Saturday, 10 May 2025
World

สหรัฐฯ เพิกถอนวีซ่านักเรียนต่างชาติกว่า 300 คน กรีนการ์ดก็ไม่รอด หลังตรวจพบโพสต์โซเซียลมีเดียหนุนกลุ่มฮามาส

(8 เม.ย. 68) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐฯ ตรวจสอบกิจกรรมทางโซเชียลมีเดียของผู้สมัครวีซ่าบางราย โดยเฉพาะผู้ที่มีแนวโน้มวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ และ อิสราเอล เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีทัศนคติเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐฯ เข้าประเทศ

โดยคำสั่งดังกล่าวถูกส่งในโทรเลขถึงคณะผู้แทนทางการทูตเมื่อวันที่ 25 มีนาคม กำหนดให้เจ้าหน้าที่กงสุลส่งผู้สมัครวีซ่า นักเรียนและนักท่องเที่ยวแลกเปลี่ยนบางราย ไปที่ “หน่วยป้องกันการฉ้อโกง” เพื่อทำการตรวจสอบโซเชียลมีเดียตามข้อบังคับที่กำหนด

มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า มีนักเรียนต่างชาติอย่างน้อย 300 คนที่ถูกเพิกถอนวีซ่าในช่วงที่รัฐบาลทรัมป์ใช้มาตรการปราบปรามผู้อพยพเข้าเมือง

“เราทำแบบนั้นทุกวัน ทุกครั้งที่ผมพบคนบ้าพวกนี้ ผมก็จะยึดวีซ่าของพวกเขาไป” เขากล่าวเสริม “ผมหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะหมดวีซ่าไป เพราะเราได้กำจัดพวกเขาทั้งหมดแล้ว แต่เรายังคงตามหาคนบ้าพวกนี้ที่คอยทำลายข้าวของทุกวัน”

นอกเหนือจากผู้ถือวีซ่านักเรียนแล้ว รัฐบาลทรัมป์ยังดำเนินการกับผู้มีถิ่นพำนักถาวรอย่างถูกกฎหมาย เช่นมะห์มุด คาลิล นักเคลื่อนไหวชาวปาเลสไตน์ ที่ถูกเพิกถอนกรีนการ์ดจากผู้มีถิ่นพำนักถาวรอย่างถูกกฎหมาย 

“รัฐมนตรีต่างประเทศตัดสินใจว่ากิจกรรมในต่างประเทศของผู้สมัคร ก่อให้เกิดหรือมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติหรือต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ” รัฐบาลสหรัฐ แถลงการณ์

คำสั่งดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามนโยบายของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มุ่งเน้นการเนรเทศชาวต่างชาติที่ถูกมองว่ามี “ทัศนคติเป็นปฏิปักษ์” ต่อสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการปราบปรามสิ่งที่เขาเรียกว่า “การต่อต้านชาวยิว” โดยเฉพาะการประท้วงที่สนับสนุน “ปาเลสไตน์” ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งส่งผลให้มีการเนรเทศนักศึกษาต่างชาติที่เข้าร่วมการประท้วงดังกล่าว

ทั้งนี้ การตรวจสอบโซเชียลมีเดียของผู้สมัครวีซ่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการป้องกันการเข้าประเทศของบุคคลที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศหรือมีพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของสหรัฐฯ รวมถึงการต่อต้านพันธมิตรสำคัญอย่างอิสราเอล โดยกระบวนการตรวจสอบจะรวมถึงนักเรียนต่างชาติในสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2023 ซึ่งเป็นวันที่ฮามาสโจมตีอิสราเอล

ฟิลิปปินส์เฝ้าระวังใกล้ชิด ภูเขาไฟคันลาออนปะทุเดือด เถ้าถ่านพุ่งสูง 4 กม. มีโอกาสยกระดับการแจ้งเตือนขั้นวิกฤต

(8 เม.ย. 68) สถาบันภูเขาไฟวิทยาและแผ่นดินไหววิทยาแห่งฟิลิปปินส์ (Phivolcs) รายงานว่า ภูเขาไฟคันลาออน (Kanlaon) บนเกาะเนกรอส ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคกลางของประเทศ เกิดการปะทุขึ้นอีกครั้งในช่วงเช้าวันนี้ โดยพ่นเถ้าภูเขาไฟพุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศสูงถึงประมาณ 4 กิโลเมตร

