Thursday, 15 May 2025
NewsFeed

แผลเป็นที่คาดว่าการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบที่ยาวนานและอาจถาวร คือแผลเป็นด้านการศึกษา โดยสามารถมองเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ไปพร้อม ๆ กัน

หมายเหตุ – ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอแนะการรับมือสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนในระบบการศึกษาหัวข้อ การจัดการ “แผลเป็นด้านการศึกษา” จากโควิด-19 เพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

มีการกล่าวกันมากว่าการระบาดของโควิด-19 จะก่อให้เกิด “แผลเป็น” ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการตอกย้ำแนวโน้มการตกงานของกลุ่มแรงงานที่ก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก (ซึ่งสำหรับประเทศไทยอาจมีเกือบประมาณ 40% ของแรงงานทั้งหมด) ผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง เช่น ครอบครัวที่มีคนแก่ คนพิการ เด็กเล็ก ยากจน ถูกผลกระทบแรงกว่ากลุ่มอื่นและมีต้นทุนในการปรับตัวเพื่อรับแรงกระแทกน้อยกว่า จนทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจและต้นทุนสังคมถูกกัดกร่อนและร่อยหรอจนอาจยากจะฟื้นตัว แต่ละแผลเป็นมีเรื่องให้ต้องขบคิดกันมากว่าจะทำอย่างไรในการป้องกันหรือให้ความช่วยเหลือคนเหล่านั้นได้บ้าง

อีกหนึ่งแผลเป็นที่คาดว่าการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบที่ยาวนานและอาจถาวร คือแผลเป็นด้านการศึกษา โดยจะมองเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสไปพร้อม ๆ กัน

ความท้าทายมีหลายประการ อย่างที่ทราบกันดีว่าการปิดโรงเรียนและการเรียนออนไลน์ในช่วงที่มีการระบาดก่อให้เกิดผลกระทบต่อนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ อย่างมาก นักเรียนจำนวนมากเรียนรู้จากการเรียนออนไลน์ได้อย่างจำกัดมาก ไม่ว่าจะเป็นเพราะขาดอุปกรณ์ ขาดสัญญาณอินเตอร์เน็ต ขาดผู้ปกครองที่มีเวลาช่วยแนะนำและกำกับการเรียน ขาดสมาธิ

ปัญหาเหล่านี้ยิ่งหนักขึ้นถ้าเป็นนักเรียนยากจน ซึ่งอาจมีเรื่องอื่นเพิ่มเติม เช่น ช่วงเรียนออนไลน์ไม่อยากเปิดวิดีโอเพราะอายสภาพบ้าน ทำให้ปฏิสัมพันธ์ยิ่งน้อยลง และถ้าเด็กยิ่งอายุน้อยก็ยิ่งมีโอกาสเรียนรู้ได้น้อย (มีงานวิจัยหนึ่งระบุว่าเด็กอนุบาล 3 ของไทยเรียนรู้น้อยลงคิดเป็นประมาณ 4-5 เดือน) ผู้ปกครองเองก็จัดเวลายาก เพราะต้องทำงานไปด้วย ดูแลลูกหลานที่เรียนที่บ้านไปด้วย ครูเองก็ต้องปรับตัวมากในการสอนออนไลน์ บางคนปรับตัวไม่ได้ก็ทำให้ประสิทธิภาพการสอนหย่อนลง

แนวทางการลดผลกระทบก็มีการพูดถึงกันบ้างแล้วไม่ว่าการสลับวันเรียน การลดขนาดห้อง การปรับหลักสูตร นอกจากนี้ ยังมีแนวทางอื่นที่มีการทำในต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษมีการตั้งกองทุนชื่อว่า Education catch-up initiatives เพื่อช่วยสอนเสริมและฟื้นฟูความรู้ให้กับนักเรียนที่เรียนรู้น้อยลงในช่วงออนไลน์ ในอเมริกามีโครงการคล้ายกันคือ Acceleration Academies, High Intensity Tutoring หรือมีการคิดค้นกระบวนการเรียนรู้ที่ง่าย ๆ ใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวในชุมชน เช่น ในประเทศอินเดียเป็นต้น

ดังนั้น จะขอเน้นเรื่องการแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งก็สามารถทำได้หลายประการ กล่าวคือ

ประการแรก ควรใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดจากกระแสดิจิทัลในกระบวนการเรียนรู้ (digital learning) ที่ถูกบังคับให้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เช่น ในกลุ่มครูและอาจารย์ มีการสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และระดมสมองถึงวิธีการใหม่ๆ ในการสอนให้มีประสิทธิภาพภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ เช่น การใช้การสอนแบบ multi-mode คือไม่ใช่ online หรือ offline อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ผสมผสานกัน ควรมีนโยบายส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเช่นนี้ให้มีความกว้างขวางยิ่งขึ้น

หรือในกลุ่มผู้ปกครองก็ควรใช้ประโยชน์จากความรู้ความเข้าใจถึงแนวทางในการกระตุ้นการเรียนรู้ของลูกหลานในระหว่างที่ทำหน้าที่กำกับและสนับสนุนการเรียนที่บ้าน แล้วทำการขยายความเข้าใจนี้ไปสู่กลุ่มผู้ปกครองด้วยกัน กลุ่มครูและอาจารย์ รวมถึงการถ่ายทอดสู่วงกว้างด้วย

นอกจากนั้น ยังอาจต่อยอดแนวโน้มเดิมที่เกิดก่อนการระบาดของโควิด เช่น การเปิดคอร์สเรียนออนไลน์แบบ MOOC (Massive Online Open Course) ที่เริ่มในต่างประเทศและได้แพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทยโดยมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ปัจจุบันมีการจัดตั้ง Platform รวม ชื่อ Thai MOOC (Thailand Massive Online Open Course) และ Thailand Cyber University ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกระดับการศึกษา ทุกอายุ และทุกอาชีพ โดยในช่วงโควิดมีผู้เรียนต่อวันเพิ่มขึ้นเกือบ 60% และมีเนื้อหาวิชาเกือบ 500 วิชา ผู้เรียนสามารถได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิ หรือกระทั่งโอนหน่วยกิตเพื่อไปรับปริญญาได้

สิ่งที่ควรปรับปรุงในเรื่องนี้ ควรเป็นเรื่องการทำให้แน่ใจว่าหลักสูตรและเนื้อหาที่สอนตรงกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงเร็วของตลาดแรงงาน ซึ่งการสอนแบบ MOOC มีจุดเด่นในเรื่องความยืดหยุ่นของเนื้อหาได้อยู่แล้วจึงควรใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นการสอนที่ไม่จำกัดวุฒิการศึกษาและอายุของผู้เรียน จึงอยากให้มีการคิดนอกกรอบในเรื่องเนื้อหาด้วย

เช่น อาจเป็นเนื้อหาที่เหมาะกับแรงงานที่กำลังจะถูกทอดทิ้งจากตลาดแรงงาน เช่นผู้ที่สูงวัยกว่า 40 ปี และมีการศึกษาไม่เกินประถมหรือมัธยมต้น MOOC ควรใช้ความยืดหยุ่นของเนื้อหาสร้างทักษะให้คนกลุ่มนี้ด้วย โดยอาจไม่ใช่ทักษะที่ไม่มีมูลค่าตลาดก็ได้ เช่น การดูแลเด็กเล็ก การดูแลผู้สูงวัย การรักษาสภาพแวดล้อม เป็นต้น

ประการที่สอง กระทรวงศึกษาธิการควรปฏิรูปแนวทางการวัดผลการเรียนให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในภาวการณ์ใหม่ โดยถือโอกาสนี้ปรับปรุงระบบ KPI ที่ล้าสมัยและไม่เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไปพร้อมกัน

ประการที่สาม ควรยกระดับการใช้กลไกชุมชนในกระบวนการเรียนรู้ เช่น การสร้าง “อาสาสมัครการศึกษา” ที่ทำหน้าที่คล้ายอาสาสมัครสาธารณสุข คือ มีในทุกหมู่บ้าน เรื่องนี้มีการทำบ้างแล้วในการระบาดรอบแรก เช่น จ.ราชบุรี ซึ่งสนับสนุนโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จึงควรขยายให้กว้างขวางขึ้น รวมทั้งการระดมคนในชุมชนให้ช่วยสร้างอุปกรณ์การเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ประการที่สี่ จากข้อเสนอแนะต่าง ๆ ข้างต้นผสมผสานกัน น่าจะก่อให้เกิดบริบทของการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ด้วย โดยเป็นการร่วมมือกันของภาคีต่างๆ และนำนวัตกรรมต่างๆ ที่ค้นพบและทดลองใช้ในช่วงนี้มาเป็นบทเรียน และอยากให้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมเป็นกลุ่มแรงงานที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เช่น ผู้สูงวัยเกิน 40 ปี และมีการศึกษาไม่เกินมัธยมต้นที่กล่าวถึงข้างต้น

ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีเรื่องใหม่ ๆ อีกหลายประการที่เกิดขึ้นในกระบวนการศึกษาช่วงนี้ที่ควรเอามาสกัดเป็นบทเรียนและใช้ประโยชน์ในระยะยาวได้


ขอบคุณที่มา: https://www.matichon.co.th/politics/politics-in-depth/news_2676168

ราชกิจจานุเบกษา ตีพิมพ์แบบหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ใช้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศแล้ว แต่ต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในไทย หรือได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกเท่านั้น

ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์เอกสาร 2 ฉบับ เกี่ยวกับการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค หรือ วัคซีนพาสปอร์ต (Vaccine Passport) ได้แก่ ประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง แบบหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) พ.ศ. 2564 และคำสั่งกรมควบคุมโรค ที่ 587/2564 เรื่อง มอบหมายผู้ที่มีอำนาจออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) เอกสารทั้งสองฉบับลงนามโดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

