Friday, 23 May 2025
NewsFeed

จับตาประชุมกลุ่ม BRICS ร่วมประเทศพันธมิตร 34 ประเทศ กลุ่มมหาอำนาจใหม่ท่ามกลางความขัดแย้งสองซีกโลกในทุกมิติ

(24 ต.ค. 67) ในสัปดาห์นี้กำลังมีการประชุมใหญ่ในสองซีกโลกที่สะท้อนให้เห็นถึง 'การแบ่งขั้ว' ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้นในยุคปัจจุบัน กับการประชุม BRICS และ IMF-World Bank

ฝั่ง 'สหรัฐ' เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่ทยอยเรียกความสนใจไปแล้วตั้งแต่การออกรายงานหนี้สาธารณะทั่วโลกที่พุ่งทะลุ 100 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก มาจนถึงการออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดเดือน ต.ค. ที่เตือนเรื่องความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และการกีดกันทางการค้าซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนในฝั่ง 'รัสเซีย' จะเปิดบ้านในเมืองคาซาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ จัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ 'บริกส์' (BRICS) ที่มีสมาชิกดั้งเดิม 4+1 ประเทศคือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ และผู้นำ/ผู้แทนจาก 34 ประเทศเข้าร่วมระหว่างวันที่ 22 - 24 ต.ค. โดยมีไฮไลต์ที่การเข้าร่วมประชุมครั้งแรกของเหล่า 'สมาชิกใหม่' 5 ประเทศ และการสะท้อนนัยยะทางการเมืองครั้งสำคัญของรัสเซียภายใต้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน

อัสลี อัยดินทัสบาส ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศจากตุรกี กล่าวกับสถาบันคลังสมองบรูกกิงส์ในสหรัฐว่า ภายหลังสงครามในฉนวนกาซา (ซึ่งสหรัฐส่งอาวุธไปให้กับอิสราเอล) รัสเซียและจีนได้ใช้ประโยชน์จากความรู้สึกต่อต้านตะวันตกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาศัยความผิดหวังจากการกระทำสองมาตรฐานของตะวันตก รวมถึงความไม่พอใจจากคว่ำบาตรและบีบบังคับทางเศรษฐกิจของตะวันตก 

"เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มประเทศตรงกลางจะแปรพักตร์จากอิทธิพลของสหรัฐไปซบจีนแทน แต่ประเทศเหล่านี้กำลังเปิดใจให้จีนและรัสเซียมากขึ้น เพื่อให้โลกมีอิสระและกระจายขั้วอำนาจมากขึ้น"

>>> จับตาสมาชิกใหม่ BRICS+

ขณะที่ซีเอ็นบีซีรายงานว่า รัสเซียพยายามใช้วาทกรรมการรวมกลุ่มของประเทศซีกโลกใต้ (Global South) ในเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา เพื่อต่อกรท้าทายระเบียบโลกใหม่กับซีกโลกเหนือที่นำโดยสหรัฐ ซึ่งจะเป็นวาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ตัวปูตินเองได้เปรยเอาไว้เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า การขยายสมาชิกกลุ่มบริกส์เป็น 'ตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มและบทบาทในกิจการระหว่างประเทศ' พร้อมส่งสัญญาณว่าเขาตั้งใจที่จะนำเสนอรูปแบบการรวมกลุ่มที่เรียกว่า 'BRICS+' (บริกส์พลัส) เพื่อท้าทายตะวันตกทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ

ปูตินจะใช้วันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์ 10 ประเทศ จัดการประชุมคู่ขนาน BRICS and Outreach หรือ BRICS Plus ควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่จากประเทศต่างๆ ในเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกาเกือบ 40 ประเทศเข้าร่วม และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของกลุ่มในการขยายความสัมพันธ์กับประเทศในซีกโลกใต้

"ประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์กำลังกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และในอนาคตอันใกล้นี้ เศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์จะเป็นกลไกหลักในการเพิ่ม GDP โลก และเศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์จะเป็นอิสระจากอิทธิพลภายนอกมากขึ้น" ปูตินกล่าวในการประชุมภาคธุรกิจกลุ่มบริกส์เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว

นอกจากผู้นำของกลุ่มประเทศก่อตั้ง 5 ประเทศ ยกเว้นเพียงบราซิลที่ส่งผู้แทนมาร่วมประชุมเนื่องจากประธานาธิบดี ลูลา ดา ซิลวา ประสบอุบัติเหตุ ผู้นำของ 5 ประเทศสมาชิกใหม่ต่างมาร่วมประชุมบริกส์อย่างคึกคัก อาทิ ประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ยูเออี) อิหร่าน อียิปต์ และเอธิโอเปีย ส่วนซาอุดีอาระเบียส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมแทน 

นอกจากนี้ยังมีผู้นำประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมด้วย อาทิ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และแม้แต่อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ส่วน 3 ประเทศที่แสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศบริกส์ไปแล้ว ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และตุรกีนั้นมีรายงานว่าประธานาธิบดีเรย์เซบ เตย์ยิป เออร์ดวน ของตุรกี รัฐมนตรีเศรษฐกิจของมาเลเซีย ราฟิซี รัมลี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ จะเข้าร่วมการประชุมด้วย

ทิโมธี แอช นักวิชาการในโครงการรัสเซียและยูเรเซียของสถาบันชัทแธมเฮ้าส์ในลอนดอน กล่าวว่าในฉากหลังนั้น ปูตินกำลังคาดหวังถึงชัยชนะด้านการประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่เหนือยูเครนและตะวันตก โดยพยายามส่งสารว่า แม้จะมีสงครามและถูกคว่ำบาตรจากตะวันตก แต่รัสเซียก็ยังคงมีพันธมิตรระหว่างประเทศจำนวนมากที่เต็มใจจะคบค้าและค้าขายด้วยกับรัสเซีย

ทั้งนี้หลังจากที่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเปิดฉากขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในเดือนก.พ. 2565 รัสเซีย ปูติน และบรรดาแกนนำในรัฐบาลต่างก็ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และบรรดาประเทศพันธมิตร เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหราชอาณาจักรต่างออกมาตรการคว่ำบาตรธุรกิจพลังงาน ธนาคาร และกลาโหมของรัสเซีย ท่ามกลางแรงกดดันให้ประเทศอื่นๆ คว่ำบาตรรัสเซียตามมาหลังจากนั้น 

ไม่เพียงแต่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเท่านั้น ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในกรุงเฮกได้อนุมัติการออกหมายจับปูตินในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามเมื่อปี 2566 ทำให้ผู้นำรัสเซียไม่สามารถเดินทางไปประเทศที่มีธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศได้ และเคยต้องงดการไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำประเทศบริกส์ครั้งก่อนที่แอฟริกาใต้มาแล้ว และงดเข้าร่วมแม้แต่การประชุมจี20 ในปีที่แล้วที่ประเทศอินเดีย แม้จะไม่มีข้อตกลงกับ ICC ก็ตาม 

"การประชุมสุดยอดที่คาซานมีความสำคัญทั้งในเชิงสัญลักษณ์และเชิงปฏิบัติต่อระบอบการปกครองของปูติน" แองเจลา สเตส่วนนต์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายูเรเซีย รัสเซีย และยุโรปตะวันออกแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวกับสถาบันบรูกกิงส์ "การประชุมสุดยอดครั้งนี้จะแสดงให้เห็นว่า รัสเซียไม่ได้โดดเดี่ยวเพียงลำพัง แต่ยังมีพันธมิตรที่สำคัญ เช่น อินเดีย จีน และประเทศตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญๆ"

