Monday, 26 May 2025
TheStatesTimes

ชลบุรี - ‘สวนนงนุชพัทยา’ ร่วมกับ ‘วัดคีรีวงก์(วัดน้ำตก)’ จัดอบรม กินอาหารสมุนไพร - อย่างไรให้ปลอดภัย - ปลอดโรค

ที่ สวนนงนุชพัทยา นายกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา ร่วมกับพระมหาขวัญชัย อคฺคชโย เจ้าอาวาสวัดคีรีวงก์ จัดอบรม หัวข้อ "กินอาหารสมุนไพร อย่างไรให้ปลอดภัย ปลอดโรค รุ่นที่ 4" โดยมี พนักงานสวนนงนุช ประชาชนทั่วไปที่ชื่นชมสมุนไพร และเจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทย เข้าร่วมอบรมอย่างพร้อมเพรียง

พระมหาขวัญชัย อคฺคชโย เจ้าอาวาสวัดคีรีวงก์กล่าวว่า สำหรับการจัดอบรมกินอาหารสมุนไพร อย่างไรให้ปลอดภัย ปลอดโรค ในครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักในเรื่องของการรับประทานอาหารให้เกิดประโยชน์ ปลอดภัย ปลอดโรค ด้วยสมุนไพรที่มีอยู่เดิมมาต่อยอดในการนำมาประกอบอาหาร โดยจะเห็นได้จากในสมัยอดีตคนไทยไม่ค่อยเป็นโรค ซึ่งเป็นผลมาจากการทานอาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพรเป็นยารักษาโรค เช่น เมนูผัดกะเพราที่จะช่วยในเรื่องไขมันเกาะตับ ขับลมในลำไส้, เมนูผัดขิง ช่วยในเรื่องลดอาการไข้ ขับลม,เมนูแกงป่าช่วยในการหมุนเวียนเลือดลม,เมนูผัดผักบุ้งช่วยในเรื่องบำรุงสายตา,เมนูส้มตำช่วยในการขับถ่าย,เมนูเครื่องดื่มน้ำมะพร้าวช่วยบำรุงหัวใจ และเมนูชาขิงน้ำผึ้ง ช่วยในเรื่องเจ็บคอ ขับลม คลื่นไส้

สำหรับการอบรมในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้ผู้เข้าร่วมได้ตระหนักรู้ในเรื่องของคุณประโยชน์ของพืชสมุนไพรไทย ที่สามารถนำมาปรุงอาหารให้มีรสชาติและคุณค่าที่ดีต่อสุขภาพโดยเน้นการทานอาหารที่มีส่วนประกอบของพืชสมุนไพรไทยแทนยา อีกทั้งเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม นำความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง เรื่องการนำสมุนไพรไทยไปใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเองและครอบครัวเน้นถึงวิธีการปรุงอาหารหลากหลายเมนูให้ถูกต้องด้วยสมุนไพรไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าสูงสุด รวมถึงการเพิ่มรสชาติและประโยชน์ของอาหารไทยชนิดต่าง ๆ ด้วยการเติมสมุนไพรไทยเข้าไปให้เหมาะสม โดยกำหนดจัดอบรมระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคม 2564 โดยการจัดอบรมครั้งนี้ได้ดำเนินการปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยตามมาตรฐาน SHA+ และ Safe travels ที่ได้รับการรับรองจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

 

นครศรีธรรมราช - ม.อ. ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าฯ และภาคีเครือข่าย เดินหน้าส่งมอบแท็บเล็ต โครงการ “กองทุนไอทีพี่ ม.อ. ช่วยน้องเรียนออนไลน์”

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และภาคีเครือข่าย ส่งมอบแท็บเล็ตโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยระบบออนไลน์ จำนวน 109 เครื่อง ให้กับ 20 โรงเรียนในภาคใต้ โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี พร้อมด้วย นายแพทย์เกียรติศักดิ์ ราชบริรักษ์ นายกสมาคมศิษย์เก่าฯ ร่วมส่งมอบแก่ผู้บริหารและผู้แทนจากโรงเรียนภายใต้โครงการฯ ในพื้นที่ภาคใต้ ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 64

​สำหรับโรงเรียนเป้าหมายที่เข้ารับมอบแท็บเล็ต ภายใต้โครงการ “กองทุนไอทีพี่ ม.อ. ช่วยน้องเรียนออนไลน์” ในครั้งนี้ ประกอบด้วย โรงเรียนในจังหวัดสงขลา ได้แก่ โรงเรียนชุมชนวัดควนมีด, โรงเรียนบ้านสะพานหัก, โรงเรียนบ้านหาร, โรงเรียนวัดสลักป่าเก่ามูลนิธิ และ โรงเรียนมิฟตาฮุดดีน (บ้านพลีใต้) จังหวัดสตูล ได้แก่ โรงเรียนบ้านวังปริง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ โรงเรียนวัดสระไคร, โรงเรียนบ้านนาเส, โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 6, โรงเรียนวัดนาหมอบุญ และโรงเรียนวัดไม้เสียบ จังหวัดปัตตานี ได้แก่ โรงเรียนบ้านตันหยงลุโละ, โรงเรียนบ้านคลองช้าง, โรงเรียนบ้านระแว้ง, โรงเรียนบ้านท่าเรือ และโรงเรียนมุสลิมสันติชน จังหวัดยะลา ได้แก่ โรงเรียนบ้านปงตา และจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ โรงเรียนวัดประชุมชลธารา, โรงเรียนบ้านริแง และโรงเรียนบ้านบาตูมิตรภาพที่ 66

​โครงการ “กองทุนไอทีพี่ ม.อ. ช่วยน้องเรียนออนไลน์” เป็นความร่วมมือของสมาคมศิษย์เก่า ม.อ. และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมทั้ง ภาคีองค์กรศิษย์เก่าทุกคณะ และชมรมศิษย์เก่าระดับจังหวัด เพื่อระดมทุนจัดหาอุปกรณ์การเรียนให้นักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล - มัธยมศึกษา ในพื้นที่ 9 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เชียงใหม่ - “หมีแพนด้าหลินฮุ่ย” ออกสวนหลังบ้านรับลมหนาว ที่สวนสัตว์เชียงใหม่

สวนสัตว์เชียงใหม่ โดยโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าแห่งประเทศไทย ได้นำ หมีแพนด้า“หลินฮุ่ย”    ออกสู่ส่วนจัดแสดงกลางแจ้ง(สวนหลังบ้าน) ให้สัมผัสอากาศหนาวเย็น เพื่อเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นธรรมชาติ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปถึงสิ้นเดือนมกราคม 2565 นี้เท่านั้น

นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในช่วงนี้สภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่มีอุณภูมิลดลงจากปกติ ประกอบกับมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวและสัมผัสอากาศที่หนาวเย็นในจังหวัดเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการรองรับนักท่องเที่ยว ทางสวนสัตว์เชียงใหม่ จึงได้จัดกิจกรรมดี ๆ ขึ้น คือการนำหมีแพนด้า “หลินฮุ่ย” ออกสู่ส่วนจัดแสดงกลางแจ้ง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้

ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง เข้าสู่ปีที่ 17 ของการนำหมีแพนด้าออกสู่ส่วนจัดแสดงกลางแจ้ง(สวนหลังบ้าน) ในช่วงฤดูหนาวของทุกปี และในปีนี้ ฤดูหนาวได้มาเยือนภาคเหนือของเรา ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน และคาดว่าช่วงเวลาที่จะมีอากาศหนาวเย็นเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ถึงปลายเดือนมกราคม 2565 และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับหมีแพนด้า “หลินฮุ่ย” ให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างช้า ๆ

อีกทั้งเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศให้กับหมีแพนด้า “หลินฮุ่ย” ให้ได้ออกมารับแสดงแดดในยามเช้า และได้เดินออกกำลังกาย ซี่งจะทำให้หมีแพนด้าหลินฮุ่ยมีความสุข สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงมากยิ่งขึ้น โดยสวนสัตว์เชียงใหม่ได้ดำเนินการปรับปรุง จัดตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม มีการปลูกต้นไม้ ต้นไผ่ ทำลำธาร แอ่งน้ำ และสร้างของเล่นเลียนแบบธรรมชาติ ให้หมีแพนด้า “หลินฮุ่ย” สนุกสนานกับธรรมชาติอย่างเพลิดเพลินอีกด้วย

ทั้งนี้ สวนสัตว์เชียงใหม่ได้รับการสนับสนุนจากงานเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 ค่ายสมเด็จพระบรมราชชนนี ในการช่วยค้นหาวัตถุหรือโลหะต่าง ๆ ภายในบริเวณส่วนจัดแสดงกลางแจ้ง ก่อนที่จะมีการนำหมีแพนด้า “หลินฮุ่ย” ออกมายังส่วนจัดแสดงในวันนี้ด้วยครับ

 

ที่สุดของภาพยนตร์แห่งปี 2564 เรื่องไหนที่ห้ามพลาด ต้องดูซ้ำ! | Click on Clear THE TOPIC EP.114

📌คอหนังห้ามพลาด !! เปิดโลกภาพยนตร์ไปกับ ‘วินิจพรรษ กันยะพงศ์’ อาจารย์พิเศษ คณะนิเทศศาสตร์ ม.ศรีปทุม / Admin Page ปรากฏการณ์หนัง 
📌ใน Topic : ที่สุดของภาพยนตร์แห่งปี 2564 เรื่องไหนที่ห้ามพลาด ต้องดูซ้ำ!

จับประเด็น เน้นความรู้ในรายการ Click on Clear THE TOPIC

ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา PROGRAM DIRECTOR THE STATES TIMES

.

.

สหรัฐฯ อนุมัติ 'ยาเม็ดต้านโควิด' ของไฟเซอร์ สำหรับกลุ่มเสี่ยงอายุ 12 ปีขึ้นไป ใช้รักษาที่บ้านได้

สหรัฐฯ อนุมัติยาต้านโควิด-19 ชนิดเม็ดของไฟเซอร์ สำหรับบุคคลกลุ่มเสี่ยงอายุ 12 ปีขึ้นไป ทำให้ยาสูตรนี้เป็นยาต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ใช้รับประทานและใช้รักษาอาการที่บ้านได้สูตรแรก 

แพกซ์โลวิด (Paxlovid) ยาเม็ดต้านไวรัสของไฟเซอร์ มีประสิทธิภาพเกือบ 90% ในการป้องกันคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูงจากการติดเชื้ออาการรุนแรงถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต ตามข้อมูลการทดลองทางคลินิกของบริษัท ขณะที่ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการเมื่อเร็วๆ นี้ บ่งชี้ว่ายาตัวนี้ยังคงประสิทธิภาพในการป้องกันตัวกลายพันธุ์โอมิครอนด้วยเช่นกัน

ไฟเซอร์ปรับเพิ่มประมาณการกำลังผลิตปี 2022 เป็น 120 ล้านคอร์สรักษา จากเดิม 80 ล้านคอร์ส และบอกว่าทางบริษัทพร้อมส่งมอบในสหรัฐฯ ในทันที โดยยาชุดนี้ของไฟเซอร์ประกอบด้วยยาสองตัว คือยาสูตรใหม่และยาสูตรเดิมคือริโทนาเวียร์ (ritonavir)

อเมช อดัลจา นักวิชาการอาวุโสของสถาบันความมั่นคงทางสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮ็อปกินส์ ระบุว่า การอนุมัติยาแพกซ์โลวิดเป็นก้าวย่างสำคัญในการรับมือโรคโควิด-19 ได้ดีขึ้น "อย่างไรก็ตาม ยาสูตรนี้มี 2 ประเด็นสำคัญที่ยังค้างคาอยู่ นั่นก็คือมันอาจขาดแคลนในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และผู้ป่วยควรได้รับการรักษาทันทีที่ได้รับการวินิจฉัย ซึ่งมันเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเรายังเผชิญความท้าทายในการตรวจหาเชื้อไวรัสอย่างทั่วถึงอยู่"

ไฟเซอร์ระบุว่า ทางบริษัทมีคอร์สรักษา 180,000 คอร์สที่พร้อมส่งมอบในปีนี้ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำสัญญาสั่งซื้อยานี้จำนวน 10 ล้านคอร์ส ในราคา 530 ดอลลาร์ต่อคอร์ส (ประมาณ 17,900บาท)

การตัดสินใจอนุมัติใช้รักษาในกรณีฉุกเฉินของสำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ ในครั้งนี้ มีขึ้นในขณะที่อเมริกากำลังต่อสู้กับเคสผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นอย่างมาก โดยมีตัวกลายพันธุ์โอมิครอนเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ กระตุ้นให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องประกาศมาตรการใหม่ในการต่อสู้การระบาดระลอกใหม่ ซึ่งรวมถึงการจัดส่งชุดตรวจให้ประชาชน 500 ล้านครัวเรือนฟรีตั้งแต่เดือนมกราคม ส่งแพทย์และพยาบาล 1,000 คนของกองทัพไปช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลบางพื้นที่ที่มีผู้ป่วยโควิดจำนวนมาก จัดส่งสิ่งของจำเป็นให้รัฐที่มีการระบาดรุนแรง เพิ่มศูนย์ตรวจโควิดฟรีและศูนย์ฉีดวัคซีน

"ยาเม็ดนี้ช่วยเติมเต็มช่องว่างการรักษาที่ถูกเปิดแผลโดยตัวกลายพันธุ์โอมิครอน" วิลเลียม ชาฟฟ์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชั้นนำแห่งโรงเรียนการแพทย์แวนเดอร์บิลต์กล่าว ที่ผ่านมาวิธีการรักษาโควิด-19 ที่ใช้ในวงกว้างที่สุดคือการรักษาด้วยโมโนโคลนอลแอนตีบอดี แต่มันพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพน้อยในการต่อสู้กับตัวกลายพันธุ์และมีอุปทานค่อนข้างจำกัด

ตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ถูกพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้และฮ่องกงในเดือนพฤศจิกายน ก่อนแผ่ลามไปทั่วโลกและตอนนี้มันมีสัดส่วนคิดเป็น 70% ของเคสผู้ติดเชื้อใหม่ทั้งหมดในสหรัฐฯ จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (ซีดีซี) ในผลการศึกษาต่างๆพบว่าการเคยติดเชื้อมาแล้วและการฉีดวัคซีนช่วยป้องกันโอมิครอนได้เพียงบางส่วน แต่เข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกัน

วีรกรรม!! เรือ PT-109 ของเรือโท ‘John F. Kennedy’ ประธานาธิบดีคนที่ 35 แห่งสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จำนวน 46 คน จนถึงประธานาธิบดี “Joe Biden” ผ่านการเป็นทหารถึง 33 คน เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 12 คน และ 8 คนร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 สังกัดกองทัพเรือ 6 นาย (John F. Kennedy, Lyndon B. Johnson, Richard Nixon, Gerald Ford, Jimmy Carter และ George H. W. Bush) และกองทัพบก 2 นาย (Dwight D. Eisenhower และ Ronald Reagan)

เรือโท “Kennedy”

ประธานาธิบดี “Kennedy” ไม่สามารถผ่านการฝึกในโรงเรียนนายทหารของกองทัพบก ด้วยปัญหาด้านสุขภาพ (จากอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง) วันที่ 24 กันยายน 1941 ด้วยความช่วยเหลือของนาวาเอก Allan Goodrich Kirk ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรอง กองทัพเรือ (the Office of Naval Intelligence : ONI) และผู้ซึ่งเป็นทูตทหารเรือในขณะที่ “Joseph Kennedy” บิดาของประธานาธิบดี “Kennedy” เป็นเอกอัครรัฐทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหราชอาณาจักร โดยแพทย์เอกชนได้รับรองสุขภาพของประธานาธิบดี “Kennedy” ว่า มีสุขภาพปกติดี จนสามารถเข้าร่วมกองกำลังสำรอง สังกัดกองทัพเรือ โดยได้รับการบรรจุเป็นเรือตรีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 1941

Inga Arvad นักข่าวสาวชาวเดนมาร์ก ผู้ที่เป็นข่าวกับประธานาธิบดี “Kennedy”

งานในกองทัพเรือของประธานาธิบดี “Kennedy” เริ่มต้นขึ้นในเดือนตุลาคมปี 1941 เป็นเรือตรีทำงานนั่งโต๊ะในสำนักงานข่าวกรอง กองทัพเรือ ฐานทัพเรือ Pearl Harbor และต่อมาถูกย้ายไปยัง South Carolina เดือนมกราคม 1943 เพราะข่าวความสัมพันธ์กับนักข่าวสาวชาวเดนมาร์ก Inga Arvad ในวันที่ 27 กรกฎาคม 1942 เรือตรี “Kennedy” เข้ารับการฝึกที่โรงเรียนนายทหารกำลังสำรอง กองทัพเรือ ในนครชิคาโก

หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกในวันที่ 27 กันยายน เรือตรี “Kennedy” เข้ารับการฝึกต่อที่ศูนย์ฝึกกองเรือยนต์ตอร์ปิโด (PT) ในเมือง Melville มลรัฐ Rhode Island ซึ่งเขาได้รับการเลื่อนยศให้เป็นเรือโท หลังจากเมื่อเดือนกันยายน 1942 “Joseph Kennedy” ผู้เป็นบิดาได้พบกับ (อย่างไม่เปิดเผย) นาวาตรี “John Bulkeley” (อดีตผบ.หมู่เรือยนต์ตอร์ปิโดที่ 3 ผู้พาพลเอก Douglas MacArthur และครอบครัวออกจากเกาะ Corregidor ไปยังมินดาเนา) ผบ.กองเรือยนต์ตอร์ปิโด ที่โรงแรมพลาซ่า นครนิวยอร์ก เพื่อขอให้ช่วยเรือโท “Kennedy” ได้เป็นผบ.เรือ PT  

เรือ PT  

อย่างไรก็ตามนาวาโท “Bulkeley” กล่าวว่า จะไม่เสนอเรือโท “Kennedy” ให้ได้เข้ารับการฝึกกับเรือ PT หากไม่มั่นใจว่า เรือโท “Kennedy” มีคุณสมบัติที่จะเป็นผบ. PT ในการสัมภาษณ์เรือโท “Kennedy” นาวาตรี “Bulkeley” รู้สึกประทับใจใน รูปร่าง หน้าตา ทักษะการสื่อสาร ผลการเรียนที่ Harvard และรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันเรือเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่สมาชิกทีมเรือใบของ Harvard การอ้างเกินจริงของนาวาตรี “Bulkeley” เกี่ยวกับศักยภาพของเรือ PT ในการสู้รบกับเรือขนาดใหญ่ ทำให้เขาสามารถรับสมัครผู้มีความสามารถระดับสูง และสามารถยกระดับพันธบัตรสงคราม และสร้างความมั่นใจในหมู่ผู้บัญชาการกองเรือที่ยังเห็นด้วยกับการใช้เรือ PT สู้รบกับเรือรบที่มีขนาดใหญ่กว่า 

แต่ในหมู่นายทหารจำนวนมากของกองทัพเรือต่างก็รู้ความจริงที่นาวาตรี “Bulkeley” อ้างว่า เรือ PT สามารถจมเรือลาดตระเวน เรือลำเลียงพล และยิงเครื่องบินรบของญี่ปุ่นตกในฟิลิปปินส์นั้นไม่เป็นความจริง เมื่อเรือโท “Kennedy” จบการฝึกกับเรือ PT ในมลรัฐ Rhode Island วันที่ 2 ธันวาคม ด้วยคะแนนที่สูงมาก และถูกขอร้องเป็นครูฝึกเป็นเวลาช่วงสั้น ๆ จากนั้นเขาได้รับคำสั่งให้ฝึกหมู่เรือตอร์ปิโดที่ 4 เพื่อบังคับการเรือ PT-101 ขนาด 78 ฟุต

มกราคม 1943 เรือ PT-101 พร้อมกับเรือ PT อีก 4 ลำ ได้รับคำสั่งให้ไปสังกัดหมู่เรือยนต์ตอร์ปิโดที่ 14 (RON 14) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ลาดตระเวนในคลองปานามา เรือ PT-101 แยกตัวออกจาก RON 14 ในเดือนกุมภาพันธ์ 1943 ในขณะที่หมู่เรือยนต์ตอร์ปิโดที่ 14 กำลังประจำอยู่เมือง Jacksonville มลรัฐ Florida เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการย้ายไปยังเขตคลองปานามา ด้วยความตั้งใจของเขาเอง เรือโท “Kennedy” จึงติดต่อขอให้เพื่อน ครอบครัว และเพื่อนสนิทของ “David I. Walsh” วุฒิสมาชิกแห่งมลรัฐ Massachusetts ประธานคณะกรรมการกิจการทหารเรือ ช่วยจัดการเปลี่ยนคำสั่งการมอบภารกิจให้เขาจากไปปานามา เป็นส่งเขาไปประจำเรือ PT ในหมู่เกาะโซโลมอนแทน และคำขอ "เปลี่ยนคำสั่งมอบหมาย" ถูกส่งไปยังหมู่เรือในแปซิฟิกใต้ การกระทำของเรือโท “Kennedy” ขัดกับความปรารถนาของบิดาที่ต้องการให้เขาประจำการในที่ปลอดภัย แต่แสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวของตัวเองของเรือโท “Kennedy” และความกล้าหาญอันเยี่ยมยอดของเขา

เรือ USS Rochambeau

เรือโท “Kennedy” ถูกย้ายเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 1943 ในฐานะนายทหารสังกัดหมู่เรือยนต์ตอร์ปิโดที่ 2 ซึ่งอยู่ที่เกาะ Tulagi ในหมู่เกาะโซโลมอน ระหว่างเดินทางในมหาสมุทรแปซิฟิกบน เรือลำเลียง USS Rochambeau ก็เจอการโจมตีทางอากาศอย่างรุนแรง กระทั่งผบ.เรือ USS Rochambeau และเรือโท “Kennedy” ต้องช่วยส่งกระสุนปืนให้กับปืนใหญ่ประจำเรือ อันเป็นประสบการณ์การรบครั้งแรกของเขา ถึงเกาะ Tulagi ในวันที่ 14 เมษายน และบังคับการเรือ PT-109 เมื่อ 23 เมษายน จำเป็นต้องมีการซ่อมบำรุงเรืออย่างหนัก และเรือโท “Kennedy” สั่งการให้ลูกเรือซ่อมเรือให้ใช้การได้ 30 พฤษภาคม หมู่เรือ PT รวมทั้งเรือ PT-109 ได้รับคำสั่งให้ไปยังหมู่เกาะ Russel เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการบุกเขต New Georgia-Rendova