สาระสำคัญ คือ ให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดทำวัคซีนพาสปอร์ต โดยมีหน้าปกระบุข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “DEPARTMENT OF DISEASE CONTROL, MINISTRY OF PUBLIC HEALTH THAILAND” (กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข” เครื่องหมายตราครุฑ ระบุข้อความ “COVID-19 CERTIFICATE OF VACCINATION” (หนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) พร้อมเลขที่หนังสือ ขึ้นต้นด้วย ค.ศ. ด้านล่างระบุว่า Issue to ... (ออกให้กับ) Passport No. ... (เลขที่หนังสือเดินทาง) or National identification ... (หรือ เลขประจำตัวประชาชน)

เนื้อหาในหนังสือรับรอง จะมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อใช้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ โดยมีเงื่อนไขคือ เอกสารรับรองนี้เป็นการรับรองเฉพาะการได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 โดยต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยาของราชอาณาจักรไทย หรือได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก จะต้องมีลายมือชื่อของอธิบดีกรมควบคุมโรค หรือผู้ที่อธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายให้ออกเอกสารรับรอง พร้อมประทับตราหน่วยงานของผู้ที่ออกเอกสารรับรองนั้น เจ้าหน้าที่อาจไม่รับพิจารณาเอกสารรับรองที่มีรอยแก้ไข ขูดลบ ขีดฆ่า หรือมีข้อความไม่สมบูรณ์

โดยให้กรอกข้อมูลในเอกสารรับรองเป็นภาษาอังกฤษอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ จะมีข้อความภาษาอื่น ๆ ควบคู่กับภาษาอังกฤษด้วยก็ได้ เอกสารรับรองนี้รับรองเป็นรายบุคคลเท่านั้น ไม่ให้ใช้ร่วมกันเป็นหมู่คณะ และต้องออกเอกสารรับรองแยกสำหรับเด็กด้วย ให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองลงลายมือชื่อในเอกสารรับรองแทน หากเด็ก (อายุต่ำกว่า 7 ปี) ยังเขียนหนังสือไม่ได้ สำหรับผู้ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ให้ผู้นั้นพิมพ์ลายนิ้วมือแทน (ปกติให้ใช้นิ้วหัวแม่มือขวา)

ส่วนคำสั่งกรมควบคุมโรค มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สังกัดกรมควบคุมโรค ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร หรือ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) เป็นผู้ที่มีอำนาจออกหนังสือรับรอง และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สังกัดกรมควบคุมโรค 6 ราย เป็นผู้ที่มีอำนาจออกหนังสือรับรอง ได้แก่

1.) นายโรม บัวทอง นายแพทย์เชี่ยวชาญ กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค

2.) น.ส.สิริรักษ์ ธนะสกุลประเสริฐ นายแพทย์ชำนาญการ กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค

3.) นายรวินันท์ โสมา นายแพทย์ชำนาญการ กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค

4.) นางรณิดา เตชะสุวรรณา นายแพทย์ชำนาญการ กองโรคติดต่อทั่วไป

5.) น.ส.กมลทิพย์ อัศววรานันต์ นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และ

6.) น.ส.ปริณดา วัฒนศรี นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันเวชศาสตร์ป้องกันศึกษา กรมควบคุมโรค

โดยให้ปฏิบัติตาม ประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง การออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) พ.ศ. 2564 (ลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 31 มี.ค. 2564)


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

SkillLane บริษัท Online Learning Platform และ Digital Training Platform คว้าอันดับหนึ่งบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในธุรกิจการศึกษา และ ติดอันดับ 36 ของบริษัทที่มีการเติบโตสูงสุดในเอเชียแปซิฟิก ปี 2021

นายฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง SkillLane กล่าวว่า SkillLane ได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งในรายชื่อ 500 บริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดของเอเชียแปซิฟิกปี 2021 โดยสื่อระดับโลก Financial Times และ Nikkei Asia จากอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่แข็งแกร่งของเราในช่วงปี 2016-2019 ที่สูงกว่า 100% โดย SkillLane ติดอันดับ 36 ของบริษัทที่มีการเติบโตสูงสุดในเอเชียแปซิฟิก และอันดับหนึ่ของงบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในธุรกิจการศึกษา

การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเสมือนตัวเร่งการเจริญเติบโตของธุรกิจออนไลน์ ซึ่ง SkillLane มองว่า โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจเทคโนโลยีด้านการศึกษา จะสอดคล้องเทรนด์การศึกษาหลักๆ ในโลกยุคใหม่ ได้แก่

1.) Lifelong Learning การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และมีองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวัน

2.) On-Demand Learning ผู้คนในยุคปัจจุบันต้องการได้รับการตอบสนองทันที รวดเร็ว ในทุกเรื่อง ไม่มีเว้นแม้แต่การเรียนการศึกษา

และ 3.) Personalized Learning รูปแบบ วิธีการ หรือสไตล์ในการเรียนการสอนที่สามารถปรับแต่ง (Tailor Made) ให้ตอบโจทย์ สอดคล้องกับความชื่นชอบที่แตกต่างกันไปของแต่ละบุคคลได้


ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/tech/476550

สพฐ.เลื่อนสอบเข้า ม.1 และ ม.4 ปีการศึกษา 2564 ส่วนเปิดเทอมยังไม่เลื่อน เตรียมการสอบของแต่ละโรงเรียนให้มีความพร้อม และคำนึงถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการและนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประชุมประเมินสถานการณ์การปิด-เปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2564 และการรับนักเรียนในสังกัดสพฐ. ภายใต้สถานการณ์การระบาดโควิด-19


โดยมีมติ ให้ประกาศเลื่อนการสอบเข้าเรียน

-ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากเดิม วันที่ 1 พ.ค.64 เป็นวันที่ 8 พ.ค.64 และ ประกาศผลวันที่ 11 พ.ค.64 แล้วจึงรายงานตัวและมอบตัววันที่ 12 พ.ค.64

-ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากเดิมวันที่ 2 พ.ค.64 เป็นวันที่ 9 พ.ค.64 จากนั้นประกาศผลวันที่ 12 พ.ค.64 แล้วจึงรายงานตัวและมอบตัววันที่ 13 พ.ค.64

ทั้งนี้สพฐ. จะจัดเตรียมการสอบของแต่ละโรงเรียนให้มีความพร้อมและคำนึงถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียน สามารถยื่นความจำนงให้จัดสรรที่เรียนได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในวันที่ 12-13 พ.ค.64 ต่อไป

ส่วนเรื่องการเปิดภาคเรียน ยังคงเป็นไปตามกำหนดเดิมคือวันที่ 17 พ.ค.64 แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ยังไม่ดีขึ้น อาจมีการเสนอเรื่องการเลื่อนเปิดภาคเรียนออกไป แต่จะต้องขึ้นอยู่กับ ศบค.เป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง


ที่มา: https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/145976?utm_campaign=%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%9A&utm_source=line&utm_medium=oa

AccRevo ผนึกกำลัง Funding Societies 2 แพลตฟอร์ม ด้านบัญชีและสินเชื่อออนไลน์ ผนึกกำลัง ช่วยธุรกิจ SMEs ไทยเข้าถึงสินเชื่อสำหรับขยายธุรกิจได้ง่ายขึ้น ชูจุดเด่น ‘อนุมัติไว-ไม่ใช้หลักทรัพย์-วงเงินสูง’

อย่างที่ทราบกันดีว่า ปัญหาสำคัญของภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ของไทย คือ การเข้าถึงแหล่งทุน หรือสินเชื่อ เพื่อการขยายธุรกิจ

จากปัญหาอุปสรรคดังกล่าว จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง 2 แพลตฟอร์ม อย่าง AccRevo และ Funding Societies ที่จะช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยธุรกิจที่ใช้โปรแกรมบัญชีของ "AccRevo" จะสามารถขอสินเชื่อได้ ง่ายและรวดเร็ว ผ่าน Funding Societies

สำหรับ AccRevo (Accounting Intelligence Platform) เป็น Platform บัญชีดิจิทัลสำหรับธุรกิจ SMEs ที่ถูกออกแบบมา ช่วยเหลือทำให้กระบวนการทำบัญชีที่เคยช้า น่าเบื่อ และเต็มไปด้วยเอกสารกองโตเปลี่ยนกระบวนการออกเอกสารทางธุรกิจให้เป็นดิจิทัล ให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน ที่รวดเร็วและแม่นยำกว่าเดิม ลดต้นทุนและปรับปรุงขั้นตอนการทำงานของธุรกิจเชื่อมต่อทุกหน่วยงานในองค์กรและทำงานด้วยการประมวลผลแบบคลาวด์และการวิเคราะห์ข้อมูลระบบอัตโนมัติของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence (AI)

ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการจะได้งบการเงินและรู้สุขภาพทางการเงินขององค์กรแบบ Realtime เพิ่มความสามารถในการคาดการณ์การวิเคราะห์การจัดการประสิทธิภาพและการตัดสินใจเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในโลกใหม่ของการทำงานที่เป็นดิจิทัลที่ต้องมีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลที่แข็งแกร่ง ตลอดจนการมองการณ์ไกลเพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจที่ดี ด้วยระบบบัญชี ของ AccRevo ที่ผ่านมาตรฐานกรมสรรพากร และได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ โดยมีโปรแกรมเด่น อาทิ

AccRevo Accistant | โปรแกรมจัดการธุรกิจดิจิทัล on cloud ผู้ช่วยนักธุรกิจในการดูแลการเงิน ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องบัญชี ก็สามารถบริหารจัดการ ออกเอกสารทางด้านบัญชีได้ครบถ้วน ได้มาตรฐาน ควบคุมการทำงานทั้งกระบวนการแบบดิจิทัลทั้งด้านรายรับและด้านรายจ่าย ออกรายงานบริหาร (Dashboard) เพื่อการวิเคราะห์ธุรกิจแบบออนไลน์ทุกที่ ทุกเวลา

