Sunday, 11 May 2025
NewsFeed

'เกาหลีใต้ - ญี่ปุ่น - ไต้หวัน' เตรียมพัฒนาวัคซีนป้องกัน Covid-19 ใช้เอง

ในวันนี้ทั่วโลกเริ่มรับรู้แล้วว่า 'ความมั่นคงด้านสาธารณสุข' สำคัญเพียงใด เมื่อการแพร่ระบาดของ Covid-19 กระจายไม่หยุด เกิดระลอกการระบาดครั้งใหม่อย่างต่อเนื่องหลายประเทศ สร้างความเสียหายกับระบบสาธารณสุขอย่างมาก แม้ว่าตอนนี้จะมีวัคซีนออกมาบ้างแล้ว แต่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยังคงริบหรี่ ไม่ต่างจากวิกฤติโรคระบาดทั่วโลกที่ยังคงห่างไกลจากบทสรุป

ปัญหาใหญ่ของทั่วโลกในตอนนี้คือ การขาดแคลนวัคซีน Covid-19 อย่างหนักในหลายประเทศที่ประสบปัญหาการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงในขณะนี้ โดยที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของโลกอย่าง SII ในอินเดียไม่สามารถเพิ่มกำลังผลิตวัคซีนส่งให้ทันได้ตามกำหนด อีกทั้งประเทศผู้ผลิตวัคซีนชื่อดังในสหรัฐอเมริกายังจำเป็นต้องส่งวัคซีนให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ก่อนตามกฎหมาย

มิหนำซ้ำ ยังพบการเกิดใหม่ของวัคซีนกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ที่อาจทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนที่มีอยู่ลดน้อยลง จึงเริ่มมีข่าวการพูดคุยกันว่าอาจมีการทดลองฉีดวัคซีนต่อถึงเข็ม 3 หรืออาจต้องมีการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุกปีต่อจากนี้ จึงกลายเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังวลว่าวัคซีนอาจไม่มีโอกาสส่งต่อถึงประเทศโลกที่ 3 ได้อย่างพอเพียง หากประเทศมหาอำนาจยังคงต้องรักษาสต็อควัคซีนเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขของตนเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็บังเกิดพุทธสุภาษิตดังขึ้นในใจดังๆ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ “ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน” ต้องพัฒนาวัคซีนให้ได้เป็นของตัวเองเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ซึ่งตอนนี้หลายชาติย่านเอเชียตะวันออก หากไม่นับจีน ที่ผลิตวัคซีนของตัวเองสำเร็จแล้ว ก็จะมีเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ที่ตอนนี้เริ่มกลับมาทุ่มเทให้กลับโครงการวัคซีน Covid-19 ในประเทศของตนเอง

ที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างและน่าจะสำเร็จก่อนใครคือเกาหลีใต้ ที่ตอนนี้กำลังพัฒนาวัคซีนของตัวเองถึง 5 ตัว ในจำนวนนี้ มีวัคซีนของบริษัท Genexine ที่ใช้ชื่อว่า GX-19N ได้ผ่านการทดลองเฟส 2 เข้าสู่เฟส 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าน่าจะได้รับการรับรองให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในเกาหลีใต้เร็วๆ นี้ ซึ่งตอนนี้ทาง Genexine ได้เซ็นสัญญากับบริษัทผู้ผลิตยา Hanmi Pharmในเกาหลีใต้ และ Kalbe Farma ของอินโดนิเซียในการเริ่มผลิตวัคซีน GX-19N มากกว่า 10 ล้านโดส ก่อนปี 2022

ส่วนประเทศญี่ปุ่น แม้ประชาชนจะไม่ค่อยเชื่อมั่นกับการฉีดวัคซีนเท่าไหร่ แต่ก็จำเป็นต้องสร้างวัคซีนเป็นของตัวเองให้ได้ แม้ตอนนี้จะเหลือทีมพัฒนาวัคซีนเพียงแค่ 2 บริษัท และเพิ่มเริ่มต้นเข้าสู่การทดลองเฟส 2 เท่านั้น แต่ก็มีวัคซีนที่น่าสนใจจากบริษัท Daiishi Sankyo ที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เช่นเดียวกับวัคซีน Pfizer และ Moderna ที่ตอนนี้เป็นบริษัทเดียวในย่านนี้ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ในการพัฒนาวัคซีนสัญชาติญี่ปุ่น

ไต้หวัน ก็เป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการขาดแคลนวัคซีนในจังหวะที่เกิดการระบาดระลอกใหม่พอดี หลังจากที่ควบคุมการระบาดได้ดีมานานกว่า 1 ปี แต่ด้วยความล่าช้าของการจัดส่งวัคซีน ทั้งจากสหรัฐอเมริกา และจากการปันส่วนจากโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก ทำให้ไต้หวันต้องเร่งการวิจัยพัฒนาวัคซีนทางเลือกในประเทศ ที่ก็มีข่าวดีว่าไต้หวันมีบริษัทผู้ผลิตวัคซีนถึง 2 แห่งที่ผ่านการทดลองในช่วงเฟส 2 มาแล้ว คือ Medigan และ United Biomedical ที่รัฐบาลไต้หวังก็คาดหวังว่าวัคซีนสัญชาติไต้หวันทั้ง 2 ตัว น่าจะสำเร็จพร้อมที่จะเริ่มใช้ได้ในเดือนกรกฎาคมปีนี้

ส่วนในบ้านเรา ก็มีวัคซีนที่กำลังพัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสภากาชาดไทย ภายใต้ชื่อชื่อว่า ChulaCov19 ซึ่งใช้เทคโนโนโลยี mRNA ด้วย ตอนนี้กำลังหาอาสาสมัครทดลองฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 18-55 ปี และ กลุ่มผู้สูงอายุ 65-75 ปี และหากการทดสอบวัคซีนออกมาได้ประสิทธิภาพดีตามต้องการ ก็จะเพิ่มศักยภาพด้านการป้องกันโรคระบาดให้กับไทย ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาวัคซีนนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด และยังต่อยอดในการพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อโรคอื่นๆ ได้ในอนาคตอีกด้วย

แม้การมุ่งเน้นที่จะสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุข กำลังจะกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญระดับโลก แต่การที่เราสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเองได้นับว่ามีความมั่นคงยิ่งกว่าจริงๆ

 

อ้างอิง: https://asia.nikkei.com/Spotlight/Coronavirus/COVID-vaccines/South-Korea-Japan-and-Taiwan-rush-to-develop-homegrown-vaccines

https://www.reuters.com/article/health-coronavirus-southkorea-vaccine-idUSL3N2N50XZ

https://www.reuters.com/world/middle-east/top-scientists-question-need-covid-19-booster-shots-2021-05-13/

https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-taiwan-idUSKBN2AQ17A

https://www.prachachat.net/general/news-653298


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

พาณิชย์ลดราคา ! ช่วยประชาชน Lot11 "Food Delivery" จุรินทร์ "นำเคาะ" ลดGPเหลือ 25%  ลดค่าอาหารสูงสุด 60% 

วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน” Lot 11 (Food Delivery)

นายจุรินทร์ กล่าวว่าวันนี้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมกันให้ความช่วยเหลือร้านอาหาร โดยประชุมร่วมกับแพลตฟอร์มทั้งหมด 5 แพลตฟอร์ม ที่ให้บริการ Food Delivery และตัวแทนร้านอาหารทั่วประเทศ เช่น สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด สมาคมร้านอาหารและบันเทิงเชียงใหม่ ชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร เป็นต้น และผู้แทนสถาบันการเงิน 6 สถาบัน 1.SME D Bank 2.ธนาคารกรุงไทย 3.ธนาคารออมสิน 4.ธนาคารอิสลาม 5.ธ.ก.ส. และ6. บสย.

