Saturday, 17 May 2025
NewsFeed

“ผบ.ทร.” มอบนโยบาย ประชุมหัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ เตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 พล.ร.อ.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ผ่านมา กองทัพเรือ ได้จัดให้มีการประชุมหัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ โดยมี พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านดาวเทียม (VTC) ร่วมด้วยผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ และหัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ ที่ห้องประชุม กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ค่ายตากสิน อำเภอเมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี

ในการประชุมกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รอบใหม่ โดย ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งการให้หน่วยต่างๆที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล/สถานพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม  เพิ่มเติมเพื่อรองรับการแพร่ระบาด ดังนี้ 

1.) ให้โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เป็นโรงพยาบาลหลัก สามารถให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีหอผู้ป่วยวิกฤต ห้องแรงดันลบ หอผู้ป่วยรวม และห้องแยก รวมแล้ว 54 เตียง มีขีดความสามารถในการตรวจวินิจฉัย และให้การรักษา ตั้งแต่อาการเล็กน้อย จนถึงขั้นวิกฤติ

2.) ตั้งโรงพยาบาลเฉพาะโรค ได้แก่ โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ และ โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ มีหอผู้ป่วยรวม จำนวน 90 เตียง มีขีดความสามารถในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย โดยเน้นในการดูแลในส่วนของกำลังพลกองทัพเรือเป็นหลัก

3.) ให้จัดตั้งคลินิก โรคระบบทางเดินหายใจ ในพื้นที่ หน่วยแพทย์ปฐมภูมิ ที่มีนายแพทย์ปฏิบัติงาน

4.) จัดตั้งพื้นที่ เฝ้าระวัง ควบคุมโรค สำหรับกำลังพลกองทัพเรือ ประกอบด้วย
- พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล / ใช้พื้นที่ สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง กรมยุทธศึกษาทหารเรือ
- พื้นที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรี / ใช้พื้นที่ อาคารรับรองของ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
- พื้นที่จังหวัดจันทบุรี และตราด / ใช้พื้นที่ กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ค่ายตากสิน
- พื้นที่จังหวัดสงขลา / ใช้พื้นที่ ฐานทัพเรือสงขลา
- พื้นที่จังหวัดนราธิวาส / ใช้พื้นที่ ค่ายจุฬาภรณ์
- พื้นที่จังหวัดพังงา และภูเก็ต ใช้พื้นที่ ฐานทัพเรือพังงา

5.) จัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม ให้การสนับสนุนหน่วยงานสาธารณสุข จังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ประกอบด้วย
- ที่ศูนย์ฝึกทหารใหม่ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง
- ที่ค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
- ที่สนามฝึกกองทัพเรือ บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี
และยังให้จัดตั้งคลินิกให้บริการวัคซีน โควิด ให้กับกำลังพล และประชาชนทั่วไป มีการจัดทีมสอบสวนโรค เมื่อพบผู้ป่วยต้องสงสัยในพื้นที่ที่กองทัพเรือรับผิดขอบ และให้มีการจัดทีมคัดกรอง และตรวจ เมื่อได้รับการประสานให้มีการสนับสนุนเพิ่มเติมกับหน่วยงานภายนอก

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือเน้นย้ำให้ข้าราชการกองทัพเรือ เพิ่มความระมัดระวังทั้งแก่ตนเองและสมาชิกในครอบครัวในช่วงสถานการณ์ COVID-19 โดยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคระบาดตามที่รัฐบาลกำหนด และมาตรการเพิ่มเติม 18 ข้อ ตามที่ผู้บัญชาการทหารเรือเคยได้ให้ไว้แล้ว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รอบใหม่

“บิ๊กบี้” ตรวจความพร้อม รพ. สนาม 12 พื้นที่ รวม 2,220 พร้อมรับการแพร่ระบาดโควิด-19 

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก เปิดเผยว่า ตามสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงกลาโหม ดำเนินการเตรียมโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่พบคลัสเตอร์ใหม่ในหลายพื้นที่ และมีความรุนแรงกระจายเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลต่อปริมาณเตียงในสถานพยาบาลไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย

ในการนี้ กองทัพบกซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงได้เตรียมความพร้อม โดยจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ทั่วประเทศ สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อดูแลรักษาผู้ติดเชื้อและเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด

ทั้งนี้กองทัพบกได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามระยะที่ 1 ใน 12 พื้นที่ รวม 2,220 เตียง โดยพิจารณาจัดตั้งในพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก, ห่างไกลจากแหล่งชุมชน อาทิ กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. จำนวน 200 นาย,กรมพลาธิการทหารบก จ.นนทบุรี 50 เตียง, ค่ายฝึกนักศึกษาวิชาทหารเขาชนไก่ จ.กาญจนบุรี 300 เตียง, กรมการทหารช่าง จ.ราชบุรี 740 เตียง และกองพันทหารเสนารักษ์ในทุกกองทัพภาค อีก 930 เตียง

