ทำความรู้จักกับ ‘Music Medication’ เพราะเรียนดนตรีไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก บทสัมภาษณ์จากประสบการณ์ตรงของครูสอนเปียโนและนักอรรถบำบัด ที่สอนได้ตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กพิเศษ วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ไม่เว้นแม้วัยสูงอายุ (ตอนที่ 1)

ณ สตูดิโอเปียโนแห่งหนึ่ง ย่าน ม.เกษตร บางเขน ที่ที่ครูส้ม ครูสอนเปียโนและนักอรรถบำบัดหรือนักแก้ไขการพูดใช้เป็นสถานที่สอนดนตรีและสอนอรรถบำบัด สตูดิโอนี้ดูเหมือนกับห้องนั่งเล่นของเพื่อนมากกว่าห้องเรียนดนตรี ครูส้มนั้นเป็นครูที่มีเทคนิคสอนดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากครูเรียนจบด้านความผิดปกติของการสื่อความหมายจากคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี พร้อมประสบการณ์นักอรรถบำบัดมาหลายปี และผันตัวเองมาเป็นนักดนตรีเพราะใจรักอย่างเต็มตัว 

ทักษะ ประสบการณ์ และความรู้เฉพาะทางของครูส้มบูรณาการกัน ออกมาเป็นสูตรการสอนที่มีความเฉพาะ ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม เน้นผลลัพธ์และสามารถปรับใช้กับทุกเพศทุกวัยได้อย่างหาตัวจับยากในเมืองไทยเลยก็ว่าได้ และคงจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย หากได้พูดคุยกับครู

ตอนนี้ครูส้มทำอะไรบ้างคะ?

ตอนนี้ส้มเป็นครูสอนเปียโน สอนดนตรีเด็กเล็ก สอนอรรถบำบัด แล้วก็สะสมเครื่องเล่นดนตรีสไตล์วินเทจจนตอนนี้กลายเป็นอีกงานนึงไปด้วย

เครื่องเล่นดนตรีสไตล์วินเทจหรอคะ? 

ใช่ค่ะ เครื่องดนตรีวินเทจ มันมีเสน่ห์ ทั้งเสียงและดีไซน์ไม่เหมือนใคร เล่นง่าย เล่นสนุก ทำให้นึกถึงความทรงจำตอนเด็ก ๆ แล้วก็หาซื้อไม่ได้แล้ว

ครูสอนเปียโนระดับไหน สอนวัยอะไรบ้าง?

ส้มสอนได้ทุกระดับทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก วัยผู้ใหญ่ไปจนอายุ 80 ปีก็มี

ทำไมตอนนั้นถึงเลือกเรียนเกี่ยวกับความผิดปกติทางการสื่อสาร?

เอาจริง ๆ คือตอนนั้นอยากเรียนภาษามือ แล้วก็คิดเอาเองว่าเรียนคณะนี้แล้วจะได้เรียนภาษามือ พอได้เข้ามาเรียนแล้ว เราก็แบบ อ้าว ภาษามือมันต้องไปเรียนอีกคณะนึงนี่หน่า (ครูหัวเราะ) แต่เราก็ยังเลือกที่จะเรียน และได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ มากมาย

พอได้หลงเข้าไปเรียนแล้วเป็นไงบ้าง?

สนุกดี จบมาก็ได้ทำงานตรงสาย เป็นนักอรรถบำบัดมากว่า 10 ปีแล้ว แล้วส้มได้เรียนเกี่ยวกับจิตวิทยาด้วย ซึ่งส้มเอาหลักจิตวิทยามาใช้ในการสอนดนตรี เวลาเจอเด็กพิเศษ เราก็สามารถช่วยเค้าได้มากกว่าครูสอนดนตรีทั่วไป จริง ๆ จิตวิทยาไม่ใช่วิชาหลักของคณะที่เรียนแต่มันเป็นส่วนสำคัญในการบำบัดที่ส้มนำมาปรับใช้ได้ดีจนถึงทุกวันนี้ 



ครูส้มคิดว่าการให้ลูกเรียนดนตรีมันดียังไง?

การเรียนดนตรีเป็นผลดีทั้งนั้น ทั้งนี้ ส้มอยากให้กลับไปดูที่วัตถุประสงค์ก่อน ว่ามาเรียนเพราะอะไร อย่างที่มาเรียนกันบางคนมาเรียนตามเทรนด์ บางคนอยากให้ลูกมีโปรไฟล์ความสามารถพิเศษ หรือพ่อแม่ที่ไม่มีโอกาสได้เรียน ก็อยากให้ลูกไปเรียน เหตุผลสุดท้ายคือ เด็กอยากมาเรียนเอง ซึ่งเคสนี้เจอน้อยสุด สามเคสแรกจะเจอบ่อย แต่เหตุผลสามอันแรกที่ไม่ได้เกิดจากตัวเด็กเองส้มว่าไม่จำเป็น 