มี 2 ประเด็น เพื่อช่วยสนับสนุนร้านอาหารในภาวะวิกฤตโควิดประเด็นที่ 1 จัดโครงการพาณิชย์ลดราคา!ช่วยประชาชน Lot 11 เพื่อช่วยเหลือบุคคล 2 กลุ่ม

1.กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารที่ขายอาหารผ่านแพลตฟอร์ม 2.กลุ่มผู้บริโภคซึ่งซื้ออาหารผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ โดยสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารจะมีการลดค่า GP ที่แพลตฟอร์มคิดกับร้านอาหารจากเฉลี่ย 35% -25% ลงมาเหลือ 25% มีแพลตฟอร์มที่จะเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 5 แพลตฟอร์ม 1.Robinhood 2. foodpanda 3.Grab 4.Gojek และ 5.Lineman
ลดค่า GP เหลือ 25% ในภาพรวม ยกเว้น Robinhood ไม่คิดค่า GP และ foodpanda ไม่คิดค่า GP สำหรับร้านใหม่

สำหรับผู้บริโภคมี 2 ส่วน 1.ลดราคาอาหารที่ขายผ่านแพลตฟอร์มทั้ง 5 แพลตฟอร์มสูงสุด 60% และจะลดค่าขนส่ง 4 แพลตฟอร์ม ใน 3-5 กิโลเมตรแรก ลดสูงสุดจาก 40 บาทเหลือ 0 บาท ประกอบด้วย 1.Robinhood 2.foodpanda 3.Grab และ 4.Gojek ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2564  ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับค่า GP ส่วนค่าอาหารจะลดทั่วประเทศ

และประเด็นที่ 2 จัดโครงการแมตช์ชิ่งเงินกู้ให้กับร้านอาหารทั่วประเทศโดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นตัวกลางช่วยร้านอาหารสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณี  ได้รับความร่วมมือจาก 6 สถาบันการเงิน ประกอบด้วย 1.SME D Bank 2.ธนาคารกรุงไทย 3.ธนาคารออมสิน 4.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 5.ธ.ก.ส. และ 6.บสย. มีการจัด 2 กิจกรรม 1.ให้สถาบันการเงินให้ข้อมูลกับร้านอาหารที่สนใจเข้าถึงแหล่งเงินกู้วันที่ 1-6 มิถุนายน 2564ในรูปแบบออนไลน์ และต่างจังหวัดจะให้พาณิชย์จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการให้ร้านอาหารที่สนใจสอบถามข้อมูลจากสถาบันการเงิน 2.จะมีการจับแมตช์ชิ่งให้ยื่นเรื่องเพื่อขอกู้เงินตามเงื่อนไขทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ ในวันที่ 7-20 มิถุนายน 2564 เพื่อช่วยให้ร้านอาหารในช่วงวิกฤติโควิดได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณี

โดยร้านอาหารที่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่จดทะเบียนไว้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นนิติบุคคล 15,967 ร้าน และบุคคลธรรมดา 103,000 ร้าน รวมแล้ว 118,967 ร้าน 
โดยผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจะสูญเสียรายได้ 250-350 ล้านบาท และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

นายกฯ สั่งการ รมว.เฮ้ง จับมือฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ลงพื้นที่นครปฐม ตรวจสอบต่างด้าวป้องกันลักลอบทำงานผิดกฎหมาย 

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ 
พลตำรวจตรีนันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดนครปฐม เพื่อตรวจสอบการจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อป้องกันการลักลอบทำงานผิดกฎหมาย สอดคล้องตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่สั่งการให้กระทรวงแรงงาน บูรณาการกับฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ประสานการทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อคุมเข้มเฝ้าระวังป้องกันและปราบปรามการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตลอดจนการควบคุมสถานการณ์ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แก่แรงงานในสถานประกอบการอีกด้วย 

พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในวันนี้ ผมได้รับมอบหมายจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น 
ให้ลงพื้นที่จังหวัดนครปฐม ตรวจสอบการจ้างแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายตามนโยบายของรัฐบาล โดยมี นายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม นายอำเภอบางเลน ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนครปฐม กอ.รมน.จังหวัดนครปฐม และจัดหางานจังหวัดนครปฐม เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ ตลาดกลางปลาน้ำจืด บางเลนพัฒนาการประมง อ.บางเลน จ.นครปฐม ซึ่งจากการตรวจสอบแรงงานต่างด้าว พบผู้กระทำความผิดเนื่องจากไม่มีใบอนุญาตทำงาน และ ใบอนุญาตพำนักอาศัยในราชอาณาจักรไทยสิ้นสุด จำนวน 10 ราย ซึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้นำตัวไปดำเนินคดีต่อไป 

