Monday, 28 April 2025
Politics

‘พีระพันธุ์’ นำทัพ 'รวมไทยสร้างชาติ' ชวนคนรักสถาบันสวมใส่เสื้อสีเหลือง  ร่วมดูหนัง ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ รอบพิเศษ 24 มิ.ย.67 เต็มแล้วทุกที่นั่ง!!

ในวันที่ 24 มิถุนายน 2567 นี้ ‘นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรคพรรครวมไทยสร้างชาติ นำทัพพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เชิญชวนคนรักสถาบันสวมใส่เสื้อสีเหลือง เพื่อร่วมย้อนรอยประวัติศาสตร์ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยผ่านภาพยนตร์แอนิเมชันที่เป็นกระแสโด่งดังแห่งยุคสมัยเรื่อง ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ รอบพิเศษ ณ พารากอน ซีนีเพล็กซ์ โรง 13 โดยกิจกรรมจะเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ในโอกาสวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย

สำหรับภาพยนตร์เรื่อง ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันไทยอิงประวัติศาสตร์ที่คนไทยควรรับชม ซึ่งจะพาย้อนประวัติศาสตร์ของประเทศสยามขณะนั้นโดยละเอียด ตั้งแต่การถือกำเนิดของคณะราษฎร การวางแผนปฏิวัติยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่เหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เรื่อยมาจนถึงความวุ่นวายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไปจนถึงการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2478

เรื่องราวของการปฏิวัติ 2475 ถือเป็นเรื่องราวอันเป็นประวัติศาสตร์ที่ถือได้ว่า ‘คณะราษฎร’ ซึ่งถือเป็นผู้ชนะในเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์บอกเล่าความเป็นมาถึงการได้มาซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามที่พวกตนต้องการตีไข่ใส่สีอย่างแท้จริง โดยอวยว่า คณะราษฎรของพวกตนนั้นได้เสียสละเสี่ยงชีวิตอย่างแท้จริง ทั้ง ๆ ที่พระมหากษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ได้ทรงตระเตรียมการณ์เพื่อนำพาชาติบ้านเมืองสู่ความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่สมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 แล้ว จากการโปรดฯ ให้มีการจัดตั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในรูปแบบสุขาภิบาลที่ท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2441

ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 ทรงตั้ง (1) สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และ (2) สภาที่ปรึกษาในพระองค์ในปี พ.ศ. 2417 ทรงสร้างความเท่าเทียมเสมอภาคของประชาชนด้วยการเลิกทาสในปี พ.ศ. 2448 และทรงออกประกาศให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในราชอาณาจักรสยาม ทรงใช้ระบบเขตการปกครองใหม่ เช่น มณฑลเทศาภิบาล จังหวัด และอำเภอ และทรงประกาศตั้งกระทรวงขึ้นอย่างเป็นทางการจำนวน 12 กระทรวง ต่อมาล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 ทรงตั้งดุสิตธานีเมืองจำลองขึ้นเพื่อเป็นแบบทดลอง นครตัวอย่างของการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีลักษณะเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบของเทศบาลที่ดัดแปลงมาจากประเทศอังกฤษ

ครั้นถึงรัชสมัยในล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้น 2 ฉบับ คือ Outline of Preliminary Draft ของพระยากัลยาณไมตรี (Francis B. Sayre) และ An Outline of Changes in the Form of the Government ของนาย Raymond B. Stevens และพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวซึ่งจะพระราชทานในวันที่ 6 เมษายน 2475 แต่ได้รับการคัดค้านจากอภิรัฐมนตรีสภา (คณะที่ปรึกษาชั้นสูงสุด) ด้วยเหตุผลสำคัญว่า ยังไม่ถึงเวลาอันสมควร อันเนื่องจากราษฎรยังมีการศึกษาไม่ดีพอ จึงเกรงว่าเมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองในภายหลัง ซึ่งก็เป็นความจริงตามนั้น เพราะ 25 ปีต่อมาหลังจากการปฏิวัติ 2475 อำนาจในการปกครองบริหารบ้านเมืองถูกแย่งชิงในมือของสมาชิกคณะราษฎร (เป็น 25 ปีที่มีการรัฐประหารในหมู่คณะราษฎรกันเองถึง 5 ครั้ง) จนกระทั่งจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำของคณะราษฎร) ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารซึ่งเป็นการตัดวงจรอำนาจทางเมืองของคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2500 เป็น 25 ปีที่คณะราษฎรไม่เคยสนใจหรือใส่ใจในการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้กับชาวบ้านประชาชนเลย จึงกลายเป็นผลกระทบในด้านลบทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยมาจนทุกวันนี้

