Saturday, 24 May 2025
Southern

สตูล - เหล่ากาชาดสตูล ส่งมอบชุดธารน้ำใจ กู้ชีวิตฝ่าวิกฤตโควิด 100 ชุด และฟ้าทะลายโจรจำนวน 3,000 แคปซูล พร้อมของใช้จำเป็น เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล

วันนี้ 9 สิงหาคม 2564 ณ ท่าเรือ อาคีร่า คาร์โก้ ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วยนาวาตรีหญิงโนสมา หลีเส็น นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล สมทบ “ชุดธารน้ำใจ กู้ชีวิตฝ่าวิกฤต COVID-19” จำนวน 100 ชุด น้ำดื่ม จำนวน 100 แพ็ค ฟ้าทะลายโจรจำนวน 3,000 แคปซูล ชุดหน้ากากอนามัย สบู่ แชมพู เจลแอลกอฮอล์จำนวน 33 ชุด สเปรย์กันยุง จำนวน 15 ขวด มุ้ง จำนวน 10 หลัง ผ้าห่ม จำนวน 10 ผืน พร้อมกันนี้ นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลสนับสนุนชุดเครื่องนอนและพัดลมจำนวนหนึ่งด้วย.เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชน ผู้กักตนเองอยู่ในบ้านพัก หรือผู้กักกันในสถานกักกันโรคท้องที่ (LQ) ในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล

ทั้งนี้ หากประชาชนผู้กักตนเองอยู่ในบ้านพัก (HQ) ประสบปัญหารายได้ไม่เพียงพอ ถูกเลิกจ้างงาน หรือไม่มีรายได้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจาก โรค COVID-19 มีความประสงค์ขอรับการสนับสนุนชุดธารน้ำใจฯ หรือความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ สามารถแจ้งทีมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ เพื่อพิจารณาคัดกรอง และร้องขอรับความช่วยเหลือผ่าน แอปพลิเคชัน “พ้นภัย” และหากเป็นประชาชนกลุ่มเปราะบางผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ประสบความเดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ผ่านหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 /ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ/ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล หมายเลขโทรศัพท์ 074 711 998, 093 583 7496 หรือ Facebook page “เหล่ากาชาดจังหวัดสตูล”

นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า สำหรับพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ภายในวันอาทิตย์นี้ (7 ส.ค.64) จะทยอยนักท่องเที่ยวขึ้นฝั่งทั้งหมด และงดการท่องเที่ยว หยุดการเดินเรือ และงดการเดินทางเข้าออกเกาะหลีเป๊ะ เป็นเวลา 28 วัน (วันที่ 9 ส.ค.- 5 ก.ย.64) ส่วนเรือขนส่งสินค้าอุปโภค - บริโภค ยารักษาโรคเวชภัณฑ์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน เรือขนส่งขยะ จะมีพนักงานคัดกรอง ส่วนพื้นที่มีที่การแพร่ระบาดบนเกาะหลีเป๊ะทางจังหวัดสตูลมีมาตรการล็อคดาวน์เดินทางเข้าออก 14 วัน และพื้นที่อื่น ๆ ประกาศเคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 21:00 น ถึง 04:00 น. ขอความร่วมมือให้อยู่กับบ้าน ออกนอกพื้นที่เฉพาะมีเหตุจำเป็น เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

พังงา - รมช.มหาดไทย 'นิพนธ์ บุญญามณี' เดินสายตรวจความพร้อมการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อเตรยมรับการท่องเที่ยว

ที่บริเวณด่านหน้า รพ.สต.บ้านเตรียม อ.คุระบุรี จังหวัดพังงา 'นายนิพนธ์ บุญญามณี' รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางจากจังหวัดระนอง เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ ด่านตรวจป้องกันโควิด-19 จังหวัดพังงา ฝั่งรอยต่อจังหวัดระนอง ก่อนมอบ เสื้อกั๊ก “บำบัดทุก บำรุงสุข” ให้กับ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เนื่องในวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน และเดินทางต่อไป จ.กระบี่