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ตอกย้ำให้เห็นภาพนี้ด้วยการจับมือกับปูตินอย่างแน่นแฟ้นในงานและส่งสารอย่างชัดเจนถึงการรวมกลุ่มครั้งนี้ว่า ความร่วมมือในกลุ่มบริกส์เป็น "เวทีสำคัญที่สุดสำหรับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและร่วมมือกันระหว่างประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในโลกวันนี้ เป็น “พลังหลักในการส่งเสริมให้เกิดการตระหนักรู้ถึงโลกหลากขั้วอย่างเท่าเทียมและเป็นระเบียบ รวมถึงโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและอดกลั้น”

‘ทูตนริศโรจน์’ เคลียร์ปมสงสัยทุกประเด็น กรณี ‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ ช้างไทยที่เคยอยู่ในศรีลังกา

(24 ต.ค. 67) นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย  โพสต์เฟซบุ๊ก   Fuangrabil Narisroj  ระบุข้อความว่า

มีเพื่อนบางคนถามเรื่องพลายศักดิ์สุรินทร์ที่คุณหนูนาได้นำกลับมารักษาที่เมืองไทยว่าแตกต่างจาก กลุ่มขบวนการทวงช้างคืนจากศรีลังกาอย่างไร

ผมขออธิบายสรุปคร่าวๆ ดังนี้

1.ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ช้างที่ไทยเราเคยมอบให้ศรีลังกา เป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศ เป็นการมอบให้แบบ G2G ช้างที่มอบให้ศรีลังกาไปแล้ว ศรีลังกามีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์

2.กรณีพลายศักดิ์สุรินทร์ เนื่องจากควาญที่ดูแลพลายศักดิ์สุรินทร์มาตั้งแต่แรกเสียชีวิต และพลายศักดิ์สุรินทร์ป่วยไม่สบาย ทางไทย (โดยคุณหนูนาและคุณท๊อป) ก็ได้ขออนุญาตต่อทางการศรีลังกา ขอรับพลายศักดิ์สุรินทร์มาทำการรักษาพยาบาลที่ไทย 

3.สถานที่รักษาพยาบาลก็คือ สถาบันคชบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งก็เป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศ ที่หากมีการรับส่งช้างก็ต้องดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐเป็นผู้รับ (แบบ G2G) ไม่ใช่ส่งคืนให้ “มูลนิธิ” ของเอกชน ! 

4.การดำเนินการขอรับพลายศักดิ์สุรินทร์มารักษาที่ไทย ไม่ใช่การทวงคืนช้างจากศรีลังกา ซึ่งกรณีนี้ทางการศรีลังกาก็ยังแสดงสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของโดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อรักษาเสร็จแล้ว ขอรับพลายศักดิ์สุรินทร์กลับคืนศรีลังกาต่อไป

5.ในหลวง ร.10 เมื่อทรงทราบเรื่องก็ได้พระราชทานความช่วยเหลือรับพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และตรงนี้เองที่เราได้ใช้อ้างกับทางศรีลังกาในการรักษาพยาบาลพลายศักดิ์สุรินทร์ไปเรื่อยๆโดยไม่มีกำหนด

6.ส่วนกรณีที่เกิดกลุ่มขบวนการทวงช้างคืนจากศรีลังกานั้น เมื่อเห็นการนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมาไทยได้ ก็เลยต้องการเลียนแบบ เปิดประเด็นว่าพลายประตูผา กับ พลายศรีณรงค์ ได้รับการปฏิบัติไม่ดี มีการทรมานใช้ออกงาน เลยไปทำแคมเปญทวงคืนช้างไทย โดยมีมูลนิธิหนึ่งเป็นตัวตั้งตัวตี มีนักการเมืองพรรคนึงสนับสนุน นัยว่าจะทวงคืนช้างมาไว้ที่มูลนิธิ 

7.มีการปั่นข้อมูลบิดเบือน จับแพะชนแกะ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการทวงคืนช้าง โดยไม่สนใจว่าจะกระทบต่อมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนเกิดกรณีลุกลามมีชาวศรีลังกาบางส่วนไม่พอใจต่อกลุ่มขบวนการทวงช้างคืน จนกลายเป็นวิวาทะระหว่างประเทศ ชาวศรีลังกาบางส่วนออกมาแอนตี้ต่อต้าน

8.ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเช่น สถานทูตไทยที่ศรีลังกาก็ได้พยายามอธิบายเหตุผลและขั้นตอนต่างๆต่อกลุ่มขบวนการทวงคืนช้างตามนัยของข้อ 1-4 ข้างต้นแล้ว แต่ทางกลุ่มก็ไม่ยอมรับฟัง และไม่หยุดดำเนินการ

9.ทางสถานทูตไทยได้ร่วมกับสัตวแพทย์ทั้งไทยและศรีลังกาไปตรวจสุขภาพพลายประตูผา และพลายศรีณรงค์ก็พบว่าตัวนึงสุขภาพเกินกว่ามาตรฐาน และอีกตัวนึงมีปัญหาสุขภาพบ้างตามอายุขัย แต่อยู่ในการควบคุมดูแลได้ และพลายทั้งสองเชือกยังมีควาญที่เลี้ยงมาแต่แรกดูแลอยู่

10.สรุปอีกที กรณีพลายศักดิ์สุรินทร์ ไม่ใช่การทวงช้างคืน แต่เป็นการขอรับพลายศักดิ์สุรินทร์มารักษาที่ไทย ซึ่งได้รับการอนุมัติจากทางการศรีลังกาให้ดำเนินการได้ ส่วนกรณีของกลุ่มขบวนการทวงช้างคืนนั้น เป็นการอ้างว่าขอเอาช้างที่มอบให้ศรีลังกาไปแล้วกลับคืนเพื่อเอามาไว้ที่มูลนิธิของเอกชน แต่ทางการศรีลังกาไม่อนุมัติ

ตลาด E-Commerce จีนแข่งกันเดือด งัดกลยุทธ์ ‘คืนเงินโดยไม่ต้องคืนสินค้า’

(24 ต.ค. 67) นายชาคริต จันทร์รุ่งสกุล Founder & CEO บริษัท Fire One One ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงสถานการณ์การแข่งขันในตลาด E-Commerce จีน ว่า

เมื่อชะลอตัว จีนก็แข่งกันเดือด Pinduoduo - อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่ใช้กำลังซื้อมหาศาลมาซื้อของสต็อกเพื่อให้ได้ราคาถูกมาก ๆ (เจ้าของ TEMU) เปิดเกมส์เมื่อเดือนสิงหาคมให้ลูกค้าที่ไม่พอใจสินค้าขอ Refund ได้โดยไม่ต้องส่งของคืน ... เล่นเอาทั้งคู่แข่งและหน่วยงานรัฐเต้นทันที

Taobao บริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่อีกราย หนึ่งในธุรกิจหลักของอาลีบาบา ส่งกระดาษโน้ตไปในทุกแพ็กเกจเพื่อประกาศว่า "เราไม่มีนโยบาย No-return Refund ถ้าคุณจะขอเงินคืนแต่ไม่คืนสินค้ากลับมา เราจะดำเนินคดีทันที" ... เนื่องจากเดือนที่ผ่านมาพวกเขาเจอการขอ Refund มากผิดปกติ (ตัวเลขจาก Nikkei คือเจอลูกค้าของเงินคืนแบบไม่ส่งของกลับมาราว 400,000 ครั้ง) ... พวกเขามองว่านี่เป็นการตัดขาคู่แข่งเพราะ Taobao ต้องชดใช้ให้ผู้ขายถึง 300 ล้านหยวนในช่วงเวลาดังกล่าว

หน่วยงานรัฐมองว่า Pinduoduo กำลังสร้างพฤติกรรมไม่ดีให้กับลูกค้าที่ไม่พอใจก็ขอเงินคืนได้ตลอดเวลา จะทำให้เกิดการซื้อแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ขึ้นมา ... แต่แน่นอนว่าถูกใจผู้บริโภค แต่จะไม่เป็นผลดีกับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในระยะยาว

Pinduoduo แย้งว่าพวกเขาไม่ใช่รายแรกที่ทำ (Amazon ก็ทำในสินค้าบาง Segments ที่ราคาถูกมาก ๆ จนไม่คุ้มต่อค่าส่ง) 

ผู้ขายก็ได้เงินคืนละครับแต่ว่ามันจะไม่ดีกับพวกเขา เช่นผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ขายตัวเดียวกันทั้งใน Pinduoduo และใน Taobao มียอดขอคืนเพิ่มขึ้นในแพลตฟอร์มแรก มากกว่าทั้งปีที่เธอขายมาเมื่อปีที่แล้วทั้งที่สินค้าเป็นตัวเดิม ... "ลูกค้าแค่บอกว่าสินค้าของเราไม่ดี เลยขอเงินคืน สกอร์ของเราจะเป็นยังไง? ลูกค้าก็เอาไปใช้ใช่ไหม? แล้วจะทำยังไงถ้าเราเจอการสั่งซื้อสินค้าเดิมแล้วทำแบบเดิมอีกรอบ"

หน่วยงานรัฐเจอพฤติกรรม "เปิดกลุ่มสอน" เริ่มจากการขอรีฟันด์อย่างถูกต้องโดยระบุว่าสินค้าประเภทไหนจากผู้ค้ารายไหนต้องแจ้งยังไง ตอนนี้กลายเป็นการสอนอย่างเป็นระบบว่าจะใช้ของฟรีกันในแต่ละวันอย่างไร

ความขัดแย้งจะเริ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอนครับ

แจ้งจับ!! ‘เมียบิ๊กตำรวจดัง’ ย่องลักทรัพย์ในคอนโด ด้าน ‘ผบช.สพฐ.’ รุดคุมเก็บหลักฐานด้วยตัวเอง

อาจารย์พิเศษโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แจ้งความ สน.พระโขนง ให้ดำเนินคดี 'ศิรินัดดา หักพาล' ภรรยา 'บิ๊กโจ๊ก' ลักทรัพย์ในคอนโด ซ.สุขุมวิท 101 หลานเห็นกับตาใช้กุญแจ-คีย์การ์ดเปิดห้องเข้าไป ขณะที่ ‘พล.ต.ท.ไตรรงค์’ ลงพื้นที่คุมเก็บหลักฐาน มัดตัวคนผิดด้วยตัวเอง 

มีรายงานว่า ในเอกสารรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง ได้มีการบันทึกลงวันที่ 20 ตุลาคม โดยมีความตอนหนึ่งสรุปว่า สถานที่เกิดเหตุ กรีนคอนโด ซอยสุขุมวิท 101 เขตพระโขนง กรุงเทพ นางสาวธณัฎฐา ยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้เดินทางมายัง สน.พระโขนง แจ้งว่า ก่อนเกิดเหตุตนเองและนายภีมพจน์ น้อมชอบพิทักษ์ สามี ซึ่งพักอาศัยที่คอนโดมิเนียมแห่งนี้เป็นประจำ ต่อมาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม เวลาประมาณ 14.00 น.ได้ใช้ให้นายพงษ์พัฒน์ วรเกตุ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลาน เข้ามาเอาของที่ห้องพัก เมื่อเดินทางมาถึงและออกจากลิฟต์ชั้น 7 แล้วได้สังเกตเห็นนางศิรินัดดา หักพาล ผู้ต้องหาในคดีนี้ ใช้กุญแจและคีย์การ์ดเข้าไปในห้องดังกล่าว สามีและหลานจึงได้โทรศัพท์เรื่องดังกล่าวให้กับตนเองได้ทราบ ตนเองจึงรีบเดินทางมาจากนครปฐมและเข้าไปยังห้องพักและเข้าตรวจสอบทรัพย์ที่ได้เก็บไว้ในลิ้นชักในตู้เสื้อผ้าภายในห้องดังกล่าว (ตามบัญชีทรัพย์สินถูกประทุษร้าย) ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ตนเองและสามี ซื้อร่วมกันเพื่อจะเอาไว้ในงานแต่งงานระหว่างตนเองกับสามี

โดยในเอกสารได้มีการลงนามบันทึกโดย ส.ต.อ.จิรัฏฐ์ ธันย์ปวัฒน์ และ พ.ต.ท.สิทธิเดช หาญจริง พนักงานสอบสวน

โดยผู้เสียหายได้ให้ข้อมูลรายละเอียดกับตำรวจว่า ตนและสามีพักอาศัยอยู่ที่คอนโดฯแห่งนี้ แต่ตอนนี้ได้ย้ายไปพักย่านพุทธมณฑล เนื่องจากทำงานที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ส่วนสามีจะไปพักที่คอนโดฯแห่งนี้เป็นประจำ

ต่อมาเวลาประมาณ 14.00 น. วันที่ 18 ส.ค. ตนทราบว่าภรรยานายตำรวจยศคนดังได้ใช้คีย์การ์ดเปิดเข้าไปในห้องที่คอนโดฯ จึงเดินทางไปที่คอนโดฯ พบว่าทรัพย์สินที่เก็บไว้ในลิ้นชักตู้เสื้อผ้าทั้ง 6 รายการได้หายไป รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท โดยเป็นทรัพย์สินที่ตนและสามีจัดซื้อมาเพื่อเตรียมใช้ในงานแต่งงาน หลังเกิดเหตุได้ติดต่อทวงถามโดยตลอด แต่ไม่สามารถติดต่อภรรยานายตำรวจยศนายพลคนดังได้ จึงตัดสินใจเข้าแจ้งความ

ผู้สื่อข่าวสอบถาม พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ ประดับไทย ผกก.สน.พระโขนง ถึงกรณีดังกล่าว ซึ่ง ผกก.สน.พระโขนง ระบุว่า มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความเรื่องนี้จริง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. แต่ผู้เสียหายเข้าแจ้งความในวันที่ 20 ต.ค. นอกจากนี้ผู้เสียหายได้ไปออกรายการทีวีดังและพูดถึงประเด็นนี้ ซึ่งรายละเอียดความเสียหายที่ผู้เสียหายเคยให้ไว้กับตำรวจในวันแจ้งความ มีข้อมูลน้อยกว่าที่ไปพูดในรายการดังกล่าว ตอนนี้ตำรวจได้ติดต่อผู้เสียหายเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว แต่ผู้เสียหายยังไม่ได้เข้าไปให้การเพิ่มเติม หลังจากนี้หากเข้าให้การแล้วจะเรียกตัวพยานในเหตุการณ์มาสอบปากคำเพิ่มเติมด้วย แต่ก็ต้องตรวจสอบก่อนว่ามีพยานในเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ ส่วนการเรียกผู้ถูกกล่าวหามาสอบปากคำจะต้องเป็นขั้นตอนหลังจากสอบผู้เสียหายเสร็จแล้ว เบื้องต้นตำรวจได้เก็บข้อมูลกล้องวงจรปิดในห้องพักไปตรวจสอบแล้ว

ต่อมาเมื่อเวลา 16.00 น.วันเดียวกัน พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร. พร้อมเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน เข้าพบ พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ ประดับไทย ผกก.สน.พระโขนง และได้เชิญตัว น.ส.ธณัฏฐา ผู้เสียหายเข้ามาสอบปากคำเพิ่มเติมกรณีทรัพย์สินที่สูญหายไปรวมมูลค่าเกือบ 6 ล้านบาท และยังได้นำของกลางที่ผู้ถูกกล่าวหาทิ้งไว้ในห้องที่เกิดเหตุเลขที่ 8/125 ชั้น 7 ของคอนโดฯ ซอยสุขุมวิท 101 แขวงบางจาก เขตพระโขนง เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ประกอบด้วย นาฬิกาปาเต๊ะ ฟิลิปส์ 2 เรือน กระเป๋าสะพาย และเอกสารต่างๆของผู้ถูกกล่าวหาอีกหลายรายการ

