Sunday, 18 May 2025
PoliticsQUIZ

สายหื่นจบที่คุก 'เนเน่' โมเดลลิ่งชื่อดังโดนรวบ อนาจารเด็ก ไร้ญาติประกัน ก้มหน้านอนเรือนจำ

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้ควบคุมตัว นายดนุเดช แสงแก้ว หรือนุ หรือเนเน่ อายุ 23 ปี โมเดลลิ่งชื่อดัง ผู้ต้องหาคดีกระทำอนาจารเด็ก มายื่นคำร้องฝากขังศาลครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-24 ก.พ.นี้ เนื่องจากยังต้องสอบปากคำพยานอีกจำนวนมาก รอผลสอบประวัติอาชญากรผู้ต้องหา รอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง และอื่นๆ

เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 64 เจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ ได้เข้าจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ที่บ้านเลขที่ 37/3561 ซอย 28/4 หมู่ 5 หมู่บ้านพฤกษา 13 ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งใช้เป็นสำนักงานเนเน่โมเดลลิ่ง (Nene Modeling) พร้อมอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ ไฟล์ภาพลามกอนาจารเด็กกว่า 5 แสนภาพ ส่งพนักงานสอบสวนดีเอสไอ แจ้งข้อหาดำเนินคดี ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้, กระทำชำเรา และพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี

ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม, กระทำอนาจารแก่เด็กอายุไม่เกิน 13 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม และพาเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม และพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร

ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง มีผู้เสียหายจำนวนมาก เกรงว่า หากผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว จะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้

ศาลพิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาแล้วไม่คัดค้านจึงอนุญาตให้ฝากขังได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ไม่มีญาติมายื่นคำร้องขอประกันตัวนายดนุเดชหรือเนเน่ ผู้ต้องหาแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เตรียมนำตัวไปคุมขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อไป
 

ม็อบนี้มีน้ำเลี้ยง!!! ‘นิด้าโพล’ เผยผลสำรวจล่าสุด ชี้ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 65% เชื่อ ‘ม็อบสามนิ้ว’ มีแกนนำ และมีผู้อยู่เบื้องหลัง ส่วนพฤติกรรม – กิจกรรมของผู้ชุมนุม ยังมีมุมมองแตกต่าง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "กลุ่มราษฎรหรือม็อบสามนิ้ว ณ เวลานี้" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,315 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับกลุ่มราษฎรหรือม็อบสามนิ้ว ณ เวลานี้

การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงการมีแกนนำกลุ่มราษฎรหรือม็อบสามนิ้ว พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.60 ระบุว่า มีแกนนำ ขณะที่ ร้อยละ 32.40 ระบุว่า ไม่มีแกนนำ

ส่วนการมีผู้อยู่เบื้องหลังของกลุ่มราษฎรหรือม็อบสามนิ้ว พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.25 ระบุว่า มีผู้อยู่เบื้องหลัง ขณะที่ ร้อยละ 34.75 ระบุว่า ไม่มีผู้อยู่เบื้องหลัง

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับข่าวความขัดแย้งภายในกลุ่มราษฎรหรือม็อบสามนิ้ว พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.22 ระบุว่า เป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล รองลงมา ร้อยละ 25.48 ระบุว่า เป็นความไม่เข้าใจกันชั่วคราว ร้อยละ 16.88 ระบุว่า เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริง และร้อยละ 16.42 ระบุว่า เป็นกลลวงที่สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกฝ่ายตรงข้าม

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับพฤติกรรม/กิจกรรมของกลุ่มราษฎรหรือม็อบสามนิ้วที่ผ่านมา พบว่า

ร้อยละ 20.23 ระบุว่า เป็นการต่อสู้ด้วยวิถีทางแบบประชาธิปไตย ขณะที่ ร้อยละ 6.54 ระบุว่า ต่อสู้ด้วยวิถีทางนอกเหนือจากแบบประชาธิปไตยเพื่อให้ได้ชัยชนะ

