Sunday, 18 May 2025
NewsFeed

สห.มทบ.11 ได้ฉีดวัคซีนแล้ว โดยนทพ. ให้บริการวัคซีนโควิด-19 ครั้งที่ 18 ด้วยการลงทะเบียนและเข้ารับวัคซีนในช่องทาง "นัดหมายผ่านองค์กร"

พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ผบ.ทสส. และหน.ศปม.) สั่งการให้ พล.อ.นเรนทร์ สิริภูบาล ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ผบ.นทพ.) สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข ในการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบปูพรมทั่วประเทศ โดยนำวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรจากกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งวัคซีนที่ได้รับตามแผนการแจกจ่ายและกระจายวัคซีนของกระทรวงกลาโหม มาบริการฉีดให้กับกำลังพลของกองบัญชาการกองทัพไทย, บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ กทม. ในช่องทาง "นัดหมายผ่านองค์กร" ณ จุดให้บริการฉีดวัคซีน อาคารอเนกประสงค์ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) 

ซึ่งเป็นจุดให้บริการฉีดวัคซีนที่ ผบ.นทพ. ได้สั่งการให้สำนักงานสนับสนุน หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (สสน.นทพ.) จัดบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ของหน่วยใน นทพ. เป็นผู้ดำเนินการ โดยได้เปิดให้บริการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ในวันนี้เป็นการให้บริการฉีด ครั้งที่ 18 ดำเนินการฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 1 ให้แก่ กำลังพลของกรมการสื่อสารทหาร (สส.ทหาร), โรงเรียนช่างฝีมือทหาร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (รร.ชท.สปท.) และมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ที่ปฏิบัติงานสนับสนุน EOC กทม. ในการดูแลควบคุมแคมป์คนงานก่อสร้าง รวมจำนวนวัคซีนที่ฉีดแล้วทั้งสิ้น 7,403 โดส

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการกระจายวัคซีนตามนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้ประกาศให้การฉีดวัคซีนเป็น "วาระแห่งชาติ" เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศไทยของเรา

“เลขาฯ สมช.”คาด ติดเชื้อแตะหมื่น วอน รัฐ-เอกชน-ปชช. จับมือฝ่าวิกฤต อุบตอบ “พิธา” เสนอยุบ ศบค. ยัน ทำงานเต็มที่ตามผู้บังคับบัญชา แจง เข็มสามต้องรอก่อนเพราะวัคซีนไม่พอ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์ถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ว่า ต้องรอฟังจากกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นจะนำเข้าที่ประชุม ศปก.ศบค. อีกครั้ง ซึ่งเราประเมินว่าตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจจะสูงขึ้น และพยายามเร่งรัดเรื่องฉีดวัคซีนให้เร็วและมากขึ้นไม่ได้ฉีดไปเรื่อย ๆ ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ไปอีกสักระยะ ต้องขอความร่วมมือประชาชนทำตามมาตรการส่วนบุคคล โดยเว้นระยะห่างและสวมหน้ากากอนามัยมากขึ้น เพราะหลังจากที่ปิดแคมป์คนงานและแรงงานต่างด้าวก็อยู่นิ่งกับที่ แต่จำนวนตัวเลขที่มากขึ้นอาจจะเกิดจากการเคลื่อนไหวของบุคคลทั่วไปในสังคมแล้ว ที่ระบุเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะตัวเลขสูงขึ้นแล้วโทษประชาชนแต่เป็นการขอความร่วมมือ 

เมื่อถามว่าถ้าตัวเลขยังพุ่งสูงขึ้น มาตรการป้องกันจะเข้มขึ้นหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า คงไม่เข้มกว่านี้ เพราะตอนนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และศบค.ห่วงความเดือดร้อนของประชาชน และคิดว่ามาตรการที่ใช้อยู่น่าจะเพียงพอแล้ว ซึ่งภาครัฐอาจจะต้องลงรายละเอียดมากขึ้น รวมถึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการและประชาชนมากขึ้น ถ้าทั้ง 3 ส่วนให้ความร่วมมือ เช่น ภาครัฐจริงจัง จากเดิมที่จริงจังอยู่แล้วก็ต้องมาดูในรายละเอียดกันมากขึ้น เพราะบุคลากรทางการแพทย์ ทุ่มเท และเหนื่อยล้า จึงต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการ และประชาชน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่เชื้อ 