หลังจากเข้ายึดเกาะ Rendova แล้ว หมู่เรือ PT ก็ถูกย้ายให้ขึ้นไปทางเหนือ ไปประจำยังสถานีเรือ Rendova ในวันที่ 16 มิถุนายน สถานีเรือ Rendova ที่จัดตั้งขึ้นเต็มไปด้วยโรคภัยที่ไม่พึงประสงค์ เช่น มาลาเรีย, โรคไข้เลือดออก, โรคบิด และโรคเท้าช้าง ทหารเรือประจำการอยู่ที่นั่นยังบ่นในเรื่อง แมลงสาบ, หนู, โรคเกี่ยวกับเท้า, เชื้อราในหู และการขาดสารอาหารที่ไม่รุนแรงจากการทานอาหารซ้ำซากจำเจ และอาหารกระป๋องจากบันทึกกองทัพเรือของเรือโท “Kennedy” หลังจากกลับไปยังสหรัฐฯ เรือโท “Kennedy” ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคมาลาเรีย, ลำไส้ใหญ่, และอาการปวดหลังเรื้อรังทั้งหมดที่เกิดระหว่างประสบการณ์รบของเขา หรือกำเริบในระหว่างประจำการอยู่ที่สถานีเรือ Rendova

จากสถานีเรือ Rendova อยู่ทางตอนเหนือสุดของเกาะ Rendova บนพื้นที่เล็ก ๆ ที่รู้จักกันในชื่อ Lumbari เรือ PT ปฏิบัติการอย่างกล้าหาญ และเสี่ยงอันตรายทุกค่ำคืน ทั้งการรบกวนการแล่นไปมาของเรือรบญี่ปุ่นขนาดใหญ่ส่งกำลังบำรุงให้แก่ญี่ปุ่นในเขต New Georgia-Rendova และลาดตระเวนในช่องแคบ Ferguson และ Blackett เพื่อตรวจการณ์ และแจ้งเตือนเมื่อเรือรบ Tokyo Express (ฉายาของเรือส่งกำลังบำรุงญี่ปุ่นที่ฝ่ายสัมพันธมิตรตั้ง) ของญี่ปุ่น ที่เข้ามาในช่องแคบ เพื่อส่งกำลังบำรุงกองทัพญี่ปุ่นในเขต New Georgia-Rendova

1 สิงหาคม เครื่องบินทิ้งระเบิดญี่ปุ่น 18 ลำ ได้เข้าโจมตีสถานีเรือ Rendova ทำลายเรือ PT-117 และ PT-164 จนจมลง ตอร์ปิโดสองลูกยิงออกเองจากเรือ PT-164 และวิ่งไปรอบ ๆ อ่าวจนกระทั่งพุ่งขึ้นฝั่งบนชายหาดโดยไม่ระเบิดแต่อย่างใด

ลูกเรือของเรือ PT-109

ลูกเรือในภารกิจสุดท้ายของเรือ PT-109 ได้แก่ ผบ.เรือ เรือโท “John F. Kennedy”, ต้นเรือ เรือตรี “Leonard J. Thom”, ต้นหน เรือตรี George H. R. "Barney" Ross, พลปืน พลฯ ระดับสอง Raymond Albert, พลปืน พลฯ ระดับสาม Charles A. "Bucky" Harris, ผู้ช่วยช่างเครื่อง พลฯ ระดับสอง William Johnston, พลปืน พลฯ ระดับสอง ผู้ช่วยพลตอร์ปิโด “Andrew Jackson Kirksey” (เสียชีวิตระหว่างชน), พลวิทยุ พลฯ ระดับสอง John E. Maguire, ผู้ช่วยช่างเครื่อง พลฯ ระดับสอง Harold William Marney (เสียชีวิตระหว่างชน), ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่พลาธิการ/จุมโพ่ พลฯ ระดับสาม Edman Edgar Mauer, ช่างเครื่อง พลฯ ระดับหนึ่ง Patrick H. "Pappy" McMahon, ผู้ช่วยพลตอร์ปิโด พลฯ ระดับสอง Ray L. Starkey และ ผู้ช่วยช่างเครื่อง พลฯ ระดับหนึ่ง Gerard E. Zinser, (ผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายของเรือ PT-109 เสียชีวิตเมื่อปี 2001)

ปลายเดือนกรกฎาคม 1943 รายงานข่าวกรองได้รับและถอดรหัสโดยเจ้าหน้าที่ทหารเรือที่สถานีเรือ Rendova ของเกาะ Tulagi ได้ความว่า เรือรบญี่ปุ่น 5 ลำมีแผนจะปฏิบัติการในคืนวันที่ 1-2 สิงหาคม โดยเรือพิฆาตญี่ปุ่นจะแล่นจากเกาะ Bougainville ของโซโลมอนผ่านช่องแคบ Blackett เพื่อนำส่งเสบียงและทหารไปที่กองทหารญี่ปุ่นในพื้นที่เพาะปลูก Vila บนปลายส่วนใต้ของเกาะ เกาะ Kolombangara การถอดรหัสที่ซับซ้อนของกองทัพเรือญี่ปุ่นช่วยให้สัมพันธมิตรได้รับชัยชนะในการรบที่ Midway เมื่อ 10 เดือนก่อน และเทคโนโลยีเดียวกันนี้ถูกใช้เพื่อถอดรหัส และรายงานเรื่องเรือพิฆาตญี่ปุ่นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 1-2 สิงหาคม แม้จะสูญเสียเรือ 2 ลำและลูกเรือ 2 นายจากการโจมตีทางอากาศของญี่ปุ่น แต่ผบ.เรือ PT-109 และเรือลำอื่น ๆ อีก 14 ลำ ได้หารือกับนาวาโท Thomas G. Warfield เกี่ยวกับรายละเอียดของภารกิจ Ferguson Passage การรบที่เกิดขึ้นจะเป็นการรบด้วยเรือ PT ครั้งใหญ่ที่สุดในสงคราม และผลลัพธ์จะทำให้การใช้ PT ไม่เหมาะกับการรบกับเรือพิฆาตญี่ปุ่นในอนาคต