ร้อยละ 16.20 ระบุว่า เป็นการแสดงออกถึงการเอาแต่ใจไม่เคารพในกฎหมายของบ้านเมือง ขณะที่ ร้อยละ 2.51 ระบุว่า แสดงออกถึงการเคารพในกฎหมายของบ้านเมือง

ร้อยละ 9.89 ระบุว่า เป็นการแสดงออกถึงการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ขณะที่ ร้อยละ 8.90 ระบุว่า แสดงออกถึงการเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

ร้อยละ 9.13 ระบุว่า เป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพและไม่รับฟังความคิดเห็นต่าง ขณะที่ ร้อยละ 8.29 ระบุว่า แสดงออกถึงการเคารพและรับฟังความคิดเห็นต่าง

ร้อยละ 4.26 ระบุว่า เป็นการแสดงออกด้วยการพูดความเท็จและบิดเบือนข้อมูล ขณะที่ ร้อยละ 3.12 ระบุว่า แสดงออกด้วยการพูดข้อเท็จจริงและเหตุผล

ร้อยละ 3.57 ระบุว่า เป็นการแสดงออกถึงการต่อสู้ที่ไม่ยึดหลักสันติวิธี ขณะที่ ร้อยละ 3.12 ระบุว่า แสดงออกถึงการต่อสู้ที่ยึดหลักสันติวิธี

ร้อยละ 3.50 ระบุว่า เป็นการแสดงออกถึงการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามอย่างไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ขณะที่ ร้อยละ 1.52 ระบุว่า แสดงออกถึงการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามอย่างมีจิตสำนึกรับผิดชอบ

ร้อยละ 2.97 ระบุว่า เป็นการแสดงออกถึงการเคารพในความเท่าเทียมกัน ขณะที่ ร้อยละ 0.76 ระบุว่า แสดงออกถึงการแบ่งชนชั้น และร้อยละ 19.32 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

‘รัฐบาล’ แจงเหตุไทยไม่ได้สิทธิวัคซีนฟรีจาก COVAX ระบุ เป็นประเทศมีรายได้ระดับปานกลาง ไม่เข้าข่ายได้ของฟรี ยันเจรจาผู้ผลิตตรงเหมาะสมแล้ว เพราะมีความยืดหยุ่นกว่า สามารถต่อรองราคาและเงื่อนไขได้โดยตรง

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวว่าไทยตกขบวนรับวัคซีนฟรีจากโครงการโคแวกซ์ หรือ COVAX (Covid-19 Vaccines Global Access Facility หรือโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก) ว่า โครงการ COVAX นั้นเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI), องค์กรกาวี (Gavi, the Vaccine Alliance) และองค์การอนามัยโลก ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมตั้งแต่ช่วงต้นของโครงการแล้ว แต่เนื่องจากกรอบการจัดสรรวัคซีนและข้อตกลงการจองวัคซีนที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลกในช่วงเวลานั้น เป็นช่วงต้นของการพัฒนาวัคซีนทั้งสิ้น ซึ่งหมายความว่าแม้ว่าทำการจองไปแล้ว จะยังไม่ทราบว่าวัคซีนที่จองไปแล้วนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ การตัดสินใจของรัฐบาลเป็นการตัดสินใจอย่างรอบคอบท่ามกลางข้อจำกัดและบริบทหลายด้าน ผ่านคณะทำงานที่กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งขึ้น ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในและนอกกระทรวง ทั้งด้านวิชาการ กฎหมาย การเงิน เพื่อร่วมกันพิจารณาเงื่อนไขของการทำข้อตกลงสั่งจองวัคซีน จึงเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานระหว่างผลประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพราะอาจจะไม่ได้รับวัคซีนหากการพัฒนาไม่สำเร็จ ล่าช้า และจำเป็นต้องเสียเงินค่าจองล่วงหน้า

นอกจากนี้ หากประเทศในอาเซียนที่จัดอยู่ในระดับที่มีรายได้ปานกลางจนถึงระดับสูง อย่างเช่น ไทย บรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซีย จะไม่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือให้ได้รับวัคซีนฟรี หรือให้ซื้อได้ในราคาถูกจากโครงการ COVAX เนื่องจากรายได้ของไทยอยู่ในระดับปานกลาง

