Friday, 4 July 2025
NewsFeed

‘ดีอี’ ร่วมกับตำรวจไซเบอร์ แถลงปฏิบัติการณ์ทลาย ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ รายใหญ่ ยึดทรัพย์สินนับพันล้าน

วันที่ 12 มกราคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโท วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. ร่วมแถลงข่าวปฏิบัติการยึดทรัพย์เครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอรร์ายใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัด รวม 13 จุด ยึดทรัพย์สินได้มูลค่ารวมกว่า 281.5 ล้านบาท

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอี ได้จัดตั้งศูนย์ AOC 1441 ขึ้นมาทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แบบวันสต็อปเซอร์วิสเพื่อรับเรื่องร้องเรียนและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจากภัยอออนไลน์ทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามอาญชากรรมออนไลน์และขยายผลการจับกุม เพื่อเร่งรัดติดตามทรัพย์สินประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหาย ไปจนถึงการดำเนินการปกป้องความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชน นำมาซึ่งปฏิบัติการจับกุมคดีสำคัญในครั้งนี้ คือ คดีของนางสาวธารารัตน์ กับพวก ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง มีพฤติการณ์แบ่งหน้าที่กันทำเป็นขบวนการ ในรูปแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สร้างกลโกงหลอกลวงประชาชนผู้เสียหายหลายรูปแบบ สร้างความเสียหายมหาศาล   

นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นผลจาก การบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน ปปง. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการสืบสวนสอบสวนขยายผลเพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์รายคดี นางสาวธารารัตน์  กับพวก ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการพนัน โดยสำนักงาน ปปง. ได้รับรายงานจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้ดำเนินการสืบสวนดำเนินคดีในรายคดีดังกล่าว

อีกทั้งจากข้อมูลของ บก.ปอศ. พบว่า นางสาวธารารัตน์ กับพวก มีพฤติการณ์กระทำความผิดในลักษณะ ร่วมกันกระทำความผิดเป็นขบวนการมีการแบ่งหน้าที่กันทำและหลอกลวงผู้เสียหายหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์โดยใช้วิธีการโทรศัพท์สุ่มเข้ามาหลอกลวงประชาชนทั่วไป แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ และหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงิน นอกจากนี้ยังมีพฤติการณ์หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการโพสต์ข้อความผ่าน แอปพลิเคชั่น Facebook ในลักษณะเป็นการโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อชักชวนให้บุคคลทั่วไปมาแลกเปลี่ยนเงินสกุลบาทเป็นเงินสกุลหยวนในอัตราที่ถูกกว่าอัตราแลกเปลี่ยนของสถาบันการเงิน แต่เมื่อถึงกำหนดไม่โอนเงินสกุลหยวนหรือไม่สามารถได้ผลตอบแทนตามกำหนด โดยมีผู้เสียหายหลงเชื่อเป็นจานวนมาก 

จากการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานพบว่า กลุ่มของนางสาวธารารัตน์ กับพวก มีการโอนเงิน มากกว่า 3 พันล้านบาท ไม่สอดคล้องกับอาชีพรายได้ รวมทั้งกลุ่มผู้กระทำความผิดดังกล่าวมีการโอนเงิน ไปยังบัญชีเงินฝากของกลุ่มผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเว็บพนันออนไลน์ และทำธุรกรรมเพื่อปกปิดอำพราง ซ่อนเร้น หรือยักย้ายถ่ายเทเงินและแปลงสภาพเป็นทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ด้วย 

โดยในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ณ สำนักงาน ปปง. คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติมไว้ชั่วคราว จำนวน 238 รายการ (เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ดิน ห้องชุด สลากออมสินและเงินในบัญชีเงินฝาก) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 924 ล้านบาท 

สำหรับปฏิบัติการเข้าตรวจค้นในครั้งนี้ เลขาธิการ ปปง. ได้มอบหมายให้คณะพนักงาน เจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ร่วมกับคณะพนักงานสืบสวนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม ทางเทคโนโลยีในการลงพื้นที่ตรวจค้นและยึดทรัพย์เครือข่ายของผู้กระทำความผิดในรายคดีดังกล่าว เป้าหมาย 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ จำนวน 4 จุด นนทบุรี จำนวน 2 จุด และกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 จุด รวม 13 จุด ผลจากการเข้าตรวจค้นพบทรัพย์สินผลการเข้าตรวจค้นพบทรัพย์สินเพิ่มเติมจำนวน หลายรายการ เช่น ธนบัตร ทองรูปพรรณ เครื่องประดับ นาฬิกาแบรนด์เนม รถยนต์ และ รถจักรยานยนต์รวมมูลค่าประมาณ 161.5 ล้านบาท และตรวจพบบ้านพักหรู จำนวน 2 หลัง รวมมูลค่าประมาณ 120 ล้านบาท ซึ่งจะได้ยึดไว้และดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมายต่อไป 

เลขาธิการ ปปง. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างการตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐานอีกหลายคดีโดยมุ่งเน้นการสืบสวนขยายผลเพื่อนำไปสู่การยึดและอายัดทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นการตัดวงจรอาชญากรรมเกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน และตัดเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิด ในขณะเดียวกันถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหาย ในความผิดมูลฐาน สำนักงาน ปปง. ก็จะพิจารณาดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายด้วย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิภายใน 90 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด

กสทช.ออกมาตรการกำจัดซิมการ์ด ที่อยู่ในความครอบครองของมิจฉาชีพ

วันที่ 12 ม.ค. 67 เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมาย และประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ, พล.ต.ท.ดร.ธัชชัย ปีตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ดูแลงานด้านอาชญากรรมเทคโนโลยี ได้เรียกประชุมอนุกรรมการบูรณาการฯ แถลงถึง มาตรการของ กสทช. กำหนดให้ผู้ถือครองซิมจำนวนมากๆ ตั้งแต่ 6 เลขหมายขึ้นไปมายืนยันตัวตน โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ม.ค.67 นี้เป็นต้นไป หากผู้ถือครองซิมการ์ดรายใดไม่มายืนยันตัวตนในกำหนด หมายเลขอาจถูกระงับการใช้งาน และถูกเพิกถอนไปในที่สุด เพื่อป้องกันมิจฉาชีพนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์
พล.ต.อ.ณัฐธรฯ ได้กล่าวว่า ซิมการ์ดโทรศัพท์เป็นอุปกรณ์สำคัญที่กลุ่มมิจฉาชีพ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต้องมี

และใช้ในการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการโทรหาเหยื่อ, การส่งข้อความ หรือ sms แนบลิงค์, โอนเงินผ่านอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง ร่วมกับสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต  กสทช. ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว มุ่งเน้นจัดระเบียบซิมการ์ด โดยเฉพาะหมายเลขในระบบเติมเงิน ที่ไม่มีการลงทะเบียนผู้ใช้งานจริง หรือลงทะเบียนด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน จึงได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีสาระที่สำคัญ ดังนี้

1.ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด ตั้งแต่ 6-100 หมายเลข ให้ยืนยันตัวตนภายใน 180 วัน
2.ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด 101 หมายเลข ขึ้นไป ให้ยืนยันตัวตนภายใน 30 วัน
หากไม่มายืนยันตนในกำหนด จะถูกพักใช้ ระงับการโทรออกและการใช้อินเทอร์เน็ต ยกเว้นโทรเบอร์ฉุกเฉิน และมีเวลาอีก 30 วัน หากยังไม่มีการยืนยันตน จะถูกเพิกถอนการใช้เบอร์ของซิมการ์ดที่อยู่ในความครอบครองทั้งหมด
โดยในระยะแรกจะเร่งรัดให้ผู้ถือครองซิมการ์ด จำนวน 101 เลขหมายขึ้นไปเข้ามายืนยันตัวตนก่อน เนื่องจากมีกำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่า คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานส่วนใหญ่ เนื่องจากผู้ใช้บริการที่อยู่ในข่ายต้องยืนยันตัวตน มีประมาณ 3 แสนราย คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมดในทุกเครือข่าย มาตรการดังกล่าว กสทช. ออกมาเพิ่มเติมเพื่อสกัดการทำงานของกลุ่มมิจฉาชีพ จากที่มีอยู่เดิม 7 มาตราการ อาทิเช่น การระงับการโทรเข้าจากต่างประเทศในรูปแบบที่คนร้ายใช้อยู่เป็นประจำหรือไม่ทราบแหล่งที่มา, เพิ่ม Prefix +697 และ +698 หน้าเลขหมายการโทรเข้าจากต่างประเทศผ่าน VOIP และ Roaming ตามลำดับ, การจัดทำบริการ *138 ปฏิเสธการรับสายต่างประเทศ, จัดระบบลงทะเบียนสำหรับผู้ส่งข้อความไปยังผู้รับจำนวนมากๆ (Sender name), จำกัดจำนวนการลงทะเบียนซิมการ์ด

และยกเลิกการส่ง SMS แนบลิ้งค์ บางประเภท เป็นต้น การออกมาตรการดังกล่าว ดำเนินการควบคู่ไปกับการออกกวาดล้างจับกุมสถานีวิทยุคมนาคมเถื่อน และแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์วิทยุคมนาคมผิดกฏหมาย รวมทั้งจัดระเบียบเสาสัญญาณตามแนวชายแดนของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต
พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ภายหลังจากที่มาตรการดังกล่าวของ กสทช. มีผลบังคับใช้ จะทำให้กระบวนการสืบสวนขยายผลถึงตัวผู้กระทำความผิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเมื่อมีการกำหนดให้ผู้ถือครองซิมจำนวนมากมายืนยันตัวตน จะทราบตัวผู้ใช้งานที่แท้จริง หากไม่มายืนยันตนในกำหนด ซิมการ์ดนั้นจะถูกระงับการใช้งานและถูกเพิกถอนจากระบบไปในที่สุด เพราะซิมการ์ดเหล่านั้นอาจตกอยู่ในความครอบครองของพวกมิจฉาชีพแล้ว

ทำให้จำนวนซิมผีในตลาดมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ อีกทั้งเมื่อมีคดีเกิดขึ้นเจ้าหน้าที่สามารถขยายผลจากหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ลงทะเบียน รวมไปถึงหมายเลขโทรศัพท์ที่ผูกกับบัญชีม้า ไปถึงตัวการใหญ่ได้ต่อไป
พล.ต.อ.ณัฐธรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละค่าย จะเป็นผู้พัฒนารูปแบบและวิธีการลงทะเบียนยืนยันตัวตน เพื่ออำนวยความสะดวกกับลูกค้าของตน และมีหน้าที่ต้องแจ้งเตือนให้ผู้ถือครองซิมการ์ด ที่เข้าข่ายให้มาดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยให้กระทบต่อผู้ใช้บริการที่สุจริตน้อยที่สุด

'พีระพันธุ์' มอบหมาย 'ดร.หิมาลัย' ประสานหน่วยงานเจรจา ช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องที่ดินระหว่าง 'ลูกหนี้-เจ้าหนี้' ผลจบลงด้วยดี!!

(12 ม.ค.67) สืบเนื่องจาก นางสาวนุจรีย์ ศรีสำราญ ในฐานะลูกหนี้ ทำหนังสือขอความเป็นธรรมถึง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้ช่วยเป็นคนกลางประสานฝ่ายเจ้าหนี้ เพื่อชะลอการซื้อขายที่ดินของ นายอัสมนี ศรีสำราญ (บิดา) กรณีจากการกู้เงินนอกระบบฯ ที่ดินแปลงดังกล่าวปัจจุบันใช้เป็นที่อยู่อาศัย จึงขอความเป็นธรรมให้ช่วยเป็นคนกลาง เรื่องที่ดินแปลงดังกล่าว 

ดังนั้น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงได้มอบหมายให้ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงานพรรครวมไทยสร้างชาติ รับเรื่องและเร่งดำเนินการประสานงานไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยดำเนินการขยายผล ตรวจสอบหรือรับเรื่องเพื่อแก้ไขให้กับประชาชนกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงขยายผลเพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชน นั้น

โดยเมื่อวันที่ 10 ม.ค.65 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสำนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ ชั้น 1 โดยมี นางสาวมยุรี ไวกิจอเนก อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 1 รักษาการในตำแหน่ง อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหม่ายและการบังคับคดีจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมหารือและหาทางไกล่เกลี่ย เพื่อขอชะลอการขายที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งมี นางสาวนุจรีย์ ศรีสำราญ ฝ่ายลูกหนี/ผู้ร้องขอความเป็นธรรม และนางจรัล เอี่ยมสำอางค์ ฝ่ายเจ้าหนี้/ผู้ถูกร้อง ได้เข้าร่วมประชุมและรับฟังการเจรจาหารือเพื่อไกล่เกลี่ยกรณีดังกล่าว

สำหรับในที่ประชุม พนักงานอัยการพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการเจรจาไกล่เกลี่ยให้กับผู้ร้องและผู้ถูกร้องจนสามารถตกลงกันได้ ซึ่งเป็นที่น่าพอใจให้กับทั้งสองฝ่ายที่ไกล่เกลี่ยจบลงด้วยดี

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ขยายผลความร่วมมือโครงการ อีอีซี สแควร์ (EEC2)

อีอีซี รวมพลังภาคีหน่วยงานรัฐ-เอกชน ต่อยอดผลงานเยาวชนอีอีซี สแควร์ ผลักดันแนวคิดคนรุ่นใหม่ ทำได้จริงเป็นรูปธรรม ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวพื้นที่อีอีซี อย่างยั่งยืน

(วันที่ 12 มกราคม 2567) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสถาบันการศึกษา ได้แก่ โรงเรียนเซนต์หลุยส์ฉะเชิงเทรา โรงเรียนบางปะกง “บวรวิทยายน” โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 โรงเรียนแปลงยาวพิทยาคม โรงเรียนหมอนทองวิทยา โรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์) โรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย โรงเรียนวัดป่าประดู่ โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนับสนุนโครงการ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA) บริษัท อินดัสเตรียล วอเตอร์ รีซอร์ส แมนเนจเม้นท์ จำกัด (IWRM)  ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) (TTB) มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ในการขยายผลงานเยาวชนที่ส่งเข้าประกวด ภายใต้โครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี สแควร์ (EEC2) ประจำปี 2566 โดยมีผู้บริหารจากทุกหน่วยงานดังกล่าว เข้าร่วมลงนาม ณ ห้องประชุมคอนเฟอเร้นส์ สำนักงานอีอีซี 

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี เปิดเผยว่า สำนักงาน อีอีซี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่และชุมชน โดยเฉพาะการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตและได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศการลงทุน ซึ่งโครงการ อีอีซี สแควร์ จะเป็นส่วนหนึ่งให้น้องๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ สามารถค้นหาเส้นทางอาชีพของน้องๆ ในอนาคตได้ ซึ่งการลงนาม MOU ในวันนี้ ถือเป็นการสร้างเครือข่ายสำคัญของอีอีซี ที่จะเกิดการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ในการสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่อีอีซี ที่ได้ร่วมกับ สกพอ. ในการแสดงความสามารถคิดค้น หรือพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ สร้างสรรค์ผลงานในโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประจำปี 2566 ที่ผ่านมา หรืออีอีซี สแควร์ (EEC2) ที่มีผลงานดีเยี่ยมหลายโครงการ ให้เกิดการพัฒนา ต่อยอด หรือขยายผลให้เกิดประโยชน์สามารถนำไปใช้ได้จริงในพื้นที่หรือชุมชน และในภาคอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือในวันนี้ จะช่วยสร้างโอกาสให้ได้มีการต่อยอดไปในเชิงพาณิชย์ และสนับสนุนให้ผลงานจากแนวคิดของ เยาวชนอีอีซี สแควร์ นี้ ได้พัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง 

สำหรับหน่วยงานที่นำผลงานเยาวชนไปขยายผล เช่น WHA นำผลงานการออกแบบ และพัฒนาถังดักไขมันในน้ำเสียเพื่อใช้ในครัวเรือน จากโรงเรียนเซนต์หลุยส์ฉะเชิงเทรา ซึ่งได้เป็นการคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสียในชุมชน ไปขยายผลใช้กับระบบบำบัดน้ำเสียในนิคมอุตสาหกรรม และโครงการ RICE STRAW POT (กระถางจากฟางข้าว) จากโรงเรียนหมอนทองวิทยา ซึ่งเกิดจากปัญหาการเผาฟางข้าวของชาวนาในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สนับสนุนการขยายผลโครงการเครื่องทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร จากโรงเรียนแปลงยาวพิทยาคม โครงการภาชนะจากเปลือกกล้วยเสริมกาบกล้วย จากโรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย ซึ่งเกิดจากการแก้ไขปัญหาของเหลือใช้ในพื้นที่มาสร้างมูลค่าเพิ่ม และ IWRM สนับสนุนโครงการ CATCH ME BY THE SEA (เครื่องแยกขวดพลาสติก ฝากขวด แก้วน้ำและกระป๋อง อัตโนมัติ) และ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก (Science Park) TTB และ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จะนำผลงานทั้งหมดไปพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์และการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป

สำหรับโครงการ อีอีซี สแควร์ ได้ดำเนินการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ อีอีซี ให้สนใจในการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ และครู ทั้ง 3 จังหวัดอีอีซี ได้เกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนา อีอีซี ตลอดจนการสร้างพลเมืองรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา มีเยาวชนใน 3 จังหวัด อีอีซี เข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 31 โรงเรียน มีการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ จากเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ได้แสดงศักยภาพ ผ่านการประกวดการสร้างสรรค์โครงงานนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นในมิติต่างๆ ตามบริบทของพื้นที่ พร้อมขยายผลจริงในชุมชน รวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ยังขยายผลสร้างความเข้าใจ อีอีซี และความตระหนักด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่เพื่อน ๆ ในโรงเรียนและชุมชนรอบข้าง ได้เป็นอย่างดี

‘นารา เครปกะเทย’ ส่งจดหมายจากเรือนจำ โอด!! 'ถูกขโมยเงิน-ไร้เพื่อน' วอนเพจดังช่วยเหลือ

(12 ม.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก จ๊อกจ๊อกได้มีการโพสต์ข้อความถึง ‘นารา เครปกะเทย’ หลังจากที่เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมาศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พิพากษายกฟ้อง ‘นายอนิวัติ ประทุมถิ่น’ หรือ ’นารา-เครปกะเทย’ จำเลยในความผิดดูหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอรับฟังได้ แต่ผู้ต้องหายังต้องอยู่ในเรือนจำ จากคดีฉ้อโกงประชาชน

ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก จ๊อกจ๊อก ได้มีการโพสต์ข้อความว่า "นาราคิดถึงจ๊อกจ๊อก จ๊อกจ๊อกก็คิดถึงนารา” เพราะล่าสุดนาราส่งจดหมายจากเรือนจำถึงจ๊อกจ๊อก "ช่วยเรียกร้องความยุติธรรมให้นางหน่อยเพราะนางถูกเพื่อนขโมยเงิน ก็ไม่โอนให้ อยากได้ความยุติธรรม และปัจจุบันไม่มีเพื่อนคนไหนเลยมาหา มาเยี่ยม ฉันน่าสงสารแค่ไหน อยากให้มีความยุติธรรมให้บ้าง นาราไม่มีโอกาสได้พูดอะไรเลย เลยอยากให้จ๊อกจ๊อกพูดแทนหน่อย ขอใช้ความดีที่เคยทำมา เพื่อให้ได้ความยุติธรรมบ้าง"

“โพสต์แล้วนะคะนารา แม่จะดุจะด่าจะว่า แต่หนูก็คิดถึงแม่ ไม่ให้รักได้อย่างไร ปัจจุบันนารายังถูกคุมขังเนื่องจากคดีฉ้อโกง ที่มีเงินในบัญชีกว่า 300 ล้านบาท จากดราม่ากล่องสุ่มมีผู้เสียหายหลักร้อยคน และเป็นคดีส่วนตัวของตัวเอง ส่วนคดี 112 ยกฟ้องไปเรียบร้อยแล้วจ๊อกปณีย์รายงาน #จ๊อกจ๊อก"

