อุตตม-สนธิรัตน์-สันติ แท็กทีมวิเคราะห์งบปี 66 ชี้โครงสร้างงบฯ 2566 ต้องเป็นเครื่องมือหลักให้รัฐบาลสามารถดูแลบริหารความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่จะเผชิญอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเป็นพลังช่วยขับเคลื่อนการฟื้นเศรษฐกิจจากนี้ไป นอกจากนี้ พบ 8 ช่อง สุ่มเสี่ยงความไม่โปร่งใส เรียกร้อง สภาฯ พิจารณาให้รอบคอบ มองประโยชน์ประเทศเป็นที่ตั้ง
วันนี้ (28 พ.ค.) พรรคสร้างอนาคตไทย นำโดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค และนายสันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรคและประธานกรรมการนโยบาย ได้ร่วมแถลงข่าวกรณีร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่จะเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรระหว่างวันที่ 31 พ.ค.- 2 มิ.ย. นี้ โดยได้ชี้จุดบกพร่องของร่างฯ ดังกล่าว ที่จะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการประเทศอย่างร้ายแรง
นายอุตตม กล่าวว่า พรรคสร้างอนาคตไทยได้ติดตามการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ด้วยความเป็นห่วงมาโดยตลอด และพบว่ารายละเอียดในร่างดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน อีกทั้งยังไม่ส่งผลดีต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
“พรรคสร้างอนาคตไทย ได้ส่งสัญญาณให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพิจารณาการจัดสรรงบประมาณปี 2566 อย่างละเอียดคอบเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด เช่นเดียวกับวันนี้ที่เราต้องการชี้ให้เห็นว่าร่างฯ ดังกล่าว ไม่มีความเหมาะสมอย่างไร เพื่อให้ทุกฝ่ายได้นำไปเป็นแนวทางในการพิจารณา เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศต่อไป”
ด้านนายสันติ กล่าวว่า รายละเอียดร่างงบประมาณ 2566 ซึ่งมีวงเงินทั้งสิ้น 3.185 ล้านล้านบาท มีข้อสังเกตที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสม 8 ประการ ประกอบด้วย
1.การจัดทำงบประมาณ 2566 ใช้สมมติฐานที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงในปัจจุบัน เช่น การประมาณการณ์จัดเก็บรายได้เพื่อนำมาใช้จ่ายในวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ อาจไม่เป็นไปตามที่คาด โดยจากตัวเลขการจัดเก็บรายได้ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมาย ตัวอย่างปี 2563 ตั้งเป้า 2,864,562 ล้านบาท เก็บได้ 2,388,274ล้านบาท ปี 2664 ตั้งเป้า 2,829,228 ล้านบาท เก็บได้ 2,372,551 ล้านบาท ปี 2565 (5 เดือนแรก) ตั้งเป้า 1,095,092 ล้านบาท เก็บได้ 917,857 ล้านบาท
นอกจากนี้ การวางแผนงบประมาณ 2566 ยังใช้ฐานตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ล้าสมัยมาประกอบ เช่น การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ใช้ตัวเลขร้อยละ 3.5-4.5 (2565) และ 3.2-4.2 (2566) แต่ล่าสุดหน่วยงานสภาพัฒน์คาดการณ์เศรษฐกิจปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.5-3.5 เท่านั้น
อีกทั้ง ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อก็ไม่เป็นปัจจุบัน กล่าวคือ ใช้ตัวเลขการขยายตัวที่ 1.5-2.5 (2565) และ 0.5-1.5 (2566) ทั้งที่สถานการณ์จริงวันนี้การขยายตัวของเงินเฟ้อขยับขึ้นตั้งแต่ ธ.ค. 2564 เป็น 2.17 ตามด้วย 3.23 ในเดือน ม.ค. 2565 และ 5.28 ในไตรมาสแรกของปีนี้
