Monday, 20 May 2024
World

'เดนมาร์ก' จ่อให้หญิงสาวอายุ 15 ปีทําแท้งได้ โดยไม่ต้องมีความยินยอมจากผู้ปกครอง

รัฐบาลเดนมาร์กประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 พ.ค.67) ว่าจะอนุญาตให้หญิงสาวสามารถทําแท้งได้จนถึง 18 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ แทนที่จะเป็น 12 สัปดาห์ เป็นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายด้านการทําแท้งครั้งแรกของประเทศในแถบนอร์ดิกเป็นเวลา 50 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ หญิงสาวอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจะมีสิทธิที่จะทําแท้งได้โดยไม่ต้องมีความยินยอมจากผู้ปกครอง รัฐบาลลดอายุขีดจํากัดให้เป็นไปตามอายุที่ยอมรับในการมีเพศสัมพันธ์ของประเทศ

“การเลือกว่าจะทําแท้งหรือไม่เป็นสถานการณ์ที่ยากลําบาก และฉันหวังว่าเด็กหญิงจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองของพวกเธอ แต่ถ้ามีความไม่ลงรอยกัน สุดท้ายแล้วต้องเป็นการตัดสินใจของเด็กหญิงเองว่าเธอต้องการเป็นแม่หรือไม่” มารี เบเยอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลและความเสมอภาคเพศ กล่าว

ในปัจจุบัน หญิงสาวอายุต่ำกว่า 18 ปีสามารถทําแท้งได้ แต่ต้องมีความยินยอมจากผู้ปกครอง

กฎหมายสุขภาพฉบับแก้ไขจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายนของปีหน้า (2568)

เดนมาร์กเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในยุโรปตะวันตกที่เสนอการทําแท้งโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในปี 1973 แต่ก็อนุญาตให้ทําแท้งได้จนถึง 12 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิเท่านั้น ปัจจุบันหญิงสาวในเดนมาร์กจะสามารถทําแท้งได้เป็นเวลานานกว่าประเทศใดๆ ในยุโรปส่วนใหญ่

ตามหน่วยงานข้อมูลสุขภาพแห่งชาติเดนมาร์ก จํานวนการทําแท้งที่เกิดขึ้นในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นในช่วงหลัง ในปี 2565 มีการทําแท้งทางการแพทย์ 14,700 ราย เทียบกับ 14,500 รายในปี 2557 จํานวนสูงสุดเกิดขึ้นในปี 2518 เมื่อการทําแท้งได้รับการยอมรับว่าถูกต้องตามกฎหมาย มีจํานวน 27,900 ราย

เมตต์ เธียเซน สมาชิกรัฐสภาจากพรรคประชาชนเดนมาร์กซึ่งเป็นพรรคป็อปปูลิสต์ ได้แสดงความเสียใจต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวว่า “เป็นวันที่แย่มาก กฎหมายใหม่ที่แย่มาก” เธียเซนกล่าวกับสถานีวิทยุโทรทัศน์ดีอาร์ว่า “มีความสมดุลที่ละเอียดอ่อนระหว่างสิทธิของหญิงในร่างกายของตน แต่ก็มีสิทธิในชีวิตของวิญญาณที่อยู่ในครรภ์ของแม่ด้วย”

ในเดือนมีนาคม ประเทศฝรั่งเศสได้กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่รับรองสิทธิในการทําแท้งไว้ในรัฐธรรมนูญ ทําให้ 'สิทธิในการทําแท้ง' ในฝรั่งเศสกลายเป็น 'ไม่สามารถถอนกลับได้'

'นายกฯ ฝรั่งเศส' ทัก "หนีห่าว" ต้อนรับ 'สีจิ้นผิง' พร้อมพิธีอันสมเกียรติ สะท้อน!! การทูตที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับการมาเยือนนี้

(6 พ.ค.67) สำนักข่าวซินหัว รายงาน สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้เดินทางถึงกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส เมื่อวันอาทิตย์ (5 พ.ค.67) เพื่อการเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ โดยมีแกเบรียล อัททาล นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ให้การต้อนรับ ณ ท่าอากาศยานปารีส ออร์คลีย์ พร้อมกล่าวคำทักทายเป็นภาษาจีนว่า "หนีห่าว" หรือ "สวัสดี"

ทั้งนี้ ท่าอากาศยานฯ ได้ติดธงชาติจีนและธงชาติฝรั่งเศสที่โบกสะบัดตามสายลม พร้อมปูพรมแดงต้อนรับผู้นำจีน โดยมีคณะผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลฝรั่งเศสเฉกเช่นอัททาลยืนรอต้อนรับการมาถึงของสีจิ้นผิง ซึ่งพิธีการทูตนี้สะท้อนว่าฝ่ายฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับการมาเยือนครั้งนี้อย่างยิ่งยวด

อนึ่ง การเยือนครั้งนี้เป็นการเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 3 และการเยือนยุโรปครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี ของสีจิ้นผิง ขณะความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ฝรั่งเศส จะครบรอบ 60 ปี ในปีนี้