ความไม่จริงใจของคณะราษฎรปรากฏให้เห็นจากเอกสารผลสอบสวนของคณะกรรมการเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่ หรือสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันเป็นรายงานที่ทำโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี พ.ศ.2480 เกี่ยวกับพฤติกรรมและวิธีการของสมาชิกคณะราษฎรซึ่งดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 ในการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกมาเป็นกรรมสิทธิของตัวเองและพวกพ้อง ด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต โดยมีการชี้ชัดเป็นวิธีการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่มีการเปิดเผยมากว่า 80 ปี และพึ่งปรากฏเป็นข่าวในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่า กรณีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475 นั้น ‘ผู้ชนะเป็นเขียนประวัติศาสตร์’ จึงไม่ปรากฏเรื่องราวด้านลบของคณะราษฎรเลย มรดกบาปที่คณะราษฎรทิ้งให้ประชาชนคนไทยจนทุกวันนี้คือความไม่เข้าใจในการปกครองระบอบประขาธิปไตยในบริบทที่ถูกต้องและควรจะเป็นของประเทศไทย ดังนั้น การที่พรรครวมไทยสร้างชาติ เชิญชวนคนรักสถาบันสวมใส่เสื้อสีเหลือง ภาพยนตร์เรื่อง ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ เพื่อจะให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับข้อมูลความเป็นจริงที่แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาด ความบกพร่อง ความไม่เข้าใจ ความอ่อนด้อย และเจตนาอันไม่สุจริตของคณะราษฎรหลายคน จึงเป็นเรื่องราวที่พี่น้องประขาชนคนไทยควรจะต้องได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจถึงแก่นอันแท้จริงของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง นั่นคือ “เสรีภาพ และการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” ซึ่งมิใช่ “เสรีภาพ และการปกครองของประชาชน โดยนักการเมือง เพื่อนักการเมือง (และพวกพ้อง)” เช่นที่เห็นและยังเป็นอยู่จนทุกวันนี้ 

จาก 24 มิถุนายน 2475 ถึง 24 มิถุนายน 2567 ตลกร้าย 92 ปี ที่ 'โจรห้าร้อย' บางคนสร้างไว้

คนทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาสูง ก็คงจะแปลความหมายของคนที่เป็น 'โจรห้าร้อย' กับ 'นักปฏิวัติ' ได้ง่าย ๆ ด้วยความหมายของคนสองประเภทนี้แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว 

'นักปฏิวัติ' คือ คนที่จะลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงจากแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบตามความเชื่อของตนเองที่คิดว่าจะดีกว่า เช่น การปฏิวัติระบอบการปกครอง เพื่อยกเลิกระบอบเดิมไปใช้ระบอบใหม่ 

สำหรับประเทศไทย เกิดการปฏิวัติทางการเมืองขึ้นเพียงครั้งเดียวนั่นคือ ‘การปฏิวัติสยาม’ โดยเกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติการปกครองโดยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแทน 

อย่างไรเสีย ตามความเชื่อของนักปฏิวัติแต่ละยุคสมัย จะถูกหรือผิด? จะทำสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่? นักปฏิวัติที่ดีจริงก็จะไม่มีทางมีพฤติกรรมเช่น 'โจรห้าร้อย' ยกเว้นจะอาศัยการปฏิวัติเป็นฉากหน้า แต่พฤติกรรมลับ ๆ ต่ำ ๆ อันแสนจะไร้เกียรติที่ซ่อนเนียน ๆ อยู่ฉากหลังคือ 'ความโลภ' การกระหายในทรัพย์สินเงินทอง เพชรนิลจินดา รวมถึงที่ดินของบุคคลอื่น

'โจรห้าร้อย' จะมีแต่ความตะกละตะกลาม ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง มองหาแต่ความมั่งคั่งร่ำรวยจากการปล้นสมบัติของคนอื่นมาเป็นของตน 

นานถึง 92 ปีแล้ว ที่เราต่างเข้าใจกันดีว่าประเทศไทยของเราถูก 'นักปฏิวัติ' กลุ่มหนึ่งร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับระบอบการปกครองของไทยมาจนถึงปัจจุบัน และแน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้แบ่งแยกผู้คนออกเป็นสองฝั่งตลอดมา ทั้งฝั่งที่เห็นดีงามกับนักปฏิวัติ กับอีกฝั่งที่คิดว่าเป็นการกระทำที่ไม่น่าให้อภัย 

แต่สิ่งที่สามารถสรุปได้ในทันทีก็คือ คนเรา ถ้าคิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันไม่ดี และเราอยากรื้อถอนทำลาย เราก็ต้องทำเป็นให้เห็นว่า 'เราดีกว่า' โดยมิให้สังคมกังขาว่าเรานั้นดีจริงหรือไม่? แต่เท่าที่เห็นเป็นหลักฐานชัดที่สุดก็คือ การแฝงเป็นโจร เพื่อปล้นเอาทรัพย์สินที่ไม่ใช่ของเราใส่กระเป๋าของตัวเองเสียมากกว่า  

92 ปี แม้บางคน อาจจะคิดว่ามาจากน้ำมือของนักปฏิวัติที่คิดดีเพื่อชาติ แต่สำหรับคนจำนวนไม่น้อย มันเป็นแค่คนกลุ่มหนึ่งที่ อยากมั่ง อยากมี และอยากใหญ่ เหมือนคนที่สูงศักดิ์กว่า แต่ดันเกิดมาแล้ว 'มีบุญไม่เท่าเขา' เท่านั้น

