Sunday, 30 June 2024
NewsFeed

‘เด็กตรัง’ ผุดไอเดียพานไหว้ครู ‘ขนม-ลูกอม-เหนียวไก่ทอด’ เสร็จกิจกรรมแบ่งกันกิน - มีความสุขถ้วนหน้า โดยไม่เสียของ

(13 มิ.ย. 67) โรงเรียนเทศบาลวัดตรังคภูมิพุทธาวาส สังกัดเทศบาลเมืองกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งมีนักเรียนทั้งหมด 123 คน ภายใต้การนำของ นายกาลสิษฐ์ เพชรคง ผู้อำนวยการโรงเรียน และนายชาตรี บุญมี หรือ ครูแว่นดำ ครูผู้พิการทางการมองเห็นชื่อดัง ในฐานะรองผู้อำนวยการโรงเรียน

โดยได้จัดให้มีพิธีไหว้ครู ประจำปีการศึกษา 2567 ขึ้น เพื่อให้เด็ก ๆ ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงความสำคัญของครู ในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ และประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติ และประชาชนเป็นอันมาก ด้วยการสั่งสอนศิษย์ หรือถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นเป็นผู้มีความรู้ มีคุณธรรม และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อสังคมในภายภาคหน้า

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้พิธีไหว้ครูของปีนี้ มีความแปลกแตกต่างไปจากทุกปี ดังนั้น นายกาลสิษฐ์ จึงคิดใหม่ ทำใหม่ ในยุคใหม่ นอกจากเหนือไปจากการเจิมหนังสือ หรือตำราเรียนแล้ว ยังเจิมไอแพด และสมาร์ตโฟนด้วย ถือว่าเป็นสิ่งที่ลูกศิษย์สามารถเข้าไปหาความรู้ได้เหมือนกัน

นอกจากนี้ ยังให้จัดทำพานไหว้ครูแห่งความสุข ด้วยวัสดุอะไรก็ได้ และความหมายก็ให้คิดกันมาเอง จนทำให้เกิดการทำพานไหว้ครูที่สร้างสรรค์มากมาย เช่น พานข้าวเหนียวไก่ทอด พานเยลลี่ พานขนม พานคุกกี้ พานลูกอม พานตัวการ์ตูน ซึ่งหลังทำพิธีไหว้ครูเสร็จ สามารถกินพานไหว้ครูได้เลย ทำให้นักเรียนมีความสุขกันทุกคน

🔎ส่อง ‘ยุโรป’ และ ‘แอฟริกา’ SPR เป็นยังไง

นับตั้งแต่ปี 2004 น้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 4.1 พันล้านบาร์เรลถูกจัดเก็บไว้เพื่อเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง โดยประเทศสมาชิกของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ซึ่งปริมาณ 1.4 พันล้านบาร์เรลอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลของชาติสมาชิกจัดว่าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) และส่วนที่เหลือ 2.7 พันล้านบาร์เรลถูกถือครองโดยภาคธุรกิจเอกชน ความแตกต่างระหว่างน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) กับน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเชิงพาณิชย์ที่ถือครองโดยภาคธุรกิจเอกชน แม้จะมีความมุ่งหมายเดียวกันคือการป้องกันความเสี่ยงจากวิกฤตพลังงานในอนาคต แต่ SPR เป็นการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเพื่อความมั่นคง ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเชิงพาณิชย์เป็นการจัดเก็บเพื่อการพาณิชย์ด้วยหวังผลกำไรทางธุรกิจของบริษัทเอกชนผู้ถือครองโดยภาครัฐไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวจัดการได้ เว้นแต่มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษเช่น กฎอัยการเพื่อเข้าควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองดังกล่าว

ตามข้อตกลงในเดือนมีนาคม 2001 สมาชิกในขณะนั้นทั้งหมด 30 ชาติของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) จะต้องมีปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์เท่ากับ 90 วันของการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสุทธิของปีที่แล้วของแต่ละประเทศ เฉพาะสมาชิกผู้ส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสุทธิ (ส่งออกมากกว่านำเข้า) ของ IEA เท่านั้นที่ได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดนี้ ประเทศที่ได้รับการยกเว้น ได้แก่ แคนาดา เอสโตเนีย เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาสหราชอาณาจักรและเดนมาร์กได้จัดตั้งคลังน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองทางยุทธศาสตร์ของตนเองเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีทางกฎหมายในฐานะรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป 