ความล้มเหลวในการยิงตอร์ปิโดจากเรือ PT วันที่ 1 สิงหาคม เรือ PT 15 ลำ ออกจากสถานีเรือ Rendova เวลาประมาณ 18.30 น. ตามคำสั่งที่เคร่งครัดของนาวาโท Thomas Warfield แบ่งเรือ PT เป็น 4 ชุด ชุดละ 4 ลำ ชุด "B" ประกอบด้วยเรือ PT-109, PT-162, PT-159 และ PT-157 ถูกส่งไปประจำด้านตะวันตกเฉียงเหนือของสถานี ระยะทางเกือบครึ่งทางไปชายฝั่งตะวันตกของเกาะ Kolombongara และประมาณ 6 ไมล์ (9.7 กม.) ทางทิศตะวันตก เรือส่วนใหญ่มาถึงสถานีในเวลา 20.30 น. เรือ PT 15 ลำ แต่ละลำติดท่อตอร์ปิโด 4 ท่อ ตอร์ปิโดแบบ Mark 8 รวม 60 ลูก ราวครึ่งหนึ่งถูกยิงใส่เรือพิฆาตญี่ปุ่นซึ่งมีเครื่องบินทะเลคุ้มกัน รายงานอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือระบุถึงการระเบิดของตอร์ปิโด 5-6 ลูกเมื่อกระทบเป้าคือเรือพิฆาต แต่ในความเป็นจริงไม่มีตอร์ปิโดทำงานเลย ตอร์ปิโด 24 ลูกถูกยิงจากเรือ PT 8 ลำ ไม่มีลูกไหนเลยที่ระเบิดเมื่อกระทบเรือพิฆาต แม้ว่าเรือ PT แต่ละลำจะได้รับมอบหมายให้ประจำตำแหน่งที่น่าจะสกัดเรือพิฆาตได้ แต่หลายลำไม่มีเรดาร์แล่นไปในหมอกและความมืดอย่างไร้จุดหมาย โดยไม่สามารถระบุตำแหน่งเรือรบข้าศึกได้เลย

เรือเอก Brantingham ผบ.เรือ PT-159 หัวหน้าชุด "B" และแล่นอยู่ใกล้เรือ PT-109 เห็นเรดาร์ระบุว่า เรือพิฆาตญี่ปุ่นมุ่งไปทางใต้ เมื่อมาถึงที่จุดดังกล่าวได้ยิงตอร์ปิโดในระยะราวหนึ่งไมล์ ในขณะที่อยู่ในตำแหน่งนำ แต่ไม่ได้วิทยุแจ้งเรือ PT-109 ที่แล่นตาม ปล่อยให้เรือ PT-109 แล่นต่อในความมืด ซ้ำตอร์ปิโดที่ยิงจากเรือ PT-109 ของเรือเอก Brantingham ทุกลูกพลาดเป้า และตัวท่อตอร์ปิโดเกิดไฟไหม้ขนาดเล็ก ซึ่งเรือโท Liebenow ในชุดเดียวกันต้องนำเรือ PT-157 สลับตำแหน่งด้านหน้าบังแสงไฟไหม้ของเรือ PT-159 เรือ PT-157 ยิงตอร์ปิโดอีกสองลูกซึ่งก็พลาดเป้าหมายเช่นกัน จากนั้นเรือทั้งสองก็ปล่อยควันจากเครื่องกำเนิดควันและแล่นแบบซิกแซ็กเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับจากเรือพิฆาต เมื่อพบการปรากฏของเรือพิฆาตญี่ปุ่น และสัญญาณวิทยุจากเรือ PT-109 หรือเรือลำอื่นในชุดปฏิบัติการก็มุ่งหน้าไปทางตะวันตกไปยังเกาะกิโซและห่างออกไปจากทั้งเรือพิฆาตญี่ปุ่นและเรือ PT-109 ของเรือโท “Kennedy”

ตอร์ปิโดแบบ Mark 8 ส่วนมากระเบิดก่อนกระทบเป้า หรือวิ่งในระดับความลึกที่ไม่ถูกต้อง อัตราที่ตอร์ปิโด Mark 8 จะสามารถระเบิดทำลายเรือพิฆาตน้อยกว่า 50% เนื่องจากการปรับเทียบที่ผิดพลาดของชนวนกระทบของตอร์ปิโดแบบ Mark 8 ซึ่งเป็นปัญหาที่กองทัพเรือสหรัฐฯ ไม่รู้ และไม่ได้รับการแก้ไขจนกระทั่งสงครามจบ เรือ PT อื่น ๆ อีก 2-3 ลำ รวมถึงหัวหน้าชุด "A" ทางใต้ของเรือ PT-109 ได้ตรวจพบเรือพิฆาตที่อยู่ทางใต้ใกล้กับ เกาะ Kolombangara แต่เรือทุกลำที่เหลือได้รับวิทยุจากนาวาโท Warfield ให้กลับเมื่อยิงตอร์ปิโดแล้ว แต่เรือทั้งสี่ลำที่ที่มีเรดาร์ยิงตอร์ปิโดก่อน และได้รับคำสั่งให้กลับฐาน แนวคิดของนาวาโท Warfield ในการออกคำสั่งไปยังเรือ PT ท่ามกลางความมืดทางวิทยุจากสถานีเรือ ซึ่งออกไป 40 ไมล์โดยที่ไม่เห็นการรบนั้นไม่มีประสิทธิภาพเลย เรดาร์ของเรือทั้ง 4 ลำเก่า และบางครั้งก็ทำงานผิดพลาด เมื่อเรือ 4 ลำซึ่งมีเรดาร์ออกจากพื้นที่การรบ เรือที่เหลือรวมถึงเรือ PT-109 ก็ถูกลิดรอนความสามารถในการระบุตำแหน่ง หรือการเคลื่อนที่ของเรือพิฆาตญี่ปุ่นที่กำลังแล่นมา และไม่ได้รับแจ้งเตือนว่าเรือลำอื่นได้ตรวจพบหรือปะทะกับศัตรูแล้ว 

