Thursday, 22 May 2025
NewsFeed

‘ไต้หวัน’ ประกาศพร้อมคุย ‘จีน’ บนฐานเท่าเทียม แต่ยังเดินหน้าสร้างแสนยานุภาพทางทหาร

(22 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อ ของไต้หวัน กล่าวเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีในตำแหน่งว่า รัฐบาลไทเปพร้อมเปิดการเจรจากับจีน บนพื้นฐานของความเท่าเทียมและศักดิ์ศรี เพื่อคลี่คลายความตึงเครียดด้านอธิปไตย แต่ย้ำว่าการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกลาโหมยังคงเป็นสิ่งจำเป็นต่อไป

ไล่ ชิงเต๋อระบุว่า สันติภาพเป็นสิ่งประเมินค่าไม่ได้ ไต้หวันไม่สามารถนิ่งนอนใจในสถานการณ์ปัจจุบันได้ พร้อมยืนยันจะร่วมมือกับพันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อยับยั้งภัยคุกคาม พร้อมผลักดันการตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติเพื่อเสริมความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ 

ขณะเดียวกัน ไต้หวันยังเผชิญแรงกดดันจากสหรัฐฯ ด้านการค้า รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองภายใน โดยฝ่ายค้านพรรคก๊กมินตั๋งกล่าวหาไล่ว่าทำให้ประเทศเสี่ยงต่อสงครามกับจีน ส่วนพรรคของไล่ตอบโต้ว่า ฝ่ายค้านกำลังบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ

ความตึงเครียดในรัฐสภาทวีความรุนแรงถึงขั้นปะทะกันทางกายภาพ ขณะที่คะแนนนิยมของประธานาธิบดีไล่ลดลงต่อเนื่อง นักวิเคราะห์ชี้ว่าจุดยืนล่าสุดของเขาแสดงถึงความพยายามลดโทนการเผชิญหน้าและมุ่งรักษาสมดุลท่ามกลางแรงกดดันทั้งในและต่างประเทศ

รฟท. ผุดแผนรถไฟสายใหม่ 68 กม. สู่สนามบินกระบี่ เชื่อมอันดามัน–ภูเก็ต–กระบี่ กระตุ้นท่องเที่ยวไทย

(22 พ.ค. 68) การรถไฟแห่งประเทศไทยเตรียมบรรจุเส้นทางรถไฟสายใหม่ 'ทับปุด-กระบี่-สนามบินกระบี่' เข้าสู่แผนการก่อสร้าง โดยอยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบ เบื้องต้นมีระยะทางกว่า 68 กิโลเมตร มุ่งเชื่อมโยงเมืองท่องเที่ยวฝั่งอันดามันและสนามบินกระบี่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและเป็นอีกทางเลือกทดแทนสนามบินภูเก็ต

เส้นทางเริ่มต้นจากสถานีทับปุด ในโครงการรถไฟสายสุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต แล้วแยกลงใต้เลียบทางหลวง 4 ผ่านอ่าวลึก คลองหิน เขาคราม เข้าสู่ตัวเมืองกระบี่ และจบที่สนามบินกระบี่ มีสถานีหลัก 5 แห่ง โดยออกแบบอาคารสถานีให้สอดคล้องกับศิลปะท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่

รูปแบบการเดินรถจะมีทั้งขบวนรถไฟด่วน เช่น รถไฟท่องเที่ยวเชื่อมภูเก็ต-กระบี่ และรถไฟโดยสารจากกรุงเทพฯ-กระบี่ รวมถึงขบวนท้องถิ่นจากสุราษฎร์ธานี-ทับปุด-กระบี่ หากโครงการนี้เดินหน้า จะช่วยกระจายผู้โดยสารจากสนามบินภูเก็ตสู่สนามบินกระบี่ และสร้างระบบ Airport Link ฝั่งอันดามันทันที

โครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจ การเดินทาง และการท่องเที่ยวของภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะฝั่งอันดามัน ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในฐานะแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก

‘พีระพันธุ์’ เดินหน้ารื้อสัญญาชั่วนิรันดร์ Adder - FiT พร้อมเร่งลดผลกระทบจากค่าไฟฟ้าให้ประชาชน

เมื่อวันที่ (19 พ.ค.68) นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE 100) และคณะตัวแทนสมาคมฯ ได้เข้าพบ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอหารือและรับทราบแนวทางเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ปัญหาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบมีค่า Adder และ Feed-in Tariff (FiT) ที่ต้องจ่ายให้กับกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็กและเล็กมาก (Non-Firm SPP) แบบไม่มีวันหมดอายุสัญญา หรือที่เรียกกันว่า 'สัญญาชั่วนิรันดร์' ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน

ทั้งนี้ ระบบ Adder และ Feed-in Tariff เป็นนโยบายที่ภาครัฐให้เงินสนับสนุน หรือให้เงินส่วนเพิ่มจากอัตราค่าไฟปกติแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อจูงใจภาคเอกชนให้มาลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยโรงไฟฟ้าเหล่านี้สามารถต่อสัญญาขายไฟฟ้าได้เรื่อย ๆ ครั้งละ 5 ปี และต่อเนื่องโดยอัตโนมัติแบบไม่มีวันหมดอายุสัญญา ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อปี 2550 ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้รัฐต้องแบกรับภาระและทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น

ในการหารือครั้งนี้ ทางกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในส่วนของสมาคมฯ ได้อธิบายถึงปัญหาข้อขัดข้องในอดีตซึ่งเป็นที่มาของสัญญาดังกล่าว อีกทั้งยังได้รับทราบและเห็นด้วยกับแนวทางที่กระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการในการปรับเปลี่ยนสัญญาให้ถูกต้องและเป็นธรรม โดยนายพีระพันธุ์ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ( กบง.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการกำหนดอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Non-Firm เพื่อลดผลกระทบค่าไฟฟ้า และได้กำชับให้คณะอนุกรรมการดังกล่าวเร่งดำเนินการพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการพยายามแก้ปัญหาระบบ Adder และ Feed-in Tariff ที่สะสมมานาน โดยทางสมาคมฯ ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาลในการแก้ปัญหานี้ และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะลดผลกระทบที่มีต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน

มูลนิธิพระราหูเปิดสารคดี ‘นักเรียนดี เยาวชนต้นแบบ’ ‘ดร.หิมาลัย’ หวังช่วยสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนไทย

มูลนิธิพระราหูเปิดตัวสารคดีชุด ‘นักเรียนดี เยาวชนต้นแบบ’ สร้างแรงบันดาลใจแก่นักเรียนและเยาวชน ผ่าน 4 นักเรียนต้นแบบ เผยแพร่ผ่าน YouTube และ Facebook มูลนิธิพระราหู ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ 

(22 พ.ค.68) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพระราหู เปิดเผยว่า ตามที่มูลนิธิพระราหู โดย ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพระราหู และพล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ได้ดำเนินการโครงการนักเรียนดี เยาวชนต้นแบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแบบอย่างของนักเรียนและเยาวชนที่มีความรักชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงมีความประพฤติที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียนและเยาวชนคนอื่น ๆ 

เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจแก่นักเรียนและเยาวชนทั่วประเทศทางมูลนิธิพระราหูจึงได้จัดทำสารคดีชุด’นักเรียนดี เยาวชนต้นแบบ’จำนวน 4 ตอน ที่จะนำเสนอแนวคิดและการดำเนินชีวิตของ 4 นักเรียนที่พร้อมต่อสู้กับทุก ๆ อุปสรรค เพื่อเดินหน้าสู่ความหวังและความฝันโดยยังยึดมั่นในคุณงามความดี รวมทั้งบทบาทและหน้าที่ในฐานะ ‘นักเรียน’

สำหรับทั้งสารคดีทั้ง 4 ตอน ได้แก่ .

- นักเรียนดี เยาวชนต้นแบบ EP1 : เรื่องของไอซ์ 
เรื่องราวของเด็กผู้ชายที่มีความฝันอันยิ่งใหญ่ในการที่จะเดินหน้าสู่อาชีพ ‘นักการเมืองท้องถิ่น’ ภายใต้แนวคิดซื่อตรง-ไม่โกง พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาให้กับประชาชน 

- นักเรียนดี เยาวชนต้นแบบ EP2 : เรื่องของแตงโม 
เรื่องราวของเด็กนักเรียนที่ยอมรับว่าตัวเองไม่ได้มีพร้อมเหมือนคนอื่น แต่พร้อมที่จะเดินหน้าสู้กับปัญหาความไม่พร้อม ผ่านการแบ่งเบาภาระของครอบครัวอย่างเต็มที่ภายใต้เรี่ยวแรงของตนเอง 

- นักเรียนดี เยาวชนต้นแบบ EP3 : เรื่องของเอม 
นักร้อง นักเรียน และนักสู้ชีวิต ที่พร้อมเดินหน้าเผชิญหน้ากับทุก ๆ อุปสรรคและขวากหนามที่เข้ามาและตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว ภายใต้เสียงเพลง ภายใต้ชีวิตและความฝันที่อยากจะดูแล ‘คุณยาย’ 

- นักเรียนดี เยาวชนต้นแบบ EP4 : เรื่องของแก้ว
เรื่องของเด็กดื้อที่จะทำตามความใฝ่ฝันในการเป็น ‘นักร้อง’ ของตัวเอง ที่สำคัญเรื่องของ ‘แก้ว’ ยังเป็นคนที่พร้อมสู้กับทุกเรื่องเพื่อให้สำเร็จไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความฝัน เรื่องของการเรียน และพร้อมที่จะใช้บ่าเล็ก ๆ รับความกดดันเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายของตัวเอง 

โดยทางมูลนิธิพระราหูจะดำเนินการเผยแพร่สารคดีในทุก ๆ วันพฤหัสบดี เวลา 09.00 น. ผ่านทาง Facebook และ Youtube ของ ‘มูลนิธิพระราหู’ และ Facebook และ Youtube ของ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ

'บิ๊กอู๊ด' โพสต์ถึง 'เสก โลโซ' ยกย่องลูกผู้ชาย กล้าทำ-กล้ายอมรับ แม้สนิทแต่ทำผิดก็ต้องจับ

‘บิ๊กอู๊ด’ อดีตตำรวจคนดังมือจับผู้พันตึ๋งโพสต์ถึง ‘เสก โลโซ’ ถือเป็นลูกผู้ชาย กล้าทำ กล้ายอมรับ และสำนึกผิดในสิ่งที่กระทำลงไป แต่หน้าที่พี่ต้องทำ น้องทำผิดพี่ก็ต้องจับ

เมื่อวันที่ (21 พ.ค. 68) พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง อดีต ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ในฐานะ รองนายกสมาคมตำรวจ โพสต์ถึง ‘เสก โลโซ’ ว่า ในฐานะที่เรารู้จักกันมายาวนาน 10 กว่าปี ความผูกพันมันต้องมี แต่หน้าที่พี่ต้องทำ น้องทำผิดพี่ก็ต้องจับ ก็ขอเป็นกำลังให้เสกเพราะถือเป็นลูกผู้ชายคนหนึ่ง กล้าทำ กล้ายอมรับ และสำนึกผิดในสิ่งที่กระทำลงไป

อย่างไรก็ตาม ขณะเล่นคอนเสิร์ตเขาก็ตักเตือนเยาวชนแล้วว่าอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ตัวอย่างมีให้เห็นมาแล้ว

ส.วิศวกรฯ ผ่า 4 ปมเหตุอาคาร สตง. ถล่ม จี้สอบวิศวกร–ปรับกฎหมาย สกัดโศกนาฏกรรมซ้ำ

(22 พ.ค. 68) จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ในเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ส่งผลให้อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างพังถล่ม มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 ราย เบื้องต้นพบจุดเริ่มต้นถล่มน่าจะมาจากผนังปล่องลิฟต์ ซึ่งดึงให้โครงสร้างอื่นถล่มตาม ยังอยู่ระหว่างสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริง

นายอมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ ระบุว่า มี 4 ปัจจัยที่ต้องตรวจสอบ ได้แก่ ความแรงของแผ่นดินไหว การออกแบบ การก่อสร้าง และคุณภาพวัสดุ โดยต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านนิติวิศวกรรม พร้อมเก็บหลักฐาน วิเคราะห์โครงสร้าง และเปิดเผยผลต่อสาธารณะ

อีกทั้ง เรียกร้องให้สภาวิศวกรดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องทันที หากพบความผิด เช่น การปลอมลายมือชื่อ หรือวิศวกรไร้คุณสมบัติ โดยไม่ต้องรอให้มีผู้ร้องเรียน พร้อมเสนอเปิดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อวางแนวปฏิบัติอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.วิศวกร, พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร, พ.ร.บ.การผังเมือง ฯลฯ เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการออกแบบ-ก่อสร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว และสร้างระบบตรวจสอบที่โปร่งใสครอบคลุมทุกขั้นตอน

ความเหนื่อยล้าทางการเมือง กรณีคนรุ่นใหม่ฮ่องกงเลือก “อยู่กับจีน” เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ช่วงเร็ว ๆ มานี้ ระหว่างที่ผมใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ผมได้เห็นสิ่งที่น่าสนใจในชีวิตประจำวันมากมายที่สอดคล้องกับประเด็นการเมืองที่เป็นเนื้อหาในชั้นเรียน ทำให้ได้ขบคิด ค้นคว้า และสนทนา เพื่ออัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการเมืองจีนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน

ประเด็นที่ผมนำมาเล่าในบทความนี้ เกิดจากการที่ผมได้มีพบกับเพื่อนนักศึกษาจากฮ่องกงและไต้หวันที่เดินทางมาเรียนต่อระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งบางคนเป็น classmate ของผมด้วย ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ คนฮ่องกงทุกคนที่ผมรู้จักที่นี่ อายุประมาณ 19 -23 แต่มีแนวคิด ‘Pro-China’ คือหนุนแนวคิดให้ฮ่องกงเข้าร่วมกับจีน หรือบางคนก็เป็นไม่ได้ถึงขั้นนั้น แต่ก็ไม่มีท่าทีต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับแนวคิด One China ของจีน

ผมต้องกลับมา reset มุมมองเรื่องคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงทั้งหมดอีกครั้ง เนื่องจากเดิมทีผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงจะต้องมีแนวคิดต่อต้านจีน แต่พอได้สนทนากับเพื่อนในคลาสและนอกคลาสแล้ว ก็พบว่ามีหลายสิ่งที่เปลี่ยนไป...

ในตอนนี้ ใครที่ยังคิดว่าคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงน่าจะนิยมตะวันตก และอยากแยกประเทศมากกว่ารวมเข้ากับจีน อันนี้เริ่มเก่าแล้ว เดี๋ยวเรามา update patch กันครับนะครับ

ช่วงปี 2014 - 2019 เป็นช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก เห็นได้ movement ต่าง ๆ ทั้งการออกมารวมตัวกันประท้วง และการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วม Umbrella Movement ปี 2014 หรือการประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในปี 2019 จนเป็นข่าวใหญ่ที่ขบวนการประชาธิปไตยทั่วโลกต้องติดตามและคอยสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม หลังจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในปี 2020 สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างมาก นักเคลื่อนไหวจำนวนมากถูกจับกุม องค์กรภาคประชาชนถูกสลาย สื่ออิสระถูกปิดตัว การเมืองกลายเป็นพื้นที่ที่อันตราย และข้อพิสูจน์ที่ชี้ว่าการเคลื่อนไหวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มทางความคิดของคนรุ่นใหม่ จาก “การตื่นตัวทางการเมือง” สู่การ “ถอนตัวทางการเมือง” หลายคนเลือกที่จะ "ไม่พูด ไม่ยุ่ง ไม่เสี่ยง" กับประเด็นทางการเมืองอีกต่อไป โดยผลสำรวจจากสถาบันวิจัยเอเชียแปซิฟิก มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (CUHK) ในปี 2023 พบว่า 62.9% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าตนเองไม่ค่อยสนใจหรือไม่สนใจการเมืองเลย โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึง 7.4% ในขณะที่การศึกษาของ Hong Kong Federation of Youth Groups (HKFYG) ในปี 2019 พบว่า 41.7% ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษารู้สึกเครียดอย่างมาก และ 24% รู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับบรรยากาศทางสังคมที่ตึงเครียด ซึ่งอาจส่งผลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพวกเขา

การไม่ต้องการยุ่งกับการเมืองนั้นอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่า ประเด็นที่น่าสนใจในตอนนี้คือการที่คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงจำนวนมากกำลังแสวงหาโอกาสนอกบ้านเกิด บ้างเลือกไปเรียนต่อต่างประเทศ บ้างย้ายไปอยู่ประเทศตะวันตก หรือแม้บางคนก็ย้ายไปอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่

โดยเฉพาะกรณีของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เลือกมาเรียนหรือทำงานในจีนแผ่นดินใหญ่ อย่างเช่นเพื่อนของผม 3 คนที่ได้ทุนรัฐบาลจีนมาเรียนที่ฟู่ตั้น มีคนหนึ่งได้ทุนทั้ง ป.ตรี และ ป.โท ติดต่อกันเลย อีก 2 คนบอกกับผมว่าจะเข้ารับราชการหลังเรียนจบ ซึ่งการรับราชการที่ฮ่องกงนั้น จริง ๆ แล้วแทบจะเป็นการเลือกข้างไปแล้วกราย ๆ แล้วครับ

สำหรับหลายปีก่อน การเป็นคนรุ่นใหม่แล้วเข้ารับราชการนั้นจะเป็นภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างแย่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยกัน เพราะต้องทำงานภายใต้รัฐบาลกลาง ภายใต้นโยบาย One China ซึ่งทำให้เรื่องนี้น่าสนใจครับ เพราะในปัจจุบันคนรุ่นใหม่บางคนไม่ได้เลือกที่จะต่อต้านจีน หรือหนีจากจีนเท่านั้น แต่กลับเลือกที่จะ "อยู่กับจีน" โดยมีเหตุผลที่น่าสำรวจในเชิงลึกอยู่หลายประเด็น

คำถามที่น่าศึกษาหาคำตอบคือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางความคิดเกิดขึ้นได้อย่างไร ? เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเกิดจากความตั้งใจของใคร?

