Sunday, 12 May 2024
MOU

รัฐบาล 313 เสียงไปต่อลำบาก สว.รองดออกเสียง ‘ภท.-พปชร.’ พลิกเกม หนุนเพื่อไทยชิงประธานสภาฯ

(22 พ.ค.66) ครบรอบ 9 ปี การรัฐประหาร.... ‘เล็ก เลียบด่วน’ เขียนเรื่องนี้ก่อนหน้า 8 พรรค 313 เสียง เขาจะลงนาม MOU กันประมาณ 7 ชั่วโมง..แต่เชื่อว่าการลงนาม MOU ก็คงจะผ่านไปในลักษณะ ‘แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง’ เท่าที่ทราบมาก่อนหน้านี้เห็นว่าใน MOU มีภารกิจที่จะต้องทำร่วมกัน 23 ข้อ เช่น ยกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ, สมรสเท่าเทียมเดินหน้า แต่ไม่บังคับกับประชาชนที่เห็นว่าขัดกับหลักศาสนา, เอากัญชากลับเข้าบัญชียาเสพติด เป็นต้น

นอกจาก MOU 20 กว่าข้อแล้ว ยังมีพันธะสัญญาอีก 4-5 ข้อในการบริหารประเทศ ซึ่งดูดี เช่น รัฐมนตรีคนไหนทุจริตต้องออกจากตำแหน่งทันที…

สำหรับปมร้อนอย่างกรณีการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นไม่มีใน MOU แปลว่า พรรคไหนใครจะขับเคลื่อนก็ให้เป็นเรื่องของพรรคนั้น ไม่เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล…

สุดท้ายแล้ว ความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล 313 เสียง แม้อาจจะมีเสียงสนับสนุนจากพรรคเล็กมาเติมให้ฟรี 4-5 เสียง ก็ไม่พออยู่ดี… ต้องอาศัยเสียงสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.อีก 60 เสียง เพื่อให้ผ่าน 376 เสียง ซึ่ง ‘เล็ก เลียบด่วน’ ยังฟันธงว่ายากที่จะไปถึง อย่างเก่งเสียงของ สว.ก็น่าจะอยู่แค่ระดับ 25-30 เสียง…

ต้องบอกว่า ประเด็นแนวทางการแก้ไขมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเคยยื่นต่อสภานั้นมันก้าวเกินกว่าการแก้ไข แทบไม่ต่างจากการยกเลิก เช่นเดียวกับการปฏิรูปกองทัพที่ใช้โมเดลของสหรัฐฯ ที่เป็นการด้อยค่า ‘จอมทัพไทย’ ทางอ้อม.. .นี่คือสองประเด็นใหญ่ที่ สว.เขาไม่เล่นด้วยหรือใช้เป็นเหตุ ‘งดออกเสียง’
.
แต่พูดไปทำไมมี… กว่าจะถึงวันโหวตเลือกนายกฯ ที่ สว.จะลงมาร่วมวงด้วยนั้น ต้องผ่านด่านการรับรอง ส.ส.โดย กกต.และจากนั้นคือด่านเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร… ซึ่งขณะนี้ สายข่าวหลายทางวิเคราะห์ตรงกันว่า เกมจะพลิกกันตั้งแต่เลือกประธานสภาฯ… และคนพลิกเกมก็คือพรรคพลังประชารัฐ… และภูมิใจไทย

กระซิบเบาๆ กับแฟนๆ คอลัมน์ ‘เลียบการเมือง’ เป็นการเฉพาะตรงนี้ว่า… ประชุมพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันก่อนโน้นนน… ที่ประชุมเห็นพ้องให้ทุกคนรูดซิปปากเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล โดยให้ ‘ผู้กอง’ คนดังเป็นคนคอยประสานงานบอกกล่าวถึงทิศทางการเมือง… ทิศทางการเมืองที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคและในบ้านป่ารอยต่อรับรู้กันว่า… คำตอบสุดท้ายจะออกมาอย่างไร…

และคำตอบสุดท้ายที่ว่าก็คือ… พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพลังประชารัฐเป็นแกนนำ โดยมีพรรคอื่นๆ เข้าร่วมด้วย… ส่วนรายละเอียดใครจะเป็นประธานสภาฯ ‘สุชาติ ตันเจริญ’ หรือ ‘นพ.ชลน่าน  ศรีแก้ว’ และใครจะเป็นนายกฯ อุ๊งอิ๊ง, เศรษฐา หรือลุงป้อม หรือแม้แต่ หนู อนุทิน… เป็นประเด็นที่จะดำเนินไปในทางลึก…