การปล้นจึงเป็นทางออกของเหล่า 'โจรห้าร้อย' บางคน 

ไม่มีอะไรซับซ้อนให้ต้องคอยนึกย้อน 'สดุดี'

'โซเชียล' วิจารณ์ยับ!! 'แก้ว ธิษะณา' ไลฟ์สดไฟไหม้บ้าน  โวย!! จนท.มาช้า เจอหน้าตะคอกสั่งไม่ยั้ง ล่าสุดลบคลิปเกลี้ยง

(24 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เต็มโซเชียล หลังจากที่ นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล หลานของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘ธิษะณา ชุณหะวัณ – แก้วตา – Tisana Choonhavan’ โดยระบุเกิดเหตุไฟไหม้ในบ้านของตัวเอง ซึ่งอยู่ที่ซอยพหลโยธิน 5 หรือซอยราชครู เขตพญาไท กทม. พร้อมอ้างว่า “เรียกรถดับเพลิงไปนาน 20 นาที แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย เดินทางมาควบคุมเพลิงเลย” อีกทั้งในบางช่วงยังอ้างอีกว่า “ฝากช่วยกันเรียกรถดับเพลิงมาเพิ่มด้วย เพราะว่าเรียกไปนานเป็นชั่วโมง ยังไม่มีใครมาเลย จนระเบิดไปทั้งหลังแล้ว ขนาดนี้ดิฉันเป็นสส.นะ ดิฉันยังทำอะไรไม่ได้เลย”

ต่อมาในโลกออนไลน์ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงกรณีดังกล่าว อาทิ 

‘ขนาดนี้ยังไม่รู้จักกาลเทศะเลยเหรอว่าต้องทำอะไรที่มันสำคัญก่อนหลัง โลกในโซเชียลฯนะเพลาๆบ้างก็ได้’

‘ดับเพลิงมาตามปกติ ไปตะคอกใส่เขาอีก ไม่ฟังเหตุผลนักดับเพลิงบ้างไฟฟ้าก็ยังไม่ตัดจะให้เขารีบฉีดน้ำ จะให้เขาตายไง อยากจะมาเปลี่ยนแปลงประเทศแต่นิสัยมีอำนาจแล้วเป็นแบบนี้’

‘เราอยู่ในซอยนั้นพอดี ทานข้าวอยู่ พอเห็นไฟอยู่ ไม่เกิน 10-15 นาที ดับเพลิงก็มานะ มาเยอะด้วยทั้งแบบเล็กแบบใหญ่ ณ ตอนนั้นลุ้นอยู่ว่าจะลามมั้ย แต่ก็จะเข้าออกลำบากหน่อยเพราะเป็นซอยแคบ และรถเจ้าหน้าที่ต่างๆ มาเยอะมาก เลยพยายามไม่ขับรถหนีออกเพราะกลัวไปขวางการจราจรเค้า เพราะแรกๆเลยคิดว่าเจ้าหน้าที่ต้องเคลียร์ถนนให้รถที่ขับหนีออกไปก่อนล่ะ แต่เจ้าหน้าที่คุมไฟได้เร็วมาก เพราะมาถึง แปบนึงตัดไฟฟ้า แล้วคุมเพลิง ค่อนข้างไวเลย’

ขณะที่ นางสาวธิษะณา ลบไลฟ์สดดังกล่าวแล้ว ล่าสุดโพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า “ขอบพระคุณทุกคนสำหรับกำลังใจจากทุกท่าน ทุกหน่วยงานที่เข้าช่วยเหลือ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.พญาไท ผอ.เขตพญาไท จนท. สำนักงานเขตพญาไท ญาติๆทุกคนที่มาที่เกิดเหตุช่วยเหลือกับเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เข้าช่วยเหลือค่ะ”

“ขอบพระคุณ ส.ส. กัณตภณ ดวงอัมพร แรมโบ้ ก้าวไกล พญาไท ดินแดง ส.ส. ปวิตรา จิตตกิจ – Pavitra Jittakit ส.ส. กานต์ ภัสริน รามวงศ์ – Patsarin Ramwong ส.ส. เอกราช อุดมอำนวย – ทนายจอจาน – Ekkarach Udomumnouy ส.ส.ฟลิ้นท์ ที่มาหาแก้วถึงที่เกิดเหตุ”“ขอบพระคุณหัวหน้า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ส.ส. ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ – ทนายแจม – Sasinan Thamnithinan ที่โทรหาคนแรกๆและทุกหน่วยงานที่เข้าช่วยเหลือค่ะ”

“ตอนนี้ทุกชีวิตปลอดภัย แต่บ้านส่วนที่เป็นไม้ถูกไฟไหม้ประมาณ 50% ค่ะ”

‘อ.ไชยันต์’ ย้อนคำพูดทูตอังกฤษวิจารณ์บางคนใน ‘คณะราษฎร’ “มีความสามารถ อยากตั้งสาธารณรัฐ แต่ดิบและขาดประสบการณ์”

เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย. 67) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Chaiyan Chaiyaporn' ระบุว่า…

“ทูตอังกฤษเป็นสลิ่ม (วาทะ ลุงมะเขือ) ว่าด้วยวาทกรรม ต่อต้าน 2475 : ใครเอ่ย กล่าวในปี 2475 ถึง “บางคน” ในคณะราษฎรว่า”

“ส่วนกลุ่มหัวรุนแรงนั้นเชื่อกันว่า ต้องการจัดตั้งสาธารณรัฐ ระบบโซเวียต หรือระบบที่ใกล้เคียงอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะเป็นไปได้ คนเหล่านี้เป็นคนกลุ่มน้อย และแม้บางคนจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้มีความสามารถมากกว่าคนทั้งปวง แต่ก็มีลักษณะ “ดิบ” (raw) และขาดประสบการณ์?”

