Friday, 9 May 2025
NewsFeed

ผู้แทนพิเศษเลขายูเอ็นเมียนมา หวังไทยสนับสนุนกระบวนการนำความสงบสุขกับมาสู่เมียนมาอีกครั้ง ด้าน “บิ๊กตู่” พร้อมสนับสนุนตามฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) ของอาเซียน มุ่งหวังให้เมียนมาเกิดสันติภาพและเสถียรภาพ

เมื่อเวลา 11.15 น. วันที่ 14 พ.ค. ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางคริสทีเนอ ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ (Mrs. Christine Schraner Burgener) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ,ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย

นายกรัฐมนตรี กล่าวยินดีที่หารือกับผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมาอีกครั้ง หลังเคยพบปะกันเมื่อครั้งที่นางคริสทีเนอดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตแห่งสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ซึ่งการกลับมาไทยครั้งนี้ในฐานะผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมาสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการทำงานของนางคริสทีเนอ จนได้รับความไว้วางใจจากสหประชาชาติให้ดูแลในเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา โดยประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากอาเซียนและประชาคมโลก ซึ่งการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนเมษายน ไทยให้ความสำคัญกับแนวทาง D4D ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอต่อที่ประชุม และพร้อมสนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) ของอาเซียน ทั้งนี้ ไทยได้ติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด มุ่งหวังให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา และหวังว่าผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมาจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากการเยือนครั้งนี้ รัฐบาลพร้อมรับฟัง และแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์

ขณะที่ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้กลับมาเยือนไทยและหารือกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง การมาเยือนไทยและภูมิภาคอาเซียนครั้งนี้ เพื่อหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องถึงสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา โดยจากการหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมาที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย จึงประสงค์ที่จะสานต่อกระบวนการเจรจาดังกล่าวต่อไปเพื่อนำความสงบสุขกับมาสู่เมียนมาอีกครั้ง หวังว่าไทยจะสนับสนุนกระบวนการดังกล่าว และแสวงหาความร่วมมือกับกองทัพเมียนมาในการหาทางออกอย่างสันติ

จากนั้น ทั้งสองฝ่าย หารือถึงการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวเน้นย้ำว่า ไทยดำเนินการทุกวิถีทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้สถานการณ์ในเมียนมาคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งไทยมีประสบการณ์ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เพื่อนบ้านมายาวนาน มีการติดตามสถานการณ์ตามแนวชายแดนอย่างใกล้ชิด และเตรียมการวางแผนรับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังยืนยันว่าจะไม่มีการส่งผู้หนีภัยกลับไปเมียนมาหากต้องเผชิญกับอันตราย โดยมีการตั้งศูนย์เพื่อรองรับผู้หนีภัยหลายแห่งตามแนวชายแดน รวมทั้งให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ที่บาดเจ็บ

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้ให้กำลังใจผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติฯ สำหรับภารกิจเดินทางเยือนไทยและภูมิภาคครั้งนี้ พร้อมหวังว่าผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติฯ จะช่วยสร้างความเข้าใจต่อประชาคมโลกถึงสถานการณ์ในภูมิภาค

ผบ.ทร.เปิดตัวเรือข้ามฟากอายุ 50 ปี ที่ปรับปรุงเป็นระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า พร้อมออกทดลองแล่นรับ/ส่งผู้โดยสาร ในแม่น้ำเจ้าพระยา

พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)  เป็นประธานในพิธีเปิดตัวเรือแตงโมพลังงานไฟฟ้า (ขส.ทร. 1110 ) ซึ่งเป็นเรือข้ามฟาก ในแม่น้ำเจ้าพระยาของกองทัพเรือ ที่มีอายุการใช้งานมานานถึง 50 ปี ที่ท่าเรือราชนาวิกสภา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยมี พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือสายงานกิจการพลเรือน และ พล.ร.ต.สาธิต นาคสังข์ เจ้ากรมการขนส่งทหารเรือให้การต้อนรับ และเรียนเชิญผู้บัญชาการทหารเรือชมนิทรรศการการดำเนินโครงการ พร้อมทำพิธีเปิดตัวเรือแตงโมไฟฟ้า จากนั้นผู้บัญชาการทหารเรือได้ลงเรือแตงโมไฟฟ้า เพื่อทดลองนั่งไปยังป้อมวิไชยประสิทธิ์ และกลับมาที่อาคารราชนาวิกสภา ก่อนเดินทางกลับ

ทั้งนี้กองทัพเรือ ได้อนุมัติแต่งตั้งคณะทำงานพลังทดแทนร่วม ระหว่างกองทัพเรือ และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินการด้านความร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในกองทัพเรือ ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อพึ่งพาตนเองตามแนวทางการพัฒนากองทัพเรือที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์กองทัพเรือ 20 ปี (พ.ศ.2560-พ.ศ.2579) ในเรื่องการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์กับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมี พลเรือโท ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือสายงานกิจการพลเรือน เป็นหัวหน้าคณะทำงานร่วมฝ่ายกองทัพเรือ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าคณะทำงานร่วมฝ่าย บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และ พลเรือโท สมัย ใจอินทร์ รองผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน

โดยคณะทำงานดังกล่าว ได้จัดให้มีโครงการ ติดตั้งระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าสำหรับรถโดยสาร เรือเวรข้ามฟาก (เรือแตงโม) เพื่อวิจัยและพัฒนาการใช้พลังงานไฟฟ้าในเรือเวรข้ามฟาก (เรือแตงโม) ในสังกัด กรมการขนส่งทหารเรือ ที่มีอายุการใช้งานมานาน 50 ปี ที่ไม่สามารถใช้งานได้ มาดัดแปลงจากระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง มาปรับปรุงเป็นระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 และมลภาวะในอากาศ

สำหรับเรือข้ามฟากดังกล่าว มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "เรือแตงโม" ด้วยรูปทรงของเรือ ที่มีลักษณะคล้ายลูกแตงโมผ่าซีก แต่ด้วยรูปลักษณ์ของท้องเรือ ทำให้เรือแม้จะเอียงมากเพียงใดแต่ก็ยังสามารถทรงตัวอยู่ได้ โดยปัจจุบันเรือแตงโม สังกัดแผนกเรือบริการ กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ เริ่มมีใช้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 เป็นต้นมา โดยใช้บริการ รับ-ส่ง กำลังพลกองทัพเรือ และบุคคลทั่วไป ข้ามฟากในแม่น้ำเจ้าพระยา ในเวลาราชการ ระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร ระหว่างท่านิเวศน์วรดิฐ กับ ท่าราชนาวิกสภา และ ท่าพระราชวังเดิม กับ ท่าราชนาวีสโมสร ปัจจุบันมี เรือให้บริการจำนวนทั้งสิ้น 11 ลำ โดยใช้ชื่อเรือว่า ขส.ทร.1101-1111 และเรือแต่ละลำจะมีนามแฝงโดยตั้งจากชื่อคลองสำคัญ ๆ เช่น บางกอกน้อย บางหลวง ชักพระ ผดุงกรุงเกษม ตลิ่งชัน โอ่งอ่าง เป็นต้น

พล.ร.ท.ประชาชาติ กล่าวว่า "โครงการดังกล่าว เป็นการปรับปรุงเรือข้ามฟากในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ “เรือแตงโม” จากการใช้ เครื่องยนต์ ซึ่งใช้พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง เปลี่ยนมาเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ซึ่งมีเสียงเบากว่า และลดมลพิษในอากาศได้ โดยโครงการนี้ กองทัพเรือ ได้รับความร่วมมือจาก นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของฉายา “Tesla เมืองไทย” บริจาค มอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอร์รี่ และอุปกรณ์ประกอบ ให้เพื่อใช้ในโครงการนี้ โดยเรือข้ามฟากที่ทำใหม่นี้ จะวิ่งได้ประมาณ 5 ชั่วโมงต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ที่ความเร็ว 5 น็อต และความเร็วสูงสุด 8 น็อต และที่สำคัญคืออาจเป็นจุดกำเนิด เรือไฟฟ้าอื่น ๆ ของกองทัพเรือ และนอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ทางบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ยังได้ให้การสนับสนุนกองทัพเรือ และ คณะทำงานพลังทดแทนร่วมฯ ในอีกหลายโครงการรวมถึง การใช้เครื่องกำจัดเชื้อโรคในสถานที่ปฏิบัติงานและบนเรือรบของกองทัพเรือ โดยทำระบบปรับอากาศรวมของอาคารและเรือรบให้ปลอดภัยจากเชื้อ COVID-19 ด้วยแสง UVC  

โดยปัจจุบันได้ดำเนินติดตั้งแล้วในหลายพื้นที่ ประกอบด้วย โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงมกุฎราชกุมาร เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน เรือหลวงกระบุรี เรือหลวงบางปะกง และอยู่ระหว่างการติดตั้งอีก 2 ลำ คือ เรือหลวงอ่างทอง และ เรือหลวงสิมิลัน"

'เฉลิมชัย' สั่งเดินหน้าเปิดเส้นทางโลจิสติกส์ระบบราง 'เชื่อมไทยเชื่อมโลก' ผ่านด่านผิงเสียง-ด่านหนองคาย

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยว่า เช้าวันนี้ (14 พฤษภาคม พ.ศ.2564) เทศบาลเมืองตงซิงได้จัดพิธีต้อนรับผลไม้ไทยล็อตแรก และแถลงข่าวการนำเข้าผลไม้ไทยมายังประเทศจีนผ่านด่านตงซิง