ซึ่งเป็นการนำศักยภาพของกองทัพ ทั้งด้านบุคลากร ยานพาหนะและสิ่งอุปกรณ์ เตียงสนาม พร้อมเครื่องนอน หมอนมุ้ง ในการจัดการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ พร้อมกันนี้ในปัจจุบันโรงพยาบาลค่ายในสังกัดกองทัพบกทั้ง 37 แห่ง ก็ได้สนับสนุนสาธารณสุขในพื้นที่ บริการคัดกรอง ดูแลรักษาประชาชน รวมทั้งสร้างการรับรู้ ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนตามมาตรการป้อง COVID-19 เพื่อให้ประชาชนได้ปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม ลดการแพร่กระจายเชื้อไปในพื้นที่ต่าง ๆ อีกทางหนึ่งด้วย

ซึ่งในวันนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้เดินทางไปตรวจความพร้อมการเตรียมการโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของCOVID-19 สนับสนุนรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข โดยมุ่งเน้นการดูแลและสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นใน 2 พื้นที่ ได้แก่ กรมพลาธิการทหารบก, กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1

“กองทัพบกยืนยันความพร้อม และพร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนในการดูแลพี่น้องประชาชน ซึ่งได้เตรียมการวางแผนมาตั้งแต่แรกเริ่มที่พบการระบาดในประเทศ ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อสามารถรับมือต่อสถานการณ์ บริหารจัดการได้อย่างทันท่วงที และเป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกโอกาส” พล.ท.สันติพงศ์ กล่าว


 

รมว.สุชาติ หารือร่วม ผู้ว่าฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ หารือร่วมเร่งเดินหน้านโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน บูรณาการทุกภาคส่วน ส่งเสริมการมีงานทำ สร้างหลักประกันความมั่นคงแก่แรงงานทุกคน สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่
        
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี และนายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน และแนวทางในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย 

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ โดยเริ่มจากปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนเร่งด่วนเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็วทันเหตุการณ์ ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรีให้รับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ
        
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ผมได้ต้อนรับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน และแนวทางในการปฏิบัติงาน ตลอดจนรับทราบความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะของจังหวัด เพื่อนำข้อมูลไปประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันตามภารกิจของกระทรวงแรงงาน 

ทั้งนี้ รมว.แรงงาน ยังได้เน้นย้ำกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 จังหวัดให้บูรณาการทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน อาทิ ด้านส่งเสริมสินค้าเกษตรและสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ในพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การยกระดับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบไฟฟ้า น้ำประปา และติดตั้งกล้องวงจรปิดตามแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสร้างมั่นใจและเพิ่มความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว 

โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจะเข้าไปสนับสนุนตามภารกิจ อาทิ การฝึกอบรมฝีมือแรงงานโดยต่อยอดให้พี่น้องแรงงานในพื้นที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ ส่งเสริมระบบตลาดออนไลน์ การส่งเสริมการมีงานทำในระดับชุมชนพื้นที่ การพัฒนาทักษะฝีมือ Up – skill Re – skill และ New – skill ตามความต้องการของแรงงานทุกกลุ่ม การคุ้มครองดูแลให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบได้รับสิทธิประโยชน์และมีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต เป็นต้น

สั่งพาณิชย์ตรวจตลาดกันคนโกงขายของแพงช่วงสงกรานต์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งให้กรมการค้าภายใน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ออกตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด และเพิ่มความเข้มงวดมากเป็นพิเศษ แม้จะเป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ยังมีการเดินทางออกต่างจังหวัด เพื่อป้องกันไม่ให้พ่อค้าแม่ค้าฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบประชาชน ตลอดจนให้ช่วยตรวจสอบดูแลร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการของรัฐด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการฉวยโอกาสใช้โครงการของรัฐหาประโยชน์หรือมาเอาเปรียบจนได้รับความเดือดร้อน 

ขณะเดียวกันยังขอให้กรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการตามสถานีขนส่ง ต้องปิดป้ายแสดงราคาสินค้าและค่าบริการให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้  หรือหากประชาชน พบเห็นการกระทำผิด จำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร หรือจำหน่ายในราคาไม่ตรงกับที่แจ้งไว้ สามารถร้องเรียนได้ 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง 

โดยกรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคามีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท กรณีจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร กักตุนสินค้าและปฏิเสธ การจำหน่ายต้องโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายกฯ ไทย - ญี่ปุ่นหารือชื่นมื่นพร้อมต่อยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยไทยพร้อมเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค  พร้อมจับมือไทยสนับสนุนลดความตึงเครียดในเมียนมาด้วยสันติวิธี และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับผู้หนีภัย