โดยพบว่า จังหวัดพังงาเป็นจังหวัดต้น ๆ ของประเทศไทย ที่สามารถบริหารจัดการ และรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี และถือเป็นจังหวัดที่มีความพร้อม ในการนำร่องเปิดโมเดลอันดามันแซนด์บ๊อก ต่อจากภูเก็ตแซนด์บ๊อก ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ควบคู่กับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จังหวัดพังงา พบว่า ในระลอกแรก พบผู้ติดเชื้อ 2 ราย ระลอกที่2 ไม่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนระลอก3 ข้อมูลล่าสุดพบ 806 ราย โดยจังหวัดพังงายังคงใช้มาตรการ SEAL พื้นที่ชุมชนที่เกิดการระบาด SCAN ตรวจหาผู้ป่วย และ CLEAN พร้อมกับมาตรการ รักษา เยียวยา ฟื้นฟูผู้ติดเชื้อ

ส่วนการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ด้วยการฉีดวัคซีน คาดว่าในช่วยปลายปี จะครบตามจำนวนที่วางแผนเอาไว้


ภาพ/ข่าว  อโนทัย​ งานดี / พังงา​

ชุมพร - 1 ล้านตัว! ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 89 พรรษาา

วันที่ 12 สิงหาคม 2564 เวลา 08.30 น. ณ โครงการป้องกัน และบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร (คลองต้นน้ำลุ่มน้ำคลองชุมพร) นายนักรบ ณ ถลางนายอำเภอเมืองชุมพร ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 89 พรรษา  ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 1 ล้านตัว พร้อมด้วย นายปิยะพงษ์ รอดศิริ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลขุนกระทิง นายสุชาติ จุลอดุง ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ชาวบ้านตำบลขุงกระทิงเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้

นายปิยะพงษ์ รอดศิริ กล่าว่า ร่วมกิจกรรม “1 ล้านตัว ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ” เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2564 ณ โครงการป้องกัน และบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร (คลองต้นน้ำลุ่มน้ำคลองชุมพร)วันนี้ได้รับเกียรติจากนายนักรบ ณ ถลางนายอำเภอเมืองชุมพร นายสุชาติ จุลอดุง ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพรเข้าร่วม “1ล้านตัวปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ” และที่โครงการป้องกัน และบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร (คลองต้นน้ำลุ่มน้ำคลองชุมพร) ช่วยบรรเทาอุทกภัยแล้วยังเป็น แหล่งหาปลาของคนในพื้นที่ ได้ต่อไป

นายนักรบ ณ ถลาง เปิดเผยว่า กิจกรรมในวันนี้ ได้รับความรวมมือจาก เทศบาลตำบลขุนกระทิง กรมชลปะทาน ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร ได้นำพันธุ์ปลาจำนวน 1ล้านตัวมาปล่อยในคลองโครงการป้องกัน และบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร (คลองต้นน้ำลุ่มน้ำคลองชุมพร) โดยมี พันธุ์ "ปลาสุลต่าน" หรือปลาบ้า และก็ปลาตะเพียน เพื่อเป็นอาหารให้กับชาวบ้านและจะจังให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้กับประชานต่อไป


ภาพ/ข่าว  ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร

ชุมพร – สาธารณสุขจังหวัดชุมพร แถลงยืนยัน ตามที่สื่อโซเชียลบางแห่ง ที่ระบุว่า “เข้าเวรโควิดหมอเซ็น 1,000 ได้จริง 400” ตรวจสอบแล้วไม่เป็นความจริง!!

วันนี้ (12 ส.ค. 64) เวลา 16.00 น. ณ ห้องประชุมสาธารณสุขจังหวัดชุมพร ได้เปิดแถลงข่าว ในกรณีที่เป็นข่าวในสื่อโซเชียน โดยมี นพ.จิรชาติ เรื่องวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นพ.อนุ ทองแดง นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร และ นพ. ฉัตรชัย พิริยประกอบ รอง ผอ.รพ. ชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โดยมีสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวในครั้งนี้จำนวนหนึ่ง

