Saturday, 10 May 2025
World

จีนตอบโต้ศึกการค้า ประกาศลดนำเข้าหนังฮอลลีวูด ผู้เชี่ยวชาญชี้เป็นการลงโทษที่แยบยล เจ็บตัวน้อยแต่ทำให้วอชิงตันต้องคิดหนัก

(11 เม.ย. 68) จีนประกาศแผนลดการนำเข้าภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในวันนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสองประเทศ ที่ยังคงร้อนแรงและไม่มีวี่แววผ่อนคลาย

โฆษกของ China Film Administration (CFA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมการอนุมัติฉายภาพยนตร์ในประเทศจีน กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อ “ปรับสมดุลทางการตลาด” และ “สะท้อนความนิยมของผู้ชมชาวจีน” โดยชี้ว่าการที่สหรัฐฯ เพิ่มอัตราภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากจีน รวมถึงภาพยนตร์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสนใจของผู้บริโภคในจีน

“เราจะยังคงสนับสนุนภาพยนตร์ที่มีคุณภาพจากทั่วโลก และเปิดรับเนื้อหาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดภาพยนตร์จีน ซึ่งกำลังเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว” โฆษก CFA กล่าว

คริส เฟนตัน ผู้เขียนหนังสือ Feeding the Dragon: Inside the Trillion Dollar Dilemma Facing Hollywood, the NBA, and American Business กล่าวว่า การลดจำนวนภาพยนตร์จากสหรัฐฯ ถือเป็น “วิธีที่โดดเด่นอย่างยิ่งในการแสดงออกถึงการตอบโต้ โดยแทบจะไม่มีผลเสียใดๆ ต่อจีนเลย”

“การลงโทษฮอลลีวูดอย่างโจ่งแจ้งเช่นนี้เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงความแข็งแกร่งของปักกิ่ง ซึ่งวอชิงตันจะต้องสังเกตเห็นอย่างแน่นอน” เฟนตันกล่าว

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แทบไม่ได้ออกมาปกป้องฮอลลีวูด โดยตอบคำถามสื่อเกี่ยวกับข้อจำกัดใหม่ของจีนว่า “ผมคิดว่าผมเคยได้ยินเรื่องที่แย่กว่านี้”

แม้จะมีข้อจำกัดใหม่ แต่แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมบันเทิงระบุว่า ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์บางเรื่องที่มีฐานแฟนคลับในจีนยังสามารถเข้าฉายได้ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง 'Thunderbolts' ของ Marvel Studios ที่จะเข้าฉายในจีน วันที่ 30 เมษายน 2568

บริษัท IMAX ซึ่งมีธุรกิจทั้งในจีนและต่างประเทศ ระบุว่า ข้อจำกัดดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยกล่าวในแถลงการณ์ว่า “เราคาดว่าปีนี้จะเป็นปีที่แข็งแกร่งสำหรับ IMAX ในจีน โดยไตรมาสแรกของปีนี้ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์”

เซธ เชเฟอร์ นักวิเคราะห์จาก S&P Global Market Intelligence Kagan ให้ข้อมูลว่า แม้จะมีข้อจำกัด แต่ในปัจจุบัน ภาพยนตร์จากต่างประเทศที่ได้เข้าฉายในจีนมีเพียงราว 25% เท่านั้น และเปอร์เซ็นต์นี้ยังคงลดลงเรื่อยๆ อันเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศจีนเอง

“แม้จะได้เข้าฉายในจีน รายได้บ็อกซ์ออฟฟิศจากจีนก็มีสัดส่วนน้อยกว่า 10% ของรายได้รวมทั่วโลก” เขากล่าว พร้อมยกตัวอย่างภาพยนตร์ 'Captain America: Brave New World' ซึ่งออกฉายในเดือนกุมภาพันธ์ และทำรายได้ในจีนเพียง 14.4 ล้านดอลลาร์ จากยอดรวมทั่วโลกที่ 413 ล้านดอลลาร์

ในอดีต ภาพยนตร์อย่าง 'ไททานิค' และ 'อวตาร' ประสบความสำเร็จมหาศาลในจีน ทำให้ดาราอย่าง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และผู้กำกับอย่าง เจมส์ คาเมรอน เป็นที่รู้จักในหมู่แฟนภาพยนตร์จีนทุกวัย

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2020 ภาพยนตร์ที่ผลิตโดยจีนเองสามารถครองสัดส่วนตลาดถึง 80% ของรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศประจำปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณ 60% ในปีก่อนหน้า

ในรายชื่อภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาลของจีน มีเพียงเรื่องเดียวจากต่างประเทศที่ติดอยู่ใน 20 อันดับแรก นั่นคือ 'Avengers: Endgame' ที่ทำรายได้กว่า 4.25 พันล้านหยวน หรือราว 579.8 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ภาพยนตร์ที่เหลือล้วนเป็นผลงานจากจีน

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า แม้จะเป็นมาตรการเชิงสัญลักษณ์ แต่ก็สะท้อนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก ที่กำลังมุ่งสู่การกระจายตัวมากขึ้น และลดการพึ่งพา 'อุตสาหกรรมภาพยนตร์สหรัฐ' ลงอย่างต่อเนื่อง

‘ทรัมป์’ ขู่ขึ้นภาษีนำเข้าและคว่ำบาตร ‘เม็กซิโก’ ปมไม่แบ่งปันน้ำจาก ‘แม่น้ำริโอแกรนด์’ ให้เกษตรกรเท็กซัส

(11 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ขู่ว่าจะใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าและการคว่ำบาตรต่อเม็กซิโก หากรัฐบาลเม็กซิโกยังคงไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเรื่องการแบ่งปันน้ำจากแม่น้ำริโอแกรนด์ ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1944

ทรัมป์โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน ระบุว่า “บรูก โรลลินส์ รัฐมนตรีเกษตรของผม กำลังยืนหยัดเพื่อเกษตรกรเท็กซัส และเราจะเดินหน้าบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ต่อไป ทั้งการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม และอาจรวมถึงการคว่ำบาตร จนกว่าเม็กซิโกจะเคารพสนธิสัญญา และส่งน้ำที่เป็นของเท็กซัสคืนมา”

ตามสนธิสัญญาปี 1944 เม็กซิโกมีพันธกรณีต้องส่งมอบน้ำจากแม่น้ำริโอแกรนด์ให้แก่สหรัฐฯ ประมาณ 1.75 ล้านเอเคอร์-ฟุต ภายในรอบระยะเวลา 5 ปี โดยผ่านระบบเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่เชื่อมต่อกันระหว่างสองประเทศ

อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทเรื่องน้ำระหว่างสองประเทศมีประวัติความตึงเครียดยาวนาน โดยเฉพาะในช่วงปี 2020 ซึ่งความขัดแย้งได้ปะทุจนกลายเป็นความรุนแรง เมื่อเกษตรกรชาวเม็กซิโกจำนวนมากเข้ายึดเขื่อนในพื้นที่ชายแดน เพื่อพยายามปิดกั้นการส่งน้ำไปยังสหรัฐอเมริกา

สถานการณ์ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นและภัยแล้งที่ยาวนานทำให้ทรัพยากรน้ำขาดแคลน น้ำจากแม่น้ำที่ทั้งสองประเทศใช้ร่วมกันจึงกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าอย่างยิ่ง

ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการเขตแดนระหว่างประเทศและน้ำ ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านน้ำระหว่างเม็กซิโกและสหรัฐฯ ระบุว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 ถึงเดือนตุลาคม 2024 เม็กซิโกสามารถจัดส่งน้ำได้เพียงประมาณ 400,000 เอเคอร์ฟุต ซึ่งต่ำกว่าระดับที่กำหนดในสนธิสัญญาอย่างมาก โดยยังขาดอยู่อีกกว่า 1.4 ล้านเอเคอร์ฟุต ส่งผลให้หนี้ค้างชำระสะสมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ด้านผู้นำเม็กซิโก ประธานาธิบดีคลอเดีย เชนบาม ได้ตอบโต้ผ่านโพสต์บนเอ็กซ์ (X) ว่า เม็กซิโกยังคงพยายามปฏิบัติตามข้อผูกพันตามสนธิสัญญา “เท่าที่ทรัพยากรน้ำจะเอื้ออำนวย” และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงเกษตรของเม็กซิโกเริ่มการเจรจากับสหรัฐฯ อย่างเร่งด่วน

นักวิเคราะห์เตือนว่า หากไม่มีทางออกอย่างชัดเจน ความตึงเครียดเรื่องน้ำอาจกลายเป็นประเด็นทางการทูตที่บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศพันธมิตรทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในระยะยาว

‘สีจิ้นผิง’ เตรียมเยือน ‘เวียดนาม-มาเลเซีย-กัมพูชา’ สัปดาห์หน้า หวังขยายความร่วมมือท่ามกลางสงครามการค้ากับ ‘สหรัฐฯ’

(11 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน เตรียมเดินทางเยือน 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ระหว่างวันที่ 14-18 เมษายนนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างพันธมิตรในภูมิภาค ท่ามกลางความตึงเครียดจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ

การเยือนเวียดนามจะมีขึ้นในวันที่ 14-15 เมษายน ตามด้วยการเยือนมาเลเซียและกัมพูชาในช่วงวันที่ 15-18 เมษายน ทั้งนี้กระทรวงต่างประเทศจีนระบุว่า นี่คือการเดินทางต่างประเทศครั้งแรกของผู้นำจีนในปีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่จีนให้ต่อประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศระงับภาษีนำเข้าจากเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชาเป็นเวลา 90 วัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 พร้อมกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึง 145% ขณะที่เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชาถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 46%, 24% และ 49% ตามลำดับ

ทั้งนี้ เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย ต่างได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนในช่วงสงครามการค้ารอบก่อน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ประเทศก็เริ่มตกอยู่ในความสนใจของสหรัฐฯ จากข้อกล่าวหาต่าง ๆ เช่น การลักลอบนำชิป, ความร่วมมือทางทหาร และข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

‘ไล่ ชิงเต๋อ’ เผยไต้หวันอยู่ในกลุ่มเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ล็อตแรก ภาคธุรกิจชู ‘เราจะเป็นพันธมิตรที่ดี’ หวังขยายตลาดในอเมริกา

(11 เม.ย. 68) ไล่ ชิงเต๋อ ประธานาธิบดีไต้หวัน เปิดเผยระหว่างการพบปะผู้นำภาคธุรกิจว่า ไต้หวันได้รับการจัดให้อยู่ใน 'กลุ่มแรก' ที่จะได้เปิดเจรจาด้านมาตรการภาษีกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า

“เราอยู่ในกลุ่มเจรจากลุ่มแรก และรัฐบาลจะเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี” ประธานาธิบดีไต้หวันกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่าการหารือครั้งนี้เป็นโอกาสทองสำหรับไต้หวันในการสร้างความใกล้ชิดกับเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 เมษายน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งรวมถึงไต้หวันที่ก่อนหน้านี้ต้องเผชิญภาษีนำเข้าสูงถึง 32%

ขณะเดียวกัน เดวิด ชวง (David Chuang) ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไต้หวัน (TAMI) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักรของไต้หวันจะร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการ 'เปลี่ยนประเทศต้นทาง' ผ่านประเทศที่สาม เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษีที่สูง ซึ่งเป็นประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจของสหรัฐ

ชวงยังเสริมอีกว่า ซัพพลายเออร์ชาวไต้หวันยินดีที่จะร่วมมือกับพันธมิตรในอเมริกาในการผลิตเครื่องมือเครื่องจักร โดยระบุว่า “เราจะเป็นพันธมิตรที่ดี”

ทั้งนี้ ทำเนียบขาวระบุว่ามีมากกว่า 70 ประเทศที่ติดต่อเข้ามาเพื่อขอเปิดการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเวทีการค้าระหว่างประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ

สี จิ้นผิง ลั่น! จีนไม่หวั่นสงครามการค้า ไม่ยอมแพ้ต่อแรงกดดันจากสหรัฐฯ

(11 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ออกแถลงการณ์ตอบโต้ความตึงเครียดจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ โดยย้ำว่า จีนจะไม่ขอความช่วยเหลือจากใคร และจะไม่ยอมถอยท่ามกลางแรงกดดัน

“จีนไม่เคยพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการพัฒนาประเทศตลอด 70 กว่าปีที่ผ่านมา เราฝ่าฟันทุกอย่างด้วยความพยายามของตัวเอง” สี จิ้นผิงกล่าว พร้อมเน้นว่าจีนจะไม่ยอมอ่อนข้อ หรือ 'กะพริบตา' ให้กับความไม่ยุติธรรม