ทั้งนี้ หากตรวจพบนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี ส่วนคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 - 50,000 บาท และถูกส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี หากผู้ใดพบเห็นหรือสงสัยว่ามีคนต่างด้าวลักลอบทำงานผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ไทย-เกาหลีใต้พร้อมกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน พร้อมเพิ่มพูนการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ห้องโดม ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทางโทรศัพท์กับ นายมุน แช-อิน (H.E. Mr. Moon Jae-in) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี โดยเป็นการหารือเพื่อรักษาพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างกัน และเพื่อยืนยันการสนับสนุนเกาหลีใต้ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำกรอบหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตสีเขียวและเป้าหมายโลกปี 2030 (Partnering for Green Growth and Global Goals 2030 : P4G) ครั้งที่ 2

นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า การหารือครั้งนี้จะเป็นการหารือเพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-เกาหลีใต้ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และขอขอบคุณ และเป็นเกียรติที่ไทยจะได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ P4G ครั้งที่ 2 ณ กรุงโซล ผ่านระบบวีดิทัศน์แบบถ่ายทอดสดร่วมกันกับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในวันจันทร์ที่ 31 พ.ค.นี้ เชื่อมั่นว่าการประชุมฯ จะประสบความสำเร็จ

ด้านประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี กล่าวขอบคุณการสนับสนุนของไทยต่อการเป็นเจ้าภาพการประชุม P4G ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าไทยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และพร้อมมีบทบาทในเวทีนานาชาติ เกาหลีใต้ให้ความสำคัญในการดำเนินนโยบาย มุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy - NSP) และ นโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส (New Southern Policy Plus - NSPP) และให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงนโยบายขอขอบคุณบทบาทของนายกรัฐมนตรีที่นำพาประเทศไทยได้อย่างเข้มแข็ง ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะผ่านความท้าทายนี้ไปได้ด้วยดี ซึ่งด้วยศักยภาพและประสบการณ์ของไทย และเกาหลีใต้สามารถร่วมมือกันเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความท้าทายในประชาคมโลกได้ 

จากนั้นทั้งสองฝ่ายหารือถึงความร่วมมือทวิภาคี ด้านการค้าการลงทุน โดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงในไทยเป็นอันดับหนึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้เชื่อมั่นว่าไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการลงทุน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการค้าการลงทุนของเกาหลีใต้ และไทยมีความร่วมมือ และพยายามจัดการประชุมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนเพิ่มเติม ทั้งนี้ เป็นผลจากการพบกันในการเดินทางเยือนไทยของประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อปี 2562 

ด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เกาหลีใต้ชื่นชมนโยบายของไทยที่ให้ความสำคัญกับการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางควบคู่กับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) หรือโมเดลบีซีจี ซึ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการยกระดับอุตสาหกรรม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างสมดุลกับธรรมชาติ และเป็นแนวทางที่สอดรับกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy: NSP) และนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส (New Southern Policy Plus: NSPP) ของเกาหลีใต้ ในด้านอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Future Industries) นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าเป็นสาขาความร่วมมือที่มีความสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังโควิด-19 จึงได้เสนอเชิญชวนเกาหลีใต้ลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมเพื่อการเจริญเติบโตสีเขียว ในเขต EEC ซึ่งฝ่ายเกาหลีใต้ตอบรับการสนับสนุนการลงทุนในเขต EEC ส่วนด้านสาธารณสุข เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่สำคัญในขณะนี้ ทั้งสองประเทศมีศักยภาพ และมีประสบการณ์ จากการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังให้เร่งรัดจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข เพื่อกำหนดขอบเขตความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนด้านสาธารณสุขระหว่างกันต่อไป

ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายได้หยิบยกประเด็นความร่วมมือแบบพหุภาคี เกาหลีใต้ชื่นชมบทบาทการเป็นแกนกลางในภูมิภาคของไทย ซึ่งไทยชื่นชมและพร้อมสนับสนุนบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของเกาหลีใต้ที่มุ่งรักษาความสมดุลระหว่างประเทศ ตามแนวทางสันติวิธีเช่นเดียวกับไทย ในอนุภูมิภาคและภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - เกาหลีใต้ (Mekong – ROK Cooperation) กรอบ ACMECS และกรอบอาเซียน - เกาหลีใต้ (ASEAN - ROK) ทั้งนี้ ไทยมุ่งหวังว่าอาเซียนและเกาหลีใต้จะได้ร่วมกันสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม และทั้งสองฝ่ายได้หารือเชิงสร้างสรรค์ต่อสถานการณ์ในเมียนมาในโอกาสนี้ด้วย 

