Monday, 1 July 2024
TheStatesTimes

อย่ากลัว!! 'กฎหมายอาญา' หากไม่ได้ทำความผิด แต่เมื่อทำผิด!! ไม่ว่าจะมาตราไหนย่อมต้องติดคุก

หลายคดี 112 ถูกตีฟันเข้ามาพร้อม ๆ กันในวันที่ 27 พ.ค. 67 โดยศาลได้ตัดสินจำคุก 2 ผู้กระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้แก่...

(1) น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล กรณีการชุมนุมที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อ 11 กันยายน 2564 เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง แต่กลับปราศรัยเกี่ยวข้องพาดพิงกับการออก พ.ร.บ.ระเบียบราชการในพระองค์ 2560 และ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2561 จนเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายอาญาตามมาตรา 112  

เช่นเดียวกับ (2) นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์หรือ แอมมี่ เดอะ บอตทอม บลูส์ ศิลปิน-แกนนำม็อบป่วนเมือง และนายธนพัฒน์ หรือปูน กาเพ็ง ซึ่งเป็นจำเลย 1-2 ในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 'มาตรา 217' ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 

(3) เมื่อคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้ง 2 ได้ร่วมกันวางเพลิง โดยใช้น้ำมันก๊าดราดใส่ และจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งประดิษฐานติดตั้งบริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมจนได้รับความเสียหาย

เช่นเดียวกับบรรดาตัวตึงเหล่านี้ ได้แก่ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ 25 คดี, อานนท์ นำภา 14 คดี, ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 10 คดี, ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก 9 คดี, ‘แพรว’ เบนจา อะปัญ 8 คดี, ‘ไบร์ท’ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง 8 คดี, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 6 คดี, พรหมศร วีระธรรมจารี 5 คดี, ชูเกียรติ แสงวงค์, วรรณวลี ธรรมสัตยา, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ 4 คดี และ ‘มายด์’ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี 

แน่นอนว่าชีวิตของคนเหล่านี้จะต้องวนเวียนขึ้นศาลและเข้าคุก หรือไม่ก็ต้องหลบหนีการดำเนินคดีออกนอกประเทศไปอีกนาน

นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 - 10 พฤษภาคม 2567 มีการดำเนินคดีมาตรา 112 ไปทั้งสิ้น 303 คดี มีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 272 คน 

หากย้อนไปก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้ว คดีความผิดตามมาตรา 112 เกิดขึ้นในแต่ละปีน้อยรายมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการนำเอาสถาบันฯ เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยบรรดานักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยที่ผู้มีอำนาจรัฐหรือรัฐบาลในเวลาต่อมาไม่ได้พยายามตั้งใจที่จะป้องปรามหรือป้องกันแก้ไขเรื่องราวที่ไม่ถูกต้อง แต่มีผู้ที่ประสงค์ร้ายต่อชาติบ้านเมืองนำมากล่าวเท็จ ใส่ร้าย ยุยง ปลุกปั่น ให้เกิดความเข้าใจผิดในสถาบันฯ อยู่เรื่อยมา

ในเวลาต่อมา มีกลุ่มบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นคนรุ่นใหม่แต่มีพฤติกรรมและพฤติการณ์ที่เป็นพวกปฏิกษัตริย์นิยม (Anti-Royalism) เข้ามามีบทบาทในสังคมและการเมือง คนพวกนี้ต่างยุยงให้ท้าย แต่ไม่ออกหน้า ทำตัวเป็นอีแอบหลังเด็ก ๆ และเยาวชนที่พวกตนหลอกล่อและล้างสมองให้เกิดความงมงายเพื่อต่อต้านสถาบันฯ อย่างไร้เหตุผล จากการชุมนุมโดยอ้างสิทธิเสรีภาพอย่างปราศจากขอบเขต ปราศรัยบนเวที และส่งต่อแนวคิดผ่านโซเชียลมีเดีย 

ซ้ำร้ายยัง 'ชักชวน-บีบบังคับ' ให้มีการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยได้บิดเบือนอ้างว่า กฎหมายนี้ทั่วโลกไม่มีใครนำมาใช้ และไม่เป็นธรรม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทั่วโลกยังใช้กฎหมายมาตรานี้อยู่ ซ้ำยังบังคับใช้อย่างจริงจังและรุนแรงอีกด้วย

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเพียงกฎหมายป้องกันการหมิ่นประมาทหนึ่งในกฎหมายหมิ่นประมาท 3 จำพวกเช่นเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทของนานาประเทศได้แก่...

1) หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา (ม.326 ประมวลกฎหมายอาญาของไทย)

2) หมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ม.136ประมวลกฎหมายอาญา และหากหมิ่นประมาทศาลก็จะมีความเฉพาะเจาะจงลงไปอีก)

3) หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือประมุขของรัฐ (ม.112 ประมวลกฎหมายอาญาของไทย) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”

ตัวอย่างของกฎหมายลักษณะเดียวกับมาตรา 112 ในประเทศต่าง ๆ ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อาทิ...

- สเปน มาตรา 490 และ 491 ของประมวลกฎหมายอาญาควบคุมการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ บุคคลใดที่หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น กษัตริย์ ราชินี บรรพบุรุษหรือทายาทมีโทษจำคุกได้สองปี 

- บรูไน การหมิ่นสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนถือเป็นอาชญากรรม มีโทษจำคุกสามปี

- กัมพูชา กุมภาพันธ์ 2018 รัฐสภากัมพูชาได้ลงมติให้การกระทำอันเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์ใด ๆ ที่มีโทษจำคุกสูงสุดหนึ่งถึงห้าปี และปรับ 2 ถึง 10 ล้านเรียล 

- มาเลเซีย มีกฎหมายที่เจ้าหน้าที่สามารถตั้งข้อหาผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบันฯ ได้

- โมร็อกโก มีผู้ถูกดำเนินคดีจากข้อความที่ถือว่าเป็นการล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ โดยบทลงโทษขั้นต่ำสำหรับความผิดดังกล่าวคือ จำคุกหนึ่งปีหากคำแถลงดังกล่าวจัดทำขึ้นเป็นการส่วนตัว (เช่นไม่ออกอากาศ) และจำคุกสามปีหากเผยแพร่ในที่สาธารณะ ในทั้งสองกรณีสูงสุดคือ 5 ปี 

- ซาอุดีอาระเบีย การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือประมุขของรัฐ จะถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่มีผลบังคับใช้ในปี 2014 การกระทำที่ ‘คุกคามเอกภาพของซาอุดีอาระเบีย รบกวนความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของรัฐหรือกษัตริย์’ ถือเป็นการกระทำที่เป็นการก่อการร้าย ความผิดดังกล่าวอาจได้รับการลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรง รวมถึงการเฆี่ยนในที่สาธารณะ การจำคุกที่ยาวนาน และแม้กระทั่งการประหารชีวิต อาจมีการพิจารณาโทษเป็นรายกรณี เนื่องจากระบบกฎหมายของซาอุดีอาระเบียมีลักษณะตามอำเภอใจ (น่าแปลกที่บรรดานักเคลื่อนไหวและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ต่างก็ไม่เข้าไปยุ่งเลย)

ตัวอย่างของกฎหมายลักษณะเดียวกับมาตรา 112 ในประเทศต่าง ๆ ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข เช่น...

- เยอรมนี การดูหมิ่นประธานาธิบดีผิดกฎหมาย แต่การฟ้องร้องต้องได้รับอนุญาตจากประธานาธิบดี

- ไอซ์แลนด์ การดูหมิ่น ประธานาธิบดี ประมุขของรัฐต่างประเทศ ผู้แทน หรือธงชาติ อาจถูกลงโทษโดยจำคุกไม่เกินสองปี สำหรับการละเมิดที่ร้ายแรงมากโทษสูงสุดสามารถขยายได้ถึงหกปี

- โปแลนด์ การดูหมิ่นประมุขต่างประเทศในที่สาธารณะถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย 