เพราะประโยชน์จากดนตรีมันไม่ใช่ว่าจะหาจากที่อื่นไม่ได้ สามารถหาจากกิจกรรมอื่นก็ได้ อย่างเช่น ปั้นดินก็ได้ เรียนศิลปะก็ได้ กวนทรายก็ได้ หรืออย่างของส้มเป็นเปียโน หลาย ๆ ครั้ง ส้มก็จะใช้กิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับเปียโนมาเสริม ในฐานะครู ส้มรู้ว่าได้ประโยชน์เหมือนกัน ส่วนตัวส้มว่าอิงจากความชอบดีกว่า ถ้าเค้าชอบเค้าจะทำได้ดี และเค้าจะได้ประโยชน์ในเรื่องพัฒนาสมองได้เต็มที่กว่าด้วย

แปลว่าถ้าเค้าชอบและอยากมาเรียนเอง เค้าก็จะเรียนได้ดีด้วยมั้ย?

ใช่ อันนี้ตอบได้เต็มปาก ตัวชี้วัดที่ส้มให้ว่าใครจะเรียนได้ดีหรือไม่ดีมีสองตัวชี้วัด คือ ความชอบกับวินัย ส้มให้ความชอบกับวินัยอย่างละครึ่ง ๆ เลย ถึงจะชอบแต่ไม่มีวินัยเรียนให้ตายก็เล่นไม่ได้ ได้เล่นเพื่อผ่อนคลายเฉย ๆ หรือถ้าเด็กถูกฝึกให้มีวินัยแต่ไม่ชอบ ส่วนใหญ่จะเล่นได้แต่ไม่มีความสุข พอถึงจุดหนึ่งเมื่อเค้าเจอสิ่งที่เค้าชอบเค้าจะหยุด เค้าจะไปเอาดีอย่างอื่น ไม่เอาอันนี้ ที่ฝึกมาก็สูญเปล่า สูญเสียเวลาที่จะไปใช้ฝึกฝนกับสิ่งที่ตัวเองสนใจจริง ๆ ด้วย

อย่างเด็กที่ส้มสอน เด็กบางคนมาเพราะความชอบเลย เค้าก็ทำได้ดีไปเลย หรือกับบางคนเค้าดูเหมือนชอบตอนแรก เพราะเราจะสร้าง trust กับเค้าก่อน แต่พอถึงตอนที่ต้องใช้ความพยายามเด็กก็ไม่อยากทำ 

เด็กไปบอกพ่อแม่ว่า ไม่ทำแล้วมันยาก ซึ่งถ้าถึงตรงนี้พ่อแม่ให้กำลังใจเพื่อให้เค้าไปต่อจนเค้าผ่านคอขวดตรงนี้ได้ เค้าจะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกได้ทำสิ่งที่ยากสำหรับเค้าได้ด้วยตัวเอง แล้วเค้าจะเริ่มสร้าง self-confidence หรือความเชื่อมั่นในตนเอง หลังจากนั้นจะสบายละ เค้าจะไปต่อได้ของเค้าเอง แต่ถ้าพ่อแม่คิดว่าลูกไม่ชอบ คิดว่าดนตรีคงไม่ใช่ทางของเค้าและหยุดก่อนที่จะหลุดคอขวดนี้ไปได้ พอเค้าไปเรียนวิชาอื่นหรือเรียนสิ่งอื่น เค้าก็จะไม่หลุดคอขวดของความยากไปได้เหมือนกัน เค้าจะหยุดแค่นั้น

สุดท้ายไม่ก่อเกิดการสร้าง self-confidence แล้วทีนี้เราต้องมาใช้ reinforcement หรือแรงผลักจากภายนอก เช่น การให้รางวัล หนูทำอันนี้สิจะได้รางวัล ส่วนตัวส้มมองว่ามันเป็นผลลัพธ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ เปรียบเทียบเหมือนกับสินค้าจีนแดงกับสินค้าญี่ปุ่น สินค้าที่พอใช้ได้แต่คุณภาพอาจไม่ดี การเล่นดนตรีหรือกิจกรรมอื่น ๆ ก็เช่นกัน ถ้าใช้แรงภายนอกมากระตุ้น ก็พอให้ทำได้แต่คุณภาพอาจจะไม่ดี

(การสร้าง trust หรือสร้างความไว้ใจที่ครูส้มกล่าวถึง เป็นเทคนิคทางจิตวิทยาที่ใช้เพื่อทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและสบายใจที่จะเรียนกับเรา) 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กเค้าจะชอบหรือไม่ชอบ?

