รังสิมันต์ โรม ตอบโฆษกศาลยุติธรรม ยืนยันไม่เคยหนีคดีป่ารอยต่อ แจงชัด 11 มี.ค. มีประชุม ‘คณะทำงาน’ ของ กมธ.พัฒนาการเมืองแน่นอน ย้อนให้กลับไปถามตำรวจ ทำไมหมายเรียกมาถึงแค่ฉบับเดียว แนะนำประสบการณ์ของตนไปช่วยปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ดีขึ้นพื่อเรียกคืนศรัทธาจากประชาชน
รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อชี้แจงตอบโต้กรณีที่ สรวิศ ลิปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ออกมาอธิบายขั้นตอนเกี่ยวกระบวนการออกหมายจับของศาลอาญาตลิ่งชัน ในคดีที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ แจ้งความฐานหมิ่นประมาทตน โดยอ้างว่ามีการออกหมายเรียกหลายครั้ง และกระทำส่อไปในทางบ่ายเบี่ยงไปเรื่อยๆ เพื่อไม่มาตามหมายเรียก จึงต้องออกหมายจับนั้น
รังสิมันต์ กล่าวว่า จากคำชี้แจงของสรวิศ ได้กล่าวว่า มีการออกหมายเรียกที่ไม่ได้ออกในระหว่างสมัยประชุมสภา 3 ฉบับ คือ
1. ฉบับที่นัดให้ไปพบตำรวจในวันที่ 15 ตุลาคม 2564
2. ฉบับที่นัดให้ไปพบตำรวจในวันที่ 26 ตุลาคม 2564
3. ฉบับที่นัดให้ไปพบตำรวจในวันที่ 11 มีนาคม 2565
“ผมขอชี้แจงว่าในบรรดาหมายเรียกทั้งหมดที่นายสรวิศอ้างถึงนั้น มีเพียงหมายเรียกฉบับที่ 3 เท่านั้นที่ผมได้รับเอกสารจริงๆ ส่วนหมายเรียก 2 ฉบับแรกนั้นไม่เคยมาถูกส่งมาถึงมือผมเลยแม้แต่น้อย ซึ่งผมก็ไม่ทราบเช่นกันว่าหมายเรียกนั้นไม่เคยมีออกมาแต่แรก หรือได้ออกมาแล้วแต่ส่งมาไม่ถึงที่อยู่ของผม หรือจงใจไม่ส่งมาที่ที่อยู่ของผมกันแน่ ส่วนที่ว่ามีการนัดและขอเลื่อนนัดกันนั้นก็เกิดจากการโทรศัพท์ติดต่อกันปากเปล่ามาที่ทนายความของผมทั้งสิ้น ซึ่งทางผมก็ได้แจ้งเหตุภารกิจของผู้แทนราษฎรในการขอเลื่อนนัดพบไปตามกระบวนการขั้นตอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรื่องนี้แม้กระทั่งทางศาลอาญาตลิ่งชันก็ยังยอมรับในเหตุขัดข้องที่ผมได้แจ้งไป จึงได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอออกหมายจับผมที่ทางตำรวจยื่นมาในครั้งแรก ซึ่งข้อเท็จจริงเรื่องการยกคำร้องของศาลนั้นคุณสรวิศได้ชี้แจงไว้เอง” รังสิมันต์ ระบุ
สำหรับประเด็นหมายเรียกครั้งล่าสุดที่ให้ไปพบตำรวจในวันที่ 11 มีนาคม 2565 นายสรวิศกล่าวว่า ตนได้แจ้งเหตุขัดข้องว่ามีการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่เมื่อตรวจสอบในเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการฯ แล้วไม่พบว่ามีการประชุมนัดประชุมในวันดังกล่าว
รังสิมันต์ ชี้แจงว่า การประชุมดังกล่าวคือการประชุมของ ‘คณะทำงาน’ ที่ถูกตั้งด้วยคำสั่งโดยชอบของประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน คณะทำงานที่ว่านี้ไม่ใช่ตัวของคณะกรรมาธิการเอง และไม่ใช่อนุกรรมาธิการ ดังนั้นจึงไม่ได้มีการลงนัดประชุมไว้ในเว็บไซต์ โดยคณะทำงานชุดนี้ทำหน้าที่ในการศึกษาเกี่ยวกับการบิดเบือนกฎหมายของเจ้าพนักงานในตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เพื่อทำรายงานส่งคณะกรรมาธิการฯ ชุดใหญ่ต่อไป โดยมีประธานคือ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ และตนเป็นรองประธาน มีการประชุมในทุกวันศุกร์ ซึ่งรวมถึงวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2565 ที่ตนก็ได้เข้าประชุมด้วย จึงเป็นเหตุให้ต้องขอเลื่อนการนัดพบเจ้าหน้าที่ตำรวจตามที่ได้แจ้งไป ซึ่งถ้าหากศาลเห็นว่าคณะทำงานดังกล่าวไม่เหมือนกันกับคณะกรรมาธิการ ก็ยังสามารถให้ออกหมายเรียกเป็นครั้งที่ 2 ได้ แต่ศาลก็เลือกอนุมัติให้ออกหมายจับในที่สุด
สรุปแล้วในบรรดาหมายจับทั้งหมดที่นายสรวิศอ้างถึง มีเพียงหมายจับฉบับสุดท้ายเท่านั้นถึงตนได้รับแล้วอย่างถูกต้องเพียงฉบับเดียว ซึ่งทางตนก็ได้แจ้งกลับไปแล้วว่าจะขอเลื่อนนัดมาเข้าพบตำรวจเป็นวันที่ 31 มีนาคม 2565 พร้อมเอกสารประกอบยืนยันข้อเท็จจริง เช่นนี้แล้วทางตำรวจมีเหตุอะไรอีกที่จะมาออกหมายจับตนได้ และถึงที่สุดกับคดีหมิ่นประมาทที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี