Friday, 3 May 2024
PoliticsQUIZ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเสื้อสะท้อนแสงจราจร และเสื้อชูชีพ ให้ส่วนราชการนำไปใช้ในภารกิจช่วยเหลือประชาชนอย่างปลอดภัย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเสื้อสะท้อนแสงจราจร และเสื้อชูชีพพระราชทานให้กับส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สวมใส่ระหว่างปฏิบัติภารกิจการบรรเทาสาธารณภัยและช่วยเหลือประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย

สำหรับกองทัพบก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ได้พระราชทานเสื้อสะท้อนแสงจราจร จำนวน 2,000 ชุด และเสื้อชูชีพพระราชทาน จำนวน 2,000 ชุด ให้กับกองทัพบก

โดยเมื่อ 18 ธันวาคม 2563 พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ประกอบพิธีต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ณ กองบัญชาการกองทัพบก ในการส่งมอบเสื้อพระราชทานดังกล่าวให้กับ ผู้บังคับหน่วยในสังกัดกองทัพภาคที่1-4 , หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก ,หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ,กรมการทหารช่าง, กองพลที่ 1รักษาพระองค์ ,กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์

เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กำลังพลได้สวมใส่ในขณะปฏิบัติหน้าที่ในงานด้านงานด้านบรรเทาสาธารณภัยและช่วยเหลือประชาชน ได้อย่างปลอดภัย

การได้รับสิ่งอุปกรณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งความปลาบปลื้มใจแก่กำลังพลกองทัพบก ในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงห่วงใยในความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ที่ออกปฏิบัติงานในสถานการณ์วิกฤติต่างๆเพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนทั้งภัยธรรมชาติ อุบัติภัย หรือการออกปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยง และจำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์เครื่องป้องกันที่เหมาะสมเพียงพอให้เกิดความปลอดภัย ทั้งแก่ตนเองและประชาชน จึงได้พระราชทานสิ่งอุปกรณ์เพิ่มเติม

สำหรับ เสื้อสะท้อนแสงจราจรมีสีดำคาดขาว ส่วนเสื้อชูชีพเป็นสีส้ม ทั้ง2แบบ ด้านหน้าอกเสื้อปักตราพระปรมาภิไธย “ว.ป.ร.” ด้านหลังพิมพ์ข้อความ “หน่วยพระราชทาน กองทัพบก”

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีสารแสดงความยินดีไปยังนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในโอกาสครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ทำเนียบรัฐบาล กทม. ๑๐๓๐๐

๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๓

เรียน ฯพณฯ นายทองลุน สีสุลิด

ในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ ราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจะครบรอบ ๗๐ ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ผมในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย ขอร่วมแสดงความยินดีและส่งความปรารถนาดีมายังท่านและประชาชนลาว

ไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นสองรัฐที่มีความใกล้ชิดกันอย่างแนบแน่นคนไทยคนลาวอยู่เคียงข้างกันมาแต่โบราณกาล มีความเข้าใจและผูกพันกันด้วยความใกล้ชิดทางภาษาและวัฒนธรรม ในช่วง ๗๐ ปีที่ผ่านมาของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและรัฐสมัยใหม่ ไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ผ่านบทพิสูจน์ของกาลเวลาและได้พัฒนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดแน่นแฟ้นให้ครอบคลุมทุกมิติบนพื้นฐานของความเข้าใจและเชื่อใจกันซึ่งนำประโยชน์มาสู่ทั้งสองฝ่าย

ผมจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ในการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการไทย – ลาว ครั้งที่ ๓ ที่นครหลวงเวียงจันทน์เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๑ ไทยกับลาวได้เห็นพ้องยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญที่ทั้งสองประเทศมีต่อกันอย่างแท้จริง และจะเป็นแนวทางที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป ด้วยความปรารถนาดีอย่างจริงใจที่มีต่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเสมอมา

ผมขอให้คำมั่นว่าจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับท่านและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย – ลาว ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ยิ่งขึ้นไป โดยจะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือที่มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนของทั้งสองประเทศ

ในขณะที่ไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-๑๙ ผมรู้สึกยินดีที่ทั้งสองประเทศยังคงความร่วมมือที่ใกล้ชิดและมีความมุ่งมั่นที่จะจับมือและก้าวไปข้างหน้าด้วยกันแม้ในยามยากลำบาก ผมพร้อมจะร่วมมือกับท่านเพื่อช่วยผลักดันการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศและของภูมิภาคต่อไป

