'เกาหลีใต้ - ญี่ปุ่น - ไต้หวัน' เตรียมพัฒนาวัคซีนป้องกัน Covid-19 ใช้เอง

ในวันนี้ทั่วโลกเริ่มรับรู้แล้วว่า 'ความมั่นคงด้านสาธารณสุข' สำคัญเพียงใด เมื่อการแพร่ระบาดของ Covid-19 กระจายไม่หยุด เกิดระลอกการระบาดครั้งใหม่อย่างต่อเนื่องหลายประเทศ สร้างความเสียหายกับระบบสาธารณสุขอย่างมาก แม้ว่าตอนนี้จะมีวัคซีนออกมาบ้างแล้ว แต่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยังคงริบหรี่ ไม่ต่างจากวิกฤติโรคระบาดทั่วโลกที่ยังคงห่างไกลจากบทสรุป

ปัญหาใหญ่ของทั่วโลกในตอนนี้คือ การขาดแคลนวัคซีน Covid-19 อย่างหนักในหลายประเทศที่ประสบปัญหาการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงในขณะนี้ โดยที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของโลกอย่าง SII ในอินเดียไม่สามารถเพิ่มกำลังผลิตวัคซีนส่งให้ทันได้ตามกำหนด อีกทั้งประเทศผู้ผลิตวัคซีนชื่อดังในสหรัฐอเมริกายังจำเป็นต้องส่งวัคซีนให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ก่อนตามกฎหมาย

มิหนำซ้ำ ยังพบการเกิดใหม่ของวัคซีนกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ที่อาจทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนที่มีอยู่ลดน้อยลง จึงเริ่มมีข่าวการพูดคุยกันว่าอาจมีการทดลองฉีดวัคซีนต่อถึงเข็ม 3 หรืออาจต้องมีการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุกปีต่อจากนี้ จึงกลายเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังวลว่าวัคซีนอาจไม่มีโอกาสส่งต่อถึงประเทศโลกที่ 3 ได้อย่างพอเพียง หากประเทศมหาอำนาจยังคงต้องรักษาสต็อควัคซีนเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขของตนเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็บังเกิดพุทธสุภาษิตดังขึ้นในใจดังๆ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ “ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน” ต้องพัฒนาวัคซีนให้ได้เป็นของตัวเองเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ซึ่งตอนนี้หลายชาติย่านเอเชียตะวันออก หากไม่นับจีน ที่ผลิตวัคซีนของตัวเองสำเร็จแล้ว ก็จะมีเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ที่ตอนนี้เริ่มกลับมาทุ่มเทให้กลับโครงการวัคซีน Covid-19 ในประเทศของตนเอง

ที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างและน่าจะสำเร็จก่อนใครคือเกาหลีใต้ ที่ตอนนี้กำลังพัฒนาวัคซีนของตัวเองถึง 5 ตัว ในจำนวนนี้ มีวัคซีนของบริษัท Genexine ที่ใช้ชื่อว่า GX-19N ได้ผ่านการทดลองเฟส 2 เข้าสู่เฟส 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าน่าจะได้รับการรับรองให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในเกาหลีใต้เร็วๆ นี้ ซึ่งตอนนี้ทาง Genexine ได้เซ็นสัญญากับบริษัทผู้ผลิตยา Hanmi Pharmในเกาหลีใต้ และ Kalbe Farma ของอินโดนิเซียในการเริ่มผลิตวัคซีน GX-19N มากกว่า 10 ล้านโดส ก่อนปี 2022

ส่วนประเทศญี่ปุ่น แม้ประชาชนจะไม่ค่อยเชื่อมั่นกับการฉีดวัคซีนเท่าไหร่ แต่ก็จำเป็นต้องสร้างวัคซีนเป็นของตัวเองให้ได้ แม้ตอนนี้จะเหลือทีมพัฒนาวัคซีนเพียงแค่ 2 บริษัท และเพิ่มเริ่มต้นเข้าสู่การทดลองเฟส 2 เท่านั้น แต่ก็มีวัคซีนที่น่าสนใจจากบริษัท Daiishi Sankyo ที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เช่นเดียวกับวัคซีน Pfizer และ Moderna ที่ตอนนี้เป็นบริษัทเดียวในย่านนี้ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ในการพัฒนาวัคซีนสัญชาติญี่ปุ่น

ไต้หวัน ก็เป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการขาดแคลนวัคซีนในจังหวะที่เกิดการระบาดระลอกใหม่พอดี หลังจากที่ควบคุมการระบาดได้ดีมานานกว่า 1 ปี แต่ด้วยความล่าช้าของการจัดส่งวัคซีน ทั้งจากสหรัฐอเมริกา และจากการปันส่วนจากโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก ทำให้ไต้หวันต้องเร่งการวิจัยพัฒนาวัคซีนทางเลือกในประเทศ ที่ก็มีข่าวดีว่าไต้หวันมีบริษัทผู้ผลิตวัคซีนถึง 2 แห่งที่ผ่านการทดลองในช่วงเฟส 2 มาแล้ว คือ Medigan และ United Biomedical ที่รัฐบาลไต้หวังก็คาดหวังว่าวัคซีนสัญชาติไต้หวันทั้ง 2 ตัว น่าจะสำเร็จพร้อมที่จะเริ่มใช้ได้ในเดือนกรกฎาคมปีนี้

ส่วนในบ้านเรา ก็มีวัคซีนที่กำลังพัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสภากาชาดไทย ภายใต้ชื่อชื่อว่า ChulaCov19 ซึ่งใช้เทคโนโนโลยี mRNA ด้วย ตอนนี้กำลังหาอาสาสมัครทดลองฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 18-55 ปี และ กลุ่มผู้สูงอายุ 65-75 ปี และหากการทดสอบวัคซีนออกมาได้ประสิทธิภาพดีตามต้องการ ก็จะเพิ่มศักยภาพด้านการป้องกันโรคระบาดให้กับไทย ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาวัคซีนนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด และยังต่อยอดในการพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อโรคอื่นๆ ได้ในอนาคตอีกด้วย

แม้การมุ่งเน้นที่จะสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุข กำลังจะกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญระดับโลก แต่การที่เราสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเองได้นับว่ามีความมั่นคงยิ่งกว่าจริงๆ

 

อ้างอิง: https://asia.nikkei.com/Spotlight/Coronavirus/COVID-vaccines/South-Korea-Japan-and-Taiwan-rush-to-develop-homegrown-vaccines

https://www.reuters.com/article/health-coronavirus-southkorea-vaccine-idUSL3N2N50XZ

https://www.reuters.com/world/middle-east/top-scientists-question-need-covid-19-booster-shots-2021-05-13/

https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-taiwan-idUSKBN2AQ17A

https://www.prachachat.net/general/news-653298


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32