น.ส.ธณัฏฐา แจ้งว่า ก่อนเกิดเหตุตน และสามี ซึ่งพักอาศัยอยู่ที่ ชั้น 7 ของคอนโดมิเนียมดังกล่าว ต่อมาตนและสามีย้ายไปพักอาศัยอยู่ที่ไอคอนโดฯ ต.พุทธมณฑล อ.ศาลายา จ.นครปฐม เนื่องจากประกอบอาชีพรับจ้าง เป็นอาจารย์พิเศษอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จ.นครปฐม และสามีก็ทำงานรับราชการอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจเช่นกัน โดยตนและสามีได้มาพักผ่อนที่ห้องเกิดเหตุอยู่เป็นประจำ

ต่อมา ในวันที่ 18 ส.ค. เวลาประมาณ 14.00 น. ตนได้ใช้ให้หลานชาย เข้ามาเอาของที่ห้องพัก คอนโด ซอยสุขุมวิท 101 เมื่อหลานเดินทางมาถึงคอนโดและได้ขึ้นลิฟท์ไปบนชั้น 7 เมื่อออกจากลิฟท์แล้ว ได้สังเกตเห็นผู้ต้องหาในคดีนี้ ใช้กุญแจและคีย์การ์ดเปิดเข้าไปในห้องพักของตนและสามี หลานชายจึงได้โทรศัพท์แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ทราบ ซึ่งขณะนั้นตนพักอยู่ที่ จ.นครปฐม จึงได้รีบเดินทางมาที่ห้องเกิดเหตุ ถึงห้องในเวลาประมาณ 16.00 น. เข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินที่ได้เก็บไว้ในลิ้นชักในตู้เสื้อผ้าประกอบด้วย ทองคำประเภทต่างๆ น้ำหนักรวม 120 บาท เงินสดอีก 6 แสนบาท รวมมูลค่าประมาณ 5.7 ล้านบาท ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ตนและสามีซื้อร่วมกันเพื่อจะเอาไว้ใช้ในงานแต่งงาน ในเดือน ก.พ.2568 แต่ได้จดทะเบียนสมรสกันในเดือน พ.ค.2567 แล้ว

น.ส.ธณัฏฐา กล่าวต่อว่า หลังจากนั้น จึงได้พยายามติดต่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งทางโทรศัพท์และทางไลน์แล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จึงได้เขียนจดหมายเพื่อทวงทรัพย์สินดังกล่าวคืน โดยนำไปให้ที่บ้านพักในวันที่ 17 ก.ย. 67 เวลาประมาณ 18.40 น.แต่ รปภ.หมู่บ้าน ไม่ให้ตนเข้าไปส่งด้วยตัวเอง แต่ได้ประสานให้นายตำรวจที่คอยดูแลบ้านพักของนายพลตำรวจคนดังมารับเอกสารแทน แต่ภรรยาของนายตำรวจใหญ่ก็ไม่ได้นำทรัพย์สินดังกล่าวมาคืน และพยายามติดต่อทวงทรัพย์สินเรื่อยมา แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ตนจึงมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีนี้จนกว่าคดีจะถึงที่สุดตามกฎหมาย และติดตามทรัพย์สินดังกล่าวมาคืนให้กับตน

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า พนักงานสอบสวน สน.พระโขนง ประสานมาให้ร่วมตรวจสอบเหตุลักทรัพย์ โดยผู้ถูกกล่าวหาได้ทิ้งหลักฐานไว้ในห้องที่เกิดเหตุหลายรายการ ซึ่งได้ตรวจลายนิ้วมือแฝงไว้หมดแล้ว และจะได้ไปตรวจสอบในห้องที่เกิดเหตุ ตรวจสอบภาพวงจรปิดในคอนโดฯ ที่เกิดเหตุเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับคดีนี้ ตำรวจพบว่ามีปมปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัว โดยภรรยาของนายตำรวจใหญ่คนดังที่ถูกกล่าวหา มีความสนิทสนมกับสามีของผู้เสียหาย ทั้งยังมีคีย์การ์ดเข้าออกห้องที่เกิดเหตุอีกด้วย
 

‘เพื่อไทย’ มีมติหนุนข้อสังเกต-รายงานนิรโทษกรรม ด้าน ‘นพดล’ ย้ำ พท.ไม่มีความคิดล้างผิด ม.110 และ 112

(24 ต.ค. 67) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสส.พรรค ถึงการลงมติวาระพิจารณาการลงมติโหวตจะรับข้อสังเกตรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม หรือไม่ ว่า รายงานนี้ไม่ใช่การพิจารณากฎหมาย ไม่ใช่การพิจารณาว่าจะมีหรือไม่มีมาตรา 112 รายงานนี้เป็นเพียงผลการศึกษาว่าหากต้องทำกฎหมายนิรโทษกรรมต้องทำอย่างไร ซึ่งตนพยายามอธิบายมาหลายครั้งและนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ก็พูดชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 จากการฟังในที่ประชุมทั้งหลายก็มีแนวโน้มไปในทิศทางนั้น ฉะนั้น จึงได้ย้ำว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เพียงแค่ตอนนี้ไม่ใช่การพิจารณากฎหมาย เพียงแค่เป็นวาระการศึกษากฎหมาย 

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ประชุมจะลงมติกันในวันนี้ได้หรือไม่นั้น นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานสส.พรรค พท. ได้ถามความเห็นอย่างรอบด้าน จึงมีข้อสรุปว่าร่างรายงานนี้ที่เป็นรายงานที่เสนอโดยพรรค พท. และได้มีการประชุมกมธ.มา 19 ครั้ง ซึ่งกมธ.ไม่มีใครคัดค้านในรายงานนี้ว่าไม่ถูกต้อง ฉะนั้น ในที่ประชุมพรรค พท.จึงมีความเห็นว่าเราจะรับทราบรายงาน รวมถึงเห็นชอบกับข้อสังเกต ส่วนพรรคอื่นจะไม่เห็นชอบ ก็แล้วแต่แต่ละพรรค แต่พรรค พท.ควรเห็นชอบเพราะเป็นรายงานของพรรค พท.ที่เสนอ แต่เมื่อถึงเวลาจะไม่เห็นชอบมันผิดข้อเท็จจริง แต่หากสมาชิกจะเห็นแตกต่างกันไป เราก็ไม่ว่าอะไร ให้เป็นดุลยพินิจแต่ละคน แต่โดยหลักจะไปในแนวทางที่เห็นชอบ 

เมื่อถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลควรโหวตไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า การโหวตเป็นเอกสิทธิ์ การที่พรรคร่วมรัฐบาลจะมีความเห็นอย่างไร ตนทราบ แต่ถือว่าเป็นเอกสิทธิ์ของเขา เราไม่ได้ว่าอะไรกัน 

ด้านนายนพดล กล่าวว่า จากที่ตนเคยอภิปรายไปและพรรค พท. ก็มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าพรรค พท.ไม่มีนโยบายและไม่มีความคิดที่จะนิรโทษกรรมความผิดในมาตรา 110 และมาตรา 112 ฉะนั้น การที่มีบางสื่อนำเสนอไปว่าพรรค พท.จะดันนิรโทษกรรมมาตรา 112 จึงไม่ต้องกับข้อเท็จจริง ย้ำว่าพรรค พท.จะไม่นิรโทษกรรมมาตรา 112 

ตำรวจ ปส. ลุยหนัก เดือนแรกของปีงบ จับกุมครือข่ายยาเสพติดรายสำคัญ พร้อมของกลาง ยาบ้ากว่า 12 ล้านเม็ด และไอซ์กว่า 1.3 ตัน ยึดทรัพย์มูลค่ากว่า 90 ล้านบาท

สืบเนื่องจากการแถลงนโยบายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 ก.ย.67 ว่าปัญหายาเสพติดเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาด ครบวงจร ตัดต้นตอการผลิตและจำหน่ายด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการสกัดกั้นลำเลียงยาเสพติด ปราบปราม และยึดทรัพย์ผู้ค้ารายสำคัญ  ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร.พร้อมด้วย พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี, พล.ต.ท.สำราญ นวลมา และ พล.ต.ท.อัคราเดช  พิมลศรี  ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้นำนโยบายดังกล่าวมาสู่การปฏิบัติ โดยกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

สำหรับภาพรวมของปีงบประมาณ 2567 ได้มีการจับกุมคดียาเสพติด 260,506 คดี ผู้ต้องหา 268,679 คน อายุเฉลี่ย 30 – 50 ปี ของกลางยาเสพติด คือ ยาบ้ากว่า 1,001 ล้านเม็ด, ไอซ์ 25.4 ตัน, เฮโรอีน 1.6 ตัน,  คีตามีน 5.6 ตัน และ ยึดอายัดทรัพย์ผู้ค้ายาเสพติด กว่า 12,000 ล้านบาท 

และในปีงบประมาณ 2568 นี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการปราบปรามเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยการขับเคลื่อนหลักยังคงเป็น บช.ปส. และตำรวจภูธรภาคต่าง ๆ และได้มีการบูรณาการร่วมมือกับ ปปส., พล.ท.กัณห์ สถิตยุทธการ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 2 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ,พล.ต.วีระยุทธ รักศิลป์ รองแม่ทัพภาคที่ 2 /รอง ผบ.นบ.ยส.24 และ พล.ต.ธีรนันท์ นันทขว้าง ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองทางทหาร โดยมีการขยายผลจับกุมเครือข่ายผู้ต้องหารายสำคัญ 5 เครือข่าย ดังนี้  
บก.ปส.3

คดีที่ 1 ยาบ้า 6,790,000 เม็ด (ผู้นำเสนอ  พ.ต.อ.กฤษณ์ มณีรมย์ ผกก.1 บก.ปส.3)
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 8 ก.ย.67 ตำรวจได้จับกุม นายอนนต์ และนายชัยวัฒน์ พร้อมไอซ์ จำนวน 600 กก. บริเวณบ้านช่องสำราญ ต.วะตะแบก อ.เทพสถิต จว.ชัยภูมิ ต่อเนื่องริมถนนชงโคเขาน้อย ต.ลำสะพุง อ.มวกเหล็ก จว.สระบุรี จากนั้นตำรวจ บก.ปส.3 ร่วมกับ บก.ขส. นำข้อมูลเครือข่ายนี้มาสืบสวนขยายผลจนพบว่า ยาเสพติด ถูกลำเลียงมาจากพื้นที่ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่พื้นที่ตอนใน ซึ่งช่วงเย็นของวันที่ 20 ต.ค.67 พบความเคลื่อนไหวของเป้าหมายเดินทางออกจากพื้นที่ อ.ท่าคันโท จว.กาฬสินธุ์ มุ่งหน้าเข้าสู่พื้นที่ตอนใน โดยใช้เส้นทางถนนมิตรภาพ ชุดจับกุมจึงได้วางกำลังไว้ตามเส้นทางที่คาดว่ารถเป้าหมายจะขับผ่าน จนเวลาประมาณ 21.50 พบรถต้องสงสัยวิ่งตามกันมาบนเส้นทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมาและเข้าทางพิเศษ M6 โดยสลับกันขึ้นนำและตามตลอดเส้นทาง 

กระทั่งเวลา 00.05 ของวันที่ 21 ต.ค.67 รถเป้าหมาย 2 คัน คือ รถกระบะโตโยต้าวีโก้สีดำ หมายเลขทะเบียน บว 35xx กาฬสินธุ์ มีนายสาธิต เป็นผู้ขับขี่ มาพร้อมกับ นางสาวเหมี่ยว ภรรยา และรถตู้ หมายเลขทะเบียน นข 36xx บุรีรัมย์ มีนายสมศักดิ์ ขับขี่ และนายรังศิธร โดยสารมาด้วย (ทราบชื่อภายหลัง) ขับเข้าไปจอด ในปั๊มน้ำมันบางจากถนนมิตรภาพ ชุดจับกุมประกอบด้วย ตำรวจ บก.ปส. 3 ร่วมกับ ศูนย์ข่าวกรองกรุงเทพมหานคร บก.ขส. และ เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยข่าวกรองทางทหาร ศูนย์ปฎิบัติการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ  ได้แสดงตัว ขอตรวจค้น เบื้องต้นตรวจค้นรถตู้ พบกระสอบใบใหญ่ถูกวางไว้ภายในห้องโดยสารทั้งสิ้น จำนวน 15 กระสอบ ภายในบรรจุยาบ้า รวม 679 แพ็ค จำนวน 6,790,000 เม็ด จากการสอบปากคำผู้ต้องหาพบว่า ได้รับการว่าจ้าง โดยติดต่อทางโทรศัพท์ และทางแอปพลิเคชัน “ไลน์” เพื่อให้ลำเลียงยาเสพติดจำนวนดังกล่าว ทั้งนี้ ตำรวจอยู่ระหว่างเตรียมขยายผลหาผู้สั่งการต่อไป 
บก.ปส.2

คดีที่ 2 ยาบ้า 4,000,000 เม็ด (ผู้นำเสนอ พ.ต.อ.เฉลิมชัย ไวยสุระสิงห์ ผกก.3 บก.ปส.2) สืบเนื่องจากวันที่ 6 ก.ค.67 ตำรวจ กก.3 บก.ปส.2 ได้จับกุม นายสมศักดิ์ พร้อมไอซ์ จำนวน 500 กก. บริเวณสี่แยกไฟแดงบ้านธาตุ ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จว.สกลนคร จึงสืบสวนขยายผลรถยนต์ของเครือข่ายที่หลบหนีการจับกุมเมื่อวันที่ 6 ก.ค.67 ไป ตำรวจจึงเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหว กระทั่งวันที่ 20 ต.ค.67 พบมีการเปลี่ยนป้ายทะเบียนรถยนต์จาก งพ 70xx ชลบุรี เป็น 8กอ 78xx กรุงเทพมหานคร และขับเข้ามาในพื้นที่ อ.เมือง จว.นครพนม ตำรวจจึงวางกำลังตามเส้นทางต่างๆ ที่คาดว่ารถยนต์คันดังกล่าวจะใช้ในการลำเลียงยาเสพติด จนเวลาประมาณ 00.15 น. ของวันที่ 21 ต.ค.67 รถยนต์คันดังกล่าวกำลังวิ่งอยู่บนถนนนิตโย มุ่งหน้า อ.กุสุมาลย์ จว.สกลนคร กระทั่งมาจอดติดไฟแดงบริเวณสี่แยกไฟแดงบ้านธาตุ ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จว.สกลนคร ชุดจับกุมจึงเข้าสกัดทันที พบ นายธวัชชัย คนขับ และ นายณัฐนนท์ คนโดยสาร ก่อนจะควบคุมทั้ง 2 คน มาตรวจค้นรถ พบกระสอบสีรุ้งภายในรถ จำนวน 10 กระสอบ ภายในบรรจุยาบ้ากระสอบละ 400,000 เม็ด รวมยาบ้า 4,000,000 เม็ด สอบถามผู้ต้องหา 2 คน ยอมรับว่า ยาบ้าของกลางดังกล่าว เป็นของตนเองจริงและจะนำไปส่งให้กับลูกค้าที่กรุงเทพมหานคร       

