‘พีระพันธุ์’ นำทัพ 'รวมไทยสร้างชาติ' ชวนคนรักสถาบันสวมใส่เสื้อสีเหลือง ร่วมดูหนัง ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ รอบพิเศษ 24 มิ.ย.67 เต็มแล้วทุกที่นั่ง!!
ในวันที่ 24 มิถุนายน 2567 นี้ ‘นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรคพรรครวมไทยสร้างชาติ นำทัพพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เชิญชวนคนรักสถาบันสวมใส่เสื้อสีเหลือง เพื่อร่วมย้อนรอยประวัติศาสตร์ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยผ่านภาพยนตร์แอนิเมชันที่เป็นกระแสโด่งดังแห่งยุคสมัยเรื่อง ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ รอบพิเศษ ณ พารากอน ซีนีเพล็กซ์ โรง 13 โดยกิจกรรมจะเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ในโอกาสวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย
สำหรับภาพยนตร์เรื่อง ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันไทยอิงประวัติศาสตร์ที่คนไทยควรรับชม ซึ่งจะพาย้อนประวัติศาสตร์ของประเทศสยามขณะนั้นโดยละเอียด ตั้งแต่การถือกำเนิดของคณะราษฎร การวางแผนปฏิวัติยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่เหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เรื่อยมาจนถึงความวุ่นวายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไปจนถึงการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2478
เรื่องราวของการปฏิวัติ 2475 ถือเป็นเรื่องราวอันเป็นประวัติศาสตร์ที่ถือได้ว่า ‘คณะราษฎร’ ซึ่งถือเป็นผู้ชนะในเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์บอกเล่าความเป็นมาถึงการได้มาซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามที่พวกตนต้องการตีไข่ใส่สีอย่างแท้จริง โดยอวยว่า คณะราษฎรของพวกตนนั้นได้เสียสละเสี่ยงชีวิตอย่างแท้จริง ทั้ง ๆ ที่พระมหากษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ได้ทรงตระเตรียมการณ์เพื่อนำพาชาติบ้านเมืองสู่ความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่สมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 แล้ว จากการโปรดฯ ให้มีการจัดตั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในรูปแบบสุขาภิบาลที่ท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2441
ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 ทรงตั้ง (1) สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และ (2) สภาที่ปรึกษาในพระองค์ในปี พ.ศ. 2417 ทรงสร้างความเท่าเทียมเสมอภาคของประชาชนด้วยการเลิกทาสในปี พ.ศ. 2448 และทรงออกประกาศให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในราชอาณาจักรสยาม ทรงใช้ระบบเขตการปกครองใหม่ เช่น มณฑลเทศาภิบาล จังหวัด และอำเภอ และทรงประกาศตั้งกระทรวงขึ้นอย่างเป็นทางการจำนวน 12 กระทรวง ต่อมาล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 ทรงตั้งดุสิตธานีเมืองจำลองขึ้นเพื่อเป็นแบบทดลอง นครตัวอย่างของการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีลักษณะเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบของเทศบาลที่ดัดแปลงมาจากประเทศอังกฤษ
ครั้นถึงรัชสมัยในล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้น 2 ฉบับ คือ Outline of Preliminary Draft ของพระยากัลยาณไมตรี (Francis B. Sayre) และ An Outline of Changes in the Form of the Government ของนาย Raymond B. Stevens และพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวซึ่งจะพระราชทานในวันที่ 6 เมษายน 2475 แต่ได้รับการคัดค้านจากอภิรัฐมนตรีสภา (คณะที่ปรึกษาชั้นสูงสุด) ด้วยเหตุผลสำคัญว่า ยังไม่ถึงเวลาอันสมควร อันเนื่องจากราษฎรยังมีการศึกษาไม่ดีพอ จึงเกรงว่าเมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองในภายหลัง ซึ่งก็เป็นความจริงตามนั้น เพราะ 25 ปีต่อมาหลังจากการปฏิวัติ 2475 อำนาจในการปกครองบริหารบ้านเมืองถูกแย่งชิงในมือของสมาชิกคณะราษฎร (เป็น 25 ปีที่มีการรัฐประหารในหมู่คณะราษฎรกันเองถึง 5 ครั้ง) จนกระทั่งจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำของคณะราษฎร) ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารซึ่งเป็นการตัดวงจรอำนาจทางเมืองของคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2500 เป็น 25 ปีที่คณะราษฎรไม่เคยสนใจหรือใส่ใจในการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้กับชาวบ้านประชาชนเลย จึงกลายเป็นผลกระทบในด้านลบทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยมาจนทุกวันนี้
ความไม่จริงใจของคณะราษฎรปรากฏให้เห็นจากเอกสารผลสอบสวนของคณะกรรมการเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่ หรือสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันเป็นรายงานที่ทำโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี พ.ศ.2480 เกี่ยวกับพฤติกรรมและวิธีการของสมาชิกคณะราษฎรซึ่งดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 ในการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกมาเป็นกรรมสิทธิของตัวเองและพวกพ้อง ด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต โดยมีการชี้ชัดเป็นวิธีการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่มีการเปิดเผยมากว่า 80 ปี และพึ่งปรากฏเป็นข่าวในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่า กรณีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475 นั้น ‘ผู้ชนะเป็นเขียนประวัติศาสตร์’ จึงไม่ปรากฏเรื่องราวด้านลบของคณะราษฎรเลย มรดกบาปที่คณะราษฎรทิ้งให้ประชาชนคนไทยจนทุกวันนี้คือความไม่เข้าใจในการปกครองระบอบประขาธิปไตยในบริบทที่ถูกต้องและควรจะเป็นของประเทศไทย ดังนั้น การที่พรรครวมไทยสร้างชาติ เชิญชวนคนรักสถาบันสวมใส่เสื้อสีเหลือง ภาพยนตร์เรื่อง ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ เพื่อจะให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับข้อมูลความเป็นจริงที่แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาด ความบกพร่อง ความไม่เข้าใจ ความอ่อนด้อย และเจตนาอันไม่สุจริตของคณะราษฎรหลายคน จึงเป็นเรื่องราวที่พี่น้องประขาชนคนไทยควรจะต้องได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจถึงแก่นอันแท้จริงของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง นั่นคือ “เสรีภาพ และการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” ซึ่งมิใช่ “เสรีภาพ และการปกครองของประชาชน โดยนักการเมือง เพื่อนักการเมือง (และพวกพ้อง)” เช่นที่เห็นและยังเป็นอยู่จนทุกวันนี้
เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES