Wednesday, 14 May 2025
NewsFeed

ปชป. เผยหลังเปิดศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน โควิด-19 เพื่อช่วยผู้ป่วยตกค้าง ไม่มีเตียง พบเคสประสานมา กว่า 50 ราย ช่วยได้แล้วเกินครึ่ง

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ 2564 พรรคประชาธิปัตย์ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค ในฐานะหัวหน้าทีมผู้รับผิดชอบประสานข้อมูลผู้ติดเชื้อเพื่อการส่งต่อ ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 (ศปฉ.ปชป.) ที่มี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค กรุงเทพมหานคร และนางสาวจิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร รองเลขาธิการพรรค เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้เปิดเผยว่าหลังจากที่ได้มีการแถลงข่าวเปิดศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 เพื่อช่วยประสานคลี่คลายปัญหาผู้ป่วยติดเชื้อตกค้างได้ให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา ความคืบหน้าถึงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2564 สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยไปได้แล้ว 30 ราย จากที่ขอความช่วยเหลือประสานมา 49 ราย

โดยนางดรุณวรรณ กล่าวว่าอยากขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันอย่างเต็มที่ ทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่เสียสละ อดทน ทำงานกันอย่างหนักเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในสถานการณ์ ส.ส. อดีต ส.ส. อดีต ส.ก. อดีต ส.ข ในพื้นที่รวมถึงบุคลากรของพรรคและจิตอาสาที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันในยามที่ประเทศชาติเกิดวิกฤต 

ทั้งนี้ ทีมประสานข้อมูลผู้ติดเชื้อเพื่อการส่งต่อ ของศูนย์ฯ (DEM Call Team) ของพรรคได้ทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เปิดศูนย์ฯ มา ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือมาโดยตลอด ทั้งจากอดีต ส.ส. อดีต ส.ก. อดีต ส.ข ในพื้นที่ รวมถึงช่องทางออนไลน์ของพรรค ทีมได้พยายามประสานให้เร็วที่สุดในทันทีที่ได้รับข้อมูลมาจากทุกแหล่ง เพราะเข้าใจดีว่าหากผู้ติดเชื้อ Covid-19 ได้รับการช่วยเหลือช้า จะส่งผลต่อการดูแลตนเองและการป้องกันการแพร่กระจายของโรคในขณะที่ยังไม่ได้รับการดูแลรักษาในสถานพยาบาลร่วมด้วย และขอขอบคุณสถานพยาบาลบางแห่งที่ได้ติดต่อมาเพื่อช่วยรับผู้ป่วย รวมถึง Hospitel ทั้งหมดนี้ ทีมงานจะเร่งประสานและส่งต่อข้อมูลไปยังผู้รับผิดชอบของภาครัฐเพื่อให้ดำเนินการตามมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

“จากที่ขอความช่วยเหลือมาถึงปัจจุบันจำนวน 49 ราย และยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง  เราช่วยไปแล้ว 30 ราย บางรายช่วยหาเตียงได้ภายในหนึ่งวัน ทำให้ผู้ป่วยถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม รวมถึง Hospitel และเข้าไปรับการรักษาตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บางรายอยู่ระหว่างรอรถมารับ จากการประสานงานสิ่งที่น่ากังวลคือพบผู้ติดเชื้อบางส่วนรอเตียงไม่น้อยกว่า 4-5 วัน บางกลุ่มรอจนติดกันทั้งครอบครัว ทั้งนี้ภายใต้การทำงานของศูนย์ฯ จะพยายามทำให้เต็มที่ เพื่อช่วยให้ทุกคนปลอดภัยมากที่สุด ตามแนวทางที่ท่านหัวหน้าพรรค และท่านเลขาธิการพรรคได้กำชับและแสดงความห่วงใยมาโดยตลอด” นางดรุณวรรณ กล่าว 