คดีที่ 3 ไอซ์ 300 กิโลกรัม (ผู้นำเสนอ พ.ต.อ.เฉลิมชัย ไวยสุระสิงห์ ผกก.3 บก.ปส.2)
สืบเนื่องจากช่วงสายของวันที่ 4 ก.ย.67 ตำรวจได้ทำการจับกุม นายพิพัฒน์ กับพวกรวม 3 คน พร้อมยึดของกลางยาบ้า 1,500,000 เม็ด ได้ที่บริเวณภายในปั๊มน้ำมันคาล์เท็กซ์ อ.วังน้อย จว.พระนครศรีอยุธยา ก่อนจะขยายผลพบว่าเครือข่ายดังกล่าว ยังมีการลำเลียงยาเสพติดเข้าสู่พื้นที่ภาคกลางอย่างต่อเนื่อง 

กระทั่งช่วงเช้าของวันที่ 21 ต.ค.67 ตำรวจชุดจับกุมหน่วยปราบปรามยาเสพติดอุดรธานี กก.3 บก.ปส.2 ร่วมกับศูนย์ข่าวกรองยาเสพติดอุดรธานี และกรุงเทพมหานคร บก.ขส. พบรถเป้าหมายขับเข้าไปในพื้นที่ริมแม่น้ำโขง ต.เชียงคาน อ.เชียงคาน จว.เลย และได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่องวันที่ 22 ต.ค.67 เวลาประมาณ 07.15 น. ชุดจับกุมจึงนำกำลังเข้าสกัดรถเป้าหมายเป็นรถยนต์โตโยต้า รุ่นแคมรี่ สีเทา ทะเบียน ชศ 45xx กทม.  ได้บริเวณริมถนนทางหลวงหมายเลข 201 มุ่งหน้าจังหวัดขอนแก่น ต.ห้วยส้ม อ.ภูกระดึง จว.เลย พบ นายเอกชัย คนขับขี่ ได้พยายามเปิดประตูรถวิ่งหลบหนีลอดรั้วลวดหนามเข้าไปในสวนริมถนน ก่อนจะถูกจับกุมตัว และนำมาตรวจค้นภายในรถยนต์ พบกระสอบต้องสงสัยถูกวางในห้องโดยสาร จำนวน 4 กระสอบ และกระโปรงท้ายรถยนต์ จำนวน 3 กระสอบ รวม 7 กระสอบ ภายในบรรจุไอซ์ น้ำหนัก 300 กก. นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ต้องหา ได้พกพาอาวุธปืนพกลูกโม่ ขนาด .38 นิ้ว มาด้วย 1 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุน จำนวน 55 นัด

คดีที่ 4 ยาบ้า 1,000,000 เม็ด ไอซ์ 160 กิโลกรัม คีตามีน 40 กิโลกรัม (ผู้นำเสนอ พ.ต.อ.อัคควิทย์ กำแพงนิล ผกก.2 บก.ปส.2) สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 ส.ค.67 หน่วยปราบปรามยาเสพติดนครราชสีมา กก.2 ร่วมกับ ศูนย์วิเคราะห์ข่าว บก.ปส.2 จับกุม นายศักดิ์สิทธิ์ และนายอนุชิต พร้อมยาบ้า จำนวน 6,702,400 เม็ด, ยาอี จำนวน 1,000 เม็ด, Ecstasy หรือ MDMA จำนวน 10 ก้อน น้ำหนัก 1 กก., ยาไฟว์ไฟว์ จำนวน 1,400 เม็ด, ระเบิดลูกเกลี้ยง M 26 จำนวน 7 ลูก บริเวณภายในใบทองธารารีสอร์ทใน ต.คลองกระจัง อ.ศรีเทพ จว.เพชรบูรณ์ จึงสืบสวนขยายผลจากกลุ่มลำเลียงยาเสพติดดังกล่าว จนวันที่ 15 ต.ค.67 พบกลุ่มรถยนต์ที่เฝ้าระวังจำนวน 3 คัน มีความเคลื่อนไหวเข้ามาในพื้นที่ชายแดน จว.หนองคาย และจว.บึงกาฬ จึงได้จัดกำลังติดตาม จนมาพบรถยนต์ทั้ง 3 คัน คือ รถยนต์ TOYOTA ALTIS สีขาว หมายเลขทะเบียน ฆษ 21xx กทม. รถยนต์ HONDA ACCORD สีขาว หมายเลขทะเบียน ขห 91xx เชียงใหม่ และรถยนต์ MITSUBISHI PAJERO สีดำเทา ทะเบียน ฎข 29xx กทม. วิ่งบนถนนในพื้นที่ จว.ขอนแก่น และ จว.เพชรบูรณ์ ก่อนที่รถยนต์ทั้ง 3 คัน ขับเข้าไปบริเวณบ้านสวนเกษตรรีสอร์ท ต.ท่าพล อ.เมือง จว.เพชรบูรณ์ ชุดจับกุมจึงนำกำลังเข้าจับกุม ผู้ต้องหา จำนวน ๔ คน คือ 1.นายเอกรินทร์, 2.น.ส.เสาวรส, 3.นายอรรถพงษ์ และ 4.นายมนัส ตรวจสอบภายในรถยนต์ TOYOTA ALTIS สีขาว หมายเลขทะเบียน ฆษ 21xx กทม. 

พบยาเสพติดถูกวางไว้ภายในห้องโดยสาร เป็นยาบ้า จำนวน 1,000,000 เม็ด, ไอซ์ จำนวน 160 กก. และคีตามีน จำนวน 40 กก. และได้นำตัวนายเอกรินทร์ มาทำการตรวจค้น รถยนต์ TOYOTA ALTIS  หมายเลขทะเบียน กบ 32xx ฉะเชิงเทรา ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย สอบถามนายเอกรินทร์ให้การว่านำรถยนต์คันดังกล่าวมาจอดไว้เพื่อรอถ่ายยาเสพติด เบื้องต้นแจ้งข้อหา “ร่วมกันจำหน่าย ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ( ไอซ์ หรือเมทแอมเฟตามีน ) โดยการมีไว้เพื่อจำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการกระทำเพื่อการค้า ก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชนอันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป”
บก.ปส.4

คดีที่ 5 ไอซ์ 300 กิโลกรัม (ผู้นำเสนอ พ.ต.ท.พิชญุตม์ เกียรติกิตติคุณ รอง ผกก.1 บก.ปส.4) สืบเนื่องจากเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค.67 ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ได้จับกุม ผู้ต้องหา พร้อมไอซ์ จำนวน 549 กรัม ในพื้นที่ อ.เมือง จว.กาญจนบุรี ตำรวจหน่วยปราบปรามยาเสพติดกาญจนบุรี บก.ปส.4 ได้เข้าสอบปากคำเพื่อขยายผล กระทั่งพบเครือข่ายลำเลียงยาเสพติดรายใหญ่ จากนั้นตำรวจจึงเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของเครือข่ายนี้ กระทั่งวันที่ 14 ต.ค.67 พบรถยนต์เป้าหมายคือ MU-X หมายเลขทะเบียน กธ 8xxx ประจวบคีรีขันธ์ ขับจากพื้นที่ภาคใต้ ขึ้นไปยังพื้นที่ภาคกลาง และขับกลับเข้ามาในพื้นที่อ.ท่ามะกา จว.กาญจนบุรี มาพบกับรถยนต์ D-MAX หมายเลขทะเบียน 1 กส 2xxx กรุงเทพมหานคร ในลักษณะขับนำหน้า และตามหลังกันมา ชุดจับกุมจึงทำการประสานตำรวจ สภ.ท่ามะกา ภ.จว.กาญจนบุรี เพื่อตั้งจุดสกัดที่ถนนแสงชูโต บ้านท่ามะกา ม.4 ต.ท่ามะกา อ.ท่ามะกา จว.กาญจนบุรี ตำรวจ กก.1 บก.ปส.4 หน่วยปราบปรามยาเสพติดกาญจนบุรี ร่วมกับตำรวจในพื้นที่, ทหาร และ ป.ป.ส.ภาค 7 จึงเรียกรถต้องสงสัยให้หยุด