ทั้งนี้ มี 6 ประเทศในอาเซียนที่ได้รับวัคซีนฟรี ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ประเทศไทยหากต้องการเข้าร่วมโครงการการจัดซื้อจัดหาวัคซีนผ่าน COVAX จะต้องจ่ายเงินซื้อวัคซีนเองด้วยงบประมาณที่สูงและมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก โดยเป็นการจ่ายเงินจองล่วงหน้าไปก่อน แต่ไม่ทราบแหล่งที่มาของผู้ผลิต และไม่สามารถระบุวันเวลาที่แน่ชัดสำหรับการรับวัคซีนด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงข้อจำกัดที่มีทั้งหมดในการเข้าร่วมโครงการ COVAX แล้ว การที่ประเทศไทยทำความตกลงซื้อวัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตโดยตรง จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ เนื่องจากมีความยืดหยุ่นกว่า สามารถต่อรองราคาและเงื่อนไขได้โดยตรงกับผู้ผลิต

‘แรมโบ้’ ซัดม็อบ 3 นิ้ว พกอาวุธเข้าที่ชุมนุม พร้อมยั่วยุให้เจ้าหน้าที่ก่อเหตุ ส่วนปมแพทย์อาสาถูกทำร้ายต้องตรวจสอบภาพก่อน ชี้อาจเกิดจากการชุลมุนไม่ได้ตั้งใจทำร้าย

นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้อีสาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเหตุการณ์ปะทะกันในการชุมนุมของกลุ่มราษฎร เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า คนไทยรู้สึกสะเทือนใจกับเหตุการณ์ที่มีเหตุชุลมุนปาระเบิดปิงปองและวุ่นวาย แต่การชุมนุมของกลุ่มราษฎรไม่ได้ยึดหลักสันติ แม้จะบอกว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้ความรุนแรง แต่พิสูจน์ได้ว่าไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความอดทนจนถึงที่สุดแล้ว แม้แกนนำจะประกาศยุติการชุมนุม แต่กลุ่มการ์ดและมวลชนที่เหลืออยู่ ก็ยังไม่ยอมหยุดสร้างความวุ่นวายและความรุนแรง จนเจ้าหน้าที่ต้องทำการกดดันและจับกุมได้เป็นบางคน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย 

ตนขอฝากว่านี้คือการชุมนุมที่ถูกกฎหมายตามหลักรัฐธรรมนูญ หรือเป็นการชุมนุมที่เรียกร้องตามสิทธิเสรีภาพหรือไม่ หลายครั้งแล้วที่จัดการชุมนุมอย่างต่อเนื่องเพื่อกดดันให้ศาลปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คน บ้านเมือง มีกฎหมายมีขื่อมีแป กลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านี้ ไม่อยู่ในกฎระเบียบของบ้านเมืองเหมือนบ้านนี้เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน นักเคลื่อนไหวหลายกลุ่ม อย่าบอกว่ารัฐบาลคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านี้มีอาวุธมีระเบิดปิงปองทำลายทรัพย์สินของราชการและลงมือก่อเหตุรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ก่อน

เมื่อถามถึงกรณีที่สังคมกำลังประณามภาพที่มีการเผยแพร่ผ่านโลกโซเชียลเป็นภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจลักษณะคล้ายรุมทำร้ายแพทย์อาสา  นายสุภรณ์ กล่าวว่า ในช่วงชุลมุนวุ่นวาย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศตลอดว่าขอให้เจ้าหน้าที่สื่อมวลชนถอยไปอยู่จุดที่ปลอดภัย บางครั้งการชุลมุนคงไม่ใช่เรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปกระทำพยาบาล แต่ในช่วงชุลมุนเราก็ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องการเคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อยและภาพที่ออกมานั้นเราก็ต้องตรวจสอบว่าเกิดข้อผิดพลาดอย่างไร แต่การชุมนุมที่ก่อเหตุรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นสิ่งที่ประชาชนควรประนาม

