แชร์ประสบการณ์ ‘โลกการศึกษา’ ที่ประเทศฟินแลนด์ โดยครูคนไทยที่มีโอกาสไปสัมผัสการเรียน การสอน และมองเห็นถึงการปลูกฝังเด็กๆ ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ (ตอน 2)

หลังจากคุณเร คุณครูผู้ช่วยที่ฟินแลนด์พาเดินชมอ่างล้างมือประจำห้องเรียน รวมไปถึงบรรยากาศรอบ ๆ ในห้องเรียนของเด็กชั้น ป.2 เราได้ไปเห็นโต๊ะที่เด็ก ๆ ทิ้งหนังสือไว้เต็มลิ้นชัก เพราะพวกเขาควรได้กลับบ้านไปทำกิจกรรมอื่นมากกว่าทำการบ้าน เมื่อเดินดูโดยรอบเสร็จสรรพ คุณเรก็พากลับมาที่โต๊ะแล้วเล่าต่อ

ครั้งที่แล้วคุณเรได้พูดถึงกลุ่มอาการ LD ADHD และออทิสติกของเด็กที่มีเปอร์เซ็นไม่น้อยเลยในห้องเรียน แต่กลับถูกมองว่าเป็นเด็กเรียนอ่อน

เกร็ดความรู้ LD ADHD และออทิสติกคืออะไร

LD อาการของเด็กที่มีความผิดปกติในระบบประสาท ส่งผลต่อการเรียนรู้

ADHD อาการของเด็กที่มีสมาธิสั้น

Autism หรือ ออทิสติก อาการของเด็กที่มีระบบประสาททำงานซับซ้อน ส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์กับสังคมและสิ่งแวดล้อม

คุณเรบอกว่า เด็กเหล่านี้จะมีความสามารถพิเศษที่โดดเด่นเกินค่าเฉลี่ย ซึ่งเป็นพรสวรรค์แฝงมาทดแทนส่วนที่บกพร่อง ซึ่งถ้าเราหาเจอ จะเปลี่ยนจากเด็กที่ถูกมองว่าเรียนอ่อน ให้กลายเป็นเด็กอัฉริยะแทน

กลับมาที่ห้องเรียนในฟินแลนด์

ข้อสอบ การประเมินวัดผลกันอย่างไร เมื่อไม่มีให้ท่องจำ?

“เป็นวิเคราะห์ค่ะ ตอนให้คะแนนครูจะคว่ำกระดาษคะแนนของใครของมันไว้บนโต๊ะไม่ให้เด็กคนอื่นเห็น เด็กคนไหนได้คะแนนดีเขาจะอยากโชว์เองเป็นธรรมชาติของเขา ที่นี่ไม่ได้สนใจส่งเด็กเข้าแข่งขันวิชาการอะไร ถึงเด็กบางคนจะทำคะแนนได้น้อยในบางวิชาอย่างคณิตศาสตร์ ก็เป็นเรื่องปกติ ฟินแลนด์เน้นความสามารถในการใช้ชีวิต ให้เด็กฝึกวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้ในชีวิตได้มากกว่า”

คุณเรแชร์เรื่องราวหนึ่งให้ฟังต่อ “ครั้งหนึ่งมีการประกวดที่โรงเรียน มีเด็กคนหนึ่ง เป็นคนที่เรียนเก่งที่สุดในห้อง แล้วยังเรียบร้อย หน้าตาน่ารัก วันนั้นเขาแต่งตัวมาสวยมาก เราคิดว่าเขาต้องได้รางวัลแน่ กระทั่งมีเพื่อนครูประจำชั้นมากระซิบกับเราว่า จริงๆ อยากจะให้รางวัลกับเด็กทุกคนเลย แต่ต้องเลือกเด็กที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเพียงคนเดียว ผลปรากฎว่า เด็กคนนั้นไม่ได้รางวัล” 

คุณเรหยุดเล่าไปนิดหนึ่ง ก่อนจะขยายความถึงประเด็นเรื่องนี้ให้ฟังว่า เพราะรางวัลมีแค่รางวัลเดียว ขึ้นอยู่ที่ว่าครูใช้เกณฑ์ใดมาประเมินผลของรางวัล เรื่องทำนองนี้สะท้อนถึงมุมมองและวิธีคิดของคุณครู เพราะในแต่ละโรงเรียนทั่วโลก มุมมองเหล่านี้ย่อมไม่เหมือนกัน

“ค่านิยมของคนเอเชียเราชอบเด็กดี เรียบร้อย นอบน้อม ส่วนที่ฟินแลนด์ ไม่ต้องการให้เด็ก obey (ต้องเชื่อฟัง) แต่สอนให้ใช้ชีวิตเป็น ที่สำคัญคือ ต้องเคารพกฎ เคารพสังคม”

คุณเรยกตัวอย่างให้ฟังต่อ “ที่นี่มีเด็กอ้วน เดินกางเกงหลุด ไม่มีใครล้อ เพราะเขาเคารพกันในสังคม ส่วนเด็กไทยจริง ๆ คือ dream student เป็นเด็กในอุดมคติของครูเลย เพราะเชื่อฟัง แต่แน่ใจหรือว่า เด็กที่อยู่ในโอวาทจะเป็นเด็กที่เก่งและดีในอนาคต”

 

เราสอบถามคุณเรต่อมา เรื่องโรงเรียนที่ฟินแลนด์ เรียนครึ่งวันจริงหรือเปล่า แล้วตอนบ่ายเด็กทำอะไร?

“เด็กเรียนแค่ครึ่งวันจริง ๆ ค่ะ ส่วนตอนบ่ายเขาจะไปทำ hobbies งานอดิเรก ส่วนใหญ่เป็นกีฬา ตีเทนนิส ว่ายน้ำ”

เด็กเลิกเรียนเร็วแบบนี้ แล้วพ่อแม่ทำอย่างไร?

“จริงๆ งานดูแลเด็ก คืองานที่รับผิดชอบร่วมกันทั้งครู โรงเรียน และพ่อแม่”

เด็กชอบทำกิจกรรมอะไรกัน?

“เด็กที่นี่จะปาร์ตี้บ่อย นักเรียนฟินแลนด์ใช้ปาร์ตี้เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันสนุก ๆ แต่ไม่มียาเสพติด ปาร์ตี้ไม่จำเป็นต้องไม่ดีเสมอไป”

ที่ฟินแลนด์มีการทำโทษไหม?

“ไม่มีการทำโทษค่ะ”

แล้วมี Home school ไหม?

“มีค่ะ ส่วนตัวอยากทำ home school เหมือนกัน เพราะเราชอบกิจกรรมล่องเรือใบ และเราอยากให้ลูกไปด้วย ในความเห็นส่วนตัว ถ้าเรียนแบบ home school เราสามารถอยู่กับลูก ปกป้องลูกได้ แต่เรียนที่โรงเรียน เด็กก็จะได้ทักษะสังคมไปด้วย”

สุดท้าย มีอะไรอยากจะแนะนำ?

“อยากแนะนำว่า ให้ฟังเขา เด็กคิดได้ แค่พูดไม่ได้ เด็กไทยน่ารัก แต่ขาดโอกาสจากผู้ใหญ่ ส่วนคุณพ่อคุณแม่ อย่าคิดแทนลูก ให้ respect เด็ก อย่าใช้ความเป็นผู้ใหญ่ตัดสินเขา”


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ เรื่องเล่าจากห้องเรียนฟินแลนด์

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/3233619450057200 

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์