นางดรุณวรรณ ยังกล่าวเสริมด้วยว่าผู้บริหารพรรคได้ให้แนวทางไว้ว่าจะให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะผู้ติดเชื้อ Covid-19 ที่ยังคงตกค้าง แบบไม่เลือกฝั่งเลือกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ทั่วถึงและเสมอภาค โดยยึดหลักทำให้ "เร็ว" ช่วยให้ "รอด" ลดการ "กระจาย" เชื้อ และลด “อัตราการติดเชื้อ” ให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อ ครอบครัวหรือผู้ที่เกี่ยวข้องของผู้ติดเชื้อที่ยังตกค้างไม่มีเตียง สามารถส่งข้อมูลหรือเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านทางทีมบุคลากรของพรรคในพื้นที่ (Offline) ช่องทางบลูเฮ้าส์ 02 828 1010 รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ (Online) ของพรรค โดยช่องทางโซเชียลมีเดียของพรรคจะใช้ 2 ช่องทางหลักคือทางกล่องข้อความ Facebook : facebook.com/DemocratPartyTH และ Twitter : twitter.com/democratTH โดยการประสานงานจะเน้นสนับสนุนการทำงานของภาครัฐเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อส่งผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม หรือนัดหมายและส่งตัวผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อไปยังสถานพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย
 

‘สันติ พร้อมพัฒน์’ ปิ๊งไอเดีย เล็งหาที่ราชพัสดุ เสนอครม. ทำบ้านเช่าคนจน ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัย ล็อคเป้าที่ราชพัสดุ ในสมุทรปราการ 1,000 ไร่ เหมาะทำเป็นโครงการนำร่อง

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมธนารักษ์ เร่งนำที่ราชพัสดุทั่วประเทศมาจัดสรรสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและที่ดินด้านเกษตรกรรม เพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย และที่ทำกินประกอบอาชีพสร้างงาน สร้างรายได้เป็นของตัวเอง โดยสามารถนำมาพัฒนาเป็นที่อยู่ให้เช่าในราคาไม่สูง ซึ่งกรมธนารักษ์จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ของผู้ที่มีสิทธิในการเช่าที่ดิน รวมถึงรายละเอียดของที่ดินราชพัสดุ ที่จะนำมาพัฒนาเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา ก่อนเสนอให้ที่ประชุมครม. อนุมัติต่อไป

“กรมธนารักษ์ สามารถนำที่ราชพัสดุมาพัฒนาเป็นที่อยู่ให้เช่าในราคาไม่แพง เมื่อประชาชนมีที่อยู่อาศัย มีที่ทำกิน มีรายได้ ก็ย่อมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปด้วย ที่สำคัญยังช่วยให้กรมธนารักษ์มีรายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม”

ทั้งนี้ ล่าสุดกรมธนารักษ์ได้รวบรวมที่ดินราชพัสดุที่มีศักยภาพ พร้อมพัฒนาให้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และที่ดินทำกิน สร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งในเบื้องต้นมีที่ราชพัสดุแถวจังหวัดสมุทรปราการ 1,000 ไร่ ที่มีศักยภาพนำมาพัฒนาได้ โดยขณะนี้กรมฯ กำลังกำหนดหลักเกณฑ์ผู้ที่มีสิทธิเช่าที่อยู่อาศัย และที่ดินราชพัสดุสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ป้องกันไม่ให้มีการสวมสิทธิมาเช่าที่อยู่อาศัย แต่ไม่ได้อยู่เอง แต่เอาไปปล่อยเช่าต่อ เป็นต้น โดยคาดว่ากลางเดือนพ.ค.นี้ จะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป

พท.ชวนคนไทยนับหนึ่ง ลั่น “ประยุทธ์” ต้องลาออก ไม่ต้องอยู่เป็นนายกฯ อีกต่อไป

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2564  ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นางสาวอรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรค พท.แถลงว่า พรรค พท.อยากเห็นท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลต่อการบริหารงานผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านขีดเส้นตายการลาออกของ พล.อ.ประยุทธ์จากการล้มเหลวผิดพลาดในการบริหารงานของ ดังนั้นการลาออกของ พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นการแก้วิกฤตในสถานการณ์วิกฤต เพื่อให้ประเทศนับหนึ่งใหม่อีกครั้งจากที่ผ่านมาติดลบ สิ่งที่รัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ต้องทำคือการลาออก ทั้งจากการล้มเหลวการบริหารจัดการวัคซีน เงินกู้ 1 ล้านล้านที่ใช้ไม่เกิดประโยชน์ การบริหารแบบไม่กระจายอำนาจ รวบอำนาจ สะท้อนถึงความล้มเหลว ไม่ว่าจะรวบอำนาจอีกกี่ครั้งแต่นายกฯ ยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์ไม่จำเป็นต้องอยู่เป็นนายกฯ อีกต่อไป 