นายเทเรซิโต บาโคลโคล ผู้อำนวยการ Phivolcs เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับเปลี่ยนระดับการเตือนภัยในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ขึ้นอยู่กับความเร็วของการเคลื่อนตัวของแมกมาสู่ผิวดิน โดยหากแมกมาเคลื่อนตัวเร็ว อาจมีการยกระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับเตือนภัยร้ายแรง แต่หากแมกมาเคลื่อนตัวช้าลงหรือหยุดนิ่ง ก็อาจลดระดับลงมาอยู่ที่ระดับ 2

ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและหน่วยงานรับมือภัยพิบัติกำลังเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงพื้นที่อันตรายและเตรียมอพยพในกรณีที่มีการปะทุรุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ ภูเขาไฟคันลาออนถือเป็นภูเขาไฟที่ยังมีพลัง (Active Volcano) ซึ่งตั้งอยู่บนรอยต่อระหว่างจังหวัดเนโกรสโอกซีเดนตัลและเนโกรสโอเรียนตัล โดยเป็นหนึ่งในภูเขาไฟมีพลังจากประมาณ 24 ลูกในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งตั้งอยู่บนแนว “วงแหวนแห่งไฟ” (Ring of Fire) ของมหาสมุทรแปซิฟิก พื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟปะทุบ่อยครั้งมากที่สุดในโลก

อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลันจากพลังของธรรมชาติ

จีนเข้มงวดควบคุมธาตุหายาก 7 ชนิด อาจสั่นคลอนห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก CEO บ.ดังมะกันชี้ เป็นการโจมตีที่แม่นยำต่อการเข้าถึงของสหรัฐฯ

เมื่อวันศุกร์ที่ (4 เม.ย. 68) จีนได้ประกาศมาตรการควบคุมการส่งออก ธาตุหายาก 7 ชนิด ที่สำคัญ โดยระบุว่าจะใช้ข้อจำกัดที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

ตามรายงานจากสำนักข่าว Reuters ธาตุหายากที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการใหม่ ได้แก่ ซาแมเรียม, แกโดลิเนียม, เทอร์เบียม, ดิสโพรเซียม, ลูทีเทียม, สแกนเดียม, และอิตเทรียม ซึ่งทั้งหมดมีความสำคัญในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงและระบบทางการทหารต่าง ๆ ตั้งแต่ ยานยนต์ไฟฟ้า, สมาร์ทโฟน, ไปจนถึง เครื่องบินขับไล่, ขีปนาวุธ, และ ดาวเทียม

จีนเป็นผู้ผลิตแร่ธาตุหายากมากถึง ร้อยละ 90 ของการผลิตทั่วโลก และเป็นผู้นำด้านอุปทานธาตุหายากที่สำคัญมาอย่างยาวนาน การประกาศควบคุมการส่งออกนี้มีศักยภาพในการทำให้ห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศที่กำลังเผชิญกับความเปราะบางจากปัจจัยภายนอกอยู่แล้ว กลายเป็นไม่มั่นคงยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาธาตุหายากเหล่านี้ในการผลิต

มาตรการควบคุมการส่งออกใหม่ของจีนอาจกระทบต่อหลายประเทศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า และ เทคโนโลยีการทหาร ที่ต้องใช้ธาตุหายากเหล่านี้ในการผลิต โดยเฉพาะในช่วงที่ความตึงเครียดทางการค้าและการเมืองระหว่างประเทศกำลังทวีความรุนแรงขึ้น

มาร์ก เอ. สมิธ ซีอีโอของ NioCorp Developments (NASDAQ:NB) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการเพื่อสร้างแหล่งจัดหาแร่ธาตุที่สำคัญภายในประเทศของสหรัฐฯ เรียกการกระทำของจีนว่าเป็น “การโจมตีที่แม่นยำ” ต่อห่วงโซ่อุปทานของกระทรวงกลาโหม

“นี่คือการโจมตีอย่างแม่นยำของจีนต่อห่วงโซ่อุปทานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ” สมิธกล่าวเมื่อวันศุกร์ “สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่โลหะเท่านั้น และหากไม่มีโลหะ ฮาร์ดแวร์ขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ก็เสี่ยงที่จะหลุดจากความเหนือกว่าไปสู่ความล้าสมัย”

เมื่อปีที่แล้ว NioCorp เริ่มสำรวจความเป็นไปได้ในการรีไซเคิลแร่ธาตุหายาก ควบคู่ไปกับความเป็นไปได้ในการรีไซเคิลแม่เหล็กแร่ธาตุหายากหลังการบริโภค เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากจีน

ขณะที่กองทัพสหรัฐฯ ยังคงปรับปรุงเทคโนโลยีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงอาวุธความเร็วเหนือเสียงและระบบดาวเทียมขั้นสูง ซึ่งการขาดการเข้าถึงองค์ประกอบเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อการจัดหาในระยะยาว

ทั้งนี้ ความตึงเครียดด้านการค้ารอบล่าสุดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯใช้มาตรการภาษีศุลกากรที่เข้มงวดยิ่งขึ้นและเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนถึง 54 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนมีนาคมทรัมป์ ใช้อำนาจในช่วงสงครามภายใต้พระราชบัญญัติการผลิตเพื่อการป้องกันประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการพึ่งพาแร่ธาตุสำคัญจากต่างประเทศของประเทศ

สื่อแฉ ‘มัสก์’ ขอร้อง ‘ทรัมป์’ ไม่สำเร็จ หวังให้ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้า ที่ทำหุ้น Tesla ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ดิ่งกว่า 42% นับตั้งแต่ต้นปี

(8 เม.ย. 68) สำนักข่าววอชิงตันโพสต์รายงานว่า อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทสลาและหนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลแห่งวงการเทคโนโลยีระดับโลก ได้ร้องขอโดยตรงต่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ให้ยกเลิกนโยบายการเก็บภาษีนำเข้าระดับสูง ซึ่งเป็นมาตรการตอบโต้ต่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ แต่ไม่เป็นผล

แหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า บทสนทนาระหว่างสองผู้นำทางธุรกิจและการเมืองในครั้งนี้มีความตึงเครียดอย่างชัดเจน และอาจนับเป็นรอยร้าวสำคัญระหว่างมัสก์ ผู้เคยให้การสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจเสรี กับทรัมป์ ผู้เดินหน้าดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าอย่างแข็งกร้าว

การเจรจาระหว่างทั้งสองเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรขั้นต่ำ 10% สำหรับสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าสหรัฐฯ โดยมีบางประเทศที่อาจถูกรีดภาษีเพิ่มขึ้นในระดับสูงเป็นพิเศษ

โดยก่อนหน้านี้ อีลอน มัสก์ ได้ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ และยุโรป ยกเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกัน โดยเขาย้ำว่า ภาษีนำเข้า ของสหรัฐฯ กำลังสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจของเขาเอง

คำเรียกร้องของมัสก์เกิดขึ้นในช่วงการปรากฏตัวผ่านวิดีโอคอลในการประชุมของพรรค League ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลฝ่ายขวาของอิตาลี ที่จัดขึ้นในเมืองฟลอเรนซ์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

มัสก์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังกล่าวอีกว่า การจัดเก็บภาษีศุลกากรระหว่างประเทศที่เป็นพันธมิตร เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ถือเป็นอุปสรรคทางเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็น และควรมีการ ลดลงเหลือศูนย์ เพื่อช่วยลดต้นทุนและกระตุ้นการเติบโต

การเรียกร้องครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันอย่างหนักในบริษัทของเขาเอง หลังจาก ยอดขายรายไตรมาสของ Tesla ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์ที่กำหนดอัตราขั้นต่ำ 10% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมด รวมถึงรถยนต์จากยุโรป

ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของทรัมป์ ออกมาปฏิเสธแนวคิดของ มัสก์ ในวันจันทร์ (7 เม.ย.) พร้อมระบุว่าไม่แปลกใจที่ได้ยินข้อเสนอเช่นนี้จาก “เจ้าของโรงงานประกอบรถยนต์” 

เนื่องจากหุ้น Tesla ของอีลอน มัสก์ ปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ที่ราคา 233.29 ดอลลาร์ต่อหุ้น ซึ่งลดลงกว่า 42% นับตั้งแต่ต้นปี สะท้อนความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่อทิศทางธุรกิจในอนาคต

ขณะเดียวกัน มัสก์กำลังถูกจับตามองจากบทบาทใหม่ในฐานะผู้ก่อตั้ง “แผนกประสิทธิภาพรัฐบาล” ซึ่งมีเป้าหมายในการลดการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับถูกวิจารณ์ว่ากลยุทธ์ของเขาอาจไม่ตอบโจทย์ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนในปัจจุบัน

นักเศรษฐศาสตร์หลายรายเตือนว่า การขึ้นภาษีนำเข้าอาจทำให้เกิดเงินเฟ้ออีกระลอก เพิ่มภาระค่าครองชีพให้กับครอบครัวชาวอเมริกัน โดยบางครัวเรือนอาจต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มหลายพันดอลลาร์ต่อปี พร้อมเตือนว่าหากดำเนินต่อไป นโยบายนี้อาจเป็นหนึ่งในตัวจุดชนวนของภาวะ เศรษฐกิจถดถอย ในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ แม้มัสก์จะเคยสนับสนุนทรัมป์ในหลายโอกาส แต่ความเห็นต่างครั้งนี้สะท้อนถึงความตึงเครียดภายในกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อการกำหนดนโยบายในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ

‘อีลอน มัสก์’ เดือดจวกที่ปรึกษาการค้าของทรัมป์เป็น ‘คนโง่’ ปมวิจารณ์มัสก์ไม่ใช่ผู้ผลิต Tesla แต่เป็นเพียงผู้ประกอบเท่านั้น

(9 เม.ย. 68) สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีและวิศวกรผู้เป็นเจ้าของบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสุดล้ำอย่าง Tesla เรียกที่ปรึกษาการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่าง ปีเตอร์ นาวาร์โร ว่าเป็น “คนโง่” จากความคิดเห็นที่เขาแสดงออกมาเกี่ยวกับบริษัท Tesla

มัสก์ ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐบาลทรัมป์ โพสต์บนแพลตฟอร์ม X โซเชียลมีเดียของเขาเองว่า “Tesla มีรถยนต์ที่ผลิตในอเมริกามากที่สุด ส่วนนาวาร์โรนั้น โง่กว่ากระสอบอิฐ” ซึ่งเป็นการตอบรับการให้สัมภาษณ์ของนาวาร์โรที่วิจารณ์มัสก์ว่า “(เขา) ไม่ใช่ผู้ผลิตยานยนต์ เขาเป็นเพียงผู้ประกอบรถยนต์ในหลายๆ กรณี” นาวาร์โรกล่าว

โดยก่อนหน้านี้ นาวาร์โรสัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายภาษีศุลกากรครั้งใหญ่ของทรัมป์ และกล่าวว่าในอนาคตเขาต้องการเห็นชิ้นส่วนต่างๆ ผลิตในสหรัฐฯ แต่มัสก์ซึ่งเคยแสดงท่าทีคัดค้านนโยบายการค้าของทำเนียบขาว กล่าวว่าคำกล่าวอ้างของนาวาร์โรเกี่ยวกับเทสลานั้น “เป็นเท็จอย่างชัดเจน”

การทะเลาะวิวาทครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณความขัดแย้งต่อสาธารณะมากที่สุดระหว่างทีมการค้าของทรัมป์กับมัสก์ ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกและเป็นหัวหน้าแผนกประสิทธิภาพของรัฐบาล (Doge) ซึ่งมีหน้าที่ในการลดขนาดและการใช้จ่ายของรัฐบาลกลาง

ต่อมาในวันอังคาร แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว ถูกถามถึงการโต้เถียงระหว่างมัสก์และนาวาร์โร เธอบอกกับนักข่าวว่า “เห็นได้ชัดว่าทั้งสองคนมีมุมมองที่แตกต่างกันมากในเรื่องการค้าและภาษีศุลกากร”

“เด็กผู้ชายก็คือเด็กผู้ชาย และเราจะปล่อยให้พวกเขาสู้กันต่อในที่สาธารณะต่อไป” ลีวิตต์กล่าว

ทรัมป์ได้ให้เหตุผลบางส่วนในการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก โดยกล่าวว่าเขาต้องการฟื้นการผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งที่นาวาร์โรได้หยิบยกขึ้นมาในระหว่างการปรากฏตัวทางสถานีข่าว CNBC เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา 

“หากคุณมองไปที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของเรา ถูกต้องแล้ว ตอนนี้เราเป็นสายการประกอบเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังของเยอรมัน เรากำลังจะไปถึงจุดที่อเมริกาผลิตสิ่งของต่างๆ อีกครั้ง ค่าจ้างที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้น กำไรจะเพิ่มขึ้น” นาวาร์โรกล่าว

แดน ไอฟส์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีกล่าวว่าบริษัทมีความเสี่ยงต่อภาษีศุลกากรน้อยกว่าผู้ผลิตยานยนต์รายอื่นๆ ในสหรัฐฯ เช่น GM, Ford และ Stellantis พร้อมอ้างว่าบริษัทจัดหาชิ้นส่วนส่วนใหญ่จากนอกสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะจีน

“ภาษีในรูปแบบปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อ Tesla และห่วงโซ่อุปทานโดยรวม สำหรับฐานการดำเนินงานทั่วโลก ซึ่งนับเป็นข้อได้เปรียบที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่กำลังเติบโต เช่น BYD ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” เขากล่าว

ด้าน เจฟฟรีย์ ซอนเนนเฟลด์ คณบดีและศาสตราจารย์ของ Yale School of Management ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานพบปะผู้บริหารธุรกิจในกรุงวอชิงตันเมื่อเดือนที่แล้ว กล่าวว่า มัสก์กำลังแสดงออกถึงสิ่งที่ CEO ชาวอเมริกันหลายคนคิดแต่ลังเลที่จะพูดต่อสาธารณะเกี่ยวกับนโยบายการค้าของทรัมป์

“79% คือคนที่บอกว่าพวกเขารู้สึกอายต่อหน้าพันธมิตรระหว่างประเทศ และ 89% บอกว่าเรื่องนี้ทำให้เราเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยไม่จำเป็น และมีนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด” นายซอนเนนเฟลด์กล่าวกับ BBC โดยอ้างถึงการสำรวจที่จัดทำขึ้นในงานที่เขาเป็นเจ้าภาพ

ขณะที่ บิล อัคแมน ผู้จัดการกองทุนมหาเศรษฐี ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์อีกรายหนึ่ง ได้เรียกร้องให้หยุดการจัดเก็บภาษีศุลกากร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด “ผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก”

‘ปีเตอร์ นาวาร์โร’ ที่ปรึกษาทรัมป์ ปัดตกข้อเสนอของเวียดนาม แม้ยื่นลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 0% ก็ยังไม่พอ แนะต้องแก้ที่ ‘กลโกงทางการค้า’

(9 เม.ย. 68) ความพยายามของเวียดนามในการเสนอให้ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 46% จากรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนจะไม่เป็นผล 

เมื่อปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการค้าของทำเนียบขาว ออกมาตอบโต้ด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า ข้อเสนอของเวียดนาม “ไม่มีความหมายอะไรเลย”

ความคิดเห็นของนาวาร์โรมีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เปิดเผยผ่านโพสต์ในแพลตฟอร์ม Truth Social เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ว่า โต เลิม เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ได้เสนอให้เวียดนามลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0% เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีใหม่จากสหรัฐฯ

ต่อมาในการให้สัมภาษณ์กับ CNBC เมื่อวันจันทร์ นาวาร์โรไม่เพียงแค่ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว แต่ยังกล่าวหาว่าเวียดนามใช้ “กลโกงทางการค้า” หลายรูปแบบ เช่น การเปิดช่องให้จีนหลบเลี่ยงภาษีศุลกากรโดยส่งสินค้าผ่านเวียดนาม การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้านำเข้า

“ดูอย่างเวียดนาม เมื่อพวกเขาเสนอจะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกันทั้งหมด สำหรับเราแล้วข้อเสนอนี้ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง” นาวาร์โรกล่าวอย่างตรงไปตรงมา พร้อมเสริมว่า “ทุกประเทศโกงเรา แค่วิธีต่างกันเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม นาวาร์โรได้ “ปรับน้ำเสียง” เล็กน้อยในช่วงท้ายของบทสัมภาษณ์ โดยยอมรับว่าข้อเสนอของเวียดนามอาจถือเป็น “การเริ่มต้นเล็กๆ น้อยๆ” แต่ยังห่างไกลจากการสร้างความน่าเชื่อถือหรือแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นอุปสรรคในการค้าระหว่างสองประเทศ

คำให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ตอกย้ำแนวทางการค้าที่แข็งกร้าวของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งยังคงมุ่งเน้นการกดดันประเทศคู่ค้าให้ลดความไม่สมดุลทางการค้า และเตือนเวียดนามว่าการยื่นข้อเสนอเพียงผิวเผินอาจไม่เพียงพอในการหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีที่เข้มงวดจากวอชิงตัน

‘เนทันยาฮู-ทรัมป์’ จับมือสกัดนิวเคลียร์อิหร่าน หากยังดื้อเดินหน้าโครงการต่อ ชี้ทางเลือกสุดท้ายคงต้องใช้กำลัง