- รัสเซีย มีนาคม 2019 สภานิติบัญญัติของรัสเซียได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยข่าวปลอมหรือดูหมิ่นประธานาธิบดีรัสเซีย นายกรัฐมนตรี และประมุขต่างประเทศจากนั้นต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 วัน และปรับไม่เกิน 30,000 รูเบิล

- สวิตเซอร์แลนด์ ดูหมิ่นประมุขต่างประเทศต่อหน้าสาธารณชนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย บุคคลใดที่ดูหมิ่นอย่างเปิดเผยต่อบุคคลที่เป็นประมุขของรัฐ สมาชิกของรัฐบาล ผู้แทนทางการทูต ผู้แทนอย่างเป็นทางการในการประชุมทางการทูตที่จัดขึ้นในสวิตเซอร์แลนด์หรือผู้แทนอย่างเป็นทางการคนใดคนหนึ่งขององค์กรระหว่างประเทศ หรือแผนกที่ประจำอยู่หรือนั่งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือต้องโทษปรับ

- สหรัฐอเมริกา Craig Robertson ชายผู้ที่โพสต์ข้อความข่มขู่ต่อประธานาธิบดี Joe Biden ทางออนไลน์ ถูก FBI บุกเข้าจับกุมและยิงจนเสียชีวิตภายในบ้านพักของเขาเอง

ข้อมูลต่างประเทศเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าบรรดาผู้ที่ปลุกปั่นและผู้ที่ถูกหลอกให้เคลื่อนไหวให้ยกเลิกมาตรา 112 ไม่ได้แตกฉานในข้อเท็จจริงและเจตนาของกฎหมาย แต่กล่าวอ้างด้วยความจงใจที่จะให้เกิดความแตกแยกและเกลียดชังในสังคม และในทางกลับกันหากมีใครไปด่าว่าบุพการีของคนเหล่านั้นแล้ว คนเหล่านั้นเองยินยอมที่จะไม่แจ้งความดำเนินคดีจับผู้ที่ด่าว่าบุพการีของพวกตนตามประมวลกฎหมายมาตรา 326 หรือไม่? 

แต่ที่แน่ ๆ ก็คือหนึ่งในแกนนำของพวกปฏิกษัตริย์นิยมเอง กลับนำมาตรา 326 ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบรรดาผู้ที่โพสต์พาดพิงตัวเองในโซเชียลมีเดียมากมายหลายคดี 

ฉะนั้นแล้วกฎหมายอาญาทุกมาตรา หากไม่ได้ทำความผิดก็ย่อมที่จะไม่มีความผิดตามกฎหมาย และเมื่อไม่ได้ทำความผิดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกลัวการถูกดำเนินคดี แต่เมื่อทำผิดกฎหมายในคดีอาญาแล้ว...ไม่ว่ามาตราไหนก็ตาม ย่อมต้องถูกลงโทษ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมอันเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เหมือนกันกับทุกประเทศบนโลกใบนี้

‘สรรเพชญ’ ห่วง ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ กระทบศก.ภาคใต้ วอน!! รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืน

(27 พ.ค. 67) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาให้ความเห็น หลังชาวสวนปาล์มประสบปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ โดยกล่าวว่า “ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจของภาคใต้ เพราะประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ปลูกสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2565 ก็มีสัญญาณเตือนจากนักวิชาการมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลให้เกิดภัยแล้ง หรือกรณีที่อินโดนีเซีย ได้ประกาศยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม ความนิยมในการใช้รถอีวีเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้ความต้องการปาล์มน้ำมันในตลาดลดน้อยลง 

ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรก็ได้ออกมาเตือนแล้วว่า สินค้าที่น่าเป็นห่วง คือ “ปาล์มน้ำมัน” แต่ด้วยภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้กำกับดูแลด้านนี้โดยตรงในรัฐบาลที่แล้ว ทำให้ผ่านปัญหาเหล่านั้นมาได้ และส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันเป็นที่น่าพอใจ 