เช่นนี้แล้วก็ต้องขอย้ำว่า ทริปฮ่องกงของ ‘อนุทิน-ศักดิ์สยาม’ ที่มีข่าวว่าไปจิบไวน์กับคนแดนไกลเมื่อสองสามวันก่อนนี้… ก็ไม่ใช่ข่าวลือแต่อย่างใด

สรุปก็คงเป็นความลำบากแสนสาหัสของพรรคน้องใหม่อย่างก้าวไกล ที่จะฝ่าค่ายกลทางการเมืองที่ซับซ้อนและหฤโหดไปได้ แต่จะว่าไปถ้าพรรคก้าวไกลไม่มาติดกับดักมาตรา 112 การปฏิรูปกองทัพปฏิรูปสถาบัน...หันไปขับเน้นนโยบายอย่างอื่น มันก็คงไม่ประสบชะตากรรมเยี่ยงนี้…

กลัดกระดุมเม็ดแรกผิดก็เป็นอย่างนี้แล… และถ้าใครคิดจะขนม็อบปลุกมวลชนออกมากดดัน สว.กดดันประเทศในยามนี้ก็มีแต่จะทำให้ตัวเอง ‘เสียการเมือง’

สวัสดีครับ

เรื่อง : เล็ก เลียบด่วน

ควันหลังเลือกตั้ง!! ย้อนทำความรู้จัก ‘MOU’ จากทั่วโลก เวิร์คหรือไม่? ทางการเมือง

หนึ่งประเด็นที่ดูเป็น ‘เรื่องใหม่’ ของการเมืองไทย และถูกจับตามากที่สุด หลัง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาประกาศต่อสาธารณชน เมื่อทราบผลการนับคะแนนไม่เป็นทางการ และปรากฏว่าพรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงมากที่สุด ก็คือ การเตรียมจัดทำข้อตกลง หรือ ‘เอ็มโอยู’ ระหว่างพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยยืนยันว่า…

“เวลาที่เราจะร่วมรัฐบาลกัน มันไม่ใช่แค่แบ่งกระทรวง หรือดู ส.ส. จำนวนเท่าไร แต่เราจะทำเป็นเอ็มโอยู ที่เป็นเอกสารเปิดเผยต่อสาธารณชน ว่าการร่วมรัฐบาลเราคาดหวังอะไรซึ่งกันและกันบ้าง เวลาทำงานจะได้ไม่สะดุดระหว่างทาง แล้วก็ให้ประชาชนสามารถคาดหวังได้ว่าสิ่งที่เคยสัญญา ก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งยังเหมือนเดิมทุกประการ”

ก่อนอื่น มาดูนิยามของ เอ็มโอยู (MOU-Memorandum of Understanding) ก็คือ “บันทึกความเข้าใจ” ซึ่งทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างบุคคล องค์กร หรือสถาบัน ตั้งแต่สองฝ่าย หรือมากกว่านั้น ไม่ได้เป็นสัญญาผูกมัด แต่เพื่อเป็นการแสดงความต้องการอันแน่วแน่ของผู้ลงนามว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังที่ได้ระบุและตกลงกันไว้

ในส่วนของการเมือง เมื่อการเลือกตั้งปรากฏผลลัพธ์ออกมา ว่าไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสภาฯ การฟอร์มรัฐบาลจึงต้องออกมาในรูปแบบการเจรจาจัดตั้ง ‘รัฐบาลผสม’ 

ที่ผ่านมาในการเมืองไทย การจัดตั้งรัฐบาลหลายพรรค มักเริ่มที่การดูจำนวน ส.ส. ก่อนตกลงผลประโยชน์ แบ่งโควต้ารัฐมนตรี และจับจองกระทรวงต่างๆ อาจมี ‘การให้สัตยาบัน’ เพื่อเป็นพันธะยึดโยงร่วมกันบ้าง แต่แทบไม่เคยเห็นการทำเอ็มโอยู เป็นตัวหนังสือกำหนดแนวทางดำเนินนโยบายร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะแต่ละพรรคการเมือง ย่อมมีนโยบายและจุดยืนแตกต่างกัน จึงต้องหาความลงตัว แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพื่อเดินหน้าทำงานร่วมกันให้ได้ 

แต่สำหรับในหลายประเทศทั่วโลก การจัดทำข้อตกลงร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลในรัฐบาลผสม ก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลกและเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เรามาลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น