โดยมีนายเฉิน เจี้ยนหลิน รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และนายกเทศมนตรีเมืองตงซิง เป็นประธานฝ่ายจีน และนางสาวเบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง เป็นผู้แทนฝ่ายไทย เพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ประกอบการนำเข้าผลไม้ของจีนทราบถึงโอกาสและศักยภาพในการนำเข้าผลไม้จากไทยผ่านด่านตงซิงที่สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว ซึ่งใช้เวลาในการขนส่งออกจากไทยและเข้าจีนได้ในระยะเวลาเพียง 2 วันเท่านั้น

ด้านนายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ได้ประเดิมส่งออกทุเรียนตู้ปฐมฤกษ์เพื่อทดลองนำร่องในการขนส่งผ่านด่านตงซิง จำนวน 2 ตู้คอนแทนเนอร์ ปริมาณรวม 36 ตัน มูลค่ากว่า 4 ล้านบาท ซึ่งพบว่ารถขนส่งสามารถผ่านเข้าด่านตงซิงและผ่านพิธีการศุลกากรได้อย่างราบรื่น

โดยผู้ประกอบการจีนได้ทำการต้อนรับตู้ทุเรียนตู้แรกของไทย ณ ตลาดการค้าสินค้าเกษตรฟู่หมินตงซิงกว่างซี เมื่อเวลา 23.48 น. ตามเวลาท้องถิ่น ของวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นผลจากการที่สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้ประกาศให้ด่านตงซิง (สะพานข้ามแม่น้ำเป่ยหลุนแห่งที่ 2) สามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้ ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2564 

ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจว โดย ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้การเจรจาและผลักดันการทำความตกลงกับสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) จนเห็นชอบร่วมกันให้บรรจุด่านตงซิงเข้าไปในร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการขนส่งผลไม้ไทยที่ส่งออกผ่านประเทศที่สามเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ด่านตงซิงตั้งอยู่ที่เมืองระดับอำเภอตงซิงของเมืองฝางเฉิงก่าง เขตปกครองตนเอง กว่างซีจ้วง อยู่ห่างจากด่านหมงก๋าย จังหวัดกว่างนินห์ ของเวียดนาม เพียง 100 เมตร และได้รับอนุญาตให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศทางบกเป็นแห่งที่ 3 ของเขตฯ กว่างซีจ้วง ต่อจากด่านโหย่วอี้กวน และด่านรถไฟผิงเสียง 

ทั้งนี้ ด่านตงซิงสามารถรองรับรถบรรทุกสินค้าเข้าออกได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 คันต่อวัน จึงเป็นด่านทางบกที่มีศักยภาพในการนำเข้าผลไม้จากไทย นอกเหนือจากด่านโม่ฮาน มณฑลยูนนาน ด่านโหย่วอี้กวน และด่านรถไฟผิงเสียง เขตฯ กว่างซีจ้วง ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการส่งออกผลไม้ของไทยไปยังจีน ช่วยแก้ปัญหารถติดสะสมบริเวณหน้าด่านโหย่วอี้กวน โดยเฉพาะในฤดูกาลส่งออกทุเรียนในขณะนี้ รวมทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับผู้ส่งออกไทย

อลงกรณ์ เผยทิ้งท้ายอีกว่า ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้เดินหน้าเปิดเส้นทางโลจิสติกส์ระบบรางเพื่อ 'เชื่อมไทยเชื่อมโลก' ผ่านด่านผิงเสียงและด่านหนองคาย หลังจากประสบความสำเร็จในการเปิดด่านและขนส่งสินค้าได้จริงในทุกด่าน โดยเฉพาะล่าสุด คือ ด่านตงชิงโดยย้ำให้เร่งดำเนินการให้ทันต่อการเปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

รมว.สุชาติ ลุยปทุมธานี ตรวจเยี่ยมการตรวจโควิด-19 เชิงรุก แก่แรงงานในสถานประกอบการ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบสิ่งของแก่ลูกจ้างที่ตรวจโควิด-19 เชิงรุกเพื่อผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ณ บริษัทแห่งหนึ่ง อ.เมือง จ.ปทุมธานี 

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม มอบสิ่งของและให้กำลังใจลูกจ้างที่เข้ารับการตรวจโควิด-19 เชิงรุกเพื่อผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ณ บริษัทแห่งหนึ่ง อ.เมือง จ.ปทุมธานี โดยมี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพิ่มจุดตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกแก่แรงงานในสถานประกอบการเพื่อเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น 