แน่นอนว่าแทบจะทุกการเปลี่ยนแปลงทางความคิดในเชิงระบบล้วนเริ่มต้นจากบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่กดดัน โดยเฉพาะในฮ่องกง หนึ่งในแรงขับสำคัญที่ผลักดันคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงให้เปลี่ยนแนวทางชีวิต คือความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงลิ่วของฮ่องกงที่อยู่ในระดับท็อปของโลก โดยเฉพาะราคาบ้านและที่อยู่อาศัยที่สูงจนคนวัยทำงานทั่วไปไม่มีทางเป็นเจ้าของบ้านได้ โดยดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ของฮ่องกงที่วัดโดย Numbeo Index 2024 นั้นอยู่ที่ 76.6 ในขณะที่ เซินเจิ้น, กว่างโจว และจูไห่นั้นอยู่ที่ 42.1, 39.5 และ 37.0 ตามลำดับ

รวมถึงตลาดแรงงานที่ตึงตัวในยุคหลังโควิด โอกาสการจ้างงานสำหรับคนรุ่นใหม่ยิ่งลดลง อัตราว่างงานของคนอายุ 20–29 ปี อยู่ที่ 6.1% ซึ่งสูงกว่าอัตราการว่างงานเฉลี่ยของประชากรทั้งหมดที่อยู่ที่ 3.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน

รวมถึงแรงกดดันจากสังคมในด้านอื่น ๆ ที่มีการแข่งขันสูง ทั้งความเครียดในระบบการศึกษา แรงกดดันจากครอบครัว เมื่อรวมทั้งหมดนี้เข้าด้วยกันแล้ว ความคิดเห็นทางการเมืองเห็นจะเป็นแค่สิ่งที่เพิ่มความวุ่นวายให้ชีวิต

ในขณะที่ความหวังในการสร้างชีวิตในฮ่องกงลดลงเรื่อย ๆ ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเริ่มพิจารณาทางเลือกอื่นในการสร้างอนาคต

โอกาสใหม่จากจีนแผ่นดินใหญ่

ในทางกลับกัน จีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะเมืองในเขตเศรษฐกิจอย่าง Greater Bay Area (GBA) เช่น เซินเจิ้น กว่างโจว และจูไห่ ที่อยู่ใกล้กับฮ่องกงนั้น กลายเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง โดยเฉพาะการเปิดพรมแดนและระบบรถไฟความเร็วสูงในเขต GBA ที่ทำให้การเดินทางระหว่างฮ่องกง–เซินเจิ้น–กว่างโจวง่ายและรวดเร็วมาก สามารถเดินทางจากฮ่องกงข้ามไปแผ่นดินใหญ่ได้ภายใน 30-45 นาที (เท่ากับเวลาที่ผมเดินทางไปเรียนตอนเช้า หรือขับรถไปทำงานตอนอยู่ไทย) เอื้อต่อการไปทำงาน เรียน หรือแม้แต่ใช้ชีวิตในจีน ขณะยังมีบ้านอยู่ในฮ่องกง ก็ยังสามารถทำงานในจีนแต่กลับมานอนที่บ้านในฮ่องกงได้

ในขณะเดียวกัน เมืองอย่างเซินเจิ้นหรือกว่างโจวซึ่งอยู่ใกล้ฮ่องกง มีค่าครองชีพต่ำกว่ามาก ทั้งค่าเช่าบ้าน อาหาร การเดินทาง ฯลฯ คนรุ่นใหม่บางส่วนเลือกไปทำงานหรือใช้ชีวิตในจีน เพราะเงินเดือนที่ใกล้เคียงกัน แต่ใช้จ่ายน้อยกว่า ทำให้สามารถซื้อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เป็นหัวกะทิด้านเทคโนโลยี ที่มีความสามารถทางเทคนิคหรือธุรกิจที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานจีน กลับเริ่มมองว่าการเข้าไปอยู่ในแผ่นดินใหญ่ เป็นโอกาสในการเติบโตในอาชีพที่ดีกว่า โดยเฉพาะในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนจำนวนมากตั้งอยู่ใน GBA ที่เปิดรับคนรุ่นใหม่มือดีจากฮ่องกง

