได้เรื่องสุขภาพอีกด้วย เพราะต้องฝึกลมหายใจ ทำให้ได้ร่างกายได้รับออกซิเจนที่เพียงพอ เท่านั้นยังไม่พอ ประโยชน์ที่คาดไม่ถึงคือ การฝึกดนตรีนั้นทำให้เป็นคนมีเหตุมีผล เพราะดนตรีนั้นมีกฎมีเกณฑ์ที่เป็นเหตุเป็นผล เด็กต้องทำความเข้าใจจึงจะพัฒนาความสามารถทางดนตรีต่อไปได้

การเล่นเครื่องดนตรีที่ดูรุนแรงอย่างเช่น ตีกลอง ส่งผลต่ออารมณ์ที่รุนแรงไหม

การเล่นดนตรีแนวร็อค เมทัล ฮาร์ดคอร์ หรือเล่นเครื่องดนตรีอย่างเช่น กลอง แท้จริงส่งผลให้เด็กได้ปลดปล่อยอารมณ์และผ่อนคลายได้ดีกว่าการเล่นดนตรีที่เบากว่าด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการตีกลองยิ่งจะช่วยให้เด็กได้ฝึกควบคุมอารมณ์ เพราะมือกลองคือคนควบคุมจังหวะของวง ควบคุมความหนัก เบา ช้า เร็วของเพลง ซึ่งคืออารมณ์ของดนตรี ประโยชน์อีกอย่างของการอยู่กับดนตรีที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ได้ความผ่อนคลาย อารมณ์สดใส ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้เล่น ผู้ร้อง ผู้เต้น หรือผู้ฟัง ย่อมได้รับความผ่อนคลายจิตใจด้วยกันทั้งนั้น

หากคุณพ่อคุณแม่ไม่มีสตางค์ส่งลูกเรียนดนตรี 

ปัจจุบันนี้มีคอร์สเรียนเบื้องต้นสอนในยูทูบฟรีเต็มไปหมดเลยค่ะ หรือถ้าไม่มีเครื่องดนตรีให้เล่น ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อเครื่องดนตรี เพียงการร้องเพลงเด็กก็ได้รับประโยชน์จากดนตรีแล้ว

อายุเท่าไหร่ที่เริ่มเรียนดนตรีได้

เริ่มได้ตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป ในวัยนี้จะยังเล่นดนตรีไม่ได้เหมือนเด็กวัย 8 ขวบ แต่เด็กจะได้ฝึกระบบประสาทการฟัง ซึ่งถ้าได้ฝึกตั้งแต่เล็กจะได้ผลดีมากกว่าคนที่มาฝึกทีหลัง ส่วนชนิดของเครื่องดนตรีสามารถเลือกให้เหมาะสมกับทางกายภาพและกล้ามเนื้อของเด็กได้

ปัจจัยของการเล่นดนตรีให้เก่งมี 2 องค์ประกอบ คือ พรสวรรค์และการฝึกซ้อม หากมีพรสวรรค์แต่ไม่ฝึกซ้อม ไม่สามารถเล่นดนตรีให้ดีได้ แต่หากไม่มีพรสวรรค์แต่หมั่นฝึกซ้อมก็สามารถเป็นนักดนตรีที่เก่งได้ 

หากคุณพ่อคุณแม่เชื่อว่าดนตรีนั้นดีต่อลูก อยากหาเครื่องดนตรีให้ลูกฝึกสักชิ้น แนะนำว่าให้เด็กได้ลองเลือกเครื่องดนตรีเอง ให้เด็กมีแรงขับที่อยากจะฝึกหรือมีความรักดนตรีจากภายใน เด็กจะหาเครื่องดนตรีที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ยิ่งครอบครัวที่รักในเสียงเพลงอยู่แล้ว เด็กจะรักดนตรีไปเอง เมื่อเด็กเลือกเครื่องดนตรีที่เขาชอบและเหมาะสมกับเขาเอง ได้เรียนกับครูที่ส่งเสริมและกระตุ้นเด็ก เด็กซ้อมอย่างสม่ำเสมอ มีเป้าหมายว่าทำไมต้องฝึก มีโอกาสได้โชว์ความสามารถ พ่อแม่ชื่นชมให้กำลังใจ ได้เข้าร่วมการแข่งขันทางดนตรี อย่างนี้มีแววไปไกลแน่นอน

หากเด็กขาดความกล้า กลัวคำวิจารณ์ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกปรับความเข้าใจของคำวิจารณ์ได้ คำวิจารณ์มี 2 ฝั่ง ฝั่งที่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ นำมาปรับปรุงให้เราดีขึ้นได้ ส่วนคำวิจารณ์ที่ไม่เกิดประโยชน์ก็ปล่อยไป หรือทำให้เป็นประโยชน์ได้โดยแปลงคำวิจารณ์เป็นพลังใช้ในการฝึกฝนพัฒนาตัวเราต่อไป

ปัจจุบันอุตสาหกรรมดนตรีนั้นเปลี่ยนไปจากเดิมมาก มีอาชีพทางดนตรีที่หลากหลายและรายได้ดี ความสามารถทางดนตรีเป็นทักษะสากล ขอเพียงมีวิชาชีพติดตัว ก็สามารถเติบโตทั้งในประเทศและยังต่างประเทศได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ทุกคนสามารถพัฒนาความสามารถทางดนตรีได้ เพราะเราทุกคนมีดนตรีในหัวใจอยู่แล้ว เพียงแค่ยังไม่ถูกดึงออกมา 

ยังมีเนื้อหาดี ๆ เพื่อคนที่เรารักและคนที่รักเราให้ติดตามกันนะคะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ ไขข้อข้องใจ ดนตรีกับการเลี้ยงลูก โดยครูฟ้าใส

https://www.facebook.com/299800753872915/videos/568577534091375

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์