กระแสธุรกิจ Startup คือแนวทางของโลกยุคใหม่ การสร้าง Mindset หรือวิธีคิดให้ลูกเติบโตเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ ต้องเริ่มต้นและเข้าใจอะไรกันบ้าง ไปติดตามบทสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญกัน (ตอนที่ 3)

ความเดิมในตอนแรก คุณม๋ำ เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ (จาก BASE Playhouse) กล่าวว่า mindset สร้างได้ด้วยประสบการณ์ และหัวใจสำคัญของผู้ประกอบการ สำหรับคุณกันต์ พสิษฐ์ ศรียาภัย (จาก Sharktank incube) คือความกล้า มาเตรียมพร้อมความแข็งแรงของหัวใจลูก สู่สนามโลกแห่งการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 ตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายแล้วค่ะ

ให้ลูกเรียนอะไรดีถึงจะเป็นผู้ประกอบการได้

คุณม๋ำ : การเรียนรู้ตอนนี้ไม่ได้อยู่แค่ในมหาวิทยาลัยแล้ว น้องแค่เข้าไปเซิร์ชในกูเกิ้ลก็มีความรู้ฟรี ๆ ขึ้นมาเต็มไปหมด หลัก ๆ คือการ take action น้องได้ลงมือทำหรือเปล่า ต่อให้น้องเรียนขนาดไหน เคยเอาเงินของตัวเองออกมาลงทุนบ้างหรือเปล่า ถ้าได้ลงทุนด้วยตัวเอง mindset ก็จะเกิดความรู้สึกของการเป็นเจ้าของการลงทุนนั้น แล้วชีวิตเราขึ้นอยู่กับมัน ทุกการตัดสินใจของเรา จะมีเงินใช้หรือไม่มีก็อยู่ที่เรา

‘ถ้าเด็กได้ควักเงินตัวเองออกมา ในระหว่างทาง เขาจะหาวิธีเอาเองว่าทำยังไงให้ไม่เจ๊ง เด็กจะเซิร์ชวิธีแล้วลงมือทำเอง บทเรียนนี้จะ form skill set ขึ้นมา เด็กคนไหนเรียนรู้เร็วในวันที่ล้มได้ ก็จะเป็นการเตรียมพร้อมก่อนออกสนามจริง’

เด็กไทยมีศักยภาพพอไหม

คุณม๋ำ : เด็กไทยมีศักยภาพ เด็กไทยเรามีจุดแข็งเป็นฐานคิด ผมว่าเด็กไทยเก่งมาก แต่เขาเอามันออกมาจากหัวไม่ได้ เราเลยมองไม่เห็น ความไม่แฟร์ของโลกธุรกิจคือ ถ้าเราเอาสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาไม่เป็น มันไม่มีคุณค่าเลย ฉะนั้นทักษะที่ต้องฝึกคือ การสื่อสาร (communication) การนำเสนอ (pitching) หรือการขาย เช่น การพูดกับคนเยอะ ๆ กับการพูดกับคนรอบข้างให้เข้าใจ ในโลกธุรกิจ การพูดแค่นี้ก็ต้องฝึกฝนมหาศาล

เห็นในหลายประเทศเน้นให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่ม แต่เด็กไทยจะเก่งทำงานเดี่ยว เราจะทำได้ไหม

คุณม๋ำ : เป็นทักษะที่เรียกว่า collaboration หรือความร่วมมือกัน เด็กไทยมีทั้ง 2 กลุ่ม มีทั้งกลุ่มที่ทำได้แบบสบายเลย กับที่ยังต้องฝึกฝน เด็กเหล่านี้อาจจะมีจุดแข็งที่มีความคิดที่ลึกกว่า อันนี้ต้องกลับไปที่ทักษะ communication ที่ยังเป็นความท้าทายเด็กไทยอยู่ ยังไงก็ต้องฝึก มันไม่มี shortcut การทำไม่ได้คือการฝึก ต้องให้ได้ทำ การได้ทำนั่นแหละคือการฝึก 

‘ให้พ่อแม่เข้าใจว่าเป็นความถนัดที่ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่จุดด้อยอะไร จริง ๆ สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำคือ การทำความเข้าใจว่าลูกอาจไม่ถนัดด้านการสื่อสาร เพราะ personality type ของเด็กมีความหลากหลาย ให้มองว่าเด็กมีจุดแข็งไม่เหมือนกัน’

คุณกันต์ : อันนี้ผมเห็นด้วย ที่กันต์จะเสริมคือตอนนี้โรงเรียนก็มีงานกลุ่มเยอะแล้วเหมือนกัน แต่ยังขาดการเสริมทักษะด้านบริหาร อาจารย์ยังสุ่มกลุ่ม และกำหนดวันส่งงานให้ ซึ่งแต่ละคนถนัดทำสิ่งที่ไม่เหมือนกัน อย่างด้าน people management การบริหารงานกลุ่ม เด็กบางคนทำได้เก่งมาก มีคนแบบนี้อยู่ในมหาวิทยาลัย

สุดท้ายนี้มีอะไรอยากจะฝากถึงพ่อแม่ทุกคน

คุณกันต์ : อยากให้พ่อแม่ลองเปิดใจฟังไอเดียเด็ก ๆ ดู เขาอาจจะมีความคิดที่ดีอยู่แล้วที่เป็น deep thought และฝากดูแลตัวเองในช่วงโควิดด้วยนะครับ

คุณม๋ำ : อยากให้พ่อแม่ให้โอกาสเด็ก โลกยุคนี้โหดร้ายจริง ๆ แต่ขอให้เชื่อว่าเด็กแกร่งพอ พ่อแม่เราพร้อมอยู่เคียงข้างลูกอยู่แล้วถ้าเขาล้ม ให้เขาได้ทดสอบ ทดลองด้วยตัวเอง

ยังมีสาระดี ๆ เพื่อครอบครัวที่อบอุ่นและสมบูรณ์ ให้ติดตามใน The States Times Family 


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ Mindset ผู้ประกอบการสร้างได้

https://www.facebook.com/watch/live/?v=390112005622287&ref=search  

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์