นพ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร กล่าวว่า จากกรณีเมื่อวาน (11 ส.ค. 64) กรณีที่มีสื่อโซเชียล มีการนำเสนอประเด็น ที่กระทบต่อขวัญกำลังใจแก่บุคคลากรทางการแพทย์และเป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้กับพี่น้องประชาชนได้โดยมีข้อความที่ระบุว่า “เข้าเวรโควิดหมอเซ็น 1000 ได้จริง 400” ซึ่งประเด็นนี้ เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะมีการพาดพิงถึงการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงค่าเสี่ยงภัย ของบุคลากรการแพทย์ของจังหวัดชุมพรในช่วงระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม 2564 โดยเมื่อเช้านี้ ได้มีการประชุมบุคลากรของสาธารณสุขจังหวัดชุมพรและโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น และได้มีการตั้งคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ให้เป็นที่ประจักษ์และเพื่อความโปร่งใสแก่ทุกๆคนทุกๆฝ่าย ซึ่งชื่อเต็มของเบี้ยเลี้ยงนี้มีชื่อว่า “ค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเสี่ยงภัย ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการ เฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุมและรักษาผู้ป่วยโควิด-19” ซึ่งเงินในโครงการนี้ จะได้รับอนุมัติมาจากกรมบัญชีกลาง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในแต่ละจังหวัด โดยเงินในส่วนนี้ ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรทางการแพทย์จะมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด โดยงบประมาณในส่วนนี้ จะได้รับการจัดสรรตามปริมาณงานและความเสี่ยง โดยจะดูจากจำนวนยอดของผู้ป่วยโควิด - 19 ในพื้นที่ของแต่ละจังหวัดเป็นหลัก

ในส่วนของจังหวัดชุมพรในภาพรวม เราจะมีกรรมการมาดูแลในงบประมาณดังกล่าว เพื่อทำการตรวจสอบให้ตรงตามข้อระเบียบของการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนนี้ให้เที่ยงตรงและต้องมีความถูกต้อง โดยผ่านการพิจารณาของกรรมการจังหวัด จากนั้นก็จะมีการเบิกจ่ายเงินส่วนนี้ กระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆและสำนักงานสาธารณสุขต่าง ๆ ในทุกพื้นที่ทุกอำเภอ เพื่อให้เป็นไปในทางเดียวกันทั้งจังหวัด

สำหรับงบประมาณดังกล่าวที่ได้รับจัดสรรมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - มีนาคม 2564 ซึ่งในช่วงนั้น จังหวัดชุมพรมีจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 น้อยอยู่เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ เราก็จะได้น้อยกว่าซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2564 มีการแพร่ระบาดในพื้นที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม 2564 จึงทำให้ปริมาณงานของบุคคลากรทางการแพทย์มีมากขึ้น ทำให้เงินงบประมาณที่รับการจัดสรรไม่เพียงพอ ในหลายแห่งเช่นที่ รพ.หลังสวน ,รพ. ปากน้ำ ,ชุมพร สาธารณสุขอำเภอท่าแซะ จึงได้มีการทำบันทึกเสนอของบประมาณเพิ่มเติมมาที่สาธารณสุขจังหวัดชุมพร ซึ่งเราก็ได้ทำของบประมาณเพิ่มเติมไปที่กระทรวงสาธารณสุข แล้วก็ได้เงินกลับมาได้ครบทุกคน

แล้วจากการตรวจสอบในเบื้องต้น ก็ยังไม่พบการทุจริตในเงินงบประมาณส่วนนี้ในจังหวัดชุมพร และการเบิกจ่ายก็ยังถูกต้องตรงกันทั้งหมด ดังนั้นขอยืนยันว่าไม่มีการทุจริตในเงินส่วนนี้พื้นที่จังหวัดชุมพร และผมก็ได้นำเรียนไปยังผู้บริหารของกระทรวงเรียบร้อยแล้ว


ภาพ/ข่าว  ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร

นราธิวาส - หมู่บ้านนี้ไม่มีโควิด!! มอบป้ายประกาศ - ธงสีฟ้า ให้แก่หมู่บ้านและชุมชน ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่อำเภอสุคิรินและอำเภอแว้ง

นายอับดุลนัสเซอร์ หะมิ พัฒนาการอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า นายไพโรจน์ จริตงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานในพิธีมอบป้ายประกาศและธงสีฟ้า "หมู่บ้าน/ชุมชน สีฟ้า" ให้แก่หมู่บ้านและชุมชน ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด - 19 ในพื้นที่อำเภอสุคิรินและอำเภอแว้ง

