ตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เด็กสมาธิสั้นและได้รับความนิยมในตอนนี้ คือ การปล่อยลูกไว้กับหน้าจอ มาตรวจดูกันว่า ลูกของคุณเข้าข่ายสมาธิสั้นแล้วหรือยัง รวมทั้งวิธีป้องกันนั้นต้องทำอย่างไร

ในทศวรรษแห่ง Productivity ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ คนเป็นพ่อเป็นแม่ไหนจะต้องรักษาสุขภาพจิตสุขภาพกายแบ่งเวลาไปพัก และต้องเลี้ยงดูลูก ได้เจ้าแท็บเลตหรือสมาร์ทโฟนมาเป็นพี่เลี้ยงให้ซักพัก พอได้หายใจหายคอกันบ้าง ต้องอุทานเลยว่า แหม ดีจริง

เข้าใจครอบครัวที่ต้องเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบัน เมื่อหน้าจอมือถือหรือแท็บเลตมาแบ่งเบาเวลาดูแลลูกได้ดีขนาดนี้ ยื่นหน้าจอให้ปุ๊บ ลูกเรานั่งนิ่งเป็นตุ๊กตาปั๊บ พอเมื่อไรเราต้องการสมาธิหรือเวลา พี่เลี้ยงไอแพดก็จัดให้ได้ กลายเป็นตัวเลือกหลักให้คุณพ่อคุณแม่ได้มีเวลาเพิ่มมากขึ้น

คุณผู้อ่านที่รักรู้หรือไม่ การที่เด็กสามารถนั่งดูจอได้นานนั้น ไม่ได้แปลว่าเด็กมีสมาธิ การปล่อยลูกนั่งหน้าจอเป็นเวลานานอาจนำไปสู่ภาวะสมาธิสั้นได้ และสมาธิสั้นในเด็กคือสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลต่อพัฒนาการและความสามารถในห้องเรียนของลูกด้วย

เอาแล้วสิ ลูกเราก็ชอบเล่นแท็บเลตซะด้วย หรือลูกเล่นไม่บ่อยแต่เราก็ให้ลูกเล่นบ้างเหมือนกัน จะรู้ได้ยังไงว่าลูกเรามีภาวะสมาธิสั้นหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่สามารถประเมินอาการเบื้องต้นของเด็กได้ค่ะ โดยในตอนนี้เรานำข้อสังเกตอาการสมาธิสั้นเบื้องต้นมาฝากกันค่ะ

อาการสมาธิสั้นแบ่งเป็น 2 กลุ่มค่ะ คือ กลุ่มซนอยู่ไม่นิ่ง (ADHD) และกลุ่มซนแต่นิ่ง (ADD)

มาดูกลุ่มซนอยู่ไม่นิ่ง หรือกลุ่ม ADHD กันก่อน ผู้ปกครองลองสังเกตอาการของเด็กดูได้ตามนี้ค่ะ

1.) เด็กทำอะไรได้ไม่นาน เช่น ทำการบ้าน หรือเล่นอย่างหนึ่งอย่างใดได้ไม่นาน จดจ่อได้ไม่นาน

2.) หุนหันพลันแล่น ไม่รอคอย อยากได้อะไรหยิบทันที แย่งทันที

3.) ฟังคำพูดไม่จบ พูดแทรก ทำตามคำสั่งไม่ครบ

4.) ทำของหายเป็นประจำ ถ้าเด็กทำยางลบ ทำดินสอสีหายบ้าง บางครั้งถือเป็นธรรมดาปกติของเด็กค่ะ แต่ถ้าหายบ่อยขนาดที่หายแทบจะทุกครั้ง อาจมาจากอาการสมาธิสั้นได้

5.) เด็กพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้สมาธิจดจ่อ ถึงแม้เมื่อเด็กลงมือทำแล้ว เด็กจะสามารถสะกดตัวเองได้ แต่จะพยายามเลี่ยงที่จะไม่ทำ ทั้งนี้ไม่นับการจดจ่อที่หน้าจอทีวี มือถือ หรือแท็บเลตนะคะ