เมื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมาอยู่ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชาวสวนปาล์มก็มีความหวังว่า รัฐบาลจะสามารถดำเนินงานเพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้นได้ ประกอบกับเมื่อต้นเดือนมกราคม 2566 ช่วงก่อนเลือกตั้งประธาน สส. และประธานคณะกรรมการนโยบายด้านการเกษตรของพรรคเพื่อไทยก็ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลในขณะนั้น แก้ไขปัญหาเรื่องปาล์มน้ำมัน เนื่องจากอ้างว่าปาล์มน้ำมันปิดรับการรับซื้อเพราะปาล์มล้นตลาดและทำให้ราคาปาล์มน้ำมันในประเทศตกต่ำสวนทางตลาดโลก ในกรณีนี้น่าจะเป็นข้อมูลให้รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญและเตรียมการรับมือไว้เมื่อได้เข้ามาเป็นรัฐบาล 

ซึ่งนายสรรเพชญ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะนโยบายของพรรคเพื่อไทยไม่ได้ระบุเรื่องเพิ่มราคาปาล์มน้ำมันให้ได้ 3 เท่าเหมือนสินค้าเกษตรอื่น ๆ จึงส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันตกลงมาดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และกลายเป็นว่ารัฐบาลเองทำให้ราคาปาล์มน้ำมันสวนทางตลาดโลกและตกต่ำกว่ารัฐบาลในสมัยที่แล้ว  

นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่นายภูมิธรรม ได้ออกมาสั่งการให้กรมการค้าภายใน ลงพื้นที่สำรวจเพื่อติดตามราคาปาล์มน้ำมันว่า ตนคาดหวังอยากให้นายภูมิธรรม ได้ให้ความสนใจกับพื้นที่ภาคใต้มากกว่านี้ เหมือนความพยายามที่จะขายข้าวเก่า 10 ปีดังที่ปรากฏในข่าวปัจจุบัน เพราะปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ และหวังให้นายภูมิธรรม แก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและแก้ปัญหาได้ในระยะยาว ไม่ใช่เพียงให้จบไปแค่ตอนนี้ แต่คาดหวังให้เกิดความยั่งยืนและไม่เกิดปัญหาเดิมซ้ำอีกในอนาคต

NT ร่วม FIBO มจธ. หารือการพัฒนา 'Robotics-Generative AI' พร้อมชวนนักศึกษาคนเก่ง ร่วมแชร์ไอเดียต่อยอดให้เกิดขึ้นจริง

เมื่อวานนี้ (27 พ.ค. 67) พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและพนักงาน ประชุมร่วมกับ รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม และ ผศ.ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) หรือ มจธ.

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก ความก้าวหน้า และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาการหุ่นยนต์และ Generative AI ตลอดจนสำรวจความเป็นไปได้และโอกาสในการพัฒนางานร่วมกันของทั้ง 2 หน่วยงาน 

นอกจากนี้ NT ยังได้หารือร่วมกับทีมนักศึกษา FIBO มจธ. ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมระดับประเทศ เพื่อร่วมผลักดันงานด้านวิทยาการหุ่นยนต์และ Generative AI ในอนาคต

“พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ” มอบประกาศเกียรติคุณ “ทำดี มีรางวัล” ให้กับตำรวจ 3 นาย ทำงานด้วยหัวใจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้กำลังใจ ยกเป็นแบบอย่างที่ดี

วันนี้ (27 พฤษภาคม 2567) เวลา 10.30 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร.) มอบใบประกาศเกียรติคุณตามโครงการ “ทำดี มีรางวัล” ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย คือ ร.ต.ท.นพกร สินทอง ร.ต.ท.พิทยายุทธ ชาวงษ์ รอง สว.(จร.) ช่วยราชการศูนย์ควบคุมสั่งการและการจัดจราจรทางพิเศษ (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และ ส.ต.ต.พงศธร อุดมทวี ผบ.หมู่ ฝ่ายป้องกันปราบปราม สน.บางพลัด จาก 2 เหตุการณ์ โดยมี พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ร่วมแสดงความยินดี