นราธิวาส-รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย บินลงใต้ สำรวจความเสียหายอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป พร้อมมอบถุงยังชีพและให้กำลังใจแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่

วันนี้ ( 12 มกราคม 2567 ) เวลา 11.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะฯ ลงใต้ปฏิบัติภารกิจเยี่ยมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อตรวจเยี่ยมอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส พร้อมพบปะมอบถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยน้ำท่วม โดยมี พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4/รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส,ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ,นายฉัตรชัย อุตสาหะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ ,กำลังพล และประชาชนผู้ประสบภัยร่วมให้การต้อนรับ

โดยสถานการณ์อุทกภัยน้ำท่วม สืบเนื่องจากฝนตกหนักมากช่วงวันที่ 23-25 ธันวาคม 2566 ทำให้เกิดอุทกภัยครอบคลุมทั้ง 13 อำเภอ โดยพื้นที่เกิดอุทกภัยมีปริมาณฝนสูงสุด คือ อำเภอระแงะ 631.2 มิลลิเมตร//สถานการณ์อุทกภัยครั้งนี้ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 13 อำเภอ 569 หมู่บ้าน 58 ชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบ 82,448 ครัวเรือน 326,370 คน ผู้เสียชีวิต 14 คน ผู้สูญหาย 1 คน ถนนเสียหาย 63 สาย สะพาน 8 แห่ง โรงเรียน 343 แห่ง วัด/ที่พักสงฆ์ 20 แห่ง มัสยิด 26 แห่ง ด้านการเกษตร สัตว์ 4,818 ตัว ด้านพืช 11,267 ไร่ ด้านประมง 505.31 ไร่ 2,548 ตารางเมตร ปัจจุบันสถานการณ์ได้เข้าสู่ภาวะปกติทุกพื้นที่ 

ทั้งนี้ จังหวัดนราธิวาส ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เป็นค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต 14 คน 594,000 บาท //จัดสรรเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดให้อำเภอ 13 อำเภอ 5,900,000 บาท //ค่าถุงยังชีพ 18,060 ชุด 12,642,000 บาท //ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นถุงยังชีพ 53,810 ชุด 37,667,000 บาท และขณะนี้จังหวัดได้มีแผนฟื้นฟูสถานการณ์อุทกภัยและเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป

โอกาสนี้ นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวพบปะผู้ประสบภัยทุกคนว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อมาให้กำลังใจทุกคน ซึ่งด้านผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสเองเมื่อมีเหตุภัยพิบัติต่างๆ ได้รับมอบอำนาจให้เร่งช่วยเหลือดูแลเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วนและขอให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่พร้อมดูแลประชาชน ซึ่งภัยพิบัติจากธรรมชาติเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น หน้าที่ของเราต้องช่วยกันป้องกัน และเมื่อเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ทุกส่วนก็พร้อมจะฟื้นฟูเยียวยา บำบัด แก้ไขสถานการณ์ให้เร็วที่สุด ทุกส่วนพร้อมที่จะลงมาช่วยเหลือให้มากที่สุด ทั้งนี้ ในเรื่องของปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึง 4 อำเภอของจังหวัดสงขลานั้น ทางรัฐบาลได้เร่งระดมให้ความช่วยเหลือในการเยียวยาและการฟื้นฟูบ้านเรือน ถนนหนทาง และสาธารณูปโภค โดยจังหวัดนราธิวาสได้ใช้งบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและดูแลเบื้องต้น  ทางรัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยได้จัดสรรงบประมาณฟื้นฟูซ่อมแซมและช่วยเหลือชาวบ้าน 100 ล้านบาท ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสเพราะเป็นจังหวัดที่มีความเสียหายมากที่สุด ในส่วนของจังหวัดอื่นๆ การช่วยเหลือในส่วนของงบประมาณทุกจังหวัดมีงบประมาณที่จะช่วยเหลืออยู่แล้ว ทั้งการเยียวยา การฟื้นฟู ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ และพื้นที่ไหนที่เสียหายมากก็จัดสรรตามความเหมาะสม ไม่มีคำว่าเลือกปฏิบัติและขอให้มั่นใจได้ว่ารัฐบาลพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มขีดความสามารถ

'ดร.ชัยภัฏ' เชื่อ!! ชาวชุมพร ยอมรับ 'แลนด์บริดจ์' ต้องการความเจริญ แต่รัฐต้องมีกฎหมายพิเศษเยียวยาผลกระทบแก่ชุมพรด้วย

(12 ม.ค.67)ช่วงนี้ ต้องบอกว่า ประเด็นข้อถกเถียงในเรื่อง 'โครงการแลนด์บริดจ์' ที่ภาครัฐพยายามสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสครั้งสำคัญของเมืองไทย ในด้านคมนาคมขนส่งทางทะเล และเททถกสรรพกำลังเพื่อให้เกิดเป็นการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ในพื้นที่ จ.ชุมพร และระนอง ดูจะระอุหนัก

บรรยากาศ การลงพื้นที่แต่ละครั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในโครงการแลนด์บริดจ์ของประชาชนในพื้นที่นั้น เรียกว่ามีเนื้อหาที่เข้มข้น