เพื่อให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเพิ่มความยืดหยุ่นในโควตาการผลิตของตน จึงมีความเคลื่อนไหวที่นำไปสู่ข้อตกลงการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ล่วงหน้า ข้อตกลงเหล่านี้อนุญาตให้จัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมไว้ภายในประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมทางเทคนิคของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ข้อตกลงดังกล่าวช่วยให้ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสามารถเข้าถึงปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วและไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ในขณะที่หลายประเทศในยุโรปมีข้อตกลงในการแบ่งปันน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมกับประเทศอื่น ๆ ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในยุโรปขึ้น ตามคำสั่งของสภาแห่งสหภาพยุโรป 68/414/EEC วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2511 รัฐสมาชิกทั้ง 27 ประเทศจะต้องมีปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ภายในอาณาเขตของสหภาพยุโรป เท่ากับอย่างน้อย 90 วันของการบริโภคภายในประเทศโดยเฉลี่ย

• สาธารณรัฐเช็กมี SPR 4 คลังในเมือง Nelahozeves ดำเนินการโดยบริษัท CR Mero โดย SPR ของเช็กเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 100 วันหรือ 20,300,000 บาร์เรล 

• เดนมาร์กมีปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียม SPR เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 81 วัน ยังไม่รวม SPR ที่ถือครองโดยกองทัพ

• ฟินแลนด์จัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียม SPR 14-18 ล้านบาร์เรล ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศอย่างน้อย 90 วัน

• ฝรั่งเศสมี SPR มีขนาดประมาณ 65,000,000 บาร์เรล (ในปี 2003 มีการกำหนดให้มีปริมาณเชื้อเพลิงเครื่องบินคงเหลืออย่างน้อย 55 วัน) โดยครึ่งหนึ่งควบคุมโดย Société Anonyme de Gestion des Stocks de Sécurité (SAGESS) และอีกครึ่งหนึ่งควบคุมโดยบริษัทผู้ค้าน้ำมัน

• เยอรมนีก่อตั้ง Federal Oil Reserve ในปี 1970 ซึ่งตั้งอยู่ในถ้ำเกลือ Etzel ใกล้กับ Wilhelmshaven ทางตอนเหนือของเยอรมนี โดยมีขนาดเริ่มแรก 70 ล้านบาร์เรล (ปัจจุบัน Federal Oil Reserve ของเยอรมนีและ Erdölbevorratungsverband (EBV) (บริษัทถือหุ้นของเยอรมนี) กำหนดให้บริษัทผู้กลั่นน้ำมันต้องสำรองน้ำมันไว้เป็นเวลา 90 วัน ทำให้เยอรมนีมีขนาดสำรองประมาณ 250,000,000 บาร์เรล SPR ของเยอรมันถือว่ามากที่สุดในยุโรป

• ฮังการีมี SPR เพียงพอเท่ากับราว 90 วันสำหรับการบริโภคในประเทศหรือ 11,880,000 บาร์เรล 

• ไอร์แลนด์มี SPR เพียงพอต่อการบริโภคประมาณ 31 วันที่จัดเก็บในประเทศ และปริมาณสำหรับอีก 9 วันเก็บในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีตั๋วน้ำมัน (สัญญาในการซื้อน้ำมันในกรณีฉุกเฉิน) และน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถือครองโดยอุตสาหกรรมเอกชนขนาดใหญ่หรือผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรายใหญ่ โดยรวมแล้วเพียงพอสำหรับการใช้ประมาณ 100 วัน

• เนเธอร์แลนด์มีน้ำมันสำรอง 90 วันของการนำเข้าน้ำมันสุทธิ ในปี พ.ศ. 2556 คิดเป็นปริมาณน้ำมันประมาณ 30.5 ล้านบาร์เรล

• โปแลนด์มี SPR เท่ากับประมาณ 90 วันสำหรับการบริโภค ทั้งยังกำหนดให้บริษัทน้ำมันต้องรักษาปริมาณสำรองไว้เพียงพอสำหรับการบริโภค 73 วัน 

• โปรตุเกสมี SPR มีขนาดประมาณ 22,440,000 บาร์เรล 
• สโลวาเกียมี SPR มีขนาดประมาณ 748,000 บาร์เรล
• สเปนมี SPR มีขนาดประมาณ 144,000,000 บาร์เรล 
• สวีเดนมี SPR มีขนาดประมาณ 13,290,000 บาร์เรล 
• สหราชอาณาจักรจัดเก็บเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์เท่ากับประมาณ 90 วันสำหรับการบริโภค มีขนาดประมาณ 144,000,000 บาร์เรล

• รัสเซียประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันติดอันดับหนึ่งในสามของโลก สามารถผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมได้ถึงวันละ 10.8 ล้านบาร์เรล มีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ในลักษณะของน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปที่ถือครองโดย Rosneftegaz บริษัทของรัฐ ในปริมาณ 14.7 บาร์เรล

• สวิตเซอร์แลนด์มี SPR สร้างขึ้นในทศวรรษที่ 1940 ซึ่งประกอบด้วยก๊าซ ดีเซล น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันให้ความร้อนเพียงพอสำหรับการบริโภค 120-140 วัน