แม้สงครามการค้าจะยังร้อนแรง แต่ผู้นำจีนยืนยันว่า จีนจะยังคงมุ่งมั่นบริหารประเทศอย่างมั่นคงและพึ่งพาตนเอง พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงจากภายนอก

สำหรับ คำกล่าวของประธานาธิบดีจีนมีขึ้นในช่วงที่ความตึงเครียดกับสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากมาตรการภาษีนำเข้าและข้อพิพาทด้านเทคโนโลยีที่กำลังปะทุอย่างต่อเนื่อง

‘ราคาทอง’ พุ่ง!! ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ สะท้อนยุคเปลี่ยนผ่านของ ‘ระบบดอลลาร์สหรัฐฯ’ หลายประเทศ หันไปถือทอง มองเป็น ‘สกุลเงินที่แท้จริง’ ที่คงคุณค่ามานานกว่า 5,000 ปี

(12 เม.ย. 68) สำนักข่าว Sputnik International รายงานว่า ราคาทองคำที่พุ่งทะลุระดับ 3,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เพียงผลจากความผันผวนระยะสั้นของตลาด แต่เป็นสัญญาณสะท้อนความสั่นคลอนของระเบียบการเงินโลกที่ผูกกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างรุนแรง

รายงานวิเคราะห์ว่า การคว่ำบาตร การตั้งกำแพงภาษี และความปั่นป่วนในยุคทรัมป์ ได้ทำให้หลายประเทศเริ่มตั้งคำถามกับความมั่นคงของเงินดอลลาร์ พร้อมทั้งหันไปถือครอง ทองคำ ซึ่งถูกยกให้เป็น 'สกุลเงินที่แท้จริง' ที่คงคุณค่ามานานกว่า 5,000 ปี

Claudio Grass นักเศรษฐศาสตร์จากสวิตเซอร์แลนด์ให้สัมภาษณ์กับสปุตนิกว่า หลังสงครามเย็น โลกเคยรวมศูนย์อยู่กับระเบียบที่นำโดยสหรัฐฯ และดอลลาร์ได้รับอานิสงส์อย่างมาก แต่ในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือกระแส 'แยกตัวออก' ไปสู่ความเป็นระเบียบหลายขั้ว (multipolarity) ที่ลดบทบาทของดอลลาร์ลง

Grass ระบุว่า เรากำลังเข้าสู่ 'ยุคเปลี่ยนผ่านของระบบ'  (system transition) ซึ่งจะเต็มไปด้วยเงินเฟ้อ ความไม่มั่นคง และความสูญเสียทางการเงิน พร้อมเสนอแนวคิดว่า “ประชาชนควรเป็นธนาคารกลางของตนเอง ด้วยการถือทองคำจริงและเงินแท่งไว้นอกระบบ”

ขณะเดียวกัน Tom Luongo นักวิเคราะห์การเงินอิสระกล่าวว่า ความผันผวนของโลกในขณะนี้เป็นสาเหตุให้คนหันกลับมามอง 'ทองคำ' ในฐานะเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากระบบที่กำลังเปลี่ยนโฉม

ทั้งนี้ สปุตนิกยังรายงานเสริมว่า ธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงรายย่อยจำนวนมาก ต่างเร่งสะสมทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX risk) ในช่วงที่ความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินตะวันตกเสื่อมถอยอย่างรวดเร็ว

นักวิเคราะห์เตือนว่า เราอาจอยู่ในช่วงต้นของ 'สงครามการเงิน' ที่ไม่ใช่แค่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่ยังรวมถึงความตึงเครียดกับยุโรป ที่พยายามตอบโต้การผลักดันนโยบายดอกเบี้ยต่ำและการลดการพึ่งพาระบบดอลลาร์ของทรัมป์

รายงานของสปุตนิกสรุปว่า ราคาทองที่พุ่งสูงครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการปฏิเสธดอลลาร์โดยตรง แต่เป็นการ 'ป้องกันตัว' จากความวุ่นวายของระบบที่กำลังถูกจัดระเบียบใหม่

ระเบียบโลกใหม่!! อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ‘จีน’ อาจเป็นผู้นำในโลกยุคใหม่ หาก ‘อเมริกา’ ยังเล่นบท ‘นักเลงภาษี’ อาจต้องตกเป็นรอง ในเวทีโลก