แน่นอนว่า บรรยากาศการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ข้องเกี่ยวส่วนใหญ่นั้น ก็มีประชาชน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และตัวแทนส่วนราชการ เข้าร่วมกิจกรรมมากหลักหลายร้อย แต่ก็ยังดีที่ทุกครั้ง ทุกการพูดคุยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีการแสดงความคิดเห็นจากทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับโครงการ และผู้คัดค้าน และกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากโครงการแลนด์บริดจ์ในหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องที่ดินทำกิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และพื้นที่ทำประมงสำหรับชาวประมงพื้นบ้าน

เอาจริงๆ ถ้าฟังดูโดยรวมแล้ว ดูเหมือนว่า ถ้ารัฐมีทางออกที่ดี โดยเฉพาะเรื่องการเยียวยาจากผลกระทบของแลนด์บริดจ์ ผ่านรูปแบบของกฎหมายพิเศษเฉพาะ เชื่อว่าชาวบ้านทุกคนก็คงจะพร้อมใจขานรับ เพราะคงไม่มีใครอยากให้ประเทศไทยปล่อยโอกาสความเจริญ ที่จะส่งผลดีต่อจังหวัดของตนในภายภาคหน้าให้หลุดลอยไปด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ชัยภัฏ จันทร์วิไล ประธานเครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาโครงการ 'แลนด์บริดจ์' ประเทศไทย เปิดเผยว่า...

จากโครงการระดับประเทศ แลนด์บริดจ์ ที่เป็นโครงการขนส่ง เชื่อมฝั่งทะเลอันดามัน และทะเลอ่าวไทยที่ภาคใต้ของประเทศไทย ที่อาจมีมูลค่าการลงทุนเป็นหลายแสนล้านบาท หรือถึงหลักล้านล้านบาท และอาจเกิดมูลค่าเพิ่มเป็นหลายเท่าของการลงทุน หากโครงการประสบความสำเร็จ และในทางกลับกันหากโครงการล้มเหลวก็อาจก่อความเสียหายให้การเงินการคลังของประเทศไปอีกนาน 

อย่างไรก็ดี โครงการแลนด์บริดจ์นี้ ก็เป็นโครงการที่ทุกภาคส่วนในประเทศมีส่วนร่วม ในการรับผิดชอบในผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบอย่างปฏิเสธไม่ได้ ที่สำคัญองค์กรภาคสังคมหรือภาคประชาชน ต่างก็มีส่วนอยากรับรู้ความเป็นไปเป็นมาและมีส่วนร่วมในโครงการนี้เช่นกัน

"เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อปัจจัย ของประเทศในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี การศึกษา ความมั่นคง และที่สำคัญอาจมีผลไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่ทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชนต้องคำนึงในผลได้-เสีย ให้ถี่ถ้วนและรอบคอบ" ดร.ชัยภัฏ กล่าว

ดร.ชัยภัฏ กล่าวอีกว่า จากจุดนี้ ภาคประชาชนจึงรวมตัวกันขึ้นมา ทั้งนักวิชาการ, นักธุรกิจ และประชาชนอาชีพต่างๆ เป็น เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาโครงการ ‘แลนด์-บริดจ์’ ประเทศไทย (Network of people for Land-bridge development of Thailand) หรือชื่อย่อว่า NLDT ตามมาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อมีส่วนร่วมในโครงการแลนด์-บริดจ์ นี้

จากการที่มีหลายฝ่ายของภาครัฐ ได้ให้ความสำคัญในโครงการแลนด์บริดจ์ประเทศไทย โดยที่ฝ่ายบริหารโดย พณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้นำยกโครงการแลนด์บริดจ์ประเทศไทย ไปนำเสนอในต่างประเทศในหลายๆ ครั้ง และได้รับการตอบสนองอย่างดีจากหลายประเทศ อีกทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ โดยรัฐสภา ได้เสนอตั้งกรรมาธิการวิสามัญ แลนด์บริดจ์ เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้โครงการ โดยการพิจารณานั้นทางกรรมาธิการวิสามัญแลนด์บริดจ์ ใช้การรับฟัง การชี้แจง ของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐต่างๆ พร้อมเอกสารประกอบการชี้แจง เช่น...

จังหวัดชุมพร, จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ท่าเรือระนอง, การนิคมอุตสาหกรรม, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล, กรมขนส่งทางราบ, กรมทางหลวงชนบท, กรมทางหลวง, กรมเจ้าท่า, กองทัพฯ และอื่นๆ 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการวิสามัญแลนด์บริดจ์มีเวลาทำงานเพียง 3 เดือนเท่านั้น และเป็นการทำงานแบบการอภิปราย และปรึกษาหารือ (DISCUSION) โดยยังขาดการพิสูจน์สมมติฐานต่างๆ เพื่อทำการวิจัย หาข้อมูล สรุปอย่างแท้จริง ทำให้เห็นได้ว่าทางฝ่ายนิติบัญญัติมีเวลาน้อยมากกับการศึกษาโครงการที่มีผลกระทบระดับสูงในทุกมิติและระนาบของประเทศ อย่างไรก็ตามต่อจากนี้การทำงานของคณะฯ จะมีความครอบคลุมในมิติของปัญหามากยิ่งขึ้น