อันนี้ถ้าในเด็กที่ยังเล็กอยู่ ต้องอาศัยความแม่นยำของพ่อแม่ พ่อแม่ต้องมองให้ขาด ถ้าพ่อแม่มองไม่ขาด พ่อแม่จะเห็นเหมือนกับว่าลูกไม่ชอบอะไรเลยซักอย่าง อย่างเช่นเด็กกลุ่มที่ชอบเล่นแบบ Free Play หรือการเล่นแบบอิสระ เค้าจะไม่ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ เค้าจะเหมาะกับการเล่น playground ในสนามเด็กเล่นที่ได้สร้างจินตนาการเปิดโลกมากกว่า ซึ่งแบบนี้จะไม่ค่อยได้ทำอะไรซ้ำ ๆ  ส่วนดนตรีเป็นกลุ่มการเรียนที่ต้องการการทำซ้ำ ต้องฝึกฝนถึงจะทำได้ ได้ฝึกความอดทน ถ้าพ่อแม่มองไม่ขาด คิดว่าลูกไม่ชอบ แล้วให้ลูกเรียนเป็นสิบ ๆ อย่าง แต่ผลสัมฤทธิ์ไม่ดีซักอย่างเลย เพราะไม่ได้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างจริงจัง ของพวกนี้มันต้องใช้เวลา

อายุมีผลต่อการเรียนดนตรีมั้ย? 

มีผล เด็กมากยังไม่ได้ฝึกวินัย การเลี้ยงดูก็มีส่วน ถ้าเด็กถูกเลี้ยงโดยพี่เลี้ยงเด็ก เค้าถูกตามใจบ่อยและอาจจะไม่มีวินัยได้ ฉะนั้น ส้มจะถามพ่อแม่ที่นำลูกมาเรียนก่อนว่าที่บ้านเด็กช่วยทำงานบ้านมั้ย กินข้าวเองมั้ย ใส่เสื้อเองติดกระดุมเองรึเปล่า ดูตามวิวัฒนาการ ประมาณ 4 ขวบ ควรเริ่มมีวินัยละ เล่นของเล่นเสร็จเก็บของเอง ช่วยเก็บจานที่พอถือไหวได้

เห็นมีสอนเด็กพิเศษด้วย เด็กพิเศษกับเด็กธรรมดาแตกต่างกันยังไงคะ?

ความแตกต่างจะสังเกตอย่างง่าย ๆ ได้ตอนเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไป วัย 4 ขวบเค้าจะเริ่มตอบคำถามเชิงเหตุผลได้ ถ้าเด็กตอบไม่ตรงวัย เช่น ถ้าเราถามว่า ทำไมหนูไม่ชอบอันนี้ แล้วเด็กตอบเป็นเหตุเป็นผลไม่ได้ บอกได้แค่ว่าชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น ซึ่งวัย 4 ขวบควรจะเริ่มตอบได้แล้ว หรือสังเกตจากกล้ามเนื้อเด็ก ที่ควรพัฒนาตามวัยด้วย ส้มก็จะใช้วิธีสอนที่ต่างกันให้เหมาะสมกับเด็ก

พ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษควรส่งลูกไปเรียนดนตรีมั้ย?

ไม่จำเป็น แต่เรียนก็ดี ขึ้นอยู่ที่ครูด้วยว่าครูผู้สอนเข้าใจการสอนเด็กพิเศษมั้ย ถ้าเป็นครูที่ไม่รู้การสอนเด็กพิเศษเรียนไปก็ไม่ได้อะไรเพราะมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเด็กพิเศษ

ถ้าอยากจะแก้ปัญหาจริง ๆ อับดับแรกต้องไปหาหมอก่อนแล้วค่อยไปหานักบำบัด จะเลือกใช้ดนตรีบำบัดก็ต้องเป็นนักดนตรีบำบัดที่มีใบรับรอง ซึ่งหมอก็อาจจะเลือกกิจกรรมอื่นในการบำบัด การเรียนดนตรีเฉย ๆ ไม่ใช่การบำบัด เด็กบางคนอาจไม่ตอบสนองกับดนตรี ดนตรีเป็นเหมือนอาหารเสริม ไม่ใช่อาหารหลัก การเรียนดนตรีเฉย ๆ ยังไม่ใช่ดนตรีบำบัด

ก่อนที่เราจะคุยกับครูส้ม เราได้เข้าไปดูคลิปการสอนในเพจของครูก่อน ในคลาสดนตรีของครูส้มนั้น ครูไม่ได้เพียงสอนเปียโนอย่างเดียว แต่มีกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการเรียนเปียโนให้เด็กได้เล่นเพื่อเปิดจินตนาการและฝึกกล้ามเนื้อ ที่สำคัญ เด็กสนุกและมีรอยยิ้มตลอดการเรียนในคลาส 

นอกจากเด็ก ๆ แล้ว ยังมีคลาสสำหรับผู้ใหญ่วัยทำงานหรือแม้แต่คุณยาย ซึ่งบรรยากาศการเรียนจะแตกต่างกันไปตามที่ครูส้มจะออกแบบให้เหมาะกับผู้เรียนนั้น ๆ

ส่วนคลาสเรียนดนตรีสำหรับผู้ใหญ่นั้น จะมีวิธีการเรียนอย่างไร และทำไมผู้ใหญ่หรือคุณพ่อคุณแม่ควรมาเรียนเรียนดนตรีสไตล์อรรถบำบัด ติดตามในตอนที่  2 ค่ะ 


เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์

Credit: เพจ The Study Times