นิสัยแห่งความมุ่งมั่น พยายามไม่ล้มเลิก จนนำไปสู่ความสำเร็จ เป็นทักษะที่สำคัญและสร้างได้ในเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้ความหมายของ GRIT ศาสตร์ที่จะทำให้ลูกกลายเป็นคนที่มุ่งมั่นนำทางไปสู่ความสำเร็จ

“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ใครเห็นด้วยกับสุภาษิตนี้บ้างคะ

เชื่อว่า แต่ละคนอาจมีคำตอบที่แตกต่างกัน แล้วแต่ความหลากหลายของประสบการณ์ส่วนตัวผสมกับความเชื่อส่วนบุคคล และไม่ว่าคุณผู้อ่านจะเห็นด้วยกับสุภาษิตนี้หรือไม่ ก็เป็นคำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ความพยายามคือตัวแปรสำคัญของสมการความสำเร็จอย่างแน่นอน 

และแล้ว GRIT ผลลัพธ์จากการศึกษาพฤติกรรมสู่ความสำเร็จ ก็ได้มาไขคำตอบให้เรารู้ว่า สุภาษิตนี้ เกือบถูก รวมถึงยังเผยตัวแปรอีกตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นกุญแจที่หล่นหายมาไขสมการความสำเร็จให้เราด้วย

GRIT คืออะไร

หากใครที่เป็นสายพัฒนาตนเอง (personal development) ต้องเคยผ่านตาหรือได้อ่านเกี่ยวกับ GRIT มาบ้าง และหลายคนก็อาจเข้าใจความหมายของ GRIT ว่า คือนิสัยแห่งความมุ่งมั่นพยายามไม่ล้มเลิกจนไปสู่ความสำเร็จ แต่แท้จริงแล้ว ความหมายคำว่า GRIT ของคุณ Angela Duckworth เจ้าของหนังสือ GRIT: The Power of Passion and Perseverance นั้น คือ ความมุ่งมั่นพยายามจนไปสู่ความสำเร็จกับสิ่งที่เราแคร์

“GRIT คือ ความมุ่งมั่นพยายามจนไปสู่ความสำเร็จกับสิ่งที่เราแคร์”

หากคุณพ่อคุณแม่เพียงต้องการให้ลูกมีความพยายามกับสิ่งที่เขาเองไม่ได้สนใจ เราเรียกสิ่งนั้นว่า ความถึก ลูกต้องใช้กำลังมาก ลูกจะเหนื่อยและท้อได้ง่าย แต่หากลูกสนใจสิ่งนั้น อยากทำได้ด้วยตัวเอง ลูกจะมีกำลังภายในที่อยากพิชิตเป้าหมายให้ได้ ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็เพียงส่งเสริม GRIT ของลูก และคอยตอบรับลูกในจังหวะที่เหมาะสมเท่านั้น 

เมื่อคุณพ่อคุณแม่เข้าใจความหมายของ GRIT แล้ว เราก็สามารถส่งเสริม GRIT ในลูกได้ง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

1.) ความสำเร็จของลูก ให้ลูกได้เลือกเอง

กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ลูกสนใจและเลือกที่จะเริ่มทำมัน หากลูกขอเงินคุณพ่อคุณแม่ไปทำกิจกรรมใด ๆ แสดงว่าลูกมีความปรารถนาและเป้าหมายของเขาที่อยากจะทำสิ่งที่มุ่งหวังให้สำเร็จ ถึงแม้จะเป็นเพียงทำตามเทรนด์ แต่การได้ลองทำ ถือเป็นการทำความรู้จักกับความพยายามที่ดี ถึงแม้จะเป็นการเรียนเต้นคัฟเวอร์เกาหลีก็ตาม