ทำไม ? สพฐ. ต้องจัดสภานักเรียนทั่วประเทศทุกๆปี

จากการปรับโครงสร้างการบริหารงานกระทรวงศึกษาธิการ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งถือเป็นกฎหมายการศึกษาฉบับแรกของไทยที่กำหนดแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แก่ประชาชนชาวไทยให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ มาตรา 10 ระบุว่า "การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี” เพื่อเป็นการตอบสนองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กรมสามัญศึกษา และกรมวิชาการ เป็นหน่วยงานที่จะต้องมารวมกันเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากการรวมหน่วยงาน “กิจกรรมเสียงแห่งอนาคต” กรมสามัญศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ จึงเปลี่ยนเป็น “กิจกรรมสภานักเรียน” ดำเนินงานโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึงปัจจุบัน มีบางปีที่ไม่ได้จัดกิจกรรมตามสถานการณ์บ้านเมือง

“สภานักเรียน” จึงเป็นกิจกรรมที่ฝึกให้นักเรียนได้เรียนรู้บทบาท หน้าที่ตนเอง ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง นักเรียนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเรียนรู้          การทำงานร่วมกับสังคม ตั้งแต่สังคมระดับเล็ก ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน จนถึงสังคมใหญ่ระดับประเทศ ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เคารพกฎ กติกา มีความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี รู้บทบาทหน้าที่ความเป็นพลเมืองตามวิถีประชาธิปไตย ได้แก่ คารวธรรม สามัคคีธรรม และปัญญาธรรม มีจิตอาสา ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้เติบโตเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ

ปี 2567 เป็นอีกปีหนึ่งที่ “สพฐ.” ได้จัดสภานักเรียนอย่างต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 10-13 มกราคม 2567 ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพฯ โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการอบรมสัมมนาสภานักเรียน ระดับประเทศ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “สภานักเรียน สพฐ. สานต่อแนวคิดที่สร้างสรรค์ เรียนรู้อย่างเท่าทัน มุ่งมั่นพัฒนาประชาธิปไตย” โดย นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อพัฒนานักเรียนให้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ตามวิถีประชาธิปไตย กิจกรรมสภานักเรียนจะช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ทางสังคม มีกลไกกระบวนการดำเนินงานของสภานักเรียน รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในโรงเรียน ด้วยกระบวนการอย่างสร้างสรรค์ นักเรียน ทุกคนได้รับการปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยมความเป็นประชาธิปไตย 

ด้าน น.ส.อรอนงค์ อุทารเวสารัช  รอง ผอ.สำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สพฐ. กล่าวว่า สำหรับปี 2567 ผู้เข้ารับการอบรมสัมมนาเป็นตัวแทนสภานักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือ มัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 78 คน พร้อมครูที่ปรึกษาสภานักเรียน จำนวน 78 คน  จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ คณะวิทยากรและคณะทำงาน จำนวน 66 คน รวมทั้งสิ้น 222 คน สำหรับการอบรมสัมมนาในครั้งนี้ มีกิจกรรมประกอบด้วย 1) สภานักเรียนกับความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย 2) การเรียนทำให้มีงานทำ กิจกรรมทำให้ทำงานเป็น รวมทั้งกฎหมายที่เด็กและเยาวชนควรรู้           3) ทักษะที่จำเป็นสำหรับนักเรียนในยุคดิจิทัล 4) ประวัติศาสตร์กับความรุ่งเรืองในยุคปัจจุบัน 5) การเลือกตั้งคณะกรรมการสภานักเรียน ระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2567 

พร้อมกันนี้ สภานักเรียน สพฐ. ได้มีการเลือกตั้งประธานสภานักเรียน ระดับประเทศ ประจำปี 2567 โดยได้รับความอนุเคราะห์การจัดกระบวนการเลือกตั้งเสมือนจริงจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มาแนะนำสาธิตการเลือกตั้งแบบอัตโนมัติ (ชนิดกดแทนกากบาท) เพื่อการเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตย จนสามารถเลือกประธานสภานักเรียน สพฐ.คนใหม่ ประจำปี 2567 ได้แก่ นายธาม พิพัฒน์รัตนกุล (น้องธาม) นักเรียนโรงเรียนสันกำแพง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เชียงใหม่ พร้อมเสนอวิสัยทัศน์การนำหลักการของการขับเคลื่อนสภานักเรียน สู่สภานักเรียนในระดับเขตพื้นที่การศึกษา/สถานศึกษา ด้วยหลัก 4ว. (วาจา/วิสัยทัศน์/เวลา/วางตัว)    2ท. (ทักษะ/ทัศนคติ) 1อ. (โอกาส) 

ซึ่งการจัดอบรมสัมมนาในครั้งนี้ ยังได้สรุปประเด็นแนวคิดและความต้องการของเด็กและเยาวขน สานต่อแนวทางที่สร้างสรรค์ เรียนรู้อย่างเท่าทัน มุ่งมั่นประชาธิปไตย เพื่อเสนอต่อคณะรัฐบาล ในวันเด็กแห่งชาติ วันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 ต่อไป

ทีมข่าวเครือข่าย ปชส.สพฐ.(เฉพาะกิจ) - รายงาน

ส่องชุดแข่ง 24 ชาติ 'เอเชียน คัพ 2023' ประเทศไหน? ใช้แบรนด์ใดกันบ้าง?