(12 เม.ย. 68) ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่สนใจแล้วว่าโลกหมุนทางไหน เพราะตอนนี้เขาหยิบค้อนภาษีมาทุบใส่เกือบทุกประเทศแบบไม่แยกแยะ จีนโดนหนักสุดถึง 145% ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ก็โดนหางเลขกันถ้วนหน้า การเผชิญหน้าระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกจึงทวีความดุเดือดแบบไม่มีเบรก

ผลคืออะไร? ระเบียบโลกที่เราเคยรู้จักมาตลอด 80 ปีเริ่มสั่นคลอนอย่างชัดเจน นักวิเคราะห์บางคนถึงกับฟันธงว่ามัน "ตายไปแล้ว" และสิ่งใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นนั้น... มีจีนเป็นศูนย์กลาง

Cameron Johnson ผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนจากเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า “ถ้าคุณยังไม่กระโดดขึ้นรถไฟสายเอเชีย ก็เตรียมตัวถูกทิ้งไว้กลางทางได้เลย”

จีนในวันนี้ไม่ใช่แค่ ‘โรงงานโลก’ แต่กำลังกลายเป็นคู่ค้าที่ประเทศต่าง ๆ หันไปหาด้วยความจำเป็น (หรือสิ้นหวัง) โดยเฉพาะในวันที่อเมริกากลายเป็น ‘พ่อค้าเร่’ ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

แผนยุทธศาสตร์สายพานและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีนก็เหมือนกล่องเครื่องมือที่จีนหยิบขึ้นมาใช้ได้ทันที ทั้งถนน รถไฟ ท่าเรือ และเงินทุนที่หลายประเทศใฝ่ฝัน ขณะที่อเมริกายืนกอดอกบอกให้ใครต่อใคร "มาลงทุนในบ้านเราแทน"

ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กลับกลายเป็นโอกาสทองให้จีนได้ขยับบทบาท ยิ่งเมื่อประเทศในเอเชียเริ่มจับมือกันแน่นขึ้น ทั้งจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เพิ่งจัดประชุมร่วมกันครั้งแรกในรอบ 5 ปี

ฝั่งยุโรปเองแม้จะยังไม่ถึงขั้น ‘หวานชื่น’ กับจีน แต่ก็เริ่มขยับเข้าใกล้มากขึ้น เมื่อประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและนายกรัฐมนตรีจีนจับสายตรงคุยกัน หารือความร่วมมือ และพยายามประคองความสัมพันธ์ให้ ‘มั่นคงต่อเนื่อง‘

ส่วนแคนาดา? เลือกแนวทาง ‘เสี่ยงต่ำ’ รอดูท่าทีอยู่ห่าง ๆ แบบไม่กล้าเดินเข้าหา แต่ก็ไม่อาจเมินจีนได้เสียทีเดียว นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยยอร์คบอกว่า “จะมองข้ามจีนในโลกยุคนี้ ถือว่า...พลาด”

สรุป: โลกยุคใหม่อาจไม่มีผู้นำคนเดียวอีกต่อไป แต่เป็นโลกที่หลายขั้วอำนาจลุกขึ้นมาเขียนกติกาใหม่ และถ้าอเมริกายังเล่นบทนักเลงภาษีต่อไป อาจจะต้องทำใจกับบทบาทพระรองในฉากสุดท้ายของเวทีโลกใบนี้

ชายชาวเพนซิลเวเนีย ถูกตั้งข้อหาขู่ฆ่า ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ หลังโพสต์!! เราแค่ต้องเริ่มฆ่าคน ปฏิวัติอเมริกา 2.0

(12 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

ที่ #สหรัฐฯ ชายชาวเพนซิลเวเนียถูกตั้งข้อหาขู่ฆ่าทรัมป์

Shawn Monper หรือที่เรียกกันว่า Mr. Satan ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากรัฐบาลกลางฐานขู่จะลอบสังหาร Trump, Elon และหน่วยปฏิบัติการทั้งหมดของ Trump

เขาโพสต์ว่า “ไม่ล่ะ เราแค่ต้องเริ่มฆ่าคน…” และสัญญาว่าจะมีสิ่งที่เรียกว่าการปฏิวัติอเมริกา 2.0

FBI เรียกว่าการกระทำนี้ว่าการก่ออาชญากรรมต่อรัฐบาลกลาง

ขณะนี้เขาต้องเผชิญกับโทษจำคุกอย่างหนักจากสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นโพสต์ที่ ‘ไร้สาระ’