“เฉลย : นายซีซิล ดอร์เมอร์ (Cecil Dormer) อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ระหว่าง พ ศ 2472-2477”

“อ้างอิง ( [F 7857/4260/40] “Mr. Dormer to Sir John Simon, 7 October 1932, British Documents.)”

“แม้แต่ทูตอังกฤษก็ร่วมขบวน “แซะ” ไปกับเขาด้วยหรือ ?!”

‘พล.ท.นันทเดช’ มอง!! ‘ประเทศไทย’ ไปได้ไกลกว่านี้ แต่กลับถูกบอนไซ ด้วยการปกครองแบบที่คณะราษฎรตั้งใจ

เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย. 67) พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า…

“ประเทศไทยจะไปได้ไกลกว่านี้มาก ถ้าไม่มีคณะราษฎร (ตอนที่1)”

“ในสมัยรัชกาลที่ 1 อาณาเขตของสยามได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุม กัมพูชา ลาว เวียดนามบางส่วน จนไปถึงอ่าวตังเกี๋ย และหัวเมืองมลายูทั้งหมด ทำให้ ‘สยาม’ มีประเทศกันชน ป้องกันข้าศึกรุกรานอยู่ทุกด้าน เป็นประเทศที่น่าเกรงขาม สุขสงบ และมากมายด้วยเกียรติยศ แต่สยามก็ต้องแลกมาด้วยความยากลำบากของขุนทหารทุกระดับ ทั้งที่มาจาก วังหน้า วังหลวง และ วังหลัง ที่ต้องผลัดเวียนกันออกไปรบพุ่ง ปกป้องรักษาประเทศราชเหล่านั้น ไม่รู้จบสิ้น”

“ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 สยามกลายสภาพเป็นเสมือน ประเทศกันชน ระหว่างอำนาจฝรั่งเศส ทางทิศตะวันออก และ อำนาจอังกฤษ ทางทิศตะวันตก ในขณะที่สงครามแบบเก่า ที่ใช้ความเก่งกล้าจากขุนทหารของสยามก็กำลังเริ่มหมดไป การล้อมปราบด้วยปืนไฟ และเรือปืน ได้เข้ามาแทนที่”

“ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงประกาศอาณาเขตสยามอย่างชัดเจนขึ้น เพื่อป้องกันความขัดแย้งกับมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศ และทรงมุ่งมั่นพัฒนาประเทศ ทุกด้านอย่างรวดเร็ว ปฏิรูประบบทหารให้เป็นแบบยุโรป ทรงเลิกทาส โดยให้ทาสทุกคนได้เรียนหนังสือก่อน แล้วจึงมอบที่ดินให้ทำมาหากิน นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงส่งนักเรียนไทยไปเรียน ที่ประเทศต่าง ๆ ทางตะวันตก ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับญี่ปุ่น เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาสยาม (สมาชิกคณะราษฎรส่วนใหญ่กำเนิดมาจากนักเรียนทุนหลวง)”

“อย่างไรก็ตาม แม้สยามจะเจริญก้าวหน้าขึ้นมาแทบทุกด้าน แต่สยามก็ยัง ติดปัญหาเรื่องสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่เคยทำไว้กับประเทศตะวันตก ซึ่งทำให้สยามเสียเปรียบประเทศตะวันตก ทั้งด้านการค้า และความเท่าเทียมในฐานะที่สยามเป็นประเทศเอกราช ดังนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 6 จึงทรงตัดสินพระทัย ไม่ฟังคำคัดค้านของกลุ่มทหารที่จบจากเยอรมัน (พ.อ.พระยาพหลฯเป็นคนหนึ่งในกลุ่มนั้นด้วย ) เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตร ประกาศสงครามกับเยอรมัน ทำให้สยามได้รับชัยชนะ สามารถแก้ไขสนธิสัญญาต่าง ๆ กับประเทศตะวันตกได้ทุกฉบับ (นายปรีดี เองก็ยังกล่าวชมเชยพระองค์ในเรื่องนี้ไว้)”

“หลังจากนั้นพระองค์ได้ทรงขยาย การพัฒนาประเทศต่อยอดจาก ในหลวงรัชกาลที่ 5 เพิ่มเติมขึ้นอีก แต่ก็ยังทำได้ไม่เต็มที่ พระองค์จึงทรงกู้เงินมาจากประเทศทางยุโรป เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และการชลประทาน อีกไม่กี่ปีต่อมา ผลผลิตทางเกษตร ก็ออกมาอย่างท่วมท้น การขนส่งพืชผล ออกสู่ท้องตลาด ก็ทำได้อย่างรวดเร็ว เงินกลับคืนมาล้นท้องพระคลัง ในต้นรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 7 พระองค์ก็ทรงใช้หนี้ที่กู้ยืมมาจนหมดสิ้น และทรงเตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญ ให้กับประชาชน แต่ก็ถูกทักท้วงไว้จากที่ปรึกษาชาวตะวันตก คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ และคณะอภิมนตรี ว่า “ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่มีความรู้เพียงพอ” ให้ชะลอไว้ก่อน”

“พระยาพหลฯ ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายทหาร นั้นเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่า ในหลวงรัชกาลที่ 7 กำลังจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่กลับไม่บอกอาจารย์ ปรีดี เพราะอาจารย์ปรีดี ผู้นำคณะราษฎร สายพลเรือน บอกว่า เพิ่งมารู้หลังจากทำปฏิวัติไปแล้ว”

“ปัญหาจึงน่าสนใจตรงที่ว่า ทำไมพระยาพหลฯ ผู้เป็นเสมือนหัวใจของ คณะราษฎรในตอนนั้น ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้ร่างรัฐธรรมนูญไว้เรียบร้อยแล้ว และเตรียมที่จะพระราชทานอยู่แล้ว ถึงไม่บอกสมาชิก คณะราษฎรคนอื่น ๆ ให้รู้ หรือทำไมไม่กราบบังคมทูลขอเข้าเฝ้าฯเพื่อถวายข้อเสนอแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามที่พวกตนต้องการ ซึ่งแนวทางนี้ พระองค์เจ้าบวรเดช ก็เคยพูดคุยกับ พระยาพหลฯมาก่อนที่คณะราษฎรจะปฏิวัติ ดังนั้น การใช้วิธีปฏิวัติล้มล้าง ซึ่งไม่ใช่วิธีการตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อเริ่มต้นขึ้นแล้ว ก็หยุดไม่ได้ จึงทำให้การปฏิวัติกลายเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาของเหล่าสมาชิกคณะราษฎร ทั้งในสายทหาร และสายพลเรือน และยังเป็นโมเดลของการรัฐประหารครั้งต่อ ๆ มาภายหลัง”

“บ้านเมืองจึงเสมือนถูกบอนไซ การปกครองแบบประชาธิปไตยตามที่คณะราษฎรตั้งใจไว้ จนกลายมาเป็นการปกครองแบบเผด็จการทางสภาบ้าง เผด็จการทางทหารบ้าง สลับกันไป เป็นแบบนี้มาตลอด 25 ปี ของการครองอำนาจ”

‘สุทิน’​ เผย ‘นายกฯ’ กำลังดูข้อกฎหมายเรือดำน้ำ ยัน!! หากแล้วเสร็จ จะเร่งนำเข้า ครม. ให้เร็วที่สุด

(25 มิ.ย. 67) นายสุทิน​ คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่ขณะนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างการดูข้อกฎหมายและจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เมื่อใด ว่า หากพิจารณาเสร็จ ก็จะพยายามนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร็วที่สุด

ส่วนเรื่องความคืบหน้านโยบายให้เหล่าทัพ จัดซื้อยุทโธปกรณ์แบบแพ็กเกจ มีความคืบหน้าอย่างไร นายสุทิน กล่าวว่า จะมีการประชุมภายในสัปดาห์นี้พร้อมจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา ซึ่งความจริงแล้วได้มีการพูดคุยกันนอกรอบกับผู้บัญชาการเหล่าทัพแล้ว โดยทุกคนมีความเห็นพ้องต้องกัน แต่เพื่อให้มีความละเอียด แต่จะทำอย่างไรให้ออกมาเป็นมาตรฐานเดียวกันในทางปฏิบัติ จึงให้มีการไปศึกษาดู เช่น การแก้กฎหมายหรือออกเป็นคำสั่งหรือตั้งคณะทำงานพิเศษ ซึ่งคิดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในช่วงของปีงบประมาณ 2569 โดยได้มอบหมายให้พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะทำงาน และปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นคณะทำงานพร้อมจะมีการเชิญเหล่าทัพต่าง ๆ เข้ามาร่วมพูดคุยว่าอะไรทำได้เลย และอะไรต้องแก้

'ภูมิธรรม' ตอกกลับ 'สุดารัตน์' ปูดแก้ รธน.ไม่มีปาร์ตี้ลิสต์ สวน!! ไปฟังใครมา วอน!! สื่ออย่าเต้าข่าว ควรให้ค่าความจริง

(25 มิ.ย. 67) นายภูมิธรรม เวชชชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากรรระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ออกมาเปิดเผยว่ามีข่าวจากคนในพรรคเพื่อไทย จะการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จะให้ไม่มี สส.แบบบัญชีรายชื่อ ว่า หากตนเองได้รับผิดชอบเป็นเรื่องประธาน คณะกรรมาธิการการประชามติ 

