Thursday, 15 May 2025
World

ทรัมป์จ่อเชือดนายพลชุดใหญ่ หลังถูกนายทหารวิจารณ์เป็นฟาสซิสต์

เมื่อวันที่ (13 พ.ย.67) รอยเตอร์รายงานว่า ทีมเปลี่ยนผ่านอำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ กำลังจัดทำรายชื่อนายทหารที่จะถูกปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งอาจรวมถึงคณะเสนาธิการร่วม หากดำเนินการจริง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

แหล่งข่าววงในเผยว่า การวางแผนปลดบุคลากรทางทหารเริ่มขึ้นหลังจากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน โดยอาจมีการปรับแผนอีกครั้งเมื่อคณะบริหารใหม่เริ่มทำงานอย่างเป็นทางการ

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยวิจารณ์ผู้นำกลาโหมที่ไม่เห็นด้วยกับเขา และระหว่างการหาเสียงยังเคยกล่าวว่าจะปลดนายพล 'สายโว้ก' รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการถอนทหารจากอัฟกานิสถานเมื่อปี 2564

รายงานระบุว่าคณะบริหารชุดใหม่มุ่งเป้าไปที่นายทหารที่เกี่ยวข้องกับมาร์ก มิลลีย์ อดีตประธานคณะเสนาธิการร่วม โดยมิลลีย์เคยกล่าวในหนังสือ *War* ของบ็อบ วู้ดเวิร์ด ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนที่ผ่านมา ว่าเขาเรียกทรัมป์ว่า 'เป็นพวกนิสัยฟาสซิสต์'

แหล่งข่าวอีกรายกล่าวว่า “ทุกคนที่มิลลีย์เคยเลื่อนขั้นจะต้องพ้นจากตำแหน่ง และเรามีรายชื่อของบุคคลเหล่านี้ทั้งหมด”

หนึ่งวันก่อนการเปิดเผยแผนนี้ ทรัมป์ได้แต่งตั้งพีท เฮกเซธ อดีตทหารผ่านศึกและผู้ร่วมวิเคราะห์ข่าวจากฟ็อกซ์นิวส์ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม เฮกเซธเองได้เรียกร้องให้ปฏิรูปเพนตากอนในหนังสือ The War on Warriors: Behind the Betrayal of the Men Who Keep Us Free ที่ตีพิมพ์ในปีนี้

เฮกเซธยังวิจารณ์การแต่งตั้งพลอากาศเอก ซี.คิว. บราวน์ โดยกล่าวหาว่าเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุผลทางเชื้อชาติ แหล่งข่าวระบุว่าบราวน์อาจเป็นหนึ่งในนายทหารที่ถูกปลดด้วย พร้อมยืนยันว่า “ประธานและรองประธานคณะเสนาธิการร่วมจะถูกปลดทันที”

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ หลายฝ่ายแสดงความกังวลต่อการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ท่ามกลางสถานการณ์สงครามในยูเครนและตะวันออกกลาง แม้ว่าบางแหล่งมองว่าเป็นการแสดงท่าทีทางการเมือง แต่กลุ่มสนับสนุนทรัมป์เชื่อว่าเป็นการจำเป็นเพื่อลดขนาดของคณะเสนาธิการร่วมที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต

สีจิ้นผิง จะพบ ไบเดน เจอกันครั้งสุดท้าย นอกรอบประชุมเอเปค

(15 พ.ย. 67)ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ในวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะถือเป็นการพบกันครั้งสุดท้ายก่อนที่ไบเดนจะลงจากตำแหน่ง

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ผู้นำทั้งสองจะหารือประเด็นสำคัญระดับโลกหลายเรื่อง รวมถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยการพบปะจะจัดนอกรอบการประชุมเอเปค (APEC) ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู แม้ว่าจะยังไม่ได้ระบุเวลาที่ชัดเจน

รอยเตอร์รายงานว่านี่จะเป็นการพบกันแบบตัวต่อตัวครั้งแรกของไบเดนและสี นับตั้งแต่การสนทนาทางโทรศัพท์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายพยายามควบคุมคือความตึงเครียดเรื่องไต้หวัน, ทะเลจีนใต้, และความสัมพันธ์กับรัสเซีย นอกจากนี้ ไบเดนยังคาดว่าจะขอความร่วมมือจากจีนในการปราบปรามการผลิตเฟนทานิล ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการใช้ยาเกินขนาดในสหรัฐฯ เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตส่วนผสมหลักในการผลิตยานี้