สุดท้ายนี้ ผมขออวยพรให้ท่าน รัฐบาลและพี่น้องประชาชนชาวลาวประสบความสุขสวัสดีและความเจริญรุ่งเรืองสืบไป

ขอแสดงความนับถือ

(พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย

********************************

ด้านนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก็ได้มีสารแสดงความยินดีมายัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

**********************

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

สันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย เอกภาพ วัฒนาถาวร

นายกรัฐมนตรี

นครหลวงเวียงจันทน์

วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๓

ฯพณฯ

เนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างลาวและไทย ในนามรัฐบาลและประชาชนแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวคือ ในนามส่วนตัว ข้าพเจ้ามีความปีติยินดี ส่งคำแสดงความยินดีอันอบอุ่น และพรชัยอันประเสริฐมายัง ฯพณฯ และโดยผ่าน ฯพณฯ ไปยังรัฐบาล และประชาชนไทยทุกถ้วนหน้า

ตลอดระยะเวลา ๗ ทศวรรษ แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการร่วมกันระหว่างสองประเทศลาวและไทย สายสัมพันธ์มิตรภาพและความร่วมมืออันดีงามดังกล่าวได้รับการพัฒนา และเพิ่มพูนอย่างต่อเนื่องในแต่ละด้านเป็นก้าวๆ ตลอดมา

เห็นได้จากผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองประเทศได้มีการแลกเปลี่ยนเยี่ยมเยือนซึ่งกันและกันอย่างเป็นปกติ กลไกร่วมมือต่างๆ ได้รับการจัดตั้งขึ้น และมีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิผล ทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่น ซึ่งทั้งหมดนั้น ได้สร้างเงื่อนไขเอื้ออำนวยให้แก่การเพิ่มพูนทวีคูณความสัมพันธ์ลาว-ไทย

ข้าพเจ้าให้ความสำคัญต่อสายสัมพันธ์ร่วมมือและการสนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างสูง ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี ได้แก่ ความร่วมมือทางด้านการค้า-การลงทุน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความร่วมมือด้านสาธารณสุข การเกษตร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกข้ามแม่น้ำโขงเพื่อเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาคที่พิเศษ สองประเทศเรามีสะพานข้ามแม่น้ำโขงถึง ๔ แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศของพวกเราตั้งแต่เหนือจรดใต้

สิ่งดังกล่าวได้กลายเป็นปัจจัยอันสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของสองประเทศของพวกเรา เพื่อนำผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมมาสู่ประชาชนสองชาติลาวและไทย ซึ่งก็คือของภูมิภาคอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สองประเทศของพวกเรายังได้สนับสนุนและช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิดในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ก็คือ ในระยะที่มีการระบาดของโรคโควิด-๑๙ ซึ่งได้เป็นส่วนสำคัญเข้าในการกระชับสายสัมพันธ์มิตรภาพ และความร่วมมือระหว่างสองประเทศลาวและไทยให้นับวันยิ่งหยั่งลึกและแน่นแฟ้นยิ่งๆ ขึ้น

ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่า ด้วยความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดของสองฝ่ายภายใต้กลไกความร่วมมือลาว-ไทย ไทย-ลาว ที่มีอยู่ สายสัมพันธ์มิตรภาพและความร่วมมือที่ดีงามดังกล่าวจะได้รับการสานต่อเพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้น เพื่อก้าวไปสู่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อความเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะนำเอาผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมมาสู่ประชาชนสองชาติ กล่าวคือ เพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในภูมิภาค และในโลก

ในบรรยากาศแห่งความเบิกบานสนุกสนานและมีความหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์นี้ ข้าพเจ้าขออวยพรให้สายสัมพันธ์มิตรภาพและความร่วมมืออันดีงามในฐานะบ้านใกล้เรือนเคียงระหว่างสองประเทศของพวกเรา จงมั่นคงยืนยงอย่างแข็งแกร่งและผลิดอกออกผลอย่างไม่หยุดยั้ง และขออวยพรชัยอันประเสริฐมายัง ฯพณฯ จงมีสุขภาพแข็งแรง มีความผาสุก และประสบผลสำเร็จในภารกิจอันสูงส่งของ ฯพณฯ