ตนเองพูดหลายครั้งว่าการทำประชามติในครั้งนี้ ก็เพื่อหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อจำกัด ซึ่งหากแก้ไขต้องแก้ไขให้ได้ร้อยละ 20 ของฝ่ายค้านและร้อยละ 20 ของวุฒิสภา แล้วจะมาบอกว่าเราจะแก้เพื่อทำร้ายพรรคก้าวไกลนั้น แล้วคะแนนร้อยละ 20 ของพรรคก้าวไกลมาจากไหน ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ตกแน่นอน นั่นหมายความว่าไม่มีมูลความจริง และตนเองพูดมาตลอดว่าต้องทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นได้

“ที่คุณหญิงสุดารัตน์ ได้ฟังมาจากพวกจริง ๆ หรือฝันไป ผมสงสัย” 

นายภูมิธรรม ยังกล่าวอีกว่า ขออย่าไปทำข่าวที่ไม่มีพื้นฐานของความจริง พร้อมถามกลับสื่อมวลชน ทำข่าวที่ไม่เป็นความจริง คืออะไร ข่าวเต้า หรือเต้าข่าว อย่าไปทำเลย ทำงานสร้างพรรคให้แข็งแรงและเป็นกำลังสร้างประชาธิปไตยให้ได้ หากทำแบบนี้จะเป็นปัญหากับตัวเอง

'เนติบริกร' สะกิด!! 'บิ๊กโจ๊ก' ไม่ควรฟ้องนายกฯ ควรรอ 'ก.พ.ค.ตร.' ถ้าไม่พอใจค่อยไปศาลปกครอง

(25 มิ.ย.67) นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. จะยื่นฟ้อง ม.157 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หากไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ว่า มีสิทธิฟ้อง เพราะเป็นการฟ้องส่วนตัว แต่ไม่ควรฟ้อง ที่สำคัญ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ยังมีช่องทางที่จะบำบัดหรือได้รับการเยียวยาหลายช่องทาง ซึ่งควรจะไปใช้ช่องทางปกติ โดยสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ก็ยื่นฟ้องเช่นกัน เช่น ทางคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ที่ได้เขียนเอาไว้ว่า หากใครได้รับความเดือดร้อนจากผู้บังคับบัญชาก็สามารถยื่นร้องทุกข์ได้ ต้องปล่อยให้หน้าที่ ก.พ.ค.ตร.ในการตัดสิน หากตัดสินอย่างไรให้เป็นไปตามนั้น เวลานี้เรื่องทั้งหมดอยู่ที่ ก.พ.ค.ตร. ฉะนั้น ที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ระบุว่า อนุ ก.ตร.ไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ต้องถูกส่งไป ก.พ.ค.ตร. เพื่อวินิจฉัยในเร็ววันนี้ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ควรรอคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทุกคนควรจะรอ เว้นแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไปแก้ไขเยียวยาเอง ส่วนจะนานหรือไม่นั้น มันนาน แต่ว่า ก.พ.ค.ตร.ได้รับเรื่องไว้นานแล้ว ฉะนั้น เวลาน่าจะเหลือจะประมาณ 1 เดือน เมื่อถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์มีการอ้างมติ ครม.ปี 2482 ว่า หน่วยงานใดที่หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา หน่วยงานนั้นต้องทำตามนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า มีอยู่จริง ออกมาตั้งแต่สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม และใช้ตั้งแต่นั้นมา 

เมื่อถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์จะยึดความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในการต่อสู้ และมีสิทธิจะชนะใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด ยิ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธาน ยิ่งไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด และในวันที่ตนแถลงข่าวก็ไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด แค่มาเล่าให้ฟังเท่านั้นว่าคณะกรรมการทั้งสองชุดว่าอย่างไร ซึ่งในวันนั้นมีผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ยังเป็นแคนดิเดตผบ.ตร.ได้อยู่หรือไม่ ตนจึงตอบว่าใครก็ตามที่ดำรงตำแหน่ง พล.ต.อ. และเป็นรองผบ.ตร. ก็มีโอกาสทั้งนั้น แต่สุดท้ายจะได้เป็นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งมติ ก.ตร. และอยู่ที่นายกฯจะเสนอชื่อใคร เหมือนเช่นตอนที่เสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เมื่อถามว่า แต่เป็นเหตุผลที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์หยิบขึ้นมาอ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า ทุกคนก็เอาสิ่งที่ตนได้ประโยชน์มาอ้าง ไม่มีใครอ้างในสิ่งที่เป็นโทษ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้กลายเป็นว่า มีการเอาผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายฯ ที่มีนายฉัตรชัย เป็นประธาน ที่ทำท่าจะจบ แต่ไม่จบ เพราะมีการไปต่อยอด ฟ้องร้องกัน นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เป็นคดีใหม่ ส่วนคดีเก่าคือ คดีของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งเรื่องจบไปแล้วส่วนหนึ่ง ส่วนกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ไปยื่นฟ้อง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รองผบ.ตร. และคนอื่น ๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นธรรมดาเหมือนคดีทั่วไป ที่จบอีกเรื่องก็มีอีกเรื่องหนึ่งขึ้นไป และถือเป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับองค์กร ไม่เกี่ยวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และขอย้ำประโยคนี้ว่า เขาออกแบบไว้ให้ ก.พ.ค.ตร.เป็นผู้ตัดสินปัญหา ก็ต้องใช้ช่องทางนี้ หากผลตัดสินของ ก.พ.ค.ตร.ไม่เป็นที่พอใจ ก็ไปร้องศาลปกครองได้อีก 

