Saturday, 10 May 2025
World

ครั้งหนึ่ง ‘โรเจอร์ เฟเดอเรอร์’ ตำนานนักเทนนิส เคยปฏิเสธดีล Nike ก่อนกลายเป็นหุ้นส่วน On Running สร้างทรัพย์สินระดับพันล้าน

(23 เม.ย. 68) ผศ.ดร.หฤษฎ์ อินน์ทะกนก อาจารย์ผู้สอนด้านกลยุทธ์ธุรกิจ วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Dr Harit แชร์เรื่องราวของ สุดยอดนักหวดลูกสักหลาดระดับตำนานชาวสวิสฯ อย่าง โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยตัดสินใจปฏิเสธสัญญากับทาง Nike ซึ่งเป็นบริษัทรองเท้ากีฬาและเครื่องแต่งกายสัญชาติอเมริกันชื่อดังของโลก

ในปี 2018, Nike เสนอการต่อสัญญาใหม่ให้ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ในมูลค่าเพียง 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เป็นข้อเสนอที่ต่ำกว่าความคาดหวังของเขามาก เฟเดอเรอร์ จึงตัดสินไม่ต่อสัญญา

หลังจากนั้น Uniqlo ก็เข้ามาเซ็นสัญญากับเขา ด้วยมูลค่าสูงถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (เฉพาะเรื่องเสื้อผ้า) แต่ 'สิทธิ์ในการสวมรองเท้า' ยังคงเปิดอยู่

และนั่นเอง คือช่วงเวลาที่แบรนด์สัญชาติสวิสเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า On Running ตัดสินใจก้าวเข้ามา

ในตอนนั้น On Running เป็นบริษัทที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังห่างไกลจากขนาดของ Nike หรือ Adidas แทนที่จะให้เฟเดอเรอร์เป็นแค่พรีเซนเตอร์ พวกเขาเสนอสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น คือการเป็นเจ้าของร่วม

เฟเดอเรอร์ ตัดสินใจลงทุนใน On Running กลายเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น และยังทำงานร่วมกับทีมพัฒนาสินค้าอย่างใกล้ชิด รวมถึงการเปิดตัวไลน์รองเท้าของตัวเอง ที่ชื่อว่า 
'The Roger'

ผลลัพธ์คือ On Running เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2021 ด้วยมูลค่ากว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หุ้นที่เฟเดอเรอร์ถือไว้ตั้งแต่ต้น ทำให้เขามีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยล้านเหรียญ มากกว่าที่เขาจะได้จากการเซ็นสัญญาพรีเซนเตอร์ทั่วไปเสียอีก

บทเรียน: การเดินออกจาก 'เงินก้อนสั้น ๆ' ในวันนี้ อาจเป็นการเปิดประตูสู่ 'ความมั่งคั่งระยะยาว' ในอนาคต

โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ไม่ได้เป็นแค่คนใส่รองเท้าแบรนด์นี้ แต่เขา กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมันขึ้นมา

นักเรียนจีนแห่เปลี่ยนเส้นทาง เริ่มเบนเป้าออกจากสหรัฐฯ หลังทรัมป์คุมเข้มนโยบายการศึกษาและวีซ่า

(24 เม.ย. 68) นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง กำลังสั่นคลอนความนิยมของสหรัฐฯ ในหมู่นักเรียนจีนอย่างหนัก ทั้งการตัดงบมหาวิทยาลัย เข้มงวดเรื่องวีซ่า และตั้งข้อกล่าวหาด้านความมั่นคง ส่งผลให้จำนวนผู้สมัครเรียนต่อในอเมริกาลดลงต่อเนื่อง กระทบภาพฝัน “American Dream” ที่เคยเป็นเป้าหมายสูงสุดของนักศึกษาจีนมายาวนานกว่า 15 ปี

นักเรียนจำนวนมากเริ่มหันไปมองทางเลือกใหม่ เช่น สหราชอาณาจักร อิตาลี หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยชั้นนำในจีนเองที่กำลังไต่อันดับโลกอย่างรวดเร็ว ด้วยคุณภาพงานวิจัยและโอกาสทำงานหลังเรียนจบที่ดึงดูดใจมากขึ้น ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนของสหรัฐฯ ทำให้หลายครอบครัวเริ่มลังเลต่อการลงทุนด้านการศึกษาข้ามทวีป