เมื่อถามว่าแกนนำได้ประกาศขีดเส้น 7 วันให้ปล่อยผู้ต้องขังทั้ง 4 คน นายสุภรณ์ กล่าวว่า กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ม็อบกลุ่มนี้พยายามกดดันตำรวจ จาบจ้วงสถาบันและกดดันอำนาจตุลาการ มันเป็นไปไม่ได้บ้านเมืองมีขื่อมีแป กฎหมายต้องเป็นกฎหมายไม่มีใครสามารถทำตามข้อเรียกร้องได้ ฝากประชาชนเมื่อเราทำตามกฎหมายแล้วคนกลุ่มนี้ก็พยายามลุกลามกฎหมายให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ตนมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเอาอยู่

‘ศรีสุวรรณ’ เตรียมทวงถาม ‘บิ๊กตู่’ ลงโทษ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ สมัยเป็นนายก อบจ.สงขลา ตามที่ ป.ป.ช.วินิจฉัย หรือยัง ชี้หากไม่ลงโทษตามที่กฎหมายกำหนด อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สำนักตรวจเงินแผ่นดินสงขลา ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา สมัยที่มีนายนิพนธ์ บุญญามณี เป็นนายก อบจ.สงขลา และอดีตนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา กว่า  34 ล้านบาท ที่นำไปอุดหนุนให้กับสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา ประจำปีงบประมาณ 2558-2559 โดยมิชอบ 

ต่อมาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีมติเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2560 ว่าเป็นการอุดหนุนเงินงบประมาณเกินอำนาจหน้าที่และเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงินฯ 2543 และต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มีหนังสือลงวันที่ 3 ก.ค. 2560 พ้องด้วยกับข้อทักท้วงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสรุปว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ที่มีนายนิพนธ์ บุญญามณี เป็นนายกฯ ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลาเกินอำนาจหน้าที่และการใช้จ่ายไม่ถูกต้องนั้น

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรณีดังกล่าว มีการร้องเรียนกล่าวโทษนายนิพนธ์ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และต่อมาเมื่อเดือน ต.ค. 2563 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิด นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในขณะดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชนตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด และได้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งหรือถอดถอนของผู้ถูกร้อง ดําเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอํานาจ ตาม ม.64 แห่ง พรป.ป.ป.ช.2561 ตั้งแต่ พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีวี่แววว่านายนิพนธ์ จะถูกลงโทษหรือดําเนินการทางวินัยตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ม.160(4)(6)(8) ประกอบ ม.98(8) บัญญัติไว้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และต้องไม่มีประวัติหรือกระทำการอันมีลักษณะการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.)ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม 2562 ซึ่งมีอำนาจตาม ม.13 ประกอบ ม.19 ซึ่งจะต้องดำเนินการลงโทษนายนิพนธ์ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติได้ส่งเรื่องมาให้ดําเนินการทางวินัย

แต่หากเพิกเฉย นายกรัฐมนตรีก็อาจเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตาม ป.อ.มาตรา 157 และหรืออาจถูกฝ่ายค้านนำไปอภิปรายในญัตติไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ได้  สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะเดินทางไปยื่นหนังสือทวงถามนายกรัฐมนตรีว่าได้ดำเนินการลงโทษนายนิพนธ์ ตามครรลองของกฎหมายที่ ป.ป.ช.แจ้งมาแล้วหรือไม่ อย่างไร หรือนายกรัฐมนตรีจะ “เลือกปฏิบัติ” เสียเอง ในวันจันทร์ที่ 15 ก.พ.64 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ ทำเนียบรัฐบาล

อดีตเพื่อน ‘ธนาธร’ สะกิดแกนนำม็อบ 3 นิ้ว หลายฝ่ายเริ่มเอือมระอา ชี้ไม่ได้มีแค่คนเห็นต่างเท่านั้น แต่แนวร่วมและมวลชนคนกันเอง ก็เริ่มออกอาการเอือมเช่นกัน