ซัลลิแวนเผยว่า ไบเดนจะหยิบยกประเด็นการแฮ็กข้อมูลส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับจีน

นอกจากนี้ ไบเดนจะหารือถึงการสนับสนุนของจีนต่อรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครน รวมถึงการที่เกาหลีเหนือส่งทหารกว่า 10,000 นายไปช่วยรัสเซีย

อเมริกันแห่แบน X หลังมักส์ร่วมครม.ทรัมป์ หันใช้ Bluesky แทน

(15 พ.ย. 67) หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชาวอเมริกันกว่า 115,000 รายพากันยกเลิกบัญชี X และหันไปใช้ Bluesky แทน ท่ามกลางความกังวลเรื่องการแพร่กระจายข้อมูลเท็จและข้อกำหนดการใช้งานใหม่ของ X ที่อาจทำให้เกิดปัญหาทางกฎหมาย โดย Bluesky มีจำนวนผู้ใช้ใหม่เพิ่มขึ้นถึง 2.5 ล้านคนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ยอดรวมผู้ใช้งานทะลุ 16 ล้านคน 

Bluesky ซึ่งก่อตั้งโดยแจ็ค ดอร์ซีย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Twitter เน้นการเป็นแพลตฟอร์มแบบกระจายศูนย์ที่ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ผู้ใช้สามารถโพสต์ข้อความ รูปภาพ และโต้ตอบกับผู้อื่นได้คล้ายกับ X 

ความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของ Bluesky เกิดขึ้นหลังจากที่องค์กรและบุคคลสำคัญ เช่น สำนักข่าว The Guardian และอดีตผู้ประกาศข่าว CNN ดอน เลมอน ประกาศเลิกใช้ X เนื่องจากกังวลเรื่องการควบคุมเนื้อหาที่หละหลวม การแพร่กระจายข้อมูลเท็จในช่วงเลือกตั้ง และการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดการให้บริการใหม่ของ X ที่อาจส่งผลต่อข้อกฎหมาย 

แม้ Bluesky จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้ใช้รวมยังตามหลัง Threads ซึ่งมีผู้ใช้งานรายเดือน 252 ล้านคน และ X ที่มีผู้ใช้งาน 317 ล้านคน นักวิเคราะห์เชื่อว่า X ยังคงมีความได้เปรียบในฐานะช่องทางสื่อสารสำคัญของทรัมป์ ซึ่งมีอิทธิพลด้านเครือข่าย ทำให้การเติบโตของแพลตฟอร์มใหม่อย่าง Bluesky เป็นเรื่องที่ท้าทาย

3 ใน 4 มหาวิทยาลัยอังกฤษวิกฤต เหตุค่าเทอมแพง นศ.ต่างชาติแห่ไปเรียนที่อื่น

(15 พ.ย. 67) หน่วยงานกำกับดูแลการศึกษาระดับสูงเตือนให้มหาวิทยาลัยต้อง ‘เร่งดำเนินการ’ และพิจารณาการควบรวมกิจการหรือแบ่งปันต้นทุนเพื่อความอยู่รอดของสถาบันการศึกษา

มหาวิทยาลัยในอังกฤษกำลังเผชิญวิกฤติทางการเงิน โดยเกือบ3 ใน 4 คาดว่าจะประสบปัญหาขาดทุนในปีหน้า จากการคาดการณ์ของสำนักงานกำกับดูแลการศึกษาระดับสูง (OfS)

ข้อมูลจากสำนักงาน OfS ระบุว่า ในภาคการศึกษาหน้าหลายสถาบันจำเป็นต้องดำเนินการอย่าง 'กล้าหาญและเปลี่ยนแปลง' เพื่อชดเชยรายได้ที่คาดว่าจะลดลงถึง 3.4 พันล้านปอนด์ในปี 2025-26 ซึ่งมหาวิทยาลัยอาจต้องพิจารณาการควบรวมกิจการหรือการแบ่งปันต้นทุนระหว่างกัน

เซอร์เดวิด เบฮาน ประธาน OfS กล่าวว่า มหาวิทยาลัยควรทำงานร่วมกันให้มากขึ้น เช่น ไม่จำเป็นต้องมีการเปิดสอนหลักสูตรซ้ำซ้อนกันในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน "การที่มหาวิทยาลัยในเมืองเดียวกัน หรือภูมิภาคเดียวกัน แข่งขันกันในด้านหลักสูตรที่เปิดสอนนั้นไม่เหมาะสม" 

