Tuesday, 13 May 2025
NewsFeed

'กลุ่มเรือประมงพื้นบ้านระยอง' ร่วม 400 ลำ ยื่นหนังสือให้รัฐช่วยเยียวยา หลังเหตุถมทะเลท่าเรือมาบตาพุดกว่า 1,000 ไร่ กระทบวิถีชาวประมงในพื้นที่

กลุ่มประมงพื้นบ้านชายหาดเมืองระยอง 9 กลุ่ม จำนวน 450 ลำ ยื่นหนังสือให้หน่วยงานภาครัฐ เยียวยา เหตุทะเลชายฝั่งระยองที่ทำมาหากิน ถูกถมกว่า 1,000 ไร่ วิถีประมงท้องถิ่นได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยให้ใช้มาตรฐานเดียวกับท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบังเป็นโมเดลนำร่อง

วันนี้ 29 เม.ย. พ.ศ.2564 นายศรีนวน อักษรศรี ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านตากวน อ.เมือง จ.ระยอง พร้อมชาวประมงพื้นบ้านจำนวนมาก ได้นำเรือเล็กมารวมตัวกันที่บริเวณชายหาดบ้านตากวน ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เพื่อจะร่วมกันเดินทางไปยังบริเวณหน้าท่าเทียบเรือมาบตาพุด ไปยื่นหนังสือความเดือดร้อนให้กับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตามแผนที่ได้วางไว้

แต่ปรากฏว่าได้มีฝนตกลงมาอย่างหนักเป็นอุปสรรคในการยื่นหนังสือ ทางด้าน นายเริงฤทธิ์ กุศลกรรมบถ ผู้อำนวยการ สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จึงได้ประสานกับกลุ่มประมงพื้นบ้านว่าฝนตกไม่สะดวกที่จะลงทะเลไปรับหนังสือ จึงขอเดินทางมารับหนังสือด้วยตัวเอง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ที่บริเวณชายหาดบ้านตากวน

ต่อมาทางด้าน นายเริงฤทธิ์ กุศลกรรมบถ ได้เดินทางมายังชายหาดบ้านตากวน โดยมี ว่าที่ร้อยตรี พิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายสุพจน์ ต่ออาจหาญ นายอำเภอเมืองระยอง / เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานตำรวจภูธรเมืองมาบตาพุด และหน่วยงานที่เกี่ยงข้องทางทะเล ได้เดินทางมาเป็นสักขีพยานในการมอบหนังสือ และรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่

ซึ่งในการนี้ ทางด้าน นายศรีนวน อักษรศรี ได้มอบหมายให้ นายอารักษ์ ศิริศรี ที่ปรึกษากลุ่มประมงพื้นบ้านระยอง เป็นผู้มอบหนังสือให้กับ นายเริงฤทธิ์ กุศลกรรมบถ ผู้อำนวยการ สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อนำไปทบทวน และแก้ไขปัญหาให้กับชาวประมง โดยเนื้อหาในหนังสือดังกล่าว มุ่งประเด็นให้ภาครัฐ หารือเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ เยียวยาชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก

โดยให้นำแนวทางของการท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง มาเป็นโมเดลในการเยียวยาให้กับชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดระยอง ตามสัดส่วนของความเดือดร้อน และระยะเวลาในการดำเนินการของการถมทะเลท่าเรือมาบตาพุด

ทั้งนี้ นายศรีนวน อักษรศรี ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านตากวน ได้กล่าวว่า "การมารวมตัวของชาวประมงในวันนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ทางกลุ่มประมงไม่ได้มีเป้าประสงค์ในการขัดขวาง หรือประท้วงไม่ให้มีการถมทะเลท่าเรือมาบตาพุดแต่อย่างใด เพียงต้องการให้ภาครัฐหันมาพิจารณา ดูแล เยียวยาให้กับชาวประมงพื้นบ้านระยอง ในกรณีได้รับความเดือดร้อนอย่างมากในวิถีประมงมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จะให้เปลี่ยนวิถีไปทำอาชีพอื่นคงเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะด้วยปัจจัยหลายประการที่ทางชาวประมงไม่สามารถเปลี่ยนวิถีได้ สุดท้ายเพียงต้องการให้รัฐเข้ามาเยียวยาช่วยเหลือ แบบเดียวกับที่ทางท่าเรือแหลมฉบังดำเนินการ ให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน ชาวประมงก็พอใจแล้ว"


ราชัญ กองทอง ข่าว/ภาพ

ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน

“อนุทิน” จับมือ สมาพันธ์ 11 วิชาชีพ สู้โควิด-19 เผย บุคลากรสาธารณสุข ฉีดวัคซีนเกิน 90%