เมื่อถามว่า ตอนนี้ตกลง พล.ต.อ.สุรเชษ์ฐ สามารถกลับเข้ามาเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร.ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าดูจากวันนี้เดี๋ยวนี้ตอบได้ว่ามี แต่ถ้าต่อไป อาจมีการแก้เกมอย่างอื่นจนไม่ได้เป็นก็ได้ เพราะมันยังมีช่องกฎหมายอีกเยอะ ซึ่งตามช่องที่คณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่ากระบวนการไม่ชอบ และเป็นเอกฉันท์ด้วย

เมื่อถามย้ำว่า กระบวนการทั้งหมดจะไม่สามารถดำเนินการได้หากยังไม่มีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ เมื่อถามอีกว่า มีโอกาสที่จะไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เขาจะไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ แน่ เว้นแต่ ก.พ.ค.ตร.จะสั่งลงมา แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ไม่ได้บอกว่าไม่ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่เขาบอกว่า หนังสือที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ นั้นมีข้อสังเกตว่า ควรจะถูกต้องตามกระบวนการ เพราะมีตัวอย่างมาแล้วนับ 10 เรื่องที่กระบวนการไม่ถูก แล้วถูกส่งกลับมาดังนั้น ต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ ก.พ.ค.ตร.และรัฐบาลเองก็ฟัง ก.พ.ค.ตร. จะเอาอย่างไรก็เอาตามนั้น

‘อัครเดช-รวมไทยสร้างชาติ’ ไม่เห็นด้วยตัด สส.ปาร์ตี้ลิสต์ทิ้ง ชี้!! สส. 2 ระบบดีอยู่แล้ว ช่วยกันดูแล ปชช. เชิงนโยบาย-ลงพื้นที่

(25 มิ.ย. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยกเลิก สส.ระบบบัญชีรายชื่อ เหลือเพียง สส.ระบบแบ่งเขต ว่า การมี สส.ทั้ง 2 ระบบเป็นสิ่งที่ดีที่สุดอยู่แล้ว และเป็นระบบที่อยู่กับการเมืองไทยมายาวนาน ถือว่าเป็นพัฒนาการทางการเมือง 

ซึ่ง สส.ระบบบัญชีก็มีข้อดีอย่างหนึ่งในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนในภาพรวมเชิงนโยบาย โดยไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่หนักในเชิงลึกแต่ทำพื้นที่ในภาพกว้าง ส่วน สส.แบ่งเขตก็มีข้อดีอีกอย่างหนึ่ง มีความใกล้ชิดพี่น้องประชาชน นำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่มาสะท้อนให้ฝ่ายบริหารได้เร่งแก้ปัญหา นอกจากทำหน้าที่นิติบัญญัติ ดังนั้น สส.เขตจึงต้องทำพื้นที่อย่างหนักในการเข้าถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ

“การมี สส.ทั้ง 2 ระบบ มีความสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว ผมไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เหลือระบบเดียว แต่ทั้งนี้พรรครวมไทยสร้างชาติก็พร้อมที่จะสู้กับทุกกติกาที่รัฐธรรมนูญกำหนด ภายใต้การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม“ นายอัครเดช กล่าว

โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวต่ออีกว่า การที่มีการออกมาให้ข่าวลักษณะนี้ส่งผลกระทบกับพรรคการเมืองที่มีอยู่ ทำให้เป็นประเด็นการเมือง ตนไม่อยากให้มีข่าวลักษณะแบบนี้เกิดขึ้น เพราะเป็นข่าวที่ไม่มีมูลเหตุ และขณะนี้ไม่ได้อยู่ในช่วงที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะกำลังทำกฎหมายประชามติอยู่ในวาระ 2 ทำให้เกิดความสับสนทางการเมือง และยังจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การเมือง จึงอยากขอให้ทุกฝ่ายได้หยุดประเด็นทางการเมือง ช่วยกันทำให้การเมืองนิ่ง เพื่อให้รัฐบาลได้เดินหน้าแก้ปัญหาความเดือดร้อนเศรษฐกิจปากท้องให้กับประชาชน

พลพรรค ‘สีน้ำเงิน-แดง’ พาเหรดยึดสภาสูง บางส่วนออกอาการวงแตก - ‘บ้านในป่า’ ส้มหล่น

ไม่ต้องรอ 2 ก.ค. 2567…เย็น ๆ ค่ำ ๆ 26 มิ.ย. ก็รู้กันแล้วว่า ใครคือ 200 ว่าที่สมาชิกวุฒิสภา ชุดใหม่..ชุดที่ 13 ของประเทศไทย ซึ่งแม้จะไม่มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจอย่างอื่นในฐานะสภาสูง...เพียบ!! ขีดเส้นทางเดิน ชี้เป็นชี้ตายประเทศได้เหมือนกัน