2.) ย่อยเป้าหมายใหญ่ให้เล็กลง

ย่อยเป้าหมายใหญ่ให้เล็กลง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การสร้างวินัย นั่นเอง โดยการตั้งกรอบเวลาของเป้าหมายย่อยนั้น และทำสะสมจนครบเป็นเป้าหมายใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกย่อยเป้าหมายเป็นรายวัน วันนี้จะทำอะไรให้สำเร็จ เดือนนี้ในวันที่เท่านี้จะทำอะไรให้ได้ จะเรียนคอร์สอะไรให้จบก่อนจึงค่อยเริ่มคอร์สต่อไป เป็นต้น

3.) เป้าหมายต้องชัดและท้าทาย

เป้าหมายที่ดีคือเป้าหมายที่ชัดเจนและท้าทาย ไม่ง่ายจนสบายเกินไป ไม่ยากเกินจนไม่เห็นหนทาง มีจุดชี้วัดความสำเร็จที่เข้าใจได้ทันทีว่า ถึงหรือยังไม่ถึงเป้าหมาย การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนช่วยให้เราไม่ล้มเลิกง่าย ๆ และเสริมด้วยการย่อยเป้าหมายตาม ข้อ 2 ช่วยให้เห็นความคืบหน้าด้วย

4.) เมื่อไรถึงจะฟีดแบ็คลูกได้ 

กระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ๆ แต่ละคนนั้นแตกต่างกัน เด็กบางคนพัฒนาเร็วตั้งแต่ต้น เด็กบางคนอาจเป็นม้าตีนปลาย ช่วงเวลาที่จะฟีดแบคหรือประเมินผลกับลูกที่ดี คือเมื่อจบครบรอบของเป้าหมายนั้น เช่น จบคอร์สเรียน ครบเดือนที่กำหนด ครบวันที่ลูกเราตั้งเป้าหมายไว้ การฟีดแบ็คที่มีประสิทธิภาพคือการฟีดแบ็คที่ส่งเสริมให้ลูกไปต่อได้ และยิ่งเจาะจงเท่าไรยิ่งดี

5.) หากลูกล้มเลิกกลางคัน

หากลูกอยากล้มเลิกกลางคัน อับดับแรก เช็คก่อนเลยว่า สิ่งที่ลูกล้มเลิก ลูกเลือกทำเองและล้มเลิกเอง หรือคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกทำ การเลือกเองนั้นส่งผลต่อความพยายามของลูก ถ้าลูกเลือกเองและล้มเลิก สาเหตุมักมาจากการเปรียบเทียบตนเองกับเพื่อน แล้วรู้สึกว่ายากไป ไม่สนุกแล้ว อยากชวนให้คุณพ่อคุณแม่ยื้อลูกไปอีกซักนิดให้จบครบรอบของเป้าหมาย และจะได้ฟีดแบ็คกัน ถ้าลูกไปต่อไม่ไหวจริง ๆ นั่นคือบทเรียนที่ดีของลูก ลูกได้เรียนรู้อะไรจากการล้มเลิกนี้ แล้วต่อไปลูกจะทำอย่างไร ชวนลูกสรุปบทเรียนไปเลยค่ะ

talent x effort = skill

skill x effort = achievement

สูตรความสำเร็จของคุณ Angela Duckworth นั้นประกอบด้วย สูตรแรก สิ่งที่ใจเราใฝ่กับความพยายามทุ่มเท สองสิ่งนี้รวมกันจะได้ ทักษะ และสูตรที่สอง ทักษะกับความพยายามทุ่มเทรวมกันจะได้ ความสำเร็จ จะเห็นว่าต้องใส่ความพยายามถึงสองครั้งจึงจะเกิดความสำเร็จ 

ทุกอย่างที่ลูกเรียนรู้ไป ล้มบ้าง เลิกบ้าง สำเร็จบ้างนั้น ไม่เสียเปล่า วันหนึ่งเมื่อลูกโตขึ้น ลูกจะ Connect the Dots ได้ เกิดเป็นทักษะที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และ passion นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่ลูกเริ่มสนใจ แต่เกิดขึ้นเมื่อลูกมองหันกลับไปยังสิ่งที่ลูกได้ทำ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ พ่อแม่และครูส่งเสริม grit ในเด็กได้อย่างไร 

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/1671798873025624 

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์