เมื่อถามว่ามีแนวโน้มที่จะให้ผู้ป่วยที่รอเตียง กระจายไปรักษานอก กทม. หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ในทางระบบยังไม่ถึงขนาดนั้น โดยกระทรวงสาธารณสุข และกทม. พยายามเพิ่มจำนวนเตียงอยู่ โดยวันนี้ มณฑลทหารบก ที่ 11 ได้เพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยสีแดง และสีเหลือง ได้เปิดทำการแล้ว ในส่วนที่ไม่สามารถหาเตียงได้ ก็เดินทางกลับไปรักษาในภูมิลำเนา ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ นอกจากนั้นจะพิจารณาแนวทางรักษาตัวที่บ้าน แต่ต้องมีระบบรองรับก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ติดเชื้ออยู่บ้านเฉย ๆ และที่ยังไม่เริ่มการแยกกักที่บ้านเพราะกระทรวงสาธารณสุข และศบค. เป็นห่วงว่าอาจทำให้เสี่ยงอาการรุนแรงขึ้น จึงต้องมีระบบรองรับ เช่น การติดตาม การตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย 

เมื่อถามว่า หากจำนวนติดเชื้อไปถึงหลักหมื่น ทุกอย่างพร้อมรองรับหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เราคิดไว้ทุกอย่าง ทั้งเพิ่มจำนวนเตียง และจะเพิ่มเรื่อย ๆ นับแต่วันนี้ รวมถึงการแยกกักตัวที่บ้าน คาดว่าถ้าภาครัฐทุ่มเท สถานประกอบการภาคเอกชน และประชาชนร่วมมือมาตรการส่วนบุคคล คิดว่าน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ โดยในเดือนก.ค. นี้ วัคซีนจะเข้ามา 10 ล้านโดส ซึ่งจะทยอยเข้ามา เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว อาจจะป้องกันอาการรุนแรงได้มากขึ้น โดยอาจารย์ทางการแพทย์ชี้แจงว่า สายพันธุ์เดลตาจะติดได้ไวและเพิ่มจำนวนรวดเร็ว แต่จำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะไม่มากจนน่ากังวล 

เมื่อถามถึงกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เสนอให้ยุบ ศบค. เพราะทำงานล้มเหลว พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ขอไม่ตอบในเรื่องนี้ ทั้งนี้ เราพยายามทำงานเต็มที่ ให้ดีที่สุด โดยขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา จะพิจารณาตามความเหมาะสม เมื่อถามย้ำว่า มั่นใจว่าการทำงานของศบค. ที่ผ่านมา สามารถตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า มั่นใจ การทำงานของศบค. ไม่ได้ทำงานเฉพาะหน่วยงาน แต่ทำงานร่วมกันทุกส่วน โดยลำดับแรกเราจะฟังจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก เสนอมาอย่างไรจะไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าสามารถบังคับใช้ตามที่เสนอได้หรือไม่ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และในศบค. ยังมีส่วนราชการร่วมอีกกว่า 30 หน่วยงาน 

“เราทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ตัดสินใจแค่ ศบค. ที่อยู่ในทำเนียบฯ ที่เดียว เชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาได้ เพียงแต่สถานการณ์ระบาดเปลี่ยนแปลงเร็ว ครั้งแรกมาจากต่างประเทศ ครั้งที่สองมาจากผู้ทำงานในสถานบันเทิงที่ท่าขี้เหล็ก ครั้งที่สามจากแรงงานต่างด้าว ครั้งที่สี่จากสถานบันเทิงในประเทศ และครั้งนี้พบจากแรงงานในไซต์ก่อสร้าง และขยายไปถึงบุคคลทั่วไปในสังคม และเชื้อสายพันธุ์ต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไป ศบค. จึงต้องปรับวิธีรองรับกับเชื้อสายพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ อยากขอให้ช่วยให้กำลังใจ บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่หน้างาน และเจ้าหน้าที่ที่มาทำงานในศบค.” พล.อ.ณัฐพล กล่าว 

เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องของบุคลากรด่านหน้าที่ที่ระบุว่า วัคซีนสองเข็มไม่เพียงพอ ต้องมีเข็มที่สาม พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ทางศบค. ได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุข เรื่องนี้อยู่แต่ต้องเรียนว่าวัคซีนมีจำกัด คนที่ยังไม่ได้รับเข็มแรกยังมีอยู่ ต้องว่าไปตามลำดับ ดูแลให้ฉีดเข็มแรกให้มีภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ก่อน จากนั้นจึงไปที่เข็มที่สอง เราต้องฉีดให้ประชาชนให้ครบก่อน

หมอบุญ วนาสิน แจงวัคซีน "ไฟเซอร์-โมเดอร์นา" ล่าช้า เหตุเพราะไทยไม่ยอมเซ็นสัญญา หลังต่อสายตรงทวงถามทำไมไทยไม่ได้วัคซีน

เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 64 นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผ่านรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ ถึงกรณีการนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา และไฟเซอร์ที่ล่าช้า ว่า การสั่งซื้อวัคซีนนั้น ผู้ผลิตระบุว่าหลังจากเซ็นสัญญาแล้ว จะใช้เวลาอีก 4 เดือน ถึงจะส่งวัคซีนไปยังประเทศที่ซื้อได้ ถ้าไม่ติดเงื่อนไขจากรัฐบาล ทางรพ.ธนบุรี พร้อมจะเซ็นซื้อโมเดอร์นา ไฟเซอร์ 50 ล้านโดส ตั้งแต่ต.ค. 2563 แล้ว แต่การซื้อขายจำเป็นต้องซื้อรัฐต่อรัฐ ทำให้เอกชนซื้อไม่ได้ ต้องรอจนปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการยืนยันจากทั่วโลก ว่า วัคซีนแบบ mRNA คือวัคซีนที่ดีที่สุด โดยเฉพาะไฟเซอร์และโมเดอร์นา เช่น การศึกษาของสหรัฐอเมริกา ยืนยันแล้วว่าวัคซีน ที่ผลิตเทคโนโลยีใหม่ mRNA อย่าง โมเดอร์นา และไฟเซอร์ มีประสิทธิผลดีที่สุด คุ้มกันไม่ให้เกิดโรคได้ ไม่ใช่เพียงแค่ป้องกันการเสียชีวิต หรือ อาการหนักเท่านั้น โดยมีประสิทธิภาพสามารถป้องกันได้ทั้ง โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) สายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) และสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้)

ส่วน เรื่องการซื้อวัคซีนที่ล่าช้านั้น ตนได้ติดต่อไปทางบริษัทผู้ผลิต เนื่องจากสนิทกัน ด้วยความสงสัยว่าทำไมประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย อย่าง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ถึงได้แล้ว แต่ไทยไม่มีสักโดส จึงโทรศัพท์ไปที่ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ที่สนิทเป็นการส่วนตัว โดยได้คำตอบว่า “ไทยไม่ยอมเซ็นสัญญา”


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“ธรรมนัส” ย้ำ ความขัดแย้ง “วิรัช-ปารีณา” เรื่องส่วนตัวจ่อถก “บิ๊กป้อม” หาทางสงบศึก โว นำพปชร. เจาะอีสานได้ หวังชนะใจคนรากหญ้า พร้อมชี้ ส.ส.ทำสภาล่ม ไม่ใช่แท็กติกอย่างที่ “วิรัช” บอก ยัน ไม่มีคาดโทษ เชื่อไม่มีใครคิดโดดสภา

ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงความขัดแย้งระหว่างนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร. กับ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรค พปชร. ว่า มันเป็นเรื่องส่วนตัว โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค พปชร. พยายามให้ตนเคลียร์ทั้งสองฝ่าย และตนพยายามจะคุยกับทั้งสองฝ่าย ซึ่งต้องแยกคุยเป็นรายคนไปก่อน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ น.ส.ปารีณา ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่ แต่ถูกนายวิรัชดีดออกจากกลุ่มไลน์พรรค เหมาะสมหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบละเอียด โดยจะหารือกับหัวหน้าพรรคในวันเดียวกันนี้ (2 ก.ค.) ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อถามว่า จะเรียกนายวิรัช และ น.ส.ปารีณา คุยเมื่อไหร่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ท้ายที่สุดแล้วจะต้องให้ พล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรคเป็นผู้นั่งคุย เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวน่าจะคุยกันได้ ไม่มีปัญหา ต่อข้อถามว่า แต่เรื่องส่วนตัวมันกระทบกับพรรคด้วย ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า สิ่งที่ตนพยายามเน้นย้ำมาตลอดคือ ตนและหัวหน้าพรรคต้องการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพรรค พปชร. ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีปัญหาลักษณะนี้ในพรรค แต่มันไม่มีปัญหาแล้วเมื่อเราหันหน้าคุยกัน ส่วนกรณีของนายวิรัชและ น.ส.ปารีณาเป็นเรื่องส่วนตัว เดี๋ยวจะได้คุยกัน

เมื่อถามว่า จะสามารถเคลียร์ได้หรือไม่ เพราะ น.ส.ปารีณาเป็นตัวของตัวเองสูง ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วทุกคนสามารถหันหน้าคุยกันได้ เมื่อถามว่า เรื่องการฟ้องร้องของทั้งสองคน จะสามารถเคลียร์ได้หรือไม่เพื่อไม่ให้คนในพรรคฟ้องร้องกันเอง ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เดี๋ยวขอหารือกับหัวหน้าพรรคก่อน 

นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงการวางยุทธศาสตร์พรรค พปชร. เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ว่า ตั้งแต่รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคมาได้เรียกแต่ละฝ่ายมาคุยอยู่แล้ว โดยยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดคือ เราจะนำนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ไปสู่ภาคปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน และคิดเรื่องใหม่สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งเรามีทีมต่าง  ไม่ว่าจะเป็นทีมด้านการศึกษา กีฬา เศรษฐกิจ และการเมือง 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะเลขาธิการพรรค มั่นใจหรือไม่ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะชนะเลือกตั้งจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน อย่างการเลือกตั้งเมื่อปี 62 เราได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต 101 เขต และมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก 20 คน โดยมี ส.ส.อยู่ในมือ 121 คน ฉะนั้น การเลือกตั้งครั้งหน้าเราต้องได้มากกว่านี้ 

เมื่อถามว่า ส่วนตัวเป็นห่วงภาคไหนเป็นพิเศษหรือไม่ โดยเฉพาะภาคอีสานจะเจาะได้หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ยังชื่นชม นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่มาตลอดเกือบ 3 ปี มีความมั่นใจว่าตนชนะใจคนรากหญ้าได้ และมั่นใจว่าจะเจาะภาคอีสานได้ สังเกตจากการเลือกตั้งซ่อมหลาย ๆ ครั้งเราก็ได้เข้ามาหมด เมื่อถามว่า สำหรับพื้นที่ภาคใต้จะกวาดได้สักประมาณกี่ที่นั่ง ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า จะทำให้ดีที่สุด ตอนนี้เรามี ส.ส. 14 คน จะทำให้ได้มากที่สุด 

เมื่อถามว่า ที่เคยระบุว่าจะทำให้พรรคเป็นสถาบันการเมืองจะทำได้หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ทำได้ และต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ เมื่อถามว่า การเดินหน้าขณะที่ในพรรคยังมีปัญหาอยู่ จะทำให้สะดุดหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ปัญหาที่เห็นเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่า ไม่เกี่ยวกับนโยบายของพรรค หรือไม่ใช่เรื่องของผู้บริหารพรรคทะเลาะกัน

นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ส.ส.พรรค พปชร. ไม่เข้าร่วมประชุมหลายคนจนทำให้สภาล่ม ว่า ความจริงถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องของโควิด-19 ที่ในสภามีผู้ติดเชื้อ จึงทำให้ ส.ส.หลายคนเป็นห่วง โดยเฉพาะหลายคนเดินทางกลับต่างจังหวัด บางจังหวัดมีเครื่องบินไฟต์เดียวไม่สามารถเดินทางกลับมาร่วมประชุมได้ทัน ที่ผ่านมาพยายามขอร้องกันอยู่ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตกลงปัญหาครั้งนี้เกิดจากการเดินทางมาไม่ทันของ ส.ส. หรือเป็นเรื่องของแท็กติกทางกฎหมายอย่างที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค พปชร. ในฐานะประธานวิปรัฐบาลบอกกันแน่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแท็กติก ตนพยายามประสานกับ ส.ส.ให้มาประชุม หลายคนกลับมาทัน แต่ส่วนใหญ่มาไม่ทัน เพราะ ส.ส.อยู่ไกล 

เมื่อถามว่า มันจะย้อนแย้งหรือไม่ เพราะจากข้อมูลมีจำนวนสมาชิกมากพอจนสามารถเปิดประชุมสภาได้ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า อย่างที่เห็นว่ามันไม่ครบองค์ประชุม หลายคนพยายามเดินทางมา แต่มาไม่ทัน ทั้งนี้ โดยจิตสำนึกของคนเป็น ส.ส.ของประชาชน ไม่มีใครที่คิดอยากจะโดดประชุมสภาหรอก 

เมื่อถามว่า แบบนี้ถือการทำหน้าที่ของประธานวิปรัฐบาลบกพร่องหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่ เพราะนายวิรัชทำหน้าที่ได้ดีมาโดยตลอด และไม่เกี่ยวกับข่าวที่ออกมาว่ากฎหมายฉบับนี้ยังไม่เคลียร์ยังตกลงกันไม่ได้ แต่น่าจะเป็นเรื่องของโควิด-19 มากกว่า เมื่อถามว่า จะมีการคาดโทษ ส.ส.ในพรรคหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่ เพราะเรื่องนี้เราเข้าใจกัน ต่อข้อถามว่า แสดงว่าขึ้นอยู่กับจิตสำนึก ส.ส.ใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนบอกแล้วว่าส่วนใหญ่เขาพยายามมาให้ทัน อย่างเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ก็มาครบหมด 

เมื่อถามว่า ต้องถึงขั้นให้ ส.ส.แสตนบายด์อยู่ใน กทม.หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ปกติทุกวันอังคารจะมีการประชุมพรรคกัน แต่ครั้งนี้ไม่มีประชุมเลยทำให้เกิดปัญหา

นัดถกวิป 4 ฝ่าย 6 ก.ค.นี้ ทบทวนเดินหน้าประชุมสภาฯ ต่อหรือไม่ หากจำเป็นต้องเดินหน้าต่อ ต้องมีความปลอดภัยจากโควิด หวั่นรัฐสภากลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ ขณะที่ ส.ว.นัดประชุมจันทร์ที่ 5 ก.ค.วันเดียว เร่งพิจารณากฎหมายต่อจาก ส.ส.

ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวายงานว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร มอบหมายให้นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง นัดประชุมวิป 4 ฝ่าย ในวันที่ 6 ก.ค. เวลา 10.00 น. ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล วุฒิสภา และตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อหารือและตัดสินใจว่าจะเดินหน้าประชุมสภาฯต่อหรือไม่ ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อไม่ให้รัฐสภากลายเป็นคลัสเตอร์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และหากยังจำเป็นต้องดำเนินการประชุมก็จะต้องมีความปลอดภัย

ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้ตรวจเช็คความพร้อมของห้องประชุมพระจันทรา (ห้องประชุม ส.ว.) เพื่อเตรียมพร้อมการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 5 ก.ค.นี้เพียงวันเดียว เนื่องจากมีร่างกฎหมายที่จะต้องพิจารณาหลังสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้ว เช่น  ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจร ,ประมวลรัษฎากร และร่างพ.ร.บ.หอการค้า ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินที่วุฒิสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

ส่วนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในสัปดาห์หน้า ที่ประชุมยังค้างการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติด่วนที่ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาฯพิจารณาหามาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาและผลกระทบจาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจากการบริหารจัดการของ ศบค. รวมทั้งช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ อย่างเร่งด่วน ซึ่งเบื้องต้นยังจะต้องรอการพิจารณาจากการประชุมวิป 4 ฝ่ายก่อน ว่าจะเดินหน้าการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อระดมข้อเสนอแนะจาก ส.ส. เพื่อเสนอแนวทางต่อรัฐบาลต่อหรือไม่

นอกจากนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ยังได้ชี้แจงกรณีที่มี ส.ส.ตั้งข้อสังเกต ที่รัฐสภายังปล่อยให้แรงงานก่อสร้างต่างชาติ เข้าพื้นที่ทำงานภายในรัฐสภา ทั้งที่มีคำสั่งห้ามจาก ศบค. ว่าปัจจุบันบริษัทผู้รับจ้างในสัญญาต่าง ๆ ได้หยุดการก่อสร้างแล้วทั้งหมด แต่ยังมีส่วนของบริษัทคู่สัญญา ที่ต้องเข้ามาดำเนินการบำรุงรักษาตามสัญญา ทั้งงานปรับปรุงภูมิทัศน์ งานระบบสาธารณูปโภค แอร์ ลิฟท์ ไฟฟ้า และประปา ซึ่งเป็นแรงงานที่มีสัญชาติไทย ไม่ได้อาศัยในแคมป์คนงาน ซึ่งทางสภาฯ มีข้อกำหนดเพื่อป้องกันกาแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มข้น

รมว.แรงงาน ชื่นชม เชิดชูเกียรติ 1,306 สถานประกอบกิจการดีเด่น ด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน ประจำปี 2564

รมว.แรงงาน ชื่นชม เชิดชูเกียรติ 1,306 สถานประกอบกิจการ ที่มีระบบบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานที่ดี ฟันฝ่าอุปสรรควิกฤตโควิด-19 ทำให้สถานประกอบกิจการดำเนินกิจการอยู่ได้ จนได้รับรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน ประจำปี 2564 ตามที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประกาศ

นายสุชาติ  ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้มอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดโครงการส่งเสริมสถานประกอบกิจการให้มีระบบบริหารจัดการที่ดีด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน ประจำปี 2564 ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในการลดปัญหาความขัดแย้งด้านแรงงานที่อาจเกิดขึ้น โดยสนับสนุนให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานในสถานประกอบกิจการ ซึ่งส่งผลให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงและมีความสุขในการทำงาน นายจ้างได้ผลผลิตสูงสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในและต่างประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยในปี 2564 มีการประเมินในเรื่องของความร่วมมือกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

โดยใช้กลไกของสหภาพแรงงานหรือคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานในสถานประกอบกิจการมาดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วย จึงขอชื่นชมและขอยกย่องเชิดชูเกียรติสถานประกอบกิจการที่ผ่านการพิจารณาตัดสินได้รับรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน ประจำปี 2564 ทั้ง 1,306 แห่ง