ข้อมูลจาก Open Doors ระบุว่า จำนวนนักเรียนจีนในสหรัฐฯ ลดลงเหลือ 277,398 คนในปีการศึกษา 2023/24 ลดลง 4.2% จากปีก่อนหน้า และลดลงถึง 25.5% จากจุดสูงสุดในปี 2019/20 โดยนักเรียนจีนสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กว่า 14,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 ทว่าแนวโน้มปัจจุบันอาจทำให้เม็ดเงินจำนวนนี้ไหลออกไปยังประเทศอื่นแทน ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในเวทีการศึกษาระดับโลก

นักศึกษาจำนวนหนึ่งยังเลือกกลับมาเรียนและทำงานในฮ่องกงหรือจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะในสาขาที่มีโอกาสทำงานหลังเรียนจบและได้รับทุนวิจัยมากขึ้น รายงานจาก China Daily ระบุว่า ในปี 2023 มีนักเรียนจีนระดับปริญญาเอกกลับประเทศถึง 21,574 คน เพิ่มขึ้น 51% จากปี 2020 โดยมากกว่าครึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในเอเชีย

แม้สหรัฐฯ จะยังคงเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับนักเรียนต่างชาติ แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายที่เข้มงวดขึ้น อาจทำให้ประเทศสูญเสียบทบาทผู้นำด้านการศึกษาและนวัตกรรมในระยะยาว ขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังเปิดรับและช่วงชิงโอกาสนี้อย่างเต็มที่

หุ่นยนต์จีนบุกตลาดโลก หลังนโยบายรัฐดันบริษัท AI แห่งอนาคต ผุดกว่า 4,500 แห่งในประเทศ เปิดศึกบุกยึดฐานเทคโนโลยีระดับโลก

(24 เม.ย. 68) จีนกำลังกลายเป็นมหาอำนาจด้านหุ่นยนต์ AI อย่างรวดเร็ว โดยมีบริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์มากกว่า 4,500 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 15% ของจำนวนบริษัท AI ทั่วโลก การเติบโตนี้ได้รับการสนับสนุนจากนโยบาย 'AI Plus' ของรัฐบาลจีนที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

ในปี 2023 อุตสาหกรรม AI ของจีนมีมูลค่ารวมกว่า 578 พันล้านหยวน (ประมาณ 81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยบริษัทจีนได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ AI หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่หุ่นยนต์รูปแบบมนุษย์ที่สามารถทำงานในโรงงาน ไปจนถึงหุ่นยนต์บริการในภาคการแพทย์และการขนส่ง ตัวอย่างเช่น บริษัท UBTECH Robotics ได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ในสายการผลิตรถยนต์ และกำลังเตรียมการผลิตในระดับอุตสาหกรรม

การขยายตัวของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ AI ในจีนยังได้รับแรงหนุนจากการลงทุนของรัฐบาลและภาคเอกชน โดยเฉพาะในเมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ของประเทศ นอกจากนี้ บริษัทจีนยังได้แสดงศักยภาพในงาน CES 2025 ที่ลาสเวกัส โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ AI ที่ล้ำสมัย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานทั่วโลก

ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐและเอกชน จีนกำลังกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ AI และมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทสำคัญในตลาดโลกในอนาคตอันใกล้

‘สหภาพยุโรป’ เตรียมลดพึ่งพาอาวุธและเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ พร้อมขู่เก็บภาษีตอบโต้-ตัดสิทธิ์บริษัทอเมริกันในยุโรป

(24 เม.ย. 68) ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) กำลังพิจารณามาตรการลดการซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ และกำหนดข้อจำกัดทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด เพื่อตอบโต้การดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตามรายงานของ Politico ที่อ้างอิงเจ้าหน้าที่ในยุโรป

มาตรการดังกล่าวอยู่ระหว่างการหารือ รวมถึงการหาผู้จัดหาอาวุธรายใหม่, การเก็บภาษีตอบโต้สูง,ยกเลิกการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแก่บริษัทอเมริกัน และลดการพึ่งพาบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ โดยเฉพาะในด้านระบบป้องกันประเทศที่สหรัฐฯ ที่ถูกมองว่าใช้เป็นเครื่องมือกดดันยูเครน

พาแวล โควัล (Pawel Kowal) ที่ปรึกษารัฐบาลโปแลนด์ เผยว่า ความเชื่อมั่นต่อสหรัฐฯ สั่นคลอนอย่างหนัก และโปแลนด์อาจไม่สั่งซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ อีก ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการยุโรปเริ่มหารือถึงการใช้ 'มาตรการต่อต้านการบีบบังคับ' ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีศุลกากรและจำกัดสิทธิ์บริษัทสหรัฐฯ ในการเข้าถึงตลาดยุโรป