โดยสรุป...เหนือจากการกลั่นกรองกฎหมาย และมีบทบาทในการจัดทำ-แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีบทบาทในการควบคุมการเลือกสรรบุคคลองค์กรอิสระ ที่จะครบวาระภายในปี 2567 จำนวนมาก

ใครอยากรู้รายละเอียด วัน ว. เวลา น. จะเลือกอะไรบ้าง ว่าง ๆ ก็แวะไปไถเฟซบุ๊ก สว. ตัวตึง สมชาย แสวงการ ดูได้ แต่ตรงนี้ ‘เล็ก เลียบด่วน’ รวบรัดว่าเฉพาะหน้า สว.ชุดใหม่จะมาพิจารณาให้ความเห็นชอบ…หรือไม่เห็นชอบ…ดังนี้

>> ว่าที่ประธานศาลปกครองสูงสุด คนใหม่ นายประสิทธิศักดิ์ มีลาภ (วุฒิสภาชุดปัจจุบันตั้งกมธ.วิสามัญสอบประวัติ เมื่อ 18 มิ.ย. 2567)

>> ว่าที่อัยการสูงสุด นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ (วุฒิสภาชุดปัจจุบันตั้งกมธ.วิสามัญสอบประวัติเมื่อ 18 มิ.ย. 2567)

>> ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการรัฐธรรมนูญที่จะครบวาระ 2 คน

>> กรรมการ ปปช. 5 คน

>> กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 6 คน

>> ผู้ตรวจการแผ่นดิน 1 คน

บางตำแหน่งข้างต้นต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน สว. บางตำแหน่งใช้เสียงข้างมากธรรมดา...หลับตาดูว่า สว.ชุดใหม่ ที่น่าจะมีที่มาหลากหลาย แต่คุณภาพในการกรองจะคับแก้วหรือเปล่า ก็ยังไม่อยากจะดูถูกดูแคลน แต่ก็อดที่จะห่วงใยไม่ได้...

จะอย่างไรก็ตาม ‘เล็ก เลียบด่วน’ ได้ฟันธงล่วงหน้าไปแล้วเมื่อคราวก่อนว่า สว.ชุดใหม่ จะออกอาการสีม่วง ๆ คือมาจากเครือข่ายพรรคสีน้ำเงินกับสีแดง เป็นส่วนใหญ่  ตัวเลขที่เขาทำกันไว้เล็งเป้าไปที่ 150 จาก 200 แต่นาทีสุดท้ายสายข่าวแจ้งว่า  พลพรรคสีน้ำเงิน-สีแดงบางส่วน ที่เข้ารอบประเทศเพิ่งมาทราบเอาตอนเข้าค่ายที่โรงแรมในกรุงเทพฯ ว่า ตัวเองเป็นแค่ ‘โหวตเตอร์’ เท่านั้น ก็เลยเกิดอาการวงแตกกันหลายจังหวัด...หลายคนหนีไปหาซุ้ม ‘บ้านในป่า’

‘ผู้กอง’ คนดังก็เลยรับส้มหล่นไป แต่จะแปรเป็นคะแนน เป็น สว. ได้มากน้อยก็ยากจะคาดเดา…

สรุปว่า…ก็คงต้องทำใจเผื่อกับหน้าตา-คุณภาพของ สว.ชุดใหม่ เอาไว้ส่วนหนึ่ง กฎกติกาและคนคุมกฎกติกาคือ กกต. เป็นอย่างที่เห็น ผลลัพท์ที่ออกมาต้องเป็นเช่นนั้น...อนาคตจะออกแบบ สว. กันแบบไหน อย่างไร ก็ค่อยว่ากันอีกที…

แถมท้าย เป็นเคียงข่าวเพื่อการติดตามการเลือก สว. รอบประเทศสั้น ๆ...การเลือกระดับประเทศจะมีสองรอบ เหมือนระดับอำเภอ-จังหวัด

-รอบแรก ผู้ผ่านรอบจังหวัด 20 กลุ่มอาชีพ 3,000 คน จะเลือกกันเองในแต่ละอาชีพ  หนึ่งคนจะเลือกได้ไม่เกิน 10 ชื่อ (รวมทั้งเลือกตัวเอง) จะคัดคนคะแนนดีที่สุดในแต่ละอาชีพ 40 คนเข้ารอบสอง รวม 20 อาชีพจะเป็น 800 คน

-รอบสอง จาก 800 คน 20 กลุ่มอาชีพ จะแบ่งเป็น 4 สาย ๆ ละ 5 กลุ่มอาชีพ ให้เลือกไขว้คือห้ามเลือกคนในอาชีพเดียวกัน แต่ต้องไปเลือกอาชีพอื่นในสายเดียวกันได้ อาชีพละไม่เกิน 5 คน (รวมทั้งหมดเลือกได้ไม่เกิน 20 คน) นับคะแนนผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกในแต่ละอาชีพเป็นว่าที่ สว. (10x20 อาชีพ = 200 คน) และสำรองไว้อาชีพละ 5 คน

อาเมน.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top