• ยูเครน ในช่วงเริ่มต้นของการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย รัสเซียได้ทำลายคลังน้ำมันเชื้อเพลิงหลักของยูเครนจนนำไปสู่สถานการณ์เชื้อเพลิงวิกฤต ยูเครนแก้ปัญหาด้วยการซื้อรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงใช้แล้วจำนวน 2,000 คันจากสหภาพยุโรปและตุรกี พร้อมด้วยรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่อีก 600 คัน รถบรรทุกเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นระบบจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงเคลื่อนที่ ต่างจากคลังน้ำมัน โรงกลั่น และสถานีรถไฟ ซึ่งอยู่กับที่ โดยรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเป้าหมายที่ทำลายได้ยากกว่า

SPR ของประเทศสำคัญในทวีปแอฟริกา (บางประเทศ)

• เคนยา เดิมไม่มีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ และอาศัยปริมาณสำรองน้ำมันเป็นเวลา 21 วันของบริษัทน้ำมันตามที่กำหนดภายใต้กฎหมาย ขณะนี้เคนยากำลังจัดตั้งคลังน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ โดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศเคนยาเป็นผู้จัดหา และจัดเก็บโดยบริษัท เคนยา ไปป์ไลน์ จำกัด

• มาลาวีกำลังพิจารณาจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองสำหรับ 22 วัน ซึ่งเป็นการขยายจาก 5 วันในปัจจุบัน รัฐบาลกำลังวางแผนที่จะสร้างคลังจัดเก็บในจังหวัด Chipoka และ Mchinji รวมถึงสนามบินนานาชาติ Kamuzu

• แอฟริกาใต้มี SPR ที่จัดการโดย PetroSA คลังหลักที่จัดเก็บคือ คลังน้ำมันที่อ่าว Saldanha ซึ่งเป็นจุดขนถ่ายหลักสำหรับการขนส่งน้ำมัน ถังเก็บคอนกรีตฝังดิน 6 ถังของคลังน้ำมันอ่าว Saldanha ทำให้มีความจุน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองปริมาณ 45,000,000 บาร์เรล

จากข้อมูลของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและแอฟริกาจะเห็นได้ว่า SPR หรือการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์มีความสำคัญอย่างมากต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานและส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศโดยรวมในทุก ๆ มิติ โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์หรือ SPR เลย ความมั่นคงทางพลังงานต้องฝากไว้กับบริษัทค้าน้ำมันเอกชน ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันจะมีน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเพียงพอต่อการบริโภคเพียง 25-36 วันเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ นโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อความมั่นคงทางพลังงานเกิดขึ้นและอยู่ภายใต้รัฐบาล ซึ่งนอกจากจะทำให้ไทยมีหลักประกันในด้านความมั่นคงทางด้านพลังงานที่แข็งแกร่งแล้ว จะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศโดยรวมในทุก ๆ มิติอีกด้วย

'โครงการรณรงค์ขับขี่ปลอดภัยลดอุบัติเหตุบนถนน สวมหมวกนิรภัย100%' ครั้งที่ 2

ด้วย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะในการเดินทาง ซึ่งจะเห็นได้ว่าการใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะในการสัญจร นั้นมีจำนวนมากแทบจะมีทุกครัวเรือน และประกอบกับในปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากที่เลือกใช้ยานพาหนะเป็นจักรยานยนต์บางคนขับขี่ไม่ถูกวิธี ไม่มีทักษะในการขับขี่ หรือขับขี่ด้วยความเร็วทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีสถิติเสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุด  พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รอง ผบช.น. มอบหมายนโยบาย ให้กองบังคับการตำรวจนครบาล 8 โดย พล.ต.ต.ภานพ วรธนัชชากุล ผบก.น.8 และคณะผู้เข้าร่วมหลักสูตรการบริหารการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมภาครัฐร่วมเอกชน รุ่น11 (บรอ.11) ตลอดจนภาคีเครือข่ายและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าร่วมบูรณาการโครงการในครั้งนี้

โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมรณรงค์ผู้ขับขี่จักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยและแจกหมวกนิรภัยกันน็อกเพื่อสร้างวินัยจราจรสู่ความปลอดภัยทางถนนเพื่อการขับขี่ปลอดภัยใกล้ไกลใส่หมวกกันน็อกเพื่อลดอุบัติเหตุ และการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของเราเอง ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้น ในวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2567 เวลา13.30-15.00 น. ณ ภายในวงเวียนใหญ่ หน้าอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ในงานมีประชาชนในพื้นที่บริเวณวงเวียนใหญ่ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

'จีน' ขีดเส้นตาย 'แก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ความยากจน' ด้วยการศึกษา ปักธงปี 2050 คนจีนกว่า 70% ต้องจบการศึกษาระดับปริญญา

(14 มิ.ย.67) จากเฟซบุ๊ก 'Trin Voonklinhom' ของนายตฤณ วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทยและเคยทำงานในมูลนิธิแจ๊คหม่า อาลีบาบา ได้โพสต์ 'ข้อมูลที่น่าสนใจของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของจีนปี 2024 (เกาเข่า)' ระบุว่า...

>> ผู้สอบมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จำนวนกว่า 13,538,900 คน เนื่องจากผลการแก้ปัญหาความยากจน และรัฐบาลพยายามผลักดันการหารายได้เข้าประเทศด้วยการส่งออก ส่วนเป้าหมายปี 2050 คือ เส้นตายการแก้ปัญหาเรื่องการศึกษา โดยต้องการให้คนจีนกว่า 70% จบการศึกษาระดับปริญญา

>> มีนักเรียน ม.6 ที่ยอมลงเรียนซ้ำเพื่อเข้าสอบใหม่มากที่สุดกว่า 4.2 ล้านคน

>> มหาวิทยาลัยของจีนสามารถรองรับนักศึกษาได้เพียง 4.5 ล้านคน (อีกกว่า 9 ล้านคนต้องไปหามหาวิทยาลัยนอกประเทศเรียน) 

>> นักเรียนช่วงปี 2021-2023 ที่ผ่านมามีสถิติการไม่สำเร็จการศึกษาสูงถึง 66% ซึ่งส่วนมากมาจากปัญหาค่าใช้จ่ายระหว่างการศึกษา

>> คะแนนสอบเต็ม 750 คะแนน เมื่อคุณสอบเข้าได้ในลำดับที่ 1-1,000 จะได้เอกสารใบสมัครงานจากบริษัทชั้นนำในจีน หลังจากวันรายงานตัวเข้ามหาวิทยาลัยไม่เกิน 30 วัน โดยมีกรอบ เงินเดือนดังนี้...

>> สอบได้ 680 คะแนนขึ้นไป (ฐานเงินเดือนต่ำสุด 50,000 หยวน ต่อเดือน) ส่วนมากจะเลือกเรียนมหาวิทยาลัยปักกิ่ง หรือ ชิงหัว

>> สอบได้ 620 คะแนนขึ้นไป (ฐานเงินเดือนต่ำสุด 30,000 หยวน ต่อเดือน) ส่วนมากจะเลือกเรียนในกลุ่มมหาวิทยาลัยโครงการ '985' (มีอยู่ 39 มหาวิทยาลัย)

>> สอบได้ 580-620 คะแนน (ฐานเงินเดือนต่ำสุด 20,000 หยวน ต่อเดือน) ส่วนมากจะเลือกเรียนในกลุ่มมหาวิทยาลัยโครงการ '211' (มีอยู่ 115 มหาวิทยาลัย)

>> สอบได้ 550-580 คะแนน (ฐานเงินเดือนต่ำสุด 10,000 หยวน ต่อเดือน) ส่วนมากจะเลือกเรียนในกลุ่มมหาวิทยาลัยประจำมณฑล ขั้น 1

>> สอบได้ 500-550 คะแนน (ฐานเงินเดือนต่ำสุด 8,000 หยวน ต่อเดือน) ส่วนมากจะเลือกเรียนในกลุ่มมหาวิทยาลัยประจำมณฑล ขั้น 2 (ระดับ 1)

>> สอบได้ 450-500 คะแนน (ฐานเงินเดือนต่ำสุด 6,000 หยวน ต่อเดือน) ส่วนมากจะเลือกเรียนในกลุ่มมหาวิทยาลัยประจำมณฑล ขั้น 3 (ระดับ 2)

>> สอบได้ 400-450 คะแนน (ฐานเงินเดือนต่ำสุด 4,000 หยวน ต่อเดือน) ส่วนมากจะเลือกเรียนในกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน

>> สอบได้ต่ำกว่า 400 คะแนน (ฐานเงินเดือนต่ำสุด 3,000 หยวน ต่อเดือน) ส่วนมากจะเลือกเรียนในกลุ่มวิทยาลัยอาชีวะ หรือ วิทยาลัยวิชาช่าง

>> สอบได้ ต่ำกว่า 300 คะแนน 'รอสอบใหม่'

>> ปีนี้คนที่สอบไดัที่ 1 ของประเทศ ชื่อ 'เหยียน อวี้เฉิน' เลือกเรียน 'การแสดงละครและภาพยนตร์' ที่ 'สถาบันการละครเซี่ยงไฮ้' (หน้าตาดีมากกกกกกก และฉลาดมากกกก)

‼️เกิดที่ ซานตง วันที่ 20 พ.ค. 2547 สูง 186 หนัก 68‼️

2 ภารกิจสุดหิน ‘ลดค่าไฟฟ้า-สร้าง SPR’ ใต้บังเหียน ‘พีระพันธุ์’ โจทย์ยากที่ต้องทำให้เกิด แม้เลยเถิดไปขัดขาประโยชน์บางกลุ่ม

เมื่อผลการสำรวจความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนคนไทยต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2567 (ในการบริหารงานครบ 6 เดือน) โดย ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปรากฏออกมา พบว่า ภาพรวมประชาชนมีความพอใจมากถึงมากที่สุดต่อการบริหารงานของรัฐบาล 44.3% โดยนโยบาย/มาตรการ/โครงการของรัฐบาลที่ประชาชนมีความพึงพอใจมาก-มากที่สุดใน 5 อันดับแรก ได้แก่ นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ 68.4%, มาตรการพักหนี้เกษตรกร 38.9%, มาตรการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 33.1%, มาตรการลดค่าไฟ 32.8% และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ 29.3%

สำหรับเรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเร่งด่วน 5 อันดับแรก ได้แก่ ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค 75.3%, ลดค่าไฟฟ้า 46.6%, แก้ปัญหาน้ำมันราคาแพง 29.5%, แก้ปัญหายาเสพติด 26.3% และแก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ 16.9%

จะเห็นได้ว่าเรื่องที่พี่น้องประชาชนคนไทยต้องการให้รัฐบาลดำเนินการโดยเร็วที่สุด 2 ใน 5 เรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงานที่ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำกับดูแลอยู่

ความแตกต่างในเรื่องราวเกี่ยวกับความพอใจของพี่น้องประชาชนคนไทยนั้น มีองค์ประกอบเงื่อนไข ปัจจัยที่อธิบายได้ดังนี้ นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ เป็นนโยบายที่ต่อยอดมาจากนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคนแรก และเป็นผู้บุกเบิกวางรากฐานงานหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย เป็นผู้ที่ได้วางรากฐานเอาไว้ และมีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี 

ในขณะที่มาตรการพักหนี้เกษตรกร รัฐบาลสามารถให้นโยบายแก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ไปดำเนินการได้เลย 

สำหรับมาตรการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เป็นภารกิจของกระทรวงท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งอยู่แล้ว และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบรัฐบาลสามารถใช้กลไกของรัฐที่มีอยู่โดยกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการได้เลย

งานยากที่สุดใน 5 อันดับที่ทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยมีความพอใจก็คือ ‘มาตรการลดค่าไฟ’ เพราะทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้านั้นอยู่ภายใต้การกำกับดแลของคุณคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าการออกใบอนุญาตผลิตกระแสไฟฟ้า การกำหนดราคาค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะค่า Ft (Fuel Adjustment Charge (at the given time)) ซึ่งใช้ในการคำนวณเพื่อปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร’ เป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นผู้พิจารณาปรับค่า Ft ทุก 4 เดือน

สิ่งที่ ‘พีระพันธุ์’ ทำได้ก็คือ ใช้มาตรการต่าง ๆ ภายใต้อำนาจหน้าที่ของกระทรวงพลังงานเพื่อให้ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่า Ft ซึ่ง ‘พีระพันธุ์’ ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ แต่พยายามแสวงหาวิธีการและมาตรการใหม่ ๆ เพื่อทำให้ค่า Ft ต่ำที่สุด เรื่องที่กำลังทำอยู่คือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR: Strategic Petroleum Reserve) โดยนอกจากจะได้มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG อันเป็นก๊าซหุงต้มที่พี่น้องประชาชนคนไทยใช้กันมากที่สุดแล้ว การสำรองก๊าซ LNG อันเป็นก๊าซเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของบ้านเราในปัจจุบันก็จะมีการสำรองเก็บไว้ด้วย 

ด้วยตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานไม่มีเครื่องมือ โดยเฉพาะกฎหมายที่จะช่วยในการดำเนินงานเพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซทั้ง LPG และ LNG ถูกลง และการสำรองเชื้อเพลิงดังกล่าวเป็นเรื่องของเอกชนผู้ค้าน้ำมัน ดังนั้นรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจึงไม่มีเชื้อเพลิงสำรองในมือเลย จึงทำให้ภาครัฐไร้ซึ่งอำนาจในการต่อรองใด ๆ กับภาคเอกชน เพราะหากมีการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) เกิดขึ้นแล้ว กระทรวงพลังงานก็จะถือครองเชื้อเพลิงเองเพียงพอต่อการใช้งานในประเทศ 50-90 วัน ซึ่งปริมาณน้ำมันสำรองดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ภาครัฐมีอำนาจในการต่อรองและเป็นการถ่วงดุลระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงที่สำรองใน SPR จะมีการจำหน่ายหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ภาครัฐสามารถรู้ต้นทุนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในประเทศได้โดยตลอด

ทั้งนี้เมื่อประกอบกับมาตรการที่ ‘พีระพันธุ์’ ได้ประกาศออกมา อาทิ ประกาศกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2567 เพื่อ ‘รื้อ’ ระบบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุนให้กับหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลทุกวันที่ 15 ของเดือนซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 51 ปี และที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการคือ ‘รื้อระบบการปรับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง’ โดยผู้ค้าต้องแจ้งให้กระทรวงพลังงานทราบก่อน และให้ผู้ค้าปรับราคาขายปลีกน้ำมันได้เพียงเดือนละหนึ่งครั้ง ไม่ใช่ปรับราคากันทุกวันเช่นปัจจุบันนี้ โดยให้ปรับราคาได้ตามความเป็นจริงตามที่ราคาตลาดโลกสูงกว่าราคาต้นทุนเฉลี่ยของผู้ค้าน้ำมันในงวดเดือนนั้น ๆ ณ วันที่มีการปรับราคานั้น

การลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แม้จะเป็นภารกิจที่สุดหิน แต่ ‘พีระพันธุ์’ ก็เต็มใจทำด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ แม้เรื่องเหล่านี้จะไม่ง่าย ทั้งอาจขัดผลประโยชน์ของกลุ่มคนบางพวกบางกลุ่ม ซึ่งต้องใช้เวลาในการออกแบบ จัดทำกฎหมายให้มีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขสูงสุดและสนองตอบความต้องการอันเร่งด่วนของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน

‘ธนกร’ ยกผลโพล ‘นิรโทษกรรมฯ ฉบับปชช.’ ไม่เห็นด้วย 64.66% เชื่อ!! เจตจำนงคนส่วนใหญ่ต้องการยึดหลักกฎหมายที่ควรจะเป็น

(14 มิ.ย. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีการเมือง พ.ศ.(ฉบับประชาชน) ซึ่งรวมมาตรา 112 ผ่านเว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร ระหว่าง 13 พ.ค. - 13 มิ.ย. 2567 รวม 1 เดือนเต็ม ซึ่งมีประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นทั้งหมด 90,533 ราย โดยมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย 64.66% ส่วนที่เห็นด้วยเพียง 35.34 % ถือเป็นความตื่นตัวของประชาชนที่ให้ความสนใจต่อเรื่องดังกล่าวอย่างมาก และส่วนใหญ่เสียงที่ออกมาสะท้อนถึงเจตจำนงในการยึดหลักกฎหมายที่ควรจะเป็น 

พร้อมมองว่า ส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมคดีการเมืองฉบับประชาชน มีการเสนอให้รวมคดีที่มีผู้กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เกี่ยวกับการดูหมิ่นก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ คดีทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมือง และคดีความผิดที่ถึงแก่ชีวิต ซึ่งล้วนแต่เป็นคดีที่มีโทษร้ายแรงและความผิดที่ประชาชนไม่สามารถรับได้หากมีการนิรโทษกรรม

เมื่อถามว่า ผลสำรวจความเห็นเรื่องนิรโทษกรรมคดีการเมืองฉบับประชาชนสะท้อนอะไรถึงร่างนิรโทษกรรมที่กรรมาธิการกำลังพิจารณาอยู่นั้น นายธนกร กล่าวว่า มองสะท้อนภาพใหญ่ ถึงความคิดเห็นประชาชน ทั้งประเทศที่ต้องการบอกเจตจำนงว่า การพิจารณากฎหมายสำคัญโดยเฉพาะเรื่องการนิรโทษกรรมต้องอยู่ในกรอบที่เป็นคดีการเมืองจริง ๆ แม้ว่าบางคดีอาจจะมีการอ้างเรื่องแรงจูงใจทางการเมือง แต่ไปเกี่ยวโยงกับคดีมาตรา 112 ตนคิดว่ากรรมาธิการเองก็ต้องรับฟังเสียงประชาชน เพราะกฎหมายอะไรที่ผ่านสภาออกไป ต้องเป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย เพราะหากค้านสายตาประชาชนอาจเป็นการสร้างข้อขัดแย้งใหม่ขึ้นในประเทศได้

“กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ควรเปิดรับฟังความเห็นทุกฝ่ายรอบด้าน เช่นเดียวกับฉบับประชาชนที่สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดให้แสดงความเห็นตลอด1 เดือนเต็ม ผ่านเว็บไซต์ของสภามาแล้ว เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นที่ยอมรับของสังคม เพราะคดี ม.112 คดีทุจริตประพฤติมิชอบ และคดีที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต ถือเป็นคดีอาญาร้ายแรงและไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง เชื่อว่าคนไทยรับไม่ได้หากมีการรวมด้วย กมธ.จึงไม่ควรที่จะลังเลนำเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนกระทบจิตใจคนไทยแบบนี้ เข้าไปพิจารณารวมอยู่ในร่างนิรโทษกรรมด้วย“ นายธนกร ย้ำ

วิเคราะห์!! โอกาสจีนผลิตไมโครชิพได้เองตามเป้าหมายภายใน 6 ปี มีสูง อาจทำหุ้นไมโครชิพยักษ์ใหญ่ของโลกวูบ หากซัพพลายในตลาดล้น

(14 มิ.ย.67) จากเฟซบุ๊ก 'Sompob Pordi' ของ นายสมภพ พอดี นิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'ศึกไมโครชิพ' ความว่า...