เริ่มต้นกันที่ ‘เยอรมนี’ ที่หลังสิ้นสุดยุคการบริหารบ้านเมืองโดยพรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครต หรือ ‘CDU’ ภายใต้การนำของ ‘อังเกลา แมร์เคิล’ มานานกว่า 16 ปี ก็นำมาสู่การเลือกตั้งทั่วไป 26 กันยายน 2021 ซึ่งพรรคโซเชียลเดโมแครต ที่นำโดย ‘โอลาฟ ชอลซ์’ ได้เสียงสนับสนุน 25.7% ร่วมกับ พรรคกรีน ที่มีเสียง 14.8% และพรรคฟรีเดโมเครต อีก 11.5% จับมือกันจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยมีการลงนาม ‘ข้อตกลงภายใน’ ร่วมกัน จำนวนกว่า 177 หน้า เพื่อเป็นแบบร่างแผนการบริหารประเทศตลอดระยะเวลา 4 ปี

สำหรับสาระสำคัญในข้อตกลงนี้ ครอบคลุมการดำเนินนโยบาย ทั้งการสร้างรัฐทันสมัย การเปลี่ยนแปลงสู่ยุครัฐบาลดิจิทัล มาตรการป้องกันและลดโลกร้อน การส่งเสริมการค้า อุตสาหกรรมการลงทุนและธุรกิจ  การพัฒนาที่อยู่อาศัย การสร้างงาน รัฐสวัสดิการ กระบวนการยุติธรรม และนโยบายต่างประเทศและสหภาพยุโรป

ส่วนที่ ‘สหราชอาณาจักร’ ถ้าย้อนไปดูบรรยากาศหลังการเลือกตั้งในปี 2010 ปรากฏว่าไม่มีพรรคการเมืองได้ครองเสียงเบ็ดเสร็จในสภาฯ โดยพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่นำโดย ‘เดวิด คาเมรอน’ ได้เสียงมากที่สุด ได้ตกลงจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคลิเบอรัลเดโมแครต และนำมาสู่การทำ ‘ข้อตกลง’ ร่วมกัน ที่ครอบคลุมวาระสำคัญ เช่น การแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆ นโยบายและความรับผิดชอบที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น โดยมีการประเมินและทบทวนความคืบหน้าของข้อตกลงและเผยแพร่เป็นเอกสารชี้แจงสู่สาธารณะในช่วงครึ่งเทอม เพื่อประเมินการทำงานร่วมกันรวมถึงพิจารณาความร่วมมือกันในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

คล้อยหลังมา 5 ปี หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2015 ‘เทเรซา เมย์’ ไม่สามารถพาพรรคคอนเซเวทีฟ ที่ได้ 318 ที่นั่ง แต่ยังไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ จึงตัดสินใจใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ในการเจรจาจับมือพรรคลำดับ 5 อย่าง สหภาพประชาธิปไตยหรือดียูพี ที่มีจำนวน ส.ส. 10 คน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยที่พรรคดียูพีจะไม่ร่วมรัฐบาล โดยมีการลงนามในข้อตกลงร่วมกัน 

สาระสำคัญคือ พรรคดียูพีจะโหวตสนับสนุนพรรคคอนเซเวทีฟในวาระสำคัญ เช่น การผ่านร่างงบประมาณและการลงมติไว้วางใจ รวมถึงสนับสนุนการออกกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับเบร็กซิท ความมั่นคง และอื่นๆ ขณะเดียวกัน รัฐบาลพรรคคอนเซอเวทีฟต้องให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนโครงการและนโยบายของพรรคดียูพี เช่น การเพิ่มงบประมาณ 1 พันล้านปอนด์ให้กับไอร์แลนด์เหนือ ฐานที่มั่นของพรรคดียูพี เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข และการศึกษา ในช่วง 2 ปี 

หรือลองแวะมาดูในพื้นที่ใกล้ตัว อย่าง ‘มาเลเซีย’ ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ที่เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 ปรากฎว่าไม่มีพรรคใดชนะขาดการเลือกตั้งและมีเสียงข้างมากในสภาฯ แต่ในที่สุด ‘อันวาร์ อิบราฮิม’ ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสม และสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว

ซึ่งต่อมา ในเดือนธันวาคม มีการลงนามในเอ็มโอยู เพื่อเสถียรภาพของรัฐบาลผสม โดยพรรคแนวร่วมได้ลงนามยืนยันว่าจะสนับสนุน ‘อันวาร์ อิบราฮิม’ ผ่านการออกเสียงให้รัฐบาลหรืองดเว้นการออกเสียงเมื่อมีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ รวมทั้งให้การสนับสนุนรัฐบาล อย่างเช่น การผ่านงบประมาณรายจ่าย

