รู้จัก 'เครื่องบินวันสิ้นโลก' ศูนย์บัญชาการลอยฟ้าของสหรัฐฯ พร้อมทะยาน หากเกิดสงครามนิวเคลียร์
ท่ามกลางคำขู่ของรัสเซียว่าหากนาโตเข้ามาแทรกแซง 'สงครามรัสเซีย-ยูเครน' อาจเกิดสงครามนิวเคลียร์ ส่วนปูตินก็สั่งให้กองกำลังนิวเคลียร์เตรียมพร้อมเต็มอัตรา ก็มีผู้พบเห็น เครื่องบินโบอิง 747 E4-B Nightwatch หรือเครื่องบินวันสิ้นโลก (Doomsday Plane) ของสหรัฐฯ บินป้วนเปี้ยนแถวอังกฤษ
จากข้อมูลของ FlightRadar24 พบว่า หลังจากเทกออฟจากสหรัฐฯ แยกต่างหากจากเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันที่ส่งไบเดนไปร่วมประชุมกับพันธมิตรในยุโรป เครื่องบินวันสิ้นโลกบินผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกทางตอนใต้ของไอร์แลนด์ ก่อนจะบินวนอยู่ทางตอนเหนือของเมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และคาดว่าจะมุ่งหน้าสู่ RAF Mildenhall ซึ่งเป็นสถานีกองทัพอากาศของอังกฤษ แต่ทำหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติการของกองทัพอากาศสหรัฐฯ (USAF) เป็นหลัก
ที่เครื่องบินลำนี้มีชื่อน่ากลัวว่า 'เครื่องบินวันสิ้นโลก' ก็เพราะมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ใช้งานในวันที่เกิดสงครามนิวเคลียร์หรือเหตุไม่คาดฝันอื่นๆ ขึ้นจนศูนย์บัญชาการภาคพื้นดินของสหรัฐถูกฯ ทำลายหมดไม่ต่างจากวันสิ้นโลก
ด้วยเหตุนี้เครื่องบินวันสิ้นโลกจึงมีนิกเนมว่า 'เพนตากอนลอยฟ้า' ที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการลอยฟ้าเพื่อให้การทำงานของคณะรัฐบาล ประธานธิบดี, รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม, เจ้าหน้าที่ระดับสูง และประธานเสนาธิการทหารร่วมยังคงดำเนินต่อไปได้
เครื่องบินวันสิ้นโลกถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคสงครามเย็น โดยได้รับการออกแบบให้ทนต่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากแรงระเบิดของนิวเคลียร์ มีรายงานว่าหน้าต่างของเครื่องบินโบอิง 747 E4-B Nightwatch ลำนี้มีลวดตะแกรงติดอยู่เพื่อเสริมความแข็งแกร่งไม่ให้แตก ส่วนอุปกรณ์และระบบสายไฟก็ถูกทำให้แข็งแรง และยังมีระบบป้องกันความร้อนและนิวเคลียร์ในกรณีที่เกิดการระเบิด
ภายในตัวเครื่องแบ่งออกเป็น 3 ส่วน จุคนได้มากถึง 112 คน มีห้องนอน 18 ห้อง ห้องน้ำ 6 ห้อง ห้องบรรยายสรุป 1 ห้อง ห้องประชุม พื้นที่สำหรับทำงาน และส่วนของเจ้าหน้าที่ระดับสูง
เครื่องบินลำนี้สามารถบินได้นานถึง 12 ชั่วโมงโดยไม่ต้องหยุดพัก และด้วยความที่สามารถเติมน้ำมันได้กลางอากาศจึงทำให้อยู่บนน่านฟ้าได้นานหลายวัน โดยสถิติล่าสุดอยู่ที่ 35.4 ชั่วโมง
จุดที่แตกต่างจากเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันที่ตกแต่งอย่างหรูหราเน้นความสบายคือ การตกแต่งเครื่องบินลำนี้เน้นฟังก์ชั่นการใช้งานเป็นหลัก โดยจะติดตั้งอุปกรณ์แบบอะนาล็อกแทนที่จะเป็นเครื่องมือดิจิทัลทันสมัย เพื่อให้เครื่องบินสามารถทำงานต่อไปได้หากถูกพลังแม่เหล็กไฟฟ้าจากระเบิดนิวเคลียร์รบกวน ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์น้อยกว่า
ส่วนหัวของเครื่องบินมีส่วนที่นูนขึ้นมาเรียกว่า 'Ray dome' ที่บรรจุจานดาวเทียมหลายสิบจานและเสาอากาศสำหรับติดต่อสื่อสารกับเรือ, เรือดำน้ำ และอากาศยานของสหรัฐฯ ได้ทุกที่ทั่วโลก
สื่อท้องถิ่นของอังกฤษคาดว่าเครื่องบิน 747 E4-B Nightwatch ลำนี้ ซึ่งดัดแปลงมาจากเครื่องบินโบอิง 747-200B มีมูลค่าราว 180 ล้านยูโร หรือราว 6,650 ล้านบาท
นอกจากนี้ ฝูงบินเครื่องบินวันสิ้นโลกของสหรัฐฯยังมีหลายลำ โดยอย่างน้อย 1 ลำต้องเตรียมพร้อมขึ้นบินตลอดเวลา อาทิ โบอิง E-6 Mercury เป็นฐานบัญชาการทางอากาศและถ่ายทอดการสื่อสารโดยใช้เครื่องโบอิง 707-320 โดยเครื่องรุ่น E-6A เข้าประจำการในกองทัพเรือสหรัฐฯ เมื่อเดือน ก.ค. 1989 แทนที่ EC-130Q
ขณะนี้ได้รับการโมดิฟายเป็นรุ่น E-6B เข้าประจำการเมื่อเดือน ต.ค. 1998 สามารถควบคุมขีปนาวุธข้ามทวีป Minuteman ด้วยระบบควบคุมการยิงขีปนาวุธทางอากาศ
และ Northrop Grumman E-10 MC2A ที่สร้างจากเครื่องบินพาณิชย์โบอิง 767-400ER