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า การจัดงานในวันนี้ผมต้องขอขอบคุณผู้ประกอบการ ในการอนุเคราะห์ด้านสถานที่ในการตรวจคัดกรองฯ และการประชาสัมพันธ์แก่สถานประกอบการในสวนอุตสาหกรรม การดำเนินการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกในสถานประกอบการแก่ลูกจ้างภายในบริษัทฯ ซึ่งสำนักงานประกันสังคม จังหวัดปทุมธานี ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลการุณเวช ปทุมธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อบูรณาการทำงานเชิงรุก จัดรถโมบาย ตู้ตรวจโรคไปตั้งยังสถานประกอบการให้ลูกจ้างที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงความร่วมมือจากสถานพยาบาล ต่อการสัมผัสเชื้อได้รับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เพื่อให้ทราบผลภายใต้ 24-48 ชั่วโมง โดยบริษัทแห่งนี้ เป็นสถานประกอบการหนึ่งที่อยู่ในแผนการตรวจ มีเป้าหมายผู้ประกันตนที่เข้ารับการตรวจ จำนวน 3,205 คน ซึ่งหากตรวจพบเชื้อก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการควบคุมดูแลรักษาตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยลูกจ้างในสถานประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ

‘นิพนธ์’ รุดติดตามมาตรการป้องกันโควิด-19 จ.สงขลา เร่งรัดนโยบาย “ฉีดวัคซีนโควิด วาระแห่งชาติ” 'ย้ำ' ภาครัฐรณรงค์สร้างความเข้าใจ ฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ผ่อนหนักเป็นเบาได้ 'ยัน' วัคซีนทุกตัวผ่านการรับรองความปลอดภัย

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ที่ห้องประชุมชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมช.มท.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ และการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ตามนโยบายรัฐบาลที่ประกาศให้ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมติดตามผลดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมและปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด

นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า "สถานการณ์ป้องกันไวรัสโควิด-19 วันนี้ของประเทศไทย แนวทางที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันให้ประชาชน โดยประชากรในจังหวัดสงขลามีประมาณ 1.4 ล้านคน โดยตั้งเป้าต้องมีประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนไม่ต่ำกว่า 900,000 คน สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปี และกลุ่มเสี่ยงผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค สามารถจองคิวฉีดวัคซีนทางแอพพลิเคชั่น 'หมอพร้อม' หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน อาทิ รพ.สต. หรือผ่าน อสม. ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสงขลา ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนหมอพร้อม ขอให้ติดต่อลงทะเบียนได้ในพื้นที่ อาทิ สาธารณสุขอำเภอ อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดย สำนักงานธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สงขลา จะรวบรวมรายชื่อและบริหารจัดการด้านสถานที่ให้บริการที่เหมาะสม โดยต้องอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชนผู้รับบริการมากที่สุด  ส่วนของบุคลากรของ รพ.สต.ที่ไม่เพียงพอ ขอให้ประสานกับส่วนท้องถิ่น ทั้งจากเทศบาล และ อบต.ที่มีกองสาธารณสุข ให้สามารถลงพื้นที่ช่วย รพ.สต.ในการสำรวจและบูรณาการทำงานร่วมกัน" 

“ขอย้ำว่า หากเราสามารถฉีดวัคซีนโควิดได้มากถึง 70% ของจำนวนประชากรก็จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ทำให้การระบาดของโรคนี้ลดลง กิจการงานต่าง ๆ จะสามารถเดินไปด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม จึงขอเชิญชวนให้ชาวสงขลาทุกคนร่วมยื่นแสดงความจำนงขอฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้ที่ รพ.สต.ทุกแห่ง ซึ่งจะให้ อสม.ไปเคาะประตูบ้านเพื่อรณรงค์เชิญชวนพี่น้องชาวสงขลาให้ไปฉีดวัคซีน หรือไปที่โรงพยาบาลทุกแห่ง วัคซีนทุกตัวที่รัฐบาลจัดเตรียมไว้ได้มีการศึกษาแล้วว่า ทุกตัวมีความปลอดภัยมีประสิทธิภาพที่ดีพอ และมีระบบดูแลความปลอดภัย โดยหลังฉีดจะต้องนั่งพักรอสังเกตอาการ 30 นาที หากมีอาการแพ้รุนแรงก็สามารถดูแลได้ทันท่วงที จึงต้องสร้างความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชนว่า ฉีดวัคซีนเอาไว้ก่อนเพื่อเอาภูมิคุ้มกันเข้าสู่ร่างกายของเรา สามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ อีกทั้งนี้มีคณะแพทย์และพยาบาลที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด หลังจากฉีดพักดูอาการแล้วด้วย” นายนิพนธ์ กล่าว

จากนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เข้าตรวจเยี่ยมศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และ ศูนย์บ่มเพาะคนดีมูลนิธิสวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นส่วนขยายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เพื่อรองรับผู้ป่วย COVID-19 และ เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนให้แก่หน่วยงานและประชาชน โดยได้มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ ชุด PPE จำนวน 150 ชุด และหน้ากากอนามัยจำนวน 4,000 ชิ้นให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ สำหรับใช้ในการปฎิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ให้มีความปลอดภัยป้องกันตนเองในการลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายและติดเชื้อไวรัส COVID-19 และบรรเทาปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยรวมถึงเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับแพทย์ พยาบาล และผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ 