“บิ๊กแก้ว” ปช. ส่วนราชการ ร่วมบูรณาการและขับเคลื่อนการบริหารจัดการชายแดนภายใต้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) พล.อ.เฉลิมพล  ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด  (ผบ.ทสส.) ในฐานะผู้อำนวยการปฏิบัติจัดการประชุมบูรณาการและขับเคลื่อนการบริหารจัดการชายแดนภาคใต้ พร้อม หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 โดยมี นโยบายชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีการหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดน ในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามกรอบแนวทางที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ได้มอบไว้ในการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดน ในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด19 ของจังหวัดชายแดน เมื่อวันที่ 24 พ.ค.64 

ทั้งนี้ พล.อ.เฉลิมพล  ได้เน้นย้ำให้จังหวัดชายแดนมีความเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย การลักลอบขนส่งยาเสพติด และสินค้าผิดกฎหมาย ตลอดจนการดำเนินมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ในพื้นที่ชายแดน โดยให้บูรณาการการดำเนินงานของทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคง ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ผ่านกลไกศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจังหวัด ซึ่งเป็นกลไกของกองอำนวยการปฏิบัตินโยบายชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (กอ.นชท.)  เพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติงานร่วมกันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกลไก 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนท้องถิ่น ส่วนภูมิภาค และส่วนกลางหรือระดับนโยบาย โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะรองผู้อำนวยการปฏิบัตินโยบายชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลการปฏิบัติของศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจังหวัด

ผบ.ทสส. ได้เน้นย้ำให้ศูนย์ปฏิบัติการเหล่าทัพ โดย กองทัพภาคที่ 1-4 ทัพเรือภาคที่ 1-3 และ กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ในฐานะศูนย์ควบคุมชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้การสนับสนุนการปฏิบัติของศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจังหวัด ทั้งในพื้นที่ชายแดนทางบก และทางทะเล เพื่อให้การปฏิบัติเกิดการบูรณาการจากทุกภาคส่วนมีความเป็นเอกภาพ สำหรับการปฏิบัติในพื้นที่ชายแดน พื้นที่ถัดจากชายแดน และพื้นที่ตอนในนั้น จะต้องมีความประสานสอดคล้อง เชื่อมโยงกันในลักษณะโครงข่าย เพื่อให้การปฏิบัติมีความต่อเนื่อง มีการติดต่อสื่อสารที่ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการ 

ในที่ประชุมได้ขอให้กระทรวงแรงงาน ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากนายจ้างหรือผู้ประกอบการที่มีความต้องการใช้แรงงานต่างด้าว ดำเนินการจัดหาหรือจ้างแรงงานให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งเร่งรัดการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการตรวจสอบ หรือสืบสวน สอบสวน กรณีมีการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการหลบหนีเข้าเมือง จากกลุ่มขบวนการ ผู้นำพาหรือนายจ้าง เป็นต้น 

ทั้งนี้  ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักและปฏิบัติงานตามหน้าที่รับผิดชอบอย่างเต็มขีดความสามารถ เพราะทุกหน่วยงานถือเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนกลไกให้เป็นไปอย่างประสานสอดคล้องตามหน้าที่ของแต่ละส่วน โดยขอให้มีการปรึกษาหารือและประสานการปฏิบัติระหว่างกันโดยใกล้ชิดในทุกมิติ เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 

ประกันสังคมลดเงินสมทบช่วยเหลือนายจ้าง ผู้ประกันตน กระทบโควิด-19 นายจ้าง ผู้ประกันตนม.33 ร้อยละ 2.5 - ม.39 เหลือเดือนละ 216 เริ่ม มิ.ย.- ส.ค. 64 นี้