รายงานระบุว่าสีจิ้นผิง พร้อมด้วยเผิงลี่หยวน ผู้เป็นภริยา ก้าวออกจากห้องโดยสารของเครื่องบินและโบกมือให้กับฝูงชนที่มารอต้อนรับ ด้านอัลทาลก้าวเข้าหาสีจิ้นผิงที่เดินลงมาจากบันไดเทียบเครื่องบิน และกล่าวทักทายผู้นำจีนว่า "หนีห่าว" โดยทั้งสองฝ่ายได้เดินเคียงและพูดคุยขณะอัททาลนำพาผู้นำจีนขึ้นรถลีมูซีน

อัลทาลเผยกับสีจิ้นผิงว่าเขาเคยเดินทางเยือนจีนครั้งหนึ่งเมื่อยังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติ รวมถึงเรียนภาษาจีนมานานหนึ่งปีแล้ว ด้านสีจิ้นผิงกล่าวด้วยรอยยิ้มว่าอัลทาลพูดภาษาจีนได้ดีตามมาตรฐาน และแสดงความยินดีต้อนรับอัททาลเยือนจีน

ทั้งนี้ สีจิ้นผิงยังเป็นผู้สนใจวัฒนธรรมฝรั่งเศส โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ ปรัชญา วรรณคดี และศิลปะของฝรั่งเศส เมื่อครั้งเยาว์วัย โดยสีจิ้นผิงระบุในบทความที่เผยแพร่ผ่านเลอ ฟิกาโร  (Le Figaro) สื่อฝรั่งเศส เมื่อวันอาทิตย์ (5 พ.ค.67) ว่าฝรั่งเศสมีมนต์เสน่ห์พิเศษอันน่าหลงใหลในสายตาชาวจีน

‘แอฟริกาใต้’ ตึกก่อสร้างถล่ม ทำคนงานดับแล้ว 4 ศพ ซ้ำ!! ติดใต้ซากกว่า 50 ชีวิต จนท.เร่งดำเนินการช่วยเหลือ

(7 พ.ค. 67) เอเอฟพีรายงานว่า ทีมกู้ภัยยังค้นหาผู้รอดชีวิตในเหตุอาคาร 5 ชั้นที่อยู่ระหว่างก่อสร้างพังถล่มลงมาทำให้คนงานเสียชีวิต 4 ราย และอีก 51 คนยังติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังที่เมืองจอร์จ ห่างจากเมืองเคปทาวน์ไปทางตะวันออกราว 450 กิโลเมตรในประเทศแอฟริกาใต้

โดยเหตุเกิดเมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 6 พ.ค.ตามเวลาท้องถิ่น ขณะคนงานก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ 75 คน ขณะนี้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือขึ้นมาได้ 24 คน ในจำนวนนี้มีบาดเจ็บสาหัสด้วย ทีมกู้ภัย 3 ทีมกำลังเร่งช่วยคนติดใต้ซาก โดยกระจายงานกันใน 3 พื้นที่ภายในไซต์ก่อสร้างอาคาร 5 ชั้นรวมถึงโรงจอดรถชั้นใต้ดินถล่มลงมา แต่ยังไม่ทราบสาเหตุ

นายมาริโอ เฟอร์เรรา โฆษกมูลนิธิ Gift of the Givers ซึ่งเข้ามาช่วยเหลือในการกู้ภัยระบุว่า ทีมกู้ภัยสามารถติดต่อกับคนที่อยู่ใต้ซากจำนวนหนึ่งได้แล้ว

ภาพไซต์ก่อสร้างพังราบเป็นหน้ากลอง หลังคาที่พังลงมากองอยู่บนสุดของซากหักพัง ทีมกู้ภัยทำงานทั้งคืนโดยฉายแสงไฟสว่างจ้าสาดไปทั่วไซต์ก่อสร้างที่กันไม่ให้คนไม่เกี่ยวข้องเข้ามา อีกทั้งทีมงานใช้เครื่องขุดและสุนัขดมกลิ่นในการกู้ภัยด้วย

“ฉันเห็นชายคนหนึ่งกำลังทำงาน และจากนั้น ‘บูม’ เกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ฉันเห็นทั้งตึกพังถล่มลงมา…จิตใจฉันชอกช้ำด้วย” น.ส.เทเรซา เจอี สมาชิกสภาท้องถิ่นกล่าว

‘กัมพูชา’ ลั่น!! หวังจับมือ ‘หัวเว่ย’ บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน เพื่อกระตุ้นโครงการด้าน ‘การท่องเที่ยวดิจิทัล’ ในประเทศ

เมื่อวานนี้ (6 พ.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สก โสเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา เผยความคาดหวังว่ากัมพูชาจะได้ดำเนินความร่วมมือกับหัวเว่ย เทคโนโลยี (Huawei Technologies) ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน เพื่อส่งเสริมโครงการริเริ่มด้านการท่องเที่ยวดิจิทัลของกัมพูชา

โสเกนพบปะกับเถากวงเย่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหัวเว่ย เทคโนโลยี (กัมพูชา) จำกัด และกล่าวถึงวิสัยทัศน์ของเขาในการเสริมสร้างการทำงานระหว่างกระทรวงฯ กับหัวเว่ย โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาโครงการริเริ่มการท่องเที่ยวดิจิทัล

การท่องเที่ยวเป็น 1 ใน 4 ภาคส่วนสำคัญที่สนับสนุนเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยรายงานล่าสุดจากกระทรวงฯ เปิดเผยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.58 ล้านคนในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2024 เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 จาก 1.29 ล้านคนในช่วงเดียวกันของปี 2023

