(21 ส.ค. 67) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'ดิจิทัลวอลเล็ตแปลงโฉม' ระบุว่า..
คอลัมน์คนปลายซอย ของเปลวสีเงิน 21 ส.ค. 2567
ทักษิณ 'หลุดปาก' บรรยายเป็นฉาก-เป็นช่อง ที่ทำการพรรคเพื่อไทยชั่วคราวเมื่อวาน จำเป็นบันทึกละเอียดไว้ซักนิด ดังนี้...
นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตตอนนี้ นายกฯ กับฝ่ายงบประมาณ ฝ่ายเศรษฐกิจ กำลังคุยกันอยู่
การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องทำแน่นอน และต้องทำอย่างเร็วด้วย ช้าไม่ได้ เพราะถ้าเศรษฐกิจยิ่งไหลลงลึกเท่าไหร่ ก็ดึงขึ้นมายาก
นายกฯ กำลังวางแผนกันอยู่ ทำงานได้เมื่อไหร่ ก็คงสั่งการเลย
"คำว่าดิจิทัล วอลเล็ต มีอยู่ ๓ เรื่อง คือ..."
๑.การกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นหัวใจสำคัญและต้องทำ
๒.การให้ประชาชนมีโอกาสเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปข้างหน้า ก็ต้องทำต่อไป แต่ความเร่งด่วนอาจรอได้
๓.อนาคต 'ดิจิทัล วอลเล็ต' เมื่อวางไว้แล้ว สามารถใช้ประโยชน์กับประชาชนกับประเทศ ให้ประชาชนกับรัฐบาลเชื่อมต่อกันได้ทางเศรษฐกิจ
เป็นช่องหน้าต่างให้ประชาชนทำธุรกิจผ่านวอลเล็ต เป็นเรื่องเทคนิคที่ต้องมีต่อไป
“แต่ ๒-๓ รอได้ อันที่ ๑ รอไม่ได้ รูปแบบอาจจะอิงเทคโนโลยีบ้างหรือไม่ ไม่อิงบ้างก็ได้ แต่ต้องถูกกฎหมาย และไม่ขัดแย้งกับคนที่เห็นต่างเยอะเกินไป”
ส่วนเรื่องการอัดฉีด "เท่าที่เดินผ่านไปเห็นนายกฯ คุยกับฝ่ายงบประมาณ" ก็บอกว่า "ควรจะต้องทำ" ผมก็ช่วยให้คำแนะนำ แต่การตัดสินใจเป็นของนายกฯ และคณะรัฐมนตรี แต่ผมให้คำแนะนำได้
จะเปลี่ยนเป็น ‘แจกเงินสด’ หรือไม่?
ข้อดีแจกเงินสดคือมันเร็ว แต่ข้อเสีย กลัวว่าจะใช้ในสิ่งที่กระตุ้นเศรษฐกิจไม่เต็มที่
ผมขอให้ข้อคิดต่อไปนี้...
1.การกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากเงินที่ใช้แจก โยกมาจากงบประมาณอื่น ดังนั้น ผลบวกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะต้องหักตัวเลขผลลบที่การใช้จ่ายงบประมาณอื่นจะกระตุ้นเศรษฐกิจออกไปเสียก่อน
ดังที่ ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรมช.คลัง เคยอธิบายไว้ว่า...
ถ้าเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทย เป็นคนไข้ที่ซูบซีด ขาดเลือด ที่ต้องฉีดเลือดเข้าไปเพิ่มเติมด้วยแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต คือสูบเลือดเข้าทางแขนซ้าย
แต่โครงการใช้เงินตามงบประมาณอื่นที่มีอยู่เดิม ที่ต้องชะลอไป เพราะถูกโยกเงินไปใช้แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ก็จะทำให้ผลดีต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในส่วนนี้ลดลง คือสูบเลือดออกทางแขนขวา
สรุปแล้ว สูบเลือดออกไป เพื่อสูบกลับเข้ามา ดังนั้น โดยตรรกะทางเศรษฐศาสตร์ จึงไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญ
มีข้อแตกต่างเพียงอย่างเดียว คือประชาชนกลุ่มที่ได้รับเงิน ที่โยกออกมาจากโครงการงบประมาณเดิม เมื่อได้รับเงินเข้าไปในกระเป๋า ก็จะรู้สึกดีขึ้น
แต่สำหรับโครงการงบประมาณเดิมที่ถูกชะลอไว้ก่อนนั้น ผลประโยชน์ที่จะเกิดแก่ประเทศและแก่ประชาชนโดยรวม ก็ถูกเลื่อนออกไป
2.การแจกเป็นเงินสด ผมเคยแสดงความเห็นชัดเจนว่า การแจกเงินเป็นดิจิทัลนั้น มีอุปสรรคทางเทคนิคที่ไม่สามารถแก้ไขได้หลายประการ (ก) ความมั่นคงปลอดภัยของระบบซูเปอร์แอป (ข) ปัญหาการไม่สามารถเชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารพาณิชย์ และ (ค) ปัญหาฝ่าฝืนกฎหมายเงินตรา เป็นต้น
และยังมีข้อวิจารณ์ อาจมีความเสี่ยงในการหาประโยชน์ส่วนตน ทั้งในการพัฒนาโปรแกรม ทั้งอาจมีการปั่นเงินดิจิทัล และอาจมีการนำเอาข้อมูลส่วนตัวของประชาชนหลายสิบล้านคนไปหาประโยชน์เชิงธุรกิจ
การแจกเป็นเงินสดโดยผ่านระบบเป๋าตัง จะไม่มีปัญหาข้างต้น แต่ไม่สามารถคุมวิธีการใช้เงินได้เลย
ถ้าเทียบกับโครงการในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ถึงแม้รัฐเสียรายได้ในโครงการแบบนี้ แต่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า เพราะกระตุ้นให้ประชาชนควักกระเป๋าออกมาใช้จ่ายสนับสนุนการใช้เงินของรัฐ
ยิ่งการแจกดิจิทัลวอลเล็ต ที่เปลี่ยนไปเป็นเงินสดฟรี ๆ นั้น ในส่วนที่เอาไปชำระหนี้นอกระบบ ในส่วนที่เอาไปซื้อสินค้านำเข้า เติมน้ำมัน ฯลฯ คงไม่สามารถหวังให้เกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับเดียวกับโครงการในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์
นอกจากนี้ ผู้ที่คิดริเริ่มโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ควรจะคิดเตรียมหาคำตอบว่า โครงการเรือธงที่นำไปหาเสียงใหญ่โตนั้น มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ในขั้นตอนการคิดริเริ่ม ได้สืบค้นตรวจสอบวิธีการให้รอบคอบอย่างไร เพื่อเป็นบทเรียนแก่พรรคการเมืองที่จะเตรียมคิดนโยบายหาเสียงในอนาคต