เหตุการณ์แรก เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 เวลาประมาณ 07.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งอุบัติเหตุรถชนกันบริเวณลงด่านบางแก้ว มุ่งหน้า ถนนเทพรัตน์ หรือ ถนนบางนา-ตราด จึงเข้าตรวจสอบ ในเบื้องต้นไม่พบผู้บาดเจ็บ ถึงแยกรถคู่กรณีมาจอด ณ จุดเว้า เพื่อรอประกันภัยรถยนต์มาตรวจสอบ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกการจราจร ได้สังเกตเห็นรถยนต์ของคู่กรณีมีอาการสั่นอย่างรุนแรง ร.ต.ท.นพกรฯ และ ร.ต.ท.พิทยายุทธฯ จึงรีบเข้าตรวจสอบ พบว่าผู้ขับขี่มีอาการชักกระตุกและไม่พบสัญญาณชีพ เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 2 นายจึงเข้าให้การช่วยเหลือปฐมพยาบาลด้วยการปั๊มหัวใจ หรือ CPR จนผู้ป่วยกลับมามีสัญญาณชีพและฟื้นคืนสติ ในขณะเดียวกันได้แจ้งให้หน่วยกู้ชีพเข้าช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลต่อไป

เหตุการณ์ที่ 2 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 เวลาประมาณ 19.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง ส.ต.ต.พงศธร อุดมทวี ผบ.หมู่ ฝ่ายป้องกันปราบปราม สน.บางพลัด ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ ตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรบริเวณแยกบางพลัด ได้สังเกตเห็นเด็กหญิงและเด็กชายรวมถึงคุณแม่ยืนกอดกันตากฝนอยู่บริเวณเกาะกลางถนน จึงได้รีบวิ่งถือร่มเข้าช่วยเหลือ นำเด็กทั้งสองคนไปหลบฝนที่ป้อมจราจร โดยให้คุณแม่ขี่รถจักรยานยนต์ตามมา โดยคลิปวีดีโอดังกล่าวด้วยถูกเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ และได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ กล่าวว่า ขอขอบคุณและชื่นชม ร.ต.ท.นพกรฯ , ร.ต.ท.พิทยายุทธฯ และ ส.ต.ต.พงศธรฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างแท้จริง เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม สมควรได้รับการยกย่องสรรเสริญ ตามโครงการ “ทำดี มีรางวัล” เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมสืบไป พร้อมขอให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับส่งเสริมข้าราชการตำรวจปฏิบัติหน้าที่เพื่อพี่น้องประชาชนลักษณะเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง

ด้าน พล.ต.ท.ประจวบฯ และ พล.ต.ท.กรไชยฯ ได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 3 นาย ที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามนโยบายของรอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร. ที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีใครเห็นหรือไม่ แต่ขอให้ทำความดีและปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธา

‘อาจารย์ไชยันต์’ โพสต์ “คนไปแจ้งความมีแต่ความโกรธ คนรับแจ้งมีแต่ความทุกข์ อัยการก็ทุกข์ พยานก็กังวล ศาลยิ่งทุกข์ สุดท้าย ไม่ว่าคำตัดสินออกมาอย่างไร สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เดือดร้อน”

(27 พ.ค.67) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า…

“ท่านครับ คนไปแจ้งความมีแต่ความโกรธ คนรับแจ้งมีแต่ความทุกข์ อัยการก็ทุกข์ พยานก็มีแต่ความกังวลเหน็ดเหนื่อยที่ต้องขึ้นศาล ศาลยิ่งทุกข์ สุดท้าย ไม่ว่าคำตัดสินออกมาอย่างไร สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เดือดร้อน”

พร้อมระบุต่อว่า “ท่านครับ คนที่คอยสนับสนุนให้ข้อมูลบิดเบือน ให้เด็กกระทำผิดต่างหาก ที่กระหยิ่ม ยามที่เด็กทรมาน ต้องเข้าคุก ไม่ได้ประกันตัว และคนเหล่านั้นก็พุ่งเป้าไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์”

‘ดร.อานนท์’ ชี้!! คนที่เกี่ยวกับ ม.112 ล้วนมีความทุกข์ ส่วนคนยุยงเด็กทำผิด ม.112 ไม่ทุกข์!! และคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’