นางสาวอรุณี กล่าวอีกว่า ส่วนที่ภาคเอกชนจะจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมนั้น แต่รัฐบาลอาจมองว่าการจัดหาวัคซีนทางเลือกเป็นการกระทำระหว่างรัฐบาต่อรัฐบาล แต่ถ้าเอกชนที่มีศักยภาพควรให้มีการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมได้ ดังนั้นอยากยืนยันว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องนับหนึ่งใหม่ ประเทศก้าวต่อไปโดย พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออก

รมว.คลัง ระบุ ไม่ได้ข้อสรุปคืนสถานะรัฐวิสาหกิจ การบินไทย

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า แผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการพิจารณาผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ ที่กำหนดจะจัดประชุมเจ้าหนี้ให้โหวตแผนฟื้นฟูในวันที่ 12 พ.ค.นี้ จึงจะทราบว่าเจ้าหนี้จะรับแผนฟื้นฟูฯ หรือไม่ ส่วนกรณีที่จะดึงการบินไทยกลับมามีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น “กระทรวงการคลังยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้” “ให้ไปคุยกันให้เรียบร้อยก่อน และต้องดูข้อเสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ ยังต้องรอดูความชัดเจนของผลโหวตรับแผนฟื้นฟูฯจากเจ้าหนี้ด้วย เพราะการเพิ่มทุนมีหลายแนวทาง ซึ่งขณะนี้แผนฟื้นฟูการบินไทยยังอยู่ในขั้นตอนของผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ กับทางเจ้าหนี้” นายอาคม ระบุ

ส่วนกรณีที่กองทุนวายุภักษ์ 1 ขายหุ้นการบินไทยในช่วงที่ผ่านมานั้น นายอาคม กล่าวว่ากระทรวงการคลังมองว่าเป็นการบริหารจัดการพอร์ตหุ้นตามปกติ ตามกลไกราคา

พ.อ.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) กล่าวว่า กรณีที่จะให้ธพส.เข้าไปซื้อหุ้นการบินไทยนั้น เป็นเรื่องของนโยบาย ซึ่งธพส.พร้อมดำเนินการตามนโยบาย แต่หากมีโอกาสก็พร้อม โดยเฉพาะการศึกษาการนำทรัพย์สินที่มีอยู่ของการบินไทย มาพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้ และกำไร เพื่อนำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

“การบินไทย มีทรัพย์สิน จำนวนมาก เช่น อาคารสำนักงานการบินไทย ทั่วประเทศ หาก ธพส. มีโอกาสเข้าไปก็สามารถนำทรัพย์สินนั้น มาพัฒนาต่อยอดและนำไปให้เช่าได้ ก็สามารถสร้างรายได้ให้ทั้งการบินไทยและธพส.” พ.อ.นาฬิกอติภัค กล่าว

‘นายกโต้ง’ นพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ.ชุมพร พร้อมคณะ สมทบเงินรวม 7 แสนบาท ร่วมกับ ‘กลุ่มเพื่อน ส.ส.ลูกหมี-ส.ส.ลูกช้าง’ นำโดย ชุมพล จุลใส - สุพล จุลใส อีก 3 แสนบาท รวมเป็นเงิน 1 ล้านบาท มอบให้กับ ผวจ.ชุมพร ใช้ต่อสู้โควิด ที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง

เมื่อเวลา 09.09 น. (29 เม.ย. พ.ศ.2564) ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 หน้าที่ทำการ อบจ.ชุมพร นายนพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ.ชุมพร,คณะผู้บริหาร, สจ.ของ "ทีมพลังชุมพร" และคณะ ร่วมกับ “กลุ่มเพื่อน ส.ส.ลูกหมี-ลูกช้าง นำโดย นายชุมพล จุลใส ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 1 จ.ชุมพร, นายสุพล จุลใส ส.ส.พรรครรวมพลังประชาติไทย เขต 3 จ.ชุมพรและเพื่อน ๆ ได้มอบเงินจำนวน 1 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นของคณะผู้บริหารและสจ.ของ "ทีมพลังชุมพร” และคณะ จำนวน 7 แสนบาท รวมกับของ “กลุ่มเพื่อน ส.ส.ลูกหมี-ลูกช้าง” อีก 3 แสนบาท โดยมี นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นายแพทย์จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร เป็นผู้รับมอบ

นายนพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ.ชุมพร กล่าว ในฐานะที่ผมเป็นนายก อบจ.ชุมพร ทราบดีว่า การต่อสู้เอาชนะกับโรคติดต่อร้ายแรงที่กำลังแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ครอบคลุมไปทั่วประเทศแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึง อสม.ต้องทุ่มเทและเสียสละอย่างหนักตลอด ซึ่งทาง อบจ.เองก็ได้สนับสนุนงบประมาณอยู่ตลอดเช่นกัน โดยเป็นไปตามภารกิจหน้าที่ตามกฎหมาย และตามมติของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แต่สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน หากรอพียงการสนับสนุนงบประมาณของทางราชการเพียงอย่างเดียว ด้วยระเบียบและข้อกฎหมาย อาจไม่ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้ การพร้อมใจกันสมทบเงินเป็นก้อนแรก เพื่อหวังว่าจะสามารถทำให้การปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์มีความคล่องตัวและทันต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น จนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้โดยเร็วในที่สุด หากจำนวนเงินดังกล่าวยังไม่เพียงพอ พวกเรายินดีที่จะระดมทุนเพิ่มให้ในโอกาสต่อไปอีก

ด้าน นายชุมพล จุลใส กล่าว ขณะนี้ชาวบ้านและพี่น้องประชาชน มีความเดือดร้อนอย่างหนัก มีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มเพื่อน ส.ส.ลูกหมี-ลูกช้าง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการพุดคุยหารือกันอยู่ตลอด ว่า จะมีวิธีใดบ้างที่จะสามารถช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ ชาวบ้านและพี่น้องประชาชนได้ เพราะพวกเรามาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน พี่น้องเดือดร้อน เป็นทุกข์ เราก็ต้องหาทางช่วยเหลือบรรเทา ซึ่งในเบื้องต้นจึงได้ร่วมกันกับ ทีมพลังชุมพร เพื่อมอบเงินให้กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร เพื่อให้เกิดความคล่องตัว จะได้ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้


ธนากร โกศลเมธี รายงาน

เหล่าทัพอัพเดทจำนวนเตียง รพ.สนามทหาร ยังเหลือพร้อมช่วยปชช.

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ได้เปิดเผยความคืบหน้าการใช้โรงพยาบาลสนามของแต่ละเหล่าทัพ โดยกองทัพบกปัจจุบันได้เปิดใช้งานโรงพยาบาลสนามกองทัพบกแล้วตอนนี้จำนวน 9 แห่ง พร้อมรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมดจำนวน 1,013 เตียง ใช้บริการ 376 เตียง คงเหลือ 637 เตียง แบ่งเป็น

1.) กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 พร้อมรับ 300 เตียง ใช้บริการ 233 เตียง เหลือ 67 เตียง

2.) กรมพลาธิการทหารบก พร้อมรับ 100 เตียง ซึ่งยังไม่มีผู้เข้ารับการบริการ

3.) กองพันเสนารักษ์ที่ 1 จ.ลพบุรี พร้อมรับ 50 เตียง ซึ่งยังไม่มีผู้เข้ารับการบริการ

4.) ศูนย์การทหารราบ จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมรับ 100 เตียง ใช้บริการ 34 เตียง เหลือ 66 เตียง

5.) กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 5 จ.สงขลา พร้อมรับ 100 เตียง ซึ่งยังไม่มีผู้เข้ารับการบริการ

6.) กองพลทหารราบที่ 15 จ.สงขลา  พร้อมรับ 100 เตียง ซึ่งยังไม่มีผู้เข้ารับการบริการ

7.) กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 15 พร้อมรับ 40 เตียง ยังไม่มีผู้เข้ารับการบริการ

8.) โรงพยาบาลสนามกองทัพบก (เกียกกาย) พร้อมรับ 136 เตียง ใช้บริการแล้ว 107 เตียง เหลือ 29 เตียง และ9.กรมยุทธศึกษาทหารบก และ