(9 เม.ย. 68) นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ออกแถลงการณ์อย่างแข็งกร้าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ภายหลังการหารือร่วมกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาว โดยทั้งสองผู้นำยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันว่า “อิหร่านจะต้องไม่มีวันครอบครองอาวุธนิวเคลียร์”

เนทันยาฮูเปิดเผยว่า มีการพูดคุยอย่างละเอียดเกี่ยวกับแนวทางจัดการโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะต้องมีการทำ “ข้อตกลงใหม่” ซึ่งสหรัฐฯ จะมีบทบาทหลักในการ เข้าไปควบคุม ทำลาย และรื้อถอน เครื่องมือ อุปกรณ์ และสถานที่ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่าน

“ข้อตกลงนี้ไม่ใช่แค่เอกสาร แต่คือการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านเข้าใกล้อาวุธนิวเคลียร์แม้แต่น้อย” เนทันยาฮูกล่าว

เนทันยาฮูยังเน้นว่า หากอิหร่านไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว “ก็จะไม่เหลือทางเลือกมากนัก นอกจากต้องใช้ปฏิบัติการทางทหาร” ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ทุกฝ่ายเข้าใจดี” ถึงความจำเป็นในกรณีที่การเจรจาล้มเหลว

แม้ยังไม่มีรายละเอียดอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว แต่ท่าทีของทั้งทรัมป์และเนทันยาฮูส่งสัญญาณชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์ต่ออิหร่านจะกลับมาแข็งกร้าวอีกครั้ง ภายใต้ความร่วมมือของสหรัฐฯ และอิสราเอล

ขณะที่ สตีฟ วิทคอฟฟ์ ทูตพิเศษของทรัมป์ จะนำคณะผู้แทนสหรัฐฯ เข้าร่วมเจรจากับอิหร่านในวันเสาร์นี้ที่ประเทศโอมาน ตามรายงานของ Axios เมื่อวันอังคารโดยอ้างแหล่งข่าวสองรายที่ทราบแผนดังกล่าว

รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับวิทคอฟฟ์ ผู้ซึ่งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทางการทูต มากกว่าไมเคิล วอลท์ซ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติผู้มีท่าทีแข็งกร้าว และมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ ผู้ซึ่ง “มีความสงสัย” ต่อกระบวนการทางการทูตของสหรัฐฯ 

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า แผนดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายที่จะร่วมมือกับอิหร่านโดยตรง โดยความคิดริเริ่มทางการทูตเริ่มต้นเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่อทรัมป์ส่งจดหมายถึงอาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน โดยให้เวลาเตหะรานสองเดือนในการบรรลุข้อตกลง

เมื่อวันจันทร์ ทรัมป์กล่าวว่าการเจรจาเป็น “ผลประโยชน์สูงสุดของอิหร่าน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าจะใช้มาตรการทางทหารหากการเจรจาล้มเหลว พร้อมเตือนว่าเตหะราน “จะตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่ง” หากไม่มีข้อตกลง 

ด้าน อับบาส อาราฆชี รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของอิหร่าน ยอมรับถึงความเสี่ยงที่สูง โดยกล่าวในโซเชียลมีเดียเมื่อวันอังคารว่า “มันเป็นทั้งโอกาสและการทดสอบ ลูกบอลอยู่ในสนามของอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

อินเดียปิดประตูใส่ BYD หวั่นโดนทุ่มตลาดจากจีน แต่เปิดช่องเจรจา Tesla ตั้งโรงงาน ดึงดูดทุนสหรัฐฯ

(9 เม.ย. 68) รัฐบาลอินเดียได้ตัดสินใจ จำกัดการเข้าถึงตลาด สำหรับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีนอย่าง BYD Co. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้าน EV ของโลก ท่ามกลางความพยายามของอินเดียในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทคู่แข่งสัญชาติอเมริกันอย่าง Tesla Inc.