(27 พ.ค. 67) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า…

“ผมอดทนไม่พูดอะไรเลยมานาน แต่วันนี้ขอพูดนะครับ 

พออ่านสิ่งที่นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีพูดแล้ว ก็ขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำให้ไม่อาจจะเห็นด้วยกับนายอานันท์ ปันยารชุนแล้วกันนะครับ

ผมคิดว่าคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ในกรณีมาตรา 112 ล้วนมีความทุกข์หมด คนที่ไม่มีความทุกข์คือคนที่ยุแหย่ยุยงอยู่เบื้องหลังเด็กให้เด็กออกมากระทำความผิดฝ่าฝืนกฎหมายนี่แหละครับ

1. จำเลยผู้กระทำความผิดก็มีทุกข์

2. พนักงานสอบสวนที่ต้องทำคดีก็มีทุกข์ เพราะเป็นเรื่องยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยมาในการทำสำนวนคดี

3. คณะกรรมการกลั่นกรองคดีความมั่นคง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มีความทุกข์ ต้องอ่านและตัดสินใจอย่างละเอียดในการทำคดี

4. พนักงานอัยการก็มีทุกข์ที่ต้องทำความเห็นสั่งฟ้อง ต้องเรียกขอหลักฐานเพิ่มเติมจากพนักงานสอบสวน

5. ผู้พิพากษาในคดีมาตรา 112 ก็มีความทุกข์ที่ต้องตัดสินพิพากษาจำคุกผู้กระทำความผิด 

6. พยานในคดีมาตรา 112 ก็มีทุกข์ครับ 

ผมขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวว่า ผมเองเมื่อเริ่มต้นต้องไปเป็นพยานคดีอาญามาตรา 112 ผมไม่สบายใจเลย เครียด เพราะว่าสงสารจำเลยที่จะต้องติดคุก แต่ผมเองก็รักษาหลักนิติรัฐและความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ตลอดจนปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50 อันเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยครับ

ผมมีอาการปวดท้องหรือปวดกระเพาะอาหาร หลังจากไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีมาตรา 112 ได้ไม่กี่คดี อาการคือปวดแสบปวดร้อนในท้อง จนตัดสินใจไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หมอยังไม่ทันส่องกล้อง ก็กล่าวเลยว่า ไม่จำเป็นต้องส่องกล้องเลย หมอคิดว่าอาจารย์อานนท์เครียด กินยาลดความวิตกกังวลสักหน่อยอาการน่าจะดีขึ้น ผมก็ยืนยันว่าจะส่องกล้องดู หมอก็บอกว่าดี ก็เลยนัดส่องกล้อง ผมตัดสินใจส่องกล้องโดยไม่วางยาซีม (Sedate) การส่องกล้องเข้าไปส่องกระเพาะอาหารและลำไส้ เป็นประสบการณ์ที่สนุกสนานมากครับ นอนตะแคงดูหน้าจอไปด้วย หมอที่ส่องกล้องก็บรรยายไปด้วยครับ ราวกับชม Discovery Channel ของร่างกายตัวเอง เป็นสารคดีชั้นเยี่ยม หมอขลิบชิ้นเนื้อในกระเพาะอาหารไปตรวจเชื้อโรค ก็ไม่พบการอักเสบ ลำไส้และกระเพาะอาหารสะอาดสะอ้าน ไร้ริ้วรอยแผลเป็นใดๆ สรุปคือปวดท้องเพราะเครียดแล้วน้ำย่อยหลั่งออกมามาก หมอจ่ายยาแก้เครียดมาให้ทัน อาการผมดีขึ้นทันตาเห็น

ผมได้ไปเจอพี่ทหารผ่านศึกที่เคยไปทำสงครามลับในลาว พี่เขาก็เล่าประสบการณ์ในสนามรบให้ฟัง ว่าทำไมอย่างไร จำเป็นอย่างไรจึงต้องฆ่า แล้วก็บอกว่าถ้าเครียดก็ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติไม่ได้ ต่างคนต่างมีหน้าที่ ผมฟังแล้วก็เกิดบรรลุ เข้าใจสัจธรรม ของการทำหน้าที่ 

