Saturday, 11 May 2024
MOU

EFL Learning Centre ลงนาม MOU จัดตั้ง 'ศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการทำงานต่างประเทศ EFL-WATC'

EFL Learning Centre ลงนาม MOU จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการทำงานต่างประเทศ EFL – Working Abroad Training Centre (WATC) ร่วมกับ 3 แห่งแรกในอีสาน - เหนือ โอกาสเพิ่มรายได้คนไทยปีละกว่า 1 ล้านบาท
 
วันที่ 15 ธันวาคม 2565 เวลา 11.00 น.EFL Learning Centre สถาบันภาษาแรกในเอเชียที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 และ หลักสูตรได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ และ Training Qualifications UK สหราชอาณาจักร โดย Mr. John Quinn ผู้สอบ IELTS Examiner (License No.97130) ของ University of Cambridge ESOL ซึ่งเป็นการทดสอบภาษาอังกฤษระดับนานาชาติ (International English Language Testing System: IELTS) และ ดร.วิไลวรรณ วรรณโชติผาเวช ผู้บริหาร EFL Learning Centre ลงนาม บันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) จัดตั้ง “ศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการทำงานต่างประเทศ EFL – Working Abroad Training Centre (WATC)” ร่วมกับ 3 องค์กร ดังต่อไปนี้

1. วิทยาลัยเทคโนโลยีพังโคนพณิชยการ (PC-TECH) จังหวัดสกลนคร โดย นาย บุญเสริม เสริมสกุล ประธานบริหารวิทยาลัย เป็นตัวแทนในการลงนาม MOU เพื่อจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการทำงานต่างประเทศ (EFL-WATC) ในพื้นที่ของวิทยาลัย PC-TECH ซึ่งก่อตั้งมากว่า 46 ปี และ มีจำนวนนักศึกษากว่า 1,700 คน และเป็นวิทยาลัยอาชีวเอกชนแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จัดตั้งศูนย์ EFL-WATC นี้เพื่อมุ่งยกระดับUpskill ภาษาอังกฤษระดับนานาชาติสำหรับนักศึกษาที่ต้องการทำงานในระดับนานาชาติได้ รองรับการปรับตัวทางเศรษฐกิจของโลกในอนาคต พร้อมส่งเสริมให้นักศึกษามีโอกาสการสร้างรายได้ มีอาชีพที่ก้าวหน้ามั่นคงแนวใหม่ และสอดคล้องกับระเบียบเศรษฐกิจใหม่ของโลกที่กำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุค Silver Economy (สังคมสูงวัย)

2. พิมาน ล้านนา ซึ่งเป็น Chiang Mai Old Town Wellness  Residence - ที่พักสำหรับคนรักความเป็นส่วนตัวและรักสุขภาพใจกลางเมืองเก่าเชียงใหม่ ที่ให้การบริการด้านห้องพักควบคู่ไปกับการบริการด้านสุขภาพ   ซึ่งเหมาะ สำหรับผู้สูงอายุและครอบครัวที่ต้องการที่พักอาศัยที่ให้บรรยากาศการดูแลดุจญาติมิตร อันเป็นที่นิยมจากชาวต่างชาติหลากหลายประเทศ โดยการบริหารงานของนางประณยา สีห์พิริโยดม ตำแหน่งผู้จัดการ พิมานล้านนา เป็นตัวแทนเข้าลงนามจัดตั้งศูนย์ EFL-WATC 

3. อิศวอินเตอร์ไลฟ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนบริบาลสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นสถาบันการศึกษาที่มีนักเรียนทั้งชาวไทยและต่างประเทศรอบอาเซียนให้ความเชื่อมั่นเข้ารับการอบรมในจังหวัดเชียงใหม่ และมีหลักสูตรอบรมที่ทันสมัยเตรียมพร้อมผู้เรียนเข้าสู่การสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่และเป็นที่ต้องการของสังคม อาทิหลักสูตรผู้ช่วยห้องไตเทียม ผู้ช่วยผู้ปฏิบัติการห้องยา เป็นต้น นายเอกกพล สุวรรณ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนอิศวอินเตอร์ไลฟ์ ได้ลงนามความร่วมมือจัดตั้งศูนย์ EFL-WATC เพื่อยกระดับภาษาอังกฤษระดับนานาชาติ (IELTS) เพื่อส่งเสริมนักเรียนที่มีความพร้อมที่จะทำงานในระดับนานาชาติต่อไป