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงนามในประกาศกฎกระทรวง กำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (ฉบับที่3) พ.ศ.2564 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 โดยมีผลบังคับใช้ งวดเดือนมิถุนายน – สิงหาคม พ.ศ.2564 ตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่นายจ้าง และผู้ประกันตน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประกาศกฎกระทรวง ได้กำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบ โดยให้จัดเก็บเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33 เดิมร้อยละ 5 ลดลงเหลือร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน (ค่าจ้างสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท ถูกหักเงินสมทบ 375 บาท) และผู้ประกันตนมาตรา 39 เดิมร้อยละ 9 ลดลงเหลือร้อยละ 4.5 (จากเดิมที่จ่ายเดือนละ 432 บาทเหลือ 216 บาท) สำหรับรัฐบาลยังคงส่งเงินสมทบในอัตราเดิม คือร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่าการลดเงินสมทบครั้งนี้จะช่วยลดภาระ แก่นายจ้าง 4.85 แสนราย ลดค่าใช้จ่ายลงได้ 9,487 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและรักษา การจ้างงานต่อไปได้ ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับประโยชน์จำนวน 11.1 ล้านคน ลดภาระค่าใช้จ่าย ลงได้ 9,487 ล้านบาท และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.8 ล้านคน ลดค่าใช้จ่ายลงได้ 1,189 ล้านบาท และเมื่อรวมผู้ประกันตนทั้ง 12.9 ล้านคนแล้ว จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ถึง 10,676 ล้านบาท คาดว่าจะเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 20,163 ล้านบาท จึงขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจในการดำเนินงาน ของสำนักงานประกันสังคม ที่พร้อมดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แก่นายจ้าง และผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคมอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที ให้มากที่สุด

สตาร์ทอัพมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสัญชาติไทย 'ETRAN' ระดมทุนระดับ Serie A ได้กว่า 100 ล้านบาท

Startup สัญชาติไทย 'อีทราน' (ETRAN) สามารถระดมทุนสู่ระดับ Series A มูลค่าราว 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 100 ล้านบาท จากนักลงทุนอิสระ และ บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR ผู้ผลิตและจำหน่ายยางล้อรถมอเตอร์ไซค์สัญชาติไทย โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนนั้น ทางอีทรานจะนําไปลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น เช่น แบตเตอรี่ และมอเตอร์สมรรถนะสูง รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตที่คํานึงถึงการเกิดลดมลภาวะในทุกขั้นตอน

ทั้งนี้ เป้าหมายของ ETRAN ได้แก่...

1.) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้เป็นแสนต้น

2.) ทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น มีเงินเหลือ ลดต้นทุนค่าน้ำมัน เพราะพลังงานไฟฟ้าสามารถผลิตได้จาก Renewable Source ได้ จะช่วยให้คนขับวินมีค่าใช้จ่ายลดลง (ค่าน้ำมัน ค่าเช่าซื้อ) ส่งผลให้มีเงินเก็บมากขึ้น และคุณภาพชีวิตดีขึ้น

3.) ต้องตอบแทนสังคมได้ ทำให้โลกดีขึ้นได้ เพราะการมีรถแบรนด์ไทยดีต่อระบบเศรษฐกิจ และทำให้มีการเรียนรู้เทคโนโลยีในภาคการศึกษา คนมีคุณภาพดีสังคมก็ดีขึ้น และสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เป็นความสมดุลทุกด้านตามที่ ETRAN เป็นสตาร์ทอัพที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

โดยในปีนี้ อีทรานจะเปิดตัว 2 รุ่นแรก ได้แก่ KRAF และ MYRA โดยสําหรับ MYRA นั้น นับเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ออกแบบมาเพื่อการขนส่งโดยเฉพาะ ทำความเร็วได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทางวิ่งต่อ 1 การอัดประจุ ได้ 180 กิโลเมตร รองรับการเปลี่ยนแบตเตอรี่ผ่าน Battery swapping staion ที่อีทรานจะทยอยติดตั้งในบริเวณกรุงเทพมหานครกว่า 100 สถานี นอกจากนี้ ตัวรถยังติดตั้ง กล่องขนส่ง ตู้เย็น อุปกรณ์ติดตาม และระบบบริหารจัดการเครือข่ายขนส่งขนาดใหญ่ รองรับตลาดกลุ่ม Delivery ที่กําลังเติบโตเป็นอย่างมากใน 1-2 ปีที่ผ่านมา