ทั้งนี้ นโยบายสนับสนุนจากรัฐจีนก็มีผลอย่างมาก สำหรับมุมมองต่อจีนของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแจกทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนฮ่องกงให้เข้ามาเรียนในแผ่นดินใหญ่ จัดสรรทุนการศึกษาและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักเรียนฮ่องกงให้มาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของจีนแผ่นดินใหญ่ โดยมีโครงการสนับสนุนที่มอบเงินช่วยเหลือต่อปีการศึกษาตั้งแต่ HK$5,900 ถึง HK$19,400 ซึ่งมีนักเรียนฮ่องกงได้รับประโยชน์จากโครงการนี้แล้วกว่า 20,000 คน (เพื่อนผม 3 คนเป็นหนึ่งในกลุ่มนี้)

นอกจากนี้ ยังมีโครงการจ้างงานสำหรับเยาวชนฮ่องกงในหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจจีน ทุนเปิดธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการจากฮ่องกง เช่น โครงการ Greater Bay Area Youth Employment Scheme (GBA YES) ที่รัฐบาลฮ่องกงอุดหนุนเยาวชนฮ่องกงที่มีอายุไม่เกิน 29 ปี และมีวุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญาขึ้นไป จำนวนกว่า 1,000 คน โดยให้เงินอุดหนุนสูงสุด 60% ของเงินเดือนรายเดือนของผู้เข้าร่วมโครงการ เป็นระยะเวลาสูงสุด 18 เดือน งบประมาณรวมโดยประมาณ 216 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

หรือจะเป็นโครงการ Funding Scheme for Youth Entrepreneurship in the Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area โดย Youth Development Commission (YDC) ของฮ่องกง ที่สนับสนุนเยาวชนฮ่องกงที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจในเมืองต่าง ๆ ในเขต GBA โดยมียอดงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติรวมทั้งสิ้น 900 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ให้บริการสนับสนุนและบ่มเพาะธุรกิจแก่เยาวชนมากกว่า 4,000 คน โดนมีทีมสตาร์ตอัปจากโครงการนี้ที่ได้ขยายธุรกิจไปยังเมืองต่าง ๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่า 70 ทีม

ภายใต้บริบทนี้ ไม่น่าแปลกใจที่นักเรียนฮ่องกงจำนวนมากเลือกเรียนต่อหรือทำงานในจีนแผ่นดินใหญ่

ในมุมมองเชิงอัตลักษณ์นั้น คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงที่เติบโตขึ้นภายใต้ระบบการศึกษาที่รัฐบาลจีนส่งอิทธิพลมากขึ้นหลังปี 1997 และการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มจีน เช่น Xiaohongshu หรือ Bilibili ทำให้เยาวชนฮ่องกงบางส่วนรู้สึกใกล้ชิดกับวัฒนธรรมจีนมากขึ้น อย่าง classmate ชาวฮ่องกงของผม พูดใน class discussion ชัดเจน ว่าเขาเป็นคนจีน เพราะคนฮ่องกงก็คือคนจีน และแสดงออกอย่างเปิดเผยในห้องเรียนว่าเขาเคยต่อต้านจีนมาก่อน แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาต่อต้านอุดมการณ์แบบ woke ในจีนและในฮ่องกงแทน เขาพูดในขณะที่ใส่เสื้อยืดที่มีธงชาติจีนแปะอยู่บนหน้าอกซ้าย และตัวอักษรคำว่า CHINA ตัวใหญ่แปะอยู่ด้านหลัง ซึ่งชายคนนี้ครั้งหนึ่งเคยพูดเกินเลยไปถึงขั้นว่าหลังเรียนจบจะสอบเข้ารับราชการเป็นตำรวจ ถ้ามีม็อบในฮ่องกงจะได้เป็นคนไปปราบ ตอนที่เขาพูดเรื่องนี้ ผมสังเกตเห็นเพื่อนหลายคนในห้องเริ่ม “มองบน” กัน เพราะอาจจะฟังดูก้าวร้าวโดยไม่จำเป็น

กลับเข้าเรื่อง เมื่อผมไปค้นคว้าเพิ่มเติม ก็พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงจริง ซึ่งก็คือการ Depoliticization หรือการเกิดความเฉยชาทางการเมือง หรือการที่บุคคลหรือสังคมค่อย ๆ เลิกสนใจ/เลิกมีส่วนร่วมทางการเมือง จนกลายเป็นกลุ่ม "ไม่แยแสทางการเมือง" (Political apathy) หรือแม้แต่ “ต่อต้านการเมือง” (anti-political) เป็นแนวคิดที่มองว่า “ไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้” หรือการมองว่า “พูดเรื่องการเมือง จะมีปัญหา อย่าไปยุ่งดีกว่า” หรือในบางกรณีคือเปลี่ยนฝ่ายทางการเมืองไปเลยแบบเพื่อนผม

