Monday, 7 July 2025
Politics

‘ดุสิตโพล’ ชี้!! คนไทยคาดหวัง ‘ม็อบ’ กดดันผู้นำรัฐบาล ‘ลาออก-ยุบสภา’ เปิดทางแก้ปัญหาโดยใช้ ประชาธิปไตย

(6 ก.ค. 68) ‘สวนดุสิตโพล’ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “การชุมนุมทางการเมืองในสายตาคนไทย 2568” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,167 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 1-4 กรกฎาคม 2568 พบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่สนใจเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ร้อยละ 38.39 โดยคิดว่าการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศในระดับปานกลาง ร้อยละ 48.93 จุดเด่นคือสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ร้อยละ 55.28 จุดด้อยคือมีความเสี่ยงต่อความรุนแรง ร้อยละ 48.16  ทั้งนี้เมื่อมีการชุมนุมทางการเมืองก็คาดหวังว่าจะมีการลาออกของผู้นำรัฐบาล ร้อยละ 58.58 ในสถานการณ์ปัจจุบันหากเกิดรัฐประหารก็ไม่เห็นด้วย เป็นการละเมิดระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 42.50

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลสำรวจประชาชนมองว่าการชุมนุมเป็นสิทธิที่พึงมีแต่ไม่ได้เชื่อว่าเป็นทางออกที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างแท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมามักตามมาด้วยผลเสียมากกว่าประโยชน์ของประชาชน แม้รัฐประหารเคยถูกมองว่าเป็นทางออกในบางช่วงเวลา แต่บทเรียนที่เจ็บปวดจากหลายครั้งหลายหน ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจนอกระบบอีกต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์กัญญกานต์ เสถียรสุคนธ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ผลการสำรวจข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนการชุมนุมของกลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2568 กิจกรรมการชุมนุมเกิดขึ้นเพื่อแสดงถึงความไม่พอใจในนโยบายของรัฐบาลไทยต่อประเด็นความขัดแย้งบริเวณชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา  และท่าทีของนายกรัฐมนตรีไทย  ต่อปัญหาดังกล่าว การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากซึ่งถือเป็นครั้งแรกในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการแสดงออกของประชาชนสอดคล้องกับผลสำรวจที่เชื่อว่าการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบดังกล่าวจะสามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง หรือการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ อันเป็นไปตามแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยและต้องไม่ใช้การรัฐประหารเป็นทางออกเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนเช่นที่ผ่านมา

‘นิด้าโพล’ เผย!! ผลสำรวจความคิดเห็นคนไทย มอง!! ‘ฮุนเซน’ เป็นบุคคลไม่น่าไว้วางใจ

(6 ก.ค. 68)  ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง ‘ฮุน เซน’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความรู้สึกของประชาชนต่อความเคลื่อนไหวของสมเด็จ ฮุน เซน ในกรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 0.05 ที่ระดับความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามความรู้สึกของประชาชนต่อความเคลื่อนไหวของสมเด็จ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ในกรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 67.63 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง รองลงมา ร้อยละ 57.25 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน เป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจ ร้อยละ 44.66 ระบุว่า คำพูดของสมเด็จ ฮุน เซน ไม่มีความน่าเชื่อถือ ร้อยละ 40.53 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน กำลังยุให้คนไทยแตกแยกกัน ร้อยละ 25.34 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน ต้องการยึดครองดินแดนของไทย ร้อยละ 18.85 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน กำลังแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย ร้อยละ 14.12 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน กำลังเปิดเผยความลับเกี่ยวกับการเมืองไทย ร้อยละ 9.31 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศกัมพูชา ร้อยละ 3.36 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนชาวกัมพูชา ร้อยละ 1.30 ระบุว่า คำพูดของสมเด็จ ฮุน เซน มีความน่าเชื่อถือ และร้อยละ 0.53 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน ทำเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อคำทำนายของสมเด็จ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา
ที่บอกว่าประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีภายในสามเดือนและรู้ด้วยว่าใครจะเป็นนายกฯ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 43.05 ระบุว่า ไม่น่าเชื่อ รองลงมา ร้อยละ 34.12 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน ทำนายมั่ว ๆ ร้อยละ 33.97 ระบุว่า เป็นความพยายามยุให้คนไทยตีกัน ร้อยละ 30.31 ระบุว่า การเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเป็นไปได้ แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ว่าใครจะได้เป็นนายกฯ ร้อยละ 25.34 ระบุว่า เป็นการวิเคราะห์ตามสถานการณ์ทางการเมืองไทย ร้อยละ 19.01 ระบุว่า เป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย ร้อยละ 14.66 ระบุว่า สมเด็จ ฮุน เซน พูดตามข่าวกรองที่ได้มา ร้อยละ 10.69 ระบุว่า เป็นการเตือนนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร และร้อยละ 7.25 ระบุว่า  น่าเชื่อ

'เทพชัย' ซัด!! ‘แพทองธาร-ทักษิณ-เศรษฐา’ ขึ้นเวทีฟอกขาว!! มหกรรมซอฟต์พาวเวอร์

(6 ก.ค. 68) นายเทพชัย หย่อง สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Thepchai Yong’ กล่าวถึง 3 นายกฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร , นายทักษิณ ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน ที่จะขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ในงาน SPLASH มหกรรม Soft Power ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เติบโตเข้าสู่เส้นทางเศรษฐกิจและรายได้ใหม่ที่ยังยืน