คำเตือน: การขู่ฆ่าทางออนไลน์ไม่ถือเป็นเสรีภาพในการพูด แต่เป็นความโง่เขลาเท่านั้น

‘Wicrosoft’ บริษัทร่วมทุน ‘Microsoft’ ปลดพนักงานในจีน 2,000 คน สะท้อนความรุนแรง!! ‘จีน-สหรัฐฯ’ ที่สั่นสะเทือน วงการไอที

เมื่อวันที่ (7 เม.ย.68) ที่ผ่านมา มีภาพหน้าจอมือถือที่เป็นอีเมลภายในของบริษัทเวยช่วงหร่วนเจี้ยน (Wicresoft,微创软件) บริษัทร่วมทุนกับไมโครซอฟท์ (Wicrosoft) หลุดออกมาทั่วโซเชียล โดยในอีเมลระบุว่า “ไมโครซอฟท์จะปรับแผนกลยุทธ์ทั่วโลก และจะยุติการดำเนินงานในจีนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. 2025” ซึ่งหมายความว่าโครงการที่เกี่ยวข้องของไมโครซอฟท์จะถูกยุติลงพร้อมกัน แม้ว่าอีเมลดังกล่าวจะไม่ใช่ประกาศอย่างเป็นทางการจากไมโครซอฟท์ แต่ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการไอทีในจีน

บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2002 เป็นบริษัทร่วมทุนแห่งแรกที่ไมโครซอฟท์ ลงทุนในจีน ปัจจุบันประธานบริษัทคือถังจวิ้น ที่เคยดำรงตำแหน่งประธานไมโครซอฟต์จีน ซึ่งบริษัทฯ ถูกมองว่าเป็นบริษัทเอาต์ซอร์ส หรือ องค์กรภายนอกหลักของไมโครซอฟท์ในจีน โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ และมีศูนย์ให้บริการ 36 แห่งทั่วโลก ครอบคลุมทั้งจีน สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยให้บริการลูกค้าแล้วกว่า 2,500 ราย และมีพนักงานกว่า 10,000 คน

ช่วงบ่ายของวันที่ 7 เม.ย. สื่อจีนรายงานว่าพนักงานหลายรายกล่าวว่าการเลิกจ้างเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน คาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อพนักงานในสำนักงานเซี่ยงไฮ้และอู๋ซีราว 2,000 คน พนักงานบางคนกล่าวว่าตอนเช้ายังสแกนบัตรเข้างานอยู่เลย ตอนเที่ยงก็โดนเลิกจ้างแล้ว ขณะที่บางคนบอกว่าไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้อย่างกะทันหัน และมีพนักงานจำนวนมากยกกล่องเอกสารออกมาจากบริษัทฯ

การเลิกจ้างในครั้งนี้เกี่ยวข้องกับคำสั่งผู้บริหารหมายเลข 14117 ของสหรัฐฯ ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 เม.ย. ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ “ประเทศที่ถูกจับตามอง” เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อนของชาวอเมริกัน ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมด้านกฎระเบียบข้อมูลในระดับโลก หลายคนจึงสงสัยว่าบริการสนับสนุนด้านเทคนิคของสินค้าไมโครซอฟท์จะยังคงให้บริการต่ออย่างไร 

พนักงานยกกล่องออกจากบริษัทฯ ส่วนใหญ่ได้รับค่าชดเชยตามสูตร N+1

สื่อจีนรายงานว่ามีพนักงานจำนวนมากทยอยยกกล่องเอกสารออกจากอาคาร และในจำนวนนี้มีพนักงานชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย ตรงข้ามอาคารคือสำนักงานของไมโครซอฟต์จีน สาขาหมิ่นซิ๋ง พนักงานไมโครซอฟท์คนหนึ่งยังเดินข้ามถนนมาดูสถานการณ์ พร้อมบอกว่าขณะนี้ภายในสำนักงานไมโครซอฟท์ยังไม่มีข่าวการเลิกจ้างลักษณะเดียวกันนี้