ซึ่งตรงข้ามกับการ Politicization ที่มักจะอธิบายทุกปัญหาอย่างมีจิตสำนึกทางการเมือง และพยายามเสนอการแก้ปัญหาในเชิงระบบ แต่ก็เป็นแนวคิดที่นำมาซึ่งบรรยากาศการถกเถียง และความขัดแย้งจากฝ่ายต่าง ๆ ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง

ประเด็นนี้ เพื่อนชาวฮ่องกงอีกคน (ที่ไม่ใช่ตัวตึง)​ ของผมเล่าให้ฟังว่าเขาเบื่อที่จะต้องตอบคำถามกับเพื่อนเก่าหลายคนที่ชอบมาถามว่า “ทำไมถึงไปเรียนที่จีน ?” เพราะรู้เจตนาที่แท้จริงของคำถามแบบนี้ที่มักจะเป็นการ “แซะ” ยิ่งทำให้ไม่กล้าบอกเพื่อนว่าหลังเรียนจบแล้วจะเข้ารับราชการต่อ เพราะกลัวว่าจะมีปัญหาขัดแย้งกับเพื่อนบางคน ขอเรียนจบและทำงานอยู่เงียบ ๆ ดีกว่า เพราะไม่ต้องการให้มีเรื่อง toxic ในชีวิตมากเกินไป ส่วนเหตุผลที่ทำให้อยากเข้ารับราชการนั้น เพื่อนผมบอกว่า เงินเดือนค่อนข้างดี มีสวัสดิการ ทำให้มีชีวิตที่มั่นคงได้ แต่การรับราชการก็ต้องระวังเรื่องแนวคิดทางการเมืองเช่นกัน เพราะถ้ามีแนวคิดขัดกับรัฐบาลกลาง ก็อาจทำให้มีปัญหา เขาจึงมองว่าการไม่ต้องมีแนวคิดทางการเมืองเลยคือทางเลือกที่ดีต่อชีวิตและสุขภาพจิตที่สุด ไม่ต้องขัดแย้งกับกลุ่มเพื่อน ไม่ต้องมีปัญหากับที่ทำงาน

สิ่งที่ทำให้สำนึกทางการเมืองค่อย ๆ จางหายไปจากสังคมฮ่องกงนั้น สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีพื้นฐานทางสังคมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์อย่าง “ทฤษฎีทางเลือกอย่างมีเหตุผล” (Rational Choice Theory) ที่เสนอว่า “มนุษย์ตัดสินใจบนพื้นฐานของการคำนวณผลประโยชน์–ต้นทุน เพื่อเลือกสิ่งที่ให้ผลลัพธ์ดีที่สุดต่อชีวิตตนเอง” ซึ่งการตัดสินใจต่าง ๆ อาจไม่ "ถูกต้องในเชิงศีลธรรม" หรือ "สอดคล้องกับอุดมการณ์" เสมอไป แต่บางครั้ง มนุษย์ก็เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตนเองในสถานการณ์และความเป็นจริง (pragmatic)

สำหรับกรณีของฮ่องกงนั้น ในอดีต คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงอาจเลือก "ต่อต้านจีน" ด้วยความเชื่อในประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นการตัดสินใจทางอุดมคติ  (ideological decision) แต่ภายหลังปี 2020 ที่การเมืองถูกปราบปราม การเคลื่อนไหวมีความเสี่ยงสูงมาก เช่น การถูกจับ ถูกแบนอาชีพ หรือถูกคุมขัง ประกอบกับความกดดันทางสังคมในฮ่องกง ทำให้คนฮ่องกงเริ่มมองหาโอกาสจากภายนอก ซึ่งจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีความใกล้ชิดทางดินแดน รากวัฒนธรรมและภาษา รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทางเทคโนโลยี ทำให้จีนตอบโจทย์ในการเป็นดินแดนแห่งโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง ส่งผลต่อการตัดสินใจของคนฮ่องกงในการ “ประเมินต้นทุน/ความเสี่ยง - ผลตอบแทน” ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง

โจทย์ในการเลือกนั้นมีอยู่ 2 โจทย์หลัก ๆ คือ

การเลือกว่าจะ “แสดงออกทางการเมืองต่อต้านจีน” หรือ “ไม่แสดงออกทางการเมืองต่อต้านจีน”
ถ้าเลือกไม่แสดงออกทางการเมือง จะเลือก “อยู่กับจีน” หรือ “ไม่อยู่กับจีน”