แหล่งข่าวจากภาครัฐระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเวลาที่ Tesla กำลังพิจารณาการตั้งฐานการผลิตในอินเดีย ซึ่งทางรัฐบาลได้แสดงความตั้งใจอย่างชัดเจนในการอำนวยความสะดวกและเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับบริษัทของอีลอน มัสก์ ในขณะที่บริษัทจีนอย่าง BYD กลับถูก 'ควบคุมและจำกัด' มากขึ้นในด้านการเข้าถึงตลาดและการขยายกิจการ

การเคลื่อนไหวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลด้านความมั่นคงระดับชาติของอินเดียที่ยังคงมีต่อจีน แม้ในช่วงหลังความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะมีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้น โดยเฉพาะในเวทีการทูตระดับภูมิภาค

“รัฐบาลอินเดียยังคงระมัดระวังอย่างมากกับการลงทุนจากจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์อย่างยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีองค์ประกอบด้านเทคโนโลยีและข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญ” พียูช โกยาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ท่าทีดังกล่าว สะท้อนแนวทางปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศที่แข็งแกร่งมากขึ้น โดยอินเดียได้กำหนด ภาษีนำเข้ารถยนต์ที่ประกอบสำเร็จรูป (CBU) ไว้สูงถึง 100% ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอัตราภาษีนำเข้าที่ 'สูงที่สุด' ในบรรดาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วโลก

“นโยบายนี้เป็นเครื่องมือในการปกป้องผู้ผลิตรถยนต์ภายในประเทศ พร้อมทั้งผลักดันให้นักลงทุนต่างชาติสร้างฐานการผลิตภายในอินเดีย แทนการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป” นักวิเคราะห์จากมุมไบให้ความเห็น

อย่างไรก็ดี อินเดียถือเป็นหนึ่งในตลาด EV ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก และกำลังกลายเป็นจุดหมายสำคัญของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับโลก ท่ามกลางนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาดของนายกฯ อินเดีย นเรนทรา โมดีแต่การจัดการสมดุลระหว่างความมั่นคงและการลงทุนต่างชาติยังคงเป็นโจทย์ท้าทาย

ทั้งนี้ การตัดสินใจเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในปีที่แล้วนิวเดลีได้ปฏิเสธข้อเสนอการลงทุนมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 36,000 ล้านบาท) จาก BYD ที่ร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่น 

นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากจีนรายอื่นอย่าง Great Wall Motor Co. ขอถอนตัวออกจากอินเดียหลังจากไม่สามารถขอรับการอนุมัติที่จําเป็นจากหน่วยงานกํากับดูแลได้ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่บริษัทจีนต้องเผชิญในการพยายามเข้าสู่หรือขยายธุรกิจในตลาดอินเดีย

ในขณะที่อินเดียยังคงรักษาจุดยืนที่ระมัดระวังต่อการลงทุนจากจีน และกําลังแสวงหาความร่วมมือที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัทอเมริกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Tesla Inc อย่างไรก็ตามรายละเอียดของข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างอินเดียและ Tesla ยังไม่ได้รับการเปิดเผย

ขณะที่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอินเดียอย่าง Tata Motors และ Mahindra & Mahindra สามารถเติบโตได้ดี โดยก่อนหน้านี้พวกเขาต่างคัดค้านการผ่อนปรนภาษีนำเข้า เนื่องจากเกรงว่าจะเปิดทางให้ผู้เล่นต่างชาติเข้ามาทำตลาดในราคาที่แข่งขันได้ยากสำหรับผู้ผลิตท้องถิ่น

ประธานอาเซียน วอนสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผนึกกำลัง ย้ำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว รับมือภาษีศุลกากรสุดโหดจากสหรัฐฯ

(9 เม.ย. 68) นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและประธานอาเซียนประจำปี 2568 ได้แถลงเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเรียกภาษีศุลกากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการดำเนินนโยบายการค้าโดย ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งได้ใช้มาตรการภาษีศุลกากรที่เข้มงวดต่อสินค้าจากหลายประเทศ 

ในคำแถลงที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายอันวาร์กล่าวว่า “อาเซียนต้องยืนหยัดในฐานะกลุ่มที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการเผชิญกับนโยบายการค้าและภาษีศุลกากรที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศภายนอก” 

เขายังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการ “ระลึกถึงประวัติศาสตร์ที่ประเทศในอาเซียนมีร่วมกัน” และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวที่มีความสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ร่วมของภูมิภาคในยุคที่การค้าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับการดำเนินนโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์ ถูกมองว่าเป็นการสร้างอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ และได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศ รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะในด้านการส่งออกสินค้าทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

