นายกฯ สั่งทุกจังหวัดเคร่งครัดมาตรการป้องกันไข้เลือดออก พร้อมดูแลประชาชนจากสัตว์มีพิษที่มาในช่วงพายุฤดูร้อน

(26 มี..65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยสุขภาพประชาชนในช่วงที่สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนจากพายุฤดูร้อน เกิดฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีน้ำขัง กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายซึ่งเป็นพาหะไข้เลือดออก จึงได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยสอดส่อง ดูแล ประชาชน รวมทั้ง ป้องกัน ทำลาย แหล่งเพาะเชื้อยุง เพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ หากมีอาการป่วย มีไข้สูง หรืออ่อนเพลีย ให้สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจุบันมีการระบาดของโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย อาจทำให้ผู้ป่วยสับสนว่าเป็นอาการของโรคใดจนอาจได้รับการรักษาล่าช้า และแม้มีอาการเริ่มต้นคล้ายกัน เช่น มีไข้สูง หรืออ่อนเพลีย แต่หากตรวจ ATK แล้วผลเป็นลบ และเมื่อดูอาการครบ 48 ชม. แล้วแต่ยังไม่ดีขึ้น ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถิติการเฝ้าระวังการเกิดโรคไข้เลือดออกระหว่างปี 2563-2564 ที่ผ่านมามีจำนวนผู้ป่วยลดลง ซึ่งเคยสูงถึง 131,157 รายในปี 2562 ลดลงเหลือ 72,130 ราย ในปี 2563 และ 8,754 ราย ในปี 2564 แต่กรมควบคุมโรคได้คาดการณ์ว่าในปี 2565 นี้อาจมีการระบาดเพิ่มขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการเคร่งครัด บังคับใช้มาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออกในทุกจังหวัดอย่างเร่งด่วน โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเพื่อสำรวจและพ่นสารกำจัดลูกน้ำยุงลาย รณรงค์การกำจัดยุงลายผ่านมาตรการ 3 เก็บ 3 โรค กล่าวคือ

1. เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงเกาะพัก 2. เก็บขยะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3. เก็บน้ำให้มิดชิดไม่ให้ยุงวางไข่ เพื่อป้องกัน 1. โรคไข้เลือดออก 2. โรคไวรัสซิกา และ 3. โรคปวดข้อยุงลาย รวมทั้งยังได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่มีพาหะจากยุง รวมถึงการใช้ยาให้ถูกโรค และต้องมีแพทย์หรือเภสัชกรคอยแนะนำเสมอ โดยได้เน้นย้ำถึงกลุ่มอาการของโรคไข้เลือดออก เช่น มีไข้สูง อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว อาเจียน รู้สึกระสับกระส่าย หรือเริ่มมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง เป็นต้น แตกต่างจากโรคโควิด-19 ที่แสดงอาการปัญหาระบบทางเดินหายใจและมีสารคัดหลั่งที่ชัดเจน เช่น เป็นหวัด น้ำมูกไหล ไอ มีเสมหะ หรือเจ็บคอ เป็นต้น

นายธนกร กล่าวอีกว่า ในฤดูนี้นอกจากอันตรายของโรคไข้เลือดออกแล้ว ยังมีอันตรายจากสัตว์ดุร้ายและมีพิษที่มาจากการหลบฝนหนีน้ำ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง แมลงก้นกระดก รวมถึงพยาธิที่อาศัยในแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ลดความเสี่ยง เพื่อความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของประชาชนเสมอมา โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางด้านสาธารณสุขเพื่อรับมืออุบัติเหตุจากสัตว์ร้ายและมีพิษกัด ต่อย ในช่วงมีฝน ให้คำแนะนำด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนส่งผู้ป่วยถึงมือหมอ พร้อมเชิญชวนประชาชนในการดูแลตนเอง เช่น หมั่นสำรวจบริเวณบ้าน จัดระเบียบของให้สะอาดตาเพื่อลดมุมอับที่สัตว์สามารถเข้าไปอยู่ได้ ตรวจสอบสิ่งแปลกปลอมในเครื่องนุ่งห่มก่อนสวมใส่ หลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำโคลน และเมื่อพบสัตว์มีพิษให้เรียกผู้เชี่ยวชาญมาช่วย เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีห่วงใยต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน เนื่องจากภูมิอากาศของไทยที่เปลี่ยนแปลงบ่อยส่งผลต่อปัจจัยการเกิดโรค และปัจจัยอันตรายอื่นๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ จึงได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ เตรียมพร้อมรับมือ และให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างสุดความสามารถ เพื่อปกป้องประชาชนจากความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ นายกฯ ขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน รวมไปถึงประชาชนทุกคนให้ระมัดระวัง ให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตามมาตรการ และคำแนะนำด้านการป้องกันโรคติดต่อจากรัฐบาลเพื่อลดความเสี่ยง เสริมสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิต และส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชน” นายธนกรกล่าว