ย้อนกลับมาที่บ้านเรา สูตรจัดตั้งรัฐบาลผสม ที่มี ‘ก้าวไกล’ เป็นแกน จับมือกันถึง 8 พรรค จำนวน 313 เสียง เพิ่งผ่านเวลามาเพียงสัปดาห์เศษเท่านั้น ขณะเดียวกันการจัดทำ ‘เอ็มโอยู’ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่เคยสัญญาไว้กับประชาชนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่องใหม่ และไม่ง่าย 

แต่ถ้าการทำข้อตกลง เอ็มโอยู ครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้น ในการยกระดับ การ ‘เจรจา’ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเปิดทางนำไปสู่การทำงานด้านนโยบายร่วมกันเพื่อประชาชน ก็จะเป็นการเริ่ม ‘เปลี่ยน’ หากจุดสมดุล และเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการเมืองไทยนับจากนี้ ที่จะทำให้การบริหารบ้านเมือง เป็นไปตามที่เคยสัญญาและให้คำมั่นกับประชาชนเอาไว้ แทนที่จะเป็นไปเพื่อการรักษาผลประโยชน์ และตำแหน่งแห่งที่ของนักการเมือง เป็นประชาธิปไตยของประชาชนเพียงแค่สี่นาที อย่างที่เคยฝังรากอยู่ในบ้านเรามานาน

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างท้องถิ่นปลอดบุหรี่พื้นที่แม่จันพื้นที่แม่สายและส่วนราชการในพื้นที่

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมานาย วรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอแม่จันมอบหมายให้นาย สุทธิรัตน์ แสงเพ็ญจันทร์ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครองอำเภอแม่จันเป็นประธานเปิดบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU)เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ปลอดบุหรี่ในเขตพื้นที่อำเภอแม่จัน3ตำบลและพื้นที่อำเภอแม่สาย1ตำบล2องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการในพื้นที่ประกอบด้วยเทศบาลตำบลแม่ไร่ เทศบาลตำบลแม่จัน เทศบาลตำบลสายน้ำคำ2 เทศบาลตำบลห้วยไคร้ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยไคร้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ไร่ จังหวัดเชียงรายสืบเนื่องจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการควบคุมผลิตภัณฆ์ยาสูบตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฆ์ยาสูบ พ.ศ.2560เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปี2565ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีพันธกิจหนึ่งในการบริหารสาธารณะมีศักยภาพและทรัพยากรในการป้องกันปัญหาอันเกิดจากการสูบบุหรี่ของประชากรในพื้นที่ที่รับผิดชอบโดยจากข้อมูลพบว่า9ใน10ของคนไทยที่สูบบุหรี่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆการ

สูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่สำคัญที่สุดที่ครึ่งหนึ่งของคนที่ไม่เลิกสูบจะป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาเป็นภาระต่อครอบครัวและระบบบริการสุขภาพของจังหวัดวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือความเข้าใจและสร้างกระแสความตื่นตัวในการขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบในกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ต่อไป

สันติ วงศ์สุนันท์/ผู้สื่อข่าวเชียงราย

กระบี่ ผบ.ทร.ถกบอร์ดบริหารศรชล.รีวิวผลงานรอบปี 2566 พหุภาคีซิมลีย์-ดีลMOUเวียดนาม-ชงตั้งทีมอนุฯ

ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดย พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ครั้งที่ 3/2566 พร้อมด้วย พลเรือเอก ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ/เลขาธิการ ศรชล. คณะกรรมการบริหาร ศรชล. และผู้แทนหน่วยงานหลัก 7 ศรใน ศรชล. ประกอบด้วย กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมประชุม ณ โรงแรมโซฟิเทล กระบี่ โภคีธรา กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท จังหวัดกระบี่

การประชุม ศรชล. สัญจรครั้งที่ 3 ถือเป็นนัดสุดท้ายของปีงบประมาณ 2566 จัดขึ้นในพื้นที่ทะเลอันดามัน ศรชล.ภาค 3 ปรากฎสาระสำคัญที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นการรายงานผลการปฏิบัติตามนโยบายการปฏิบัติงานของ รอง ผอ.ศรชล./ผบ.ทร. ในรอบปี พ.ศ.2566 มีเครื่องแบบปฏิบัติงาน ศรชล. การพัฒนาความสัมพันธ์กับหน่วยงานความมั่นคงและบังคับใช้กฎหมายทางทะเลและระหว่างประเทศ การพัฒนาแนวทางการประชาสัมพันธ์และการสร้างความตระหนักรู้ ให้สำนักงานศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือ (ศคท.) จังหวัดมีรูปแบบอาคารปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐาน การยกระดับการปฏิบัติงานให้มีมาตรฐานสากล การยกระดับการปฏิบัติในด้านการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล (SAR) เตรียมความพร้อม การวางแผนรองรับการขจัดคราบน้ำมันและมลพิษทางน้ำ 