ผมฟังแล้วก็ผ่อนคลาย คิดได้ ทำใจได้ ก็เลยเลิกกินยาคลายวิกตกังวลมาแต่บัดนั้น แล้วก็ไม่ปวดท้องอีกมาจนบัดนี้ ไม่ใช่ว่าไม่ทุกข์หรือไม่เครียด หรือสะใจ แต่ทุกข์แล้วรู้เท่าทันทุกข์ และรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ทำหน้าที่อะไรอยู่

ดังนั้น ผมอยากพูดว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดีมาตรา 112 มีความทุกข์กันทั้งสิ้น แต่คนที่ไม่ทุกข์เลยคือคนที่ยุยงส่งเสริมเด็กให้กระทำความผิดมาตรา 112 คนที่รับผลกระทบมากที่สุด คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ครับ 

คงต้องถามว่า คุณอานันท์ ปันยารชุน มีความทุกข์หรือมีความสุขกับคดีมาตรา 112 บ้างแหละครับ”

‘สหรัฐฯ’ อ่วม!! เจอ ‘พายุทอร์นาโด’ ถล่ม 4 รัฐตอนกลาง คร่าชีวิตไป 18 ศพ ด้านศูนย์พยากรณ์ฯ เตือน!! จะรุนแรงขึ้นอีก

(27 พ.ค.67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว 18 คน เป็นเด็ก 4 คน หลังจากพายุทอร์นาโดพัดกระหน่ำ 4 รัฐที่อยู่ทางตอนกลางของสหรัฐ มีรายงานผู้เสียชีวิต 7 คนในรัฐเท็กซัสเมื่อพายุพัดกระหน่ำเมื่อคืนวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 4 คน ขณะที่รัฐอาร์คันซอมีผู้เสียชีวิต 8 คน ผู้ว่าการรัฐได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการท้องถิ่น ส่วนที่รัฐเคนทักกีมีผู้เสียชีวิต 1 คน และที่รัฐโอคลาโฮมามีผู้เสียชีวิต 2 คน ได้รับบาดเจ็บ 23 คน

ผู้คนในสหรัฐประมาณ 109 ล้านคนยังคงเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายในช่วงวันหยุดยาวเนื่องในวันเมโมเรียลเดย์ (Memorial Day) ซึ่งเป็นวันเชิดชูทหารที่รับใช้ชาติและตรงกับวันจันทร์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคมคือวันที่ 27 พฤษภาคมตามเวลาท้องถิ่น ศูนย์พยากรณ์พายุเตือนในขณะที่พายุหลายลูกกำลังเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกว่า จะเกิดทอร์นาโดรุนแรง ลูกเห็บขนาดใหญ่เท่าลูกเบสบอล และความเสียหายจากลมเป็นวงกว้าง

รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิกิติ์ฯ สนับสนุนนักกีฬาเรือพาย ร่วมแข่งโอลิมปิคเกมส์ 2024 ณ กรุงปารีส

พลเรือตรี ดนัย ปานแดง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ให้การต้อนรับ นายเปรมณัฏฐ์ วัฒนานุสิทธิ์ นักกีฬาเรือพายหนึ่งเดียวของประเทศไทย ที่เดินทางไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และคู่ซ้อม จ่าโทณรงค์ศักดิ์ นาคแสง ที่เข้ารับการฟื้นฟูร่างกาย post training recovery

โดย  Hyperbaric Oxygen Therapy ( HBOT) ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ รวม 10 ครั้ง ในวันทำการ ตั้งแต่ 21-31 พ.ค.67 ก่อนเดินทางเข้าร่วมการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี 0909535645

นราธิวาส-รอง มทภ.4 ตรวจเยี่ยม ฉก.ทพ.49 เน้นย้ำติดตามสถานการณ์ เพิ่มความเข้มงวด ระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่