“ตามแผนการดำเนินธุรกิจ อีทรานในปี 2565 ตั้งเป้ารายได้ประมาณ 400-500 ล้านบาท และปี 2566 คาดว่ารายได้จะเติบโตถึง 1,000 ล้านบาท” นายสรณัญช์ กล่าว

 

ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2129432910532322&id=1233859410089681


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

“รมช.มนัญญา” กำชับ อ.ส.ค. และสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมเฝ้าระวังการแพร่ระบาด “โรคลัมปี สกิน” ไม่ให้กระทบอุตสาหกรรมโคนมประเทศ นำทีมผู้บริหารฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ณ ฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง อ.ส.ค. จ.สระบุรี

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์   รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิด "โครงการรณรงค์ป้องกันโรคลัมปี สกิน" (Lumpy Skin Disease) ณ ฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี  โอกาสนี้ได้มอบสิ่งของเวชภัณฑ์/ยาฆ่าแมลง พร้อมถังฉีดพ่นให้กับสหกรณ์เขตภาคกลาง 15 แห่งที่ส่งน้ำนมให้ กับ อ.ส.ค. และร่วมฉีดพ่นยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นพาหะของโรคลัมปี สกิน ณ ฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง อ.ส.ค. จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมฟาร์มเกษตรกร พร้อมชมการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ณ ณัฎฐ์ฟาร์ม ตำบลมวกเหล็ก อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี

รมช.มนัญญา กล่าวว่า "จากสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ที่ยังวิกฤติหนักในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือทั่วประเทศ  ตนในฐานะกำกับดูแล อ.ส.ค. มีความห่วงใยต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจึงได้สั่งการให้ อ.ส.ค. เฝ้าระวังโรคในพื้นที่พร้อมติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด และให้รายงานสถานการณ์ให้ทราบอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม หากไม่เร่งยับยั้งการระบาดในพื้นที่ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม อาจส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของเกษตรกรและอุตสาหกรรมโคนมของประเทศในอนาคตได้" รมช.มนัญญา กล่าว

สุวัจน์ - ราชภัฎโคราช หนุน ช่วยชาวโคราช กู้วิกฤติ โควิด-19 ผลิตพยาบาล พัฒนาอาชีพ - ช่วยผู้ประกอบการ -กระตุ้นท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี  ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ได้กล่าวกับ ผศ. ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี คณาอาจารย์ และเจ้าหน้าที่บุคลากรของมหาวิทยาลัย ในที่ประชุมบุคลากรของมหาวิทยาลัยประจำปีการศึกษา 2564 ในหัวข้อ “การปรับตัวของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมาภายหลังโควิด- 19” ผ่านการประชุมทางไกล ว่า ความสำเร็จของการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 คือ ต้องเร่งรัดการได้มาของวัคซีน ที่มีจำนวนเพียงพอจากทุกแหล่ง ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อเร่งระดมฉีดให้กับประชาชนทั้งประเทศ เพื่อเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ที่วางแผนไว้ประมาณ 100 ล้านโดสให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายในปีนี้ ยิ่งวัคซีนฉีดเร็ว โควิดก็จะจบเร็ว โควิดจบเร็ว เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวเร็ว

หลังจากนี้จะเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับภัยโควิด-19 จบ ซึ่งขณะนี้ก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จาก พรก.กู้เงินฉบับใหม่อีก 5 แสนล้านบาท ขณะนี้ปัญหา คือ ความเดือดร้อน และความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน การตกงาน ผู้ประกอบการขาดทุน เลิกกิจการ รวมทั้งความวิตกกังวลในเรื่องของโรคระบาด เรื่องความเจ็บป่วย การสูญเสียชีวิตต่างๆ ขอให้ ชาวราชภัฎทุกท่านร่วมกันคิด และแสวงหาทางออกในสถานการณ์วิกฤตขณะนี้ และร่วมกันออกไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาเดือนร้อนตามบทบาทหน้าที่ และเจตนารมณ์ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย เพื่อตอบสนองความต้องการและปัญหาของท้องถิ่น 