การตัดสินใจของรัฐบาลที่จะเพิ่มค่าเล่าเรียนสำหรับนักศึกษาภายในประเทศอีก 285 ปอนด์ เป็น 9,535 ปอนด์ต่อปี จะเพิ่มรายได้ 371 ล้านปอนด์ แต่การจ่ายเงินประกันแห่งชาติที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้รายได้ลดลง 430 ล้านปอนด์ ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 โดยการปรับเพิ่มครั้งนี้เป็นผลพวงมาจากภาวะเงินเฟ้อ

โจ เกรดี้ เลขาธิการสหภาพการศึกษามหาวิทยาลัยและวิทยาลัยกล่าวว่า "การเพิ่มค่าเล่าเรียนที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน"

ซูซาน แลพเวิร์ธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ OfS กล่าวว่า รายงานความยั่งยืนทางการเงินของมหาวิทยาลัยแสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่พวกเขากำลังเผชิญในอนาคต

"ฉันทราบว่ามหาวิทยาลัยรับรู้ถึงความเสี่ยงเหล่านี้และกำลังพยายามหาวิธีแก้ไข การแข่งขันในการรับสมัครนักศึกษาในสหราชอาณาจักรที่เข้มข้นขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยบางแห่งเสียเปรียบ และต้องปรับแผนการรับนักศึกษาเสียใหม่ อีกทั้งการลดลงอย่างรวดเร็วของการสมัครวีซ่านักศึกษาต่างชาติก็ส่งผลกระทบอย่างมากเช่นกัน" แลพเวิร์ธกล่าว

ตัวเลขที่เผยแพร่โดยกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนวีซ่านักศึกษาต่างชาติของอังกฤษในปีนี้ลดลง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของวปี 2023 ขณะที่ OfS คาดว่านักศึกษาระดับปริญญาตรีในสหราชอาณาจักรจะมีจำนวนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

รายงานจาก OfS ยังแสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่เน้นการวิจัย เช่น กลุ่มรัสเซล (Russell Group) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สวนทางขณะที่มหาวิทยาลัยขนาดเล็กหรือมหาวิทยาลัยที่พึ่งพารายได้จากการสอนกำลังประสบปัญหาด้านเงินทุน

การคาดการณ์ของ OfS ชี้ว่า 72% ของสถาบันการศึกษาระดับสูงอาจอยู่ในภาวะขาดทุนภายในปี 2025-26 และ 40% อาจมีเงินสดสำรองไม่ถึง 30 วัน

รายงานของ OfS สอดคล้องกับรายงานข่าวจากเอเอฟพี ที่ระบุว่า ในปี 2020 มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรมีนักศึกษาต่างชาติลงทะเบียนเรียนเกือบ 760,000 คน โดยนักศึกษาส่วนใหญ่มาจากประเทศอินเดีย, จีน และไนจีเรีย อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นมา จำนวนวีซ่านักศึกษาได้ลดลงถึง 5% และระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนที่ผ่านมา คำร้องยื่นขอวีซ่านักศึกษาสำหรับสหราชอาณาจักรลดลงถึง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

การลดลงของจำนวนนักศึกษาต่างชาติเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่งเกิดความกังวล เนื่องจากนักศึกษาต่างชาติเป็นกลุ่มที่จ่ายค่าเล่าเรียนสูงกว่านักศึกษาชาวอังกฤษ

องค์กร Universities UK หรือ 'UUK' ซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา 141 แห่งของสหราชอาณาจักร ออกมาเตือนในที่ประชุมเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า เงินทุนต่อนักศึกษาอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2547 โดยทุกมหาวิทยาลัยรู้สึกถึง 'วิกฤติทางการเงิน' อย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ในกรุงลอนดอนเริ่มใช้ข้อจำกัดการออกวีซ่านักศึกษาเมื่อปีที่แล้ว

สีจิ้นผิงถึงเปรู เปิดฉากประชุมเอเปค จับตาหารือครั้งสุดท้ายกับไบเดน

(15 พ.ย. 67) 'สีจิ้นผิง' ประธานาธิบดีจีน ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากกัสตาโว เอเดรียนเซน นายกรัฐมนตรีเปรู และคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสคนอื่นๆ ขณะเดินทางถึงฐานทัพอากาศกายาโอในกรุงลิมา เมืองหลวงของเปรู เมื่อวันพฤหัสบดี (14 พ.ย.) ที่ผ่านมา

สีจิ้นผิงเดินทางถึงกรุงลิมาของเปรู เพื่อเยือนสาธารณรัฐเปรูอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 ตามคำเชิญของดินา โบลัวร์เต ประธานาธิบดีเปรู

สีจิ้นผิง ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก กัสตาโว เอเดรียนเซน นายกรัฐมนตรีเปรู และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ เมื่อเดินทางถึงฐานทัพอากาศกายาโอในกรุงลิมา เมืองหลวงของเปรู เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

การเดินทางครั้งนี้ของสีจิ้นผิงมาถึงกรุงลิมาในฐานะแขกของรัฐบาลเปรู โดยเขาจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 ซึ่งจัดขึ้นที่เปรู รวมถึงการเยือนเปรูอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของประธานาธิบดีดินา โบลัวร์เต นอกจากนี้ เขายังมีกำหนดเข้าร่วมพิธีเปิดท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ที่จีนลงทุนสร้างในเปรู

ในช่วงการต้อนรับ ประธานาธิบดีสีได้รับเกียรติจากการจัดทหารกองเกียรติยศและกองทหารม้าของเปรูที่ทำเนียบรัฐบาลในกรุงลิมา ซึ่งขบวนรถของประธานาธิบดีสีได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลหลังจากการต้อนรับจากกองทหารม้า โดยทางเปรูได้ปูพรมแดงตั้งแต่ทางขึ้นบันไดหน้าทำเนียบ จนไปถึงจุดที่รถของประธานาธิบดีสีมาจอดเทียบ โดยประธานาธิบดีโบลัวร์เตเดินมาต้อนรับสีจิ้นผิงด้วยตัวเองและนำทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงต้อนรับ

ในขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์ **เอล เปรูอาโน** ของรัฐบาลเปรู ได้เผยแพร่บทความจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งระบุว่า จำเป็นต้องร่วมมือกันในการสร้างและบริหารท่าเรือชานเคย์ โดยให้ 'จากชานเคย์สู่เซี่ยงไฮ้' กลายเป็นเส้นทางแห่งความมั่งคั่ง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและความร่วมมือระหว่างจีนกับเปรู และจีนกับประเทศในลาตินอเมริกา

จากรายงานของสื่อสหรัฐฯ หลังเสร็จสิ้นการประชุมเอเปค ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมีกำหนดพบปะหารือเป็นการส่วนตัวกับประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นการพบกันครั้งสุดท้ายก่อนที่ไบเดนจะลงจากตำแหน่ง

ทั้งนี้ มีรายงานจากสื่อสหรัฐว่าหลังเสร็จสิ้นการประชุมเอเปค ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง มีกำหนดพบปะหารือเป็นการส่วนตัวกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐ ซึ่งจะถือเป็นการซึ่งจะถือเป็นการพบกันครั้งสุดท้ายก่อนที่ไบเดนจะลงจากตำแหน่ง

แดนมังกรต้อนรับนศ.ต่างชาติแล้ว 195 ประเทศ เร่งขยายหลักสูตรรองรับ ดึงนร.อเมริกัน 50,000 คน

เมื่อวานนี้ (14 พ.ย.67)  เฉินต้าลี่ เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการของจีน เปิดเผยว่า การศึกษาของจีนได้รับความสนใจจากนักเรียนนักศึกษาต่างชาติในระดับที่สูงขึ้น

เฉินระบุว่า จีนได้ลงนามข้อตกลงรับรองปริญญาบัตรและประกาศนียบัตรร่วมกับ 60 ประเทศและภูมิภาค และขณะนี้มีนักเรียนนักศึกษาจากกว่า 195 ประเทศและภูมิภาคเดินทางมาศึกษาต่อในจีน

จีนยังได้จัดตั้งหลู่ปาน เวิร์กชอป (Luban Workshop) มากกว่า 30 แห่งในเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา เพื่อจัดฝึกอบรมวิชาชีพให้กับประชาชนกว่า 31,000 คน

ในส่วนของแผนการทางการศึกษา เฉินกล่าวว่า จีนกำลังดำเนินโครงการเชิญชวนวัยรุ่นชาวอเมริกัน 50,000 คน เดินทางมาจีนในช่วงเวลา 5 ปี ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้