ทั้งนี้ ท่าทีของยุโรปมีขึ้นหลังทรัมป์ออกคำสั่งเรียกเก็บภาษีศุลกากรพื้นฐานเพิ่มขึ้น 10% ต่อสินค้านำเข้าหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงมาตรการเพิ่มเติมกับ 75 ประเทศที่ไม่ตอบโต้หรือไม่ยอมเปิดเจรจา 

EU สั่งปรับ Apple-Meta กว่า 700 ล้านยูโร ฐานขัดขวางการแข่งขันในตลาดดิจิทัล และละเมิดสิทธิผู้บริโภค

(24 เม.ย. 68) สหภาพยุโรป (EU) สั่งปรับบริษัท Apple จำนวน 500 ล้านยูโร (ราว 18,750 ล้านบาท) และ Meta อีก 200 ล้านยูโร (ราว 7,621 ล้านบาท) ฐานละเมิดพระราชบัญญัติตลาดดิจิทัล (DMA) โดยระบุว่าทั้งสองบริษัทจำกัดการแข่งขันและลดทางเลือกของผู้บริโภคในตลาดดิจิทัล

คณะกรรมาธิการยุโรปชี้ว่า Apple ใช้มาตรการทางเทคนิคและเชิงพาณิชย์เพื่อกีดกันไม่ให้ผู้พัฒนาแอพแนะนำข้อเสนอราคาถูกนอก App Store ซึ่งขัดต่อหลักความเป็นธรรมทางการตลาดที่ DMA วางไว้

สำหรับ Meta รายงานระบุว่าโมเดล “จ่ายหรือยินยอม” ที่เปิดตัวปลายปี 2023 ซึ่งให้ผู้ใช้เลือกยอมให้ติดตามข้อมูลเพื่อใช้บริการฟรี หรือจ่ายเงินเพื่อใช้งานแบบไม่มีโฆษณา ถูกพิจารณาว่าละเมิด DMA แม้จะมีการปรับเปลี่ยนให้ลดการใช้ข้อมูลแล้วก็ตาม

ค่าปรับนี้เป็นผลจากการสอบสวนของคณะกรรมาธิการยุโรปที่ดำเนินมานานกว่าหนึ่งปี แสดงให้เห็นถึงความจริงจังของ EU ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีให้ปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อผู้บริโภคและคู่แข่งในตลาดยุโรป

นาวิกโยธินสหรัฐฯ 2 นายถูกสอบสวนข่มขืนหญิงญี่ปุ่นในโอกินาวา ซ้ำเติมความไม่พอใจชาวบ้านในพื้นที่ต่อฐานทัพอเมริกัน

(24 เม.ย. 68) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สมาชิกหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ 2 นาย กำลังถูกสอบสวนในข้อหาข่มขืนหญิงชาวญี่ปุ่น 2 รายในจังหวัดโอกินาวา โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมและมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นคดีล่วงละเมิดทางเพศล่าสุดที่จุดชนวนความไม่พอใจของชาวบ้านในพื้นที่ต่อการมีฐานทัพสหรัฐฯ ตั้งอยู่

ตำรวจท้องที่เปิดเผยว่า นาวิกโยธินสหรัฐฯ วัย 20 ปีเศษต้องสงสัยว่าข่มขืนหญิงชาวญี่ปุ่นที่ฐานทัพอเมริกันในเดือนมีนาคม และยังถูกกล่าวหาว่าทำร้ายผู้หญิงอีกราย ขณะที่นาวิกโยธินอีกนายในวัยเดียวกันถูกกล่าวหาว่าข่มขืนหญิงชาวญี่ปุ่นอีกคนหนึ่งที่ฐานทัพเดียวกันเมื่อเดือนมกราคม โดยตำรวจญี่ปุ่นได้ส่งสำนวนคดีให้อัยการแล้ว

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น จอร์จ กลาส (George Glass) ยืนยันว่าสหรัฐฯ พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับการสอบสวนของทางการญี่ปุ่น และให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความไว้เนื้อเชื่อใจและความเป็นหุ้นส่วนอันยาวนานกับญี่ปุ่น พร้อมให้คำมั่นว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันการกระทำที่บ่อนทำลายความสัมพันธ์นี้

สำหรับเหตุการณ์ล่าสุดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่สั่งสมมานานระหว่างชาวโอกินาวากับทหารสหรัฐฯ ที่ประจำการอยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 54,000 นายทั่วญี่ปุ่น โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ฐานทัพบนเกาะโอกินาวา ผู้ว่าการจังหวัดโอกินาวาได้ออกมาประณามการกระทำดังกล่าวว่า "เลวทราม" และเรียกร้องให้กองทัพสหรัฐฯ มีมาตรการป้องกันที่เข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย

จีนปฏิเสธการเชื่อมโยงกับความขัดแย้ง ‘คลองปานามา’ พร้อมย้ำความสัมพันธ์อันดีกับลาตินอเมริกา บนหลักการเคารพซึ่งกันและกัน

กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ตอบโต้สหรัฐฯ กรณีเชื่อมโยงจีนกับข้อขัดแย้งเกี่ยวกับคลองปานามา โดยระบุว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่สามารถบดบังเป้าหมายที่แท้จริงของสหรัฐฯ ในการขยายอิทธิพลในภูมิภาคลาตินอเมริกาได้

แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังสื่อปานามาวิพากษ์บทบาทของสหรัฐฯ ในอเมริกากลาง โดยเฉพาะแผนการตั้งฐานทัพถาวรและข้อกล่าวหาเรื่องการใช้ 'ภัยคุกคามจากจีน' เพื่อสนับสนุนนโยบายความมั่นคงของตน

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนย้ำว่า การบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับจีนและคลองปานามาไม่สามารถปกปิดความต้องการของสหรัฐฯ ในการแทรกแซงภูมิภาคนี้ได้ พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติการขัดขวางความร่วมมือระหว่างจีนและประเทศในลาตินอเมริกา โดยจีนยึดมั่นในหลักความเสมอภาค ผลประโยชน์ร่วม และไม่แทรกแซงกิจการภายใน

ประธานาธิบดีปานามาได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการแทรกแซงจากจีน โดยยืนยันว่าไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่บ่งชี้ถึงการกระทำดังกล่าว ขณะที่จีนสรุปว่า ความร่วมมือในภูมิภาคควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการส่งเสริมเสถียรภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านความเข้าใจซึ่งกันและกัน

‘สี จิ้นผิง’ ย้ำจีนเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกทุกชนิด ภายในปี 2578 แม้เศรษฐกิจชะลอตัว-ไร้สหรัฐฯ ร่วมหารือในเวทีเจรจาสภาพภูมิอากาศ

(24 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนให้คำมั่นต่อผู้นำโลกว่า จีนจะเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทศวรรษหน้า โดยจะประกาศเป้าหมายใหม่ภายในปี 2578 ที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจและทุกชนิดของก๊าซเรือนกระจก โดยแผนดังกล่าวเปิดเผยในการประชุมออนไลน์ของผู้นำโลก ซึ่งจัดโดยองค์การสหประชาชาติร่วมกับบราซิล เมื่อวันที่ 23 เมษายน โดยไม่มีสหรัฐอเมริกาเข้าร่วม

รายงานจากสื่อทางการจีน (CCTV) ระบุว่า จีนมีแผนจัดทำแผนลดการปล่อยก๊าซแห่งชาติฉบับใหม่เพื่อเสนอในการประชุม COP30 เดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะรวมถึงการควบคุมก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่น ๆ เช่น มีเทนและไนตรัสออกไซด์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 17% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ

แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวและได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ แต่การที่ประธานาธิบดีสีออกมายืนยันแผนลดก๊าซในการประชุมระดับโลกครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณว่าจีนยังคงยึดมั่นในพันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ข้อตกลงปารีส แม้ขาดการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ที่ถอนตัวออกจากเวทีดังกล่าว

ทั้งนี้ จีนยังคงเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก โดยในปี 2566 การปล่อยก๊าซของจีนคิดเป็นสัดส่วนถึงราว 30% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดทั่วโลก ทำให้ความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีนเป็นที่จับตามองจากประชาคมโลกในการขับเคลื่อนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ความสัมพันธ์สามชั่วคน!! ‘โจ ฮอร์น พัธโนทัย’ ทายาท ‘สิรินทร์ พัธโนทัย’ นักธุรกิจหนุ่มผู้ผ่านวัฒนธรรมจาก 2 ทวีป 2 ฝั่งของโลก

จากตำนานเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน ของตระกูล ‘พัธโนทัย’ ที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งแรกเริ่มสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ‘สังข์ พัธโนทัย’ ได้ส่งลูกชาย ‘วรรณไว พัธโนทัย’ วัย 12 ปี และ ลูกสาว ‘สิรินทร์ พัธโนทัย’ ในวัย 12 ปี ไปอยู่ภายใต้การดูแลของท่านโจว เอินไหล อดีตนายกรัฐมนตรีของจีน ในฐานะ 'บุตรบุญธรรม' พร้อมกับปฏิบัติหน้าที่เป็น 'ทูตพิเศษ' ระหว่างจีนกับไทยไปในตัว

