Saturday, 24 May 2025
Southern

พังงา - ‘จุรินทร์’ หนุนศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพโลกแห่งอันดามัน ส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รับอันดามันแซนด์บ็อกซ์ 7+7

ริมชายหาดโรงแรม ลา ฟลอร่า หาดบางเนียง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพโลกแห่งอันดามัน (The Andaman World Medical & Wellness Hub) และร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นวดไทย สมุนไพร และทันตกรรม ระหว่าง สมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามันและอ่าวไทย กับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงา โดยมีนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นางกันตวรรณ ตันเถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพังงา นายชาติชาย กิติยานันท์  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงา นายพงศกร เกตุประภากร ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา ส่วนราชการและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเข้าร่วม

หลังจากพิธีเปิดและพิธีลงนามรองนายกรัฐมนตรีได้เดินเยี่ยมชมบูธต่างๆ เช่นอาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ กิจกรรมกีฬาเพื่อสุขภาพ กิจกรรมนวดและสปาเพื่อสุขภาพ ก่อนจะมาติดใจการใช้อัคคีบำบัด ซึ่งมีการจุดไฟเผาบนหน้าท้องของผู้รับริการ แล้วหันไปถามผู้บังคับการตำรวจภูธรพังงาว่าช่วยดูหน่อยว่าจะต้องดำเนินคดีวางเพลิงหรือไม่ และบอกว่าเมื่อกี้เกือบจะหยิบดอกไม้จันทน์มาวางด้วย สร้างรอยยิ้มและเสียงฮาให้กับผู้ร่วมงานก่อนจะร่วมหมุนน้ำแข็งหลอดสมุนไพรพร้อมชิมอย่างอร่อย

นายจุรินทร์ฯ กล่าวว่า รู้สึกปลื้มใจที่จังหวัดพังงาได้ริเริ่มเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพโลกแห่งอันดามัน โดยถือเป็นการนำร่องด้านสุขภาพในภูมิภาคอันดามัน และสามารถแผ่ขยายสู่ระดับนานาชาติ ได้แก่ ระดับอาเซียนต่อไป ซึ่งจังหวัดพังงาเป็นจังหวัดที่มีจุดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยว และพื้นที่เชื่อมต่อรองรับนักท่องเที่ยวจากจังหวัดภูเก็ตและกระบี่ ประกอบกับในพื้นที่มีการส่งเสริมการปลูกสมุนไพร จึงนำมาประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การนวดแผนไทย การดูแลรักษาสุขภาพ และการรักษาทางด้านทันตกรรม

ในวันนี้ถือว่าเป็นการนำร่อง แทนที่เราจะขายทะเลและหาดทรายอย่างเดียว ก็จะขายในเรื่องของการให้บริการและผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพของไทยด้วยเช่นสมุนไพรไทยผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอาหารเชิงสุขภาพของไทย การให้บริการเรื่องการนวดแผนไทยสปาไทย รวมทั้งการให้บริการด้านทันตกรรม ซึ่งสำนักงานสาธารสุขจังหวัดพังงาก็จะเข้ามาร่วมมือด้วย ถือว่าเป็นการเริ่มต้นก่อนจะก็ขยายผลต่อไป

ทั้งในเรื่องของผลิตภัณฑ์และการให้บริการและพื้นที่ ที่จะต่อไปยังภูเก็ตไปกระบี่และจังหวัดอันดามัน ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมที่จะทำให้พังงากลายเป็น HUB หรือเป็นศูนย์กลางของการให้บริการด้านการแพทย์และสุขภาพอันดามันต่อไป คาดว่าโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะการสร้างงาน สร้างรายได้ ทั้งภาคการเกษตร การจ้างงาน และการปลูกสมุนไพร


ภาพ/ข่าว  อโนทัย งานดี / พังงา

ตราด - ตำรวจท่องเที่ยวตราด พร้อมดูแลนักท่องเที่ยว ขานรับโครงการ “เกาะช้างทูเก็ตเตอร์”