นอกจากนี้ จีนยังมีแผนที่จะรับนักเรียนนักศึกษาชาวฝรั่งเศสมากกว่า 10,000 คน ภายในระยะเวลา 3 ปี และเพิ่มจำนวนการแลกเปลี่ยนเยาวชนจากยุโรปไปยังจีนเป็นเท่าตัว

หมีขาวโชว์เจ็ทขับไล่ล่องหน งาน China Airshow เซ็นสัญญาขายต่างชาติรายแรก แต่ไม่เผยผู้ซื้อ

เว็บไซต์โกลบอลไทมส์ ของจีนรายงานว่า ที่งานมหกรรมการบินและอากาศยานนานาชาติจีน (China Airshow) ที่เมืองจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง มีการเปิดเผยว่า รัสเซียได้ลงนามสัญญาจัดหาเครื่องบินรบเจเนอเรชั่นที่ 5 รุ่น Su-57 ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องบินขับไล่ stealth รุ่นที่ 5 ของโลก ให้กับคู่สัญญารายหนึ่งที่เป็นต่างชาติ แต่ไม่ได้มีการระบุรายละเอียดว่าใครเป็นผู้ซื้อเครื่องบินรบรัสเซียรุ่นนี้

ในสัญญาซื้อขายระบุว่า เครื่องบิน Su-57 ที่ขายให้ต่างชาติจะใช้ชื่อรุ่นว่า Su-57E ('E' หมายถึงการส่งออก) นาย Alexander Mikheev หัวหน้าบริษัท Rosoboronexport ยืนยันว่าได้ลงนามสัญญาฉบับแรกสำหรับการส่งออกเครื่องบิน Su-57 แล้ว แม้ว่าข้อมูลระบุตัวตนของผู้ซื้อจะยังคงเป็นความลับอย่างเคร่งครัด แต่การประกาศครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำความสนใจที่เพิ่มขึ้นในเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 ของรัสเซีย

Mikheev เน้นย้ำว่าสัญญานี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่กว้างขึ้นของรัสเซียในการนำอาวุธประเภทใหม่และเทคโนโลยีทางการทหารเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ รวมถึง Su-57 ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ เขายังเน้นย้ำว่ารัสเซียได้รับความไว้วางใจจากพันธมิตร ซึ่งขณะนี้ต่างก็กระตือรือร้นที่จะซื้ออาวุธที่ 'เชื่อถือได้และได้รับการพิสูจน์แล้ว'

ความคิดเห็นของ Mikheev เกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่แหล่งข่าวรัสเซียรายอื่น ๆ รายงานว่ามีความสนใจอย่างมากใน Su-57 จากลูกค้าต่างประเทศ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน TASS เปิดเผยว่าสำนักงานความร่วมมือทางเทคนิคการทหารของรัฐบาลกลาง (FSMTC) ได้รับคำขออย่างเป็นทางการในการซื้อเครื่องบินรบหลายบทบาทของรัสเซียจากลูกค้ารายหนึ่งที่ไม่ได้เปิดเผย

สำหรับงาน Airshow China 2024 รัสเซียได้ส่งเครื่องบิน Su-57 จำนวนสองลำมาจัดแสดงในงาน โดยหนึ่งลำมีการแสดงการบิน และอีกหนึ่งลำถูกนำมาแสดงในรูปแบบสถิติเพื่อให้ตัวแทนทางทหารจากทั่วโลกและสื่อมวลชน 

Mikheev กล่าวกับ Global Times ว่า "Airshow China เป็นหนึ่งในงานแสดงอวกาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับ Rosoboronexport เพราะที่จูไห่ คือที่ที่บริษัท บริษัท Rosoboronexport ของรัสเซีย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2000 ได้แสดงผลิตภัณฑ์ของตนเป็นครั้งแรก นั่นคือเหตุผลที่เรารู้สึกยินดีที่ได้จัดการแสดงแรกของ Su-57E ที่นี่ ซึ่งเครื่องบินของเราสามารถแสดงให้พันธมิตรหลักของรัสเซียได้เห็นและชื่นชม"

มิคเฮฟ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเรื่องบิน Su-57 เราได้นำเสนอขีปนาวุธนำวิถีล่าสุดและระเบิดอากาศสำหรับเครื่องบินเจ็ทรุ่นที่ 5 และเฮลิคอปเตอร์สำหรับการโจมตีด้วย