ทั้งนี้ กัมพูชามีแหล่งมรดกโลก 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานโบราณคดีอังกอร์ หรือนครวัดในจังหวัดเสียมราฐ กลุ่มปราสาทสมบูรณ์ไพรคุก ในจังหวัดกำปงธม รวมทั้งปราสาทพระวิหารและโบราณสถานเกาะแกร์ ในจังหวัดพระวิหาร และมีแนวชายหาดยาวราว 450 กิโลเมตร พาดผ่าน 4 จังหวัดทางตะวันตกเฉียงใต้ ได้แก่ สีหนุวิลล์ กัมปอต แกบ และเกาะกง

‘Tesla’ เตรียมเลิกจ้างพนักงานครั้งใหญ่ 6,700 คน เซ่นยอดขายสะดุดจากพิษสมรภูมิตลาด EV เดือด

‘Tesla’ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลก ภายใต้การนำของ ‘อีลอน มัสก์’ ประกาศปลดพนักงานระลอกใหม่อีกครั้งตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นไป ที่คราวนี้มีสัดส่วนพนักงานฝ่ายบริการด้านซอฟต์แวร์ และ ฝ่ายพัฒนาวิศวกรรม รวมอยู่ด้วย 

แถลงการณ์ปลดพนักงานจาก Tesla เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้บริหารสูงสุดอย่าง ‘อีลอน มัสก์’ ประกาศว่าจะยุบแผนกเทคโนโลยีการชาร์จประจุไฟฟ้า และจะลดจำนวนพนักงานในโรงงานทั่วโลกลงมากกว่า 10% 

และเมื่อวานนี้ (6 พ.ค. 67) พนักงานที่ต้องโดน Layoff รอบล่าสุดนี้ก็ได้อีเมลยืนยันจากทางบริษัทเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีการเปิดเผยผ่านสื่อว่า แค่เฉพาะโรงงานโซนอเมริกา ในรัฐเท็กซัส, แคลิฟอร์เนีย, เนวาดา, และนิวยอร์ก ก็มีพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างมากถึง 6,700 คนแล้ว

นับเป็นการลดจำนวนพนักงานครั้งใหญ่อีกครั้งของ Tesla อันเป็นผลพวงมาจากความกดดันเรื่องยอดขายที่ลดลงอย่างมาก ในสมรภูมิตลาดรถยนต์ EV ที่นักการตลาดต่างให้คำจำกัดความว่าเป็นการต่อสู้ในระดับ ‘นองเลือด’ จากคู่แข่งมาแรงอย่างค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่ส่งรถยนต์รุ่นใหม่เข้าตลาดอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้ตลาดรถยนต์ EV กลายเป็นสงครามราคาที่ห้ำหั่นกันดุเดือด

อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อรถยนต์ลง รวมถึงแผนการใหม่ของอีลอน มัสก์ ที่จะเน้นเรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์การขับขี่อัตโนมัติ, โรโบแท็กซี่ และ หุ่นยนต์มนุษย์ Optimus ก็เป็นปัจจัยที่ Telsa จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายในบางทีม เพื่อเก็บทุนไว้พัฒนาโปรเจกต์ใหม่ ๆเหล่านี้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเลิกจ้างพนักงานครั้งใหญ่ของ Tesla สะท้อนถึงสถานการณ์ตลาดรถยนต์ EV ที่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด Xiaomi บริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายใหญ่ของจีนก็กระโดดเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้แล้วเช่นกัน 

ล่าสุด ในงานแสดงยานยนต์นานาชาติ ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ที่ถือเป็นหนึ่งในงานแสดงรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในส่วนงานจัดแสดงรถยนต์ EV แสดงให้เห็นถึงความต้องการในตลาดยังโตขึ้นได้เรื่อย ๆ

ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ก็ได้เปิดตัวรถยนต์ EV รุ่นใหม่ในงานมากถึง 278 คัน ที่ต่างแข่งขันกันอย่างเอาเป็น เอาตาย ทั้งในด้านเทคโนโลยีสุดล้ำ โปรโมชัน ลด แลก แจก แถม และกลยุทธการตัดขาคู่แข่งหน้าใหม่อย่าง Xiaomi จนผู้บริหารบริษัทสมาร์ตโฟนชื่อดังออกมายอมรับว่า ค่ายรถคู่แข่งพยายามทำทุกอย่างเพื่อสกัดยอดจองของ Xiaomi ในงานนี้

หากตลาดรถยนต์ EV มีการแข่งขันเรื่องราคาเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ย่อมส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากอัปเกรดเทคโนโลยีให้ล้ำหน้ากว่าใคร ซึ่งย่อมหมายถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และต้องยอมกลืนเลือด ลดราคา อัดโปรโมชัน ยอมขาดทุนเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า ในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ 200 รายในจีนตอนนี้ น่าจะเหลือรอดเพียงแค่เศษเสี้ยวเดียว หลังจากที่อุตสาหกรรมนี้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว 

เหลย จุน ประธานบริษัท Xiaomi เคยให้สัมภาษณ์กับ CCTV ของจีน เมื่อ 28 เมษายนที่ผ่านมาว่า ในตลาดรถยนต์ EV ตอนนี้ นอกจาก Tesla แล้ว ทุกคนกำลังสูญเงินมหาศาลในตลาดนี้  