ที่ผ่านมาอธิการบดี ผู้บริหาร และนักศึกษา ได้ออกไปทำประโยชน์ช่วยเหลือสนับสนุนการแก้ปัญหาโควิด-19 ให้กับชาวโคราชเป็นอย่างดี  การออกไปช่วยเป็นจิตอาสาร่วมกับโรงพยาบาลมหาราชในการรับลงทะเบียนการฉีดวัคซีน การสนับสนุนคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ก ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ การออกไปมอบสิ่งเครื่องใช้ที่จำเป็นให้กับผู้ที่เดือดร้อน 

ในเรื่องเศรษฐกิจก็ออกไปช่วยให้คำแนะนำด้านวิชาการในการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การออกไปช่วยพัฒนาแหล่งน้ำตกเหวเสมา น้ำตกหินทรายที่สีคิ้ว การจัดทำผังแม่บทของการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรม ของวัดบ้านไร่ การเป็นแกนหลักรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยราชภัฎในการผลักดันให้โคราชเป็น GEO PARK เพื่อสร้างโคราชให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เมื่อโควิดจบพวกเราต้องพร้อมกันออกไปช่วยเรื่องเศรษฐกิจกันต่อ ช่วยคนตกงาน ช่วยสร้างอาชีพให้กับพวกเขา ช่วยเสริมสร้างทักษะและขีดความสามารถให้กับ SMEs และผู้ประกอบการ ให้ยืนอยู่ต่อสู้กับวิกฤตให้ได้ 

และนอกจากนั้นมหาวิทยาลัยโดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยได้มีมติอนุมัติให้มีการจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขนาดแคลนบุคลากรทางด้านสาธารณสุขให้เพียงพอ เพื่อต่อสู้กับปัญหาการโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นอีก และดูแลสุขภาพให้ชาวโคราช  โดยจะเริ่มเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2565 นี้โดยจะรับรุ่นที่ 1 ได้ถึง 72 คน “ผมขอเชิญชวนชาวราชภัฎโคราช ร่วมมือร่วมใจ ผนึกกำลังกันกับคนชาวโคราชตามบทบาทหน้าที่ของการเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อฟันฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน เพื่อความอยู่ดี กินดี ของชาวโคราชตลอดไปครับ”

มาไม่หยุดทุกพื้นที่ชายแดน…!!! กองกำลังสุรสีห์ จับอีกระลอก 21 คนเมียนมา-กัมพูชา หลบเข้าประเทศทางช่องธรรมชาติพื้นที่ชายแดน

เมื่อวันที่ 30 พ.ค.กองทัพภาคที่​ 1​ โดยกองกำลัง สุรสีห์ (กกล.สุรสีห์) โดย หน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า (ฉก.ลาดหญ้า) ร่วมกับ สภ.ไทรโยค, สภ.สังขละบุรี, ร้อย.ตชด.136 เเละฝ่ายปกครอง  ลาดตระเวนตรวจถึงบริเวณเส้นทางธรรมชาติ บ.ท้ายเหมือง ต.บ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ได้ตรวจพบกลุ่มบุคคลต้องสงสัย ตรวจสอบพบเป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย เลยแสดงตัวเข้าจับกุม จำนวน 9 คน เป็นชาย 7 คน หญิง 2 คน

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตรวจยังพบกลุ่มบุคคลต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย อีกจำนวน 6 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 3 คน กำลังเดินเข้ามายังบริเวณสวนยาง บ้านทิโคร่ง ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ทางหน่วยจึ่งได้ทำการตรวจวัดอุณหภูมิ เเละนำตัวผู้ต้องหาส่งดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป

ต่อมาวันที่ 30 พ.ค.เวลา 01.00 น. กองกำลังบูรพา (กกล.บูรพา)  โดยชุด

คทร.ฉก.ตาพระยา ตรวจพบแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา จำนวน 7 คน ชาย 3 คน หญิง 3 คน และเด็กหญิง 1 คน พร้อมชายไทย 1 คน เป็นคนดูต้นทาง บริเวณบ้านทัพสยาม อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว จากการสอบถาม ทั้งหมดให้การว่าจะเข้าไปหางานทำในพื้นที่ตอนในของประเทศไทย เจ้าหน้าที่จึงได้ควบคุมตัวสั่งตัวไปดำเนินการตามกฎหมายและมาตรการควบคุมโรคต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top