ในช่วงดึกเรือ PT-109 และเรือ PT ที่แล่นตามมาพร้อมกันอีก 2 ลำ กลายเป็นชุดสุดท้ายที่เห็นเรือพิฆาตญี่ปุ่นแล่นกลับมาที่เส้นทางเหนือมุ่งไป Rabaul, New Britain, New Guinea หลังจากเสร็จสิ้นการส่งเสบียงและกำลังทหารเมื่อเวลา 01.45 น. ทางส่วนปลายของ เกาะ Kolombangara บันทึกเหตุการณ์อย่างเป็นทางการของกองทัพเรือระบุว่า การสื่อสารทางวิทยุนั้นยังเป็นปกติ แต่ผู้บังคับการเรือ PT ได้รับการบอกให้รักษาความเงียบทางวิทยุจนกระทั่งได้รับแจ้งจากการพบเห็นข้าศึก ทำให้ผู้บังคับการหลายคนปิดวิทยุหรือไม่ติดตามการสื่อสารทางวิทยุอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเรือโท “Kennedy” ด้วย

เวลา 14.00 น. ของวันที่ 2 สิงหาคม 1943 เมื่อใกล้จะสิ้นสุดภารกิจ เรือ PT-109, PT-162, และ PT-169 ได้รับคำสั่งให้ลาดตระเวนในพื้นที่ต่อไปตามคำสั่งก่อนหน้านี้ ซึ่งได้รับคำสั่งทางวิทยุจากนาวาโท Warfield คืนนั้นมีเมฆมาก และไร้แสงจันทร์และอยู่ท่ามกลางหมอก เรือ PT-109 ทำงานด้วยเครื่องยนต์เดียวเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ การเห็นแสงฟลูออเรสเซนซ์โดยเครื่องบินญี่ปุ่น เมื่อลูกเรือตระหนักว่าพวกเขาอยู่ในเส้นทางของเรือพิฆาตญี่ปุ่น Amagiri ซึ่งมุ่งหน้าไปทางเหนือยัง Rabaul จากพื้นที่เพาะปลูก Vila, เกาะ Kolombangara เพื่อส่งเสบียงและทหาร 902 นาย

บันทึกเหตุการณ์ไม่สามารถสรุปได้ว่า สาเหตุของการชนกันคือ การเดินเครื่องยนต์รอบต่ำของเรือ PT-109 เรือโท “Kennedy”  เชื่อว่าการยิงที่เขาได้ยินมาจากกองทหารบนฝั่ง เกาะ Kolombangara ไม่ใช่เรือพิฆาต และหลีกเลี่ยงการตรวจจับโดยการเดินเครื่องยนต์รอบต่ำ และลดความเสี่ยงต่อการตรวจพบ

ภาพวาดขณะเรือพิฆาต Amagiri ชนเรือ PT-109

เรือโท “Kennedy” บอกว่า เขาพยายามที่จะเลี้ยวเรือ PT-109 เพื่อยิงตอร์ปิโด และให้เรือตรี Ross ยิงปืนต่อสู้รถถังขนาด 37 มม. ที่พึ่งติดตั้งใหม่ไปยังเรือพิฆาต Amagiri ที่กำลังแล่นจะมาถึง เรือตรี Ross ถือกระสุน แต่ยังไม่ทันได้บรรจุกระสุน เรือโท “Kennedy” หวังว่า อาจสกัดเรือ Amagiri ที่แล่นด้วยความเร็วค่อนข้างสูงระหว่าง 23 ถึง 40 Knott (43-74 กม. / ชม. หรือ 26-46 ไมล์ต่อชั่วโมง) เพื่อกลับไปยังท่าเรือ ด้วยเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นแล้วเครื่องบินลาดตระเวนของสัมพันธมิตรอาจจะตรวจพบได้

เรือโท “Kennedy” และลูกเรือมีเวลาน้อยกว่าสิบวินาทีที่จะเร่งเครื่องยนต์เพื่อหลบหลีกเรือพิฆาตที่กำลังจะมาถึงแล่นโดยพรางไฟ เมื่อเรือ PT แล่นมาถึงก็ถูกชนจนแตกเป็น 2 ส่วน ที่พิกัดจุดระหว่างเกาะ เกาะ Kolombangara และเกาะ Ghizo ใกล้ 8 ° 3′S 156 ° 56'E ถ้อยแถลงที่ขัดแย้งกันเกิดขึ้นว่า เรือพิฆาตเห็นและตั้งใจชนเรือ PT-​​109 หรือไม่ ผู้เขียนส่วนใหญ่เขียนว่า ผบ.เรือ Amagiri ตั้งใจแล่นชนกับเรือพิฆาต Amagiri ซึ่งผบ.เรือพิฆาต Amagiri นาวาตรี Kohei Hanami ยอมรับเองในภายหลัง และระบุด้วยว่า เห็นเรือ PT-109 กำลังแล่นพุ่งมายังเรือพิฆาต Amagiri 

เรือ PT-109 ถูกชนเป็นสองส่วน เวลาประมาณ 02.27 น. ลูกไฟจากการระเบิดของเชื้อเพลิงพุ่งสูงกว่า 100 ฟุต พื้นที่การชน และทะเลรอบ ๆ ซากเรือลุกเป็นไฟ พลทหาร Kirksey และ Marney เสียชีวิตทันที และสมาชิกอีกสองคนของเรือถูกไฟคลอกและได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อพวกเขาตกลงไปในทะเลเพลิงที่ล้อมรอบเรือ สำหรับการชนที่รุนแรง การระเบิด และไฟไหม้ การสูญเสียของลูกเรือเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเรือ PT อื่น ๆ ที่ถูกยิงด้วยปืนแล้ว นับว่า เรือ PT-109 สูญเสียกำลังพลน้อยกว่า 

‘หนุ่มอิสราเอล’ หนีกักตัว ไม่พบติดเชื้อโควิด หลังหลบหนีออกจากโรงแรมเที่ยวเกาะสมุย 