นายพิชิต ไชยมงคล อดีตเพื่อน นายธนาธร ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวใน สนนท. ด้วยกัน ชี้ม็อบอาศัยภาพความรุนแรงซ้ำซาก เชื่อเป็นการทำลายการเคลื่อนไหว-ความเสมอภาคในระยะยาว พร้อมตั้งคำถามถึงวุฒิภาวะของผู้นำอย่าอ้างเด็ก ลั่นคนเริ่มเอือมระอา และไม่ได้มีแค่คนเห็นต่าง มันมาจากแนวร่วมและมวลชนพวกคุณเองแล้ว
 
นายพิชิต ไชยมงคล อดีตโฆษกกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) แนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอดีตเพื่อน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวในสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ด้วยกัน ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว "Pichit Chaimongkol" ระบุว่า

ข้อสังเกตุหลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มราษฎรเช่นนี้ คือ

1.การ์ดทะเลาะกันเอง แกนนำควบคุมไม่ได้
2.เมื่อควบคุมไม่ได้ แกนนำ ประกาศ ยุติชุมนุม
3.หลังยุติชุมนุม แกนนำประกาศชัยชนะ หนีกลับบ้าน ไม่ยอมรับความรุนแรง แล้วออกแถลงการณ์ว่าเป็นมือที่ 3 ก่อความวุ่นวาย
4.องค์กรสิทธิ์ฯต่างๆก็จะออกมาปกป้อง
5.แต่ไม่เป็นไร การใช้ความรุนแรง เป็นเครื่องมือเพื่อลด ช่วงชั้น ตาม ศ.นิธิ ฯ กล่าวไว้
6.นักการเมืองที่เคยโหนเด็ก เพื่อเป็นเครื่องมือ ช่วงนี้ก็จะรูดซิบปาก ซักหน่อย เห่า หอน ไม่ค่อยเสียงดัง
7.พรุ่งนี้ ทีวี สื่อ แนวร่วม ก็จะเสนอความรุนแรงอีกด้าน แต่เสียงจะเบาลง
8.ผู้ใหญ่ทางจิตวิญญาณ เริ่มหายลดไปทางสังคม หรือพูดน้อยลง เพราะทิศทางลมของเด็กๆ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
9.ระเบิดกลายเป็นเครื่องมือลดช่วงชั้น แทน มือตบ ตีนตบ นกหวีด
10.หลังจากนี้ผู้ชุมนุมถูกจับ นักวิชาการ นักกฎหมายก็จะลงชื่อเรียกร้องปล่อยตัว

การผลิตซ้ำความรุนแรงทางภาษา กริยา โดยที่สื่อ นักวิชาการ องค์กรสิทธิ์ฯ บางสำนักเหล่านี้ รับรองว่าเป็น เสรีภาพ ที่สามารถทำได้ และเป็นการแสดงออกที่ควรเคารพนั้น ถือเป็นการทำลาย การเคลื่อนไหวในระยะยาว และเป็นการทำลาย ความเสมอภาค ที่คนอื่นควรจะได้รับเช่นกัน และถือได้ว่าเป็นการช่วยยกระดับความรุนแรงให้มาใช้อาวุธมากขึ้น

วันนี้ต้องถามถึง วุฒิภาวะ ของผู้นำการเคลื่อนไหวต่อการรับผิดชอบต่อสังคม อย่าอ้างว่าเป็นเด็กเลยครับ เมื่อก้าวมานำ คุณต้องแบกรับ ผลกระทบทางสังคมจากการเคลื่อนไหวด้วย ไม่ใช่คิดจะปลุกคนออกมาทำอะไรก็ได้ อย่าปล่อยให้ อารมณ์นำเช่นนี้อีกเลย ความเอือมระอาไม่ได้มีแค่คนเห็นต่างพวกคุณ มันมาจากแนวร่วมและมวลชนพวกคุณเองแล้ว
#มาร้อยนับล้าน



ที่มา : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000014616
https://www.facebook.com/100002212974152/posts/3732595033490892/?d=n

‘ไพบูลย์’ ขู่พรรคร่วมฝ่ายค้าน หากอภิปรายเนื้อหาพาดพิงสถาบัน ถึงขั้นยุบพรรค ยกกรณี ยุบพรรคไทยรักษาชาติ เป็นอุทาหรณ์

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาว่าสภาปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาญัตติที่พรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอข้อความที่นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองว่าจะทำได้หรือไม่