9.) กรมยุทธศึกษาทหารบก พร้อมรับ 87 เตียง ใช้บริการ 2 เตียง เหลือ 85 เตียง

สำหรับกองทัพเรือ เปิดใช้งานโรงพยาบาลสนามกองทัพเรือแล้วตอนนี้จำนวน 3 แห่ง พร้อมรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมดจำนวน 726 เตียง ใช้บริการ 156 เตียง คงเหลือ 570 เตียง แบ่งเป็น 1.ศูนย์ฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง จ.ชลบุรี พร้อมรับ 320 เตียง ใช้บริการ 31 เตียง เหลือ 289 เตียง 2.ค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า จ.ระยอง พร้อมรับ 174 เตียง ใช้บริการ 89 เตียง เหลือ 85 เตียง 3.สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทรเขลม จ.จันทบุรี พร้อมรับ 232 เตียง ใช้บริการ 36 เตียง เหลือ 196 เตียง นอกจากนี้กองทัพเรือยังได้เตรียมเปิดโรงพยาบาลแห่งที่ 3 ซึ่งจะใช้สนามกีฬาภูติอนันต์ 2 กรมสรรพาวุธทหารเรือ กทม. สามารถรองรับได้ 80 เตียง

ส่วนกองทัพอากาศ  เปิดใช้งานโรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศแล้วตอนนี้จำนวน 2 แห่ง พร้อมรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมดจำนวน 240  เตียง ใช้บริการ 109 เตียง คงเหลือ 131 เตียง แบ่งเป็น 1.โรงพยาบาลสนามทอ. ดอนเมือง  พร้อมรับ 120 เตียง ใช้บริการ 33 เตียง เหลือ 87 เตียง 2.โรงพยาบาลสนามทอ. โรงเรียนการบินกำแพงแสน จ.นครปฐม  พร้อมรับ 120 เตียง ใช้บริการ 76 เตียง เหลือ 44 เตียง

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ห่วงใยผู้ประกอบการ ยกระดับให้บริการขออนุมัติ-อนุญาต ออนไลน์ 100% พร้อมประสานทีมแพทย์กรมราชทัณฑ์ เปิดจุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด -19 ให้พนักงาน กนอ. ลดความแออัดตรวจหาเชื้อในโรงพยาบาลฯ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ที่มีการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและมีความรุนแรงมากขึ้น คณะทำงานบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ของ กนอ.ได้ให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ มาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคทั้งต่อบุคลากร กนอ.และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดย กนอ.ได้ยกระดับความพร้อมในส่วนของการให้บริการออนไลน์กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เน้นให้บริการที่สอดคล้องกับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามนโยบายและแนวทางของรัฐบาล

ทั้งนี้ ในส่วนของการขออนุมัติ-อนุญาตการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ได้ใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการงานอนุมัติ-อนุญาต (e-Permission & Privilege หรือ e-PP) ด้วยลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ซึ่งครอบคลุมการขออนุญาตใช้ที่ดิน การขออนุญาตการก่อสร้าง การขอรับสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีอากร เช่น การขออนุญาตถือครองที่ดินและกรรมสิทธิ์ที่ดิน การขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าว เป็นต้น

โดยเมื่อ กนอ.พิจารณาอนุมัติคำขอดังกล่าวแล้วระบบจะสร้างใบแจ้งหนี้โดยมีบาร์โค้ดเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถชำระค่าบริการอนุญาต/ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แบบผ่านโมบายล์ แบงกิ้งของธนาคารต่าง ๆ หรือเคาน์เตอร์เซอร์วิสได้ เมื่อชำระค่าบริการดังกล่าวแล้ว ผู้ประกอบการสามารถพิมพ์หนังสืออนุญาตแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เอง โดยไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานใหญ่ หรือสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม โดยในหนังสืออนุญาตจะมีลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์และคิวอาร์โค้ด เพื่อให้หน่วยงานอื่นสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ โดยระบบยังสามารถจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice & e-Receipt) ได้ด้วย

นอกจากนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือไปยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ให้จัดทีมแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ ณ จุดตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด -19 ที่ กนอ.สำนักงานใหญ่ ในวันที่ 29 เม.ย.2564 เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับพนักงาน กนอ. โดยการเปิดจุดคัดกรองนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด และเป็นการแบ่งเบาภาระและลดความแออัดให้แก่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการให้บริการตรวจหาเชื้อโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาล กนอ.ได้ให้พนักงานบางส่วนปฏิบัติงานที่บ้าน ทั้งในส่วนของ กนอ.สำนักงานใหญ่ และสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการลูกค้าและผู้รับบริการ ขณะเดียวกันหากมีพนักงานของ กนอ.ที่มีโอกาสมีความเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิด ได้ขอให้ผู้บังคับบัญชาตามสายงานเป็นผู้พิจารณาให้พนักงานดังกล่าวเข้ารับการตรวจคัดกรองที่สถานพยาบาลรัฐบาล หรือเอกชน พร้อมกับทำการกักตัวที่บ้านพัก พร้อมสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน นับจากวันที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อและได้ใบรับรองก่อนกลับมาทำงานปกติ

“ผมมีความห่วงใยในสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานทุกคน โดยขอให้ป้องกันตนเองตามมาตรการ ที่ กนอ.กำหนดอย่างเคร่งครัดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ประกอบการเองขอให้มั่นใจว่า กนอ.จะยังคงให้บริการได้ตามปกติผ่านทางระบบออนไลน์ ซึ่ง กนอ.มีการเตรียมความพร้อมให้บริการเต็มประสิทธิภาพอยู่แล้ว” นายวีริศ กล่าว

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการที่มีข้อสอบถามหรือต้องการคำแนะนำการใช้งานของระบบเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยทีม IEAT e-PP Support ผ่านช่องทาง email : [email protected] /Line ID : @IEAT-ePP-Support หรือที่เบอร์โทรศัพท์ 06-3435-2015 , 0-2253-0561 ต่อ 4448

'ราเมศ' หนุน พาณิชย์ จัดการเดลิเวอรี่ ขึ้นค่าบริการ เอาเปรียบ ปชช 

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณี มาตรการรับมือโควิดพาณิชย์ สั่งคุมเข้มค่าบริการดีลิเวอรี่ป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภคว่า สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวเต็มที่ เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนมายังพรรคหลายรายอยากให้ภาครัฐเข็มงวด เพราะหากมีการเอาเปรียบโดยการขึ้นค่าบริการในการส่งของกินของใช้แบบเดลิเวอร์รี่ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชนในสถานการณ์เช่นนี้ การสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน รวมถึงของกินของใช้สั่งผ่านระบบออนไลน์ ใช้วิธีการส่งแบบเดลิเวอร์รี่ ก็จะเป็นอีกหนึ่งความร่วมแรงร่วมใจป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นกัน

การที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พาณิชย์ ได้สั่งการให้แต่ละจังหวัดเข้าไปดำเนินการ เข้าไปตรวจสอบอัตราค่าบริการในส่วนของธุรกิจเดลิเวอรี่มากขึ้น เพราะในช่วงโควิดประชาชนหันมาใช้บริการการส่งแบบเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบเรื่องของราคาค่าบริการกับภาคประชาชน ถือได้ว่าเป็นนโยบายที่ดี ที่จะทำให้ประชาชนไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ จะช่วยประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างมาก แต่สิ่งสำคัญขณะนี้ เราคนไทยทุกคนจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกัน สามัคคีกัน ในทุก ๆ ด้าน พึ่งพาอาศัย เห็นอกเห็นใจกัน ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน เชื่อว่าเราจะก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปด้วยกันอย่างแน่นอน

“ธรรมนัส” ลั่น ปม “บิ๊กตู่” แบ่งงานคุมใต้ไม่มีปัญหา ยัน ไม่ได้ตีหัวเมืองใคร ปัดตอบ รมต.นินทานายกฯ เชื่อ พรรคร่วมไม่ตีจาก ไม่หวั่นศาล รธน.วินิจฉัย สถานะส.ส.-รมต.ปมติดคุก ตปท. 5 พ.ค.นี้ 

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี ที่ 85/2564 เรื่องมอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัดที่มอบหมายให้ ร.อ.ธรรรมนัส ดูแลภาคใต้ ว่า ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาทำงานในฐานะรมช.เกษตรฯ และตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม รวมถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพปชร. แต่งตั้งและมอบหมายให้ทำหน้าที่ต่าง ๆ ถือว่าได้ลงพื้นที่ทุกจังหวัดและทำพื้นที่มาตลอด