ไทยลงนาม MOU กับซาอุฯ เตรียมเปิดศักราชยุคใหม่แก่ผู้แสวงบุญระหว่างพิธีฮัจญ์และอุมเราะห์ ฮ.ศ. 1444 (พ.ศ.2566)

ที่งานฮัจญ์ เอ็กซ์โป 2023 เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอารเบีย นายอับดุลฟัตตาห์ มาชาด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการฮัจญ์และอุมเราะฮ์ ได้ให้การต้อนรับ พล.ต.ท. ณัฐพิชย์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทยและคณะผู้แทนจากประเทศไทย ที่เดินทางมาเพื่อทำการเซ็นสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดระเบียบในช่วงพิธีฮัจญ์ประจำปีฮิจเราะห์ศักราชที่ 1444 (ตรงกับปี พศ. 2566) 

นอกจากนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการฮัจญ์และอุมเราะฮ์ ยังได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดระเบียบในช่วงพิธีฮัจญ์กับคณะผู้แทนจากประเทศต่างๆ ที่เดินทางมาในครั้งนี้ ซึ่งข้อตกลงเหล่านี้อยู่ในมาตรการพัฒนาที่เสนอโดยราชอาณาจักรซาอุดิอารเบียเพื่อแก้ไขปรับปรุงให้แก่ผู้ที่มาแสวงบุญระหว่างพิธีฮัจญ์ และอุมเราะห์ รวมไปถึงการจัดสรรโคต้าผู้ที่จะเดินทางมาร่วมแสวงบุญ การเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ และท่าเรือต่างๆ และรวมถึงวิธีการมาถึงและออกเดินทาง ตลอดจนคำแนะนำขององค์กรที่เพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้แสวงบุญ ตั้งแต่ช่วงเวลาของการเตรียมตัวสำหรับการเดินทางจนกระทั่งออกจากราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

นายอับดุลฟัตตาห์ มาชาด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการฮัจญ์และอุมเราะฮ์ เปิดเผยว่า สำหรับงานเอ็กซ์โป 2023 เป็นงานที่พบปะกันที่ใหญ่ที่สุด และงานที่เกี่ยวข้องกับฮัจญ์และอุมเราะห์ เนื่องจากเป็นการรวมตัวกันมากกว่า 57 ประเทศ มีวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 70 คน โดยมีบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านฮัจญ์และอุมเราะห์ เข้าร่วมงานกว่า 200 บริษัท และ มีผู้เข้าร่วมงานนิทรรศการครั้งนี้มากกว่า 60,000 คน

'บิ๊กตู่' หนุนความร่วมมือ 'ไทย-ญี่ปุ่น' ต่อยอดการค้า การลงทุน 'ระดับท้องถิ่น-นิคมฯ'

(1 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ภายหลังกระทรวงอุตสาหกรรมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนบูรณาการการทำงานร่วมกัน ผลักดันความร่วมมือด้วยการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในระดับท้องถิ่นไปจนถึงนิคมอุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดการค้าการลงทุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในอนาคต

นายอนุชา กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น จังหวัดอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมเส้นใยและสิ่งทอ อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และอุตสาหกรรมเกษตร และถือเป็นรัฐบาลท้องถิ่นแห่งที่ 23 ที่ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นตัวแทนหลักในการประสานความร่วมมือในลักษณะพื้นที่ต่อพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคู่ค้า

แถลงข่าวลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU)ในการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก

(8 ก.พ. 66) เวลา 10.30 น. ณ สารสิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายเสกสม อัครพันธ์ุ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และผู้บริหารของกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.กมค. พล.ต.ท.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบช.สยศ.ตร. และ พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์  ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผบก.ทล. ได้ร่วมกัน แถลงข่าวประชาสัมพันธ์การเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการบังคับใช้กฎหมาย ว่าด้วยการจราจรทางบก เพื่อลดการกระทำผิดกฎหมาย ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 