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบรางวัล 'ทำดี มีรางวัล' ชื่นชมชุดทำงานยาเสพติด สน.สายไหม กล้าหาญ สมคำว่าผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

วันนี้ (24 ต.ค.67) เวลา 11.00 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล , พ.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ มีสวัสดิ์ รรท.ผบก.น.2 และ พ.ต.อ.รังสรรค์ สอนสิงห์ ผกก.สน.สายไหม ได้เดินทางที่ สน.สายไหม เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงใส่ จากเหตุเข้าจับกุมคดียาเสพติดเมื่อกลางดึกวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา พร้อมมอบรางวัล “ทำดี มีรางวัล” เพื่อเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติหน้าที่

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ กล่าวว่า วันนี้ตนได้เดินทางมาที่ สน.สายไหม พร้อมกับผู้บังคับบัญชาระดับกองบัญชาการและกองบังคับการ เพื่อมาเยี่ยมบำรุงขวัญและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการจากเหตุการณ์เข้าสกัดและจับกุมคนร้ายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยสามารถตรวจยึดของกลางยาบ้าประมาณ 160,000 เม็ด และยาไอซ์อีกประมาณ 1 กิโลกรัม จับกุมผู้ต้องหาได้ 2 ราย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บเนื่องจากเข้าปะทะกับคนร้ายซึ่งใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ

นอกจากนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้เร่งติดตามจับกุมผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีมาดำเนินคดีโดยเร็ว พร้อมกับขอขอบคุณและชื่นชมชุดปฏิบัติการทำงานยาเสพติดของ สน.สายไหม จำนวน 6 นาย ที่ปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ ประกอบด้วย
1. ร.ต.อ.พงศ์พัฒน์ เกิดนพนันท์  รอง สวป.สน.สายไหม
2. ด.ต.มานพ ยิ่งสูง  ผบ.หมู่ ป.สน.สายไหม 
3. จ.ส.ต.ชินวุฒิ คงแสง  ผบ.หมู่ ป.สน.สายไหม 
4. จ.ส.ต.วิชเยศ ภูฉลอง  ผบ.หมู่ ป.สน.สายไหม 
5. จ.ส.ต.ณัฐภัณฑ์ พันธเสริม  ผบ.หมู่ ป.สน.สายไหม
6. ส.ต.ท.เจษฎา ยิ่งสูง  ผบ.หมู่ ป.สน.สายไหม 

ซึ่งทุกนายปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างแท้จริง กล้าหาญ เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมอย่างต่อเนื่อง สมควรได้รับการยกย่องสรรเสริญ ตามโครงการ 'ทำดี มีรางวัล' ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมสืบไป พร้อมขอให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับให้ความสำคัญและใส่ใจข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อพี่น้องประชาชนลักษณะเช่นนี้ต่อไป

‘พีระพันธุ์’ เผย ต้องทำให้ถูกต้องทุกกระบวนการ พร้อมเดินหน้ารักษาความสามารถในการส่งออก

(24 ต.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตอบกระทู้ถามสดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า 

สำหรับสิ่งที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะได้มีการเปิดประมูลพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน รูปแบบ Feed-in Tariff จำนวนประมาณ 3,600 เมกะวัตต์นั้น 

ทั้งตนและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานขอยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงในการทุจริต ในโครงการประมูลโรงไฟฟ้า 

ในลำดับแรกขอกล่าวถึงโครงการดังกล่าวเสียก่อน โครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน รูปแบบ Feed-in Tariff จำนวนประมาณ 3,600 เมกะวัตต์นั้น เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน จำนวนประมาณ 5,200 เมกะวัตต์

โดยในโครงการนี้จะแบ่งการรับซื้อ หรือการประมูลออกเป็น 2 โครงการย่อย คือ โครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ และโครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 2,100 เมกะวัตต์ 

สำหรับโครงการแรกที่รับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 1,500 เมกะวัตต์นั้น ใช้การประมูลในรูปแบบปกติ ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าสามารถร่วมประมูลได้อย่างเปิดกว้าง หรือ Open Bid

แต่สำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 2,100 เมกะวัตต์นั้น เป็นการประมูลแบบพิเศษ คือให้สิทธิ์ผู้ที่เคยประมูลในโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน จำนวนประมาณ 5,200 เมกะวัตต์แต่ไม่ชนะการประมูล เป็นผู้มีสิทธิยื่นประมูล

ตนและกระทรวงพลังงานมีความเห็นว่าการกำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้จะเกิดปัญหา และเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การเปิดประมูลในแต่ละรอบต้องแยกจากกันโดยเด็ดขาด มิใช่เอามาเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกัน

แต่อย่างไรก็ดี กกพ. ที่เป็นผู้ดำเนินการนั้นเป็นองค์กรอิสระ มีสถานะคล้ายกับ กสทช. กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจบังคับบัญชา กล่าวโดยง่ายคือไม่สามารถไฟสั่งได้ แต่ก็ได้ใช้อำนาจตามที่มีอยู่โดยทำหนังสือทักท้วงพร้อมกับขอให้ทบทวนโครงการไปยัง กกพ. แล้วเป็นที่เรียบร้อย 

เบื้องต้นได้รับการแจ้งว่าที่มาที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดดังกล่าว เกิดจากความผิดพลาดในการทำมติที่ประชุม และจะได้ดำเนินการแก้ไขต่อไป

นอกจากนี้เมื่อมีการทบทวนในเรื่องนี้ให้รอบคอบและถูกต้องแล้ว เรื่องดังกล่าวจะมีการรายงานไปยังคณะกรรมการนโยบายพลังงาน หรือ กบง. เพื่อนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานชาติ หรือ กพช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป

ทั้งนี้ตนคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะดำเนินการแล้วเสร็จในระยะเวลา 1 เดือน ปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขเป็นที่เรียบร้อย และตนขอยืนยันว่าตนไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ เนื่องจากได้มีการกำกับ ติดตาม อย่างใกล้ชิดตลอดมา 

ส่วนต่อมาตนขอชี้แจงกรณีมีการกล่าวว่าการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวแพงเกินจริงนั้น ตนขอชี้แจงว่าในการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามการผลิต ประเภทแรกคือส่วนที่ผลิตจากแสงแดดมีการรับซื้อที่ 2.16 บาทต่อหน่วย และประเภทที่ผลิตจากพลังงานลมมีการรับซื้อที่ 3.10 บาทต่อหน่วย ซึ่งทั้ง 2 ส่วนไม่ได้มีราคาสูงกว่าการรับซื้อเดิมแต่อย่างใด ดังนั้นตนจึงขอยืนยันว่าการรับซื้อไฟฟ้าในครั้งนี้ไม่ได้แพงเกินจริงแต่อย่างใด 

สำหรับคำถามที่ว่าในเมื่อจะมีการดำเนินการในส่วนของ Direct PPA แล้ว ทำไมจะต้องมีโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนจะเป็นการซ้ำซ้อนกันหรือไม่ รวมถึงการทำไฟฟ้าให้มีที่มาจากพลังงานสะอาดด้วย

ในประเด็นนี้ตนขอนำเรียนว่า Direct PPA หรือการรับซื้อไฟฟ้าตรง กับ การรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน นั้นเป็นคนละเรื่องกันอย่างชัดเจน 

สำหรับ Direct PPA เป็นการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ประกอบการกิจการโรงไฟฟ้ากับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ไฟฟ้าโดยตรง 

แต่สำหรับ RE หรือการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนซึ่งในโครงการที่กล่าวไปตอนต้นที่มีกำลังการผลิต 3,600 เมกะวัตต์นั้น จะเป็นส่วนที่ส่งไฟเข้าสู่ กฟผ. ซึ่งเมื่อมีสัดส่วนพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน หรือ RE ถึงเกณฑ์ที่กำหนดแล้วก็จะมีการจัดเก็บ UGT ที่ย่อมาจาก Utility Green Tariff หรืออัตราการเก็บค่าบริการสำหรับไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งไฟฟ้าสีเขียวจะได้มาจากพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ เป็นต้น โดยจะมีใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) ควบคู่มาด้วย 