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ มีสถานประกอบกิจการทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 1,339 แห่ง และผ่านเกณฑ์การพิจารณาได้รับรางวัล จำนวน 1,306 แห่ง โดยแบ่งเป็นประเภทรางวัลเกียรติยศสูงสุด 15-19 ปีติดต่อกัน จำนวน 101 แห่ง รางวัลเกียรติยศ 10-14 ปีติดต่อกัน จำนวน 203 แห่ง รางวัลเชิดชูเกียรติ 5-9 ปีติดต่อกัน จำนวน 431 แห่ง รางวัลระดับประเทศ 1-4 ปี จำนวน 530 แห่ง และรางวัลระดับจังหวัด จำนวน 41 แห่ง ซึ่งสถานประกอบกิจการที่ผ่านเกณฑ์การตัดสินได้รับรางวัลในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะเข้ารับรางวัลในงาน Thailand Labour Management Excellence Award 2021 ที่จะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนกันยายน 2564 สำหรับสถานประกอบกิจการที่ผ่านเกณฑ์การตัดสินได้รับรางวัลในส่วนภูมิภาค กรมจะจัดส่งโล่รางวัลและเกียรติบัตรให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด มอบให้กับสถานประกอบกิจการต่อไป ทั้งนี้สามารถดาวน์โหลดประกาศผลรางวัลฯ ได้ที่ https://www.labour.go.th หรือ http://relation.labour.go.th

พล.อ.ประวิตร เร่งช่วยเหลือ ผู้ยากไร้/เกษตรกร ติดตามผลแก้ปัญหา ที่ดินทำกิน/แหล่งน้ำ/หนี้สิน SET ZERO เช่าซื้อที่ดินเป็นเช่า ลดความเดือดร้อน มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ ย้ำไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกประจำรอง นรม. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการแก้ไขปัญหา ของสภาเครือข่ายประชาชนอีสาน (สอส.) และสภาประชาชน 4 ภาค ครั้งที่ 1/2564 โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.กษ. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

ที่ประชุม ได้รับทราบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่ดิน และป่าไม้ กรณีการจัดหาที่ดิน เพื่อนำมาจัดสรรให้กับสมาชิกเครือข่ายฯ ซึ่งมีความคืบหน้า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ ว่ามีพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม หรือที่สาธารณะที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ เพื่อพิจารณาจัดหาที่ดินแปลงใหม่ให้กับสมาชิกฯ ที่ยังไม่มีที่ทำกิน และรับทราบการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร

กรณีข้อเรียกร้องขอให้ชะลอการดำเนินคดี ซึ่งสถาบันเจ้าหนี้ได้ให้ความช่วยเหลือในระดับหนึ่งแล้ว ตามมาตรการของรัฐที่มีอยู่ รวมทั้งได้รับทราบ การส่งเสริมและฟื้นฟูอาชีพภาคเกษตร ซึ่งกลุ่มเกษตรกร ภาคเครือข่ายฯ ได้เสนอโครงการฟื้นฟูอาชีพตามหลัก เกษตรทฤษฎีใหม่โดยผสมผสานหลักเศรษฐกิจพอเพียง

จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ เรื่องสำคัญ ได้แก่การแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำตามข้อเสนอของ สมาชิกสภาเครือข่ายฯ ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เนื้อที่ 15,092ไร่ ในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ลพบุรี,จ.นครราชสีมา และ จ.เพชรบุรี จำนวน 9 โครงการ วงเงิน 75,118,141 บาท

พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวย้ำว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ ต่อการแก้ไขปัญหา ความยากจน และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จากปัญหาที่ดินทำกิน, หนี้สิน, แหล่งน้ำ และการส่งเสริมฟื้นฟูอาชีพ มาอย่างต่อเนื่อง โดยยืนยันว่า จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเป็นอันขาด พร้อมทั้ง ได้กำชับ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ และพี่น้องเกษตรกรอย่างจริงจังโดยเร็ว ภายใต้กรอบของกฎหมาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน พร้อมต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบด้วย

“บิ๊กตู่” ห่วงโควิดยอดพุ่งกำชับเร่งนำผู้ป่วยทุกระดับสีเข้ารับการรักษาพยาบาล “ย้ำ” ปชช.เข้มข้นสูงสุด

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลตามปกติ โดยตลอดช่วงเช้าไม่มีภารกิจทางการ และมีกำหนดให้ นายปีร์กะ ตาปีโอละ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เข้าพบนายกรัฐมนตรี ในโอกาสพ้นหน้าที่

ขณะที่นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใย และติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และติดตามรายงานการป่วยและศักยภาพการรักษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งพบว่ามีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในบางวันมีตัวเลขผู้ป่วยสูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการคัดกรองเชิงรุกในแต่ละคลัสเตอร์ และในแต่ละพื้นที่เสี่ยง เพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อเข้าออกจากกลุ่มก้อนและชุมชนให้เร็วและมากที่สุด

“นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เร่งนำผู้ป่วยในทุกระดับสีเข้ารับการรักษาพยาบาลให้เร็วที่สุด โดยทุกส่วนราชการเข้ามามีส่วนร่วมช่วยงานสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด และขอให้ประชาชนร่วมมือตามมาตรการที่ ศบค. กำหนดที่ได้ประกาศให้ประชาชนทราบในแต่ละช่วง เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ในระดับเข้มข้นสูงสุด และขอให้ประชาชนยังคงใช้ชีวิตแบบ New normal คือ D-M-H-T-T คือ หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ สแกนไทยชนะ รวมทั้ง ช่วยกันป้องกัน ดูแล และรักษาสุขภาพร่างกาย จิตใจให้แข็งแรง ป้องกันตนเอง ดูแลสมาชิกในครอบครัว ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายอนุชา กล่าวถึงการประสานหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า แต่ละหน่วยงานราชการต่าง ๆ ได้มีการประสานเพิ่มเติมเรื่องเตียงสนามเพื่อรับผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาตามระดับเกณฑ์สีต่าง ๆ อย่างเหมาะสม รวมถึงการส่งผู้ป่วยเข้าสู่โรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งได้มีการขยายจำนวนเตียงเพิ่มเติมเพื่อรองรับผู้ป่วยเกณฑ์สีเหลืองและสีแดง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือประชาชนหลีกเลี่ยงการชุมนุม และยืนยันรัฐบาลติดตาม และแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตลอดเวลา ดูแลทุกกลุ่ม และพร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเรียกร้อง ซึ่งสามารถเสนอมายังรัฐบาลผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่เปิดกว้างให้ประชาชนเข้าถึงได้ อย่างสะดวก

ที่ปรึกษาศบค. แนะ ให้ตั้งความหวังอยู่บนพื้นฐานที่เป็นจริง เพราะโควิดจะอยู่กับเราจนถึงอย่างน้อยปีหน้า

2 ก.ค. 64 ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ตั้งความหวังที่เป็นจริง

เราทุกคน หวังว่าโควิดจะหายไปจากโลกนี้

หวังว่าเราจะได้กลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม เหมือนก่อนโควิด

แต่ความเป็นจริงคือ

- โควิด จะอยู่กับเราต่อไปจนถึงอย่างน้อยปีหน้า และต่อ ๆ ไปก็จะยังกลับมาเรื่อย ๆ แม้ว่าอาจจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว ก็ยังไม่มีอะไรรับประกันได้

- การที่เราจะใช้มาตรการกดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดลง อาจตามมาด้วยความทุกข์เข็ญของปากท้องของผู้คนจำนวนมากเช่นกัน แต่ถ้าให้เสรีภาพในการทำมาหากินตามปกติ ก็จะเกิดความเสี่ยงต่อการรวมตัวและแพร่ระบาดอีก

- นับจนถึงวันนี้ ยังไม่มีประเทศไหนที่ได้กลับไปใช้ชีวิตเหมือนก่อนโควิดจริง ๆ เลยแม้แต่ประเทศเดียว ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนไปเท่าไหร่ก็ตาม จะมีก็แค่ช่วงสั้น ๆ เท่านั้น

ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ และควรทำ อาจเริ่มต้นจากการ set expectation หรือตั้งความหวังที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เช่น

- ยอมรับว่าเราต้องอยู่ร่วมกับโควิดไปอีกอย่างน้อยหนึ่งปี หรือนานกว่านั้น คงไม่ต้องรอว่าเมื่อไหร่เราจะได้กลับมาทำอะไรเหมือนเดิม แต่คิดล่วงหน้าไปเลยว่าเราจะทำอย่างไร เปลี่ยนแปลงตัวอย่างไร เพื่อให้อยู่กับโควิดให้ได้ และหวังว่าสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงนั้น จะทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยได้

- รับรู้ว่าสงครามครั้งนี้มีศึกสองด้าน คือสุขภาพกับเศรษฐกิจ ถ้าเลือกดูแลด้านหนึ่งเป็นพิเศษ อีกด้านก็จะแย่ ประเทศส่วนใหญ่ ในช่วงแรกก็จะเน้นสุขภาพ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สุดท้ายก็ต้องกลับมาสู่ทางสายกลาง ซึ่งไม่มีทางที่จะกดยอดให้ต่ำมาก ๆ ได้ เพราะว่าจะเปิดช่องให้ทำมาหากิน ดำเนินชีวิตกันไปเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น ความหวังของเราคือ การสามารถอยู่ร่วมกับโควิดไปได้โดยไม่มีความเสี่ยงมากเกินไป โดยที่ยังทำมาหากิน ใช้ชีวิตตามเดิมได้เท่าที่จะทำได้ บวกกับการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่มาจากการปรับตัวของเรา