แต่ถึงแม้ผู้ผลิตรถยนต์ EV ของจีนยังยอมรับในความเป็นเจ้าตลาดโลกของ Tesla แต่เมื่อเข้าสู่ยุคสงคราม นักรบย่อมมีบาดแผล ไม่ไว้เว้นแม้แต่ Tesla ที่เริ่มออกอาการไม่ดีกับยอดขายรถยนต์ EV ของตัวเอง จนต้องลดจำนวนพนักงานเพื่อความอยู่รอด แถมสมรภูมินี้มีแนวโน้มว่ายังต้องรบกันอีกยาวไกล ซึ่งสุดท้ายจะเหลือผู้ผลิตกี่ค่าย ที่รอดตายจนถึงสนามรบสุดท้าย ก็ต้องมาดูกัน 

'ญี่ปุ่น' สร้างอุปกรณ์ 'รับ-ส่ง' สัญญาณ 6G ได้เป็นครั้งแรกของโลก เร็วกว่า 5G ถึง 20 เท่า กุญแจสำคัญพายานพาหนะไร้คนขับรุดหน้า

(7 พ.ค. 67) TNN Tech รายงานว่า โดโคโมะ (DOCOMO) เอ็นทีที (NTT Corporation) เน็ก (NEC Corporation) และฟูจิสึ (Fujitsu) ร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ที่สามารถรับและส่งข้อมูลในย่านคลื่นความถี่ 6 กิกะเฮิร์ตซ (GHz) ซึ่งเป็นย่านคลื่นความถี่ที่เชื่อว่าจะถูกนำไปใช้งานกับการสื่อสารยุค 6G ได้เป็นครั้งแรกของโลก โดยมีความเร็วในการส่งสัญญาณที่ 100 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) หรือมากกว่า 5G ถึง 20 เท่า

สำหรับการทดลองส่งข้อมูลด้วยอุปกรณ์ 6G ครั้งแรกของโลก ได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2021 โดยออกแบบให้รับและส่งสัญญาณที่ย่านความถี่ 6 GHz ซึ่งมีอีกชื่อว่า ซับเทระเฮิร์ตซ (Sub-terahertz) โดยอุปกรณ์ได้ส่งสัญญาณในช่วงความถี่ (Band) 100 - 300 GHz ต่างจาก 5G ที่มี Band ในการส่งสัญญาณที่ 40 GHz โดยสามารถส่งข้อมูลได้ที่ความเร็ว 100 Gbps รองรับระยะการส่งแบบไร้สายที่ 100 เมตร

การพัฒนาในครั้งนี้ เป็นการนำความสามารถในการวิเคราะห์การตั้งค่าสัญญาณไร้สาย (Wireless system configuration) ที่ DOCOMO เชี่ยวชาญ ร่วมกับการพัฒนาตัวอุปกรณ์ให้รองรับการส่งสัญญาณได้จริงโดย NTT 

ในขณะที่ NEC ได้เข้ามาร่วมวิจัยและพัฒนาเสาสัญญาณแบบใหม่แบบเรียงที่เรียกว่า เอพีเอเอ (APAA: Active Phased Array Antenna) ส่วน Fujitsu มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชิปเพื่อขยายกำลังคลื่นในการรับและส่งสัญญาณในครั้งนี้

สำหรับอนาคตของ 6G จากฝั่งญี่ปุ่น จากการทดลองนี้ ยังทำให้ Fujitsu มีชิปที่สามารถขยายกำลังสัญญาณ 6G ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกในปัจจุบันด้วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระยะการส่งสัญญาณ 6G ให้ไกลยิ่งขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกัน 6G ยังเป็นเทคโนโลยีที่เชื่อว่าเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาระบบยานพาหนะไร้คนขับ (Autonomous vehicle) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบโครงข่ายสัญญาณ 6G จะมีความแตกต่างจากการเปลี่ยนผ่านสมัย 4G มายัง 5G เนื่องจากสัญญาณในระดับ Sub-terahertz จะมีกำลังและรูปแบบคลื่นที่ต่างจาก 5G ส่งผลให้ผู้ให้บริการโครงข่าย 6G ในอนาคตจำเป็นต้องลงทุนอุปกรณ์ในระบบใหม่ทั้งหมด ซึ่ง TNN Tech มองว่านี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนาโครงข่าย 6G ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ

Microsoft ลุยสร้าง Generative AI ที่ไม่ต้องเชื่อมโลกอินเทอร์เน็ต ช่วยองค์กรลับสหรัฐฯ วิเคราะห์ข้อมูลลับสุดยอดได้อย่างปลอดภัย

(8 พ.ค. 67) Business Tomorrow เผย Microsoft กำลังสร้างโมเดล Generative AI ที่แยกออกจากโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งเตรียมเข้าไปใช้ในหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เพื่อนำเทคโนโลยีอันทรงพลังเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นความลับสุดยอดได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ หน่วยงานสายลับทั่วโลกต้องการ AI เชิงสร้างสรรค์ เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจและวิเคราะห์ปริมาณข้อมูลลับที่เพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ยังคงต้องการข้อมูลโมเดลภาษาขนาดใหญ่ ทำให้เมื่อมีการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตอาจเสี่ยงการถูกแฮ็กหรือข้อมูลที่รั่วไหลออกไปได้