วันที่ 9 เมษายน 2564 ที่ห้องโดม ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทางโทรศัพท์กับนายซูกะ โยชิฮิเดะ (H.E. Mr. Suga Yoshihide) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเข้ารับตำแหน่ง

นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสที่ได้มีโอกาสหารือกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ทราบว่านายกรัฐมนตรีได้เคยทำหน้าที่เป็นประธานร่วมฝ่ายญี่ปุ่นของคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย -ญี่ปุ่น (High Level Joint Commission: HLJC) สมัยที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จึงหวังว่าจะสานต่อความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างไทย - ญี่ปุ่น ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะกระชับความร่วมมือกับญี่ปุ่นในฐานะประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าทั่วโลกจะพบกับความท้าทายจากสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นยังมีการติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง โดยไทยได้อำนวยความสะดวกการเดินทางระหว่างนักธุรกิจและประชาชนของทั้งสองฝ่ายตามมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาลไทย  

ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวยินดีที่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก พร้อมระบุว่า จากที่มีโอกาสทำหน้าที่สนับสนุนความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับไทย และเคยเยือนไทยเพื่อเข้าร่วม การประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้องเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ทั้งนี้ ญี่ปุ่นชื่นชมการจัดการเพื่อควบคุมโควิดของไทย และญี่ปุ่นพร้อมให้ความสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ตู้แช่วัคซีน และบริการขนส่งแก่ไทย และประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ภายใต้ โครงการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าฉุกเฉินผ่านองค์การ UNICEF และ JICA ซึ่งจะช่วยทำให้แจกจ่ายวัคซีนให้แก่ประชาชนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จากนั้นทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอบคุณญี่ปุ่นที่สนับสนุนการค้าการลงทุนกับไทย และให้ความสำคัญกับการลงทุนในเขตEEC มาโดยตลอด รัฐบาลไทยเตรียมการที่จะปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคด้านการลงทุนต่าง ๆ พร้อมยกระดับสภาพแวดล้อม การทำธุรกิจภายในประเทศเพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพและมีความสนใจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประสงค์ให้มีความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งสองฝ่ายพร้อมสนับสนุนให้จัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย - ญี่ปุ่น (High Level Joint Commission: HLJC) ครั้งที่ 5 เพื่อขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีส่วนฟื้นฟูสำคัญภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) อนุรักษ์พลังงานและการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงเชิญชวนให้ญี่ปุ่นพิจารณาไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ ในประเทศไทย 

ในส่วนของความร่วมมือพหุภาคี ญี่ปุ่นเชื่อมั่นบทบาทของไทยการเป็นผู้นำในหลายด้านของภูมิภาค และพร้อมสนับสนุนความร่วมมือกับไทยเพื่ออนาคตความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Cooperation - MJ) ที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าไทยพร้อมร่วมมือกับญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกอาเซียนในโอกาสที่ไทยเป็นผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน – ญี่ปุ่น ช่วงปี 2564-2567 ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพของไทย และร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดในห้วงที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเอเปคในปี 2565 

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับญี่ปุ่นต่อสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นชื่นชมบทบาทของไทยและอาเซียน ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายพร้อมให้การสนับสนุนเมียนมาให้ลดความตึงเครียดของสถานการณ์ด้วยสันติวิธี และยืนยันให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสำหรับผู้หนีภัยความไม่สงบในเมียนมาตามหลักมนุษยธรรม 

สงกรานต์ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน เป็นประเพณีที่มีคติข้อคิดต่าง ๆ สอดแทรกอยู่มากมาย สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน วันนี้เรามีเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับวันสงกรานต์มาฝาก!

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับวันสงกรานต์

คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤตว่า “สํ-กรานต” ซึ่งแปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือย้ายขึ้น โดยมีนัยความหมายว่า การเข้าสู่ศักราชราศีใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่

วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์

วันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า วันเนา

วันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก

นางสงกรานต์ปี ๖๔ "รากษสเทวี" พยากรณ์น้ำมาก พืชผลเสียหาย ปวงชนร้อนใจ

สำหรับประเทศไทย ในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี นอกจากเป็นวันสงกรานต์แล้ว ยังถือเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ อีกด้วย วันนี้มีข้อมูลน่ารู้มาฝากกัน!