พนักงานนามสมมุติ 'หลี่เต๋อ' เปิดเผยว่าเขาเพิ่งสแกนบัตรเข้าออฟฟิศในตอนเช้า แต่กลับได้รับแจ้งเรื่องการเลิกจ้างทันที โดยทีมงานสนับสนุนด้านเทคนิคของไมโครซอฟท์ที่เขาอยู่มีพนักงานหลายร้อยคน ซึ่งเกือบทั้งหมดถูกเลิกจ้าง อีเมลภายในระบุว่าบริษัทจะจัดทำแผนการเยียวยาและเสนอการโยกย้ายไปทำงานในต่างประเทศให้พนักงานในสายงานเดิมของไมโครซอฟท์ก่อนเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตาม พนักงานเผยว่าขั้นตอนภายในสับสนวุ่นวาย ส่วนใหญ่ได้รับค่าชดเชยตามสูตร “N+1” เท่านั้น และมีเพียงส่วนน้อยที่อาจได้ย้ายไปต่างประเทศ

ไมโครซอฟท์จะยุติธุรกิจในจีนหรือไม่

ข่าวลือที่ว่า "ไมโครซอฟท์จะยุติการดำเนินงานในจีนตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. 2025" ทางไมโครซอฟท์ได้ออกมาปฏิเสธและชี้แจงว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง พร้อมระบุว่ากิจการของ Wicresoft ควรให้ทางบริษัทเป็นผู้ชี้แจงโดยตรง 

หลิวหรุน อดีตผู้บริหารไมโครซอฟท์ ออกมายืนยันว่าไมโครซอฟท์ไม่ได้จะยุติการดำเนินงานหรือหยุดโครงการเอาต์ซอร์สในจีน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการย้ายงานเอาต์ซอร์สที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลผู้ใช้ในต่างประเทศไปยังภูมิภาคอื่น อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังไมโครซอฟท์ได้ปรับลดขนาดธุรกิจในจีนหลายครั้ง สะท้อนถึงการปรับยุทธศาสตร์ในภูมิภาค

แม้ไมโครซอฟท์จะปฏิเสธการเลิกจ้างครั้งใหญ่ แต่การที่ทีมสนับสนุนของ Wicresoft ซึ่งมีพนักงานเกือบ 2,000 คนถูกเลิกจ้าง ก็ทำให้ผู้ใช้งานหลายฝ่ายแสดงความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพการให้บริการ Wicresoft ถือเป็นพันธมิตรเอาต์ซอร์สรายใหญ่ที่สุดของไมโครซอฟท์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และรับผิดชอบงานสนับสนุนด้านเทคนิคทั้งก่อนและหลังการขาย 

พนักงานกังวลหางานใหม่ไม่ทัน

ในมุมมองของจ้าวหู ผู้บริหารระดับสูงในบริษัทไมโครซอฟท์ในจีน กล่าวว่าแม้ว่าการเลิกจ้างครั้งนี้ดูเหมือนเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนด้านธุรกิจระหว่างไมโครซอฟท์กับบริษัทเอาต์ซอร์ส แต่ในความเป็นจริงแล้วสะท้อนถึงแนวโน้มเชิงลึกยิ่งกว่า นั่นคือการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรง และการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยข้อมูลที่เข้มงวดขึ้น 

ทั้งยังส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีต่างชาติเริ่มทบทวนกลยุทธ์การจ้างงานและกลไกการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านข้อมูลในจีน การเลิกจ้างพนักงานเกือบ 2,000 คนในครั้งเดียวถือว่าเกิดขึ้นไม่บ่อยในแวดวงอุตสาหกรรม และทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจลุกลามไปถึงพนักงานประจำของไมโครซอฟท์ หรือแม้แต่กระทบต่อแนวทางด้านทรัพยากรบุคคลของบริษัทต่างชาติในจีนโดยรวม

สำหรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ความท้าทายที่ต้องเผชิญคือ ตลาดแรงงานจีนในระยะสั้นไม่สามารถรองรับบุคลากรสายสนับสนุนด้านเทคนิคจำนวนมากเช่นนี้ได้ จ้าวหูกล่าวว่านี่คือช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสสำคัญในการทบทวนเส้นทางอาชีพ เสริมทักษะเชิงลึก และเพิ่มความยืดหยุ่นทั้งในด้านเทคโนโลยีและพื้นที่การทำงาน

นักลงทุนผวา!! อนาคตของอเมริกา กับ ‘วิกฤตด้านความเชื่อมั่น’ การย้ายฐานการผลิตทั้งหมดกลับประเทศ ต้องใช้ทั้ง ‘เงิน-เวลา’

(12 เม.ย. 68) Stephanie Ruhle นักวิเคราะห์ข่าวเศรษฐกิจของ NBC หนึ่งในสถานีโทรทัศน์หลักของสหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์ว่า ...  