วันที่ 20 ก.ย. 64 พ.ต.ท.พัฒนพงศ์ ศิริเจริญนำ สว.ส.ทท.6 กก.2 บก.ทท.1(ตำรวจท่องเที่ยวตราด) เปิดเผยว่า ตามที่ภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของ จ.ตราด ได้กำหนดเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั่วไป ตามโครงการเปิดการท่องเที่ยวรูปแบบพิเศษ ที่มีมาตรการในเรื่องความปลอดภัยการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ควบคู่กันไปด้วย ภายใต้ชื่อ เกาะช้างทูเก็ตเตอร์ “KOH CHANG TOGETHER” โดยใช้แหล่งท่องเที่ยวเกาะช้างเป็นพื้นที่นำร่อง เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.64 เป็นต้นไป และก็เป็นช่วงเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ ให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนในพื้นที่เกาะช้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของตำรวจท่องเที่ยวตราด ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมในการดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ แก่นักท่องเที่ยวในพื้นที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่ 

สงขลา – ‘นิพนธ์’ เปิดกิจกรรม "บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) จุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ร่วมเป็นต้นแบบการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า สนับสนุนการใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 20 กันยายน 2564 ที่อาคารอเนกประสงค์ การประปานครหลวง สํานักงานใหญ่ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรม บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) จุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบวิถีใหม่ ปี 4 “บวร Online” โดยมี นายสุทธิ ปัญญาสกุลวงศ์  ที่ปรึกรมช.มท. นายนิทัศน์ มณีศิลาสันต์ กรรมการ กปน. และ นายกวี  อารีกุล ผู้ว่าการ กปน. คณะผู้บริหาร กปน. และคณะผู้แทนหน่วยงานต้นแบบทางสังคม เข้าร่วมกิจกรรม

นายนิพนธ์ กล่าวว่า กิจกรรม บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) จุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบวิถีใหม่ ปี 4 "บวร Online" เป็นโครงการที่การประปานครหลวงจัดขึ้น เพื่อประสานความร่วมมือของ หน่วยงานที่มีบทบาทสําคัญทางสังคม ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน และในปีนี้ ได้ขยายผลไปยัง กลุ่มเป้าหมายอสังหาริมทรัพย์ เช่นคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร ในเขตพื้นที่ให้บริการทั้ง 3 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ช่วยเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการประหยัดน้ํา ทั้งวิธีประหยัดน้ำในชีวิตประจําวัน การดูแลอุปกรณ์ใช้น้ำ การตรวจหาท่อแตกรั่วภายในอาคารที่พักอาศัย ประโยชน์ของการใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำที่ได้รับการรับรองฉลากประหยัดน้ำของการประปานครหลวง อันจะนําไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าในชีวิตประจําวันช่วยลดการ สูญเสียน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาสังคม และช่วยให้พี่น้องประชาชนมีน้ำใช้อย่างยั่งยืน

 

พังงา - หน่วยแพทย์ พอ.สว. ออกบริการฉีดวัคซีนพระราชทานซิโนฟาร์ม ให้ผู้ต้องราชทัณฑ์เรือนจำจังหวัดพังงา

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข ในการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการฉีดวัคซีนพระราชทาน “ซิโนฟาร์ม” เข็มที่ 1 ให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์กลุ่มเสี่ยงในเรือนจำจังหวัดพังงา จำนวน 300 คน  เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันลดความรุนแรงและการเสียชีวิตให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ในเรือนจำหากเกิดการเจ็บป่วยจากโควิด 19  โดยมีนายอาคม ภูศรี ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพังงา และนายวิชัย ชูจิต สาธารณสุขอำเภอเมืองพังงา ร่วมให้การต้อนรับ เรือนจำจังหวัดพังงามีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 2,378 คน มีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ต้องขัง และมาตรการการเข้าเยี่ยมของญาติ

