เมื่อการเล่น ‘เกมโกะ’ สามารถฝึกให้เด็กรู้จักเลือกวิธีในการแก้ปัญหา ฝึกความกล้า และไม่เลือกที่จะหนีปัญหาได้ดี ย้อนไปดูประโยชน์ของเกมนี้ ที่ผู้บริหารระดับสูงยังต้องเล่นเพื่อฝึกสมอง

ว่ากันว่าต้นกำเนิดเกิดการละเล่น ‘โกะ’ แต่เดิมเลยนั้น มีขึ้นเพราะจักรพรรดิต้องการเปลี่ยนนิสัยลูกชายจอมเหลวไหลให้มีความขยัน รับผิดชอบขึ้นมาบ้าง และหลังจากนั้น โกะ ได้ถูกพัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นเกมอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 - 4 พันปีก่อน ก่อนสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ไม่มากนัก หากนึกภาพตามไม่ออก ก็ให้นึกถึงฉากในนิยายสามก๊ก ในยามบ้านเมืองสงบพักจากการพุ่งรบ กลุ่มชนชั้นสูง ชั้นผู้บริหาร ว่างเว้นจากภารกิจคิดอยากหาเกมเล่นแก้เบื่อ จึงได้สั่งให้ทีมพัฒนาแอปพลิเคชั่นในยุคราชวงศ์ฮั่น ออกแบบเกมที่ทำด้วยไม้กระดานขีดเส้นเป็นตาราง เหลาเม็ดเล็ก ๆ สีขาวและสีดำ ใช้เป็นหมากเดินเกมบนกระดาน ปรากฏว่าเป็นที่ถูกใจกัน แพร่หลายในชนชั้นผู้ปกครอง กติกานั้นก็แสนง่าย หัดเล่นเพียง 10 นาทีก็เล่นได้ แต่จะหัดให้เก่งได้นั้นต้องใช้เวลาทั้งชีวิต เรียกเกมนี้ว่า เหวยฉี รู้จักกันทั่วโลกในนาม โกะ หรือในภาษาไทยเรียกว่า หมากล้อม

ถ้าจะให้สาธยายประโยชน์ของการเล่นโกะนั้นแบ่งเป็น 10 ตอนก็เขียนไม่หมด หลักๆ คือ เพื่อลับวิธีคิด การวางกลยุทธการบริหาร ซึ่งผู้บริหารประเทศจีนทุกคนยังต้องเล่นเกมนี้ นักธุรกิจระดับต้นของบ้านเราก็นิยมเล่นโกะเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่ไอน์สไตน์ก็เล่นเกมนี้กับเขาด้วย 

แนวคิดของการเล่นโกะ คือการอ่านหมากล่วงหน้า คือการมองไปให้ไกล ไม่ได้ต้องการรบราฆ่าฟันคู่ต่อสู้แต่อย่างใด การจะชนะนั้นแม้ชนะเพียงครึ่งแต้มก็นับว่าชนะแล้ว ฝึกให้เราเป็นคนไม่โลภ รอคอยได้ 

ความสนุกของเกมโกะมันอยู่ตรงนี้ค่ะ เมื่อฝ่ายเราขยายตัวใหญ่ขึ้น คู่ต่อสู้จะพยายามเข้ามาบุกลดทอนให้เราเล็กลง เกิดการต่อสู้แย่งชิงพื้นที่บนกระดานด้วยการเดินหมาก ที่คนเปรียบเปรยว่า เป็นการสนทนาด้วยมือ เราจะได้อ่านใจอ่านแผนคู่ต่อสู้ว่าจะมาโจมตี หรือป้องกันจากการเดินหมากของคู่ต่อสู้ ขณะเดียวกันฝ่ายคู่ต่อสู้ก็อ่านใจเราอยู่เหมือนกัน โดยไม่ต้องอ่านปากถามกันเลยซักคำ

หากได้ลูกฝึกเล่นโกะตั้งแต่เด็ก นอกจากจะได้ลับความคิดแล้ว ยังได้ฝึกเรื่องของจิตใจและอารมณ์ด้วย ในระหว่างเล่นนั้น ต้องระวังอารมณ์อย่างมาก อารมณ์ส่งผลต่อการตัดสินใจให้เดินผิดพลาดได้ และเกมมีแพ้มีชนะอยู่ตลอด เด็กจะได้ฝึกการให้เกียรติกัน ต่างรู้ว่าเราและเขาพลาดกันตรงไหน เรียนรู้มารยาทของผู้แพ้และผู้ชนะ ผู้ชนะจะแนะนำวิธีเล่นแก่ผู้แพ้ ผู้แพ้ก็ได้เรียนรู้วิธีคิดของคู่ต่อสู้ที่เก่งกาจกว่า เห็นจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง เพื่อพัฒนาต่อไปให้เก่งขึ้นได้ โกะไม่ได้วัดว่าใครเก่งกว่าใคร แต่วัดว่าใครผิดพลาดน้อยกว่ากัน

นายแพทย์ประเวศ วะสี แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิของไทย เคยกล่าวไว้ว่า การเล่นโกะช่วยเพิ่มไซแนปหรือกึ่งก้านสาขาในสมอง ทำให้สมองทำงานได้ดีและยังช่วยลดโอกาสการเป็นอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุได้อีกด้วย

สิ่งที่เด็กจะได้ฝึกอย่างมากจากการเล่นโกะ คือความสามารถในการเอาตัวรอด ซึ่งเป็นทักษะที่คนพูดถึงมากที่สุดทักษะหนึ่งในยุคนี้เลยก็กว่าได้ ในการเลือกตัดสินใจบนกระดานโกะเมื่อเจอปัญหานั้น มีอยู่ 3 ทางเลือก 1. ปีนข้ามไป 2. เดินอ้อมไป และ 3. เดินหนีไป 

ในการเล่นโกะ เด็กจะได้เจอจุดที่ต้องตัดสินใจตลอด ซึ่งเปรียบได้กับชีวิตจริงของคนเรา หากเด็กเลือกเดินหนีไปตลอด เขาก็จะเลือกเดินหนีไปในชีวิตจริงเช่นกัน ดังนั้นการเล่นโกะเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักเลือกวิธีในการแก้ปัญหา ฝึกความกล้า และไม่เลือกที่จะหนีปัญหาได้ดีทีเดียว

หากคุณพ่อคุณแม่สนใจให้ลูกหัดเล่นโกะ มีตารางขนาด 9x9 ให้ฝึกก่อนเล่นตารางมาตรฐานได้ และถ้าคุณพ่อคุณแม่ได้เล่นโกะกับลูกด้วยจะดีมากเลยค่ะ แต่ขอเตือนว่าฝึกซ้อมให้ดีนะคะ เกมนี้ดูถูกฝีมือเด็กไม่ได้เลยนะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ รู้จักโกะ GO MASTER

https://www.facebook.com/299800753872915/videos/3310010885793282 

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์