เมื่อไบเดนพลาด ทรัมป์อาจพลิกกระดาน ใช้การทูตฟื้นสัมพันธ์ ลดแซงชั่นเนปิดอว์

เป็นที่ทราบกันมาพอสมควรถึงการที่ชาติตะวันตกให้การช่วยเหลือกองกำลังป้องกันตนเอง (PDF)​ และกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายที่ต่อสู้กับกองทัพเมียนมาที่ผ่านมา ซึ่งในอดีตมีการส่งทั้งกำลังบำรุงและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ซึ่งส่วนใหญ่มาจากฝั่งไทย

และสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งคือการทะลักของผู้อพยพไปยังประเทศรอบข้างเมียนมาไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดียและไทย แต่ทว่าจีนกับอินเดียก็ใช้นโยบายผลักดันคนที่แห่หนีออกมาให้กลับประเทศซึ่งต่างจากไทยที่อ้าแขนรับแถมจะทำให้อยู่แบบถูกกฎหมายเสียด้วย

เอาเป็นว่าเอย่าขอไม่บ่นเรื่องนี้แต่มาเข้าเรื่องระหว่างอเมริกากับเมียนมาดีกว่า ในสมัยประธานาธิบดี โจ ไบเดน อเมริกาและชาติตะวันตกแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนชนกลุ่มน้อยทั้งทางตรงหรือทางอ้อมก็ดี เราจะเห็นได้จากคลิปที่หลุดออกมาตามสื่อโซเชียลจนบางทีก็ต้องขอบคุณคนเหล่านั้นที่ถ่ายภาพเบื้องหลังให้ชมกัน แต่การสนับสนุนทั้งกลุ่มต่อต้านรัฐบาลก็ดี ชนกลุ่มน้อยก็ดีเป็นการผลักดันให้กองทัพเมียนมาหันหน้าหาจีนและรัสเซียมากขึ้น ยิ่งจีนและอินเดียเป็นพันธมิตรแนบแน่นกับรัสเซียด้วยแล้วทำให้เส้นทางตะวันตกจากจีนสู่อินเดียหากสงครามในเมียนมาสงบลงดินแดนฝั่งนี้แทบจะเป็นของกลุ่มโลกใหม่ทั้งแถบ

ซึ่งคิดว่านี่เป็นเกมส์ที่ไบเดนก้าวพลาดมาก แต่ทรัมป์ก็น่าจะมองเห็น หากทรัมป์ยังให้การสนับสนุนสงครามต่อไป ไม่เพียงแต่เมียนมาจะยิ่งตอบโต้อย่างแข็งกร้าวกับสหรัฐมากขึ้น และถ้าวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์สงครามโลกจริงละก็ ประเทศอย่างเมียนมาจะเป็นตัวสำคัญในการสนับสนุนด้านอาหารแก่ประเทศที่เป็นพันธมิตรเขา

เอย่ามองว่าทรัมป์น่าจะใช้วิธีทางการทูตเข้าหากองทัพเมียนมา ลดหรือเลิกการแซงชั่นอันจะส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางการทูตของ 2 ประเทศดีขึ้นด้วยเช่นกัน

เรื่องเหล่านี้อาจจะลุกลามไปถึงการเลิกสนับสนุนกลุ่มต่อต้านหรือพลิกขั้วขายกลุ่มต่อต้านให้รัฐบาลเมียนมานั้นไหมก็ไม่อาจจะทราบได้คงต้องดูต่อไป แต่ที่สำคัญคือจะเหลือทางไหนที่จะให้สหรัฐเดินเพื่อรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้มากกว่า

งานนี้ดูว่าจะมีความเป็นไปได้โดยเฉพาะการที่ทรัมป์แสดงออกในการไม่แยแสคนต่างด้าวในประเทศตนเองพร้อมไล่ออกจากสหรัฐนี่ก็เป็นการแสดงออกว่าจากนี้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาคงไม่ได้อยู่สุขสบายเหมือนในอดีตอีกต่อไปแน่นอน

‘โอลิมปิก ลียง’ ถูกปรับตกชั้นไปเล่น ‘ลีก เดอซ์’ หลังมีหนี้สินมหาศาล!! เกือบ 20,000 ล้านบาท