ซึ่ง Renewable Energy Certificate หรือ REC นี้ผู้ประกอบการจะใช้เป็นเอกสารประกอบเมื่อมีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่มีการกำหนดกำแพงภาษีหากไม่มี REC การดำเนินการของ กกพ. จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการรักษาความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกของประเทศ 

ถึงแม้ว่าพลังงานไฟฟ้าที่ได้มานั้น จะไม่สามารถแยกออกได้ว่าพลังงานไฟฟ้าหน่วยใดมีที่มาจากแหล่งใด ซึ่งมิใช่แค่ UGT แม้กระทั่ง Direct PPA ก็ตามก็ไม่สามารถแยกได้ เว้นแต่เอกชนจะดำเนินการเดินสายส่งไฟฟ้าด้วยตนเอง ซึ่งมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้เอกชนหลายรายพิจารณาใช้สายส่งไฟฟ้าของ กฟภ. และ กฟน. ทดแทน 

ประเด็นคำถามถึงแนวทางในการจัดการกับการประมูลพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนในครั้งที่มีการประมูลขนาด 5,200 เมกะวัตต์นั้น ตนขอเรียนว่า ได้มีการสอบถามและหารือไปยัง “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)” อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดีการดำเนินการใด ๆ อาจจะส่งผลให้เกิดข้อพิพาททางกฎหมายเกิดขึ้น ซึ่งตนก็ได้ให้ข้อสังเกตและข้อแนะนำรวมถึงหารือในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และขอยืนยันว่าท่านใดมีข้อเสนอแนะที่ชัดเจนในเรื่องนี้ตนยินดีที่จะรับฟังพร้อมเดินหน้าปฏิบัติ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน 

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีอยู่ระหว่างปรับปรุงกฎ ระเบียบ เพื่อให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เป็นการลดความยุ่งยากในการผลิตไฟฟ้าในครัวเรือนซึ่งจะสามารถช่วยลดผลกระทบของพี่น้องประชาชนจากค่าครองชีพหรือค่าไฟฟ้า

“ตนขอยืนยันว่า เบื้องหลังของตนมีแค่ผลประโยชน์ของประชาชน ไม่มีกลุ่มทุน อะไรที่สามารถแก้ไขได้ตนจะดำเนินการแก้ไข โดยไม่บ่ายเบี่ยงว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคใดในสมัยใด ขอให้ท่านมั่นใจว่าตนจะทำให้เต็มที่เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้อง” นายพีระพันธุ์ กล่าวในตอนท้าย 

4 ชาติอาเซียน ‘ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย’ ตบเท้าเข้าร่วม BRICS ส่อเข้าทางจีน เพิ่มโอกาสสร้างอาณาจักร Global South

รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีการประชุมของกลุ่มบริกส์ในปีนี้ ว่า 

BRICS ขยายสมาชิกอีกนับสิบประเทศ แถมมุ่งมั่นสะสมทองคำเพื่อผลักดันสกุลเงินใหม่ The Unit

ว่ากันว่า สงครามอิสราเอล-ฮามาส เป็นอีกหนึ่งแรงผลักให้สองชาติมุสลิมในอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย และมาเลเซีย  ตัดสินใจร่วมวงกับจีนในกลุ่ม #BRICS ในครั้งนี้

สำหรับ เวียดนาม ในยุคอยู่เป็น ก็พร้อมจะร่วมวงกับจีนในกลุ่ม BRICS แบบไม่ลังเล แปลงจีนให้เป็นโอกาส

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 ชาติอาเซียน ทั้งไทย ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เข้าเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรของ BRICS แต่ยังไม่ใช่สมาชิกเต็มตัวแต่อย่างใด

'ประเสริฐ' เผย 'บอร์ดดีอี' รับทราบขับเคลื่อนนโยบาย Cloud First Policy ยกระดับความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลคนไทย เดินหน้า 'รัฐบาลดิจิทัล' ตั้งภาครัฐใช้งานระบบ e-office 3 ล้านคน

(24 ต.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 โดยมีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เลขานุการคณะกรรมการฯ ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการฯ ตลอดจนกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 109 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เข้าร่วมประชุมว่า ที่ประชุมบอร์ดดีอี ได้รับทราบและพิจารณาประเด็นที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังนี้

1.แนวทางการดำเนินการใช้งานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในระบบ e-Office ภายใต้บริการคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service : GDCC) โดยมีแผนการดำเนินงานการเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัลในอนาคต จากความต้องการใช้งานระบบ e-Office ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้วิเคราะห์จากหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมายผู้ใช้งานระบบได้ 3,000,000 คน ภายในปี 2570  

2.การดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ได้แก่ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 – 2580) ฉบับปรับปรุง ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ทั้งนี้คณะกรรมการเฉพาะด้าน Cloud First Policy ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 2 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างบริการคลาวด์ภาครัฐ และคณะอนุกรรมการด้านบริหารจัดการความต้องการใช้บริการคลาวด์ (Demand) การให้บริการคลาวด์ (Supply) และมาตรฐานการบริหารจัดการบริการคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud Management) และได้เห็นชอบในหลักการกรอบแนวทางการบริหารจัดการระบบคลาวด์ภาครัฐ โดยมอบหมายผู้ที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดเสนอคณะกรรมการต่อไป

3.แนวทางการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือเช่าใช้บริการระบบคลาวด์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยให้หน่วยงานภาครัฐ นำข้อกำหนดมาตรฐาน และเงื่อนไขสำหรับผู้ให้บริการระบบคลาวด์ประจำปี พ.ศ. 2567 ไปใช้พลางก่อน จนกว่าจะมีข้อกำหนดมาตรฐาน และเงื่อนไขสำหรับผู้ให้บริการระบบคลาวด์ใหม่ 

4.การเร่งรัดขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยเห็นชอบให้ภารกิจการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อยู่ภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

5.การเร่งรัดบูรณาการและขับเคลื่อน CCTV  ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านการประมวลผลและใช้ประโยชน์จากระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน ลดค่าใช้จ่าย สามารถบริหารจัดการข้อมูล และใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างเป็นรูปธรรม ผลักดันให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ทั่วประเทศ สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

6.เห็นชอบ (ร่าง) กรอบการขับเคลื่อนการส่งเสริมการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย (Digital ID) ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2568 - 2570) และมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการตาม (ร่าง) กรอบการขับเคลื่อนฯ พร้อมทั้งติดตามและประเมินผลให้เป็นไปตามกรอบการขับเคลื่อนฯ ดังกล่าวต่อไป 

7.เห็นชอบ แนวทางการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีธรรมาภิบาล สำหรับผู้บริหารองค์กร (AI Governance Guideline for Executive) ของ ETDA โดยมอบหมายให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนนำไปปฏิบัติต่อไป

8.แนวทางการดำเนินการสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับหน่วยงานของรัฐ สำหรับการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้เกิดการรั่วไหล และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เสนอคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศให้ทุกหน่วยงาน นำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานต่อไป

9.การดำเนินงานขยายความจุ (Capacity) ของระบบเคเบิลใต้น้ำ ADC (Asia Direct Cable) ในปี 2566 จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ 1) เส้นทาง ไทย - ฮ่องกง จำนวน 300 Gbps และ 2) เส้นทางไทย - สิงคโปร์ จำนวน 700 Gbps 

10.ประกาศคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดนิยามและขอบเขตอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งได้แจ้งเวียนประกาศดังกล่าวไปยังหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้หน่วยงานนำกรอบนิยามอุตสาหกรรมดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในการสำรวจ วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top