ทั้งนี้ Microsoft ได้ปรับใช้โมเดลที่ใช้ GPT4 และองค์ประกอบสำคัญที่รองรับบนคลาวด์ด้วยการแยกข้อมูลที่สำคัญและการวิเคราะห์ออกจากอินเทอร์เน็ตสำหรับองค์กรลับของสหรัฐฯ โดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม Microsoft ใช้เวลา 18 เดือนที่ผ่านมาในการพัฒนาระบบ รวมถึงการยกเครื่อง Super Computer AI ที่มีอยู่ในไอโอวาให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

ย้อนปูมหลัง 'ความขัดแย้ง-สงครามกลางเมืองพม่า' ที่ยาวนานที่สุดในโลก จากเงื่อนปมที่วางไว้โดย 'อังกฤษ' บ่ม 70 ปี จน 'เมียนมา' ไกลคำว่า 'สันติสุข'

ย้อนหลังไป 400-500 ปีก่อน สหภาพเมียนมาหรืออดีตสหภาพพม่าเป็นอดีตราชอาณาจักรที่มีความยิ่งใหญ่เกรียงไกรด้วยกองทัพที่เข้มแข็ง กระทั่งสามารถเอาชนะไทยเราได้ถึง 2 ครั้ง 2 ครา คือ ปี พ.ศ. 2112 และ ปี พ.ศ. 2310 

โดยครั้งที่ 2 ได้สร้างความเสียหายแก่กรุงศรีอยุธยาแบบยับเยิน จนไทยต้องมาสร้างกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงใหม่ และย้ายข้ามมาสร้างกรุงเทพมหานครจวบจนถึงทุกวันนี้

ไม่เพียงเท่านี้ ระหว่างทำสงครามจนไทยพ่ายเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 ระหว่าง ปี พ.ศ. 2308-2312 พม่าก็ทำสงครามชายแดนกับจีนด้วย ทั้งยังสามารถเอาชนะจีน ทำให้ราชวงศ์โก้นบอง (ราชวงศ์คองบอง) มีสิทธิในการปกครองพม่าโดยสมบูรณ์ 

หากได้เล่าเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็จะรู้ว่าเป็น พ.ศ. 2328-2329 หรือต้นยุครัตนโกสินทร์ หลังการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงได้เพียง 3 ปี พม่าได้ส่งกองทัพมา 9 กองทัพ 5 สาย (สงครามเก้าทัพ) มารุกรานไทยเราอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับไปและไม่มีสงครามระหว่างกันอีกเลย 

ต่อมาในปลายสมัยของราชวงศ์โก้นบอง ซึ่งอยู่ในยุคการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกอย่าง อังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งตอนนั้นอังกฤษสามารถยึดครองอินเดียที่มีพรมแดนติดกับพม่า และสุดท้ายก็นำมาสู่สงครามระหว่างกันของ 'อังกฤษ-พม่า' ถึง 3 ครั้ง 

- สงครามครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2367) พม่าต้องยก รัฐอัสสัม, รัฐมณีปุระ, รัฐยะไข่ และตะนาวศรี และต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม 1 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงแก่อังกฤษ

- สงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2395) อังกฤษยึด เมาะตะมะ, ย่างกุ้ง, พะสิม, แปร, พะโค

- และสงครามครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2428) อันเป็นสงครามครั้งสุดท้ายที่ทำให้พม่ากลายเป็นอาณานิคมภายใต้อังกฤษอย่างสมบูรณ์กลายเป็นมณฑลหนึ่งของบริติชอินเดีย

จากนั้น อังกฤษปกครองพม่าในฐานะมณฑลหนึ่งของอินเดียในปี พ.ศ. 2429 โดยมีย่างกุ้งเป็นเมืองหลวง และกลายเป็นเมืองยุคใหม่ของพม่าที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐบาล โดยราชวงศ์โก้นบองถูกล้มล้าง พระเจ้าธีบออดีตกษัตริย์ถูกเนรเทศไปกักตัวไว้ที่เมืองรัตนบุรี อินเดีย แล้วแยกการเมืองและศาสนาออกจากกัน ซึ่งแต่เดิมพระสงฆ์จะขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากราชวงศ์ และราชวงศ์จะรับรองสถานะทางกฎหมายของพุทธศาสนา

นอกจากนั้นแล้ว อังกฤษยังเข้ามาจัดการระบบศึกษาให้แยกและไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา ด้วยการจัดตั้งโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาพม่า และสนับสนุนให้มิชชันนารีเข้ามาสร้างโรงเรียน โดยในโรงเรียนทั้งสองระบบนี้ไม่สอนเกี่ยวกับพุทธศาสนาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของพม่า เพื่อทำลายความเป็นเอกภาพทางวัฒนธรรมของพม่าที่แตกต่างจากอังกฤษ 