ด้วยความนับถืออย่างสูง

ทองลุน สีสุลิด

******************************

ที่มา: หนุ่มโคราช รายงานจาก สปป.ลาว

UN ออกมาแสดงตัวอย่างไว หลังประเทศไทยได้มีการบังคับใช้ ม.112 ต่อกลุ่มผู้ทำผิดกฎหมายในมาตราดังกล่าว ตลอดช่วงหลายวันที่ผ่านมา

อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีที่โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNOHCHR ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการใช้ ม.112 ต่อผู้ชุมนุมในไทยนั้น ในเบื้องต้นได้ประสานกระทรวงการต่างประเทศเพื่อชี้แจงดังนี้

1.กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทยไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน การใช้เสรีภาพทางวิชาการ หรือการถกเถียงเกี่ยวกับระบอบกษัตริย์ในฐานะสถาบัน กฎหมายนี้มีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึงในประเทศไทยก็เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิและชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี มกุฎราชกุมาร หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในลักษณะเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทสำหรับพลเมืองไทยทุกคน

2.สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกระบวนกฎหมายอาญาในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้หากมีการดำเนินการในกรณีดังกล่าวก็จะเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งในกรณีจำนวนมากก็จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ

3.ต่อกรณีการตั้งข้อหาผู้ประท้วงวัย 16 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ได้มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของศาลเยาวชน ยิ่งกว่านั้นมันก็เป็นไปตามที่โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติที่ได้ระบุระหว่างการแถลงข่าวเองว่า ศาลได้ปฏิเสธคำขอให้มีการคุมขัง พร้อมกับอนุญาตให้ประกันตัวแบบมีเงื่อนไข

4.ขอย้ำอีกครั้งว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้ประท้วงไม่ได้ถูกจับกุมเพียงเพราะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ แต่ผู้ที่ถูกจับกุมได้ละเมิดกฎหมายอื่นๆ ของไทยซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว

อนุชา กล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยมิได้ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก ตราบใดที่การชุมนุมดำเนินการด้วยความสงบ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตย การใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายและต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ

รัฐบาลสนับสนุนการใช้เสรีภาพในการแสดงออกที่สร้างสรรค์ ไม่ก้าวร้าวหรือมีลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น หรือใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชังอันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น รวมทั้งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ โดยเคารพมุมมองของผู้ที่เห็นต่าง

บทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจในขณะนี้คือการให้ดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย โดยใช้ความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมและประชาชนที่สัญจรในบริเวณโดยรอบที่ชุมนุม สำหรับกรณีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมบางรายนั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ละเมิดกฎหมาย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด และผู้ถูกกล่าวหาสามารถต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม

รัฐบาลยังมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ชุมนุมจะเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐสภา เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และนำมาสู่การหาทางออกในการแก้ไขปัญหาความเห็นต่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของประชาชนทุกกลุ่ม และนำความสงบสุขกลับสู่สังคมไทย

คำแถลงข่าว สถานการณ์โรคโควิด-19 จ.สมุทรสาคร โดยอธิบดีกรมควบคุมโรค วันที่ 19 ธันวาคม 2563

สวัสดีพี่น้องประชาชน ที่รับชมการถ่ายทอดการแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 จ.สมุทรสาคร

กระทรวงสาธารณสุขขอรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หรือ โรคโควิด-19 ซึ่งศบค ได้รายงานตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม พบผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นเพศหญิง อายุ 67 ปี อาชีพแม่ค้าในตลาดกลางกุ้ง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานในพื้นที่ ดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม และพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เป็น 13 ราย

ซึ่งมีทั้งคนไทยและแรงงานต่างชาติที่ทำงานในตลาดแห่งนี้ สถานการณ์ล่าสุดเมื่อมีการตรวจคัดกรองในกลุ่มแรงงานต่างด้าว จำนวน 1,192 ราย พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 516 ราย คิดเป็นร้อยละ 43 ของผู้ที่ได้รับการตรวจทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบผู้ที่ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลอีกจำนวนหนึ่งในหลายจังหวัด ทำให้ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 548 ราย ซึ่งมากกว่าร้อยละ 90 เป็นผู้ติดเชื้อที่มีไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก และส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ

จากการประเมินสถานการณ์ทางด้านสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อมั่นได้ว่า จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ครั้งนี้ได้โดยความร่วมมือของประชาชน เนื่องจากส่วนใหญ่ยังเป็นการระบาดในพื้นที่จำกัด และไม่มีผู้ป่วยรุนแรง แม้ว่ามีแนวโน้มที่จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในชุมชนต่างชาติที่อยู่รอบ ๆ ตลาดกลางกุ้ง ด้วยมีการพักอาศัยอย่างหนาแน่น แต่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดอาการป่วยรุนแรง เพราะเป็นวัยทำงานสุขภาพแข็งแรง

สำหรับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค

• กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และโรงพยาบาลสมุทรสาคร ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง สอบสวนและค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน อย่างรวดเร็วตั้งแต่พบผู้ป่วยรายแรก ทั้งนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย ทำให้สามารถสนับสนุนการเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อแล้ว 2,700 รายอย่างรวดเร็ว

• กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อ และนำเข้าสู่การดูแลเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และให้การรักษาต่อไป

• ขอความร่วมมือประชาชน ที่พักผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่พบผู้ป่วย เช่น ตลาดกลางกุ้ง และที่พักบริเวณรอบ ๆ ให้ดำเนินการตามแนวทางที่ฝ่ายปกครองกำหนดอย่างเคร่งครัด

• ส่วนประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร ที่พักอาศัยอยู่นอกพื้นที่ดังกล่าว ขอความร่วมมืองดเดินทางออกนอกจังหวัดสมุทรสาคร

• ประชาชนต่างจังหวัดที่เคยมาติดต่อค้าขายที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม เป็นต้นมา ขอให้เฝ้าระวังสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน (ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส) โดยสวมหน้ากากตลอดเวลา และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น ไม่ควรไปในที่ชุมชน หากเริ่มมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยรถสาธารณะ และขอให้สวมหน้ากากขณะเดินทาง หากพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัยให้ติดต่อได้ที่สายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค

กระทรวงสาธารณสุข เสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ในการบริหารจัดการเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดในครั้งนี้ให้สงบ และกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ด้วยมาตรการที่เด็ดขาด และรวดเร็วมีประสิทธิภาพ โดยการควบคุมการเข้าออกพื้นที่และกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเคร่งครัดในพื้นที่ระบาดของโรคในพื้นที่เสี่ยง

หลังจากเมื่อวานนี้ที่จังหวัดสมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อ โควิด-19 รอบใหม่ถึง 548 ราย และผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้สั่งมาตรการเข้ม (ล็อกดาวน์กลายๆ) ในเขตเมืองไปเรียบร้อยแล้ว จนถึงวันที่ 3 มกราคมปี 2564

ล่าสุดนี้ มีความเห็นมาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่าง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อยากให้เลื่อนการฉลองปีใหม่ไปก่อน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัส

ขณะที่ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นพร้อมข้อเสนอ 3 ให้ปิดจังหวัดสมุทรสาคร และตรวจทุกคนที่อยู่ในจังหวัด และบังคับใส่หน้ากาก 100% รวมถึงทั้งสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียง ควรเตรียมรับมือการลักลอบออกนอกจังหวัด เพราะจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และจะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดเคสติดเชื้อแบบดาวกระจายในอีกสองสัปดาห์ถัดจากนี้

ที่มา:

https://www.facebook.com/yong.poovorawan/posts/4994230110619566

https://www.facebook.com/thiraw/posts/10221434112554726

ถึงจะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่สนามเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) วันที่ 20 ธ.ค. 63 นี้ ก็จะส่งผลต่อเราๆ ท่านๆ ได้เหมือนกัน

ยังไงล่ะ?

หากนอนหลับทับสิทธิ หรือ ไม่ไป เลือกตั้ง อบจ. โดยไม่แจ้งเหตุผลที่สมควรจะถูกตัดสิทธิเพียบ

ฉะนั้นหากมีเหตุ ต้องระบุ เช่น

• เหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

• มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล

• เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

• เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

• เดินทางออกนอกราชอาณาจักร

• มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร

• ได้รับคำสั่งจากทางการราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง

• มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นตามที่ กกต.กำหนด

ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 หรือ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ มาตรา 42 กำหนดให้เราต้องเสีย 6 สิทธิ ดังนี้

1. เสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือ สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา

2. เสียสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน

3. เสียสิทธิลงชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น

4. เสียสิทธิดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง

5. เสียสิทธิดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น

6. เสียสิทธิดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และ เลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น