(16 พ.ย. 67) หน่วยงานกำกับดูแลวงการฟุตบอลฝรั่งเศส สั่งปรับตกชั้น โอลิมปิก ลียง สโมสรชั้นนำในศึก ลีก เอิง ฝรั่งเศส เป็นการชั่วคราว เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ฐานกระทำผิดกฎทางการเงินอย่างร้ายแรง

นอกจากถูกสั่งให้ลงไปเล่นใน ลีก เดอซ์ แล้ว ลียง ยังโดนห้ามซื้อ-ขายนักเตะอีกด้วย ซึ่งถ้าหากพวกเขาไม่สามารถชำระหนี้ได้หมดเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลปัจจุบัน ก็จะถูกปรับตกชั้นจากเวที ลีก เอิง อย่างเป็นทางการ 

ทั้งนี้ ตามรายงานระบุว่า ตอนนี้ ลียง มีหนี้สินเพิ่มจาก 458 ล้านยูโร (ประมาณ 16,946 ล้านบาท) เป็น 508 ล้านยูโร (ประมาณ 18,796 ล้านบาท) เรียบร้อย 

สำหรับ โอลิมปิก ลียง ถือเป็นสโมสรยักษ์ใหญ่ของวงการฟุตบอลเมืองน้ำหอม และประสบความสำเร็จอย่างมากช่วงต้นยุค 2000 ที่พวกเขาคว้าแชมป์ ลีก เอิง ได้ถึง 7 สมัย (2000/01, 2002/03, 2003/04, 2004/05, 2005/06, 2006/07 และ 2007/08)

วัยทำงานสหรัฐฯ 46 % ‘ไม่มีงานในฝัน’ ส่วนคนรุ่นใหม่ ยังใฝ่ฝัน ถึงงานที่ชอบ

(16 พ.ย. 67) ในวัยเด็กหลายๆ คนคงเคยถูกผู้ใหญ่ถามว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร? มีงานในฝันคืออาชีพอะไร? ซึ่งคำตอบของเด็กยุคก่อนคงหนีไม่พ้น แพทย์ พยาบาล ครู วิศวกร ฯลฯ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คำตอบของเด็กๆ จากคำถามดังกล่าวก็เปลี่ยนไปด้วย โดยก่อนหน้านี้มีผลการศึกษาใหม่จาก Class Central ค้นพบว่า อาชีพในฝัน อันดับ 1 ที่คนรุ่นใหม่อยากทำมากที่สุดคือ ‘นางแบบ’ รองลงมาคือ ศิลปิน ช่างภาพ ช่างแต่งหน้า บล็อกเกอร์ นักการตลาด นักร้อง และเทรนเนอร์ส่วนตัว ตามลำดับ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ทำงานในฝันของตนเองเสมอไป ยิ่งล่วงเข้าสู่วัยกลางคน งานในฝันสมัยเด็กก็คงเลือนลางจางหายไปเรื่อยๆ 

ล่าสุดมีรายงานจาก Newsweek อ้างถึงผลสำรวจจาก Talker Research ซึ่งทำการสำรวจชาวอเมริกัน 1,000 คนเกี่ยวกับงานในฝันของพวกเขา (สำรวจเมื่อวันที่ 21 - 24 ตุลาคมที่ผ่านมา) ผลการสำรวจพบว่า วัยทำงานชาวอเมริกันถึง 46% ‘ไม่มีงานในฝัน’ ขณะที่ผู้ที่มีงานในฝันมีน้อยกว่าในสัดส่วน 43% ขณะที่มีอีกบางส่วน หรือ 12% ที่รายงานว่าไม่แน่ใจ

ผลการสำรวจยังเผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเจเนอเรชันต่างๆ เกี่ยวกับความต้องการมีงานในฝันอีกด้วย โดยคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะมีงานในฝันมากกว่าคนรุ่นเก่า เช่น คนรุ่น Gen Z มีสัดส่วนสูงถึง 61% บอกว่าพวกเขามีงานในฝัน ขณะที่เมื่อเทียบกับคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ พวกเขามีงานในฝันเพียง 28% เท่านั้น

เมื่อเจาะลึกในกลุ่มวัยทำงานที่รายงานว่าตนเองมีงานในฝันนั้น พบว่ามีจำนวนราวๆ 400 คนจากกลุ่มตัวอย่างทั้งงหมด ซึ่งพวกเขาได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความใฝ่ฝันด้านอาชีพการงานที่หลากหลาย และระบุถึง ‘ชื่อตำแหน่งงาน บทบาท หรือสายงาน’ ที่ตนเองใฝ่ฝันถึงในสมัยเรียน 