จากเหตุการณ์นี้เอง ก็ก่อให้เกิดการต่อต้านทั่วไปในพม่าตอนเหนือไปจนถึงปี พ.ศ. 2433 ซึ่งเป็นปีที่อังกฤษเข้าไปปราบปรามด้วยการเผาทำลายทุกหมู่บ้านที่ต่อต้านอังกฤษ สั่งให้ผู้คนอพยพลงไปยังพม่าตอนใต้ และปลดเจ้าหน้าที่ทุกคนที่สนับสนุนฝ่ายกบฏออก พร้อมทั้งนำกลุ่มคนที่สนับสนุนอังกฤษเข้ามาทำหน้าที่แทน จึงทำให้การต่อต้านอังกฤษยุติลง

ข้ามมาในเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากในขณะนั้น 'ข้าว' เป็นที่ต้องการของยุโรปอย่างมาก จึงมีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวในที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี โดยมีการอพยพชาวพม่าจากที่สูงลงมายังที่ลุ่ม เพื่อปลูกข้าว และให้มีการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจของประชากร, บริการสาธารณะ และสาธารณูปโภคขึ้นใหม่ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้บริการชาวพม่าเชื้อสายอังกฤษและชาวอินเดีย โดยมีอังกฤษเป็นเจ้าของ และชาวพม่าต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อใช้บริการเหล่านี้ 

ฉะนั้นเศรษฐกิจของพม่าในช่วงนั้นจึงเติบโตขึ้น แต่เป็นการเติบโตภายใต้อำนาจทั้งหมดที่อยู่ในมือหุ้นส่วนชาวอังกฤษและผู้อพยพจากอินเดีย ซึ่งนั่นก็หมายความว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในสมัยอาณานิคม ส่งผลร้ายต่อพม่า เพราะได้ใช้ทรัพยากรของพม่าไปเฉพาะเพื่อผลประโยชน์ของอังกฤษเท่านั้น 

ด้านความมั่นคง ชาวพม่าถูกห้ามเป็นทหาร โดยทหารส่วนใหญ่จะเป็นชาวอินเดีย, ชาวพม่าเชื้อสายอังกฤษ, ชาวกะเหรี่ยง และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในพม่า ทว่าด้วยการใช้อำนาจบังคับกดขี่ข่มเห่งชาวพม่าอย่างมากมายของอังกฤษ จึงทำเกิดขบวนการชาตินิยมพม่าต่อต้านอังกฤษขึ้น มีหลายหมู่บ้านที่ชาวบ้านรวมตัวกันเป็นกองโจรติดอาวุธ จนกลายเป็นหมู่บ้านนอกกฎหมาย

ในปี พ.ศ. 2480 อังกฤษได้แยกมณฑลพม่าออกจากบริติชอินเดีย และตั้งเป็นหน่วยการปกครองที่มีสภาเป็นของตนเอง จนเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรวรรดิญี่ปุ่นได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในพม่า จนมีการก่อตั้งรัฐพม่าใน พ.ศ. 2486 

ทว่า หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม อังกฤษก็ได้กลับเข้าไปในพม่า และสถาปนาการปกครองระบอบอาณานิคมอีกครั้งใน พ.ศ. 2488 

หลังจากที่อังกฤษกลับเข้ามาปกครองพม่าอีกครั้ง ได้มีการเจรจาเกี่ยวกับเอกราชของพม่า คือ ความตกลงปางหลวง (Panglong Agreement) เป็นความตกลงระหว่างพม่า, ไทใหญ่, ชีน และกะชีน ผ่านการประชุมปางหลวงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อจัดตั้งสหภาพพม่าภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ 

การประชุมปางหลวงครั้งที่ 1 เมื่อกองทัพสัมพันธมิตรยึดรัฐชาน (สหรัฐไทยเดิม) คืนจากไทยแล้ว ได้มีการประชุมเพื่อตัดสินชะตากรรมของชาติตนเองเรียกว่า การประชุมปางหลวงจัดขึ้นที่เมืองปางหลวงในรัฐชานในวันที่ 20-28 มีนาคม พ.ศ. 2490 การประชุมครั้งนี้พม่านำโดยนายพลออง ซาน (บิดาของอองซานซูจี) ผู้นำในการเรียกร้องเอกราชได้เรียกร้องให้รัฐชานรวมกับพม่าเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ 

หลังจากการประชุมครั้งแรก พม่าได้ทำความตกลง 'อองซาน-แอตลี' กับ อังกฤษ เพื่อรวมอาณานิคมของอังกฤษทั้งหมดเข้ากับสหภาพพม่า ฝ่ายรัฐชานจึงจัดการประชุมปางหลวงครั้งที่ 2 ระหว่าง 3-12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 เพื่อปฏิเสธการเข้ารวมตัวกับพม่า โดยตัวแทนฝ่ายกะชีนเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายไทใหญ่เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ และตัวแทนจากรัฐชีนเข้าร่วมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ และตกลงจัดตั้งสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขาเพื่อต่อรองกับฝ่ายพม่า ตัวแทนฝ่ายพม่า นำโดยอองซานพร้อมกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลอังกฤษเข้าร่วมประชุมเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ เพื่อเจรจากับตัวแทนสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขาจนเป็นที่มาของการลงนามในสนธิสัญญาปางหลวงเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 อย่างไรก็ตาม ความตกลงนี้ไม่บรรลุผลเพราะพม่าไม่ปฏิบัติตาม (อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : WHAT...IF อะไรจะเกิดขึ้น...ถ้าสัญญาปางหลวงสำเร็จ https://thestatestimes.com/post/2022072009)

