Saturday, 25 May 2024
ไข้เลือดออก

นายกฯ สั่งทุกจังหวัดเคร่งครัดมาตรการป้องกันไข้เลือดออก พร้อมดูแลประชาชนจากสัตว์มีพิษที่มาในช่วงพายุฤดูร้อน

(26 มี..65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยสุขภาพประชาชนในช่วงที่สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนจากพายุฤดูร้อน เกิดฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีน้ำขัง กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายซึ่งเป็นพาหะไข้เลือดออก จึงได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยสอดส่อง ดูแล ประชาชน รวมทั้ง ป้องกัน ทำลาย แหล่งเพาะเชื้อยุง เพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ หากมีอาการป่วย มีไข้สูง หรืออ่อนเพลีย ให้สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจุบันมีการระบาดของโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย อาจทำให้ผู้ป่วยสับสนว่าเป็นอาการของโรคใดจนอาจได้รับการรักษาล่าช้า และแม้มีอาการเริ่มต้นคล้ายกัน เช่น มีไข้สูง หรืออ่อนเพลีย แต่หากตรวจ ATK แล้วผลเป็นลบ และเมื่อดูอาการครบ 48 ชม. แล้วแต่ยังไม่ดีขึ้น ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถิติการเฝ้าระวังการเกิดโรคไข้เลือดออกระหว่างปี 2563-2564 ที่ผ่านมามีจำนวนผู้ป่วยลดลง ซึ่งเคยสูงถึง 131,157 รายในปี 2562 ลดลงเหลือ 72,130 ราย ในปี 2563 และ 8,754 ราย ในปี 2564 แต่กรมควบคุมโรคได้คาดการณ์ว่าในปี 2565 นี้อาจมีการระบาดเพิ่มขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการเคร่งครัด บังคับใช้มาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออกในทุกจังหวัดอย่างเร่งด่วน โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเพื่อสำรวจและพ่นสารกำจัดลูกน้ำยุงลาย รณรงค์การกำจัดยุงลายผ่านมาตรการ 3 เก็บ 3 โรค กล่าวคือ

1. เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงเกาะพัก 2. เก็บขยะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3. เก็บน้ำให้มิดชิดไม่ให้ยุงวางไข่ เพื่อป้องกัน 1. โรคไข้เลือดออก 2. โรคไวรัสซิกา และ 3. โรคปวดข้อยุงลาย รวมทั้งยังได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่มีพาหะจากยุง รวมถึงการใช้ยาให้ถูกโรค และต้องมีแพทย์หรือเภสัชกรคอยแนะนำเสมอ โดยได้เน้นย้ำถึงกลุ่มอาการของโรคไข้เลือดออก เช่น มีไข้สูง อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว อาเจียน รู้สึกระสับกระส่าย หรือเริ่มมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง เป็นต้น แตกต่างจากโรคโควิด-19 ที่แสดงอาการปัญหาระบบทางเดินหายใจและมีสารคัดหลั่งที่ชัดเจน เช่น เป็นหวัด น้ำมูกไหล ไอ มีเสมหะ หรือเจ็บคอ เป็นต้น

‘บังกลาเทศ’ เจอ ‘ไข้เลือดออก’ เชื้อเด็งกีระบาดหนัก คร่าชีวิตไปกว่า 1,000 ศพ สูงสุดเป็นประวัติการณ์

(5 ต.ค. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขของบังกลาเทศเปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกจำนวน 11 รายเมื่อวานนี้ ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตตั้งแต่ต้นปีนี้อยู่ที่ 1,017 ราย ขณะที่มีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นอีก 2,564 ราย

จำนวนผู้เสียชีวิตในปีนี้สูงกว่าเกือบ 4 เท่าของปีที่แล้ว ซึ่งมีจำนวน 281 ราย และทำให้ปีนี้เป็นปีที่บังกลาเทศได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากไข้เลือดออกนับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดในปี 2543

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบังกลาเทศ กล่าวว่า การระบาดระลอกล่าสุดเล่นงานพวกเขาโดยไม่ทันตั้งตัว มีสาเหตุจากเชื้อเด็งกีสายพันธุ์ที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งหมอหลายคนระบุว่า อาการของผู้ป่วยไข้เลือดออกในช่วงไม่นานมานี้ทรุดลงเร็วกว่าเมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา โดยทั้ง 64 เขตทั่วประเทศตรวจพบผู้ติดเชื้อเด็งกีครบทั้งหมดแล้ว

ขณะเดียวกันผู้ป่วยจำนวนมากกำลังล้นทะลักโรงพยาบาล เช่น ในกรุงธากามีผู้ติดเชื้อเด็งกีหลายร้อยคนกำลังรอรับการรักษา ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนสารละลายสำหรับให้ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งสำคัญมากต่อการรักษาผู้ป่วยเด็งกีที่มักเกิดอาการขาดน้ำ

‘หมอมนูญ’ ห่วง!! ‘เด็ก-ผู้ใหญ่’ เสี่ยงป่วยไข้เลือดออก แนะฉีดวัคซีนป้องกัน ช่วยลดป่วยรุนแรงได้

(1 ก.พ. 67) นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ไวรัสไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ คนจึงอาจเป็นแล้วเป็นอีกได้ถึง 4 ครั้ง โรคนี้เป็นได้ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นครั้งที่ 2 จะหนักกว่าครั้งอื่น ๆ กลุ่มเสี่ยงที่ป่วยหนักคือ ผู้ใหญ่วัยทำงานถึงวัยกลางคนอายุ 25-54 ปี เพราะมีโอกาสติดเชื้อครั้งที่ 2 สูงกว่ากลุ่มอื่น แม้คนติดเชื้อครั้งที่ 2 จะสุขภาพดีก็ยังสามารถป่วยเป็นไข้เลือดออกรุนแรงได้ ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะเจาะจง

ในปี 2566 ไข้เลือดออกระบาดหนักที่สุดในรอบ 5 ปี และในปี 2567 ไข้เลือดออกเป็นอีกโรคหนึ่งที่คาดว่าจะระบาดหนักร่วมกับโควิดและไข้หวัดใหญ่

โชคดีว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยมีวัคซีนตัวที่ 2 เพิ่งเข้าประเทศไทย ชื่อวัคซีน Qdenga เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ มีประสิทธิภาพดี สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้ทั้ง 4 สายพันธุ์สูงถึง 80.2% และลดการนอนโรงพยาบาลด้วยไข้เลือดออกได้สูงถึง 90.4% มีการศึกษาติดตามระยะยาวถึง 4.5 ปี พบว่ายังคงประสิทธิภาพในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลจากไข้เลือดออกได้ถึง 84.1%

โดยแนะนำให้ฉีดเข้าต้นแขนใต้ผิวหนัง (subcutaneous) ในคนอายุ 4-60 ปี จำนวน 2 เข็ม โดยห่างกัน 3 เดือน เป็นวัคซีนที่ไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดก่อนฉีดวัคซีน เนื่องจากสามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออก แตกต่างจากวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกตัวแรก Dengvaxia ที่ต้องตรวจเลือดก่อนฉีด เพราะฉีดได้เฉพาะผู้ที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกเท่านั้น

ข้อห้าม: ห้ามฉีดผู้หญิงตั้งครรภ์ และกำลังให้นมบุตร คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ กินยากดภูมิ ได้ยาเคมีบำบัด เคยปลูกถ่ายอวัยวะ และคนติดเชื้อไวรัสเอชไอวี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top