ทั้งนี้ นโยบายด้านธุรการ การกำลังพล และการส่งกำลังบำรุง นโยบายด้านแผนและนโยบาย และนโยบายด้านการปฏิบัติ การฝึก และการบังคับใช้กฎหมายในภาพรวมเป็นไปตามแผนงาน ตัวชี้วัด และเป้าหมายที่กำหนด  ผลงานระดับภูมิภาคที่สำคัญคือ ศรชล. เป็นเจ้าภาพร่วมกับหน่วยยามชายฝั่งสหรัฐอเมริกา จัดการประชุมระดับผู้บังคับบัญชาตามกรอบความริเริ่มการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMLEI) ครั้งที่ 9 ระหว่าง 11 - 14 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางทะเลร่วมกับหน่วยบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีผู้แทนหน่วยงานรักษาความมั่นคงทางทะเลจากมาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ มีการอภิปรายและหารือเกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญในระดับที่สูงขึ้น ได้แก่ การเขียนระเบียบปฏิบัติงาน (SOP) และขั้นตอนการอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบการกำหนดข้อมูลด้านขีดความสามารถและการยุทธการ การวางแผนกลไกที่จำเป็นต่อความร่วมมือแบบพหุภาคี การปรึกษาหารือประจำปีโดยเน้นประเด็นหลักที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการกำหนดให้หน่วยยามฝั่งเวียดนามเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ.2567 และ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางทะเลของอินโดนีเซีย เป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ.2568 ทั้งนี้ หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ สำรวจความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมการประชุมฯ 

โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก  ที่ประชุมรับทราบคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 เห็นชอบให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง ศรชล. สำนักนายกรัฐมนตรี กับ หน่วยยามฝั่งเวียดนาม ในความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล โดยมอบอำนาจให้ รอง ผอ.ศรชล.เป็นผู้แทนฝ่ายไทย และ ผบ.หน่วยยามฝั่งเวียดนาม เป็นผู้แทนฝ่ายเวียดนาม ในการลงนามในบันทึกความเข้าใจ ที่มีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบขนสินค้าและการหลบหนีเข้าเมือง การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล และการยกระดับความปลอดภัยในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล 

นอกจากนี้ ศรชล. ยังได้จัดทำ(ร่าง)ระเบียบปฏิบัติงาน (SOP) เรื่องแนวทางประสานงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล เพื่อพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินในทะเล โดยผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทางทะเล จะได้รับการช่วยเหลือในเบื้องต้นอย่างทันท่วงทีและเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่กฎหมายกำหนด สอดคล้องกับหน้าที่ อำนาจ และความรับผิดชอบของ ศรชล.ข้อพิจารณาสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ตามที่ ศรชล. ได้จัดทำแผนการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 - 2570) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนงานและโครงการให้สอดคล้องกับแผนและแนวทางในการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เป็นไปตามที่กำหนดในมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 ที่มี รองเลขาธิการ ศรชล. เป็นประธานอนุกรรมการ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศรชล. เป็นรองประธานฯ และมีผู้แทนจากหน่วยงานภายใน ศรชล. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นอนุกรรมการ รวมทั้งหมด 34 คน เป็นกลไกในการบูรณาการขับเคลื่อนแผนการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเลกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และช่วยเหลือในการพิจารณากลั่นกรองการบริหารงานของ ศรชล. ตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการบริหาร ศรชล. โดยเมื่อคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ให้ความเห็นชอบจะได้เสนอขออนุมัติต่อไป

‘DTI’ เซ็น MOU ร่วม ‘THAICOM’ พัฒนาท่าอวกาศยาน เพิ่มขีดความสามารถด้านอวกาศไทยขึ้นไปอีกขั้น

(10 พ.ย.66) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) หรือ ‘DTI’ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาท่าอวกาศยาน ภาครัฐเชิงพาณิชย์ (Commercial Governmental Spaceport) สิ่งอำนวยความสะดวกท่าอวกาศยานต่างๆ และ เทคโนโลยีทางอวกาศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่าง สทป. กับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) 

โดยมี พลเอกพอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการ สทป. ร่วมเป็นสักขีพยานกิตติมศักดิ์ และมี พลเอกชูชาติ บัวขาว ผอ.สทป. และ นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติในการลงนาม พร้อมด้วย ดร.ปิยะวัฒน์ จริยเศรษฐพงศ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการค้าร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อร่วมมือกันศึกษา วิจัย พัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุน การจัดตั้งท่าอวกาศยานภาครัฐเชิงพาณิชย์ หรือ ‘Commercial Governmental Spaceport’ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกท่าอวกาศยานต่างๆ และเทคโนโลยีทางอวกาศอื่นๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านความมั่นคงทางการทหาร ด้านเศรษฐกิจและสังคม และด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและวิทยาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี Hall 9-12