วันนี้ 29 เมษายน 2564  ที่ กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมคณะผู้บริหารสธ. เข้าร่วมในงานแถลงข่าว "สมาพันธ์สภาวิชาชีพรวมใจ สู้ภัยโควิด-19" โดยสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย ทั้ง 11 สภาวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด และสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมระดมกำลังบุคลากรในแต่ละวิชาชีพสู้ภัยโควิด-19

นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมให้การดูแลประชาชนในทุกมิติ ทั้งการรักษา ป้องกันควบคุมโรค และการทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงมือแพทย์โดยเร็ว ตลอดจนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครอบคลุมจำนวนประชากรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศไทย ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่สมาพันธ์วิชาชีพทั้ง 11 สาขา เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกลไกการป้องกันและควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดเตรียมวัคซีนให้กับทุกคนในประเทศไทย ทุกสัญชาติ เพราะเรายึดหลักการว่า "จะไม่มีใครปลอดภัย หากทุกคนยังไม่ปลอดภัย หากเราฉีดแต่คนไทย ไม่ฉีดสัญชาติอื่นที่อยู่ในเมืองไทย เราก็พูดไม่ได้ว่าเราปลอดภัย" ดังนั้น การที่กลุ่มสมาพันธ์วิชาชีพฯ  โดยสาขาวิชาชีพสุขภาพ เข้ามาสนับสนุนภารกิจการฉีดวัคซีน ก็จะสร้างความมั่นใจให้ประชาชน และขับเคลื่อนให้การฉีดวัคซีนบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ

นายอนุทิน กล่าวว่า สธ. ได้ดูแลบุคลากรสาธารณสุข ผู้ทำงานด่านหน้าที่มีโอกาสเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ให้ปลอดภัยจากการปฏิบัติงาน ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนให้ครบ 100% ในเดือน พ.ค. โดยขณะนี้บุคลากรสาธารณสุขได้รับการฉีดวัคซีนเกินกว่า 90% ส่วนประชาชนทั่วไปจะเริ่มฉีดวัคซีนในเดือนมิ.ย. ทั้งนี้ ความช่วยเหลือจากสมาพันธ์ฯ จะช่วยลดอัตราการติดเชื้อในบุคลากรสาธารณสุขได้ และรัฐบาลก็จะจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้ผู้ปฏิบัติงาน ทำงานอย่างปลอดภัยมากที่สุด

"ผมในนามของรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และคนไทยทุกคน ต้องขอขอบคุณความทุ่มเทเสียสละของจิตอาสาจากทุกสภาวิชาชีพ ที่เข้ามากับ สธ. ในการบริหารจัดการโควิด-19 ส่วนการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้องขอความกรุณาจากสภาวิชาชีพที่มีสมาชิกกว่า 5 แสนคน ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง นำมาสู่การเข้ารับวัคซีนตามเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข" นายอนุทินกล่าว

'รศ.หริรักษ์' อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr ระบุว่า...

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr ระบุว่า...

ใครก็ตามที่มีส่วนในการริเริ่ม หรือจัดการโครงการ บ้านเอื้ออาทร และโครงการรับจำนำข้าว ไม่มีสิทธิโจมตีรัฐบาลไหนทั้งสิ้นว่าทำให้ประเทศชาติเสียหายยับเยิน เพราะโครงการบ้านเอื้ออาทร และโครงการรับจำนำข้าว คือโครงการที่ทำให้ประเทศเสียหายยับเยินของจริง ชัดเจน

ทั้ง 2 โครงการนอกจากจะมีการทุจริตกันอย่างมโหฬารแล้ว ยังทำให้ประเทศเสียเงินแบบสูญเปล่าอีกมหาศาลอีกด้วย

บ้านเอื้ออาทรหลายแห่งกลายเป็นหมู่บ้านร้างที่มีสิ่งปลูกสร้างคล้ายบ้านที่ดูแล้วไม่อยู่ในสภาพที่จะเป็นที่อยู่อาศัยได้ เรียงกันเป็นแถวยาว ใกล้ชิดกันขนาดที่หากมีคนอยู่ ก็สามารถเปิดหน้าต่างออกมาทักทาย แทบจะจับมือกับผู้ที่อยู่บ้านติดกันได้ นี่คือเงินที่สูญเปล่าทั้งสิ้น

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงโครงการรับจำนำข้าว ที่นอกจากจะมีการทุจริตเป็นที่ประจักษ์แล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ จนบัดนี้รัฐบาลยังใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ไม่จบไม่สิ้น และยังอีก 13 ปีจึงจะใช้หนี้หมด

ดังนั้นอย่าได้วิจารณ์หรือโจมตีผู้อื่นซึ่งยังไม่แน่ชัดด้วยซ้ำว่าเป็นอย่างที่ถูกโจมตีจริงหรือไม่ ในขณะที่ตัวเองมีส่วนในการทำให้ประเทศเสียหายยับเยิน ของจริง