นายไพโรจน์ จริตงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้กล่าวว่า "หมู่บ้าน/ชุมชน สีฟ้า" เป็นหนึ่งในแนวคิดของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวังควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยให้ประชาชนในชุมชน ร่วมทำและร่วมตัดสินใจกันเอง ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ในระดับหมู่บ้าน อาทิเช่น การคัดกรองผู้เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงเพื่อกักตัว 14 วัน การปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุข เว้นระยะห่าง, สวมหน้ากาก, ล้างมือ, ตรวจอุณหภูมิร่างกาย, สแกนไทยชนะ อย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง การส่งเสริมให้มีการปลูกและใช้สมุนไพรในการรักษาและป้องกันโรคโควิด-19 การค้นหาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง Rex-ray และรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันฉีดวัคซีนแล้วไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อจัดตั้งเป็น "หมู่บ้าน สีฟ้า" เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดในระดับต่ำ และเป็นแบบอย่างที่มีระบบดูแลตนเองในหมู่บ้านหรือชุมชน และสามารถคลี่คลายและผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตของโรคโควิด-19 และได้มอบพันธุ์ไม้ฟ้าทะลายโจร ให้กับหมู่บ้าน/ชุมชน ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดนราธิวาส จาก 13 อำเภอ มีจำนวน 119 หมู่บ้าน/ชุมชน ในส่วนของอำเภอสุคิริน มีจำนวน 18 หมู่บ้าน อำเภอแว้ง มีจำนวน 7 หมู่บ้าน

ในส่วนของสำนักงานพัฒนาชุมชนแต่ละอำเภอ ได้มอบพันธุ์พืช สมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร ขิง ขมิ้น ข่า ตะไคร้ ชะอม ให้กับหมู่บ้านดังกล่าว และจะมีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนเข้าไปติดตามในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนทุกหมู่บ้านได้ปลูกพืชผักสวนครัว และสมุนไพร ใช้ให้เป็นประโยชน์ในการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ ตามนโยบายของอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเสริมสมุนไพร รักษาโควิด - 19

โดยมีนายอรุณ ศรีใส นายอำเภอสุคิริน ,นายรุสดี ปูรียา นายอำเภอแว้ง ,หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้การต้อนรับ


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

สตูล - อบจ. สร้างจุดเช็คอินใหม่ ในกิจกรรมการวาดภาพฝาผนัง “ศิลปะชุมชนละงู” (Satun Street Art) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย

วันนี้ 16 สิงหาคม 2564 ที่ ห้องประชุมธรรมาภิบาลเทศบาลตำบลกำแพง ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานปิดกิจกรรมการวาดภาพฝาผนัง “ศิลปะชุมชนละงู” ( Satun Street Art) โดยมีนาวาตรีหญิงโนสมา หลีเส็น นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล นายกเทศมนตรีตำบลกำแพง หัวหน้าส่วนราชการ คณะศิลปินจิตอาสาและผู้นำชุมชนในพื้นที่ละงู ร่วมพิธีปิดฯ หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เยี่ยมชมศิลปะชุมชนละงู จำนวน 6 จุด รวม 26 ภาพ พร้อมถ่ายรูปเช็คอินอย่างสวยงาม นอกจากนี้ได้มีการมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้ร่วมวาดภาพ และผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมภาพวาด “ศิลปะชุมชนละงู” เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสตูล โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลเป็นแกนหลักร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า ภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนชาวสตูล เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้มีแหล่งท่องเที่ยวในมิติใหม่ ๆ เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวจังหวัดสตูลเพิ่มขึ้น และใช้เวลาท่องเที่ยวในจังหวัดสตูลให้นานยิ่งขึ้น เป็นภาพวาดศิลปะฝาผนังในพื้นที่เทศบาลตำบลกำแพง อำเภอละงู โดยมีเป้าหมายวาดภาพ จำนวน 6 จุด รวม 26 ภาพ ซึ่งแต่ละภาพแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมของชาวละงู เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา ซึ่งขณะนี้สามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชมและถ่ายรูปได้แล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากศิลปินจิตอาสา และศิลปิน ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากเทศบาลตำบลกำแพงซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่จุดวาดภาพ และการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์จากภาคเอกชนอีกด้วย จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายแล้ว เข้ามาเยี่ยมชมถ่ายรูปเช็คอินเยือนถิ่นละงู และแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดสตูล

ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า ขอชื่นชมทุกภาคส่วนที่ร่วมกันจัดกิจกรรมนี้ขึ้นสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย ด้วยความร่วมมือของภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ตามนโยบายรัฐบาลที่ได้ให้มีการส่งเสริมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวจังหวัดสตูลในอนาคต นับว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนเที่ยวจังหวัดสตูลเพิ่มมากขึ้น หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัด

นราธิวาส - แม่ทัพภาคที่ 4 เยี่ยมชมการดำเนินงานโรงงานแปรรูปผลไม้ บริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด พร้อมผลักดัน รองรับผลผลิตทางการเกษตรแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่อย่างยั่งยืน

วันนี้ 17 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น. ที่ โรงงานแปรรูปผลไม้ บริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เดินทางเยี่ยมชมการดำเนินงานโรงงานแปรรูปผลไม้ ที่ถือเป็นศูนย์กลางการรวบรวม และแปรรูปผลไม้ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน พร้อมหารือถึงการเพิ่มคุณภาพ ศักยภาพการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลอด นอกจากนี้ยังได้หารือถึงการต่อยอดโครงการ  แนวโน้มการเติบโตในอนาคต ให้สามารถกระจายรายได้กับคนในชุมชนอย่างทั่วถึงครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากในปัจจุบันมียอดการสั่งซื้อกว่า 1,000  ตัน และในอนาคตคาดว่ายอดจะพุงสูงขึ้นเป็น 5,000 ตัน หากมีศักยภาพและกำลังการผลิตที่เพียงพอ จะสามารถพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรให้เติบโต และมีเสถียรภาพสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ช่วยเหลือเกษตรกรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้มีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน  โดยมี พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15/  ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส,  นายไพโรจน์ จริตงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, ผู้แทนบริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด และส่วนที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

โดยแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ได้ส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ อย่างมากมาย รวมไปถึงส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ล้นตลาด ที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่มีการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ด้วยการบูรณาการประสานการทำงาน สร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้กับพี่น้องเกษตรกร ในขณะเดียวกันหากมีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จำเป็นที่จะต้องมีโรงงานในลักษณะนี้ เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรของพี่น้องเกษตรกร แปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และเพิ่มศักยภาพทางการผลิตให้สามารถส่งออก และกระจายสินค้าให้เพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ขอให้ทุกคนได้มุ่งมั่น ตั้งใจพัฒนาโรงงาน ให้สามารถเป็นจุดแข็งรองรับ และช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วย คือการให้ความรู้กับพี่น้องเกษตรกร การรักษาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรให้สามารถเป็นที่ยอมรับ และคงคุณภาพสินค้าไว้ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้เติบโตเป็นที่ยอมรับ เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป"

ทั้งนี้ บริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด จัดตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตลาดกลางการเกษตร เพื่อส่งออกภาคใต้ชายแดน จังหวัดนราธิวาส มีเนื้อที่จำนวน 32 ไร่ นับเป็นองค์กรที่สนับสนุน และส่งเสริมราคาผลไม้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ เพื่อสร้างความได้เปรียบในเวทีการค้าโลก เกิดจากการต่อยอดธุรกิจจากรุ่นแม่เป็นผู้รวบรวมผลไม้ในพื้นที่เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งตกทอดมาถึงปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาจากการค้าชายแดนไทย-มาเลเซียเป็นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าในพื้นที่ อาทิ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง และสะตอ โดยใช้เทคโนโลยีแช่เยือกแข็ง ปัจจุบัน บริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด ถือเป็นบริษัทผลิต และรวบรวม และจัดจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร รวมไปถึงการต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า มีการวางแผนกับหน่วยงานราชการ พูดคุยทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงการรักษามาตรฐานคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เป็นที่ยอมรับสร้างการเติบโตอีกด้วย

นราธิวาส - ตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก รังสรรค์เมนูข้าวไก่ทอด ไข่เจียวฮาลาล แจกประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามโครงการ ‘โรงพักโก-ลก เรา ปัน สุข’