สำหรับงานด้านอวกาศ ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาและเติบโตขึ้นในหลายมิติ โดยสิ่งหนึ่งที่มีความจำเป็น หากต้องการแข่งขันทางด้านอวกาศในระดับนานาชาติ คือ การพัฒนา Spaceport หรือ ‘ท่าอวกาศยาน’ ซึ่งมีความคล้ายกับแอร์พอร์ต หรือท่าอากาศยาน แต่ Spaceport นี้จะถูกใช้เป็นฐานยิงจรวด ยิงดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ รวมทั้งเป็นจุดสำหรับรับจรวดรับดาวเทียมกลับสู่โลก

ทั้งนี้ ประเทศไทย อยู่ในฐานะประเทศที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ได้เปรียบและเหมาะสมในการสร้าง Spaceport ฉะนั้น การบุกเบิก Spaceport จะนำไปสู่เศรษฐกิจใหม่แห่งอนาคตที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ หรือ ‘Space Economy’ ต่อไป

สมาคมแม่บ้านตำรวจลงนาม MOU กับกระทรวงมหาดไทย ร่วมสนับสนุนส่งเสริมผ้าไทย เสริมสร้าง Soft power ของไทย

วันนี้ (21 ธ.ค.66) เวลา 12.30 น. คุณนิภาพรรณ สุขวิมล นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กับสมาคมแม่บ้านตำรวจ ร่วมมือในหัวข้อ “รวมพลัง สร้างบ้าน อุ่นรัก ร่วมสวมผ้าไทย ใช้สินค้าไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม น้อมนำความสุขอย่างยั่งยืน ร่วมคืนคนดีสู่สังคม” ณ ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทยโดยมี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมลและ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน

ทั้งนี้ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ กล่าวว่าโครงการความร่วมมือนี้ เกิดจากการดำเนินภารกิจตามนโยบายต่าง ๆ ของสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่เห็นผลในเชิงประจักษ์ สมาคมแม่บ้านตำรวจพิจารณาว่า พันธกิจระหว่าง 2 หน่วยงาน ต่างมุ่งประโยชน์เพื่อจะบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชน และเป็น “หลังบ้าน” ที่ดี เพื่อสนับสนุนภาระหน้าที่ของ “หน้าบ้าน” ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ 

นอกจากนี้ สมาคมแม่บ้านตำรวจยังได้รับนโยบายจาก พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้วางเป้าหมายที่จะสร้าง Home Police ไม่เพียงแต่จะให้ความสำคัญแก่ครอบครัวตำรวจ ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของครอบครัว ของชุมชนทุกครัวเรือน ที่อยากเห็นทุกครอบครัวมีความอบอุ่น และมีความปลอดภัยในทุกด้าน หากตำรวจทำงานร่วมกับประชาชนด้วยความสามัคคี โดยคำนึงถึงประชาชนในชุมชน และช่วยเป็นหูเป็นตา ย่อมแสดงออกถึงความเข้มแข็งและความมั่นคงในการป้องกันอาชญากรรมได้เป็นอย่างดี

สมาคมแม่บ้านตำรวจจึงนำกรอบพันธกิจทั้ง 2 หน่วยงาน ที่เป็นแกนกำลังของสังคมและชุมชน มาผนึกกำลังเป็นโครงการที่จะร่วมบูรณาการ รวมทั้งสร้างความสุขอย่างยั่งยืนให้กับประเทศ ในการบันทึกข้อตกลงความร่วมมื (MOU) ในหัวข้อ “รวมพลัง สร้างบ้าน อุ่นรัก ร่วมสวมผ้าไทย ใช้สินค้าไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม น้อมนำความสุขอย่างยั่งยืน ร่วมคืนคนดีสู่สังคม” ในครั้งนี้ และยังเป็นการสนับสนุน Soft Power ของไทย

Soft Power เป็นการปรับรูปแบบของวัฒนธรรมให้สามารถสอดแทรกเข้ากับผลประโยชน์หรือค่านิยมของประเทศเป้าหมายได้ เพิ่มโอกาสที่วัฒนธรรมดังกล่าวจะกลายเป็น Soft Power ของประเทศนั้น เพราะไม่ได้ถูกมองว่าเป็นศัตรู หากแต่เป็นโอกาสในการต่อยอดสิ่งดีงามใหม่ ทำให้ประเทศเป้าหมายรู้สึกต้องการโอกาสนี้และเปิดใจยอมรับได้อย่างเต็มใจ ด้วยการแทรกซึมวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่นี้เอง จึงดึงดูด ส่งอิทธิพล และเป็นที่ชื่นชมของคนทั่วโลกไปโดยปริยาย

สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยและเครือข่าย ต้อนรับมกุฎราชกุมารมาเลเซีย ร่วมเป็นสักขีพยานตกลงความร่วมมือ MOU สื่อไทย สื่อมาเลย์

วันนี้ 7 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ห้องธามาริน โรงแรมญันนันตีย์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ตวนกูไซยิดไฟซุดดิน ไซยิดจามาลุลไลล์  (Tuanku syed Faizuddin Syed Jamalullail Raja Muda Perlis) มกุฎราชกุมารแห่งรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ทรงเป็นประธานงานกาลาดินเนอร์  ทรงร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือ MOU สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย กับ สมาคมนักข่าว 5 รัฐตอนเหนือของมาเลเซีย ด้านการท่องเที่ยว สังคม วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัด นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ผู้บริหารระดับสูง ภาครัฐและเอกชน สื่อมวลชนจากมาเลเซีย สื่อไทย แขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วม 

พิธีการเริ่มต้น ทุกคนยืนขึ้นคารพเพลงชาติมาเลเซีย บนเวที นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้ฯ นายกสมาคมนักข่าวรัฐเปอร์ลิส  โดยมรมกุฎราชกุมารมีพระราชดำรัส ถึงความร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย จานั้นมีการนำเสนอผ่านวิดีโอถึงภารกิจต่างๆ ของมกุฎราชกุมาร เสด็จลงมายังพื้นล่างและบันทึกภาพร่วมกันทุกคน
มีการแสดงวัฒนธรรมทั้งสองฝ่าย โดยประเทศไทย แสดงรำโนรา การแสดงศิลปะมวยไทย ประเทศมาเลเซีย การแสดงดนตรีพื้นบ้านจากรัฐซาบาห์ สะท้อนให้เห็นถึงมรดกทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลายของมาเลเซีย โต๊ะร่วมเสวยพระกระยาหาร ประกอบด้วย มกุฎราชกุมารแห่งรัฐเปอร์ลิส นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้ โมฮัมหมัดสุกรี รอมลี มุขมนตรีรัฐเปอร์ลิส และนายกสมาคมท่องเที่ยวมาเลเซีย ร่วมสนทนาถึงความร่วมมือของจังหวัดสงขลากับรัฐเปอร์ลิส 

ตูแวตานียา มือนิงิง ประธานอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้ฯ ในฐานะล่าม ได้สรุปถึงการสนทนาว่า ในเรื่องของการอำนวยความสะดวกระหว่างจังหวัดสงขลากับรัฐเปอร์ลิศ จะดำเนินการใน 3 เรื่อง ประการแรกจะมีการขยายเวลาเปิดด่านจนถึง 20.00 น.

ประการที่ 2  จะมีการขยายพื้นที่เป็นฟรีโซน (Free Zone) ด้านธุรกิจให้มากขึ้นเหมือนกับด่านวังประจันน์ จ.สตูล และสุดท้ายคือการใหนังสือผ่านแดนเดินทาง จะเป็นกลุ่มหรือคณะ โดยการอำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น

บรรยากาศภายในงาน เป็นไปด้วยความเรียบง่าย มีความสุขกันทั้งสองฝ่าย จนเมื่อถึงเวลาพอสมควร มกุฎราชกุมาร ได้เสด็จกลับ นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้ฯ ได้ส่งเสด็จและมอบส้มโอควนลัง และ ผ้าทอเกาะยอ ให้เป็นที่ระลึก

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

เชียงใหม่-มหาวิทยาลัยแม่โจ้ MOU กระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ ราชอาณาจักรภูฏาน การพัฒนาวิชาชีพด้านการเกษตร

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 มหาวิทยาลัยแม่โจ้  โดยวิทยาลัยนานาชาติ มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ(MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ กระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ ราชอาณาจักรภูฏาน  โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา  รก.อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้  และ นาย Dasho Thinley Namgyel  ปลัดกระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ ราชอาณาจักรภูฏาน เป็นผู้แทนลงนาม  ณ  ห้องอินทนิล สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 

การลงนามในครั้งนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือ ในการเพิ่มพูนความรู้ทางด้านการเกษตร สัตวศาสตร์ การประมง รวมถึงพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี  ให้กับ บุคลากร ข้าราชการ กระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ ราชอาณาจักรภูฏาน  ผ่านการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น ด้วยองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้  ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการทุนการศึกษาด้านการเกษตรและการพัฒนาวิชาชีพ โดยรัฐบาลของราชอาณาจักรภูฏาน  