ทั้งนี้ ที่ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลสนามของจังหวัดสงขลาเพื่อใช้รองรับผู้ที่มีอาการติดเชื้อของการระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยมีอาคารลำพูนและอาคารลำแพนซึ่งอยู่ภายในสวนประวัติศาสตร์ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์เป็นอาคารรองรับผู้ติดเชื้อ และในส่วนของอาคารศูนย์บริบาลผู้สูงอายุองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาชั้นสองเป็นที่พักของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ส่วนชั้นล่างใช้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนให้แก่หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ รวมถึงประชาชนทั่วไป ที่ได้ลงทะเบียนเพื่อขอรับการฉีดวัคซีน โดยมีบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลสงขลามาให้บริการในจุดนี้

สหรัฐฯ พบปัญหาใหม่ บัตรรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ปลอมและขายให้คนที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีน

เมื่อประชาชนในสหรัฐฯ ฉีดวัคซีนโควิด-19 จะได้รับ “บัตรรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 (COVID-19 Vaccination Record Card)” ซึ่งออกโดย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) เพื่อบันทึกว่า คน ๆ นั้นได้รับวัคซีนยี่ห้อใด จากล็อตไหน เมื่อวันที่เท่าไหร่

บัตรรับรองการฉีดวัคซีนดังกล่าวเป็นหลักฐานเบื้องต้นที่จะทำให้สังคมได้มั่นใจว่า คน ๆ นั้นฉีดวัคซีนโควิด-19 มาแล้วจริง ๆ และมีความเสี่ยงต่ำในการแพร่และติดเชื้อ รวมถึงยังเป็นการเก็บข้อมูลไว้สำหรับนัดหมายการฉีดวัคซีนครั้งต่อไป

แต่เป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้วที่เจ้าหน้าที่เอฟบีไอได้ออกมาเตือนประชาชนในสหรัฐฯ ไม่ให้ทำ ขาย หรือสนับสนุนให้พิมพ์ “บัตรรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ฉบับปลอม”

ขณะที่อัยการของรัฐมากกว่า 40 คน ได้เตือนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มการช็อปปิ้งออนไลน์ให้ร่วมสอดส่องและปราบปรามการขายบัตรเปล่าหรือบัตรรับรองปลอม

แม้รัฐบาลกลางหรือรัฐบาลของบางรัฐจะไม่ได้มีข้อกำหนดเข้มงวดว่าประชาชนที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 จะต้องแสดงบัตรรับรองเมื่อไปสถานที่หรือรับบริการต่าง ๆ แต่ก็มีบางสถานที่ที่มอบสิทธิพิเศษที่จำกัดไว้ให้เฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 เรียบร้อยแล้ว

ตัวอย่างเช่น ทีมกีฬาบางทีมจะจัดให้แฟน ๆ ที่มีประวัติการฉีดวัคซีนนั่งในโซนของผู้ที่ฉีดวัคซีนด้วยกัน หรือบางร้าน เช่น Krispy Kreme และ White Castle และอื่น ๆ จะเสนอของสมนาคุณให้เฉพาะผู้ที่มีหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด-19

ขณะที่ก็มีบางองค์กร ออฟฟิศ บริษัท หรือสถาบันการศึกษาบางแห่งระบุว่า อนุญาตให้เฉพาะผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วเท่านั้นที่จะเข้าสู่พื้นที่ขององค์กรนั้น ๆ ได้

แต่เพราะไม่ใช่ประชาชนทุกคนที่ต้องการฉีดวัคซีน บวกกับเงื่อนไขของบางองค์กรหรือสถานที่ ทำให้มีคนบางกลุ่มมองว่า การปลอมแปลงบัตรรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ออกโดย CDC อาจเป็นทางออก เพราะเป็นบัตรที่ปลอมแปลงได้ง่าย

เอฟบีไอบอกว่า การทำหรือใช้บัตรรับรองการฉีดวัคซีนปลอม เข้าข่ายใช้ตราของรัฐบาลโดยมิชอบ นั่นเป็นเพราะบัตรรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ใช้ตราของ CDC และกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ มีโทษปรับ และจำคุกไม่เกิน 5 ปี

ในแคลิฟอร์เนียมีเจ้าของบาร์ถูกจับกุมเนื่องจากต้องสงสัยว่าขายบัตรรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ปลอม เขาถูกตั้งข้อหาความผิดทางอาญา รวมถึงการปลอมตราประทับของราชการและการขโมยข้อมูล เพราะในบัตรรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะต้องมีการระบุข้อมูลวัคซีนและรหัสของวัคซีนด้วย

CDC ยังขอให้ประชาชนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จริง ๆ อย่าถ่ายรูปบัตรรับรองลงโซเชียลมีเดียหรือเอาให้ใครดูโดยไม่จำเป็น เพราะอาจมีคนลอกข้อมูลไปเขียนใส่บัตรเปล่าได้