ที่มา: https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=4292240754119780&id=100000016923106

เปิด 5 มาตรการ ศบค.ยกระดับ 6 จังหวัดสีแดงเข้ม งดเดินทางออกนอกพื้นที่ ห้ามกินในร้าน ตรึงเวลา 14 วัน ยันไม่ใช่เคอร์ฟิว

เปิด 5 มาตรการ ศบค.ยกระดับ 6 จังหวัดสีแดงเข้ม งดเดินทางออกนอกพื้นที่ ห้ามกินในร้าน ตรึงเวลา 14 วัน ยันไม่ใช่เคอร์ฟิว ให้มีผลตั้งแต่เวลา 00.00 น. วันที่ 1 พ.ค. พ.ศ.2564

วันที่ 29 เม.ย. 64 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. แถลงผลการประชุมศปก.ศบค.ถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดว่า โดยที่ประชุมพิจารณายกระดับการดูแลจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงโควิด-19 ด้วยการยกระดับ 6 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ประกอบด้วย กทม. ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานีและสมุทรปราการ

โดยมาตรการสำคัญสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ใน 6 จังหวัดคือ

1.) ให้พื้นที่กทม. ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานีและสมุทรปราการ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

2.) ห้ามการจัดกิจกรรม ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 20 คน

3.) มาตรการควบคุมสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กำหนดยกระดับมาตรการควบคุมบูรณาการขึ้นเพิ่มเติม สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

(3.1) ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่นได้เท่านั้น โดยงดบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และเปิดบริการได้ถึง 21.00 น.

(3.2) สนามกีฬา สถานที่ออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนสให้ปิดบริการ ยกเว้นสถานที่ใช้เป็นเอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ส่วนสนามกีฬาหรือสถานที่ออกกำลังกายกลางแจ่ง เปิดให้บริการได้ไม่เกิน 21.00 น. และสามารถจัดแข่งขันโดยไม่มีผู้ชม

(3.3) ห้าง ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่คล้ายกัน ให้เปิดได้ตามปกติ จนถึง 21.00 น.ยกเว้นส่วนตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุกที่งดบริการ

(4.) ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดปกติ แต่ไม่เกิน 21.00 น. ส่วนร้านเปิด 24 ช.ม. ให้เปิดเวลา 04.00 น.

(5.) การงดการเดินทางอออกนอกพื้นที่ ให้ประชาชนอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด งดการเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็น

โดยให้มีผลตั้งแต่เวลา 00.00 น. วันที่ 1 พ.ค. พ.ศ.2564 ซึ่งยืนยันไม่ได้เป็นการประกาศใช้เคอร์ฟิว

‘ศุภชัย ใจสมุทร’ โดดป้อง ‘เสี่ยหนู’ เปรียบดังยืนโดดเดี่ยวท่ามกลางหมู่บ้านกระสุนตก ฝาก ‘บิ๊กตู่’ มองให้ดี ในสงครามโควิด ใครเป็นขุนศึกร่วมรบ - รับหอกดาบแทน ถ้าไม่ใช่ ‘อนุทิน’!

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า

นาทีนี้ “ชายเดียว” ที่ยืน “โดดเดี่ยว” ในหมู่บ้านกระสุนตก คงหนีไม่พ้นนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ที่โดนจัดหนัก จัดเต็ม ถูกจับเป็น “แพะ” บูชายัญ จากสถานการณ์โควิด-19 ทันทีที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อดีดขึ้นไปถึงพันจนทะลุสองพันกว่า บาปทุกอย่างก็ตกอยู่ที่ “เสี่ยหนู” ทั้ง ๆ ที่เมื่อมีการระบาดในสถานบันเทิงรอบนี้ กระทรวงหมอ ก็เสนอมาตรการป้องกัน และคาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ว่าหากไม่มีการจัดการใด ๆ หลังสงกรานต์จะเกิดอะไรขึ้นเอาไว้แล้ว

ทว่า เหตุผลทาง “เศรษฐกิจ” นำ “สุขภาพ” ดังนั้น ในเวลาที่คนทั่วไปกำลังพักผ่อนช่วงวันหยุดยาว ทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข ภายใต้การนำของ “หมอหนู” จึงต้องทำงานที่ “หนัก” อยู่แล้ว ให้ “หนักขึ้นไปอีก” เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น วัคซีนก็ยังต้องหา วางแผนการฉีด เตรียมสถานพยาบาลรองรับผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ จนเมื่อเกิดภาวะ “ฝีแตก” ผู้ติดเชื้อสูงสุดเกือบเหยียบ 3 พัน มีผู้ป่วยที่ยังไม่ได้เตียง มีผู้เสียชีวิต คนบางกลุ่มก็ชี้ว่า เป็นความผิดของ “อนุทิน” ระดมทำแคมเปญลงชื่อขับไล่พ้นจาก “เก้าอี้” เพื่อระบายอารมณ์ และหวังผลทางการเมือง

ปัญหาการจัดส่งผู้ป่วย การจัดหาเตียง “มีจริง” ตัว “เสี่ยหนู” ก็ยอมรับ และแก้ไขด้วยการตั้งศูนย์แรกรับ ส่งต่อผู้ป่วย แบบไม่ปริปากถึงเรื่องราวเชิงลึกใด ๆ แม้เห็นกันชัด ๆ อยู่แล้วว่า “ปัญหานี้” เกิดขึ้นเพียงพื้นที่ กทม. ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจเต็มของสธ. ถามว่า 76 จังหวัด ที่มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำไมไม่มีปัญหาแบบนี้ คำตอบจึงอยู่ในคำถาม ที่ผ่านมาสิ่งที่ “เสี่ยหนู” ทำ คงไม่ได้ดีที่สุด ถูกใจทุกคนที่สุด แต่การทำงานที่ผนึกกับทีม สธ. จนทำให้ไทยประคับประคองสถานการณ์สู้กับโควิด -19 มาได้จนถึงวันนี้

การจัดหาวัคซีนซิโนแวค ด้วยคอนเน็คชั่นส่วนตัว เต็มใจควักกระเป๋า ถ้าจะทำให้จัดส่งเร็วขึ้น การวางแผนจัดหาวัคซีน ที่ไทยไม่เข้าร่วมโคแวค ซึ่งวันนี้ชัดเจนแล้วว่าโคแวค ไม่สามารถจัดหาวัคซีนให้ได้ตามที่ตกลงไว้ แต่ไทยมีสยามไบโอไซแอนท์ ที่ผลิตวัคซีนได้ภายในประเทศของเราเอง ยาฟาวิพิราเวียร์ที่มีอยู่ในสต็อก คน ๆ นี้ ไม่มี “เครดิต” เลยหรือ

ส่วนการที่ “นายกลุงตู่” ใช้วิธีพิเศษ รวบอำนาจจากหลายกระทรวง และตั้งคณะกรรมการ 4 คณะ เพื่อมาทำเรื่อง โควิด-19 ก็ไม่ใช่เครื่องหมายที่จะมาตีตราว่า “เสี่ยหนู” กับ กระทรวงหมอจัดการไม่ได้ เพราะถ้ามองให้ดี ๆ จะเห็น “ชัดในชัด” ว่าไม่มีอะไร “ใหม่” ทั้งการหาวัคซีน การฉีดวัคซีน ทุกอย่างเป็นไปตามที่ สธ. วางแผนไว้ทั้งสิ้น สิ่งที่ “นายก” ทำคือการบริหารอารมณ์ ความรู้สึกของภาคเอกชน ให้คนมีความคิดเห็นได้มีพื้นที่แสดงออก มีส่วนร่วมในการทำงาน

แค่อยากฝากถึง “บิ๊กตู่” ว่าในการศึกโควิด-19 ตั้งแต่วันแรกจนถึงตอนนี้ใครคือขุนศึกร่วมรบ ก็เห็นมีแต่ “รองนายกหนูเพียงหนึ่งเดียว” ที่เป็น “หนังหน้าไฟ” ออกมา “ไฟท์” กับทุกเหตุการณ์ ฟาดกับฝ่ายตรงข้าม รับหอกรับดาบให้ลุงอย่างไม่เกรงสิ่งใด คำตอบชัดคือ “เสี่ยหนู” เวลานี้รัฐบาลควรเป็นหนึ่งเดียว อย่าให้ผู้ไม่หวังดีที่คอยเป่าขนหาแผล คิดว่าเจอรอยแยก แล้วปั่นให้ปริแตก “คนที่มีใจจริง” ไม่ใช่คนที่ออกฉาก แล้วมีแต่คำพูดที่สวยหรู แต่คือคนไม่ฆ่าน้อง ที่ทำงานใต้บังคับบัญชา ไม่ฟ้องนาย ที่เป็นผู้นำทีม ไม่ขายเพื่อน ที่ต้องทำงานร่วมกัน

#คนภูมิใจไทย

#พรรคภูมิใจไทย

ผอ.สถาบันวัคซีนฯ ชี้!! ซิโนแวคป้องกันอาการรุนแรงได้ 100% เตือน!! กลุ่มวิจารณ์วัคซีน ไม่ควรยึดข้อมูลเดียวมาตัดสิน

