Thursday, 15 May 2025
NewsFeed

ครม. เปิดตัว “โครงการสร้างรายได้ด้วยแฟรนไชส์ฝ่าโควิด-19” วงเงิน 68 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติโครงการสร้างรายได้ด้วยแฟรนไชส์ฝ่าโควิด-19 ตามที่ กระทรวงพาณิชย์ เสนอ วงเงิน 68 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 8 เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ธ.ค.นี้ เพื่อช่วยเหลือและสร้างอาชีพแก่คนว่างงานและตกงาน กระตุ้นและฟื้นฟูธุรกิจแฟรนไชส์ และธุรกิจเอสเอ็มอี ขนาดเล็ก สร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์และการขยายการลงทุนในธุรกิจให้กับแฟรนไชส์ เพิ่มช่องทางการหารายได้ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 

โดยกิจกรรม ประกอบด้วย 1.จัดงานแฟรนไชส์สร้างอาชีพ Road Show 2021 ในภูมิภาค รวม 15 ครั้ง เดือนละ 2 จังหวัด มีเป้าหมาย 100 ธุรกิจ และประสานงานการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระหว่างเจ้าของแฟรนไชส์ และสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์ที่มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้แก่ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจแฟรนไชส์ มีเงินลงทุนเพื่อประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น 

2.จัดงาน DBD Franchise & SME Expo 2021 ส่วนกลาง 1 ครั้ง เป้าหมาย 400 ธุรกิจ และประสานงานการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระหว่างเจ้าของแฟรนไชส์ และสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์ที่มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจ มีเงินลงทุนเพื่อประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น   ทั้งนี้คาดว่าธุรกิจแฟรนไชส์ 500 ราย จะได้นำเสนอธุรกิจเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และผู้ว่างงาน ได้ร่วมกิจกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ จำนวน 1 หมื่นราย

ครม.ไฟเขียว ให้บินไทย จัดเที่ยวบินขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ชาวไทย

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบให้ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)เป็นสายการบินแห่งชาติเฉพาะภารกิจขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ชาวไทย เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของอุดีอาระเบีย ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการโดยสายการบินแห่งชาติของไทย โดยไม่อนุญาตให้สายการบินของประเทศอื่น เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตจากกรมการบินพลเรือนของซาอุดีอาระเบีย ให้ดำเนินการโดยรูปแบบเที่ยวบินเช่าเหมาลำ แม้ปัจจุบันการบินไทย จะมีสถานภาพเป็นสายการบินของเอกชนเทียบเท่ากับสายการบินอื่น แต่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)แต่เป็นสายการบินเดียวที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นสายการบินเดียวที่ปฏิบัติภารกิจขนส่งผู้แสวงบุญพิธีฮัจย์ชาวไทย

นายอนุชา กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รายการการจัดเที่ยวบินพิเศษเพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ จำนวน 46,477,000 บาท ไว้แล้ว สำหรับปีต่อไป กรมการปกครอง จะจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้กรมการปกครองได้เตรียมจัดทำโครงการสนับสนุนบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อจัดเที่ยวบินพิเศษขนส่งผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ที่เดินทางไป - กลับ ณ ท่าอากาศยานนราธิวาส ประจำปี พ.ศ. 2565 โดยสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 46.48 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อขนส่งผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ในส่วนที่เพิ่มเติมจากราคาบัตรโดยสารให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการจัดเที่ยวบินพิเศษสำหรับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากท่าอากาศยานนราธิวาสไปยังท่าอากาศยานซาอุดีอาระเบีย จำนวน 9 เที่ยวบิน เที่ยวบินละ 287 คน รวมทั้งสิ้น 2,583 คน ทั้งขาไปและขากลับ ระหว่างเดือนพ.ค. - ก.ย. 2565

ครม. ยุบเลิกเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนากฎหมาย ชี้ ให้ชำระบัญชี นำเงินคืนคลัง

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบ ให้ยุบเลิกเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนากฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และไม่ควรจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยในการออกกำลังกาย นันทนาการ และกีฬา ของกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน และให้นำเงินคงเหลือส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายแล้ว  และไม่เห็นควรจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยในการออกกำลังกาย นันทนาการ และกีฬา ของกรมพลศึกษา เนื่องจากเป็นงานซ้ำซ้อนกับภารกิจปกติของหน่วยงานและซ้ำซ้อนกับทุนหมุนเวียนอื่นในการสนับสนุนเงินเยียวยาค่ารักษาแก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งผู้ให้บริการสถานที่ออกกำลังกายควรเป็นผู้ดูแลความปลอดภัยในการใช้สถานที่ รวมทั้งไม่เห็นควรจัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เนื่องจากเป็นภารกิจปกติของกระทรวงแรงงานและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้การขอจัดตั้งทุนหมุนเวียนต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558  ที่บัญญัติให้ทุนหมุนเวียนที่หน่วยงานของรัฐขอจัดตั้งจะต้องไม่มีการดำเนินการในลักษณะเดียวกับภารกิจปกติของหน่วยงานรัฐและต้องไม่ซ้ำซ้อนกับหน้าที่ของหน่วยงานรัฐอื่น หรือทุนหมุนเวียนที่ดำเนินการอยู่แล้วด้วย

“อนุชา” สั่งพศ. แจ้งพศจ. เร่งตรวจคณะสงฆ์ อ้างลัทธิใหม่ ทำเสื่อมเสีย ห้ามวัดปฎิเสธเผาร่างผู้ติดเชื้อ แนะ ให้ปฎิบัติตามมาตรการแพร่เชื้อ

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์กรณีคณะสงฆ์บางกลุ่มมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ปฏิบัติผิดไปจากหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา กล่าวอ้างตั้งลัทธิใหม่ สร้างความแตกแยกและเป็นภัยต่อสังคม ว่า ได้สั่งการไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)เร่งจัดประชุมหารือสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทุกจังหวัด(พศจ.)ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจ และดำเนินการสำรวจเชิงรุก กรณีของวัดหรือสำนักสงฆ์ที่มีการบิดเบือนและปฏิบัติผิดไปจากคำสอนทางพระพุทธศาสนา 

โดยอ้างตัวสร้างลัทธิความเชื่องมงาย ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคม รวมถึงกรณีที่พบว่ามีคณะสงฆ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่กิจของสงฆ์ ให้กำชับปฏิบัติตามคำสั่งมหาเถรสมาคม (มส.)เรื่องห้ามพระภิกษุสงฆ์สามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ.2538 ที่ปัจจุบันยังปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด 

นอกจากนั้นให้พศจ.กำหนดแนวทางการจัดระบบป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนด พร้อมขอความร่วมมือทุกวัดไม่ให้ปฏิเสธการฌาปนกิจศพผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพราะสามารถทำได้ แต่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จทันที ไม่ควรมีการตั้งศพไว้เป็นระยะเวลานาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

รัฐบาลลุยออกมาตรการดูแลศก. - เยียวยา พ.ค.นี้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้เรียกหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจหารือด่วน ภายหลังการประชุมครม. ถึงแนวทางการออกมาตรการทางเศรษฐกิจ เพื่อรองรับผลกระทบจากผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้าร่วมหารือ 

รองนายกฯ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า รัฐบาลจะออกมาตรการทางด้านเศรษฐกิจ และช่วยเหลือประชาชนอกมา โดยล่าสุดกระทรวงการคลัง กำลังพิจารณาแนวทางอยู่ ทั้งมาตรการเดิม เช่น โครงการเราชนะ คนละครึ่ง ม33 เรารักกัน หรือมาตรการใหม่ คือ เราผูกพัน ที่จะช่วยเหลือข้าราชการ โดยรัฐบาลยืนยันว่ายังมีเงินเพียงพอมาทำมาตรการในครั้งนี้ 

เช่นเดียวกับมาตรการด้านท่องเที่ยว ซึ่งที่ประชุมได้หารือถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งจะดำเนินการตามแผนเดิม โดยเน้นการท่องเที่ยวจากประเทศระยะไกลเป็นหลัก ส่วนการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ ยอมรับว่า ขอประเมินสถานการณ์ในช่วงเดือนนี้ก่อน ถ้าหากสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในสิ้นเดือนนี้ก็หาทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

'เฉลิมชัย' เร่งดันไทยฮับฮาลาลโลกเห็นชอบพิมพ์เขียว 2570 เดินหน้า '1 วิสัยทัศน์ 5 แนวทาง' บุกตลาด 2 พันล้านคน

'เฉลิมชัย' เร่งดันไทยฮับฮาลาลโลกเห็นชอบพิมพ์เขียว 2570 เดินหน้า '1 วิสัยทัศน์ 5 แนวทาง' บุกตลาด 2 พันล้านคน ดึง 'สคช.' ยกระดับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพฮาลาล จับมือ 'ศอบต.' ขับเคลื่อน 3 โครงการอุตสาหกรรมฮาลาลภาคใต้พร้อมขยายบทบาทไทยในเวทีโลกผนึกองค์การความร่วมมือกลุ่มประเทศอิสลาม (OIC) จัดงานฮาลาลนานาชาติเดือนมิถุนายน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริม สินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” (ฮาลาลบอร์ด-Halal Board) แถลงว่า...

อุตสาหกรรมฮาลาลมีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง และถือว่าเป็นโอกาสของประเทศไทย เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าอาหารและเกษตรอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากจีน และเป็นอันดับ 12 ของโลก และภายใต้ '5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรฯ' ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยภายใต้วิกฤติการณ์โควิด-19 ในการเป็นประเทศผู้นาในการผลิตและส่งออก สินค้าอาหารและผลผลิตเกษตรมาตรฐานฮาลาลสู่ตลาดเป้าหมายใหม่กลุ่มประเทศมุสลิม 2,000 ล้านคน และผู้บริโภคสินค้าฮาลาลที่ไม่ใช่มุสลิมทั่วโลกภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และทุกภาคีภาคส่วน

ปี 2563 ที่ผ่านมาตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลก มีมูลค่า 1,533,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (48,004,350 ล้านบาท) และประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,285,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 71,545,354 ล้านบาท) ในปี 2569 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% คิดเป็นมูลค่าเพิ่มปีละ 560 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (16.8 ล้านล้านบาท)

ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ครั้งที่ 2/2564 ได้ให้ความเห็นชอบเนื้อหาร่างวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล (1 วิสัยทัศน์ 5 แนวทาง) ซึ่งจัดทำขึ้นโดยอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศผู้นำในการผลิต การแปรรูป การส่งออกและการพัฒนาสินค้าเกษตร และอาหารฮาลาลที่ได้รับความเชื่อมั่นในระดับสากล และเข้าสู่ตลาดโลกด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย โดยใช้หลักศาสนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 'ภายในปี 2570' ผ่านการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่กำหนดทั้งหมด 5 แนวทาง ได้แก่...

(1) เพิ่มศักยภาพหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาล

(2) สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าเกษตรและอาหาร ด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

(3) เสริมสร้างองค์ความรู้ในการผลิต และการบริหารจัดการตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค

(4) เพิ่มศักยภาพทางตลาดและโลจิสติกส์

(5) ยกระดับความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งใน และต่างประเทศ

ทั้งนี้ ร่างวิสัยทัศน์ดังกล่าวเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวฮาลาลไทย (Thailand Halal Blueprint) ฉบับแรกที่มีความสมบูรณ์ประกอบด้วยเป้าหมาย วิสัยทัศน์ แผนปฏิบัติการ (Action Plan) เป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดที่สำคัญ ผ่านการดำเนินกิจกรรม และโครงการที่กำหนดในแผนปฏิบัติการโดยร่างวิสัยทัศน์ดังกล่าวจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตและการลงทุนเกี่ยวกับสินค้าและผลิตผล การเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” และคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและผลิตผลการเกษตร มาตรฐาน “ฮาลาล” ในพื้นที่ชายแดนใต้ได้รายงานความก้าวหน้าของโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมไก่และโคครบวงจรที่จังหวัดยะลา 2 โครงการ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการหลายร้อยรายในพื้นที่โครงการละกว่า 3,000 ไร่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาโรงไฟฟ้าชีวมวลและโครงการอุตสาหกรรมไก่ที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งทั้ง 3 โครงการเป็นการทำงานบนความร่วมมือกับศอบต.อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ 3 จังหวัดภาคใต้เป็นฮับของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลตามเป้าหมายที่วางไว้

“ที่ประชุมยังมีมติให้เปลี่ยนชื่อและปรับภารกิจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายฯ เป็นคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์และนโยบายฯ เพื่อขยายการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมฮาลาลในภาคเหนือภาคอีสานภาคกลางและภาคตะวันออกโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนที่เป็นเมืองท่าหน้าด่าน เช่น อุดรธานี, เชียงราย, ตาก เป็นต้น

ส่วนภาคใต้มีอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลภาคใต้รับผิดชอบอยู่แล้วโดยเร่งขับเคลื่อนโครงการ '1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม' ภายใต้ความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและศูนย์ AIC เพื่อเป็นฐานการผลิตแปรรูปสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรในการส่งออกไปอาเซียน เอเซียตะวันออก เอเซียใต้เอเซียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรปและอเมริกา

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เชิญนายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ จากสำนักงานมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ร่วมหารือแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการ และบุคลากรในอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยในยุคเกษตร 4.0 ผ่านการเสริมสร้างความรู้ และทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเป็นผู้กำหนด ซึ่งสามารถนำมาเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติได้ โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้กำหนดมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบอาหารฮาลาล ซึ่งสอดคล้องกับหลักศาสนา และมาตรฐานสากล

อีกทั้งยังได้เชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ เพื่อยกระดับผู้ประกอบอาหารฮาลาลของไทย โดยคณะกรรมการฯ จะจัดทำความร่วมมือร่วมกับสถาบันฯ ในด้านการขยายผลสาขาอาชีพที่กำหนดมาตรฐานเสร็จแล้ว การจัดหลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์ การให้การรับรองตามมาตรฐานอาชีพ รวมถึงการจัดทำมาตรฐานอาชีพเพิ่มเติมในสาขาที่ยังขาดแคลน โดยเฉพาะอาชีพที่ปรึกษาธุรกิจด้านฮาลาล ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการฮาลาลไทย

ทางด้านรศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร. ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยรายงานความคืบหน้างานสมัชชาฮาลาลไทยแลนด์ 2021 (Thailand Halal Assembly 2021) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบ video conference ภายใต้ธีม A Virtual Way for Actual Halal World ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาส และความท้าทายต่ออุตสาหกรรมฮาลาล และการรับรองฮาลาลในยุคหลัง COVID-19 โดยงาน Thailand Halal Assembly 2021 จะมีสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาของประเทศอิสลาม (SMIIC) ภายใต้องค์การความร่วมมือประเทศอิสลาม (OIC) และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลและสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย

ภายในงานจะประกอบไปด้วยการประชุมวิชาการด้านฮาลาล และการจัดแสดงสินค้าฮาลาล รวมกว่า 4 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่...

1.) การประชุมนานาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล2021 (The International Halal Science and Technology Conference 2021)

2.) การประชุมนานาชาติฮาลาลว่าด้วยอุตสาหกรรมและธุรกิจครั้งที่ 14 (The 14th Halal Science, Industry and Business Virtual Conference)

3.) การประชุมว่าด้วยการรับรองและมาตรฐานฮาลาลนานาชาติ (The International Halal Standards and Certification Convention)

4.) งานนานาชาติไทยแลนด์ฮาลาลเอ็กซ์โป (Thailand International Halal Expo 2021 Virtual Expo)

“นับเป็นการขยายบทบาทของไทยในเวทีโลกครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งโดยเฉพาะการแสดงถึงมาตรฐานฮาลาลไทยและการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาล”

สำหรับการประชุมของคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 19 เม.ย. มีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ทำหน้าที่ประธานการประชุมโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมอาทิ นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน นายสมศักดิ์ เมดาน รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อานวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) นายอำนวย ศรีระแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนหน่วยงานราชการ เช่นกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเอกชน ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นสำคัญประกอบด้วย ความร่วมมือในด้านการพัฒนามาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพผู้ประกอบฮาลาล ผลการดำเนินงานส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล ในปี พ.ศ.2563 และปี 2564

พร้อมรับทราบรายงานการดำเนินงานของ คณะอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผล การเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” คณะอนุกรรมการส่งเสริมการค้าสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล”

คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตและการลงทุนเกี่ยวกับสินค้าและผลิตผล การเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” และคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและผลิตผลการเกษตร มาตรฐาน “ฮาลาล” ในพื้นที่ชายแดนใต้

รวมทั้งการรายงานผลการแก้ไขปัญหาเนื้อวัวปลอม ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

“ธนกร” โต้แทน “บิ๊กตู่” แจง ”บิ๊กแสนสิริ” ยันรัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนไทม์ไลน์ชัดเจน ซัด ฝ่ายค้านอย่าติงทุกเรื่อง

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและผู้จัดการใหญ่บริษัทแสนสิริจำกัด(มหาชน) เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ว่า นายเศรษฐา ออกมาให้ความเห็นบ่อยในช่วงหลังซึ่งเป็นไปอย่างสุภาพ ส่วนจะหวังผลการเมืองหรือไม่นั้นไม่ทราบ แต่ดีกว่าฝ่ายการเมือง ขอยืนยันกับนายเศรษฐา ว่ารัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และมีแผนการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่าขณะนี้ไทยมีวัคซีนป้องกันโควิดเข้ามาจำนวน 2,117,000 โดส และในวันที่ 24 เม.ย. วัคซีนซิโนแวคจะเข้ามาอีก 5 แสนโดส และเดือนพ.ค.วัคซีนซิโนแวคเข้ามา 1 ล้านโดส 

ส่วนวัคซีนแอสตราเซนเนกา ที่ผลิตในไทยจะเริ่มทยอยส่งเดือนมิ.ย. 4-6 ล้านโดส และจะเพิ่มจำนวนตั้งแต่เดือนก.ค.จนถึงสิ้นปี64 จะครบ 61 ล้านโดส และมีวัคซีนทางเลือกที่ให้ภาคเอกชนอีก 5-10 ล้านโดส ที่น่าจะเพียงพอ และเตรียมยาฟาวิพิราเวียร์ไว้แล้ว ในเดือนเม.ย.-พ.ค.จัดหาเพิ่ม 2 ล้านเม็ด เดือนพ.ค-มิ.ย.1 ล้านเม็ด และมิ.ย.-ก.ค.อีก 5 แสนเม็ด และจะสั่งซื้อให้มีสำรองในสต็อก 3.5 ล้านเม็ด 

“ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาล ทุ่มเททำงานช่วยเหลือประชาชน ทั้งนี้ที่หวังดีและเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่เหมือนกับฝ่ายค้านที่โจมตีโดยประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร ส่วนฝ่ายค้านให้ลดการตำหนิรัฐบาลลง และให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์จะดีกว่า เวลานี้ไม่ใช่เวลาของการเมือง แต่เป็นเวลาที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมแรงร่วมใจทำงานช่วยเหลือประชาชน” นายธนกร กล่าว