ว่า  สัปดาห์มีการพิจารณาเพียงญัตติเดียวคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องยอมให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ไปก่อน แต่หากนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน อ่านข้อความที่มีเนื้อหาต้องห้ามตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตนจะลุกขึ้นทักท้วงแต่ถ้านำเสนอและข้ามข้อความไปได้ก็จะไม่มีประเด็น ถ้าพูดถึงก็จะมีส.ส.ทักท้วงจำนวนมาก ทำให้ใช้เวลานานพอสมควร เรื่องนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการเสนอญัตติลักษณะแบบนี้ จึงหวังว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะหลีกเลี่ยง

เมื่อถามว่ายังเป็นแค่การประท้วงยังไม่นำไปสู่ยุบพรรคใช่หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า การประท้วงเป็นจุดแรก หากยังยังดำเนินการจะถือว่าเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนเป็นห่วง เพราะนายสมพงษ์ ก็เป็นหัวหน้าพรรค และเรื่องนี้เป็นมติของพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรค ดังนั้นการยุบพรรคไทยรักษาชาติก็เป็นอุทาหรณ์ที่ดี

"ผมเป็นผู้ยื่นคำร้องพรรคไทยรักษาชาติไปที่กกต. เรื่องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ขัดต่อระเบียบการหาเสียงของกกต.เท่านั้น ยังเป็นเรื่องเลยมาถึงขนาดนี้ แต่กรณีนี้ผมท้วงว่าขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2562 กรณี กกต. ยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งคำวินิจฉัยมีผลผูกพันทุกองค์กร ดังนั้นผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านรวมทั้งผู้อภิปราย หากนำประเด็นต้องห้ามมาอภิปราย ผมว่าเป็นผลที่ทำให้เรื่องไปศาล ซึ่งเรื่องไปได้หลายทาง ไม่จำเป็นต้องไปด้วยญัตติของตน หากมีการอภิปรายด้วยข้อความต้องห้าม มั่นใจว่าไปแน่ “

‘ราษฎร’ ออกแถลงการณ์ จะยังคงยืนหยัดสู้จนกว่าจะไม่มีประชาชนคนใดถูกจับโดยไม่เป็นธรรม

เฟซบุ๊ก “ราษฎร” ออกแถลงการณ์เรื่อง ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง โดยระบุว่า จากกรณีที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุม ณ บริเวณ หน้าศาลฎีกาและบริเวณใกล้ท้องสนามหลวง ในช่วงเวลาค่ำ ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ โดยปรากฏการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน ซึ่งต่อมามีรายงานการใช้กำลังทำร้ายและเข้าจับกุมประชาชน และมีการใช้กำลังประทุษร้ายหน่วยแพทย์ในที่ชุมนุม

กิจกรรมภายในวันนี้ราษฎร ได้เริ่มต้นกิจกรรมโดยการระดมพลในบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเวลา 15:00 น. และถัดมาได้มีการดำเนินกิจกรรมการรื้อกระถางต้นไม้ ในเวลา 17:30 น. โดยในเวลาต่อมาราษฎรได้มีการเดินขบวนในเวลา 18:00 น. โดยได้ทำการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาถึงที่บริเวณหน้าศาลฎีกาใกล้ท้องสนามหลวง ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้มีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ และได้ทำการยุติการชุมนุมตอนเวลา 20:00 น.

ราษฎร ขอยืนยันในหลักการของปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ซึ่งได้ประกาศ ณ ที่ชุมนุมว่า มวลชนสามารถตอบโต้หากมีการใช้ความรุนแรงจากภาครัฐได้ ซึ่งได้แก่วิธีการอื่นใดอันไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงในทางกายภาพต่อปัจเจกบุคคล