ระบุว่า “ไม่ต้องเกรงใจใครทั้งสิ้น รัฐบาลชูทักษิณ เศรษฐา อุ๊งอิ๊ง ในเวทีที่เรียกซะสวยหรูว่า SPLASH – Soft Power Forum 2025 ที่จะจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์สัปดาห์หน้า แต่ดูแล้วมันน่าจะเป็นเวที whitewash หรือ “ฟอกขาว” (ด้วยเงินภาษีประชน) ให้กับทั้งสามคนมากกว่า”

ทั้งนี้ งาน ‘SPLASH – Soft Power Forum 2025’ เป็นมหกรรม Soft Power ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาและอนุกรรมการทุกสาขา โดยประสานพลังภาครัฐ เอกชน ชุมชน และเครือข่ายนานาชาติ เพื่อยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ตลาดโลกอย่างเป็นรูปธรรม

‘สุริยะใส’ กระตุก!! มาตรฐานการเมือง ‘พรรคประชาชน’ กินข้าวข้ามพรรค ต้องซื่อตรงต่อทุกฝ่าย ไม่ย้อนแย้งกันเอง

(6 ก.ค. 68) ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า …

‘มาตรฐานทางการเมืองต้องซื่อตรงต่อทุกฝ่าย มิใช่เข้มงวดกับผู้อื่นแต่ผ่อนปรนต่อตนเอง’

กรณีการพบปะระหว่างสมาชิกพรรคประชาชนกับหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แม้ในทางการเมือง การพูดคุยหรือพบปะระหว่างนักการเมืองต่างพรรคจะมิใช่เรื่องผิดปกติ หากถือเป็นวิถีในระบอบประชาธิปไตยที่การสื่อสารและการเจรจาคือกลไกสำคัญในการแสวงหาฉันทามติ แต่สิ่งที่ทำให้กรณีนี้กลับกลายเป็นประเด็นร้อนและก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในสังคม ไม่ได้อยู่ที่การกระทำ หากแต่อยู่ที่บริบทของผู้กระทำและมาตรฐานที่พรรคการเมืองนั้นเคยประกาศยึดถือ

พรรคประชาชนเป็นพรรคที่ก่อตั้งขึ้นจากเจตจำนงที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการเมืองไทย เป็นพรรคที่ยืนหยัดวิพากษ์การเมืองแบบเก่า ต่อต้านการเมืองใต้โต๊ะ ต่อต้านการต่อรองลับหลัง และประกาศความโปร่งใสเป็นหลักการสูงสุด แต่เมื่อสมาชิกของพรรคแสดงพฤติกรรมในลักษณะที่เคยถูกใช้เป็นข้อกล่าวหาโจมตีผู้อื่น

พรรคกลับไม่มีคำอธิบายที่เพียงพอหรือการแสดงความรับผิดชอบที่ชัดเจนต่อสาธารณะ สิ่งนี้จึงไม่ใช่เพียงการถูกตั้งคำถามจากสังคม แต่คือการที่พรรคกำลังทำลายทุนทางศีลธรรมที่ตนเองได้สร้างสะสมมาตลอด

มาตรฐานทางการเมืองมิใช่สิ่งที่เลือกใช้เฉพาะเวลาที่พูดถึงผู้อื่น และมิใช่สิ่งที่จะอ่อนลงเมื่อต้องหันกลับมาตรวจสอบตัวเอง พรรคการเมืองที่อ้างความใหม่และยืนยันความแตกต่างจากการเมืองเดิม ต้องมีความกล้าหาญที่จะซื่อตรงต่อมาตรฐานเดียวกัน ทั้งต่อบุคคลภายนอกและภายใน การนิ่งเงียบ การเบี่ยงเบน หรือการลดทอนความสำคัญของข้อครหาในครั้งนี้ ไม่เพียงทำลายความน่าเชื่อถือของพรรค แต่ยังตอกย้ำภาพการเมืองที่ไม่สามารถรักษาหลักการของตนเองได้เมื่อถึงเวลาสำคัญ

สุดท้ายแล้ว การเมืองจะไม่ถูกวิจารณ์เพียงเพราะสมาชิกพรรคไปกินข้าวหรือพูดคุยกับนักการเมืองต่างพรรค แต่จะถูกวิจารณ์เมื่อสิ่งที่เคยกล่าวหาผู้อื่น กลับถูกทำซ้ำโดยคนของตัวเองโดยไม่มีความซื่อตรงในการชี้แจง (ตอนที่คุณธนาธร ไปพบคุณทักษิณ ที่ฮ่องกง ก็อ้างว่าเจอโดยบังเอิญและอคุยกันเรื่องทั่วไป)

ความเข้มแข็งของมาตรฐานทางการเมืองมิใช่อยู่ที่ความเข้มงวดกับผู้อื่น แต่อยู่ที่ความสม่ำเสมอและความจริงใจกับตนเอง เพราะประชาธิปไตยที่ประชาชนคาดหวัง คือการเมืองที่คำพูดและการกระทำไม่ย้อนแย้งกันเอง…


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top