ก.แรงงาน ชวนทำดี จัดกิจกรรม “ปรับ-ปลูก-ปัน วันแรงงานสร้างสุข ปลุกพลังจิตอาสา”

ก.แรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เชิญชวนสถานประกอบกิจการ นายจ้าง และเครือข่ายพี่น้องแรงงาน จัดกิจกรรม “ปรับ-ปลูก-ปัน วันแรงงานสร้างสุข ปลุกพลังจิตอาสา” ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนจิตอาสาพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อความสุขของแรงงานและประชาชน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2564

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันแรงงานแห่งชาติตามปกติจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงถึงพลังของแรงงานในการร่วมพัฒนาประเทศ ตลอดจนรับทราบปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างขวัญกำลังใจแก่พี่น้องแรงงาน แต่ปีนี้เนื่องจากสถานการณ์ของ โรคโควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ จึงมีความจำเป็นต้องงดการจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2564 อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ มีนโยบายการบริหารงานภายใต้วิสัยทัศน์ “แรงงานมีศักยภาพสูง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี” โดยให้ความสำคัญกับการน้อมนำพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการขับเคลื่อนโครงการจิตอาสา หวังให้ประชาชนมีความสุข ประเทศชาติมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน จึงได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดกิจกรรม “ปรับ-ปลูก-ปัน วันแรงงานสร้างสุข ปลุกพลังจิตอาสา” เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการ นายจ้าง และลูกจ้าง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีส่วนร่วมในกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม ตลอดจนก่อให้เกิดความสามัคคีและความเข้มแข็งของเครือข่ายพี่น้องแรงงานผู้ที่ทำประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

ด้าน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมดังกล่าว กรมได้มอบหมายให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 76 จังหวัด ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการและเครือข่ายแรงงาน จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานและประชาชนให้มีความสุข ได้แก่ การมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกต้นไม้ ทำความสะอาดสถานประกอบกิจการ พื้นที่ในชุมชน เช่น วัด และโรงเรียน หรือร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งปันในการบริจาคโลหิตให้กับสภากาชาติไทย พร้อมทั้งกิจกรรมยกระดับสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของพี่น้องแรงงาน ให้มีความรู้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในการดูแลตนเองและครอบครัว

โดยร่วมแบ่งปันหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์เพื่อป้องการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้กรมตั้งเป้าจัดกิจกรรมมุ่งสร้างความสำคัญของแรงงานในวันแรงงานแห่งชาติ อาทิ การให้คำปรึกษาแนะนำ ตรวจเยี่ยม และติดตามป้องกันเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านแรงงาน อันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของนายจ้างและลูกจ้างในการก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจและผ่านพ้นวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ไปด้วยกัน

เทพไท แจงเหตุผลตัดงบ สัมมนาดูงาน ก่อสร้าง ซื้ออาวุธ ได้เงิน 4 แสนล้าน สู้โควิด

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ Facebook ส่วนตัว มีข้อความว่า จากกรณีที่ผมได้เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี ให้พิจารณาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565  โดยขอเสนอให้ตัดงบประมาณใน 4 ส่วน ด้วยเหตุผลดังนี้ คือ

1.งบประมาณการจัดสัมมนาซึ่งเห็นว่างบประมาณส่วนนี้ไม่ควรที่จะดำเนินการในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะการสัมมนาเป็นการรวมตัวของคนหมู่มาก สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

2.งบประมาณด้านการศึกษาดูงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ควรมีงบประมาณส่วนนี้ ในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะการศึกษาดูงานเป็นเพียงการเปิดวิสัยทัศน์และเพิ่มประสบการณ์ให้กับข้าราชการในการทำงาน ไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วนในสถานการณ์เช่นนี้ และยังไม่มีประเทศใดเปิดรับชาวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศในสถานการณ์โรคไวรัสโควิดกำลังระบาดอยู่

3.งบประมาณด้านการก่อสร้างที่เป็นโครงการใหม่ ทั้งการก่อสร้างถนน และอาคาร ซึ่งยังไม่มีความจำเป็น และไม่ใช่สิ่งจำเป็นเร่งด่วน สามารถชะลอโครงการก่อสร้างออกไปได้หนึ่งปี จะไม่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง

4.งบประมาณด้านการทหารในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และการก่อสร้างอาคาร ค่ายทหาร ซึ่งไม่มีความจำเป็นสำหรับการสู้รบในโลกปัจจุบัน ที่มีการสงครามทางโลกไซเบอร์มากกว่า และการก่อสร้างในค่ายทหารก็ได้รับงบประมาณในช่วงรัฐบาล คสช. มากกว่าทุกรัฐบาล

 ถ้าหากรัฐบาลดำเนินการตัดงบประมาณทั้ง 4 ส่วนดังกล่าวนี้ จะมีเม็ดเงินงบประมาณไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณที่เกี่ยวกับการป้องกันและเยียวยา การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ได้ครบวงจร โดยนำเม็ดเงินงบประมาณทั้งหมดไปจัดทำงบประมาณโครงการดังนี้ คือ

1.) จัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับโรงพยาบาลประจำอำเภอ ทั่วประเทศ เพื่อให้มีการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเชิงรุก เป็นการป้องกันโรคในเบื้องต้น

2.) จัดซื้อวัคซีนเพื่อใช้ฉีดป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับประชาชนทั้งประเทศ ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงครบทุกคน เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของประชาชนในประเทศ

3.) จัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ด้านการพยาบาลให้กับ อสม.และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ที่ขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ในการบริการประชาชนในชนบท

4.) จัดเป็นงบประมาณส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจรายย่อยหรือ SME เพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก

5.) จัดเป็นงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ให้กับประชาชนทุกสาขาอาชีพ 

ถ้ารัฐบาลได้ดำเนินการตามข้อเสนอแล้ว ก็สามารถจะแก้ปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 และความเดือดร้อนของประชาชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องมาปรับลดงบประมาณ หรือจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณกลางปีขึ้นมาใหม่ เหมือนที่ผ่านมา และเป็นการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ4หรือรอบ5 ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ 

สำหรับปีนี้ ผมไม่มีโอกาสได้อภิปรายแสดงความเห็นในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงขอใช้สิทธิ์ผู้แทนนอกสภา เสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2565 ผ่านสื่อมวลชนไปถึงรัฐบาลด้วยความจริงใจ

ก.แรงงาน ขานรับข้อห่วงใยนายก เร่งเยียวยาผู้ประกันตนที่ทำงานกลางคืนจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขานรับข้อห่วงใยนายกรัฐมนตรี กรณีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด- 19 และนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการเนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน รวมกันไม่เกิน 90 วัน 

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงข้อห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ช่วยดูแลพี่น้องแรงงานที่ทำงานกลางคืนให้เหมือนคนในครอบครัว 

ภายใต้กรอบของกฎหมาย เนื่องจากคนทำงานภาคกลางคืน เช่น ผับ บาร์ สถานบันเทิง ภัตตาคาร ร้านอาหาร สถานบริการ เป็นต้น ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด- 19 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยากรณีนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการเนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ให้ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยโควิด-19 

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า กรณีเหตุสุดวิสัยโควิด -19 กระทรวงแรงงาน ได้ออกกฎกระทรวงได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไปให้ความคุ้มครองกรณีผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากต้องกักตัวเฝ้าระวังการระบาดของโรค 

นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจกรรมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ และลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน รวมกันไม่เกิน 90 วัน 
ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป และสำนักงานประกันสังคมได้เปิดให้นายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนโดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.sso.go.th


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top