รัฐบาลกำหนดให้วันที่ 13 เมษายนเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อให้ลูกหลานได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นบุพการี ผู้อาวุโสหรือผู้ใหญ่ในชุมชนที่เคยทำคุณประโยชน์แก่สังคมมาแล้ว

สำหรับที่มาของ "วันผู้สูงอายุ" นั้นเริ่มต้นขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้นได้มีการกำหนดนโยบายที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข โดยได้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราขึ้นในปี 2496 เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่เดือดร้อน ประสบปัญหาในการทำมาหากินและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

ต่อมาในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็มีการสานต่อความสำคัญของ "วันผู้สูงอายุ" โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุ และได้เลือก "ดอกลำดวน" เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน


ขอบคุณข้อมูลจาก: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/875735

วันที่ 14 เมษายน ถือเป็นวันครอบครัว ถูกกำหนดขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2532 เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัว และให้สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดยสะดวก

สำหรับที่มาของวันครอบครัวนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เสนอมติโดย คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยและอนุมัติให้ วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ในวันนี้เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดยสะดวก

วันครอบครัว ถูกกำหนดขึ้นก็เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของสถาบันครอบครัว และใช้เวลาว่างในวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว

อีกทั้งช่วงเทศกาลสงกรานต์ถือเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อรวมญาติ พบปะครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการีที่ล่วงลับไปแล้ว รดน้ำดำหัวขอพรผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล ความอบอุ่น และความสุขของครอบครัวตามประเพณีไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา


ขอบคุณข้อมูลจาก: https://www.posttoday.com/life/work-life-balance/620756

วันที่ 15 เมษายน วันขึ้นปีใหม่ไทย หรือ “วันเถลิงศก” ถือเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่ หรือวันปีใหม่ไทยที่นับตามแบบสมัยโบราณ

วันเถลิงศก แปลว่า วันขึ้นศก เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เลื่อนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ 3 ถัดจากวันมหาสงกรานต์ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิมสำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่จะเปลี่ยนศก ถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็นวันที่ 3 ก็หมายความว่าอย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ไม่น้อยกว่า 1 องศาแล้ว อาจจะย่างเข้าองศาที่ 2 หรือที่ 3 ก็ได้

ส่วนใหญ่คนไทยจะนิยมไปเที่ยวกับครอบครัว หรือฉลองปีใหม่กันที่บ้านด้วยการทำกับข้าว กินข้าวมื้อใหญ่ร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตา และมีเคล็ดว่าทุกคนต้องสวมใส่เสื้อผ้าใหม่ หรือมีของใช้ส่วนตัวชิ้นใหม่ๆ อย่างน้อย 1 ชิ้น เพื่อเป็นการเสริมสิริมงคลต้อนรับปีใหม่นั่นเอง

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลห่วงใยประชาชน และต้องการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่มีความเสี่ยงจากอุบัติเหตุและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เป็นช่วงวันหยุดยาว

ทางคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย จึงพัฒนากรมธรรม์ “ประกันภัยกลุ่ม 10 บาท สงกรานต์อุ่นใจ นิวนอร์มอล ซุปเปอร์พลัส” (ไมโครอินชัวรันส์) โดยเงื่อนไขการรับประกันภัย คือผู้ทำประกันภัยต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ - 70 ปีบริบูรณ์ ถึงวันที่ทำประกันภัย ระยะเวลาคุ้มครอง 30 วัน และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นผู้ถือกรมธรรม์ โดยเริ่มจำหน่าย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 31พ.ค. 2564 ประชาชนที่สนใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัย 10 บาท สามารถร่วมกลุ่มกัน 10 คน และซื้อได้โดยตรงกับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 23 แห่ง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @oicconnect

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับกรมธรรม์ดังกล่าว มีความคุ้มครองที่ 1 กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง เนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมการ ถูกฆาตกรรม ลอบทำร้ายร่างกาย และอุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครอง 1 แสนบาท

ความคุ้มครองที่ 2 กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จากการถูกฆาตกรรม ลอบทำร้ายร่างกาย และอุบัติเหตุขณะขับขี่ หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครอง 5 หมื่นบาท

ความคุ้มครองที่ 3 ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 14 วันแรก นับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาประกันภัย) รวมถึงกรณีเสียชีวิตจากผลกระทบการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยคุ้มครองตั้งแต่วันแรกที่ทำประกันภัยและมีการฉีดวัคซีนหลังทำประกันภัย จะได้รับความคุ้มครอง 5,000 บาท

ความคุ้มครองที่ 4 ค่าชดเชยรายวันระหว่างการเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน เนื่องจากอุบัติเหตุ รวมถึงได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันละ 300 บาท ไม่เกิน 20 วัน จะได้รับความคุ้มครองไม่เกิน 6,000 บาท ความคุ้มครองที่ 5 กรณีติดเชื้อโควิด-19 จะได้รับคุ้มครอง 3,000 บาท

“สถิติในช่วงสงกรานต์ประจำปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเข้มข้น จำนวนประชาชนเดินทางน้อยกว่าปี 2562 แต่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 1,307 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 1,260 ราย และเสียชีวิต 167ราย และรัฐบาลตั้งเป้าลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ซึ้งการทำประกันภัยกลุ่ม 10 บาท สงกรานต์อุ่นใจ นิวนอร์มอล ซุปเปอร์พลัส” ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบการประกันภัยได้ง่าย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อระบบการประกันภัยโดยรวม”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top