ผบ.ตร. กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนน ให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่ ลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ  จึงได้สั่งการ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก ร่วมกันดำเนินการกวดขันวินัยการขับขี่ โดยบังคับใช้มาตรการตามที่กำหนดในกฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้ง 2 หน่วยงาน จึงได้ร่วมกันกำหนดมาตรการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่  

มาตรการที่ 1 การตัดคะแนนความประพฤติ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปตั้งแต่ 9 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้กระทำผิดกฎจราจรและถูกตัดคะแนนแล้ว จำนวน 15,456 ราย

มาตรการที่ 2  คือมาตรการชะลอการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี สำหรับรถที่มีใบสั่งค้างชำระ ตาม 141/1 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานจะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อมูลใบอนุญาตขับขี่ ข้อมูลยานพาหนะ และข้อมูลใบสั่งค้างชำระ เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูลได้แบบ Real Time ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้กำหนดให้มีการลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กรมการขนส่งทางบก เชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก

สำหรับ มาตรการชะลอเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี จะใช้กับรถยนต์ที่ที่มีใบสั่งจราจรที่ค้างชำระ ซึ่งเพิกเฉยไม่ชำระค่าปรับตามที่กำหนด โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะส่งข้อมูลโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยังนายทะเบียนกรมการขนส่งทางบก เมื่อประชาชนไปต่อภาษีรถยนต์ประจำปี นายทะเบียนจะรับต่อภาษีประจำปี แต่ยังไม่ได้รับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี (ป้ายภาษี) โดยจะได้หลักฐานชั่วคราวแทนป้ายภาษี ซึ่งมีอายุ 30 วัน เพื่อให้ผู้นั้นไปชำระค่าปรับที่ค้างชำระให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน แล้วจึงสามารถมารับป้ายภาษีได้ แต่หากประชาชนต้องการจะชำระค่าปรับในขณะต่อภาษี กฎหมายกำหนดให้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้นายทะเบียนสามารถรับชำระค่าปรับตามใบสั่งพร้อมกับชำระภาษี และรับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีได้เลยทันที

ผบ.ตร. กล่าวเพิ่มเติมว่า การขับรถโดยไม่มีป้ายภาษี จะมีโทษตาม พ.ร.บ.รถยนต์ฯ มาตรา 11  ซึ่งกำหนดว่า รถยนต์คันที่ต่อภาษีแล้วจะต้องแสดงเครื่องหมายตามที่กรมการขนส่งกำหนดให้ครบถ้วน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท 

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลใบสั่งค้างชำระ และคะแนนความประพฤติได้ จากเว็บไซต์ E-ticket PTM  และ แอปพลิเคชั่น ขับดี ทางด้าน นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายในการป้องกันและรณรงค์ให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ฝ่าฝืน กรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการตามนโยบาย โดยการร่วมจัดทำ “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกระหว่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับ กรมการขนส่งทางบก” ซึ่งบันทึกข้อตกลงนี้ มีที่มาจากพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 141/1 ที่กำหนดมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย สำหรับผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายจราจรและได้รับใบสั่งจากเจ้าพนักงานตำรวจ และไม่ชำระค่าปรับจราจรภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด 

ผู้ว่า รฟม.จับมือนายกแจ็สเดินหน้าMOUรถไฟฟ้าโมโนเรล แก้ไขปัญหารถติดเพื่อประโยชน์ประชาชน

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ห้องประชุมหงส์มังกร ชั้น 12 อาคารจอดรถ สำนักงานเทศบาลนครรังสิต ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีเป็นประธานลงนาม MOU ความร่วมมือเพื่อดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานี รถไฟฟ้าโมโนเรลแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด ภายใต้โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานี โดยมีนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นสักขีพยานในการลงนาม

โดยการบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) ว่าด้วยความร่วมมือ เพื่อดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานี ภายใต้โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานี ระหว่าง จังหวัดปทุมธานี มีนายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีเป็นผู้แทนผู้ว่าจังหวัดปทุมธานี , องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี , กรมการขนส่งทางราง มีนายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และ สำนักงานจังหวัดปทุมธานี ที่ทำการปกครองจังหวัดปทุมธานี สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี ที่ทำการปกครองอำเภอ (อำเภอธัญบุรีและอำเภอลำลูกกา) สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ปทุมธานี สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปทุมธานี โครงการชลประทานปทุมธานี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปทุมธานี สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดปทุมธานี สำนักงานขนส่งจังหวัดปทุมธานี สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปทุมธานี เทศบาลนครรังสิต เทศบาลเมืองคูคต หอการค้าจังหวัดปทุมธานี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต รวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 22 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงนามเพื่อเป็นกรอบแห่งความร่วมมือในการขับเคลื่อนเพื่อดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานีได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรของจังหวัดปทุมธานีอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่มีการเชื่อมต่อระบบการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในจังหวัดปทุมธานี การปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับแต่ละหน่วยงาน

ด้าน พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ที่มีความสำคัญกับจังหวัดปทุมธานีที่จะพลิกฟื้นปทุมธานี โดยเฉพาะปัญหาเรื่องรถติดต้องแก้ไขให้เป็นระบบ ในช่วง 2 ปีที่ผมทำงาน อบจ.มา โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานหอการค้า ขนส่ง ด้านท่องเที่ยว อุตสาหกรรมจังหวัด และหลาย ๆ ฝ่ายที่ประชุมกันมา 2 ปี วันนี้ได้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว เราไม่ได้พูดลอย ๆ แล้วโกหกประชาชน วันนี้ถือว่าเป็นการนับหนึ่งที่ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องมาร่วมกัน เพราะว่าการที่รถไฟฟ้าโมโนเรลจะเกิดได้ไม่ใช่มาจาก อบจ.เพียงหน่วยงานเดียว แต่เกิดมาจากทุกหน่วยงานมาร่วมกัน เพราะในพื้นที่ที่เส้นทางรถไฟฟ้าผ่านจะต้องทำ MOU กันทั้งหมด กว่า 22 องค์กรหน่วยงาน วันนี้ต้องขอบคุณจริง ๆ  ที่ท่านภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ท่านให้ความสำคัญเดินทางมาร่วมเป็นสักขีพานด้วยตัวท่านเอง ท่านให้ความสำคัญ แสดงให้เห็นว่าทาง อบจ.กับ รฟม. จับมือกันอย่างเหนียวแน่นแน่นอนโครงการนี้ 

'จับมือ 3 หน่วยงาน' ลงนาม MOU ร่วมสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการในการพัฒนาจังหวัดสมุทรปราการ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคาร ชั้น 24 ณ อุทยานการเรียนรู้และหอชมเมืองจังหวัดสมุทรปราการ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ  ได้จัดพิธีลงนาม MOU บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการในการพัฒนาจังหวัดสมุทรปราการ 

โดยมี นางสาวนันทิดา แก้วบัวสาย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัย หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ดร. พิริยะ โตสกุลวงศ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ อีกทั้ง ในพิธีร่วมลงนามในครั้งนี้มีนายพิทยสัณห์ เดชประสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกลุ่มการค้าชายแดนและข้ามแดนด้านจีนตอนใต้ ผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามเป็นสักขีพยานในพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU เพื่อการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการในการพัฒนาจังหวัดสมุทรปราการ 

จากนั้น ร่วมรับชมวีดีทัศน์แนะนำโครงการพัฒนาจังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นางสาวประภาพร อัศวเหม นายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ พร้อมด้วย นางสาวพิม อัศวเหม สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ คณะผู้บริหาร คณะกรรมการมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ สมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ เข้าร่วมในพิธี

โดยทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ตลอดจนหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการประสานความร่วมมือด้านวิชาการ โดยทั้งสามฝ่ายมุ่งมั่นที่จะทำงานวิชาการโครงการและกิจกรรมร่วมกัน เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการและพัฒนารูปแบบของศูนย์การเรียนรู้การแปรรูปและจำหน่ายปลาสลิดสดจังหวัดสมุทรปราการให้ดีขึ้น 