ทว่า นายพล ออง ซาน และผู้นำในการเรียกร้องเอกราชคนอื่น ๆ ได้แก่ รัฐมนตรี 6 คน และเจ้าหน้าที่รัฐบาล 2 คน ถูกลอบสังหารระหว่างการประชุมสภาก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราชจากอังกฤษ 6 เดือน ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 จึงทำให้ความตกลงปางหลวงไม่บรรลุผล เพราะพม่าไม่ยอมปฏิบัติตาม จนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ในพม่าซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 โดยกลุ่มติดอาวุธของแต่ละชาติพันธุ์หลายกลุ่มต่อสู้กับกองทัพพม่า 

แม้จะมีการเจรจาหยุดยิงหลายครั้งและมีการสร้างเขตปกครองตนเองที่เป็นอิสระในปี พ.ศ. 2551 แต่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างก็ยังคงเรียกร้องเอกราช หรือ การรวมเป็นสหพันธรัฐเมียนมาเรื่อยมา

ความขัดแย้งดังกล่าวนี้ ถือเป็นสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมายาวนานที่สุดในโลก กินเวลานานกว่าเจ็ดทศวรรษแล้ว และความขัดแย้งก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลของพรรค NLD ที่นำโดยอองซานซูจี จากพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมา ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 จนมีการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะงานนี้ประเทศตะวันตกเปิดหน้าออกตัวสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างเต็มที่มากขึ้น จึงทำให้การสู้รบอย่างหนักในพื้นที่อิทธิพลของชาติพันธุ์ต่าง ๆ จนทุกวันนี้ 

กล่าวโดยสรุปแล้ว ความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองในเมียนมา เกิดจากการที่อังกฤษไม่ได้ดำเนินการให้รัฐต่าง ๆ ในพม่า (ขณะนั้น) มีเสรีภาพ มีความเป็นรัฐอิสระ และรวมกันเป็นสหพันธรัฐหรือสหรัฐ แต่กลับปล่อยให้มีความคลุมเครือเกิดขึ้น ทั้งหลังจากการการลอบสังหารนายพล ออง ซาน และผู้นำในการเรียกร้องเอกราชคนอื่น ๆ 

อังกฤษควรต้องเลื่อนการให้เอกราชกับพม่าไปก่อนเพื่อให้การดำเนินการตามข้อตกลงมีความชัดเจนหรือมีหลักประกันที่เหมาะสมสำหรับรัฐต่าง ๆ ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ รวมไปถึงปัญหาของชาวโรฮิงยา ซึ่งเป็นชาวอินเดียที่ติดตามข้าราชการอังกฤษที่มาทำงานในพม่า

ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้รัฐบาลอังกฤษไม่เคยสนใจหรือใส่ใจเลย ดังนั้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามปัญหาความขัดแย้งกว่า 70 ปีในเมียนมา อังกฤษจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้

ฉาว ‘ตม.-ข้าราชการไทย’ เห็นประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าชาติ ปูพรมแดงรับชาวเมียนมาเข้าไทยแบบ Elite ในราคาหลักพัน

ไม่นานมานี้เพจ Look Myanmar มีการเปิดข้อมูลเอเย่นต์พม่าโปรโมตการเดินทางเข้าไทยแบบ Exclusive ที่เรียกว่า VIP Pass โดยมีค่าใช้จ่ายเพียง 7,000 บาทเท่านั้น แบ่งเป็น...

‘ฝั่งเมียนมา’ คุณจะได้อภิสิทธิ์เพียงแค่มีพาสปอร์ตและตั๋วโดยสารเข้าไทยเท่านั้น โดยไม่ต้องแสดงเงิน, ตั๋วขากลับและใบจองโรงแรม...ในราคานี้เจ้าหน้าที่ ตม. ฝั่งเมียนมา จะพาคนพม่าข้ามผ่านจุดเช็กอินที่เคาน์เตอร์สายการบิน รวมถึงผ่านด่าน ตม. ที่สนามบินไปส่งยัง Border Gate

ในขณะที่ ‘ฝั่งไทย’ มีค่าใช้จ่าย 5,000 บาท ซึ่งคนเมียนมาที่จะเข้าไทยจะมีเจ้าหน้าที่มารับถึง Gate พาไปยัง ตม. ด้วยรถกอล์ฟ และทำเรื่องผ่าน ตม. ในช่องทางพิเศษ โดยไม่จำเป็นต้องแสดงตั๋วขากลับ, ใบจองโรงแรมและเงินติดตัว

และยังมีการระบุอีกว่า “ราคานี้สำหรับคนที่ไม่มีประวัติเสียในการเดินทางเข้าไทย หากใครมีประวัติที่ไม่สามารถเดินทางมาไทยได้หรือติดแบล็กลิสต์ จะคิดอีกราคาหนึ่ง”

ประกาศนี้ไม่ได้มีเพียงประกาศเดียว ยังมีประกาศอีกหลายเอเจนซีที่ระบุว่าสามารถให้บริการ VIP Pass ได้ที่สนามบิน ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ, เชียงใหม่ และภูเก็ตอีกด้วย