อาการทั้ง 5 ข้อนี้ จะต้องสังเกตเห็นได้ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนนะคะ หากเกิดขึ้นเพียงที่ใดที่หนึ่ง อาจเป็นปัจจัยอื่น ไม่ได้มาจากภาวะสมาธิสั้นของตัวเด็กค่ะ

ส่วนสมาธิสั้นกลุ่มที่ซนแต่นิ่ง หรือกลุ่ม ADD จะสังเกตอาการได้ยากกว่ากลุ่มแรก หรือแทบดูไม่ออกเลย ต้องขอความร่วมมือจากคุณครูช่วยสังเกตให้ด้วย ดังนี้ค่ะ

1.) เด็กดูตั้งใจเรียนในห้องแต่ผลคะแนนกลับได้น้อย

2.) ชอบมองออกไปนอกหน้าต่าง ในขณะเรียนในห้อง

3.) ชอบนอนเลื้อย นอนฟุบโต๊ะบ่อย อาการสมาธิสั้นมักพบกล้ามเนื้อหลังนิ่มร่วมด้วย เด็กจึงนั่งได้ไม่นาน

ระยะเวลามีสมาธิของเด็กที่ถือว่าปกติในแต่ละช่วงอายุ

วัยประถมต้น ปกติจะมีสมาธิประมาณ 15-30 นาที วัยอนุบาลประมาณ 5-15 นาที วัย 2 ขวบหรือก่อนอนุบาล 3-5 นาที ส่วนเด็กเล็กกว่า 2 ขวบ มีสมาธิได้ 2 นาที ถือว่าใช้ได้แล้วค่ะ

เมื่อสังเกตและประเมินแล้ว สงสัยว่าลูกเราอาจจะมีภาวะสมาธิสั้น พ่อแม่ควรทำอย่างไรต่อ

อันดับแรกค่ะ อยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจและยอมรับลูกก่อน ภาวะสมาธิสั้นเกิดจากสารในสมองทำงานผิดปกติหรือถูกกระตุ้นจากภายนอก ลูกไม่ได้ตั้งใจมีสมาธิสั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจตรงนี้ได้ ต่อไปก็ง่ายแล้วค่ะ ลำดับต่อไปเมื่อเราสังเกตและสังสัยว่าลูกอาจจะสมาธิสั้น ให้ไปพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยให้ละเอียดอีกครั้ง จึงจะฟันธงว่าเป็นสมาธิสั้นจริง

ในกระบวนการรักษานั้น ในช่วงแรกคุณหมอจะให้คำปรึกษาและแนะนำวิธีปรับพฤติกรรมของครอบครัวให้ช่วยพัฒนาสมาธิให้แก่ลูก ส่วนในการรักษาที่ต้องใช้ยาร่วมด้วยนั้น คือหลังจากที่ปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่หาย ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตกใจเมื่อพบว่าลูกมีอาการสมาธิสั้น การปรับพฤติกรรมก็สามารถทำให้เด็กหายขาดจากอาการสมาธิสั้นได้ค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่ยังมีข้อสงสัย ลองเข้าไปทำแบบทดสอบเช็คความเสี่ยงสมาธิสั้นเบื้องต้นได้ โดยแอดไลน์ @MorOnline ค่ะ 

ยิ่งเราทราบเร็วและปรับแก้ได้เร็วเท่าไร ยิ่งดีต่อลูกและคุณพ่อคุณแม่ หากเลยวัย 8 ขวบไปแล้ว การรักษาจะกินเวลายาวนานกว่าการรักษาในเด็กเล็กค่ะ

ส่วนวิธีป้องกันลูกรักจากภาวะสมาธิสั้นนั้น คือการให้เด็กได้เล่นซนตามธรรมชาติ ให้ลูกได้มีพื้นที่คลาน ปีนป่าย ได้วิ่ง เล่นน้ำ เตะบอล ให้ลูกได้สนุก หัวเราะเยอะ ๆ และที่สำคัญที่สุดและดีที่สุด คือให้ลูกได้มีเวลาเล่นสนุกไปกับคุณพ่อคุณแม่ค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ ดีต่อลูกชวนคุย#16 ลูกเราสมาธิสั้นหรือเปล่านะ

https://www.facebook.com/299800753872915/videos/3278387462275390 

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์