รวมถึงการส่งเสริมด้านธุรกิจ SME ของจังหวัดสมุทรปราการ ให้มีการพัฒนาและเติมโตขึ้นมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงานร่วมกันดังนี้ 1. เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการและพัฒนารูปแบบของศูนย์การเรียนรู้การแปรรูปและจำหน่ายปลาสลิดสดจังหวัดสมุทรปราการ 2. เพื่อเป็นการสนับสนุนข้อมูลด้านบริการวิชาการ งานวิจัย การท่องเที่ยว เศรษฐกิจ การทำมาหากินและศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งบุคลากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 3. เพื่อเป็นการร่วมมือกันในการพัฒนาจังหวัดสมุทรปราการ ให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

ด้านนางสาวนันทิดา แก้วบัวสาย กล่าวว่า ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ได้มีการดำเนินโครงการศูนย์การเรียนรู้และแปรรูปปลาสลิดของกลุ่มจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อส่งเสริมให้ได้มาตรฐานOTOP พร้อมทั้งการส่งออกและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” ให้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาการเลี้ยงปลาสลิดสู่ระบบมาตรฐานปลอดภัย พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากปลาสลิดเพื่อให้กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผู้ประกอบการมีช่องทางการจำหน่าย ตลอดจนส่งเสริมด้านการตลาดส่งเสริมรายได้และสร้างอาชีพให้กับประชาชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน 

นอกจากนี้ ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ยังได้มีการดำเนินโครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้และแปรรูปปลาสลิดของกลุ่มจังหวัดภาคกลางเพื่อศึกษาแนวทางและรูปแบบการใช้ประโยชน์จากศูนย์การเรียนรู้และแปรรูปปลาสลิด ที่ครอบคลุมการเป็นแหล่งเรียนรู้ การแปรรูปและการจัดจำหน่ายปลาสลิด ศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุน และความคุ้มค่าคุ้มทุนของการใช้ประโยชน์จากศูนย์การเรียนรู้และแปรรูปปลาสลิด อย่างไรก็ตาม ในอนาคตทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการมีแนวทางที่จะดำเนินโครงการเกี่ยวกับแพทย์แผนจีนในพื้นที่ตลาดเชิงท่องเที่ยวซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการและเทศบาลนครสมุทรปราการ ซึ่งชั้น 2 ของตลาดเชิงท่องเที่ยวนั้น จะมีการดำเนินการเป็นศูนย์การเรียนรู้โดยเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ดนตรี ศิลปะ รวมไปถึงเป็นศูนย์การแพทย์แผนจีนอีกด้วย ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วสะดวกและอยู่ใกล้กับชุมชนมากยิ่งขึ้น 

ด้าน ดร. พิริยะ โตสกุลวงศ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ ได้กล่าวว่า หอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ ให้ความสำคัญในเรื่องของการส่งเสริมและสนับสนุนในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน รวมถึงการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรวมถึงสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน 

ม.แม่โจ้ จัดพิธีลงนาม อนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานวิจัย พร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์เตรียมสร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม 2566 อุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร (MAP) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดให้มีพิธีลงนามอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัย ระหว่าง มหาวิทยาลัยแม่โจ้  กับ บริษัท อุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ (ประเทศไทย) จำกัด โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานและกล่าวต้อนรับ โดยมี รองศาสตราจารย์จักรพงษ์ พิมพ์พิมล รักษาการรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวรายงาน ณ Co-Working Space สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้

รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “การลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัย ภายใต้แนวคิดโดยการนำนวัตกรรมไปใช้ในเชิงธุรกิจ โดยการเชื่อมโยงองค์ความรู้และภูมิปัญญาจากผลงานวิจัยให้สามารถนำไปต่อยอดและขยายผลให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นการประกาศเกียรติคุณสำหรับนักวิจัยและผู้ประกอบการที่มีส่วนส่งเสริมสนับสนุนให้มีนำผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไปสู่ภาคธุรกิจอย่างมีศักยภาพ  ขอขอบคุณ บริษัท อุตสาหกรรม เทคโนโลยีซีวภาพ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เห็นถึงคุณค่าของผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนักวิจัยที่ร่วมทุ่มเทสร้างงานวิจัยคุณภาพ จนได้เข้าร่วมลงนามในสัญญาอนุญาตใช้สิทธิ ที่ภาคเอกชนนำไปต่อ

ยอดใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และการแสดงผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากบริษัทที่จะถูกผลิตและจำหน่ายออกสู่ตลาดต่อไปในอนาคต  ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ยินดีที่จะสนับสนุนการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและประชาชนในรูปแบบอื่นอีก หลากหลายช่องทางเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและชุมชนให้มีความเข้มแข็งต่อไป”

ด้าน รองศาสตราจารย์จักรพงษ์ พิมพ์พิมล รักษาการแทนรองอธิการบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า “พิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer)ระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจ โดยความรู้และงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศเพิ่มมากขึ้น ช่วยให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต อย่างมีเสถียรภาพ ยั่งยืน มีการกระจายรายได้ไปสู่สังคมการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างและต่อยอดองค์ความรู้ให้มีความเท่าทันต่อโลกสมัยใหม่ ซึ่งการลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้กับบริษัท อุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 3 สัญญา เป็นการต่อยอดงานวิจัยเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสู่ตลาดต่อไป  เวทีนี้จึงเป็นการสร้างความเข้าใจและเชื่อมโยงกันระหว่างภาครัฐภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

 ผลงานวิจัยที่จะเข้าร่วมลงนามอนุญาตใช้สิทธิในผลงานครั้งนี้มี จำนวน 3 สัญญา ได้แก่ เรื่อง กระบวนการผลิตถั่วเหลืองหมักด้วยหัวเชื้อ

ผลงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ วงศ์พุทธิสิน และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะนุช  เนียมทรัพย์  สังกัด คณะวิทยาศาสตร์

ตร. ทำ MOU ม.หอการค้าไทย มอบทุนตำรวจเรียนปริญญาตรี 200,000 บาท ต่อคน และร่วมพัฒนาหลักสูตรอาชญากรรมไซเบอร์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันประชาชน

(16 มี.ค.66) เวลา 10.00 น. ณ ห้องสารสิน ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านวิชาการ การจัดการศึกษาสำหรับข้าราชการตำรวจ ด้านทรัพยากร การฝึกอบรมและป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมี รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นผู้แทนจากมหาวิทยาลัยหอการค้า ร่วมลงนาม ในการนี้ โดยมี พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.ยิ่งยศ  เทพจำนงค์ ผบช.สกพ. พล.ต.ท.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบช.สยศ.ตร. และ พล.ต.ต.กานตพงศ์ ชัยรุ่งเรือง รอง ผบช.ศ. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้แก่ รศ.ดร.สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา รองอธิบการบดีอาวุโสสายงานวิชาการและงานวิจัย อาจารย์สมพงษ์ แก้วเจริญไพศาล รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และกิจการพิเศษ ผศ.ดร.ณัฐริกา แชน คณบดีคณะนิติศาสตร์ และ รศ.ดร.เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์ ผอ.หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ เข้าร่วมพิธี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในทางด้านวิชาการ การวิจัย และขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ข้าราชการตำรวจ เพื่อให้เปิดโอกาสเข้าถึงการศึกษาในสาขาต่าง ๆ  ที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบของหลักสูตรปริญญาบัตร หรือหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นต่าง ๆ อันนำไปสู่การสร้างเครือข่ายทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเรียนรู้ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาและเป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยที่ผ่านมาได้จัดทำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ให้กับข้าราชการตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาลจำนวน 2,900 นาย   

โดยบันทึกความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับความร่วมมือ กระชับความสัมพันธ์ทางด้านวิชาการ ขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับกำลังพลครอบคลุมทุกหน่วยงานในสังกัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรวิชาเฉพาะ เพื่อสนับสนุนนโยบายและยุทธศาสตร์ที่สำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  โดยมีความร่วมมือระหว่างกัน ดังนี้ 