สำหรับการจำกัดสิทธินั้น จะมีการกำหนดเวลาครั้งละ 2 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง และถึงแม้มีการเลือกตั้งครั้งหน้า แล้วได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็ไม่ทำให้สิทธิต่างๆ กลับมา

แม้จะยังไม่เกิดเหตุลุกลามของเชื้อโควิด-19 เข้ามาในเขตพื้นที่กรุงเทพชั้นใน แต่ที่เขตจตุจักร-หลักสี่ ‘สิระ เจนจาคะ’ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ก็ออกมาตั้งการ์ดไว้ก่อน

สิระได้ลงพื้นที่ดังกล่าว พร้อมแจกหน้ากากผ้าจำนวน1,000 ชิ้นให้กับชุมชนเคหะท่าทราย เพื่อใช้ป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะมีการระบาดเป็นรอบที่ 2โดยได้มีการเตรียมหน้ากากสำหรับแจกประชาชนเขตหลักสี่และจตุจักร จำนวนทั้งหมด 50,000 ชิ้น

นอกจากนี้ในวันจันทร์ที่ 21ธ.ค. จะมีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโควิดตามชุมชุนและตลาดที่เป็นจุดที่มีประชาชนจำนวนมาต้องไปรวมตัวกัน

“สำหรับการดำเนินการในวันนี้ไม่ใช่การตื่นตระหนกเกินเหตุ แต่เป็นการเตรียมรับมือกับเชื้อไวรัสเอาไว้ เพราะวันนี้เริ่มมีการกระจายตัวแล้ว ดังนั้นหากเรายังนิ่งนอนใจ ไม่ป้องกันเอาไว้ก่อน ตนเชื่อเลยว่าไม่นานนี้โควิดมารอบสองแน่ๆ แต่สำหรับเขตหลักสี่ จตุจักร ตนจะเตรียมการ์ดอย่างเข้มแข็ง ไม่ให้ชาวบ้านติดเชื้อโควิดอย่างแน่นอน

“ผมอยากให้ ส.ส.ทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด และหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน ดูแลประชาชนในพื้นที่ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ อย่าปล่อยให้ประเทศต้องล็อคดาวน์อีกเป็นครั้งที่ 2 เพราะเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ปากท้องของประชาชนจนเป็นปัญหาใหญ่ วันนี้ยังพอมีเวลาป้องกันตัวเองโดยการใส่หน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ต้องมีวินัยกับตัวเอง ดีกว่าปล่อยให้สายเกินที่จะแก้ไข” สิระ กล่าว

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน ( 20 ธันวาคม พ.ศ.2563)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 576 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 4,907 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมยอดผู้เสียชีวิต 60 ราย รักษาหายเพิ่ม 17 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 4,041 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 806 ราย
ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 576 รายเป็นคนไทย 38 ราย สัญชาติกาตาร์ 1 ราย อัฟกานิสถาน 1 ราย
อังกฤษ 1 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ จาก กาตาร์ 1 ราย  ,บาห์เรน 30 ราย ,เนเธอร์แลนด์ 2 ราย, เยอรมนี 1 ราย ,สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย,สาธารณรัฐกานา 1 ราย , สหราชอาณาจักร 2 ราย, สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย , เมียนมา 2 ราย ผ่านการคัดกรองและเข้าพักสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้
ผู้ติดเชื้อในประเทศ  อยู่ระหว่างการสอบสวนจำนวน 19 ราย และ ผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว จำนวน 516 ราย


ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้
ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 152 ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 3 ราย
ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 362 ราย รักษาหายแล้ว 345 ราย  ไม่มียอดผู้เสียชีวิต
ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 6.58 แสน ราย รักษาหายแล้ว 5.36 แสน เสียชีวิต 19,659 ราย
ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 36 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต
ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 91,969 ราย รักษาหายแล้ว 76,242 ราย เสียชีวิต 433 ราย
ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.15 แสน ราย รักษาหายแล้ว 94,118 ราย เสียชีวิต 2,424 ราย
ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.58 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.21 แสน ราย เสียชีวิต 8,911ราย
ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,403 ราย รักษาหายแล้ว 58,274 ราย เสียชีวิต 29 ราย
ประเทศเวียดนาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1,411 ราย รักษาหายแล้ว1,269 ราย เสียชีวิต 35 ราย

นายกรัฐมนตรี รับทราบสถานการณ์โควิด-19 พื้นที่สมุทรสาครแล้ว พร้อมสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข -หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหยุดการแพร่เชื้อ มั่นใจรับมือได้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบสถานการณ์ล่าสุดของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่เพิ่มขึ้นในจังหวัดสมุทรสาคร