จังหวัดพังงาได้รับ จัดสรรวัคซีนพระราชทานซิโนฟาร์ม พอ.สว. เพื่อนำไปฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย อาทิเช่น ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีรายได้น้อย ผู้นำศาสนา จำนวน 5,000 โดส กำหนดฉีดตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2564 จนถึงวันที่ 29 กันยายน 2564 เพื่อช่วยให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางในทุกพื้นที่ของจังหวัดพังงาได้เข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ป้องกันและลดโอกาสในการติดเชื้อโควิด-19

นราธิวาส - เลขาธิการ ศอ.บต. แนะนักศึกษา มนร. นำความรู้ด้านการเกษตรที่ได้จากประเทศอิสราเอลมาใปรับช้ในพื้นที่ เชื่อเป็นต้นแบบและพัฒนาการการเกษตรจนยึดเป็นอาชีพได้

ที่ห้องประชุมน้อมเกล้า พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวต้อนรับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อาจารย์ และนักศึกษาจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ขอเข้าพบและร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่างที่นักศึกษาไปฝึกงานเรียนรู้ประสบการณ์ที่ประเทศอิสราเอล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี กล่าวถึงการฝึกงานเรียนรู้ประสบการณ์ที่ประเทศอิสราเอลว่า เป็นวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ ที่มองว่าการเรียนเกษตรนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปฏิบัติงานที่ต้องเปิดโลกทัศน์ให้กับนักศึกษา โดยเฉพาะทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยเด็กต้องได้สัมผัสชีวิตในต่างประเทศ จึงเป็นที่มาของการร่วม MOU กับศูนย์ฝึกอบรมการเกษตรนานาชาติ เขตอนาวา ประเทศอิสราเอล ผ่านทางสถานทูต จากนั้นได้ส่งนักศึกษาไปฝึกงานรุ่นแรก จำนวน 10 คน ในปี 2559 เป็นเวลา 11 เดือน โดยปัจจุบันส่งนักศึกษาไปฝึกงานแล้ว จำนวน 4 รุ่น และในเดือนตุลาคม 2564 นี้ จะส่งนักศึกษาของรุ่นที่ 5 เพื่อเดินทางไปฝึกงานที่ประเทศอิสราเอล และจากการจัดส่งนักศึกษาไปฝึกงานนั้น นักศึกษาในแต่ละรุ่นได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยกลับมาปรับปรุงพัฒนา โดยผ่านงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ ล่าสุดมีการวิจัยพืชอินทผาลัม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศในโลกอาหรับหรือกลุ่มประเทศอิสลามที่เป็นพืชเศรษฐกิจ มาศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยต่อยอดความรู้จากที่ได้รับจากการไปฝึกงาน

ด้านนายฮัมเซาะ นาแว นักศึกษาปี 4 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ  ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ไปประเทศอิสราเอลว่า ได้เรียนรู้เรื่องการทำการเกษตรในสภาพอากาศที่แตกต่างจากบ้านเรา ซึ่งความรู้ที่ได้นำกลับมาใช้เป็นเรื่องของระบบน้ำหยดที่ช่วยให้ประหยัดน้ำได้มากกว่าการรดด้วยบัว และยังมีเทคนิคการปลูกมะเขือเทศด้วยการมัดเชือกเพื่อให้ต้นมันเลื้อยขึ้นไปซึ่งทำให้ได้ผลิตที่สะอาด สวย และปริมาณที่มาก อีกทั้งยังได้เทคนิคการตลาดจากการปลูกด้วยระบบออแกนิก ซึ่งทำให้ผลผลิตมีคุณภาพสูงและได้ราคา และในโอกาสนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้ให้ข้อคิดกับนักศึกษาทุกคนในการดำเนินชีวิตหลังจากนี้ว่า ขอให้ทุกคนนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะข้อคิดที่ได้จากการฝึกงานซึ่งประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่มีแต่ทะเลทราย อากาศร้อนและเย็นสลับกัน แต่ยังสามารถทำการเพาะปลูกได้

 

นราธิวาส - รอง ผวจ.นราธิวาส ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ด้านการวิจัยต้นแบบการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการขจัดความยากจน

นายอับดุลนัสเซอร์ หะมิ พัฒนาการอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า นายบุญพาศ รักนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยนายอนันต์ แสงชาตรี พัฒนาการจังหวัดนราธิวาส ร่วมพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยต้นแบบการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดนราธิวาส ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 3 อาคารอธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

นายอนันต์ แสงชาตรี พัฒนาการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า จังหวัดนราธิวาส ได้รับการประสานงานจากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในการจัดทำโครงการวิจัย เรื่องต้นแบบการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดนราธิวาส เพื่อวิเคราะห์สาเหตุความยากจนและคนจนของกลุ่มเป้าหมาย ค้นหา สอบทาน และสำรวจทุนคนจนและครัวเรือนที่กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อนำข้อมูลมาออกแบบ พัฒนาและถ่ายทอดนวัตกรรมแก้จนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำที่สอดคล้องกับบริบทและคนจนเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส

ชุมพร - เจ้าหน้าที่คุมพื้นที่ปากน้ำ 28 วัน เฝ้าระวังป้องกันโควิด-19 ปล่อยแถวชุดปฏิบัติการป้องกัน ควบคุม และบังคับใช้กฎหมาย ในสถานการณ์การแพร่ระบาด

วันที่ 3 ตุลาคม 2564 เวลา 15.00 น. นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ปล่อยแถวชุดปฏิบัติการป้องกัน ควบคุม และบังคับใช้กฎหมาย ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนปากน้ำชุพร โดยระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น อาสาสมัครในพื้นที่ จัดชุดปฏิบัติการออกตรวจตรา ป้องปราม และกำกับการเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างด้าว ในพื้นที่ปากน้ำชุมพร อีกทั้งยังเป็นการควบคุมและดูแลผู้ที่มีคำสั่งกักตัว ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่จังหวัดกำหนดโดยเคร่งครัด เพื่อให้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในชุมชนปากน้ำชุมพรสามารถควบคุม และยุติได้โดยเร็ว

นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของจังหวัดชุมพร ในขณะนี้มีเพียงปากน้ำชุมพรพื้นที่เดียวที่ยังคงเป็นสีแดงพบผู้ติดเชื้อรายวันยอดสูงมาก ส่วนพื้นที่อื่นลดลงแล้วและอยู่ในสถานที่ควบคุมได้ ดังนั้นเราจึงต้องมาควบคุมพื้นที่ ต.ปากน้ำ ต.หาดทรายรี ต.ท่ายาง ให้ได้ ซึ่งเราจะนำเจ้าหน้าที่ สปก.ส่วนหน้า พร้อมด้วยหัวหน้าส่วยราชการที่เกี่ยวข้อง มาปฏิบัติการที่เทศบาลปากน้ำชุมพร ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคมนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการหยุดเคลื่อนย้ายคนให้น้อยที่สุด เพราะโรคมันติดไปกับคน โดยจะมีรถประชาสัมพันธ์ 2 ภาษาทั้งไทยและเมียนมา ประกาศให้ทุกคนงดการเคลื่อนที่ที่ไม่จำเป็น ผู้ที่ถูกกักตัวก็ต้องกักตัวตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ผู้ที่อยู่บ้านก็ต้องอย่าออกนอกบ้าน อย่างออกนอกตำบล โดยจะมีมาตรการแนวทางปฏิบัติทั้งในส่วนการดำเนินการในโรงงาน ชุมชน และในเรือ เช่น พรุ่งนี้จะมีเรือเสี่ยงสูงเข้า 2 ลำ เราก็จะนำทุกคนที่อยู่ในเรือทั้งหมดมาตรวจ ใครมีผลบวกก็ส่งตัวไปรักษา คนที่อยู่ในเรือลำเดียวกันก็จะเป็นผู้เสี่ยงสูงจะต้องกักตัว และมีการติดตามอย่างเป็นระบบ

 

สงขลา - ‘นิพนธ์’ กำชับ เร่งเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยเร็วที่สุด ขอบคุณท้องที่ - ท้องถิ่น ร่วมแรงร่วมใจดูแลประชาชนในยามทุกข์

นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์/รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร อดีตส.ส.นครสวรรค์ น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ อดีตส.ส.ลพบุรี และคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย พร้อมมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 2 จุด โดยจุดแรกลงพื้นที่ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเกรียงไกร อำเภอเมืองนครสวรรค์ จุดที่ 2 ที่ชุมชนบางปรอง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

กล่าวพบปะให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพกับประชาชนผู้ประสบอุทกภัย จำนวนกว่า 600 ชุด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวรายงานสถานการณ์ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์

สำหรับสถานการณ์ของจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย มีน้ำป่าไหลหลาก และเอ่อลันตลิ่งเข้าท่วมขังในพื้นที่ มีพื้นที่ประสบภัยทั้งหมด 15  อำเภอ 100 ตำบล 952 หมู่บ้าน 52,914  ครัวเรือน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 16,939 หลัง พื้นที่ทางการเกษตร เสียหาย 744,665.50 ไร่  ซึ่งทางจังหวัด อำเภอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ และภาคเอกชนได้เข้าไปดำเนินการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการ

ต่อมานายนิพนธ์ รมช.มหาดไทย พร้อมคณะ ได้เดินทางไปลงพื้นที่ให้กำลังใจ และมอบเงินช่วยเหลือแก่ญาติผู้เสียชีวิต และมอบถุงยังชีพให้ความช่วยเหลือให้แก่ประชาชนในพื้นที่อำเภอชัยบาดาล และอำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2564 เป็นต้นมา ซึ่งมีพื้นที่ประสบภัยทั้งหมด 11 อำเภอ 94 ตำบล มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 60,334 ครัวเรือน มีพื้นที่ทางการเกษตรที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 507,538 ไร่ ขณะนี้ สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 8 อำเภอ ยังเหลืออีก 3 อำเภอที่ยังคงได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้

นายนิพนธ์ กล่าวกับชาวจ.ลพบุรีว่า ในพื้นที่จังหวัดลพบุรีปีนี้มีปริมาณมวลน้ำมาก ทำให้เกิดเหตุที่ไม่อยากให้เกิดคือมีผู้เสียชีวิต ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีที่ได้เร่งรัดเยียวยาผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สถานการณ์ในขณะนี้ได้คลี่คลายลงแล้วจากเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนตั้งแต่จังหวัดเพชรบูรณ์ สุโขทัย และนครสวรรค์ ยังสามารถบริหารจัดการน้ำได้ อาจมีการชะลอน้ำในบางช่วงไม่ให้ไหลลงสู่เจ้าพระยาเร็วเกินไป แต่ภาพรวมได้รับคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ยังสามารถควบคุมบริหารจัดการน้ำได้  จากนี้ไปคือภารกิจในการซ่อมสร้างเพื่อฟื้นฟูกลับสู่ภาวะปกติ ต้องเร่งสำรวจ ประเมินความเสียหาย บ้านพักอาศัย  พื้นที่เกษตรและเครื่องมือประกอบอาชีพเสียหาย ฯลฯ อย่างเต็มที่ เพื่อจัดสรรงบประมาณในการเยียวยา ช่วยเหลือประชนและฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคได้ทันที

 

สตูล - เปิด “ศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน” เฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรเมทร รามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

วันนี้ 4 ตุลาคม 2564 ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชน (ศูนย์สารภี) ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ร่วมรับชมพิธีเปิด “ศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน” ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลเป็นประธานในพิธีเปิดป้าย“ศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน” เฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรเมทร รามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เพื่อเป็นศูนย์ดำเนินงานผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชนจังหวัดสตูล และปล่อยปลา ปลูกต้นไม้ และโอกาสนี้ผู้ว่าราชการสตูล ได้มอบสิ่งของอุปโภค-บริโภคให้แก่กลุ่มเปราะบางในพื้นที่อำเภอละงู ผ่านนายธานี หะยีมะสาและ นายอำเภอละงู จำนวน 22 ชุด อีกด้วย

กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดให้มีโครงการส่งเสริมการขับเคลื่อนการดำเนินงานผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน จำนวน 76 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 71 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 และจัดตั้งเป็นสถานที่บ่มเพาะภาวะผู้นำ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และการบริหารจัดการชุมชน เพื่อการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นศูนย์ประสานงานภาคีเครือข่ายจิตอาสาพัฒนาชุมชน ระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคีการพัฒนาในพื้นที่ทั้ง 7 ภาคส่วน โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ สร้างเสริมอุดมการณ์ การทำงานเพื่อสาธารณะ ในรูปแบบผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน ที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อชุมชน มีบทบาท มีส่วนร่วมในการพัฒนาและเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และกรมการพัฒนาชุมชน กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมการเปิดป้าย “ศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน” ในส่วนภูมิภาคพร้อมกันทั่วประเทศ

 

กระบี่ - “อนุทิน” อนุมัติวัคซีน sinovac - AstraZeneca จำนวน 500,000 โดส พร้อมส่งมอบพื้นที่เป้าหมาย เพื่อเปิดเมืองพื้นฟูเศรษฐกิจ - การท่องเที่ยว พร้อมให้กำลังใจข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19

วันนี้ (7 ตุลาคม 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ ตรวจเยี่ยมการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID -19) พื้นที่จังหวัดกระบี่  โดยมี  นายพุฒิพงศ์  ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวต้อนรับ เข้าร่วมประชุม รับและส่งมอบวัคซีนจาก ผู้บริหารจากทั้ง 2 กระทรวง โดยมี องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมพนมเบญจา (ชั้น) 5 ศาลากลางจังหวัดกระบี่

จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 2019 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนับตั้งแต่ เดือนมกราคม 2563 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ชะลอตัวไปจนถึงหยุดชะงัก ร้านอาหาร ห้างร้าน โรงแรม และกิจกรรมการท่องเที่ยวต้องหยุดให้บริการ ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว รัฐบาลได้ประกาศ "เปิดประเทศ" ไว้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เดินหน้าแผนระยะที่ 1 โดยทำการทดลองเปิดพื้นที่นำร่องในรูปแบบ Sandbox ซึ่งจังหวัดกระบี่ เริ่มเปิดเกาะพีพี เกาะไหง หาดไร่เล  ก่อนแผนระยะที่ 3 เป็นการผ่อนผัน ในเรื่องของระยะเวลาในการทำกิจกรรมในสถานที่ต่าง ๆ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 และแผนระยะที่ 3 การเปิดจังหวัด เปิดประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน 2564

จังหวัดกระบี่ เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว พื้นที่นำร่องระยะแรกที่พร้อมจะเปิดจังหวัด  จึงกำหนดเป็นนโยบายให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างน้อย ร้อยละ 70 หรือประมาณ 352,653 คน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 504,00 คน ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มหนึ่งแล้วทุกคนจะได้รับวัคซีนเข็มสองภายใน เดือนตุลาคมนี้ คิดเป็นร้อยละ ๓๘ กระทรวงสาธารณสุขยังคงเร่งให้วัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ครบตามเป้าหมายโดยเร็วที่สุด เพื่อเปิดเมือง  พื้นฟูเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว พร้อมส่งมอบวัคซีน จำนวน 500,000 โดส

  

กระทรวงสาธารณสุขมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะให้การเปิดประเทศครั้งนี้ ไม่ก่อให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญกับทั้งสุขภาพประชาชนควบคู่ กับเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 จึงเป็น "วาระแห่งชาติ"ที่ประชาชนในแผ่นดินไทยจะต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 70% หากประชาชน มีความประสงค์จะเข้ารับวัคซีนมากกว่านั้น กระทรวงสาธารณสุขก็ได้เตรียมวัคซีน สำหรับปี 2564 ไว้ถึง 125 ล้านโดส วัคซีนทางเลือก 27 ล้านโดส รวมถึง การได้รับบริจาคจากประเทศต่าง ๆ มาเป็นระยะ 

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top