ป.ป.ส. จับมือ 7 หน่วยงานภาคี ลง MOU ร่วมมือปลุกพลังนิคมอุตสาหกรรม ร่วมต้านภัยยาเสพติด พร้อมเปิดโอกาสผู้ผ่านการบำบัดเข้าทำงาน

วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 สำนักงาน ป.ป.ส. โดย พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ร่วมกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการปกครอง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงนามข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการ ปลุกพลังนิคมอุตสาหกรรม ร่วมต้านภัยยาเสพติด โดยมี นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สายงานพัฒนาที่ยั่งยืน) นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมลงนามข้อตกลง ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส.

โครงการปลุกพลังนิคมอุตสาหกรรม ร่วมต้านภัยยาเสพติด เป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดไม่ให้แพร่ระบาดเข้าสู่สถานประกอบการ พร้อมทั้งสนับสนุนให้สถานประกอบการมีระบบดูแล ช่วยเหลือ ลูกจ้าง นำลูกจ้างเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษายาเสพติด และรับกลับเข้าทำงาน พร้อมทั้งให้โอกาสผู้ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติดมีโอกาสเข้าทำงาน ซึ่งการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการที่นับเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศชาติ จึงกำหนดให้มีการขับเคลื่อนและบูรณาการทำงานร่วมกันในระดับนโยบาย ระหว่าง 7 หน่วยงานขึ้น

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานนับเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ และเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความสำคัญยิ่ง ในการพัฒนาประเทศชาติปัจจุบันมีแรงงานในระบบจำนวน 19.4 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 1 ล้านคน ซึ่งเพื่อให้เกิดมีมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในนิคมอุตสาหกรรม ทั้ง 7 หน่วยงานจึงได้มีข้อตกลงที่จะให้เกิด โครงการปลุกพลังนิคมอุตสาหกรรม ร่วมต้านภัยยาเสพติด ขึ้น ซึ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายโครงการ คือ สถานประกอบการในทุกนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และเกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาล แต่ละหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการจะขับเคลื่อนงานในบทบาทของหน่วย คือ

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ถือเป็นหน่วยที่รับผิดชอบดูแลแรงงาน และ ยังเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก จะมีบทบาทสำคัญในการประสาน ความร่วมมือกับผู้ประกอบการ และปลุกพลังให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานร่วมกัน ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ กรมการปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทในการร่วมดำเนินการค้นหา เฝ้าระวัง และสร้างการมีส่วนร่วมของ ผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชนในการร่วมเฝ้าระวังปัญหา ยาเสพติดในพื้นที่นิคม อุตสาหกรรมและชุมชนโดยรอบ โดยมีหน่วยงานสาธารณสุข ได้แก่ สำนักงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมการแพทย์ ให้การสนับสนุน ให้ค้นหา คัดกรอง และให้คำปรึกษาแนะนำในการประสาน ส่งต่อผู้เสพ/ผู้ติดให้ได้เข้ารับ การบำบัดอย่างเหมาะสม - สำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือ พร้อม ให้การสนับสนุนทุกหน่วยงานในการดำเนินงาน ทั้งในระดับนโยบาย และมี สำนักงาน ปปส.ภาค 1 – 9 / กทม. สนับสนุนการดำเนินงานในระดับพื้นที่

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้เน้นให้เจ้าของสถานประกอบการดำเนินการค้นหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติดในสถานประกอบการเพื่อส่งเสริมให้เข้ารับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม ที่สำคัญอีกอย่างคือการสนับสนุนให้สถานประกอบการให้โอกาสแก่ผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติดกลับเข้าทำงาน โดยในอดีต ผู้เสพยาเสพติดมักถูกตีตราและไม่ได้รับโอกาสให้เข้าทำงานในสถานประกอบการ ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นตามมา คือ การกลับไปเสพยาเสพติดซ้ำ ปัญหาครอบครัวขาดรายได้ การผันตัวจากผู้เสพไปเป็นผู้ค้าเสียเอง ซึ่งตามนโยบายเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยของรัฐบาล ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องแบ่งประเภทระหว่างผู้เสพกับผู้ค้าซึ่งผู้เสพคือผู้ป่วยเน้นการรักษา และให้โอกาสเพื่อคืนคนดีสู่สังคม ในขณะที่ผู้ค้ายาเสพติด ที่เป็นต้นตอของปัญหา ต้องลงโทษอย่างเด็ดขาด

เจนกิจ นัดไธสง รายงาน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top