เมื่อวันที่ (15 พ.ค.68) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ โพสต์เฟซบุ๊ก 'นายกรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij' ระบุ ว่าด้วยเรื่อง G-token: good or bad?
ปัจจุบันรัฐบาลสามารถกู้จากประชาชนได้ผ่านการขายพันธบัตรในแอปเป๋าตังที่คนไทยกว่า 40 ล้านคนมีในโทรศัพท์
ประชาชนสามารถลงทุนได้ด้วยเงินเพียงแค่ 100 บาท คิดจะขายก็ขายได้ ต้นทุนของรัฐบาลในการออกพันธบัตรผ่านช่องทางนี้ต่ำมาก ไม่น่าจะมีช่องทางไหนที่สะดวกและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่านี้อีกแล้ว
คราวนี้รัฐบาลจะออกสิ่งที่เรียกว่า G-token แทน นั่นคือการกู้ผ่านการออกเหรียญคริปโตในระบบ blockchain นั่นเอง
จริง ๆ ก็คือการ tokenise พันธบัตรรัฐบาลนั่นแหละ
ที่รัฐบาลบอกว่าไม่กระทบหนี้สาธารณะ ถ้าจะพูดให้ชัดขึ้นต้องบอกว่า ’ไม่กระทบมากกว่าถ้าออกเป็นพันธบัตร’ คือหนี้สาธารณะจะเพิ่มเท่ากัน นี่คือเพียงอีกวิธีที่จะกู้เงิน
ถามว่ากฎหมายให้ทำหรือไม่ รัฐบาลบอกว่าได้ มีบางคนออกมาบอกว่าไม่ได้ ส่วนตัวผมพูดได้แค่ว่ากฎหมายไม่ได้เขียนรองรับโดยตรงเพราะตอนร่างกฎหมายยังไม่มีคริปโต แต่ผมก็ไม่เห็นว่าทำไมจะทำไม่ได้ ตราบใดที่ G-token นี้มีสถานะเหมือนเป็นพันธบัตร ซึ่งซื้อขายได้ แต่ใช้ในการชำระเงินไม่ได้
ปัญหาคือ พอมันเป็นเหรียญ มันก็สามารถถูกเอาไปใช้ชำระเงินได้ง่ายขึ้น รัฐบาลก็ควรต้องอธิบายว่ามีมาตรการอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้คนไทยหรือต่างชาติใช้ G-token เสมือนเป็นเงินบาท (เพราะมีรัฐบาลคำ้ประกัน) สุดท้ายก็จะเป็นเงินอีกประเภทหนึ่งที่รัฐบาลเป็นคนออกหรือไม่? (หรือนั่นคือความตั้งใจ?) ต้องฟังความเห็นของแบงก์ชาติในประเด็นนี้
ถามว่าการเข้าถึง G-token โดยประชาชนจะสะดวกกว่าการซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือไม่ คำตอบคือ ’ไม่‘ เพราะคนไทยยังคงจะมี digital wallet น้อยกว่าแอปเป๋าตัง
ถามว่าแล้วรัฐบาลทำไปเพื่ออะไร ผมเชื่อว่าเหตุผลหลักคือต้องการเพิ่มความนิยมใน digital asset ในประเทศไทย พวก crypto exchange เช่น Bitkub หรือ Binance ต้องชอบเพราะทำให้มีสินค้าในตลาดของตนมากขึ้น และลูกค้าใหม่ก็อาจจะหันมาสนใจลงทุนใน Bitcoin หรือ digital asset ตัวอื่น ๆ มากขึ้นในอนาคต รัฐบาลก่อนหน้านี้อยากให้ประชาชนมีแอปเป๋าตัง รัฐบาลนี้อยากให้มี digital wallet
ทั้งหมดนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าคุณให้ค่ากับคริปโตแค่ไหน และรัฐบาลจะสามารถป้องกันไม่ให้ G-token กลายเป็นเงินตรา ‘นอกระบบ’ หรือไม่