สำหรับวัยทำงานกลุ่มที่รายงานว่าตนเอง ‘มีอาชีพในฝัน’ นั้น ทีมวิจัยพบด้วยว่า อาชีพในฝันของคนกลุ่มนี้มีการผสมผสานระหว่างตำแหน่งงานแบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่ รวมถึงชี้ให้เห็นว่าพวกเขามีอุดมคติในการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และมีความสนใจในสาขาอาชีพที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

ทีมวิจัยสามารถสรุปออกมาได้เป็น 5 หมวดสาขาอาชีพในฝันของชาวอเมริกันยุคนี้ ได้แก่ 

1. การประกอบอาชีพอิสระ และการเป็นผู้ประกอบการ
หลายคนใฝ่ฝันถึงความเป็นอิสระ หวังว่าจะได้บริหารธุรกิจของตนเองหรือเป็นเจ้านายตนเอง ตั้งแต่การบริหารร้านขายเครื่องประดับ ไปจนถึงการเปิดธุรกิจทำความสะอาดหรือร้านอาหารเล็กๆ กลุ่มตัวอย่างส่วนหนึ่งรายงานว่า การได้เป็นเจ้าของธุรกิจของตนเองพร้อมสินทรัพย์หมุนเวียนเงินสดจำนวนมากซึ่งทำให้มีอิสระทางการเงิน คืออาชีพในฝันของพวกเขา

2. อาชีพที่ดูแลและช่วยเหลือผู้อื่น
ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมาก รายงานว่างานในฝันไม่ได้เป็นเพียงเรื่องอาชีพส่วนบุคคลของพวกเขาเท่านั้น แต่อาชีพในฝันของพวกเขาสามารถเป็นงานที่ช่วยเหลือผู้อื่นไปพร้อมกันด้วย เช่น พยาบาล ครู นักสังคมสงเคราะห์ หรือสัตวแพทย์ บางคนรายงานว่า ‘อาชีพในฝันของฉันคือการช่วยเหลือเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวและผู้ที่อาศัยอยู่ในความยากจน’ เป็นต้น

3. นักศิลปะและผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์
มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนไม่น้อยที่รายงานว่า พวกเขาจินตนาการถึงการใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในแวดวงศิลปะ เช่น การทำงานเป็นโปรดิวเซอร์เพลง ยูทูบเบอร์ นักออกแบบแฟชั่น หรือนักเขียนนวนิยาย ผู้ตอบแบบสอบถามรายหนึ่งมองว่า ผู้ที่ทำงานในสายงานอาชีพเหล่านี้ จะสามารถถร่วมมือกันในโครงการสร้างสรรค์ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมได้

4. งานดูแลสัตว์และงานที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ
ความรักต่อสัตว์และธรรมชาติก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน และมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนไม่น้อยที่บอกว่า งานในฝันของพวกเขาคือสายงานด้านการดูแลสัตว์ป่า ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ผู้ดูแลสวนสัตว์ สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังไฟป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติซานตาเฟ เป็นต้น 

5. งานใดๆ ก็ตามที่ทำงานจากที่บ้านได้อย่างยืดหยุ่น
ทีมวิจัยระบุว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากที่ต้องการงานที่มีความยืดหยุ่น สามารถทำงานจากระยะไกล และอยากได้งานที่มีความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำงานที่ดีขึ้น อาชีพในฝันของพวกเขาส่วนใหญ่คือ การมีอาชีพมั่นคงที่สามารถทำงานที่บ้านได้ โดยมีรายได้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อาชีพในฝันหมวดนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า วัยทำงานสมัยนี้เน้นย้ำความสำคัญในการทำงานอิสระและต้องการเวลาให้ครอบครัว

ท้ายที่สุดรายงานชิ้นดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าโลกการทำงานและความต้องการของแรงงานในยุคนี้เปลี่ยนไปแล้ว มีความแตกต่างจากแรงงานในยุคก่อน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีงานในฝันนั้น พวกเขาส่วนใหญ่ต่างก็ต้องการทำงานที่มีความยืดหยุ่นและมีอิสระ มากกว่ายุคก่อนอย่างเห็นได้ชัด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top