แม้วิกฤติโรคระบาดจะยังไม่หายไป แต่นี่คือช่วงเวลาทองของคุณพ่อคุณแม่ ในการเสริมสร้าง พัฒนาการและสายใยความสัมพันธ์กับลูกน้อย ลองมาจัดระเบียบการใช้บ้านเป็นที่ทำงานและ โรงเรียนออนไลน์ของลูกกันดีกว่า

คุณพ่อคุณแม่ต้องสูดยาดมลึกสุดถึงขั้วปอดอีกรอบ เมื่อโควิด-19 ระลอกสอง กลับมาทำให้หายใจไม่ทั่วท้องอีกครั้ง และยังทำให้ที่บ้านกลายเป็นที่ทำงานและโรงเรียนไปพร้อม ๆ กัน

หนักสุดคงหนีไม่พ้นบ้านที่ต้อง work from home และมีลูกวัยเล็กอย่างปฐมวัย แค่คิดว่าจะจับลูกใส่กระด้งเรียนออนไลน์ เส้นเลือดที่ขมับก็กระตุกแล้ว

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดของพ่อแม่ที่มีลูกช่วงปฐมวัย เมื่อคุณแอมป์ เจ้าของเพจ ‘Leeway การเรียนรู้ผ่านการเล่น’ แนะนำตรง ๆ ว่า “การเรียนออนไลน์ของเด็กปฐมวัยน่ะไม่เวิร์ค” 

คุณแอมป์บอกว่า การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยคือการสร้าง EF ซึ่งเกิดจากการได้เล่น ได้จับ ได้ลงมือทำ ฉะนั้นการนั่งเรียนออนไลน์ผ่านหน้าจอไม่ได้ทำให้เด็กวัยนี้เกิดพัฒนาการ หรือพูดอีกอย่างก็คือ การเรียนออนไลน์สำหรับเด็กปฐมวัยนั้นไร้ประโยชน์

อยากให้คุณพ่อแม่ที่มีลูกปฐมวัย สูดยาดมลึก ๆ อีกรอบ เปลี่ยนมุมมองใหม่ แล้วเล็งเห็นโอกาสในวิกฤต นี่คือช่วงเวลาทองของการเสริมสร้างพัฒนาการและสายใยความสัมพันธ์กับลูกน้อยให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจเข้มแข็ง เป็นบุคคลคุณภาพที่รักคุณมาก และยังเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ได้มีโอกาสสื่อสารกับคุณครูหรือโรงเรียนมากขึ้น เพื่อที่เราจะได้รับทราบว่าลูกเราเรียนอะไร หลักสูตรเป็นยังไง ครูสอนอะไรจากที่โรงเรียน เพียงแค่เรารู้วิธีการจัดการกับสถานการณ์นี้ ก็จะเกิดประโยชน์กับทั้งตัวคุณพ่อคุณแม่และลูก ซึ่งคุณแอมป์ได้แนะแนวทางปฏิบัติที่สามารถประยุกต์ใช้กับบ้านที่มีลูกปฐมวัยเรียนออนไลน์และผู้ใหญ่ต้อง work from home ดังนี้

1.) การจัดตารางเวลาให้เหมือนที่เด็กคุ้นเคย

จัดตารางชีวิตประจำวันของเด็กที่ต้องเรียนออนไลน์ให้ตรงกับตารางเวลาปกติเหมือนยังไปโรงเรียน  เพื่อลดภาวะต้องปรับตัวของเด็ก ช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและง่ายที่จะเข้าใจต่อผู้ปกครองด้วย

2.) แบ่งโซนทำงานกับโซนเล่นของลูก 

เข้าใจว่าเป็นเรื่องยากที่จะแบ่งโซนทำงานและโซนเล่นของลูก แต่อย่างน้อยให้ลูกได้รับรู้โซนของตัวเอง และที่สำคัญ ลูกต้องเล่นอยู่ในระยะสายตาของผู้ปกครองด้วย