ดังนั้นการแบ่งงานให้รัฐมนตรีรับผิดชอบในแต่ละจังหวัด ไม่ใช่ประเด็นและไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไร ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายให้ดูแลจังหวัดไหน ก็ไปเกือบทุกจังหวัดอยู่แล้ว ไปเยี่ยมประชาชนเดือดร้อนทุกที่ และการแบ่งงานเป็นอำนาจของนายกฯไม่ใช่อำนาจของรัฐมนตรี เมื่อตัดสินใจมอบหมายว่าให้ใครทำแล้ว หน้าที่ของรัฐมนตรีคือต้องทำให้ดีที่สุด ทั้งนี้ยังไม่ได้คุยกับทางพรรคประชาธิปัตย์ ในเรื่องนี้ ส่วนนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ก็คุยกันอยู่แล้ว 

ผู้สื่อข่าวถามว่าการมอบหมายให้ไปดูภาคใต้ ถูกมองว่าไปตีหัวเมืองพรรคร่วมรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่ใช่ 

เมื่อถามว่าเรื่องนี้อาจทำให้มีปัญหากับพรรคประชาธิปัตย์ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า คิดมากกันเอง อย่าไปคิดมาก เพราะเราทำงาน เป้าหมายสูงสุดคือพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่มีเรื่องอื่น เมื่อถามย้ำว่าจะกลายเป็นความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนเป็นส.ส.พรรคพปชร. แต่มีพรรคพวกเยอะ ทุกพรรคเราเป็นเพื่อนกัน เป็นพวกกัน มีอะไรก็หันหน้าพูดคุยกัน 

เมื่อถามว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นในลักษณะยังไม่ค่อยพอใจ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่ทราบเพราะเป็นความเห็นส่วนตัวของนายจุรินทร์ 

ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่นายกฯระบุในครม.เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ว่ามีคนนินทา ร.อ.ธรรมนัส กล่าวพร้อมกับหัวเราะว่า เรื่องนี้ไม่ทราบและตนก็ไม่ค่อยอยู่ในครม.เพราะส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ 

เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้นายกฯลาออกเพราะบริหารจัดการแก้โควิด-19 ล้มเหลว รวมถึงไม่แก้รัฐธรรมนูญตามที่สัญญา ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เรื่องโควิด-19 เวลานี้ ถ้าพูดภาษาทหารก็เป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 เป็นการต่อสู้ของมนุษย์ที่เป็นสิ่งที่ชีวิตกับสิ่งที่มองไม่เห็น และกระทบมนุษย์ทั่วโลก ดังนั้นคนไทยต้องช่วยกันทุกฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤต ทั้งรัฐและเอกชนเดินหน้าไปด้วยกัน คนไทยเรารักกันเมื่อมีวิกฤตต้องช่วยกัน อย่าเอาการเมืองมาเล่นมากเกินไป ส่วนข้อเรียกร้องของฝ่ายค้านก็เป็นเรื่องของฝ่ายค้าน โดยการแก้ปัญหารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภาที่ต้องขับเคลื่อน 

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลอาจใช้สถานการณ์โควิด ตีตัวออกห่างจากพรรคพปชร.และนายกฯ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนเชื่อมั่นว่าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคต่างก็คิดว่าเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เวลานี้ประชาชนเดือดร้อนไม่ควรมาคุยเรื่องการเมือง แต่ให้ช่วยเหลือประชาชนเพราะคำตอบสุดท้ายประชาชนก็จะดูและพิจารณาว่าพรรคร่วมพรรคใดที่ประชาชนจะไว้วางใจและคิดว่าการออกมาแสดงความคิดเห็นใด ประชาชนเขามองอยู่ 

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ที่ในวันที่ 5 พ.ค.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านวินิจฉัยวินิจฉัยสถานะส.ส. และสถานะรัฐมนตรี จากกรณีเคยต้องคำพิพากษาจำคุก ของศาลต่างประเทศ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่กังวล เราทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายและเป็นอยู่ทุกวันให้ดีที่สุด 
 