ในอดีตการมีอภิสิทธิ์ของฝั่งพม่านั้น มีการพบเห็นได้หลายครั้งในหมู่เศรษฐีพม่า หรือคนมีชื่อเสียงเพื่อให้ไม่ต้องต่อคิวผ่าน ตม. ยาวเหยียด และมีคนเข้ามารับตรงหลัง ตม. เลย ขณะที่ในส่วนของไทยเรามีการให้อภิสิทธิ์สำหรับคนที่ถือบัตร Elite card ซึ่งราคาบัตร Elite card ต่อปีก็ไม่ใช่ถูก ๆ

แต่จากเหตุการณ์นี้...นี่ถือเป็นหลักฐานอย่างโจ่งแจ้งของการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่การท่าร่วมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของไทยเลยก็ว่าได้

แน่นอนว่า หลังจากที่รัฐบาลเมียนมาประกาศเกณฑ์ทหาร ก็ทำให้คนพม่าจำนวนมากพากันออกนอกประเทศมาทำธุรกิจ มาศึกษาในไทยทั้งแบบถูกต้องและไม่ถูกต้อง และมีคนจำนวนไม่น้อยหนีคดีความมั่นคงและก่อการร้ายในเมียนมา มาแฝงตัวในประเทศไทย

ถึงแม้ว่าหลายคนจะรู้มาตลอดว่าการท่าอากาศยานมีบริการแบบนี้ อย่างที่ยูทูบเบอร์จีนรายหนึ่งเคยทำคอนเทนต์ลงในยูทูบและติ๊กต็อกมาแล้ว แต่การมาของชาวจีนกับชาวเมียนมานั้นต่างกัน...

คนจีนที่มานั้น ส่วนใหญ่เน้นมาเที่ยวและจับจ่ายใช้สอย ต่างกับชาวพม่าที่เทครัวมาอาศัยระยะยาวและอาศัยช่องว่างของกฎหมายไทย มาทำมาหากินร่วมกับคนไทย หรือข้าราชการไทยบางคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประเทศชาติ

หวังว่าเสียงเล็ก ๆ ของ ‘เอย่า’ จะไปสะกิดหูท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนะคะ

ไทยเราคงต้องเรียนรู้จากชาติตะวันตกเมื่อต้อนรับผู้ลี้ภัยข้ามชาติเข้ามาพำนักในประเทศมาก ๆ แล้วจะเป็นอย่างไร ดังตัวอย่างที่มีให้เห็นแล้วในหลายประเทศ

TikTok ยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ หลังบีบให้ ‘ขาย’ หรือ ‘ถูกแบน’ ลั่น!! เป็นการละเมิดสิทธิ ด้วยคำอ้างความมั่นคงของชาติ

เมื่อวานนี้ (7 พ.ค. 67) ติ๊กต็อก (TikTok) ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ ในความพยายามที่จะสกัดกั้นการบังคับใช้กฎหมายที่ได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งพยายามบีบให้ติ๊กต็อกต้องเลือกว่าจะขายกิจการหรือจะถูกแบน โดยเอกสารฟ้องร้องที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดีซี กล่าวหาว่า กฎหมายดังกล่าวซึ่งได้แก่ กฎหมายการปกป้องชาวอเมริกันจากแอปพลิเคชันที่ควบคุมโดยปรปักษ์ต่างชาตินั้น ละเมิดการคุ้มครองเสรีภาพในการพูดตามรัฐธรรมนูญ

เอกสารฟ้องร้องระบุว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นการละเมิดบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (First Amendment) อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ติ๊กต็อกระบุในเอกสารฟ้องร้องว่า “นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สภาคองเกรสได้ตรากฎหมายที่มุ่งเป้าแบนแพลตฟอร์มสำหรับการแสดงออกเพียงแพลตฟอร์มเดียวเป็นการถาวร…และห้ามชาวอเมริกันจากการมีส่วนร่วมในชุมชนออนไลน์มีผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก”

ติ๊กต็อกโต้แย้งว่า การอ้างถึงข้อกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติไม่ใช้เหตุผลที่เพียงพอในการจำกัดเสรีภาพในการพูด และรัฐบาลกลางมีหน้าที่ที่จะต้องพิสูจน์ว่า การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างไร แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถทำได้

ด้านนายจอห์น มูเลนาร์ สส.จากรัฐมิชิแกนและประธานคณะกรรมการสภาผู้แทนฯ ด้านการคัดเลือกที่เกี่ยวกับจีนกล่าวว่า “สภาคองเกรสและฝ่ายบริหารได้สรุปจากข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะและข้อมูลที่เป็นความลับว่า ติ๊กต็อกมีความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติและชาวสหรัฐ โดยข้อมูลระบุว่า ติ๊กต็อกยอมที่จะใช้เวลา เงิน และความพยายามในการต่อสู้ในชั้นศาล มากกว่าการแก้ปัญหาโดยการตัดสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผมมั่นใจว่ากฎหมายของเราจะมีผลบังคับใช้”

ฟากสำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า การฟ้องร้องในวันอังคารที่ผ่านมา ถือเป็นความคืบหน้าล่าสุดของสถานการณ์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินความพยายามมาหลายปีที่จะแบนติ๊กต็อก โดยความพยายามที่จะควบคุมแอปฯ ยอดนิยมนี้ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2563 ภายใต้การบริหารประเทศของทั้ง อดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ และ ปธน.โจ ไบเดน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top