ที่ศูนย์บริการประชาชน ป้อมจราจร หน้าสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก พ.ต.อ.เจฟฟรีย์ ไศลมานกุล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรสุไหงโก-ลก นำตำรวจจิตอาสา ร่วมกันรังสรรค์เมนูข้าวไก่ทอด ไข่เจียวฮาลาล แจกให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วันละ 1,000 กล่อง ตามโครงการโรงพักโก-ลก เรา ปัน สุข ระหว่างวันที่ 16-20 สิงหาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 14.00น. เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อแบ่งปันความสุขและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  พร้อมยึดหลัก D-M-H-T-T สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือที่จุดให้บริการ

ด้านประชาชนที่มาต่อแถวรับข้าวกล่อง กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้รับความเดือดร้อน ขาดรายได้จุนเจือครอบครัว ทราบว่าผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรสุไหงโก-ลก จัดกิจกรรมแจกข้าวไข่เจียวให้ประชาชน จึงตั้งใจมารับข้าวกล่องไปรับประทานกับครอบครัว ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อีก 1 มื้อ จึงขอขอบคุณผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรสุไหงโก-ลก และเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายที่ทำกิจกรรมดี ๆ ให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในครั้งนี้


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

ชุมพร - พ่อเมืองชุมพร ลงพื้นที่ติดตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของล้งทุเรียน สร้างความเชื่อมั่นทุเรียนชุมพร

วันที่ 18 สิงหาคม 2564  14.30 น.  นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นายแพทย์จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร นายพิทักษ์ พิศสิริวัฒนสุทธิ์ ปลัดจังหวัดชุมพร และหัวหน้าส่วนราชการ ลงพื้นที่อำเภอหลังสวน ตรวจติดตามและให้กำลังใจล้งทุเรียน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ในมาตรฐานความปลอดภัย และมาตรการป้องกันโควิด-19 ของทุเรียนชุมพร ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่า จีนที่รับทุเรียนส่งออกจากประเทศไทย พบเชื้อโควิด-19 ในกล่องบรรจุทุเรียน ที่มาจากจังหวัดชุมพร จึงส่งผลกระทบต่อการรับซื้อทุเรียนในพื้นที่

นายแพทย์จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ในส่วนของล้งผลไม้ จังหวัดชุมพรมีการออกแบบในการทำความสะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 ซึ่งทุกล้งผลไม้สามารถปฏิบัติได้ดี แต่มีผู้ที่เดินทางมาจากหลายจังหวัด ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงในการป้องกันการระบาดเช่นกัน ก็มีการพบการติดเชื้อในบางล้ง แต่ไม่มาก ส่วนจะเกิดจากการซื้อขายระหว่างบุคคล ได้ส่งเสริมให้ ทุกล้งใช้ ที่ตรวจ ATK เพื่อเฝ้าระวังคนงาน ในส่วนของผู้ที่จะเข้ามาซื้อขายก็จะมีขั้นตอนเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการระบาดอยู่แล้ว

ด้านนายอุดม ศรีสมทรง พาณิชย์จังหวัดชุมพร กล่าวว่า จากข่าวที่มีการพบเชื้อโควิด19ในกล่องบรรจุทุเรียน ทำให้ล้งทุเรียนในจังหวัดชุมพร ตระหนักถึงความปลอดภัย และความสะอาดมากยิ่งขึ้น มีการหยุดทำความสะอาด และปฏิบัติตามมาตรการ ตรงตามมาตรฐานมากยิ่งขึ้น โดยจากข่าวดังกล่าวทำให้ราคาตกลงบ้าง แต่ในขณะนี้ราคากลับขึ้นมาเป็นปกติแล้ว

นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า จังหวัดชุมพรช่วงนี้เป็นฤดูกาลผลไม้ และอยู่ในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทางจังหวัดชุมพร ได้ออกมาตรการ และคำแนะนำ พร้อมประชาสัมพันธ์ถึงการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคโควิด -19 มาโดยตลอด และจากกรณีที่มีข่าวว่าพบเชื้อโควิด-19 จากทุเรียนที่ส่งไปจากอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร แต่พบที่กล่องบรรจุ ไม่ได้พบที่ตัวทุเรียนซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นการติดเชื้อจากไหน อาจเป็นช่วงของการขนส่ง จากเมืองไทยไปยังประเทศจีน  จึงเชื่อมั่นได้ว่า ทุเรียนจากจังหวัดชุมพรไม่มีการติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด ขอให้มั่นใจได้ ทั้งชาวไทยและชาวจีนว่า ทุเรียนของจังหวัดชุมพร มีมาตรฐานสูงในการรักษาความปลอดภัยทั้งจากเชื้อโควิด-19 หรือเชื้ออื่น ๆ อีกทั้งล้งผลไม้ส่วนใหญ่ ที่ส่งออกไปยังประเทศจีน ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการส่งออกในระดับสากล ทั้งการทำความสะอาด ทางด้านตัวพนักงานเอง หรือสถานที่ บางล้งหยุดรับซื้อ เพื่อทำความสะอาด บางล้งทำความสะอาดพร้อมกับรับซื้อ โดยการลงพื้นที่มาตรวจในครั้งนี้ พบว่ามาตรฐานดีทุกล้ง ปฏิบัติตามมาตรการที่ทางจังหวัดได้กำหนดไว้ จึงขอให้มั่นใจได้


ภาพ/ข่าว  ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร

พัทลุง - เปิดศูนย์พักคอยรองรับชาวพัทลุงที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ในขณะที่จังหวัดพัทลุง ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ป่วย เพิ่มจำนวน 17 ราย ทำให้มียอดสะสม 2,377 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทศบาลตำบลหนองพ้อ อ.ควนขนุน จังหวัดพัทลุง เปิดศูนย์พักคอยหรือสถานที่ควบคุมกักกันเพื่อสังเกตอาการโรคติดเชื้อไว้รัส โคโรน่า 2019 ตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้หนึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีศูนย์พักคอยขึ้นจำนวน  1 แห่งรองรับประชาชนที่มาจากพื้นที่เสี่ยง  เพื่อเฝ้าสังเกตอาการจำนวน  14 วัน  หากไม่มีอาการป่วยก็สามารถเดินทางกลับสู่ครอบครัวได้  แต่หากมีอาการป่วยก็จะส่งเข้ารับการรักษาตามกระบวนการต่อไป

นายไตรศักดิ์ รักใหม่ นายกเทศมนตรีตำบลหนองพ้อ บอกว่า สำหรับศูนย์พักคอยของเทศบาลตำบลหนองพ้อ ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนบ้านโคกวา หมู่ 4  ตำบลควนขนุน อ.ควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ ได้มีการยกเลิกทำการเรียนการสอนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยทางเทศบาลได้จัดซื้อซุ้มไม้ไผ่ วางเป็นหลัง ๆ อาศัยหลังละ 1 คน เพื่อให้สะดวกและป้องกันการติดเชื้อหากบุคคลที่กักตัว บุคคลหนึ่งบุคคลใด มีอาการป่วย โดยที่ศูนย์ดังกล่าว สามารถรองรับผู้กักตัวเบื้องต้นได้จำนวน 4 ราย และล่าสุด มีประชาชนเข้ากักตัวแล้วจำนวน 2 ราย ซึ่งเป็นบุคคลเสี่ยงในพื้นที่ จำนวน 1 ราย และเดินทางมาจากพื้นที่สีแดง เพื่อกลับบ้านในพัทลุงจำนวน 1 ราย

นายไตรศักดิ์ ฯ ยังบอกด้วยว่า ในการควบคุมดูแลที่ศูนย์ดังกล่าว จะมีการสลับสับเปลี่ยนระหว่างเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเทศบาลตำบลหนองพ้อ และทางอำเภอควนขนุน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นตัวแทนจาก สาธารสุขคอยควบคุมดูแลอยู่ตลอดด้วย อย่างไรก็ดีหากในพื้นที่ มียอดผู้เดินทางเข้ามาเพิ่ม ทางเทศบาลก็พร้อมจะขยายตัวอาคารเพื่อรองรับประชาชนที่ต้องกักตัวเพื่อดูอาการได้อีก

อย่างไรก็ดีในส่วนของจังหวัดพัทลุง วันนี้ทางจังหวัดรายงานตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นจำนวน17 ราย ทำให้จังหวัดพัทลุงมียอดผู้ป่วยสะสม จำนวน  2,377  ราย ในขณะที่ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านได้ จำนวน  59 ราย  ยอดผู้ป่วยรักษาหายสะสม  2,073 ราย และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 19 ราย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top