ราษฎร ยืนยันในหลักการและแนวทางของปฏิบัติการไร้ความรุนแรง และยืนยันว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีสิทธิใช้ความรุนแรงกับผู้ที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และการจับกุมอย่างไม่เลือกหน้าเป็นการละเมิดทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ถึงที่สุดพวกเราขอยืนยันว่า พวกเราจะยังคงยืนหยัดที่จะสู้จนกว่าจะไม่มีประชาชนคนใดถูกจับโดยไม่เป็นธรรม พวกเราจะสู้ต่อไปจนกว่าประชาชนในประเทศนี้จะมีความเสมอภาคเป็นธรรม พวกเราจะสู้ต่อไปจนกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และประเทศมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ราษฎร
14 กุมภาพันธ์ 2564



https://www.facebook.com/TheRatsadon/photos/a.105784224830048/114902143918256/

พระบรมฉายาลักษณ์หาชมยาก ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.10’ เมื่อครั้งทรงศึกษาวิชาการทหารที่ออสเตรเลีย ทรงแน่วแน่ศึกษาวิชาการทหารอย่างยิ่ง

เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนิน ณ สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย ในวันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 แอดมินเพจ We Love สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ได้นำเสนอพระราชกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางด้านการทหาร โดยได้เผยแพร่พระบรมฉายาลักษณ์ที่หาชมได้ยากของพระบาทสมเด็จพระอยู่หัว เมื่อครั้งที่ทรงศึกษาวิชาการทหารที่ประเทศออสเตรเลีย โดยระบุว่า

#ทรงแน่วแน่ศึกษาวิชาการทหาร
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในกิจการทหารเป็นอย่างมากนับแต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ซึ่งโดยเหตุที่ทรงมีพระทัยโปรดการทหาร

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริว่า การศึกษาวิชาทหารในประเทศออสเตรเลียมีหลักสูตรกว้างขวางและมีการฝึกอบรมที่เข้มงวด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ในขณะนั้น เสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลียในเบื้องต้น ทรงเข้าศึกษา ณ คิงส์สกูล (King’s School) หรือ โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๓ ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนคล้ายโรงเรียนเตรียมทหาร หลังทรงสำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนนี้แล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ในขณะนั้น ทรงเข้าศึกษาต่อ ณ วิทยาลัยวิชาการทหารดันทรูน (Royal Military College, Duntroon) กรุงแคนเบอร์รา นครหลวงของออสเตรเลีย ในต้นเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕

โดยทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะสอบเข้าศึกษาในวิทยาลัยแห่งนี้ให้ได้ แม้รัฐบาลออสเตรเลียได้ถวายสิทธิให้ทรงเข้าศึกษาโดยไม่ต้องสอบคัดเลือก แต่ไม่ต้องพระประสงค์ที่จะได้รับสิทธิพิเศษหลักสูตรของ วิทยาลัยวิชาการทหารดันทรูน นั้น มีการแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ วิชาการทหาร ซึ่งรับผิดชอบและดำเนินการโดยกองทัพบกออสเตรเลีย และ วิชาสามัญระดับปริญญาตรี โดยมีมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) รับผิดชอบการวางหลักสูตร ซึ่งแบ่งออกเป็นสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ นักเรียนนายร้อยวิทยาลัยวิชาการทหารดันทรูนที่ผ่านหลักสูตร จะได้รับปริญญาตรีตามสาขาวิชาที่เลือกศึกษา โดย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ในขณะนั้น พระองค์ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ เมื่อทรงสำเร็จการศึกษา ทรงได้รับการถวายสัญญาบัตรจากวิทยาลัยวิชาการทหารดันทรูน และปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอักษรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์

พระบาทสมเด็จพระวชิเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมที่ตั้งกองทหารหน่วยต่าง ๆ อยู่เสมอ จากการที่ได้ทรงศึกษาด้านวิชาทหารมานาน ทรงมีความรู้เชี่ยวชาญอย่างมาก และได้พระราชทานความรู้เหล่านั้นให้แก่ทหาร ๓ เหล่าทัพ ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างแก่นายทหาร เอาพระทัยใส่ในความเป็นอยู่ทุกข์สุขของทหารผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างทั่วถึง รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนการศึกษาแก่บุตรของทหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเทิดทูนและความจงรักภักดีแก่เหล่าทหารเป็นอย่างยิ่ง



Photos : ขอขอบพระคุณทุกสำนักข่าว
https://www.facebook.com/100044691965910/posts/264793261687071/?d=n

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top