สุดงง..! ผลตรวจหาเชื้อ "โควิด" "หนุ่มอิสราเอล" ที่โรงพยาบาลเกาะสมุย หลังหลบหนีออกจากโรงแรม ซึ่งเป็นสถานที่กักตัว พบผลเป็นลบ แต่ยังมีความผิดฐานหลบหนี ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ควบคุมโรค

จากกรณีนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอล ซึ่งเดินทางเข้าประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้หนีออกจากโรงแรม ย่านสุขุมวิท ซึ่งเป็นสถานที่กักตัว ตามมาตรการ ในรูปแบบ Test and Go ในระหว่างรอผลตรวจ "โควิด" แบบ RT-PCR จนกระทั่งต่อมา ทางเจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรอง ได้มีการระบุว่า "หนุ่มอิสราเอล" รายนี้ ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

ซึ่งการหลบหนีออกจากสถานกักตัว ถือว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ควบคุมโรค กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ขออนุมัติศาลออกหมายจับ และสามารถติดตามจับกุมตัวเอาไว้ได้ที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น  

“เทพไท” ชี้ เกิด “สิระอ๊าฟเตอร์ช็อก” 6 ข้อ แนะ กกต.ฟ้องอาญา ผู้สมัคร -พรรคการเมือง ตามมาตรา 84 และ86 

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้นายสิระ เจนจาคะ อดีตส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ พ้นสมาชิกภาพจากการเป็น ส.ส.แล้ว อาจจะเกิดผลติดตามมา หรือ อ๊าฟเตอร์ช็อก คือ 1.ตำแหน่ง ส.ส.กทม.เขต 9 หลักสี่ ว่างลง คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)จะต้องจัดการเลือกตั้งซ่อมใหม่ ภายใน 45 วัน 2.ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ว่างลง ต้องสรรหาประธาน กมธ.คนใหม่

3.จะต้องคืนเงินเดือนของ ส.ส. ต้องคืนเงินเดือนผู้ช่วย ส.ส.,ผู้เชี่ยวชาญ,ผู้ชำนาญการ ต้องคืนค่าเดินทาง และประโยชน์อื่นใด ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง ส.ส.

4.ต้องชดใช้ค่าจัดการเลือกตั้งซ่อมทั้งหมด เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ต้น  เป็นเหตุให้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ผู้ขาดคุณสมบัติส.ส.จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งซ่อมทั้งหมด 5.จะต้องถูกดำเนินคดีตามตามมาตรา 151 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ.2561 ที่บัญญัติว่า ผู้สมัครใดรู้อยู่แล้วว่าตัวเองไม่มีคุณสมบัติมีสิทธิรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับสูงสุด 2 แสนบาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี 

“รองโฆษกรัฐบาล” เผย เดินหน้ารัฐบาลดิจิทัล “ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP)” เพิ่มความโปร่งใส ประหยัดงบ 7.8 หมื่นล้านบาท 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ว่า พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้ทุกส่วนราชการ ปรับระบบการทำงาน โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในทุกส่วนงาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน  เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยกรมบัญชีกลาง ดำเนินการเป็นรูปธรรม ในการจัดทำระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) เพื่อส่งเสริมความเป็นรัฐบาลเปิด สร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก มีรายละเอียดที่ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนและทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เป็นการสนับสนุนแหล่งข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างให้กับหน่วยงานภาครัฐนำไปใช้อ้างอิงในการกำหนดราคากลางหรือของบประมาณ ลดขั้นตอน และเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนลดต้นทุนของภาครัฐและเอกชนในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ผลการดำเนินงานล่าสุด  ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 หน่วยงานรัฐได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วจำนวนทั้งสิ้น 5,247,846 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 98.34 ของจำนวนโครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด โดยมีมูลค่าที่จัดหาได้ 1.33 ล้านล้านบาท สามารถประหยัดงบประมาณได้จากการใช้ระบบ e-GP จำนวน 7.86 หมื่นล้านบาท (ประหยัดได้ ร้อยละ 5.57 ของวงเงินงบประมาณในการจัดหา) โดยวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่สามารถประหยัดงบประมาณได้มากที่สุด คือ วิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ ประหยัดงบประมาณได้ร้อยละ 15.14 ของวงเงินงบประมาณในการจัดหา เป็นวิธีการซื้อหรือจ้างที่มีรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่ไม่ซับซ้อน หรือเป็นสินค้าหรืองานบริการที่มีมาตรฐาน และได้กำหนดไว้ในระบบข้อมูลสินค้า (e-catalog) สามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ (1)  การเสนอราคาโดยใบเสนอราคา และ (2)  การเสนอราคาโดยการประมูลอิเล็กทรอนิกส์ 

เพชรบูรณ์ - นพค.16 นำกำลังพลจิตอาสา มอบผ้าห่มกันหนาว - ข้าวสารบรรจุถุง และน้ำดื่มสะอาด รวมทั้ง ‘พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ’ ให้กับราษฎรและผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ติดภูเขา และมีอากาศหนาวเย็น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองบัญชาการกองทัพไทย (หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา) โดย นาวาอากาศเอก กรเอก ศรีสมบุญ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 16 สำนักงานพัฒนาภาค 1 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา พร้อมด้วยกำลังพลจิตอาสา เดินทางลงพื้นที่ เข้ามอบผ้าห่มกันหนาว กองบัญชาการกองทัพไทย ,ข้าวสารบรรจุถุง และน้ำดื่มสะอาด รวมทั้งพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้กับราษฎรและผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ประสบภัยหนาว ต.นาซำ อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดภูเขาและมีอากาศหนาวเย็น ทำให้ประชาชน ต่างก่อกองไฟพิงคลายหนาว สร้างความอบอุ่นแก่ร่างกาย

โดยได้ร่วมกับผู้นำชุมชนมอบเครื่องกันหนาวให้แก่ราษฎร จำนวน 100 ราย เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน, สร้างขวัญกำลังใจ ห่วงใย เคียงข้าง พร้อมช่วยเหลือประชาชนและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top