ดร.ไมเคิล มินา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาที่สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ม.ฮาร์วาร์ด ระบุว่า การใช้บัตรปลอมนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพราะหากคุณไม่ได้ฉีดวัคซีนจริงแล้วเกิดติดเชื้อ ก็อาจนำไปสู่คลัสเตอร์ใหม่ ๆ ในพื้นที่ที่ควรจะปลอดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม สื่อต่างประเทศยังรายงานพบ บัตรรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ CDC ฉบับปลอมอยู่ตาม eBay และร้านค้าออนไลน์อื่น ๆ ส่วนมากขายในราคาราว 10-20 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 310-620 บาท)

จอช สไตน์ อัยการสูงสุดของรัฐนอร์ทแคโรไลนากล่าวว่า บุคคลอาจใช้บัตรปลอมเพื่อบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับสถานะการฉีดวัคซีนที่โรงเรียนที่ทำงานหรือในสถานการณ์การใช้ชีวิตและการเดินทางต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นตกอยู่ในความเสี่ยง 

“การใช้บัตรรับรองการฉีดวัคซีนปลอมที่กำลังขยายตัวนี้อาจทำลายความปลอดภัยของผู้คน ตลอดจนความสำเร็จ ความพยายามในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศ” เขากล่าว

ทางการสหรัฐฯ กำลังมีการพูดคุยกันถึงการพัฒนาระบบหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่าอาจให้เป็นบัตรรับรองที่มีระบบ “แอนตีปรินต์ (Anti-Ptint)” หรือทำเป็นระบบบัตรรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันการปลอมแปลงบัตรแทน

ยังไม่มีรายงานว่า มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงบัตรรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปมากน้อยเพียงใด จึงนับว่าสหรัฐฯ อยู่ในความเสี่ยงที่อาจเกิดการระบาดรุนแรงจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคน

ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 32.8 ล้านราย เพิ่มขึ้นรายวันประมาณ 35,000 ราย เสียชีวิตสะสม 584,000 ราย ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ฉีดไปแล้วมากกว่า 264 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 154.8 ล้านคน หรือ 46.78% ของประชากรทั้งประเทศ


ที่มา : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ

กฟผ. ลดค่าไฟฟ้า 2 เดือน ช่วยร้านค้ารายย่อย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่าที่ประชุมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกเดือนเม.ย. 2564 เพิ่มเติม ให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เช่น ร้านค้ารายย่อย และผู้ใช้ไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพเรือ โดยลดค่าไฟฟ้าเงื่อนไขเดียวกับมาตรการลดค่าไฟในที่ประชุมครม. วันที่ 5 พ.ค. คือ ระยะเวลา 2 เดือน (เดือนพ.ค.-มิ.ย. 64) เพื่อลดกระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่ม

นอกจากนี้ยังรับทราบแนวทางการบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ ตามข้อเสนอของคณะทำงานบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ และได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และ กฟผ. ร่วมกันพิจารณาทบทวนสมมติฐานการกำหนดค่ากำลังผลิตพึ่งได้ ของโรงไฟฟ้าของ กฟผ. 

พร้อมกันนี้ยังพิจารณาทบทวนเกณฑ์ จากโอกาสเกิดไฟฟ้าดับที่เหมาะสมในภาพรวมทั้งประเทศและแยกตามรายพื้นที่ และมอบหมายให้ สำนักงาน กกพ. พิจารณาออกแบบสัญญาในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนให้เหมาะสมกับโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทและการรับซื้อไฟฟ้าจริงของระบบ รวมถึง ปรับปรุงกฎระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีความเหมาะสมและยืดหยุ่น สอดคล้องกับเทคโนโลยี

บิดเบือน > ไม่สร้างสรรค์ > ทำคนเข้าใจผิด

บางครั้งคนพูดต้องการสื่อสารอีกอย่าง แต่กลับมีคนบิดเบือน หรือ นำไปตีความเป็นอีกอย่าง ทำให้คนเข้าใจผิดได้ง่ายๆ

ยุค Fake News เกลื่อนเมือง ต้องมีสติในการรับรู้ข่าวสารอย่างรอบด้าน

กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป เตรียมหารือนัดแรกในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ เล็งใช้นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จัดตั้งศูนย์กลางฉีดวัคซีน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อหาแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเป็นศูนย์กลางการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงฯ ผู้ว่าการ กนอ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  ว่า  ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ให้แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีการประชุมอย่างเป็นทางการถึงแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนนัดแรกในวันที่ 17 พ.ค.2564 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ในการให้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แก่ประชาชนทั่วประเทศตามความสมัครใจ 