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลประสิทธิผลวัคซีนชิโคแวคต่อไวรัสโควิด-19 ในประเทศบราซิล พบว่าสามารถป้องกันอาการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงได้ 50.4% อาการรุนแรงปานกลางได้ 83.7% และป้องกันอาการรุนแรงได้ 100% ซึ่งวัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนตัวเดียวที่ได้รับการทดสอบในกลุ่มบุลากรทางการแพทย์

ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนหลักของประเทศไทย จำนวน 61 ล้านโดส จะส่งมอบเดือนมิ.ย. มีข้อมูลตีพิมพ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลว่ามีผลต่อไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ป้องกันอาการป่วยได้ 70% ส่วนไวรัสอื่น ๆ ที่ยังไม่มีการกลายพันธุ์นั้นการป้องกันอยู่ที่ 85% ดังนั้นวัคซีนทั้ง 2 ตัวมีผลในการป้องกันอาการป่วยได้

นพ.นคร กล่าวอีกว่า การพิจารณาเรื่องวัคซีนนั้น ข้อสำคัญคือ ไม่สามารถจะมาเปรียบเทียบเฉพาะตัวเลข เพื่อบ่งชี้ถึงประสิทธิผลของวัคซีนเพียงลำพังเท่านั้น ต้องใช้ข้อมูลอื่นประกอบด้วยเช่น ผลการศึกษาระยะ 3 ที่แสดงผลของวัคซีนได้ทำในกลุ่มประชากรใด หากเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อจำนวนมากจากพื้นที่ ที่มีการติดเชื้อสูงและพบเชื้อได้บ่อย จะไปเอาตัวเลขเปอร์เซ็นต์มาเปรียบเทียบกับวัคซีนบางตัวที่ใช้ในกลุ่มประชากรจากชุมชนทั่วไปไม่ได้ ต้องเอาทุกอย่างมาประกอบกัน

“ผู้ที่ออกวิพากษ์วิจารณ์ประสิทธิผลของวัคซีนตัวนี้ ขอให้ใช้ข้อมูลความจริงทางด้านวิชาการตรงนี้ให้ครบถ้วน และพิจารณาเปรียบเทียบหลาย ๆ ส่วนกับวัคซีนตัวอื่น ที่มีการตีพิมพ์ผลงานของวัคซีนออกมาแล้ว ซึ่งจะเห็นความต่าง ความเหมือน หรือความใช้การได้ของวัคซีน ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าวัคซีนซิโนแวคที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มีประสิทธิผลพอสมควรและมีประสิทธิผลมากในการป้องกันอาการรุนแรง จึงขอให้ประชาชนมั่นใจ และต้องฉีดให้ครอบคลุมอย่างมากและรวดเร็ว เราติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช้ความเชื่อหรืออคติแต่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในประเทศ และ ขององค์การอนามัยโลก”


ที่มา: https://www.facebook.com/101696788465808/posts/215848057050680/?sfnsn=mo

ส.อ.ท. เปิดผลสำรวจ '200 CEO ต่อแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ'​

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 5 ในเดือนเมษายน 2564 ภายใต้หัวข้อ “ความเห็นต่อแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่สนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ (ZEV หรือ Zero Emission Vehicle) และต้องการให้ภาครัฐเริ่มดำเนินการให้เร็วยิ่งขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าก่อนปี 2568

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 200 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 75 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐเริ่มดำเนินการแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้เร็วขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายก่อนกำหนดในปี 2568 คิดเป็น ร้อยละ 47.0 รองลงมาเห็นด้วยตามกรอบระยะเวลาตามแผนฯ ที่จะเริ่มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในปี 2568 คิดเป็น ร้อยละ 31.5 และมีเสนอให้เลื่อนการดำเนินงานตามแผนฯ ออกไป 5 ปี และ 10 ปี คิดเป็นร้อยละ 11 และร้อยละ 10.5 ตามลำดับ 

สำหรับปัจจัยที่จะเป็นตัวเร่งทำให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับเรื่องราคารถยนต์ไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา คิดเป็นร้อยละ 78.5 รองลงมาเป็นเรื่องการเพิ่มสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ให้เพียงพอและครอบคลุมทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 75.0 และถัดไปเป็นเรื่องระยะทางในการใช้งานที่เหมาะสมของรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งความสะดวกในการชาร์จ คิดเป็นร้อยละ 56.0

.

.