ฝีเท้าพร้อมไม่พอ ต้องมีชุดแข่งดี ๆ ช่วยให้เคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างดีเยี่ยมด้วย 

‘เอเชียน คัพ 2023’ หนนี้ แบรนด์ไหนไปเสริมศักยภาพสร้างความยืดหยุ่นแก่นักเตะชาติใดกันบ้างลองไปดูกัน

ส่วนของทีมชาติไทย ยังคงไว้ซึ่งแบรนด์นักรบ ‘Warrix’ ที่เคียงข้างไปลุยศึกเอเชียน คัพ 2023 รอบสุดท้าย ที่ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 12 มกราคม-10 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นที่เรียบร้อย

'ผู้ประกอบการไทย' ชี้!! อนาคตสถานบันเทิงไทย ปี 67 หลังไฟเขียวตี 4 พร้อมแนะ!! จับตาตลาดท่องเที่ยวคาซัคฯ มาแรง หลังฟรีวีซ่า

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้พูดคุยกับ คุณพีระพล พิภวากร เจ้าของร้านอาหาร Ministry of Single และรองประธาน Kazakh Thai Alliance ในประเด็น 'อนาคตสถานบันเทิงไทย เปิดถึงตี 4 ดีจริงไหม?' โดยคุณพีระพล กล่าวว่า...

ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาร้านอาหารและสถานบันเทิงได้รับผลกระทบพอสมควร จากการที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวจากนโยบายของภาครัฐในขณะนั้น 

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่ผ่านมาบรรยากาศการท่องเที่ยวไทยเริ่มดีขึ้น เพียงแต่ต้องมีการปรับบริบทและกลยุทธ์ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยก่อนโควิด-19 กลุ่มเป้าหมายยังเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนเป็นคนไทยแล้ว

ฉะนั้นอยากให้ภาครัฐที่ออกนโยบายลงมาพูดคุยกับผู้ประกอบการถึงความต้องการจริงๆ ว่าต้องการอะไร เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจ และมีความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะการเปิดสถานบริการถึงตี 4 ก็ควรเข้มงวดในเรื่องกฎหมาย เช่น การเมาแล้วขับรถต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง นอกจากนี้ควรส่งเสริมผู้ประกอบการในด้านอื่นๆ เช่น การลดหย่อนภาษี มีกองทุนร้านอาหารเพื่อแปลงหนี้เป็นทุน หรือส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น เป็นต้น 

นอกจากนี้ คุณพีระพล ยังได้เปิดประเด็นสำคัญอีกเรื่องเกี่ยวกับมุมมองตลาดท่องเที่ยวคาซัคสถานหลังฟรีวีซ่า ซึ่งในฐานะรองประธาน Kazakh Thai Alliance คุณพีระพล กล่าวว่า...

พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวคาซัคสถานส่วนใหญ่จะมีวันหยุดยาวเป็นเดือนโดยเลือกจุดหมายมาเมืองไทยกันเป็นจำนวนมากในช่วงนี้หลังจากฟรีวีซ่า โดยนักท่องเที่ยวคาซัคสถานมีกำลังซื้อสูง นิยมท่องเที่ยวภูเก็ต, กระบี่ และพัทยา โดยแต่ละปีมาท่องเที่ยวเมืองไทยกว่า 300,000 คน 

ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวคาซัคสถานในปัจจุบันยังน้อยอยู่ด้วยหลายปัจจัย เช่น เที่ยวบินจากไทยไปคาซัคสถานยังไม่เพียงพอ โดยปัจจุบันรูปแบบการท่องเที่ยวต้องไปกับทัวร์เพียงอย่างเดียว ซึ่งตรงนี้ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ในด้านการส่งเสริมการตลาดที่ประเทศคาซัคสถาน ก็ต้องบอกว่าเป็นข่าวดี เพราะยังมีความต้องการสินค้าจากประเทศไทยสูง เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพที่น่าเชื่อถือ คนในคาซัคฯ ก็เชื่อมั่นมาก หลายๆ ชนิดสินค้าก็ได้รับการตอบรับดี เช่น ผลไม้ไทย, น้ำจิ้มไก่, อาหารทะเลแปรรูปแช่แข็ง, เครื่องกระป๋อง เป็นต้น 

แน่นอนว่า ในส่วนของคาซัคสถานเอง ก็อยากนำสินค้ามาเปิดตลาดในไทยด้วยเช่นกัน เช่น เนื้อวัว, เนื้อม้า, เนื้อแกะ, ข้าวสาลี เป็นต้น 

คุณพีระพล ทิ้งท้ายอีกด้วยว่า ในปีนี้ช่วงหลังเดือนกุมภาพันธ์ ตนจะมีการจัดทริป Business Matching เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่อยากไปเปิดตลาดธุรกิจที่คาซัคสถานอีกครั้ง ถ้าท่านใดสนใจท่องเที่ยวและร่วมทริป Business Matching สามารถสอบถามได้ที่ 095-936-9635


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top