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯชุดดังกล่าว ประกอบด้วย นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะกรรมการ, นายเดชา จาตุธนานันท์ หัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤต กระทรวงอุตฯ เป็นรองประธาน, นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.เป็นรองประธาน, โดยมีกรรมการ ประกอบด้วย นายสหวัฒน์ โสภา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, ประธาน ส.อ.ท. หรือตัวแทน, ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน, ผู้อำนวยการกองกลาง และผู้อำนวยการกองตรวจราชการ เป็นต้น โดยหน้าที่หลักของคณะกรรมการชุดดังกล่าว คือ  

1.กำหนดแนวทางพื้นที่จุดบริการและเตรียมความพร้อมการให้วัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม และประชาชน 2.ประสานงานและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้การบริการมีความพร้อมและมีประสิทธิภาพ 3. ติดตามและรายงานผลการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และ 4.ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยเบื้องต้นได้สำรวจพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่เหมาะสมเพื่อรองรับการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งมีทั้งในส่วนที่ กนอ.บริหารจัดการเอง และในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน รวมทั่วประเทศ 59 นิคมฯ แต่จะต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุมคณะกรรมการฯ อีกครั้งว่าความสามารถในการฉีดวัคซีนต่อวันจะได้ประมาณกี่ราย โดยคิดจากอัตราส่วนต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด เพื่อประเมินความพร้อมของสถานที่ ไม่ให้เกิดความแออัด ขณะเดียวกันต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ดำเนินการได้ทันท่วงที 

“เบื้องต้นในที่ประชุมได้หารือว่าจะแบ่งกลุ่มผู้ที่รับวัคซีนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 2.โรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมอุตสาหกรรมที่แจ้งความประสงค์เข้ามา และโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในสวนอุตสาหกรรมที่กำกับดูแลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) 3.ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งรูปแบบจะเป็นอย่างไรจะพิจารณาในที่ประชุมอีกครั้ง ขณะเดียวกันได้มีการประสานไปยังกรมควบคุมโรคเพื่อหารือถึงการใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งวางแนวทางการฉีดวัคซีนในแต่ละวันเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ การทำงานของคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการฉีดวัคซีนตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการฉีดให้ได้วันละ 5 แสนคน ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้รับเรื่องไปพิจารณาและจะประสานข้อมูลในเชิงลึกร่วมกับ กนอ.และกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด”ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว

‘เกศปรียา’ ตั้งข้อสังเกต ทำไมรัฐบาลนี้บริหารสถานการณ์โรคระบาดแบบทำให้คนทั้งประเทศกลัววัคซีนไปได้

‘เกศปรียา แก้วแสนเมือง’ รองเลขาธิการพรรคเพื่อชาติ เผยว่า ถ้าศึกษาข้อมูลจริง ๆ วัคซีน COVID-19 น่าจะไม่อันตรายเท่า วัคซีนบาดทะยัก วัคซีนพิษสุนัขบ้า ที่เราฉีดกันอย่างสบายใจมาเนิ่นนานแล้ว ชนิดใครโดนสัตว์เลี้ยงกัด หรือเกิดอุบัติเหตุตะปูตำก็เดินเข้าคลินิคไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักได้ ไม่ได้มีใครวิตกกังวลมากมายก่อนการรับวัคซีน ถามว่าวัคซีนทั้งสองมีโอกาสแพ้มั้ย ก็ต้องบอกว่ามีโอกาสแพ้ ซึ่งอาจจะเยอะกว่าวัคซีนโควิดด้วยซ้ำดูจากวิธีการผลิตวัคซีน โดยอธิบายง่าย ๆ ได้ว่า วัคซีนพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักใช้พิษจากเชื้อที่เพาะมาทำวัคซีน แต่วัคซีนโควิด-19 ใช้รหัสพันธุกรรมบางส่วนจากเชื้อที่หมดสภาพ (inactive) มาทำวัคซีน

แต่ประเด็นคือ ทำไมรัฐบาลถึงบริหารสถานการณ์โรคระบาดแบบทำให้คนทั้งประเทศกลัววัคซีนไปได้ขนาดนี้ ระดับคนมีการศึกษาระดับสูงสุดปริญญาเอกยังปฏิเสธที่จะฉีดวัคซีน ตนวิเคราะห์ว่าน่าจะมาจากการขาดความเชื่อมั่น ที่นายกรัฐมนตรีส่งสารไปสู่ประชาชน การที่พลเอก ประยุทธไม่ยอมฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ทั้งครั้งเเรกเเละครั้งที่สอง ทั้งที่ครั้งเเรกมีข่าวจะฉีดเป็นคนเเรก โดยอ้างอิงจากข่าวในเว็บไซต์ https://www.prachachat.net/politics/news-618072 แต่กลับเบี้ยวไม่มาตามนัด ทั้งที่ทาง รพ.บำราศนราดูร จัดเวทีเตรียมพร้อมไว้ฉีดซิโนเเวคให้เเล้ว เเต่ไม่มา โดย ศ.บ.ค. มาให้ข่าวอ้างว่า ซิโนเเวคไม่เหมาะกับคนอายุเกิน 60 ปี เเต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศ.บ.ค. กลับ ออกมายืนยันว่าคนที่มีอายุ เกิน 60 ปีสามารถฉีดได้ และครั้งที่สองที่พลเอกประยุทธ์ให้ข่าวจะฉีดเเอสตร้าเซเนก้า ทาง รพ.เดิม ก็จัดเตรียมพิธีการกันไว้อย่างดี แต่พอถึงวันก็ไม่มาฉีดอีก โดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.bbc.com/thai/thailand-56369384 อีกทั้งมีข้ออ้างว่ายุโรปบอกว่าเเอสตร้าเซเนก้า จะทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือด พฤติกรรมผิดคำพูดไม่มาตามนัดไม่ใช่วิสัยของผู้บริหารที่ดี การโลเลเป็นการทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ ส่งผลให้ประชาชนไม่มีความมั่นใจในวัคซีน