วันนี้ (27 พฤษภาคม 2567) เวลา 13.00 น. พลตรี ไพศาล  หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมคณะฯ เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหารพรานหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49 ตำบลซากอ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส เพื่อร่วมประชุมและรับฟังปัญหาข้อขัดข้อง รวมทั้งมอบแนวทางการปฏิบัติงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมี พันเอก กำธร  ศรีเกตุ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะนราธิวาส, พันเอก ภาณุวัฒน์  สุคชเดช ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49, พันเอก ชาญฤทธิ์  ฮันสราช รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49, ผู้บังคับกองร้อยฯ และกำลังพลร่วมให้การต้อนรับและร่วมประชุม

สำหรับการตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ เป็นการติดตามการปฏิบัติงานและรับทราบปัญหาข้อขัดข้อง รวมทั้งหารือแนวทางแก้ไขของห้วงที่ผ่านมาของหน่วย พร้อมกำชับให้ปรับแผนการปฏิบัติให้มีความรัดกุม ทั้งเชิงรุก เชิงรับ และปฏิบัติด้วยความจริงใจ อีกทั้งได้นำนโยบายการปฏิบัติ 5 งานสำคัญตามนโยบาย แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เพื่อยึดถือและปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้  รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้เน้นย้ำพร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่มีความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ และเฝ้าติดตามด้านการข่าวอย่างใกล้ชิด รวมถึงฐานปฏิบัติการทุกฐานเพิ่มความเข้มงวดเป็นพิเศษ โดยบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันของหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ ตลอดจนฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลพื้นที่ชุมชน

ข่าว.แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส 

ผู้ช่วย ผบ.ตร. ร่วมเปิดโครงการขยายความร่วมมือการฝึกอบรมของสำนักงานโครงการ ILEA-Bangkok ไปยังประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก เพื่อเพิ่มศักยภาพในการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ

วันนี้ (27 พฤษภาคม 2567) เวลา 08.30 น. นายโรเบิร์ต โกเดค (Robert Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย/ประธานคณะกรรมการกำกับดูแล ฝ่ายสหรัฐอเมริกา และ พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลฝ่ายไทย โครงการความร่วมมือฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย (ILEA-Bangkok) ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการขยายความร่วมมือการฝึกอบรมของสำนักงานโครงการ ILEA-Bangkok ไปยังประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการความร่วมมือฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายฝ่ายไทยและสหรัฐ เข้าร่วมงาน

พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ฯ กล่าวว่า การรวมเอาประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกเข้ามาในโครงการฝึกอบรมของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. ถือเป็นบทใหม่ในประวัติศาสตร์ของสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กรุงเทพมหานคร ถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายขอบเขตความร่วมมือออกไปยังประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพในการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ อีกทั้งจะทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในฐานะ ศูนย์การฝึกอบรมด้านการบังคับใช้กฎหมายชั้นนำในภูมิภาคอีกด้วย ซึ่งความร่วมมือนี้จะช่วยส่งเสริมเสถียรภาพ
ความมั่นคง และความสำเร็จของทั้งหมู่เกาะแปซิฟิก และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่กว้างขึ้นอย่างแน่นอน

ด้านนายโรเบิร์ตฯ เน้นความสำคัญถึงการยกระดับความร่วมมือดังกล่าวที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และแสดงความขอบคุณในการเป็นหุ้นส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับฝ่ายสหรัฐอเมริกา ในการดำเนินการฝึกอบรมและความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายของสำนักงานโครงการ ILEA-Bangkok ตลอดระยะเวลากว่า 26 ปี ที่มีความแข็งแกร่งและยั่งยืน

ทั้งนี้ หลักสูตร Drug Unit Commanders Course (หลักสูตรผู้นำหน่วยยาเสพติด) เป็นหลักสูตรแรกที่จัดการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 27 - 31 พฤษภาคม 2567 ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายระดับสูงจากประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ ได้แก่ หมู่เกาะคุก สาธารณรัฐฟิจิ สาธารณรัฐคีรีบาส สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ สหพันธรัฐไมโครนีเซีย นีวเว ปาเลา รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี ซามัว หมู่เกาะโซโลมอน ตองกา ตูวาลู วานูอาตู และไทย รวม 14 ประเทศ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top