1) สนับสนุนทุนการศึกษา (ด้วยการยกเว้นค่าเล่าเรียน) สำหรับข้าราชการตำรวจ เป็นมูลค่า 200,000 บาทต่อคน (จำนวน 500 ถึง 1,000 ทุน ต่อปีการศึกษา) คงเหลือค่าใช้จ่ายเพียงแค่ 95,000 บาท ตลอด 3 ปี จนจบหลักสูตร

‘สมศักดิ์’ เผย เจรจาคืบหน้า ส.ว.พร้อมรับฟังเหตุผล เชื่อ!! หลังเอ็มโอยูออก มีลุ้นเสียงหนุน ‘พิธา’ เพิ่ม

(19 พ.ค. 66) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการเดินหน้า พูดคุย กับ ส.ว.บางท่าน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าในทางบวก แต่จะเดินได้เต็ม 100 คงต้องรอให้การบันทึกข้อตกลง หรือ ‘เอ็มโอยู’ ของพรรคร่วมรัฐบาล ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ออกมาก่อน แต่จากการพูดคุยกับ ส.ว.ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางที่ดี ทาง ส.ว.เอง ก็รับฟังในเหตุและผล ระหว่างนี้ก็รอเพียงแนวทางการทำงาน และนโยบายต่าง ๆ หากเอ็มโอยูทำออกมาได้ดี ก็เชื่อว่าเสียงของ ส.ว.จะไหลเข้ามาเพิ่มอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ การตั้งรัฐบาลนี้ คนสนับสนุนไม่ได้มีเพียงแค่ ส.ว.บางส่วน เพราะยังมี ส.ส.บางส่วนที่พร้อมยกมือสนับสนุนรอดูอยู่ ซึ่งจากการพูดคุย ทุกฝ่ายอยากเห็นประเทศเดินหน้า อยากเห็นประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น

8 พรรครัฐบาลลงนาม ‘เอ็มโอยู’ 23 ข้อ 5 แนวทางปฏิบัติร่วมกัน เร่งร่างรัฐธรรมนูญ นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ไร้มาตรา 112

(22 พ.ค. 66) ที่ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค แถลงข่าวการลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลว่า วันนี้แถลงบันทึกความเข้าใจร่วมกันการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งวันนี้ 22 พ.ค.เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ครบรอบรัฐประหาร 2557 เป็นวันที่พวกเราเซ็นบันทึก เป็นหมุดหมายที่ดี สะท้อนความสำเร็จของสังคมไทย สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาอย่างสันติ

จุดประสงค์การทำเอ็มโอยูเพื่อรวบรวมวาระร่วมที่เราเห็นตรงกันและพร้อมผลักดันผ่านกลไกของรัฐบาลและรัฐสภา และเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพรรคร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล

นายพิธา อ่านเนื้อหาบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งรัฐบาลและการทำงานร่วมกัน ของ 8 พรรค

ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่าภารกิจของรัฐบาลที่จะผลักดันนั้น ไม่กระทบรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดไม่ได้ขององค์พระมหากษัตริย์ ดังนี้

1.) ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

2.) ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ

3.) ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยึดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

4.) เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งการเกณฑ์ทหารหากมีศึกสงคราม

5.) ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง

6.) ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต

7.) แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน

8.) ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม

9.) ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งใบอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

10.) ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพรรคประชาชาติขอสงวนสิทธิ์ไม่เห็นด้วยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลทางศาสนา

11.) ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักดันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมแก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

12.) ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

13.) จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (zero-based budgeting)

14.) สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว

15.) แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเร่งด่วน

16.) นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ผ่านการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา

17.) ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิตส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี และแหล่งน้ำ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์กษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ

18.) แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน

19.) ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

20.) ยกระดับสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุข

21.) ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

22.) สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด

23.) ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเชียน และรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ

ทุกพรรคเห็นพ้องบริหารประเทศด้วยแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้
1.) ทุกพรรคจะคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน
2.) ทุกพรรคจะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชัน ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้นๆ ทันที
3.) ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง
4.)ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง
5.) ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top