- รับรู้ว่ายอดผู้ติดเชื้อ เป็นระลอก มีขึ้นมีลง ขาขึ้นจะดูน่ากลัว เราก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังตัวสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ไม่ว่ายอดจะขึ้นไปสูงอย่างไร ก็จะต้องมีจุดที่ตกลงมา เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศ ความหวังของเรา คือ ทำอย่างไรให้การระบาดนั้นสั้นที่สุด ผู้เสียชีวิตน้อยที่สุด (ซึ่งเป็นเหตุผลที่จำเป็นต้องให้คนแก่และกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด)

- รับรู้ว่าในวิกฤต จะมีความวุ่นวายสับสน เหมือนในภาวะสงคราม โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลข่าวสาร และก็ไม่ใช่ทุกสื่อมวลชนที่จะเป็นที่พึ่งได้ แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะคาดหวังว่าการสื่อสารจะต้องเป็นไปในทางเดียวกันทั้งหมด ตราบใดที่ทุกคนจะพูดจะเขียนอะไร ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ ก็มีช่องทางให้ทำได้ทั้งสิ้น หรือจะหวังให้ทุกสื่อทุกคนสื่อสารด้วยจริยธรรมก็คงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

ดังนั้น นอกจากเราควรจะคาดหวังข้อมูลที่ดี มีประโยชน์จากทางการแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญก็คือที่แต่ละคนควรจะหวังพึ่ง ก็คือสติของเราเองในการแยกแยะข้อมูลข่าวสารที่ท่วมท้นในทุก ๆ วัน ไม่เช่นนั้นเราก็จะตกเป็นเหยื่อเองได้

เรื่องมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ เป็นสิ่งที่เราทุกคนในฐานะประชาชนมีสิทธิเรียกร้องและแสดงความคิดเห็น ซึ่งผมก็เชื่อว่าสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ คงไม่มีประเทศไหน ต้องการให้เกิดความเสียหายหรือใครเสียชีวิต และอยากจะแก้ปัญหาให้ดีที่สุด ซึ่งก็คงไม่สามารถจะเป็นที่พอใจของทุกคนได้ และก็คงไม่มีประเทศไหนที่สามารถดูแลทุกคนได้ทุกวันตลอดไป

แต่อย่างน้อย ถ้าเราเริ่มต้นจากการตั้งความหวังที่เป็นจริง เราอาจจะเริ่มมองว่า เป้าหมายของเรา ไม่ใช่การกลับไปสู่อดีตที่เคยทำ เพราะมันอาจจะเป็นไปไม่ได้ แต่อาจจะเป็น การยอมรับความจริงว่าชีวิตของเราคงไม่ได้กลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว และเราจะทำอย่างไรให้มันดีที่สุด

ขอเป็นกำลังใจให้กับทุก ๆ ท่านครับ

 

 

ที่มา : https://www.facebook.com/warat.karuchit


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“หมอมารุต” เชื่อศบค.ทำดีอยู่แล้ว ถ้าไม่มีจะเละเทะกว่านี้ ชี้ เปิดสถานบันเทิง-ร้านอาหาร ต้องคิดว่าคุ้มหรือไม่

นพ.มารุต มัสยวาณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี 5 ส.ส.ตัวแทนพรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาจำนวน 6 ญัตติ เพื่อให้สภาฯ พิจารณามาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 และจากการบริหารของ ศบค. รวมถึง เสนอให้ยุบศบค. เพื่อกลับมาสู่กลไกลปกติ ไม่ให้มีรัฐซ้อนรัฐ ว่า ในสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่เหมาะที่จะยุบศบค. เพราะศบค.เปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางที่จะควบคุมและประสานงาน ตนมองว่าทางกระทรวงสาธารณสุขควรมีการประสานงานเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นกับทางการป้องกันชายแดน สภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อป้องกันการลักลอบเข้ามาเพิ่มเชื้อ ถ้าไม่มี ศบค. จะเละเทะมากกว่านี้  

เมื่อถามต่อว่า ภาพรวมการจัดการของ ศบค.ล้มเหลวตามที่ 5 ส.ส.ตัวแทนพรรคออกมากล่าวหรือไม่ นพ.มารุต กล่าวว่า การจัดการของ ศบค. ดีอยู่แล้ว ไม่ใช่ไม่ดี เพียงแต่ว่ามีกลุ่มคนที่เดือดร้อนออกมาเรียกร้อง เช่น กลุ่มอาชีพธุรกิจกลางคืนที่ออกมาเรียกร้องให้เปิดสถานบันเทิง ซึ่งในมุมนี้ต้องกลับมาคิดว่า คุ้มหรือไม่ในการเปิดสถานบันเทิงต่างๆ เพราะสถานบันเทิงถือเป็นตัวแหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 ส่วนกรณีร้านอาหารก็ต้องพิจารณาตามขั้นตอนว่า เมื่อไม่ให้นั่งทานในร้านจะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงหรือไม่ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top