ดังนั้นถือเป็นความผิดพลาดขั้นสูงสุดของพลเอกประยุทธและรัฐบาล เพราะสาเหตุสำคัญที่มาจากเพราะความไม่เขื่อมั่นในข้อมูลที่รัฐบาลแถลงกลับไปกลับมา ซึ่งการแถลงแต่ละเรื่องออกมาทำให้คนรู้สึกว่ามีวาระซ่อนเร้น ไม่เปิดเผยข้อมูลที่ประชาชนควรทราบ เพื่อประโยชน์ในการอยู่ในอำนาจแบบเห็นแก่ตัว การอยู่ในอำนาจของรัฐบาลเป็นประเด็นสำคัญอันดับหนึ่งในการตัดสินใจทุกเรื่อง อย่างวัคซีนในช่วงการระบาดรอบที่ 2 เมื่อประชาชนทวงถามว่า ทำไมไทยไม่มีวัคซีนขนาดเพื่อนบ้านแบบกัมพูชา ลาว ยังมีปริมาณการฉีดวัคซีนมากกว่าไทย เป็นเพราะรัฐบาลตัดสินใจผิดพลาดไม่ร่วมกับโครงการจัดหาวัคซีนขององค์การอนามัยโลก (COVAX) ใช่หรือไม่ แทนที่รัฐบาลจะออกมาขอโทษประชาชนว่าตัดสินใจผิดพลาดต่อไปนี้จะเปิดเสรีให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้ กลับให้โฆษก ศ.บ.ค. ออกมาให้ข่าวเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ว่า วัคซีนจะมาช้าหรือเร็วแทบไม่มีผลกับคนไทยเพราะเรามีหน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัยไว้ดูแลอนามัยส่วนตน ไม่ต้องเจ็บตัวจากการฉีดวัคซีน ซึ่งข่าวสารตรงนี้มีการทำเป็นอินโฟกราฟิกเผยแพร่ไปในวงกว้าง ประกอบกับข่าวอันตรายของผลข้างเคียงของวัคซีน ที่ไม่มีภาครัฐออกมาอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ด้วยการเปรียบเทียบวัคซีนโควิด-19 กับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า หรือวัคซีนบาดทะยัก

การบริหารจัดการจัดหาวัคซีนก็จัดการในลักษณะที่ทำให้ประชาชนมองว่าไม่โปร่งใส ล่าช้า และน่าสงสัยว่าจะทำเพี่อผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ขอร้องว่า เว้นซักเรื่องหนึ่งได้ไหม เพราะเรื่องนี้มันมีผลกระทบมากมายกับชีวิตประชาชนทั้งประเทศโดยตรง ถ้าอยากมีผลประโยชน์ทับซ้อนก็ไปทับซ้อนกับเรื่องซื้ออาวุธที่รัฐบาลทหารถนัด เพราะอาวุธเหล่านั้นซื้อมาไม่ได้มีประโยชน์อะไร และไม่มีผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน กล่าวคือให้ไปหาผลประโยชน์กับของที่ซื้อมาไว้แล้วไม่ได้ใช้นั่นเอง แต่วัคซีนซื้อมาใช้กับประชาชนทั้งประเทศ ควรบริหารจัดการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและประชาชนในชาติสักเรื่องได้มั้ย 

เกศปรียา กล่าวต่อว่า เห็นรัฐบาลนี้ชอบอ้างว่าเข้ามาปล้นอำนาจไปจากประชาชนเพราะความรักชาติ และไปตำหนิทุกคนที่เห็นต่างว่าไม่รักชาติ แต่ดูพฤติกรรมที่รัฐบาลบริหารสถานการณ์โรคระบาดคราวนี้ พบว่าการตัดสินใจทำแต่ละอย่างดูเหมือนไม่ได้คิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเลย แบบนี้เรียกรักชาติกว่าคนอื่นก็ได้เหรอ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top