AccRevo The Book | โปรแกรมบันทึกบัญชีอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence (AI) ผู้ช่วยนักบัญชีในการบันทึกบัญชีเบื้องต้นและการทำบัญชีทั้งกระบวนการแบบไร้เอกสารที่เป็นกระดาษ ทำให้นักบัญชีไม่ต้องปวดหัวกับเอกสารกองโตอีกต่อไป พร้อมเชื่อมต่อระบบงานอื่นๆผ่านเทคโนโลยี API ลดการบันทึกบัญชีซ้ำแบบไร้รอยต่อ

ส่วน Funding Societies เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัลชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป้าหมายของการดำเนินธุรกิจ จะมุ่งเน้นสร้างโอกาสแก่ SMEs เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้เข้าถึงเงินทุนได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย โดยสมัครง่ายผ่านระบบออนไลน์ อนุมัติไวภายใน 3 วัน และ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์

ทั้งนี้ Funding Societies ก่อตั้งขึ้นปี 2015 ในประเทศสิงคโปร์ และ ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการระดมทุนอย่างถูกต้องทั้งในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เเละ ล่าสุดในไทย โดยก่อนหน้านี้ได้ให้สินเชื่อแก่ SMEs ไปกว่า 65,000 ราย นอกจากนี้ Funding Societies ยังได้รับการระดมทุน Series C 1,300 ล้านบาทจากบริษัทผู้ลงทุนที่มีความน่าเชื่อถือ อาทิเช่น Sequoia India, Softbank Ventures Asia Corp, Qualgro, LINE Ventures

Funding Societies จึงมองเห็นศักยภาพของ SMEs และสตาร์ทอัพที่มีอยู่หลายล้านรายในประเทศไทย พวกเขาควรได้รับโอกาสทางการเงินที่เท่าเทียมแล้ว

สำหรับ ความร่วมมือ AccRevo X Funding Societies สินเชื่อธุรกิจสำหรับผู้ใช้งาน AccRevo ที่จะได้รับ

- วงเงินสูงสุดถึง 30 ล้านบาท

- อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดแค่ 1% ต่อเดือน

- อนุมัติไว

- ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน

ในภาวะที่ SMEs ต้องการเงินสนับสนุนให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ และยังต้องแข่งกับเวลา ความร่วมมือระหว่าง AccRevo และ Funding Society จะช่วยให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจที่ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เข้าถึงสินเชื่อในยุคดิจิทัล ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีวงเงินต่อรายสูงสุดถึง 30 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดที่ 1% ต่อเดือน อนุมัติไวใน 3 วัน ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และสะดวกรวดเร็วไม่ยุ่งยากในการจัดเตรียมข้อมูล มาเติบโตและรับการสนับสนุนด้านการเงินไปกับพวกเราเพื่อความแข็งแรง และธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

.

‘ศิริกัญญา’ คลี่แผนงบปี 65 วิจารณ์ยับ รัฐปรับลดงบสวัสดิการ หั่น เงินบัตรทอง-กองทุนการศึกษา ชี้ จับตา ‘ก.พลังงาน’ บวกเพิ่ม 19% ‘ก้าวไกล’ เล็ง ประชุมออนไลน์กางงบให้ประชาชนร่วมวางแผน

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลฝ่ายนโยบาย กล่าวถึงการเตรียมพร้อมอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ว่า เบื้องต้นตนเห็นข้อมูลงบระดับรายกรมและแผนงานต่าง ๆ จึงทำข้อสังเกตเบื้องต้นขึ้นมาก่อน อย่างแรกคือ เป็นรอบแรกในรอบ 12 ปีที่ปรับลดงบประมาณลง คือ ปรับลดลงเหลือ 3.1 ล้านล้านบาท จาก 3.29 ล้านล้านบาทในปี 2564 ซึ่งสามารถสรุปเป็นข้อสังเกตได้ ดังนี้ คือ

1.) 17 จาก 20 กระทรวงถูกปรับลดงบประมาณ โดยกระทรวงที่ถูกปรับลดงบมากที่สุด คือ กระทรวงศึกษาธิการ โดยถูกปรับลดลงกว่า 24,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมาการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยรับงบประมาณที่ถูกปรับลดมากที่สุด โดยถูกปรับลดลงถึงกว่า 20,000 ล้านบาท ในจำนวนนั้น 13,264 ล้านบาท เป็นการลดงบในแผนงานบุคลากรภาครัฐ ซึ่งก็คือส่วนของเงินเดือนค่าตอบแทน ส่วนกระทรวงที่ถูกตัดงบมากเป็นอันดับรองลงมา ได้แก่ กระทรวงแรงงาน ลดลง 19,977 ล้านบาท กระทรวงมหาดไทย ลดลง 17,144 ล้านบาท กระทรวงคมนาคม ลดลง 14,100 ล้านบาท

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า 2.) มี 3 กระทรวงที่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงที่ได้รับงบเพิ่มมากที่สุด คือ กระทรวงการคลัง คาดว่าจะเป็นเงินเพื่อชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย รองลงมาคือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยได้รับงบประมาณเพิ่ม 2,300 ล้านบาท โดยไปเพิ่มให้กับกรมเด็กและเยาวชน ดังนั้น คงต้องลุ้นกันต่ออีกปีว่าจะเป็นเงินเลี้ยงดูเด็กแบบถ้วนหน้าหรือไม่ ส่วนกระทรวงที่งบประมาณเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ คือกระทรวงพลังงาน โดยมีสัดส่วนงบประมาณเพิ่มขึ้น 19% เพิ่มให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (+80%) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (+37%)

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า 3.) กระทรวงกลาโหมถูกปรับลดงบประมาณลง 11,000 ล้านบาท คิดเป็น 5.24% แต่ที่น่าสนใจคืองบบุคลากรของกระทรวงกลาโหมกลับเพิ่มขึ้นทั้ง 3 เหล่าทัพ คือ กองทัพบก เพิ่มขึ้น 799 ล้านบาท เป็น 58,892 ล้านบาท กองทัพเรือ เพิ่มขึ้น 531 ล้านบาท เป็น 21,283 ล้านบาท และกองทัพอากาศ เพิ่มขึ้น 365 ล้านบาท เป็น 13,258 ล้านบาท

4.) งบเพื่อสวัสดิการและการศึกษาหลายอย่างถูกตัด แม้เราอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เช่น กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ถูกตัดงบลง 5,740 ล้านบาท หรือคิดเป็น 29% กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ถูกตัดงบลง 432 ล้านบาท เหลือ 5,652 ล้านบาท หรือแม้แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ถูกปรับลดงบประมาณลง 1,815 ล้านบาท เหลือเพียง 140,550 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ สปสช. เองก็คาดการณ์ว่าจะมีผู้ที่เข้ามาใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 137,000 คน ในปี 2564 และอาจมีเพิ่มมากขึ้นหากสภาวะทางเศรษฐกิจยังคงย่ำแย่

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า และ 5.) รัฐเอาเงินอุดหนุน อสม. ออกจากเงินอุดหนุน อบจ. กลับไปให้กระทรวงสาธารณสุข (ประมาณปีละ 12,500 ล้านบาท) แต่ก็ไม่ได้มีการชดเชยเงินอุดหนุนเพิ่มเติมให้ อปท. โดยในปีงบประมาณ 2565 รัฐอุดหนุนเงินให้ อปท. ลดลง 5% (หลังหักเอาเงิน อสม. ออกแล้ว) และคาดว่า อปท. จะมีรายได้น้อยกว่าปีงบประมาณก่อนประมาณ 76,000 ล้านบาท หรือลดลง 9% ทั้งนี้ รายได้ของ อปท. อาจต่ำกว่าที่ประมาณการลงอีก เนื่องจากแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะมีการให้ลดภาษีที่ดิน ซึ่งเป็นรายได้โดยตรงของท้องถิ่นลงถึงร้อยละ 90 สำหรับปีภาษี 2564 และหากการเก็บภาษีของรัฐไม่เป็นไปตามเป้า ก็จะทำให้รายได้ที่รัฐจัดเก็บให้ และรายได้ที่รัฐแบ่งให้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดลงไปอีก

"หลังจากนี้พรรคก้าวไกลจะประชุมเพื่อกำหนดธีมและหัวข้อในการอภิปราย ซึ่งเรายังยืนยันเรื่องการจัดสรรสวัสดิการที่ต้องครบถ้วนและครอบคลุมมากว่านี้ สำหรับปีนี้พรรคจะมีโปรเจ็กต์นำข้อมูลงบประมาณทั้งหมดของปี 2565 มาให้ประชาชนได้รับทราบและร่วมพิจารณางบว่า งบส่วนไหนที่ตัดได้ เพื่อนำไปเติมส่วนงบสวัสดิการ เพื่อให้รัฐบาลเห็นว่าประชาชนอยากจัดสรรงบประมาณมาใส่ในส่วนงบสวัสดิการเท่าไหร่ ซึ่งคาดว่าจะจัดการประชุมในรูปแบบออนไลน์เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

กสม.แถลงผลการดำเนินการรอบปี 63 เผยมี 465 เรื่องร้องเรียน เฉพาะสิทธิในกระบวนการยุติธรรมนำโด่ง 170 เรื่อง ยันห่วงใยการชุมนุมทางการเมือง ตั้งคณะทำงานติดตาม พร้อมลงพื้นที่ ทั้งเตรียมลงพื้นที่ชายแดนช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนกับชาวเมียนมา

ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ กรรมการสิทธิมนุษยชน ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) พร้อมกสม.ร่วมกันแถลง ผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ 2563 โดยกสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 465 เรื่องเป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม 170 เรื่อง สิทธิพลเมือง 74 เรื่องสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน 53 เรื่อง ซึ่งพื้นที่ที่มีการร้องเรียนแสนสูงสุดคือตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวน 90 เรื่อง ซึ่งกสม.ได้ตรวจสอบคำร้องและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวน 387 เรื่อง เช่น สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย กรณีชีวิตของนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร จ.นครนายก  สิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีกล่าวอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวและตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย  

ส่วนการติดตาม ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของ กสม. 131 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิชุมชนกรณีการมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ การเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ  อาทิ การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของคนพิการ  กรณีศึกษาผลกระทบด้านการจราจรของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี การยุติการตั้งครรภ์เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และมีการประเมินสถานการณ์เฉพาะอีก 2 เรื่อง คือการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งได้มีการเสนอรายงานดังกล่าวต่อรัฐสภาและครม.แล้วเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ร่วมมือและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนกับองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ จัดตั้งสำนักงานกสม.ในต่างจังหวัด นำร่องในพื้นที่ภาคใต้ที่จ.สงขลา และจัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคร่วมกับเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาอีก 6 แห่ง รวมเป็น 12 แห่งทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกลไกการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้สะดวกรวดเร็วขึ้น  

อย่างไรก็ตาม กสม.เห็นว่ายังมีสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของกสม.และควรมีการแก้ไข คือกรณีที่รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยกสม.กำหนดให้กสม.ต้องชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้ากรณีมีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไม่ถูกต้องเป็นธรรม  และข้อจำกัดด้านกฎหมายกรณีพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ60 ไม่ได้บัญญัติหน้าที่และอำนาจในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่เดิมที่ กสม.เคยมี ซึ่งถือว่าไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและหลักการสากล รวมทั้งเมื่อมีการจัดทำรายงานหรือข้อเสนอแนะในเรื่องต่างๆไปยังครม.รัฐสภาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วส่วนใหญ่ ไม่มีการแจ้งเหตุผลที่หน่วยงานเหล่านั้นไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่กสม.ได้ 

เมื่อถามถึงการจับกุมผู้ชุมนุมทางการเมือง กรณีที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร อ้างว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี ทางกสม.จะมีการดำเนินการอย่างไร  นายสุวัฒน์ กล่าวว่า กรณีการชุมนุมทางการเมืองทางกสม.มีข้อห่วงใยและติดตามข้อมูล ข่าวสารมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มต้นมีการชุมนุม เราได้ตั้งคณะทำงานเฝ้าระวังเพื่อติดตามข้อมูลทุกวันที่มีการชุมนุม และส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมที่สำคัญทุกครั้งและมีการสรุปรายงานให้ทราบทุกสัปดาห์ ส่วนที่มีประชาชนยื่นร้องเรียนเข้ามาประมาณ 10 เรื่อง เราก็ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบโดยเฉพาะและเร่งดำเนินการนำข้อมูล เหตุการณ์ ข้อร้องเรียนต่างๆมาประมวลเพื่อหาข้อสรุปโดยเร็ว โดยมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาร่วมให้ข้อมูล อาทิ ผู้ชุมนุม นักวิชาการ สื่อมวลชน เป็นต้น 

ขณะเดียวกันในเรื่องของผู้ถูกกุมขัง ทางกสม.มีความเป็นห่วงและได้ติดตามโดยให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจเยี่ยม ซึ่งตนก็มีโอกาสได้ไปเยี่ยมผู้ถูกกุมขังเช่นกันเพื่อดูชีวิตความเป็นอยู่ว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ประเด็นการจับกุมเราได้พยายามศึกษาว่าจะดำเนินการได้อย่างไรบ้าง ซึ่งในเรื่องของการประกันตัวนั้น ทุกคนทราบดีว่าเป็นดุลพินิจของศาล เมื่อเป็นดุลพินิจของศาล ในระเบียบของกสม.ไม่ได้ให้อำนาจกสม.ดำเนินการพิจารณาได้ เราจึงได้ให้คณะทำงานเฝ้าระวังซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษากฎหมายพิจารณาศึกษาว่าเราจะมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง ยืนยันว่าเราพยายามติดตามและให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้อยู่  

เมื่อถามว่า เหตุการณ์การชุมนุมประท้วงในเมียนมาทำให้มีคนลี้ภัยมาตามแนวชายแดน ทางกสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนหรือดำเนินการอย่างไรหรือไม่ นายสุวัฒน์  กล่าวว่า ตนได้รับการประสานว่าวันที่ 21 เม.ย.ทางประธานกสม.ระดับต่างประเทศจะหารือกันและเชิญประธานกสม.เมียนมาเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งเราก็จะดูในภาพรวม ซึ่งประเด็นนี้เรามีความห่วงใยและเตรียมการจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ชายแดนเพื่อดูว่ากรณีถ้ามีราษฎรจากเมียนมาเข้ามา เราจะดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่ที่เราจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ  

ด้านนายบุญเกื้อ สมนึก เลขาธิการกสม. กล่าวว่า กรณีผู้ข้ามแดนลี้ภัยนั้น ทางกสม.มีมติมอบหมายให้สำนักงานฯลงพื้นที่เพื่อดูสถานการณ์ ซึ่งทางสำนักงานฯก๋ได้รับการตอบรับจากหน่วยความมั่นคงในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ขณะเดียวกันทางสำนักงานฯก็ได้ประสานงานกับทางกระทรวงการต่างประเทศไว้แล้วว่าเรื่องนี้จะมีมาตรการอย่างไร โดยกสม.จะดูในมิติของสิทธิมนุษยชน

“นายกฯ” สั่งเดินหน้า ”โครงการบ้านสุขประชา” พร้อมทำบ้าน “น็อคดาวน์”ให้ผู้มีรายได้น้อยมีความมั่นคงในชีวิต พร้อมเร่งรัดรัฐวิสาหกิจ ดูแลหน่วยงานในเครือดำเนินตามยุทธศาสตร์ชาติ สร้างรายได้ เพื่อลดภาระงบประมาณภาครัฐ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่าตนให้ความสำคัญกับการจัดหาที่อยู่ ที่ทำกินให้กับประชาชน ซึ่งวันนี้ได้เร่งรัดในที่ประชุมครม.ไปแล้ว ในเรื่องของการจัดหาที่ดิน ในลักษณะของกระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล(คทช.) และเรื่องของบ้านเคหะสุขประชา ซึ่งจากการเปิดโครงการไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้รับการตอบรับเป็นจำนวนมาก ตนก็จะเร่งรัดในเรื่องนี้ เพราะเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ที่ต้องการให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัย ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“บ้านเคหะสุขประชา จะเดินหน้าต่อไป ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่จะให้มีการทำแผนงานไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ จะมีการทยอยดำเนินการไปตามงบประมาณที่มีอยู่ หรือตามแนวทางปฏิบัติ วันนี้ผมก็ให้แนวคิดไปอีกอย่างหนึ่งคือการทำบ้านในลักษณะบ้านน็อคดาวน์ เพื่อทำให้เร็วขึ้น ในพื้นที่ที่แออัด เดี๋ยวจะลองทำสแตนบล็อกตรงนี้ออกไป เพื่อให้เกิดให้เร็วขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ ซึ่งทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ได้รับเรื่องตรงนี้ไปแล้ว สำหรับผู้มีรายได้น้อยจะได้มีความมั่นคงในเรื่องของที่อยู่อาศัย”

นอกจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังแถลงถึงการพัฒนารัฐวิสาหกิจว่า ตนได้เร่งรัดให้หน่วยงานต่างๆ ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และมีการปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล ก็ขอให้รัฐวิสาหกิจต่างๆได้พิจารณาความจำเป็น และกำกับดูแลบริษัทในเครือให้ได้ตามวัตถุประสงค์ ด้วยแนวทางและวิธีการทำงานใหม่ ในการให้บริการประชาชน ทั้งนี้เพื่อจะสร้างรายได้ให้กับประเทศและเป็นการลดภาระงบประมาณภาครัฐ และประชาชน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น วันนี้เราก็ต้องยอมรับกันว่า สถานการณ์โควิด ทำให้เกิดปัญหามากพอสมควร ในเรื่องของเศรษฐกิจ

“บิ๊กตู่” ปัดตอบสถานการณ์ในเมียนมา “ยอมรับ” มีความซับซ้อนหวังกลับมาสงบโดยเร็ว ส่ง “ดอน” ร่วมประชุมผู้นำอาเซียน ที่อินโดนีเซียแทน พร้อมขอความร่วมมือผู้ป่วยโควิด เชื่อฟังหมอ ปัดพูดถึงการย้ายหลานเขยบิ๊กป้อม

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียเป็น ที่เป็นที่จับตาจากหลายประเทศอย่างมาก เนื่องจากพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา เตรียมเดินทางไปร่วมประชุมด้วย ว่า ตนได้ตัดสินใจ ส่งนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ  ไปประชุมแทน และทราบว่าหลายประเทศ ก็ส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปประชุมแทนเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามถึงท่าทีรัฐบาลไทยต่อคณะรัฐประหารเมียนมาและ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย รวมทั้งรัฐบาลไทยจะให้การยอมรับความชอบธรรมต่อรัฐบาลผลัดถิ่น ของเมียนมาที่เพิ่งประกาศตัวไปเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมทหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องของสถานการณ์ในเมียนมานั้นมีความสลับซับซ้อนมาก จึงขออนุญาตไม่ตอบคำถามสื่อมวลชน เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ในหลายช่องทางด้วยกัน และคิดว่าทำอย่างไรจะให้เกิดความสงบโดยเร็วในฐานะที่เราเป็นอาเซียนด้วยกัน

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกรณีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ให้ความร่วมมือกับแพทย์ทั้งเรื่องการปฏิบัติตนในช่วงการรักษา และเข้ารับการรักษาโดยเลือกสถานที่เข้ารับการรักษาโดยไม่ขอไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม ว่า ก็ขอความร่วมมือผู้ป่วยทุกคนด้วยเมื่อถามถึงกรณีการสั่งย้าย พ.ต.อ.ดวงโชติ สุวรรณจรัส ผกก.สน.ทองหล่อ  ซึ่งถือเป็นหลานเขยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะกระทบภาพรวมหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “แล้วย้ายไหมละ”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top