ต้นทุนของการ “เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านจีน” คือเสี่ยงติดคุก เสี่ยงตกงาน เสี่ยงไม่มีอนาคต ชีวิตวุ่นวาย ในขณะที่ผลลัพธ์ไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนได้จริงหรือไม่

ในขณะที่การ “ไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านจีน” อาจไม่มีต้นทุนอะไร ส่วนประโยชน์คือความสงบ การไม่เสี่ยงติดคุก และไม่ต้องเสียอนาคต

ส่วนการเลือกว่าจะ “อยู่กับจีน” นั้น อาจมีต้นทุนทางสังคมที่ต้องเสียบ้าง แต่ก็อาจได้ประโยชน์ทางอาชีพการงาน/การศึกษา และความมั่นคงของชีวิต

ดังนั้นทาง “เลือกที่ที่สมเหตุสมผลในเชิงปฏิบัติ” (pracmatic decision) หรือทางเลือกที่คุ้มที่สุดในเชิงมูลค่าที่จับต้องได้ของกรณีนี้นั้น คือการ “เลือกไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง และอยู่กับจีน” แม้อาจไม่สอดคล้องกับความดีงามทางอุดมการณ์

ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงส่วนใหญ่ ลึก ๆ แล้วยังมีความเชื่อทางการเมืองในใจ แต่เลือกเก็บไว้กับตัวเองเพื่อความปลอดภัย เพราะเห็นว่าต้นทุนสูง และโอกาสสำเร็จต่ำ ทำให้เข้าสู่ “ภาวะความเหนื่อยล้าทางการเมือง” (Political Burnout) สิ้นหวัง หลบเลี่ยง ถอนตัว ยอมจำนนต่อความเป็นจริง และแสวงหาหนทางใหม่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ในขณะเดียวกัน การที่คนรุ่นใหม่บางคนเลือก "อยู่กับจีน" ก็ไม่ใช่เพราะพวกเขาสนับสนุนรัฐบาลจีนโดยอุดมการณ์ หากแต่เป็นเพราะพวกเขา แสวงหาทางอยู่ได้ความมั่นคงในชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้บริบทที่มีทางเลือกไม่มากนัก โดยเฉพาะในสังคมที่แข่งขันสูงและกดดันอย่างฮ่องกง ความต้องการความมั่นคงของชีวิตพุ่งสูงขึ้นกว่าที่เคย

ความเข้าใจแบบนี้ไม่เพียงช่วยอธิบายพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงแนวโน้มของเยาวชนในบริบทสังคมอื่น ๆ ที่เผชิญกับภาวะกดดันคล้ายคลึงกันทั่วโลกในยุคหลังวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ซึ่งเมื่อขยายมุมมองนี้ไปสู่ประเทศหรือเมืองอื่น ๆ เกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ก็น่าสนใจเช่นกัน ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก คลื่นฝ่ายขวารุ่นใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกสามารถอธิบายด้วยตรรกะเดียวกันนี้ได้หรือไม่ คงต้องศึกษากันต่อไป

สองคำถามสำคัญที่น่านำมาคุยกันต่อจากนี้

ข้อแรก การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงจะส่งผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ? และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการใช้กลยุทธ์ Soft Power ของฝั่งจีนหรือไม่ ?

ในประเด็นนี้ ข้อสังเกตสำคัญที่น่าจับตาคือบทบาทของ GBA ที่เข้ามาที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการดูดคนรุ่นใหม่ฮ่องกงเข้ามาในจีน และเป็น “สะพาน” ที่เชื่อมต่อระหว่าง “ต้นทางที่สิ้นหวัง” กับ “ปลายทางที่สดใส” และ “ความเหนื่อยล้าทางการเมือง” กับ “ความมั่นคงและโอกาส” สิ่งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจหรือไม่ ?

ข้อสอง ในบริบทของไทย ปรากฏการณ์ทำนองนี้ จะเกิดขึ้นหรือไม่ ? หรือเกิดขึ้นแล้ว ? หรือจะไม่มีวันเกิดขึ้น ?

ส่วนตัวผมเห็นคนไทยจำนวนมากมีอาการ Political Burnout ก็จริง แต่ยังไม่เห็นภาพของโอกาสใหม่ ๆ ให้เลือก แบบที่เพื่อนฮ่องกง 3 คนของผมเลือกไป “อยู่กับจีน”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top