นายอันวาร์กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวของสหรัฐฯ มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน โดยการหักหลังนโยบายการค้าเสรีจากบางประเทศจะทำให้การค้าระหว่างประเทศ ที่เคยเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ทั้งนี้ อาเซียนถือเป็น ผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่เป็นอันดับ 4 ไปยังสหรัฐฯ รองจากแคนาดา เม็กซิโก และจีน โดยในปี 2566 มูลค่าการค้ารวมกับสหรัฐฯ สูงถึง 3.96 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 11.2% ของการค้าทั้งหมดของอาเซียนกับทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ ในปัจจุบันมีผลกระทบอย่างมากต่อบางประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะ กัมพูชา ซึ่งเผชิญภาษีศุลกากรสูงถึง 49% ขณะที่ ลาว และ เวียดนาม ต้องเผชิญภาษีที่ 48% และ 46% ตามลำดับ ขณะที่ มาเลเซีย เองก็ไม่รอดจากการเก็บภาษีที่สูงถึง 24% จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

ปักกิ่งโต้เดือด ‘ไม่ยอมอยู่ใต้การแบล็กเมล์’ หลังสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าจีน 104% ทำเนียบขาวเตือนอย่าตอบโต้ทรัมป์ ชี้ผู้นำสหรัฐฯ จะไม่ยอมอ่อนข้อแม้แต่น้อย

(9 เม.ย. 68) ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนพุ่งขึ้นอีกระลอก หลังจากที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 50% เพื่อโต้ตอบการตอบโต้จากปักกิ่ง ส่งผลให้ภาษีนำเข้าสินค้าจีนรวมจากฝั่งสหรัฐฯ พุ่งแตะ 104% อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ทรัมป์ให้เหตุผลว่า จีนยังคงใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม และการตอบโต้ที่ผ่านมาจากปักกิ่งเป็น “การท้าทายอย่างชัดเจน” ต่ออำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยแถลงว่า “จีนเล่นเกมนี้มานานเกินไปแล้ว ถึงเวลาที่สหรัฐฯ ต้องยืนหยัดและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ”

แม้จะถูกกดดันอย่างหนักจากฝั่งวอชิงตัน แต่ปักกิ่งยืนยันว่าจะไม่ยอมอ่อนข้อต่อสิ่งที่ระบุว่าเป็น 'การแบล็กเมล์ทางเศรษฐกิจ' และมองว่าการกระทำของสหรัฐฯ เป็นการใช้อำนาจฝ่ายเดียวและกีดกันทางการค้า

ในการสนทนาทางโทรศัพท์กับ อูร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีนระบุว่า “จีนมีเครื่องมือทางนโยบายที่เพียงพอในการรับมือกับแรงกระแทกจากภายนอก และยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”

นอกจากนี้ หลี่เฉียงยังเน้นย้ำว่า การตอบโต้ของจีน ไม่ใช่เพียงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น แต่รวมถึงการปกป้องกฎกติกาการค้าในระดับสากล ที่ทุกประเทศควรยึดถือร่วมกัน

ขณะที่ แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว ออกมาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมอ่อนข้อ และระบุว่าจีนกำลัง 'ทำพลาดอย่างหนัก' ด้วยการตอบโต้สหรัฐฯ

“ประเทศต่างๆ เช่น จีน ซึ่งเลือกที่จะตอบโต้และพยายามเพิ่มโทษต่อการปฏิบัติต่อคนงานชาวอเมริกันอย่างไม่เป็นธรรม และกำลังทำผิดพลาด”

ลีวิตต์ กล่าวอีกว่า ประธานาธิบดีทรัมป์มีความแข็งแกร่ง และจะไม่มีวันแตกหัก พร้อมยืนยันว่า การตัดสินใจทางการค้าของผู้นำสหรัฐฯ มุ่งเน้นไปที่การปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานและเศรษฐกิจอเมริกัน ซึ่งจีนต้องการทำข้อตกลง กับสหรัฐฯ แต่ “ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร" และปฏิเสธที่จะเปิดเผยเงื่อนไขใด ๆ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์อาจพิจารณา เพื่อผ่อนคลายมาตรการภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ มาตรการภาษีล่าสุดของทรัมป์มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งในฝั่งผู้ผลิตจีน และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยเฉพาะบริษัทสหรัฐฯ ที่พึ่งพาสินค้าและชิ้นส่วนจากจีน อาจต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นักวิเคราะห์ชี้ว่า การเดินหน้าเพิ่มกำแพงภาษีต่อจีนเป็นสัญญาณว่า สหรัฐฯ พร้อมเปิดศึกการค้าเต็มรูปแบบ และคาดว่าปักกิ่งจะตอบโต้กลับอีกระลอกในไม่ช้า


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top