และได้ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร โรงพยาบาลสมุทรสาคร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เฝ้าระวัง สอบสวน และเร่งดำเนินการตรวจค้นหาผู้ป่วยในจังหวัดสมุทรสาครในเชิงรุกต่อไป เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังขอความร่วมมือประชาชน ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดสมุทรสาคร ให้ดำเนินการตามแนวทางที่ฝ่ายปกครองและฝ่ายจังหวัด ได้แนะนำอย่างเคร่งครัด

ส่วนประชาชนที่เคยเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงของจังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา ขอให้เฝ้าระวัง สังเกตอาการตนเอง เป็นเวลา 14 วัน และให้สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยไม่ควรไปในที่ชุมชน

หากเริ่มมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยรถสาธารณะ และขอให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าขณะเดินทางตลอดเวลา

สำหรับประชาชนทั่วไป ให้ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019( ศบค. )และใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงที่แออัด ล้างมือบ่อยๆ สแกนไทยชนะเมื่อเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคในที่อื่นๆ

จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุดทางด้านสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อมั่นว่า จะสามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ โดยความร่วมมือของประชาชน เนื่องจากส่วนใหญ่ยังเป็นการระบาดในพื้นที่จำกัด และไม่มีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

หากประชาชนมีข้อสงสัย ให้ติดต่อสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 และติดต่อสอบถามได้เพิ่มเติมที่สายด่วนสมุทรสาคร หมายเลข 065-549-3322 และ 034-871-274 ตลอด 24 ชั่วโมง

นายกรัฐมนตรี สั่งเดินหน้าแผนพัฒนาการเกษตรพื้นที่อีอีซีอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมผลักดัน 5 กลุ่มสินค้าเป้าหมาย เพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร รุกหนักปีหน้า 56 โครงการ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการติดตามความก้าวหน้าแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี

โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าให้การพัฒนาในพื้นที่ตรงนี้เป็นต้นแบบการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ การดำเนินการยึดกรอบแนวคิดการตลาดนำการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีการเกษตรแก้ปัญหารากเหง้าของภาคเกษตรกรรม การกำหนดพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม

พร้อมปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับคุณภาพดินและปริมาณน้ำ ประกอบด้วย 5 กลุ่มสินค้าเป้าหมาย คือ 1. ผลไม้ พัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง 2. ประมงเพาะเลี้ยง เพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีการผลิต 3. พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ 4. เพิ่มมูลค่าพืชสมุนไพร และ 5. ปรับเปลี่ยนผลผลิตสินค้าเกษตรราคาต่ำไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เช่น ปศุสัตว์ พืชผัก ผลไม้เมืองหนาว ดอกไม้ ทดแทนการนำเข้า และเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมโครงการตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการเกษตรในอีอีซีให้พร้อมเพื่อเริ่มดำเนินการตามเป้าหมาย ซึ่งในแผนฯระยะ 5 ปี (2565-2570) ประกอบด้วยโครงการทั้งหมด 91 โครงการ วงเงินรวม 3.2 พันล้านบาท

และในปีงบประมาณ 2565 จะเริ่มดำเนินการ 56 โครงการ อาทิ โครงการแผนที่การเกษตร (Agri-Map) โครงการพัฒนาสารสกัดและผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร โครงการเพิ่มผลิตภาพการผลิตอ้อยโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก โครงการต้นแบบการสร้างนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ: มะม่วง ข้าวสมุนไพร และสัตว์น้ำ โครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์และการตลาดอาหารทะเลเขตอีอีซี

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรในพื้นที่อีอีซีอย่างเป็นรูปธรรม โครงการต่างๆที่รัฐบาลตั้งเป้าดำเนินการในปีงบประมาณหน้า จะแก้ปัญหาสำคัญของภาคการเกษตร คือการผลิตโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของตลาด การผลิตที่ใช้ทรัพยากรมากแต่ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างน้อย และการแปรรูปที่ไม่ได้เพิ่มมูลค่ามากนัก

อีกทั้ง ผลลัพธ์ของโครงการเหล่านั้นจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้เกษตรกร เพิ่มผลผลิตมวลรวมภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 2.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดในพื้นที่อีอีซี เป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรถึง 5.51 ล้านไร่ หรือร้อยละ 66 ของพื้นที่ทั้งหมดในอีอีซี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top