ทั้งนี้ หากมองถึงมาตรการของภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ตามปริมาณ CO2 คิดเป็นร้อยละ 76.5 รองลงมาเป็นการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่ Charging Station ให้จูงใจผู้ใช้งาน คิดเป็นร้อยละ 59.5 และการปรับปรุงภาษีรถยนต์ประจำปีเพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า คิดเป็นร้อยละ 55.5 ในส่วนการเตรียมความพร้อมของภาครัฐเพื่อรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต 3 อันดับแรก พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ให้มีสถานีเพียงพอและครอบคลุมในแต่ละพื้นที่ คิดเป็นร้อยละ 85.0 รองลงมาเป็นการบริหารจัดการซากรถยนต์และแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ คิดเป็นร้อยละ 65.5 และการเตรียมการจัดหาไฟฟ้าและพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานในระยะยาว คิดเป็นร้อยละ 54.5            

นอกจากนี้ FTI Poll ยังได้เจาะลึกถึงกรณีที่ภาครัฐจะเร่งรัดการใช้และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในเรื่องใดบ้าง พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้มีการผลิตแบตเตอรี่ที่คุณภาพดีและมีราคาเหมาะสมภายในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 65.5 รองลงมาเป็นการเตรียมการปรับปรุงโครงสร้างภาษีและพิกัดศุลกากรเพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ คิดเป็นร้อยละ 62.5 และการช่วยเหลือผู้ประกอบการใน Supply Chain ของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป (ICE) ในการปรับตัวไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า คิดเป็นร้อยละ 61.5

ทั้งนี้​ จากผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมที่ควรจะต้องเร่งปรับตัวและได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อเตรียมความพร้อมตามแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ พบว่า 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ คิดเป็นร้อยละ 88.5 รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง คิดเป็นร้อยละ 49.0 และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็นร้อยละ 46.5

'พลังประชารัฐ' เปิดศูนย์ช่วยเหลือ ปชช.เข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข สายด่วน 02-939-1111 ระดมทีมงานรับเรื่อง 10 ศูนย์ทั่วประเทศ เร่งส่งต่อผู้ป่วย ถึงมือแพทย์ จำกัดวงแพร่เชื้อโควิด -19

วันนี้ 29 เมษายน 2564  พรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวเปิด "ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 หรือ Call center ศปฉ.พปชร." ณ ที่ทำการพรรค ร่วมกับหัวหน้าศูนย์ภาค ทั้ง 10 ภาคพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการ เพื่อบูรณาการให้บริการประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขรวดเร็วในภาวะ การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยมี ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 หรือ ศปฉ.พปชร. เป็นประธานเปิดศูนย์ พร้อมนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้อำนวยการพรรค นางสาวพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส. กทม. เขต 2 ในฐานะโฆษกพรรค  นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม.เขต 30 ในฐานะหัวหน้าภาคกทม. และ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.เขต 9

ร้อยเอกธรรมนัส  กล่าวว่าวันนี้ได้ทำการเปิดศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 หรือ ศปฉ.พปชร. จำนวน 10 ภาค อย่างเป็นทางการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อโควิด-19 ให้เข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็ว และเป็นแนวทางในการจำกัดการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค ที่เน้นย้ำให้การดูแลประชาชนให้ได้ทั่วถึงมากที่สุด

ทั้งนี้การเปิดศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 ของพรรค เรามีสมาชิกกระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่พร้อมในการดูแลประชาชนในทุกพื้นที่จึงมอบหมายให้ศูนย์ภาคที่มีอยู่ทั้ง 10 แห่ง เป็นศูนย์กลางรับเรื่อง และประสานงานกับสาธารณสุขในพื้นที่ โดยแต่ละภาคจะมีหัวหน้าศูนย์ ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการ ทั้งการจัดเจ้าหน้าที่รับเรื่องจากประชาชน การบริหารข้อมูล เพื่อจัดส่งไปยังสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“สถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ จะต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อให้การบริหารจัดการวิกฤต มีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประชาชนคนไทยทุกคน สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้โดยเร็ว รวมถึงรัฐบาลยังได้เร่งจัดหาวัคซีน เพื่อให้เพียงพอกับประชาชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตามมาตรฐานสาธารณสุขสากล” ร้อยเอกธรรมนัส กล่าว

นางสาวพัชรินทร์ ระบุว่าในส่วนการจัดตั้ง ศปฉ.พปชร. นับตั้งแต่ช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ตามที่ได้รับมอบหมายจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ให้เปิดดำเนินการร่วมกับศูนย์ภาคทั้ง 10 ภาค ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานกับ ส.ส.ในพื้นที่ ในการเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ พบว่าในพื้นที่ภาค1-9 ยังไม่พบปัญหาผู้ติดเชื้อมากนัก และไม่มีปัญหาการให้บริการผู้ป่วยติดเชื้อเข้ารับการรักษา โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ จะอยู่ในพื้นที่ กทม. เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยจำนวนมาก

ด้านนายจักรพันธ์ กล่าวว่า กทม.ถือเป็นพื้นที่หัวใจของการแพร่ระบาด จะเห็นจากสถิติจาก ศบค. ที่รายงานการติดเชื้อในแต่ละวัน ขณะนี้เป็นผู้ป่วยจากกทม.ไม่ต่ำกว่า 50% ดังนั้นหากคุมการแพร่ระบาดในกทม.ได้ ตนเชื่อว่าจะสามารถช่วยให้การควบคุมการระบาดระลอกนี้ได้เกือบทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาส.ส.กทม.ทั้ง 12 คน ของพรรคพลังประชารัฐ ได้ประสานหน่วยงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนในเขตหรือนอกเขตตนเองอยู่แล้ว โดยข้อมูลที่รวบรวมได้ตั้งแต่การเริ่มระบาดรอบนี้มีกรณีประสานโรงพยาบาลมารับ การส่งตรวจหาเชื้อ และการช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้เนื่องจากสมาชิกหลักในครอบครัว ต้องเข้ารับการรักษาโควิด รวมมากกว่า 50 กรณี อย่างไรก็ตามแม้เจ้าหน้าที่ระดมสรรพกำลังแล้ว ในข้อเท็จจริง ก็ปรากฏว่ายังมีกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงการบริการภาครัฐได้ ดังนั้น ศปฉ.พปชร. นี้ ก็จะสามารถเข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลางประสานความช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ให้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยขั้นตอนการทำงานของศูนย์นั้น ท่านสามารถติดต่อมาที่หมายเลข 02 -939-1111  ซึ่งจัดรองรับไว้ 30 คู่สาย ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00-21.00น. รวมถึงประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือผ่านการ Inbox มาในเพจ Facebook ของพรรคได้ที่ https://www.facebook.com/PPRPThailand/ พร้อมแจ้งรายละเอียด เราจะมีเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ และเร่งนำข้อมูลส่งต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือศูนย์ภาคทั้ง 10 แห่งทั่วประเทศ เพื่อดำเนินงาน ประสานงานจัดส่งผู้ป่วยเข้าสู่การบริการสาธารณสุขโดยเร็ว

สำหรับหัวหน้าศูนย์ภาคของพรรค จำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย ภาค 1 นายยงยุทธ สุวรรณบุตร ส.ส.สมุทรปราการ เขต 2 หัวหน้าภาค ภาค 2 นายฐานิสร์ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว เขต 1 หัวหน้าภาค ภาค 3 นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา เขต 7 หัวหน้าภาค ภาค 4 นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าภาค ภาค 5 นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา เขต 3 หัวหน้าภาค ภาค 6 นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ ส.ส.เพชรบูรณ์ เขต 3 หัวหน้าภาค ภาค 7 นายสุชาติ อุตสาหะ ส.ส.เพชรบุรี เขต 3 หัวหน้าภาค ภาค 8 นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 1 หัวหน้าภาค ภาค 9 นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา เขต 1 หัวหน้าภาค ภาค กทม. นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. เขต 30 หัวหน้าภาค


https://www.facebook.com/493026767870664/posts/1136918370148164/

“ครูกัลยา” ห่วงครู นักเรียน หนุนเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้บุคลากรทางการศึกษา พร้อมให้ผู้บริหารสถานศึกษาในกำกับติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างใกล้ชิด 

เมื่อวันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2564 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ ห่วงครู บุคลากรทางการศึกษา สนับสนุนให้เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึง พร้อมให้ผู้บริหารสถานศึกษาในกำกับติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมพื้นที่พร้อมรองรับโรงพยาบาลสนามกรณีเชื้อไวรัสโควิด-19 ขยายวงกว้าง เตียงไม่พอ

นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) เปิดเผยว่า คุณหญิงกัลยา เห็นถึงความสำคัญของครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จึงได้มีนโยบายเร่งด่วนตั้งแต่รักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้แถลงถึงโครงการที่จะต้องเร่งรัดและทำให้เกิดเป็นรูปธรรม หนึ่งในนั้นคือการเร่งผลักดันข้อเสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับครู และบุคลากรทางการศึกษา และได้มีการเสนอประเด็นนี้เป็นกรณีเร่งด่วนในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของวิชาชีพครู ที่เป็นผู้ที่เสียสละในการทำงานใกล้ชิดกับเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และคนในชุมชน

ทั้งนี้ คุณหญิงกัลยาจึงขอสนับสนุนแนวทางของ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะได้มีการหารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเป็นรูปธรรม ให้แก่ครู และบุคลากรทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับนักเรียน นักศึกษา และประชาชน โดยให้ความสำคัญกับครูและบุคลากรที่อยู่ในจังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงและมีความเสี่ยงสูงก่อน ซึ่งจะสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพี่น้องครูทั่วประเทศให้มีกำลังใจในการสอนนักเรียนอย่างเต็มความสามารถ

“การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ส่งผลกระทบกับทุกฝ่าย คุณหญิงกัลยาห่วงประชาชน โดยเฉพาะครูและนักเรียนเป็นอย่างมาก เพราะครูถือเป็นอาชีพที่เสียสละ จึงนำเรื่องการเร่งจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการทันที ในขณะที่รักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และได้นำเรื่องดังกล่าวไปหารือใน ครม. ซึ่งคุณหญิงกัลยารู้สึกยินดีและพร้อมสนับสนุนท่านรัฐมนตรีว่าการฯ อย่างเต็มที่จะผลักดันให้เรื่องนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว” นางดรุณวรรณ กล่าว

ทั้งนี้คุณหญิงกัลยา ยังแสดงความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชนทุกคน และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐเองและเอกชนที่มีส่วนสนับสนุนในการช่วยเหลือและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคสวิด-19 โดยที่ผ่านมาคุณหญิงกัลยาได้ให้ผู้บริหารสถานศึกษาในกำกับติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเตรียมพื้นที่โรงเรียนในสังกัดเพื่อเป็นโรงพยาบาลสนามกรณีเชื้อไวรัสโควิด-19 ขยายวงกว้างขึ้นร่วมด้วย 

สสส. ย้ำ โควิด-19 แรงงาน ต้อง “ป้องกัน” ก่อน “รักษา”  เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงติดและแพร่เชื้อ เน้น กินอาหารดี มีกิจกรรมทางกาย ด้านสภาองค์การลูกจ้างฯ ประกาศ ผู้ใช้แรงงานติดโควิด-19 เข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ ประสานขอความช่วยเหลือได้

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ที่ระบาดซ้ำและมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่ม สะท้อนให้เห็นว่า การสร้างเสริมสุขภาพสำหรับคนทุกกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง “ผู้ใช้แรงงาน” จำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ มีปัญหาเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ ทำให้ สสส. ต้องทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายแรงงาน ที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 เรื่อง “Safety Thailand” และ “ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ” เพื่อวางระบบบริหารจัดการความเสี่ยงทางสุขภาพ เน้นให้แรงงานทุกคน “ป้องกัน” ก่อน “รักษา” ผ่านกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ การบริโภคอาหาร กิจกรรมทางกาย และได้รับบริการทางสุขภาพตามสิทธิ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ

“แรงงานทุกกลุ่มต้องมีสุขภาพดี รู้เท่าทันกฎหมาย เข้าถึงกระบวนการสร้างเสริมและระบบบริการสุขภาพครอบคลุม ที่ผ่านมาพบว่า สถานประกอบการมีสิทธิสวัสดิการดูแลแรงงานไม่เหมือนกัน พบการเข้าไม่ถึงบริการของแรงงานนอกระบบ ขณะที่แรงงานขาดความรู้เรื่องการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ทำให้ สสส. ต้องเน้นส่งเสริมความรู้เชิงรุก ขับเคลื่อนสังคมแรงงานมีสุขภาวะดี ผ่านการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย สนับสนุนงานวิชาการด้วยการนำปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเสี่ยง และผลกระทบต่าง ๆ มาวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด ควบคู่กับการทำสื่อให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ โดยมีภาคีเครือข่ายผู้ใช้แรงงานช่วยกระตุ้น หนุนเสริม”  นางภรณี กล่าว

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยและเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพและสังคมของผู้ใช้แรงงาน เป็นปัจจัยที่ทำให้สภาองค์การลูกจ้างฯ สานพลังกับ สสส.  พัฒนาต่อยอดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของการป้องกันและรักษาสุขภาพในกลุ่มผู้ใช้แรงงานให้มากที่สุด ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดจนมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูง “ผู้ใช้แรงงาน” คือกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่ม เพราะต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ทำอาชีพรับจ้างรายวัน แต่ละวันต้องเผชิญความเสี่ยงมากมายในชีวิต ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ เผชิญกับผู้คนจำนวนมาก เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงได้ไม่ง่ายเหมือนคนทั่วไป สะท้อนชัดเจนว่าสิทธิสวัสดิการทางสุขภาพแรงงานจำเป็นและสำคัญ

“โควิด-19 ครั้งนี้ ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบ  จึงขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบการ ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาวะผู้ใช้แรงงาน ปรับแนวทางการจ้างงานให้เลี่ยงความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ให้มากที่สุด แรงงานทุกคนต้องดูแลตัวเองสวมหน้ากาก 100% หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง ส่วนแรงงานที่เจ็บป่วยจากโรคประจำตัว หรือติดเชื้อโควิด-19 แล้วเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ สามารถประสานของความช่วยเหลือได้ที่เบอร์ 0-2755-2165 หรือ สายด่วนประกันสังคม 1506” นายมนัส กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top