สำนักข่าว Global Times ของรัฐบาลจีน รายงานตัวเลขการผลิตและการนำเข้าไมโครชิพของจีน ระหว่างปี ค.ศ.2020 ถึง 2023

ในขณะที่การนำเข้ามีแนวโน้มลดลง สวนทางกับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากการควํ่าบาตรของชาติตะวันตกที่กีดกันไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีด้วยการปฏิเสธไม่จำหน่ายไมโครชิพรุ่นใหม่ ๆ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับผลิตไมโครชิพให้กับจีน...จีนกลับสามารถผลิตไมโครชิพเองได้เพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในไตรมาสแรกของปีนี้ จีนผลิตไมโครชิพเพิ่มจากไตรมาสแรกของปีที่แล้วถึง 40% เป็น 98.1 พันล้านชิ้น

จีนมีเป้าหมายว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไมโครชิพและสามารถวิจัยพัฒนาและผลิตไมโครชิพรุ่นใหม่ๆเองได้จนสามารถยกเลิกการนําเข้าทั้งหมดภายในปี ค.ศ.2030 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า

ใครมีหุ้น TSMC, Nvidia, Samsung, Qualcomm, Intel อยู่ อย่าถือเพลินจนลืมขายทำกำไรละกัน เพราะถ้าจีนทำได้ตามเป้าหมายใน 6 ปี หุ้นที่ว่าน่าจะราคาหายไปเยอะเลย เพราะไม่รู้ว่าผลิตขึ้นมามากๆแล้วจะไปขายให้ใคร

อีอีซี เดินหน้าสร้างการรับรู้ระดับพื้นที่ต่อเนื่อง เปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่อง ฉะเชิงเทรา ดึงพลังสตรี ร่วมพัฒนาอาชีพ สานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างรายได้เข้าถึงชุมชน

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ร่วมกับ นายประสิทธิ์ อินทโชติ ปลัดจังหวัดฉะเชิงเทรา นายธีระพล สุ่มมาตย์ นายอำเภอบางน้ำเปรี้ยว และนางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน สกพอ. เข้าร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่อง ณ ชมรมผู้สูงอายุ ดอกลำดวน มัสยิดดารุ้ลคอยร็อต อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง และให้กลุ่มสตรีในพื้นที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญ บอกเล่าถึงประโยชน์และความคืบหน้าในการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี เข้าตรงถึงชุมชน และเป็นศูนย์กลางดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ในพื้นที่ สร้างโอกาสการพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิตให้พื้นที่และชุมชน  

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การเปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่อง ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ครั้งนี้ ถือเป็น ศูนย์ฯ พลังสตรี นำร่องในพื้นที่ อีอีซี ครบทั้ง 3 จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมา อีอีซี ได้เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาภูมิปัญญาชุมชน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เพื่อดึงพลังของกลุ่มสตรี มาเป็นตัวแทนสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน ร่วมถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี และประโยชน์สำคัญที่จะได้รับ ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง อีกทั้ง กลุ่มเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี จะเป็นกลไกสำคัญผลักดันให้สินค้าและบริการของชุมชนให้เป็นส่วนหนึ่งใน Supply Chain ของนักลงทุน ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญที่อีอีซี จะส่งเสริมคู่ไปกับการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี นำร่อง ฉะเชิงเทรา แห่งนี้ จะประสานกับอีอีซี ทำกิจกรรมประโยชน์ต่อสาธารณในพื้นที่ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าและบริการ ในระดับวิสาหกิจชุมชน ไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ ผ่านกลไกความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากพื้นที่ อีอีซี มีช่องทางการตลาดที่กว้างขวางยิ่งขึ้น สร้างโอกาสให้แก่สินค้าชุมชน สานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ รวมถึงการท่องเที่ยวของชุมชนให้มีมาตรฐาน รองรับการเข้ามาใช้จ่ายของนักลงทุน และผู้ที่จะมาทำงาน และอยู่อาศัยในพื้นที่ อีอีซี ต่อไป