3.) สร้างสิ่งแวดล้อมให้ลูกได้เล่น

ในเมื่อการเรียนออนไลน์นั้นไม่เหมาะกับปฐมวัย เราสามารถสร้างรูปแบบการเล่นเพื่อการเรียนรู้ให้ลูกได้ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ

  • การเล่นอิสระ คือเด็กสามารถเล่นได้ด้วยตนเอง เป็นการเล่นที่ง่ายสุดและเสริมสร้างลูกน้อยได้ดี เช่น การเล่นทราย เล่นดินน้ำมัน ตัวต่อเลโก้ โดยไม่ต้องบอกให้ลูกสร้างหรือปั้นเป็นตัวอะไรเพื่อให้ลูกได้เล่นใช้จินตนาการเสริมสร้าง EF อย่างเต็มที่ และลูกยังได้เสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็กไปด้วย
  • การเล่นที่พ่อแม่จัดหาให้ คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจไปหาวิธีเล่นกับลูกจากแหล่งต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ต อย่างนี้ก็ใช้ได้เช่นกัน ซึ่งวิธีนี้ทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้สร้างความสัมพันธ์กับลูกไปด้วย

หากคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่พร้อมจะเล่นกับลูกจริง ๆ คุณแอมป์เข้าใจตรงจุดนี้และได้แนะนำวิธีจัดการที่ง่ายที่สุด คือ Plan Do Review คือการวางแผน ทำ และสะท้อน โดยกำหนดสิ่งที่ลูกจะเล่น ระยะเวลา และมาสะท้อนว่าลูกเล่นแล้วได้อะไร แล้วเริ่มเล่นสิ่งต่อไปเป็นรอบ โดยใช้การวางแผน ทำ และสะท้อนเหมือนเดิม เช่น กำหนดให้ลูกเล่นปั้นดินน้ำมัน 1 ชั่วโมง เมื่อปล่อยให้ลูกเล่นครบกำหนดแล้ว เราก็ไปถามลูกว่าเล่นแล้วเป็นยังไง สนุกไหม ได้ทำอะไรบ้าง หลังจากนั้นกำหนดเวลาอีก 1 ชั่วโมงให้ลูกเล่นระบายสี ครบ 1 ชั่วโมงเราก็เข้าไปถามเพื่อสะท้อนอีกครั้ง โดยทั้งหมดนี้ลูกอยู่ในสายตาเราตลอด

หากคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นห่วงว่าลูกจะอ่านเขียนไม่ทันเพื่อน อยากให้ใจเย็น ๆ เด็กจะอ่านเขียนได้เมื่อเข้าประถมหรือตามพัฒนาการ เขียนได้ช้าไม่ใช่เขียนไม่ได้ ปูพื้นกล้ามเนื้อมัดเล็กให้ลูกจับดินสอแน่น ๆ ด้วยการเล่นดีกว่า เมื่อลูกพร้อม อ่านเขียนสำหรับลูกนั้นไม่ยากเลย

คุณแอมป์แนะนำอีกว่า เด็กวัย 6 - 10 ปีควรอยู่ที่หน้าจอได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน วัย 2-5 ปีไม่เกิน 1 ชั่วโมง และเด็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบครึ่งหรือ 18 เดือน ไม่ควรอยู่หน้าจอเลย

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง หากผู้ใหญ่มีความเครียดเกิดขึ้น การปลดปล่อยความเครียดนั้นไม่ผิด แต่ควรพยายามไม่แสดงอาการรุนแรงให้ลูกเห็นต่อหน้า ความรุนแรงส่งผลต่อภาวะที่ไม่ดีต่อร่างกายลูก ลูกคือคนที่เรารักและเราอยากเห็นเขาพัฒนาอารมณ์ให้ดีที่สุด ผู้ใหญ่ควรหาที่ปลดปล่อยอารมณ์ให้ไกลสายตาเด็ก 


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก 

หัวข้อ ลูกปฐมวัย เล่น เรียนรู้ อย่างไรดี ในยุค COVID

https://www.facebook.com/watch/live/?v=210791220708868&ref=search

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์