สิ่งที่ฉันอยากจะพูดก็คือ ผ่านไปกว่าสัปดาห์แล้ว นับตั้งแต่เกิดหายนะทางการค้านี้ขึ้น และฉันได้ใช้เวลาทั้งสัปดาห์นั้นในการพูดคุยกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และสิ่งที่ฉันรู้สึกว่ามากที่สุดในคืนนี้คือความกลัว

ความกลัวที่เรากำลังเผชิญอยู่คือวิกฤตด้านความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นในตัวเราเอง ในสหรัฐอเมริกา หรือฉันไม่ได้ยินจากใครเลยในบรรดาคนที่ฉันพูดคุยด้วย คือสิ่งที่อาจฟื้นคืนความเชื่อมั่นนั้นในสหรัฐอเมริกาได้ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ตอนนี้ ใช่แล้ว ตลาดปรับตัวสูงขึ้นเมื่อวานนี้ แต่เป็นเพราะเราสามารถหลีกเลี่ยงการนำเข้าด้วยภาษีนำเข้ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกได้เท่านั้น

แต่ความจริงได้เกิดขึ้นในวันนี้แล้ว เพราะเรายังคงมีภาษีนำเข้าที่เหลือ และตลาดก็ยังคงตกต่ำ ทั้งตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นฐานที่เราใช้เจรจาการค้าไม่ได้หยั่งรากลึกในความจริง และสำหรับผู้ที่เชื่อว่าประเทศต่าง ๆ กำลังดิ้นรนเพื่อทำข้อตกลงเพราะพวกเขาตื่นตระหนกมากเกี่ยวกับภาษีนำเข้าจำนวนมหาศาล และตอนนี้ภาษีนำเข้าก็ลดลงมาก

คำถามของฉันก็คือ ข้อตกลงนั้นคืออะไร คุณคิดว่าประเทศอย่างเวียดนามสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อลบล้างการขาดดุลการค้าของเรา คุณรู้ไหมว่าคำตอบคืออะไร พวกเขาทำไม่ได้ และถ้าคุณต้องการนำการผลิตทั้งหมดของเรากลับประเทศ นั่นก็จะ... หากคุณต้องการทำสิ่งนั้นตามที่ Peter Navarro พูดถึง Howard Lutnick พูดถึง คุณต้องการทำเช่นนั้นไหม? เพราะ จะต้องใช้เงินหลายล้านล้านดอลลาร์และเวลา 20 ปีในการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกและนำทั้งหมดกลับมาผลิตในอเมริกา

และสำหรับพันธมิตรของเราในตะวันตก ประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านั้น พวกเขาไม่ได้รีบร้อนที่จะร่วมมือกับเราอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่หัวเราะออกทีวีระดับประเทศ และบอกว่า พวกเขากำลังประจบประแจงฉัน (จูบก้นฉัน) เราสามารถพูดได้อย่างปลอดภัยว่าตำแหน่งที่เราและความพิเศษเฉพาะตัวของอเมริกาเคยยึดครองไว้ แม้กระทั่งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้ลดลงอย่างแน่นอน

เรามีรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรที่บอกให้เราสร้างเล้าไก่ในสวนหลังบ้านเพราะไข่แพง เรามีรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมที่เผยแพร่ความลับทางทหารในกลุ่มแชท เราอาจกำลังไล่พนักงานของรัฐบาลออกหลายพันคนอย่างผิดกฎหมาย และตัดงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ขณะที่ซื้อสกุลเงินดิจิทัล เราสูญเสียความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจไปเป็นจำนวนมาก

แต่สิ่งที่ทำให้ฉันกลัวคือนักลงทุนทุกคนที่ฉันพูดคุยด้วย แม้แต่บางคนที่สนับสนุนประธานาธิบดีคนนี้ ต่างก็ส่งข้อความเดียวกันถึงฉันว่า หากตลาดพันธบัตรยังคงร่วงลงเรื่อย ๆ คุณก็รู้ว่ามันจะไปจบลงที่ไหน มันจะทำให้ประเทศนี้ล้มละลาย ซึ่ง โดนัลด์ ทรัมป์ รู้เรื่องนี้ดีทีเดียว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top