สำหรับที่ตั้งศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ณ ชมรมผู้สูงอายุดอกลำดวน ตั้งอยู่ภายในมัสยิสดารุ้ลคอยร๊อต อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาวมุสลิม แต่สามารถอยู่ร่วมกับชาวพุทธได้อย่างกลมกลืน พื้นที่นี้จึงเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นเครือข่ายศูนย์กสิกรรมธรรมชาติที่เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร และสามารถนำความรู้ประสบการณ์กลับมาขยายผลในพื้นที่ทั้งประชาชนและโรงเรียนต่าง ๆ มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต กิจกรรมตลาดนัดในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ทำให้มีผู้มาติดต่อ และเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เยาวชนจากโรงเรียนหมอนทองวิทยา ยังเป็นเครือข่ายเยาวชน อีอีซี ที่เข้มแข็งมีผลงานด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ได้รับรางวัลจากโครงการ อีอีซี สแควร์ ถึง 2 ปี ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ณ ชมรมผู้สูงอายุดอกลำดวน จึงเป็นอีกกลไกสำคัญของ อีอีซี ที่สามารถขยายการรับรู้และสร้างความเข้มแข็งไปยังกลุ่มผู้นำศาสนา ชุมชน และเยาวชนในพื้นที่ได้อีกด้วย

คณะนักศึกษาสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่น 124 จัดโครงการ "ทิ้งง่าย... เก็บยาก" เยาวชนบางขุนเทียน รักษ์ป่าชายเลน

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ทางคณะนักศึกษาสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่น 124 ได้จัดโครงการ "ทิ้งง่าย... เก็บยาก" เยาวชนบางขุนเทียน รักษ์ป่าชายเลน ณ โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อปลูก ฝังจิตสำนึก ให้เยาวชน ได้ตระหนักถึง ปัญหาเรื่องขยะมูลฝอย จาก ครัวเรือน สู่ชายป่าโกงกาง
ในงานนี้มี นายวรพล จันทร์งาม ที่ปรึกษาพิเศษด้านงานจิตอาสา และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน และพันเอก อาชวกุล กาญจนคม รองผู้อำนวยการ สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมเป็นประธานเปิดงาน กิจกรรมในโครงการดังกล่าว มีตั้งแต่การให้ความ ตระหนักรู้แก่เยาวชน ในเรื่องผลกระทบของขยะมูลฝอย ต่อระบบนิเวศ ของป่าชายเลน การเก็บและคัดแยกขยะ โดยเจ้าหน้าที่ ฝ่ายรักษา เขต บางขุนเทียน ตลอดจน มีการจัดการประกวด ออกแบบ ผลิตภัณฑ์ ของใช้ของชำร่วย จากขยะ ของนักเรียนโรงเรียน คลองพิทยาลงกรณ์ ระดับชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1-6 และไฮไลท์สำคัญ ของกิจกรรมนี้ คือการให้นักเรียน โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ ได้ลงเก็บขยะ ในป่าชายเลน พื้นที่กว่า 16 ไร่ เพื่อให้เห็นถึงความลำบาก ของเจ้าหน้าที่ เขตบางขุนเทียน ในพันธกิจการเก็บขยะ ในป่าชายเลน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเตือน ดูบอลให้สนุก อย่าต้องทุกข์เพราะการพนัน

วันนี้ (14 มิถุนายน 2567) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่ามีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ต้องสูญเสียทรัพย์สินให้กับการพนัน และตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน ถึง 14 กรกฎาคม 2567 มีการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ครั้งที่ 17 หรือ ฟุตบอลยูโร 2024 ซึ่งเว็บไซต์การพนันผิดกฎหมายต่าง ๆ อาจเปิดรับพนันผลการแข่งขันฟุตบอลเพื่อล่อลวงพี่น้องประชาชน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอให้พี่น้องประชาชนรับชมการแข่งขันฟุตบอลอย่างสร้างสรรค์ อย่าหลงผิดไปเล่นพนันฟุตบอล เพราะผลเสียที่จะตามมานั้นมีมากมาย เช่น

1. เสียทรัพย์ - การพนันอาจนำไปสู่การสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถก่อให้เกิดหนี้สินและปัญหาทางการเงินในระยะยาว

2. เสียมิตร - การเสพติดการพนันสามารถทำลายความสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อนฝูงได้ และการเล่นพนันมากเกินไปอาจทำให้เวลาและเงินที่ควรใช้ในการดูแลครอบครัวลดลง

3. เสียจิต- การพนันสามารถทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า และผู้ที่พ่ายแพ้ในการเดิมพันอาจรู้สึกผิดหวังและเสียใจมากจนทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่

4. เสียรู้ – การสมัครสมาชิกและเล่นการพนันในเว็บไซต์การพนันผิดกฎหมาย อาจทำให้ข้อมูลส่วนตัว ชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และข้อมูลอื่น ๆ ถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิด และอาจถูกโกงไม่สามารถถอนเงินจากเว็บพนันได้

5. ติดคุก - ผู้เล่น ผู้ชักชวน และผู้จัดให้มีการพนันฟุตบอลจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 12(2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอประชาสัมพันธ์มายังพี่น้องประชาชน ขอให้ช่วยกันหยุดวงจรการพนันออนไลน์ โดยหากพบเห็นการกระทำความผิดหรือพบเบาะแสเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ สามารถแจ้งไปยังสายด่วน 191 หรือสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top