ก่อนที่ในอีก 10 ปีต่อมา คือปี 1975 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้นได้ลงนามสร้างสัมพันธ์ทางการทูตกับโจวเอินไหล นับเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนอย่างเป็นทางการ

จากความสัมพันธ์ของคนรุ่นก่อนส่งต่อและสืบทอดให้กับทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลพัธโนทัย นั่นก็คือ ‘โจ ฮอร์น พัธโนทัย’ บุตรชายของสิรินทร์ นักธุรกิจหนุ่มมากความสามารถ ผู้ผ่านหลากหลายวัฒนธรรมจาก 2 ทวีปทั้งเอเชียและยุโรป โดยเกิดในลอนดอน กลับมาเติบโตในไทย ก่อนจะไปเรียนต่อที่ประเทศจีนตอนอายุ 10 ขวบ และเรียนต่อในโรงเรียนฝรั่งเศสจนจบระดับมัธยมศึกษา จากนั้นไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและโทจากออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์

ปัจจุบัน โจ ฮอร์น คือหนึ่งในนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในบทบาท กรรมการอำนวยการ บริษัท Strategy613 จำกัด ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาให้กับองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ และหน่วยงานของรัฐ ในการลงทุนทำธุรกิจระหว่างไทยกับจีน

นอกจากการเป็นนักธุรกิจระหว่างประเทศแล้ว โจ ฮอร์น ยังปฏิบัติภารกิจพิเศษที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นหน้าที่ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด นั่นก็คือ การเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างไทยและจีน สืบทอดต่อจาก คุณตาสังข์ และคุณแม่สิรินทร์ ให้ยั่งยืนต่อไปตราบนานเท่านาน

‘ทรัมป์ จูเนียร์’ ขยี้ ‘เซเลนสกี’ ผ่านโซเชียล ย้ำผู้นำยูเครนไม่ต้องการสันติภาพ-ควรถอยเรื่องไครเมีย

เมื่อวันที่ (24 เม.ย.68) โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ (Donald Trump Jr.) บุตรชายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แชร์โพสต์ของเดวิด แซกส์ มหาเศรษฐีและที่ปรึกษาพิเศษด้านคริปโตของทรัมป์ ผ่านแพลตฟอร์ม X พร้อมแสดงความคิดเห็นว่า “สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจสถานการณ์นะ ก็คือ เซเลนสกี้ไม่ต้องการสันติภาพ”

โพสต์ต้นฉบับของแซกส์ระบุว่า ไครเมียควรเป็นข้อยอมถอยที่ง่ายที่สุดสำหรับยูเครน เนื่องจาก 1) ไครเมียอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซียมานานกว่า 10 ปี 2) ประชากรส่วนใหญ่ในไครเมียเป็นชาวเชื้อสายรัสเซีย และผลสำรวจจากชาติตะวันตกชี้ว่าต้องการเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย 3) ยูเครนไม่มีศักยภาพทางทหารเพียงพอที่จะยึดไครเมียคืนมาได้

แซกส์ยังเสริมว่า “การโจมตีตอบโต้ครั้งใหญ่ของยูเครนที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในช่วงฤดูร้อนปี 2023 ได้พิสูจน์ให้เห็นในเรื่องนี้อย่างชัดเจน หากเซเลนสกีไม่ยอมถอยแม้แต่เรื่องไครเมีย ก็หมายความว่าเขาจะไม่ยอมถอยเรื่องอื่นอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับเขา”

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวหาว่า เซเลนสกีเป็นตัวการที่ทำให้สงครามยืดเยื้อต่อไป โดยระบุว่า “เซเลนสกีเป็นคนที่ยากจะรับมือมากกว่ารัสเซียในการเจรจาสันติภาพ” และชี้ว่า “การที่เซเลนสกีปฏิเสธข้อเสนอของรัสเซียเกี่ยวกับไครเมีย ทำให้การเจรจาสันติภาพเป็นไปได้ยาก”

อย่างไรก็ตาม ยูเครนยังคงยืนกรานไม่ยอมรับการสูญเสียไครเมีย โดยชี้ว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยและกฎหมายระหว่างประเทศ และการยอมจำนนจะเป็นแบบอย่างที่อันตรายต่อการรุกรานในอนาคต ​


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top