กระทรวงแรงงาน เผยมาตรการสำหรับผู้เดินทางจากประเทศไทยไปกาตาร์ ช่วงโควิด-19

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แจ้งคนหางานที่จะเดินทางไปทำงานรัฐกาตาร์ ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐกาตาร์กำหนด โดยต้องมีวีซ่าทำงานประเภท Work-Yearly Resident และใบอนุญาตเข้าเมือง พร้อมทั้งตรวจสุขภาพ และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ณ โรงพยาบาลที่รับรองจากฝ่ายกาตาร์ 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากทำให้แรงงานไทยได้รับการดูแลที่ดีตามสิทธิที่พึงมี ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยสำหรับรัฐกาตาร์ กระทรวงแรงงานได้พิจารณาให้ยกเลิกการชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในรัฐกาตาร์ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากประเมินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ของรัฐกาตาร์ว่ามีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาด้านกฎระเบียบ และกฎหมายที่ดีขึ้น เอื้อประโยชน์แก่แรงงานไทย ตลอดจนตลาดแรงงานในรัฐกาตาร์ยังต้องการแรงงานไทยที่มีทักษะฝีมือ สำหรับโครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก 

นายสุชาติฯ กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานกระทรวงแรงงานให้แจ้งมาตรการสำหรับผู้เดินทางจากประเทศไทยไปยังรัฐกาตาร์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้

1.) คนหางานที่เดินทางไปทำงานในรัฐกาตาร์จะต้องได้รับการตรวจลงตราเพื่อการทำงานประเภท Work-Yearly Resident พร้อมใบอนุญาตเข้าเมือง (Exceptional Entry Permit) โดยนายจ้างจะต้องเป็นผู้ดำเนินการให้โดยระบบออนไลน์

2.) คนหางานก่อนเดินทางไปทำงานในรัฐกาตาร์ จะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากโครงการตรวจสุขภาพสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ (Expatriate Health Check-up Program) ของสภาสาธารณสุขกลุ่มประเทศอ่าว (Gulf Health Council States) ซึ่งมีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ (1.) โรงพยาบาลเวชธานี (2.) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (3.) โรงพยาบาลกรุงเทพ (4.) โรงพยาบาลปิยะเวท และ (5.) โรงพยาบาลรามาธิบดี 

3.) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ารัฐกาตาร์สามารถตรวจหาเชื้อ COVID-19 ภายใน 48 ชม. ก่อนเดินทางจากโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากฝ่ายกาตาร์ ได้แก่ (1.) โรงพยาบาลเวชธานี (2.) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และ (3.) โรงพยาบาลกรุงเทพ โดยจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 6,500-8,000 บาท กรณีคนหางานตรวจหาเชื้อ COVID-19 จากโรงพยาบาลที่ได้รับรองจากรัฐกาตาร์ เมื่อเดินทางไปถึงรัฐกาตาร์ไม่ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้ออีก แต่หากตรวจหาเชื้อ COVID-19 นอกเหนือจากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งที่กล่าวมา เมื่อเดินทางไปถึงรัฐกาตาร์ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ที่ท่าอากาศยานกรุงโดฮาอีกครั้งโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

4.) หากผู้ที่เดินทางเข้าไปรัฐกาตาร์ที่ยังไม่มีบัตรถิ่นพำนัก (QID) จะต้องกักตัวที่โรงแรมเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน โดยนายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกักตัว ทั้งนี้ หากแรงงานที่เข้ารับการกักตัวไม่สามารถพักห้องเดี่ยวได้จะต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน

5.) เมื่อพ้นระยะเวลาการกักตัว นายจ้างจะต้องนำลูกจ้างไปตรวจโรคเพื่อจัดทำบัตรถิ่นพำนัก (QID) และจัดทำบัตรสุขภาพต่อไป

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขอให้ประชาชน คนหางานที่จะเดินทางไปทำงานในรัฐกาตาร์  ตรวจสอบข้อมูลตำแหน่งงาน ลักษณะงาน ตลอดจนประเทศที่จะไปจากเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน ก่อนตัดสินใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศและเลือกเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมี 5 วิธี ได้แก่

1.) บริษัทจัดหางานจัดส่ง

2.) กรมการจัดหางานจัดส่ง(รัฐจัดส่ง)

3.) นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงานต่างประเทศ

4.) นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ

5.) คนหางานเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิ และสวัสดิการตามมาตรฐานที่พึงมี และป้องกันการตกเป็นเหยื่อของผู้ฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ 

“ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาระบบการไปทำงานในต่างประเทศ โทรศัพท์ 02-245-6708-9 ในวันและเวลาราชการ หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694”  นายไพโรจน์ฯ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top